ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    ของดีทั่วเมืองไทย

    ลำดับตอนที่ #10 : “หมวกกะโล่” ย้อนความทรงจำ ประกาศชื่อภูมิปัญญาท้องถิ่น

    • อัปเดตล่าสุด 30 มิ.ย. 49


    “หมวกกะโล่” ย้อนความทรงจำ ประกาศชื่อภูมิปัญญาท้องถิ่น
    โดย ผู้จัดการออนไลน์ 27 มิถุนายน 2549 10:19 น.


    คลิกที่ภาพเพื่อดูขนาดใหญ่ขึ้น
    มนตรี คำลือ


    นำมาประยุกต์เป็นโมบาย

    พวงกุญแจ “หมวกกะโล่”


           เดิม “หมวกกะโล่” เป็นที่นิยมสวมใส่กันในสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม โดยมีการผลิตขายกันเป็นหัตถกรรมในครัวเรือนตามภาคต่างๆ ซึ่งแต่ละแห่งจะใช้วัสดุแตกต่างกันไป โดย อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่ เป็นอีกหนึ่งชุมชนที่มีการผลิตหมวกกะโล่กันมากในเวลานั้น โดยมีจุดเด่นใช้วัสดุกระดาษสา และประสานด้วยน้ำตะโก
           
           อย่างไรก็ตาม เมื่อเวลาผ่านไป หมวกกะโล่หมดความนิยม ทำให้ชาวสันกำแพงพลอยเลิกอาชีพนี้ไปด้วย คงเหลือเพียงการผลิตร่ม และผ้าไหมเท่านั้น ส่วนหมวกกะโล่ ผู้คนต่างลืมเลือนไปแล้ว คงเหลือเพียงแม่พิมพ์เก่าเก็บทิ้งร้างไว้ กับเรื่องเล่าจากผู้เฒ่าผู้แก่ในท้องถิ่นเท่านั้น จนเมื่อ 5 ปีที่แล้ว “มนตรี คำลือ” ชาวบ้านจาก อ.สันกำแพง ได้รื้อฟื้นหัตถกรรมของบ้านเกิดกลับมาให้คนรุ่นใหม่ได้พบเห็นอีกครั้ง
           
           มนตรี เล่าให้ฟังว่า หลายครัวเรือนใน อ.สันกำแพง ยังมีแม่พิมพ์หมวกกะโล่ เป็นสมบัติตกทอดมาจากบรรพบุรุษ ตัวเขาได้แม่พิมพ์มาจากญาติผู้ใหญ่ท่านหนึ่ง ทำให้เกิดแรงบันดาลใจ อยากจะทำงานหัตถกรรมชิ้นนี้อีกครั้ง ด้วยการพยายามอนุรักษ์วิธีการแบบดั้งเดิม ซึ่งเคยได้รับการถ่ายทอดเมื่อวัยเยาว์ ผสมกับวิธีใหม่ที่คิดขึ้นเอง
           
           “ผมเห็นว่า หมวกกะโล่มีคุณค่าในตัวมันเอง จากรูปทรงที่สวยงาม และเป็นภูมิปัญญาของคนโบราณ ที่ผมอยากให้คนรุ่นใหม่ได้รู้จัก”
           
           จุดเด่นของหมวกกะโล่สันกำแพง อยู่ที่การใช้วัสดุกระดาษสา คัดแบบหนาพิเศษ รับมาจากบ้านต้นเปา นำมาฉีกด้วยมือเท่านั้น เป็นแผ่นสามเหลี่ยม ห้ามใช้การตัดด้วยมีด หรือกรรไกรเด็ดขาด เพราะการฉีกจะทำให้กระดาษสาเหลือเส้นใยอยู่ เมื่อนำไปปะติดกันเป็นหมวกด้วยน้ำตะโก จะทำให้เส้นใยเกาะติดกันเป็นเนื้อเดียวกันช่วยให้หมวกมีผิวเรียบ
           
           ส่วนน้ำตะโก ทำมาจากลูกตะโก หาได้ในชุมชนทางภาคเหนือทั่วไป ใน 1 ปี จะออกลูกให้เก็บได้เฉพาะช่วงเดือน พ.ค. ถึง ก.ค. เท่านั้น ส่วนกรรมวิธี จะนำลูกตะโกตำกับน้ำเปล่าให้อัตรา ลูกตะโก 1 ส่วนต่อน้ำ 2 ส่วน หลังจากนั้น หมักไว้อีก 7 วัน จะได้น้ำตะโกที่มีคุณสมบัติชุ่มเหนียว สามารถประสานเนื้อกระดาษสาได้
           
           มนตรี อธิบาย ถึงขั้นตอนการผลิตหมวกกะโล่ เริ่มด้วยนำกระดาษสาสามเหลี่ยมที่ฉีกไว้ ซึ่งต่อหมวก 1 ใบ ต้องใช้กระดาษแผ่นใหญ่ 20 แผ่น ฉีกเป็นใบเล็ก ค่อยๆ วางทาบไปที่แม่พิมพ์หมวก แล้วลูบด้วยน้ำตะโก เรียงต่อกันที่ละใบไปเรื่อยๆ ทั้งหมดสามรอบ รวมแล้วใช้กระดาษสาที่ฉีกเป็นใบสามเหลี่ยมกว่า 90 ใบ หลังจากนั้น นำไปตากแดด 1 วัน เมื่อแห้งนำมาเก็บรายละเอียดต่างๆ เช่น เจาะตาไก่ ติดเชือก ทาแลกเกอร์เคลือบ แล้วปล่อยให้แห้ง หมวกกะโล่ที่ได้จะมีความแข็งแรง สามารถกันแดด และฝนได้
           
           แม้ว่า ขั้นตอนการผลิตจะดูเรียบง่าย แต่เจ้าของผลงาน บอกว่า ไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด เพราะการเรียงกระดาษให้ได้ระดับเสมอกัน เพื่อให้หมวกมีรูปทรงสวยงาม ต้องใช้ความอดทน ส่วนการลูบน้ำตะโก ต้องใช้ความชำนาญ มิฉะนั้น จะเกิดเป็นเส้นคลื่นบนผิวหมวก
           
           “เทคนิคงานหัตถกรรมนี้ คนที่เห็น จะบอกว่า ทำกันง่ายๆ แต่พอทำจริงจะรู้ว่า มันต้องใช้ความอดทนสูง เฉพาะแค่ฉีกกระดาษ แล้วค่อยติดที่ละใบ ก็ใช้เวลานาน ถ้าใจไม่รัก หรือไม่ชำนาญ ทำอย่างไร ก็จะออกมาไม่สวย”
           
           มนตรี ระบุว่า ผลงานดังกล่าว ได้รับคัดเลือกเป็นโอทอป 3 ดาว และนอกจากหมวกแล้ว ยังพัฒนาประยุกต์เป็นสินค้าอื่นๆ อาทิ โคมไฟ โมบาย และพวงกุญแจ ราคามีตั้งแต่ 149 บาทถึง 299 บาท มีช่องทางขาย ผ่านตัวแทนในสวนจตุจักร กับทำตามออเดอร์ลูกค้า ที่ผ่านมา ได้รับการตอบรับด้วยดีจากลูกค้าทั้งในและต่างประเทศ
           
           ทว่า ปัญหาที่ตามมา คือ ผลิตไม่ทันตามความต้องการตลาด เนื่องจากเป็นอุตสาหกรรมในครัวเรือน ทำกันแค่ 4 คน ต่อเดือนทำได้ประมาณ 250 ใบ จึงพยายามสร้างบุคลากรในท้องถิ่นขึ้นมาช่วยงาน แต่ไม่ใช่เรื่องง่าย ดังที่กล่าวไปแล้วว่า ต้องเป็นผู้มีใจรักจริงๆ จึงจะทำได้ การผลิตในขณะนี้ จึงยึดหลักแบบค่อยเป็นค่อยไป ขอให้มีรายได้พอเลี้ยงตัวเอง และครอบครัวได้ ก็น่าพอใจแล้ว
           
           “รายได้ขณะนี้ ต่อเดือนยังอยู่ที่หลักหมื่น ซึ่งผมถือว่าพอใจแล้ว แม้จะมีออเดอร์เข้ามามาก จนเราทำไม่ทัน ต้องบอกปัดไป แต่ถ้าเราคิดจะไปมุ่งขยายมากเกินไปแบบอุตสาหกรรม เสน่ห์และคุณค่าในตัวเองจะหายไป ผมคิดอยากจะค่อยเป็นค่อยไป”
           
           มนตรี ยังระบุด้วยว่า แม้จะทำมากว่า 5 ปีแล้ว ก็ยังเป็นผู้ผลิตรายเดียว ไม่มีคู่แข่งขึ้นมาเทียบจริงจัง ด้วยเหตุผลข้อแรก เป็นงานฝีมือต้องใช้ความชำนาญเฉพาะ กับอีกประการ แม้จะเคยมีรายอื่น ทำออกมาขายบ้าง แต่อยู่ไม่ได้ เพราะขาดตลาด ในขณะที่สินค้าของตน มีลูกค้าประจำสม่ำเสมออยู่แล้ว
           
           ทั้งนี้ เป้าหมายในอนาคต กำลังดำเนินการจดสิทธิบัตร รวมถึงเครื่องหมายการค้าอย่างเป็นทางการ อีกทั้ง จะประยุกต์หมวกกะโล่เป็นสินค้าอื่นๆ ให้มีความหลากหลายมากขึ้น เน้นให้เป็นสินค้าที่นอกจากจะสืบสานภูมิปัญญาไทยดั้งเดิมแล้ว ยังใช้งานในชีวิตประจำวันได้ด้วย
           
           * * * * * * * * *
           
           โทร.053-392-521 , 0-4740-6389

    http://www.manager.co.th/SMEs/ViewNews.aspx?NewsID=9490000074642
    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน
    นิยายแฟร์ 2024

    ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×