คืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด
คุณแน่ใจว่าต้องการคืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด ?
ลำดับตอนที่ #1 : รักเพศเดียวกันไม่ติดคุก แต่ต้องถูกคุมขังจากความไม่รู้ของสังคม
เนื้อหา :
เมื่อวันที่: 23-09-2007 09:08 ความคิดเห็น: (0)
คะแนน:
มักมีคำกล่าวอยู่เสมอว่าสังคมไทยใจดี'ไม่เคยรังเกียจคนรักเพศเดียวกัน' ตราบใดที่ "คนพวกนี้" ไม่ทำอะไรที่ เกินหน้า เกินตา เกินงาม หรือพูดง่ายๆ "อย่าล้ำเส้น"
คำกล่าวนี้สะท้อนนัยยะสำคัญสองประการต่อ ประเด็นคนรักเพศเดียวกันของสังคมไทย
หนึ่ง เรารู้เราเห็นว่าคนรักเพศเดียวกันมีตัวตนและดำรงอยู่ในสังคมนี้จริง แต่เราก็เชื่อว่า "คนพวกนี้" ไม่ใช่ของแท้ เพราะหากมองตามเพศสรีระ มนุษย์ก็มีเพียงสองเพศคือชายกับหญิง และเมื่อมาผนวกเข้ากับความคิดที่ว่า มนุษย์มีหน้าที่ต้องสืบพันธุ์ บางครั้งก็ทำให้เรามองเห็นเพียงว่าชายและหญิงต้องเกิดมาคู่กันเพื่อผลิตทายาทให้สังคม
ดูเหมือนว่าความคิดนี้ได้กลายเป็นความเชื่อกระแสหลักในสังคม และได้กลบความจริงข้ออื่นๆ ไปเสียสิ้น
หากเรามีสติ ใช้ปัญญาทบทวน ทำความเข้าใจกับปรากฏการณ์ต่างๆ ที่เกิดในสังคม เราจะพบว่า มนุษย์ใน สังคมมีความหลากหลาย และมีมากกว่าความเป็นเพศหญิงและชาย เราเห็นกันอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันว่าหญิงบางคน ไม่รู้สึกรักใคร่ชอบพอกับชาย
ชายบางคนก็พึงใจจะมีรักกับชายด้วยกัน และอีกหลายๆคนก็พึงใจจะครองโสด มันสะท้อนว่าแท้จริงแล้ว เรามีความสามารถที่จะมองเห็นความจริงอื่นๆ ในสังคมได้อีกมากมาย แต่ทว่าความจริง คนจริงๆเหล่านั้น
ไม่ถูกยอมรับและถูกทำให้กลายเป็น 'กลุ่มอื่น' เป็นตัวประหลาด ที่ไม่ใช่ "พวกเรา"
สอง เรากลัว รังเกียจ มองว่าหาก "คนพวกนี้" ล้ำเส้นจะเป็นภัยทางสังคม ขณะที่เราปฏิเสธไม่ได้ว่า สังคมเต็มไปด้วย การอยู่ร่วมกันของความแตกต่าง มีทั้งคนรักเพศเดียวกันและคนรักต่างเพศและอื่นๆ กลุ่มคนที่มิใช่รักต่างเพศ กลับถูกพยายามจัดกลุ่ม ให้เป็นพวกเบี่ยงเบนทางเพศ ผิดปกติ วิปริต และไม่มีพื้นที่ให้เขาปรากฏตัว อย่างมนุษย์ ทั่วไปพึงกระทำได้
อยู่มาวันหนึ่ง รองปลัดกระทรวงวัฒนธรรมบอกว่า ต้องการห้ามบุคคลที่มีพฤติกรรมเบี่ยงเบนทางเพศ อาทิ กะเทย ทอม เกย์ เข้ารับราชการในหน่วยงานราชการ โดยให้สัมภาษณ์ว่า
'การจะจับคนเหล่านี้เข้าคุกหรือมีบทลงโทษตามกฎหมายนั้นทำไม่ได้จึงเรียกร้องให้เกิดการต่อต้านไม่ให้พฤติกรรม
รักร่วมเพศแพร่ระบาดมากกว่านี้'
แม้จะออกมาแก้ข่าวในภายหลังว่าแท้จริงไม่ได้รังเกียจ แต่แค่
'ไม่อยากให้เด็กมีพฤติกรรมลักษณะนี้มากนัก'
และ
'สิ่งที่ตนให้ข่าวเป็นเพียงแค่การป้องกันการลุกลามของพฤติกรรมเบี่ยงเบนทางเพศที่นับวันจะเพิ่มขึ้นจากสื่อต่างๆ
ที่นำเสนอออกมาทางโทรทัศน์'
สะท้อนความคิดของท่านรองปลัดที่มองว่าคนรักเพศเดียวกันเป็นพวกที่ทำให้สังคมเสื่อมเสีย สับสนวุ่นวาย เป็นตัวอย่างที่ไม่ดีในสังคม ราวกับว่า การรักเพศเดียวกัน เป็นโรคที่ติดต่อด้วยการจับต้องหรือมองตา จึงต้องกลัวว่า คน "ปกติ" ทั่วไปถ้าได้พบเห็น เกี่ยวข้อง จะเป็นตามกันไปทั้งบ้านทั้งเมือง
หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์เปิดเผยถึงกรณีเหตุเกิดที่บ้านปราณีว่ามีการร้องเรียนเรื่องเด็กผู้หญิงสองคนถูกลงโทษ
เหตุเพราะมีเพศสัมพันธ์กันเด็กถูกลงโทษด้วยการบังคับให้แสดงท่าทางการมีเพศสัมพันธ์ระหว่างผู้หญิงกับผู้หญิง
ต่อหน้าเจ้าหน้าที่
กรณีนี้ถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง
ภายใต้สิ่งที่เราเคยพูดๆกันว่า 'สังคมไทยยอมรับคนรักเพศเดียวกัน
ไม่เคยรังเกียจ'
เรื่องนี้อยู่ระหว่างการตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง กรณีนี้อธิบดีกรมพินิจฯมองว่า การร้องเรียนเกิดขึ้นเพราะ ความขัดแย้งระหว่างข้าราชการผู้ใหญ่
อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าการร้องเรียนจะมาจากเหตุใด สิ่งที่ต้องตระหนักถึงคือ ความผิดของเด็กอยู่ตรงไหน จึงต้องถูกลงโทษเยี่ยงนั้น
ฉะนั้นจะมีมาตรการอย่างไรเพื่อมิให้เกิดการใช้อำนาจละเมิดเด็กในสถานพินิจฯเพียงเพราะอคติของผู้
มีอำนาจได้อีก
รักเพศเดียวกันไม่ผิดกฎหมาย ใครจะมาจับเข้าคุกไม่ได้
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2540 มาตรา 30 ระบุว่า
'บุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมายและได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกันชายและหญิงมีสิทธิ
เท่าเทียมกันการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคลเพราะเหตุแห่งความแตกต่างในถิ่นกำเนิด
เชื้อชาติ ภาษา เพศ อายุ สถานภาพทางกายหรือสุขภาพ สถานะของบุคคล ฐานะทางเศรษฐกิจหรือสังคม ความเชื่อทางศาสนา การศึกษาอบรม หรือความคิดเห็นทางการเมือง อันไม่ขัดต่อบทบัญญัต ิแห่งรัฐธรรมนูญ จะกระทำมิได้'
ในทางการแพทย์ เมื่อปี 2516 สมาคมจิตวิทยาแห่งอเมริกาประกาศถอดถอนการเป็นคนรักเพศเดียวกัน ออกจากบัญชีรายชื่อความผิดปกติทางจิต
และในประเทศไทยเรา
เมื่อปี 2545 กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ได้มีจดหมายรับรองทางวิชาการตามหลักขององค์การ
อนามัยโลก โดยให้เอาลักษณะความสัมพันธ์ระหว่างคนเพศเดียวกันออกจากกลุ่มที่มีความผิดปกติทางจิต
สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นมาตรฐานและหลักในการจัดการทางสังคมให้มนุษย์ทุกคนสามารถอยู่ร่วมกันในสังคมได้
อย่างมีพื้นที่ และได้รับการเคารพศักดิ์ศรี เคารพความแตกต่างหลากหลาย
ขณะที่สังคมไทยพยายามเน้นให้เห็นว่า การเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เป็นเรื่องสำคัญ มีสถาบันวิชาการทาง การแพทย์ยืนยันว่า รักเพศเดียวกันไม่ใช่ความผิดปกติ
แต่ทว่า กรอบความคิด ความเชื่อเก่าๆ กลับยังเป็นคุกขังความคิดคนในสังคม ทำให้ผู้ใช้อำนาจรัฐยังคงใช้ ความรู้และความเชื่อเก่าๆ เข้ามาจัดการต่อคนรักเพศเดียวกัน จากพื้นฐานของอคติและความหวาดกลัว
จนขาดการตระหนักถึงการเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และก่อให้เกิดปัญหาการละเมิดและเลือกปฏิบัติ ตามมาในที่สุด
ปรากฏการณ์ที่ผ่านมา ทั้งกรณีสถาบันราชภัฏเคยออกกฎห้ามรับนักศึกษาที่รักเพศเดียวกันเข้าเรียนครู
กรณีกรมประชาสัมพันธ์ห้ามคนรักเพศเดียวกันออกทีวี ล่าสุดการลงโทษเด็กในบ้านปราณี และกรณีกระทรวงวัฒนธรรม
ทั้งหมดเป็นการเดินซ้ำรอยประวัติศาสตร์เรื่องการจัดพื้นที่ให้กับคนรักเพศเดียวกันของรัฐซึ่งหากเรายังติดอยู่กับ
ความคิดความเชื่อเก่าๆล้าหลังโดยปราศจากการตั้งคำถาม และเรายังยอมรับการใช้อำนาจที่ปราศจากความรู้ แม้จะบอกว่าเราเชื่อว่า 'มนุษย์ทุกคนมีคุณค่าและศักดิ์ศรีเท่าเทียมกัน' แต่วงจรอุบาทว์นี้คงไม่หมดไปจากสังคมไทย
ความคิดเห็น