ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    ของดีทั่วเมืองไทย

    ลำดับตอนที่ #5 : กลองไทย-ตุ๊กตาชาววัง ของดัง ของดี แห่งเมืองป่าโมก

    • อัปเดตล่าสุด 30 มิ.ย. 49


    กลองไทย-ตุ๊กตาชาววัง ของดัง ของดี แห่งเมืองป่าโมก
    โดย ผู้จัดการออนไลน์ 25 เมษายน 2549 19:39 น.
    เสน่ห์วิถีชีวิตแบบไทยๆ ของชาวเมืองอ่างทอง
                  “อ่างทอง” เมืองเล็กๆ ที่มีประวัติศาสตร์และเรื่องราวความเป็นมาที่ยาวนาน ถ้าดูจากสภาพทางภูมิศาสตร์แล้ว ภายในพื้นที่อ่างทองมีแม่น้ำเจ้าพระยาไหลผ่านถึง 3 อำเภอ จาก 7 อำเภอ จึงทำให้เมืองนี้เต็มไปด้วยสวนผลไม้ สวนเกษตรและท้องนา เกิดชุมชนริมแม่น้ำน้อยและริมแม่น้ำเจ้าพระยา สร้างเส้นทางคมนาคมทางน้ำและกลายเป็นแหล่งการค้าสำคัญขึ้น
           
           สำหรับจังหวัดอ่างทองนั้น แม้ว่าเป็นจังหวัดเล็กๆ ทางภาคกลาง แต่ก็มีสินค้าโอทอปขึ้นชื่อที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศไม่เสื่อมคลาย นั่นก็คือ “ตุ๊กตาชาววัง บางเสด็จ”และ “กลองไทย ต. เอกราช” ซึ่งสินค้าขึ้นชื่อทั้งสองล้วนเป็นของอำเภอป่าโมก จังหวัดอ่างทอง นับเป็นสินค้าที่สั่งสมภูมิปัญญาและสะสมชื่อเสียงมาอย่างช้านาน จนอาจถือเป็นตำนานบทหนึ่งของอำเภอป่าโมกก็ว่าได้

    ตุ๊กตาชาววัง งานฝีมือที่สืบทอดมากว่าศตวรรษ
                  “ตุ๊กตาชาววัง บางเสด็จ” ภูมิปัญญาดั้งเดิมจากรั้ววัง
           
           ตุ๊กตาดินเผารูปคนขนาดจิ๋วเนื้อตัวขาวละเอียด ที่วาดลวดลายเสื้อผ้า ผมเผ้า ด้วยสีสันอันสดใส แต่ละตัวล้วนแตกต่างกันด้วยกิริยาท่าทางอันแช่มช้อยงดงาม เลียนแบบอิริยาบทของคนจริงๆได้อย่างไม่ผิดเพี้ยน ตุ๊กตาเหล่านี้รู้จักกันดีในชื่อว่า "ตุ๊กตาชาววัง" งานศิลป์แต่เก่าก่อนจากฝีมือช่างปั้นชั้นครูที่สันนิษฐานกันว่าน่าจะมีมาตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในสมัยนั้นใช้เป็นของเล่นของพระเจ้าลูกเธอและพระเจ้าลูกยาเธอทั้งหลาย
           
           ตุ๊กตาชาววัง ต.บางเสด็จ อ.ป่าโมก หนึ่งในสินค้าโอทอปสำคัญของที่นี่ เริ่มต้นมาจากเมื่อประมาณปลายปี พ.ศ.2518 ระยะนั้นเกิดอุทกภัยในเขตจังหวัดอ่างทอง ทำให้เรือกสวนไร่นาของเกษตรกรเสียหายมาก โดยเฉพาะตำบลบางเสด็จเสียหายมากที่สุด

    ภูมิปัญญาจากรั้ววัง ก่อเกิดเป็นตุ๊กตาชาววังอันลือชื่อ
                  สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ทรงทราบถึงความเดือดร้อนของประชาชน จึงเสด็จพระราชดำเนินมายังจังหวัดอ่างทอง เมื่อวันที่ 4 มกราคม พ.ศ.2519 ทรงดำริว่าน่าจะมีอาชีพเสริมอย่างขึ้น เพื่อให้ราษฎรตำบลบางเสด็จมีรายได้เพิ่ม จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ส่งอาจารย์จากวิทยาลัยเพาะช่าง คือ อาจารย์จุลทรรศน์ พญาฆรานนท์ และ อาจารย์เสริมศรี บุญนาค มาสอนปั้นตุ๊กตาชาววังแก่ราษฎรตำบลบางเสด็จ โดยครั้งแรกมีผู้เข้ารับฝึกอบรมประมาณ 150 คน ฝึกอบรมได้ประมาณ 3 เดือน ก็ได้จัดพิธีไหว้ครู ซึ่งมีเจ้าฟ้าหญิงสิรินทรเทพรัตนราชสุดาฯ เป็นองค์ประธาน หลังจากนั้นก็สามารถปั้นตุ๊กตาต่างๆ ได้เป็นอย่างดี
           
           ตุ๊กตาชาววัง เป็นตุ๊กตาไทยมีหลายขนาดใหญ่ถึงเล็ก ใช้ดินเหนียวปั้น โดยก่อนปั้นเป็นตุ๊กตาต้องทำส่วนหัวเตรียมไว้ก่อน โดยใช้วิธีกดจากแม่พิมพ์ที่ทำจากปูนพลาสเตอร์ แล้วเตรียมปั้นตัวตุ๊กตาโดยใช้ส่วนหัวที่เตรียมไว้เสียบให้เข้ากันกับตัว ทำท่าทางต่างๆ ตามต้องการ เมื่อปั้นตัวเสร็จแล้วจึงปล่อยไว้ให้แห้ง นำไปอบในตู้สำหรับอบตุ๊กตา ทิ้งไว้สักพักแล้วเพิ่มความร้อนขึ้นเรื่อยๆ จนสุก ประมาณ 6 ชั่วโมง หลังจากนั้นปล่อยไว้ให้เย็นแล้วนำมาระบายสีตกแต่งหน้าตา จัดทำเป็นชุดที่ต้องการ
           
           ปัจจุบันได้มีการจัดเป็นชุดหลายรูปแบบมากมาย อาทิ ตุ๊กตาชาววังในชุดการละเล่นของเด็กไทย ตุ๊กตาชุดวิถีชีวิตไทย เล่นดนตรีไทย รวมไปถึงดัดแปลงเป็นรูปฤาษีดัดตนด้วย นับเป็นของที่ระลึกของฝากที่นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติอดไม่ได้ที่จะเลือกซื้อ ที่สำคัญราคาไม่แพงแถมเก๋ไก๋ดีทีเดียว

    กลองไทย ภูมิปัญญาชาวบ้านอันโด่งดังแห่ง อ. ป่าโมก
                  เปลี่ยนไม้ฉำฉามาเป็น “กลองไทย”
           
           กลองเมืองอ่างทอง หนึ่งในภูมิปัญญาของช่างฝีมือไทยที่ได้รับการสืบสานมาจากรุ่นสู่รุ่น ได้รับการยอมรับว่าเป็นกลองระดับครูที่มีเสียงเพราะและได้มาตรฐาน ซึ่งที่ ต. เอกราช อ. ป่าโมก นับเป็นถิ่นทำกลองที่สำคัญ โดยมีการทำกลองประเภทต่างๆ มากมาย ทั้งตะโพน รำมะนา กลองยาวขนาดต่างๆ รวมไปถึงมีการสร้างกลองยาวที่ยาวที่สุดในโลกด้วย นอกจากนี้ยังมีกลองขนาดเล็กต่างๆ ไว้สำหรับเป็นของฝากอันทรงคุณค่าจากจังหวัดอ่างทอง ให้ได้เลือกซื้อเลือกชมกันเป็นจำนวนมาก
           
           วิธีการทำกลองของชาวบ้านที่นี่นั้น ส่วนของตัวกลอง ปกติแล้วไม้ที่เหมาะในการทำกลองคือ ไม้มะค่า ไม้ชิงชัน แต่ปัจจุบันไม้เหล่านี้กลายเป็นไม้สงวน จึงเปลี่ยนมาใช้ไม้ฉำฉาแทน ซึ่งจะมีลักษณะใกล้เคียงกัน คือมีน้ำหนักเบา เหมาะแก่การใช้งาน และส่วนของหน้าหนังทำด้วยหนังสัตว์ เช่น หนังวัวหรือหนังควาย โดยกลองที่ตีด้วยไม้ต้องใช้หนังที่หนากว่าที่ตีด้วยมือ
           
           ขั้นตอนการทำเริ่มต้นจากการสร้างหุ่นกลองให้ได้รูปร่างขนาดตามต้องการอย่างคร่าวๆ จากนั้นก็นำมาเจาะรูด้วยการคว้านเนื้อด้านในกลองออก แล้วนำไปผึ่งแดดอย่างน้อย 1 สัปดาห์จนแห้งสนิท หลังจากนั้นจึงนำมาขัดผิว ทาสี และใส่ยากันมอด ปลวกเพื่อเตรียมเข้าสู่การขึ้นหน้ากลองต่อไป

    กลองขนาดจิ๋ว ของฝากอันทรงคุณค่า
                  สำหรับอาชีพการทำกลองนั้น นอกจากเป็นอาชีพเสริมของชาวบ้าน เป็นหัตถกรรมที่มีชื่อเสียงของจังหวัด เป็นแหล่งทำกลองที่ใหญ่ที่สุดในประเทศแล้ว ยังสามารถกลายมาเป็นแหล่งดึงดูดนักท่องเที่ยว เป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญที่ทำรายได้ให้กับจังหวัดอ่างทองอีกด้วย
           
           นอกจากตุ๊กตาชาววังและกลองไทยแล้ว อ. ป่าโมก ยังมีสถานที่ท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมและสถาปัตยกรรมทางประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจอื่นๆ อีก อาทิ วัดป่าโมกวรวิหาร ที่เดิมเป็นวัด 2 วัดติดกัน คือวัดตลาดกับวัดชีปะขาว มีพระพุทธรูปปางไสยาสน์ซึ่งเก่าแก่มาก ประดิษฐานอยู่ริมฝั่งแม่น้ำ วัดท่าสุทธาวาส วัดเก่าแก่แห่งป่าโมก ที่ในการทำศึกสงครามบริเวณนี้จะเป็นเส้นทางเดินทัพข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา ปัจจุบันสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี ทรงรับวัดนี้ไว้ในพระราชอุปถัมภ์ มีการจัดสร้างพลับพลาที่ประทับกลางสระน้ำ สร้างพระเจดีย์เพื่อแสดงพระพุทธรูปโบราณและโบราณวัตถุต่างๆ รวมทั้งพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราชและสมเด็จพระเอกาทศรถ
           
           สำหรับใครที่ชื่นชอบเดินทางท่องเที่ยวพักผ่อนแบบไม่ไกลกรุงเทพฯ มากนัก หากผ่านไปอ่างทอง อย่าลืมแวะไปสัมผัสกับความงดงามทางประวัติศาสตร์ที่อำเภอป่าโมก รวมถึงเลือกซื้อสินค้าโอทอปเลื่องชื่อฝีมือ ติดไม้ติดมือกลับไปเป็นของฝากอันทรงคุณค่าทางวัฒนธรรมด้วย

                  * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
           
           ศูนย์ตุ๊กตาชาววังบ้านบางเสด็จ เป็นเรือนไทยทรงสูง อยู่ด้านหลังวัดท่าสุทธาวาส ในพื้นที่ตำบลบ้านบางเสด็จ ผู้สนใจตุ๊กตาชาววังสอบถามรายละเอียดได้ที่ ศูนย์ปั้นและจำหน่ายตุ๊กตาชาววัง โทร. 0-3566-2995
           
           หมู่บ้านทำกลอง ตั้งอยู่ที่ ตำบลเอกราช หลังตลาดป่าโมก ริมฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา การเดินทางใช้ถนนสายใน ผ่านหน้าที่ทำการเทศบาลอำเภอป่าโมกซึ่งขนานไปกับลำคลองชลประทาน ระยะทางประมาณ 17 กิโลเมตร ตลอดสองข้างทางจะเห็นร้านขายกลองเป็นระยะๆ
           
           ส่วนผู้สนใจข้อมูลท่องเที่ยวอ่างทอง สอบถามข้อมูลการท่องเที่ยวได้ที่ สำนักงาน ททท. ภาคกลาง เขต 6 โทร. 0-3524-6076-7 และศูนย์บริการข้อมูลข่าวสารจังหวัดอ่างทอง โทร. 0-3532-2730-1
           


    http://www.manager.co.th/Travel/ViewNews.aspx?NewsID=9490000054954
    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×