ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    ของดีทั่วเมืองไทย

    ลำดับตอนที่ #1 : เที่ยว "บ้านครัว" ชมชุมชนทอผ้ากลางกรุง

    • อัปเดตล่าสุด 30 มิ.ย. 49


    เที่ยว "บ้านครัว" ชมชุมชนทอผ้ากลางกรุง
    โดย ผู้จัดการออนไลน์ 27 มิถุนายน 2549 13:56 น.
                  โดย : หนุ่มลูกทุ่ง

    จิม ทอมป์สันเมื่อยังมีชีวิต มักจะเเวะเวียนมาที่ชุมชนบ้านครัวบ่อยๆ
                  สืบเนื่องจากการที่ฉันได้เคยลุยกรุงเดินดุ่มๆ ไปเที่ยวพิพิธภัณฑ์บ้านเรือนไทยจิม ทอมป์สันพิพิธภัณฑ์บ้านเรือนไทยจิม ทอมป์สันเมื่อไม่นานมานี้ และได้รับรู้เรื่องราวต่างๆ ของราชาไหมไทย (แต่เป็นฝรั่ง) ที่ชื่อ "จิม ทอมป์สัน" ว่าเขาเป็นผู้หลงใหลเสน่ห์ของผ้าไหมไทย และเป็นคนที่ช่วยประชาสัมพันธ์ผ้าไหมไทยให้โด่งดังไปทั่วโลก
           
           การไปชมพิพิธภัณฑ์ในครั้งนั้นทำให้ฉันได้รู้จักกับ "ชุมชนบ้านครัว" ซึ่งอยู่ตรงข้ามพิพิธภัณฑ์บ้านเรือนไทยจิม ทอมป์สัน โดยมีคลองมหานาคคั่นกลาง โดยรู้จักในฐานะที่เป็นชุมชนที่ทอผ้าไหมส่งให้กับจิม ทอมป์สัน

    หลังจากย้อมสีไหมแล้ว ต้องนำมาต้มให้สีติดทน
                  ก็น่าแปลกเหมือนกันที่ในกรุงเทพมหานคร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตราชเทวีซึ่งดูเป็นย่านการค้าขายนี้จะมีชุมชนที่ยังทำอาชีพทอผ้า เพราะที่ฉันเคยเห็นการทอผ้าส่วนมากก็จะอยู่ตามต่างจังหวัดแทบทั้งสิ้น ก็เลยตัดสินใจลองไปดูให้เห็นว่าเขาทอผ้ากันจริงๆ แต่ไม่รู้ทำไม เมื่อฉันเข้าไปถามทางแม่ค้าขายข้าวแกงแถวๆ สะพานหัวช้างว่า จะไปดูชาวบ้านครัวเขาทอผ้ากันได้ที่ไหน แม่ค้ากลับทำหน้างงๆ ก่อนจะบอกว่า เขาทอผ้าหรือเปล่าอันนี้ก็ไม่รู้เหมือนกัน แต่ถ้าจะไปบ้านครัวละก็ให้เดินไปทางนี้ ก่อนจะชี้มือไปยังทางเดินข้างหน้า
           
           ฉันก็ออกจะใจแป้วกับสีหน้างงๆ ของแม่ค้า เพราะเริ่มทำให้ไม่แน่ใจว่า เอ... จะยังมีชาวบ้านครัวคนไหนทอผ้าอยู่อีกไหมหนอ หรือว่าจะเลิกไปทำอาชีพอื่นกันหมดแล้ว และยิ่งเดินลึกเข้าไปก็ไม่เห็นบ้านไหนจะมีทีท่าว่าจะทอผ้ากันสักบ้าน หลังจากที่เดินสอดส่องไปได้สักพัก ฉันก็เหลือบไปเห็นป้าย "อู๊ดบ้านครัวไหมไทย" แต่ก็ยังไม่แน่ใจว่าที่นี่เป็นแค่เพียงร้านขายผ้าไหมหรือว่าเป็นบ้านที่ยังคงทอผ้าไหมอยู่จริงๆ
           
           ไปยืนเก้ๆ กังๆ อยู่หน้าบ้านสักประเดี๋ยวหนึ่ง ก่อนที่คนในบ้านซึ่งกำลังสาละวนอยู่กับการสะบัดม้วนเส้นไหมสีสดใสจะเรียกฉันให้เข้ามาชมข้างใน ก็เป็นอันแน่ใจได้ว่าที่ชุมชนบ้านครัวนี้ยังคงมีการทอผ้าอยู่ และที่นี่ฉันก็ได้พบกับลุงอู๊ด มนัสนันท์ เบญจรงค์จินดา ชาวชุมชนบ้านครัว และเจ้าของร้านอู๊ดบ้านครัวไหมไทย ที่จะเป็นคนพาฉันชมการทอผ้าที่นี่

    กระทบไหมให้หมาดก่อนนำไปตาก
                  ลุงอู๊ดท้าวความให้ฉันฟังว่า ชาวบ้านครัวแต่เดิมนั้นเป็นชุมชนชาวแขกจาม หรือคนอิสลามที่มาจากจามปา หรือประเทศเขมร ซึ่งอพยพมาอยู่บริเวณนี้ตั้งแต่สมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์และสืบทอดลูกหลานมาจนถึงปัจจุบัน รวมทั้งสืบทอดฝีมือการทอผ้าซึ่งเป็นอาชีพของชาวชุมชนบ้านครัวส่วนใหญ่นี้ด้วย
           
           การทอผ้าของชาวบ้านครัวนี้ก็เพื่อไว้ใช้สอยเองบ้าง รวมทั้งส่งไปขายตามต่างจังหวัด เช่นล่องไปตามแม่น้ำเจ้าพระยาไปขายคนทางจังหวัดอยุธยาบ้าง จนเมื่อจิม ทอมป์สัน หรือที่ชาวบ้านครัวเรียกว่า"นายห้างจิม"ฝรั่งชาวอเมริกันผู้หลงรักไหมไทยเข้ามาส่งเสริมให้ชาวบ้านครัวทอผ้าไหมเพื่อส่งขายในรูปแบบต่างๆ ภายใต้ชื่อยี่ห้อจิม ทอมป์สัน จนผ้าไหมไทยโด่งดังไปทั่วโลก ก็ทำให้การทอผ้าของชาวบ้านครัวในตอนนั้นเฟื่องฟูยิ่งกว่าครั้งไหนๆ
           
           สำหรับลุงอู๊ดนั้นก็เป็นอีกคนหนึ่งที่เริ่มรู้จักกับการทอผ้าไหมมาตั้งแต่อายุ 13 ปี โดยเริ่มประสบการณ์ในแวดวงนี้ด้วยการรับจ้างย้อมไหม โดยเมื่อก่อนนี้จะเป็นการย้อมสีธรรมชาติโดยนำมาต้มกับไม้แกแล ซึ่งจะให้สีเหมือนสีหมากสุก หรือใช้ลูกแสดซึ่งให้สีส้ม จากนั้นในช่วงหลังที่นายห้างจิมเข้ามาจึงมีการใช้สีเคมีกันมากขึ้น
           
           ลุงอู๊ดเล่าถึงบรรยากาศในช่วงสมัยนั้นให้ฟังว่า นายห้างจิมเข้ามาบอกกับคนในชุมชนว่า เขาจะเอาเส้นไหมมาให้ เอาสีมาให้ แล้วให้ทอผ้าส่งเขาได้ไหม จากนั้นแถบนี้ก็เลยทอผ้าส่งจิม ทอมป์สันกันทั้งหมู่บ้าน ถึงเวลาก็ไปเอาไหม เอาสีจากที่บริษัทมาจัดการทอเป็นผืน รวมทั้งเปลี่ยนจากการใช้กี่กระทบแบบเก่ามาเป็นกี่กระตุกเพื่อจะทอผ้าได้เร็วขึ้น

    ลุงอู๊ด มนัสนันท์ เบญจรงค์จินดา
                  และโชคดีที่นายห้างจิมได้ที่ดินมาปลูกสร้างบ้านอยู่อีกฟากของคลองมหานาคตรงข้ามชุมชนบ้านครัวพอดิบพอดี ดังนั้นชาวบ้านครัวจึงได้มีโอกาสพบกับนายห้างซึ่งแวะเวียนมาดูการผลิตผ้าไหมถึงที่อยู่บ่อยๆ ฉันเลยถามลุงอู๊ดว่าจิม ทอมป์สันในตอนนั้นเป็นอย่างไรบ้าง ลุงอู๊ดเล่าว่า "เขาก็แวะมาดูการทอผ้าไหมบ่อยๆ ก็เป็นคนอัธยาศัยดี อารมณ์ดี คนบ้านครัวก็รักนายห้างจิม เพราะเป็นคนที่ทำให้ชาวบ้านมีงานทำ ทำให้คนมีเงินขึ้นมา และทำให้เศรษฐกิจแถวนี้ดีขึ้นเยอะเลย"
           
           ลุงอู๊ดเล่าต่อว่า "แต่อยู่มาซัก 20-30 ปี นายห้างจิมก็หายตัวไป เขาว่าไปราชการที่มาเลเซีย ตั้งแต่นั้นทางบริษัทเขาก็ไม่รับผ้าจากของทางบ้านครัวแล้ว เขาก็ไปสร้างโรงงานของเขาเอง ทางบ้านครัวก็เลยต้องเลิกเพราะเมื่อทอผ้าไปแล้วก็ไม่มีตลาดให้ขาย ก็ค่อยๆ เลิกทีละสามบ้านสี่บ้าน เลิกๆๆ จนหมด" จนปัจจุบันนี้ก็เหลืออยู่แค่สองบ้านเท่านั้นที่ยังคงทอผ้าอยู่ คือที่บ้านลุงอู๊ดกับบ้านอีกหลังหนึ่งที่อยู่ติดกัน แต่สำหรับบ้านลุงอู๊ดนั้นจะทำเองทุกขั้นตอนตั้งแต่ย้อมสี ไปจนถึงทอออกมาเป็นผืน แต่เส้นไหมนั้นรับซื้อมาจากจังหวัดเพชรบูรณ์ รวมทั้งจากประเทศจีนและเวียดนามด้วย ส่วนเหตุที่ลุงอู๊ดยังคงทำอาชีพทอผ้าไหมอยู่มาจนถึงตอนนี้ก็เพราะมีความรู้สึกว่า อยู่กับไหมมาชั่วชีวิตแล้ว และมีความรู้ในเรื่องผ้าไหมดี ก็เลยคิดว่าจะทำต่อไป
           
           คุยกับคุณลุงมาพอหอมปากหอมคอแล้ว ฉันก็เริ่มลุกเดินชมรอบๆ บ้านซึ่งเต็มไปด้วยอุปกรณ์ในการทอผ้า ลุงอู๊ดอธิบายขั้นตอนที่เส้นไหมจะถูกทอออกมาเป็นผืนให้ฉันฟังว่า ในขั้นแรกจะต้องฟอกไหม หรือนำเส้นไหมดิบมาต้มเพื่อเอากาวออกเสียก่อน จากนั้นจึงย้อมสี และต้มอีกประมาณหนึ่งชั่วโมงให้สีติดทน แล้วจึงล้างและกระทบไหมให้เส้นไหมไม่พันกัน จากนั้นนำไปตากให้แห้ง แล้วนำมากรอเข้าใส่หลอดด้าย แล้วก็นำไปทอเป็นผืนด้วยเเรงงานคนจนได้ออกมาเป็นผืนผ้าไหมสวยงาม เป็นที่ชื่นชอบของชาวต่างชาติที่ชอบงานแฮนด์เมด

    ที่ชุมชนบ้านครัวการทอผ้ายังคงใช้แรงคนอยู่เหมือนเดิม
                  ผ้าไหมของลุงอู๊ดนั้นเป็นที่รู้จักไปถึงต่างประเทศเลยทีเดียวเชียว เพราะหลังจากที่ทางราชการเข้ามาส่งเสริมเรื่องโอทอป (OTOP) หรือสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ ผ้าไหมของลุงก็ได้ไปออกบูธตามงานแสดงสินค้าต่างๆ และมีสื่อมวลชนทั้งไทยและต่างประเทศถ่ายทอดเรื่องราวกลับไป ทำให้ที่บ้านลุงอู๊ดมีคนมาเยี่ยมชมบ่อยๆ รวมทั้งก็มีนักท่องเที่ยวที่ได้ไปชมพิพิธภัณฑ์บ้านไทยจิม ทอมป์สันแล้วก็อยากเห็นแหล่งทอผ้าไหมของจิม ทอมป์สันขึ้นมา ทางพิพิธภัณฑ์ก็จะแนะนำให้มาชมที่นี่
           
           ไม่น่าเชื่อแต่ก็ต้องเชื่อว่าในกรุงเทพมหานครนี้จะยังมีชุมชนเล็กๆ ที่ทอผ้าไหมเป็นอาชีพ แถมยังทอกันมายาวนานเป็นร้อยๆ ปีมาแล้วอีกด้วย แม้ในตอนนี้จะเหลืออยู่เพียงสองบ้านเท่านั้นที่ยังคงมีภาพนี้ให้เห็น แต่ก็นับว่าเป็นอีกชุมชนหนึ่งที่น่าสนใจไม่น้อยเลยทีเดียว
           
           
           *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    * 
           

           ผู้ที่สนใจสามารถเข้าชมขั้นตอนการผลิตผ้าไหม รวมทั้งเลือกซื้อผ้าไหมของชาวชุมชนบ้านครัวเหนือได้ที่ ลุงอู๊ดบ้านครัวไหมไทยได้ทุกวันตั้งแต่เวลา 09.00-20.00 น. ที่ 847/1 สุดซอยเกษมสันต์ 3 เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร โทรศัพท์ 0-2215-9864
           
           การเดินทาง ให้เข้ามาทางซอยเกษมสันต์ 3 ซึ่งอยู่ตรงข้ามศึกษาภัณฑ์พาณิชย์ สาขาสนามกีฬาแห่งชาติ เมื่อเดินเข้ามาจนสุดซอยจะเจอสะพานข้ามคลองมหานาค เมื่อข้ามสะพานมาแล้วให้เดินมาทางซ้ายมือมาอีกประมาณ 100 เมตร จะเจอลุงอู๊ดบ้านครัวไหมไทยอยู่ในซอยทางขวามือ

           
           อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง
           
           
    เยี่ยมบ้าน "จิม ทอมป์สัน" เรือนไทยกลางกรุงเยี่ยมบ้าน "จิม ทอมป์สัน" เรือนไทยกลางกรุง


    จากเวปไซด์ http://www.manager.co.th/Travel/ViewNews.aspx?NewsID=9490000082973
    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×