ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    ดาวพลูโต

    ลำดับตอนที่ #2 : “New Horizons” ออกเดินทางไกลสำรวจ “พลูโต” และแถบไคเปอร์

    • อัปเดตล่าสุด 27 ส.ค. 49


    “New Horizons” ออกเดินทางไกลสำรวจ “พลูโต” และแถบไคเปอร์
    โดย ผู้จัดการออนไลน์ 20 มกราคม 2549 08:07 น.

    จรวดแอตลาส 5 จุดระเบิดนำ "นิว โฮไรซอนส์" ออกเดินทางไกล โดยมีจุดหมายที่ดาวพลูโตและวัตถุในแถบนั้น ซึ่งการเดินทางครั้งนี้ต้องใช้เวลาเกือบ 10 ปี แม้ว่านิว โฮไรซอนส์จะเป็นยาวอวกาศที่บินเร็วที่สุดเท่าที่เคยมีการสร้างยานมาก็ตาม

    คลิกที่ภาพเพื่อดูขนาดใหญ่ขึ้น
    New Horizons มีขนาดเท่าเปียโน มีจานดาวเทียมสำหรับส่งสัญญาณกลับมายังโลก

    เจ้าหน้าที่กำลังตระเตรียมยานอวกาศที่วิ่งเร็วที่สุดในประวัติศาสตร์


    เพื่อให้แน่ใจว่าพลูโตเนียมจะไม่รั่วออกมาระหว่างการปล่อยตัว ทีมวิศวกรนิวเคลียร์จึงเตรียมตรวจจับรังสีในอากาศระหว่างการปล่อยจรวด

    ภาพจำลองของ "New Horizons" ขณะบินออกห่างจากดวงอาทิตย์ (แสงสว่างขาวด้านหลัง) และกำลังบินอยู่เหนือดาวพลูโต โดยมีชารอนจันทร์บริวารอยู่ด้านหลัง

           นาซา/เอเอฟพี/บีบีซีนิวส์ – “นิว โฮไรซอนส์” ยานอวกาศไร้มนุษย์ของนาซาออกเดินทางไกลด้วยอัตราบินเร็วที่สุดเท่าที่เคยมียานอวกาศมาก่อน บ่ายหน้าสู่ “พลูโต” ดาวเคราะห์ดวงที่ 9 แห่งระบบสุริยะ ใช้เวลา 10 ปีกว่าจะถึงที่หมาย แถมด้วยการสำรวจวัตถุน้ำแข็งในแถบไคเปอร์
           
           แอตลาส 5 (Atlas 5) จรวดขับดันลำใหญ่ที่สุดขององค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ (นาซา) ได้นำยานอวกาศขนาดเท่าเปียโนที่มีชื่อว่า “นิว โฮไรซอนส์” (New Horizons) ออกจากฐานส่งจรวด ณ แหลมคาวารอล รัฐฟลอริดา สหรัฐฯ ไปแล้วเมื่อเวลา 02.00 น.ของวันที่ 20 ม.ค. (ตามเวลาประเทศไทย) โดยนิว โฮไรซอนส์บรรทุกเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์มากมาย มุ่งสู่จุดหมายปลายทางที่ยังไม่เคยมีใครส่งอะไรไปถึงนั่นคือ “ดาวพลูโต”
           
           ทั้งนี้ นาซาได้เปลี่ยนกำหนดปล่อยนิว โฮไรซอนส์ใหม่หลายต่อหลายครั้งในรอบ 3 วัน ตั้งแต่ 18 - 20 ม.ค. ที่ผ่านมา เพราะสภาพลมที่บริเวณฐานปล่อยจรวดนั้นมีความผันผวนรุนแรงจนมีแนวโน้มว่าอาจจะเกิดลมพายุขึ้นระหว่างปล่อยตัว ซึ่งตัวถังเชื้อเพลิงของจรวดก็มีปัญหาก่อนกำหนดปล่อยตัวไม่กี่นาที อีกทั้งถังเชื้อเพลิงของยานอวกาศที่เต็มไปด้วยพลูโตเนียม ซึ่งหากเกิดการกระทบกระเทือนจนรั่วไหลจะกลายเป็นปัญหาใหญ่ทีเดียว
           
           อย่างไรก็ดี ถังที่บรรทุกพลูโตเนียมไว้ถึง 33 กิโลกรัมเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิง ซึ่งนับเป็นประเด็นที่กลุ่มต่อต้านนิวเคลียร์ออกมาประท้วงโครงการนี้ เพราะในตำแหน่งดาวเคราะห์ดวงที่ 9 แน่นอนว่าคงไม่สามารถใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์ได้ จึงทำให้นาซาเลือกใช้พลูโตเนียมเป็นเชื้อเพลิง เช่นเดียวกับแคสสินีที่เดินทางไปยังดาวเสาร์ และมาร์สโรเวอร์ที่ปฏิบัติหน้าที่บนดาวอังคาร โดยนาซาก็แสดงความมั่นใจว่าโอกาสที่จะเกิดอันตรายจากสารพลูโตเนียมรั่วนั้นมีต่ำมาก โดยย้ำว่ามีโอกาสเพียงแค่ 1 ใน 350 เท่านั้นที่พลูโตเนียมจะรั่วออกมาในบริเวณฐานปล่อยยาน
           
           ยานอวกาศนิว โฮไรซอนส์จะเป็นยานอวกาศลำแรกที่สามารถเดินทางด้วยความเร็วสูงสุดถึง 75,000 กิโลเมตรต่อชั่วโมงนับเป็นความเร็วสูงสุดตั้งแต่มีการสร้างยานขึ้นมาสำรวจอวกาศ ซึ่งการเดินทางที่ความเร็วระดับนี้จะทำให้การเดินทางจากโลกสู่ดวงจันทร์ใช้เวลาเพียง 9 ชั่วโมง จากที่ปัจจุบันใช้เวลาถึง 3 วัน แม้ว่าจะเป็นยานอวกาศที่บินได้เร็วที่สุด แต่กว่าจะไปถึงพลูโตได้ก็ต้องใช้เวลาเดินทางมากกว่า 10 ปี
           
           ทั้งนี้ หลังจากนิว โฮไรซอนส์ขึ้นฟ้าไปแล้วก็จะเดินทางถึงดาวพฤหัสด้วยความเร็ว 58,000 กิโลเมตรต่อชั่วโมง โดยจะไปถึงดาวพฤหัสพอดีกับตำแหน่งที่สามารถใช้แรงดึงดูดของดาวยักษ์เป็นแรงเหวี่ยงให้พุ่งออกไปได้เร็วกว่าเดิม คาดว่าจะสามารถบินออกห่างจากดวงอาทิตย์ได้เร็วถึง 4 กิโลเมตรต่อวินาทีหรือ วิ่งได้เร็วถึง 75,000 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ร่นเวลาการเดินทางสู่พลูโตไปได้ประมาณ 30 เดือน โดยจะไปถึงได้ภายในปี 2015 จากกำหนดเดิมคือปี 2018 อย่างเร็วสุด นับว่าช่วยลดโอกาสล้มเหลวได้อย่างดีทีเดียว
           
           ยานอวกาศไร้มนุษย์ “นิว โฮไรซอนส์” มูลค่า 700 ล้านเหรียญสหรัฐฯ นี้จะรวบรวมข้อมูลจากดาวพลูโตและจันทร์บริวาร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ชารอน” (Charon) บริวารดวงใหญ่ที่สุดของพลูโต โดยมีอุปกรณ์ก้าวล้ำ 7 ชิ้นช่วยเก็บรวบรวมข้อมูล โดยเฉพาะอย่างยิ่งชั้นบรรยากาศของพลูโตและรายละเอียดพื้นผิวอันน่าอัศจรรย์ พร้อมทั้งบันทึกภาพจันทร์ 2 ดวงใหม่ที่เพิ่งประกาศการค้นพบไปเมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว รวมถึงสำรวจวงแหวนรอบๆ พลูโต
           
           นอกจากนี้นิว โฮไรซอนส์จะใช้เวลาอีกมากกว่า 5 ปีเข้าสำรวจวัตถุน้ำแข็งในแถบไคเปอร์ (Kuiper Belt) ซึ่งอยู่เลยจากดาวเนปจูนออกไป วัตถุน้ำแข็งเหล่านี้มีวิถีโคจรอยู่ในระนาบใกล้เคียงกับระนาบการโคจรของสุริยะวิถีที่เหล่าดาวเคราะห์โคจรอยู่รอบดวงอาทิตย์ในระบบสุริยะ ซึ่งเชื่อว่าวัตถุน้ำแข็งนับสิบๆ ก้อนจากหลายพันๆ ก้อนหลุดออกมาด้วยระยะทางไกลมากกว่า 30-50 เท่าของระยะทางระหว่างโลกกับดวงอาทิตย์
           
           อย่างไรก็ดี นักดาราศาสตร์อีกมากมายยังไม่อาจปักใจยกให้ “พลูโต” เป็นดาวเคราะห์ แต่น่าจะให้เป็น “ดาวเคราะห์น้อย” หรือ “ดาวหาง” ขณะที่บางคนก็ว่าควรจะพิจารณาให้พลูโตเป็น “วัตถุที่ใหญ่ที่สุด” ใน แนวไคเปอร์ แต่ในปัจจุบันยังถือว่า ดาวพลูโตเป็นเทห์วัตถุประเภทดาวเคราะห์ อย่างเช่นเคย
           
           ”มีความแตกต่างอย่างมากระหว่างพื้นผิวของพลูโต ซึ่งอาจจะทำให้ชี้ได้ว่าระบบนั้นไม่ได้ก่อกำเนิดมาจากการระเบิดเพียงครั้งเดียว หรืออาจจะมีวัตถุขนาดเล็กอื่นๆ อยู่ในแถบนั้นคอยสร้างแรงดึงดูด” สตีเฟน ลอว์รี จากมหาวิทยาลัยควีน ในเบลฟาสต์ (Queen's University in Belfast) สหราชอาณาจักร แสดงข้อสันนิษฐานเกี่ยวกับพลูโตและจันทร์บริวาร
           
           ไคลด์ ทอมแบจ (Clyde Tombaugh) แห่งหอดูดาวโลเวล รัฐอริโซนา (Lowell Observatory in Flagstaff, Arizona) ค้นพบ "พลูโต" ในปี 1930 นับเป็นดาวเคราะห์ดวงที่ 9 ของระบบสุริยะจักรวาลและเป็นดาวที่อยู่ห่างไกลที่สุดจากดวงอาทิตย์ โครงการสำรวจดาวพลูโตนี้เป็นโครงการแรกของโลก ซึ่งนักวิทยาศาสตร์คาดว่า จะทำให้ทราบองค์ประกอบและสภาพบรรยากาศของดาวเคราะห์ดวงนี้ อันจะช่วยนำพามุมมองและข้อมูลใหม่ๆ เกี่ยวกับระบบสุริยะของเรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกำเนิดของดาวเคราะห์ต่างๆ รวมถึงโลกเมื่อย้อนไป 4,500 ล้านปีก่อน
           
           ดาวพลูโตอยู่ห่างจากโลกถึง 38.46 หน่วยดาราศาสตร์ หรือประมาณ 7,400,000,000 กิโลเมตร มีคาบการหมุนรอบตัวเอง 6 วัน 9 ชั่วโมง 17 วินาที และคาบการหมุนรอบดวงอาทิตย์เท่ากับ 247.7 ปีบนโลก ด้วยความเร็ว 4.70 กิโลเมตรต่อวินาที พลูโตมีเส้นผ่านศูนย์กลาง 2,324 กิโลเมตร (โลก 12,756 กิโลเมตรที่เส้นศูนย์สูตร) และมีมวลแค่เพียง 0.0022 เท่าของโลก

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×