ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    สตีเฟ่น ฮอว์กิ้ง อัจฉริยะร่างพิการ จักรวาลวิทยา และอนาคต

    ลำดับตอนที่ #1 : “ฮอว์กิง” ทำนายเผ่าพันธุ์มนุษย์จะสูญ หากยังไม่รีบตั้งนิคมอวกาศ

    • อัปเดตล่าสุด 15 มิ.ย. 49


    “ฮอว์กิง” ทำนายเผ่าพันธุ์มนุษย์จะสูญ หากยังไม่รีบตั้งนิคมอวกาศ
    โดย ผู้จัดการออนไลน์ 15 มิถุนายน 2549 16:30 น.

    สตีเฟน ฮอว์กิง นักฟิสิกส์อันดับหนึ่งของโลกพร้อมลูกสาววัย 35 ปี ลูซี ฮอว์กิง กำลังเผยโปรเจคสำคัญนั่นคือเขียนหนังสือนิยายเกี่ยวกับจักรวาล หวังตีตลาดแฮร์รี่ พอตเตอร์

    คลิกที่ภาพเพื่อดูขนาดใหญ่ขึ้น
    ฮอว์กิงร่วมรดน้ำต้นไม้กับอธิการบดีมหาวิทยาลัยวิทยศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งฮ่องกง เพื่อเป็นที่ระลึก

    นักศึกษาฮอ่องกงมอบดอกไม้ให้กำลังใจยอดนักฟิสิกส์เอก ที่ต้องนั่งบนเก้าอี้รถเข็นตลอดเวลา

    ฮอว์กิงกับผู้ช่วยหนุ่มที่ฮ่องกง โดยเขาจะอยู่ที่ฮ่องกง 6 วันก่อนเดินทางไปบรรยายต่อที่ปักกิ่ง

    พยายาลส่วนตัวกำลังจัดเตรียมฮอว์กิงให้พร้อมบรรยายต่อหน้านักศึกษาและชาวฮ่องกงที่สนใจ ซึ่งบัตรขายหมดเกลี้ยงอย่างรวดเร็ว

           เอเยนซี/เอพี - หลังจากหายไปนาน “สตีเฟน ฮอว์กิง” ปรากฎตัวบรรยายเรื่องถนัดที่ฮ่องกง พร้อมแถมคำทำนายอนาคตเผ่าพันธุ์มนุษยชาติจะอยู่รอดต่อไป หากสามารถหานิคมใหม่บนอวกาศให้ได้โดยไว เพราะโลกกำลังเผชิญความเสี่ยงสูงที่จะโดนทำลายทั้งโรคร้าย ภัยธรรมชาติ และแม้แต่สงครามกันเอง อีกทั้งเตรียมลงมือเขียนนิยายสำหรับเด็กเน้นความมหัศจรรย์ในอวกาศ จับกลุ่มเดียวกับคนอ่านแฮร์รี พอตเตอร์
           
           สตีเฟน ฮอว์กิง (Stephen Hawking) นักฟิสิกส์ชื่อดังของโลกเดินทางไปฮ่องกงตามคำเชิญของมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งฮ่องกง เพื่อบรรยายเรื่อง “กำเนิดจักรวาล” ท่ามกลางผู้ฟังกว่า 2,500 คน เมื่อวันอังคาร (13 มิ.ย.) ที่ผ่านมา โดยนอกจากฮอว์กิงจะบรรยายถึงทฤษฎีของเขาที่เกี่ยวกับกำเนิดจักรวาลแล้ว ยังพูดถึงเรื่อง “กาล” รวมทั้งได้เตือนถึงอนาคตของมนุษย์ว่าจำเป็นจะต้องไปอยู่ในอวกาศ
           
           ฮอว์กิงได้กล่าวแสดงความเห็นว่า มนุษย์ควรจะไปตั้งถิ่นฐานบนดวงจันทร์ให้ได้ภายใน 20 ปีข้างหน้า และอีก 40 ปีจะต้องสร้างนิคมบนดาวอังคารให้ได้
           

           ”พวกเราจะหาบ้านที่ดีเหมือนโลกไม่ได้อีกแล้ว นอกเสียจากจะย้ายไปอยู่ที่ระบบดาวอื่น และสร้างขึ้นมาใหม่” ฮอว์กิงกล่าวและเพิ่มเติมว่า ถ้ามนุษย์หยุดฆ่ากันเองไปอีก 100 ปี ก็จำจะต้องหาถิ่นที่อยู่สำหรับตั้งรกราก ซึ่งโลกก็จะรองรับได้ไม่เพียงพอ
           
           ”มันสำคัญมากสำหรับมนุษยชาติที่จะต้องกระจายตัวไปอยู่ตามอวกาศเพื่อดำรงไว้ซึ่งเผ่าพันธุ์ของพวกเรา ชีวิตบนโลกเริ่มเสี่ยงอันตรายมากขึ้นทุกขณะ โดยเฉพาะโรคร้ายและพิบัติภัยที่จะกวาดพวกเราให้ล้มตายไปทีละมากๆ ไม่ว่าจะเป็น ภาวะโลกร้อน สงครามนิวเคลียร์ ไวรัสจากการเทคโนโลยีด้านพันธุศาสตร์ หรือภยันตรายอื่นๆ ที่เราไม่เคยคาดคิดมาก่อน
           
           ทางด้าน อลัน กุธ (Alan Guth) ศาสตราจารย์ด้านฟิสิกส์สถาบันเอ็มไอที (MIT : Massachusetts Institute of Technology) ได้ฟังไอเดียใหม่ของฮอว์กิงแล้วกล่าวว่า สิ่งที่ฮอว์กิงพูดถึงและตั้งข้อสังเกตครั้งล่าสุดนี้ แตกต่างจากงานวิจัยก่อนๆ ที่เขาเคยทำ โดยมาคราวนี้มุ่งเน้นไปในเรื่องการเอาตัวรอด การมีชีวิตอยู่ของมนุษย์ในระยะยาว
           
           ”นับเป็นขอบเขตแนวคิดใหม่ของเขา” กุธบอก ซึ่งถ้าฮอว์กิงพูดเกี่ยวกับมนุษย์ในอีก 100 ปีข้างหน้า ก็สมเหตุสมผลพอที่จะทำให้คิดถึงอวกาศในฐานะถิ่นที่อยู่ที่ไม่จำกัด แต่กุธตั้งข้อสงสัยว่าเขายังไม่เห็นความเป็นไปได้ว่าในระยะ 50 ปีที่จะถึงนี้ ว่าจะมีวิทยาการใดๆ ที่ทำให้มนุษย์สามารถไปตั้งถิ่นฐานได้ไม่ว่าจะเป็นทั้งที่ดาวอังคารหรือดวงจันทร์
           

           ”ผมยังคิดว่าการขยับขยายหาที่อยู่ในโลกของเรายังเป็นไปได้มากกว่า อย่างเช่นไปสร้างบ้านในแอนตาร์กติกายังง่ายกว่าไปสร้างบ้านบนดวงจันทร์เสียอีก” กุธเปรียบเทียบ
           
           ทางด้าน โจชัวร์ วินน์ (Joshua Winn) นักฟิสิกส์ดาราศาสตร์ เอ็มไอที ก็แสดงความเห็นว่า การไปตั้งนิคมอยู่ตามดาวดวงอื่นนั้นนับว่ายังเป็นความคิดที่ห่างไกลความจริง พร้อมทั้งแสดงความเห็นต่อแนวคิดของฮอว์กิงว่าเน้นไปทางฟิสิกส์ทฤษฎีมากกว่าที่จะนึกถึงฟิสิกส์ดาราศาสตร์หรือมิติในด้านการเมือง ซึ่งก่อนฮอว์กิงจะฟันธงอะไรอาจจะต้องมองออกมาให้พ้นจากแนวคิดหลักของตัวเองดูบ้าง
           
           อย่างไรก็ดี สิ่งที่ฮอว์กิงพูดถึงนั้น ยังรวมถึงการอ้าวแนวคิดของคาร์ล ซาเจน (Carl Sagan) ศาสตราจารย์นักฟิสิกส์ดาราศาสตร์ชาวอเมริกันประจำมหาวิทยาลัยคอร์เนล อีกทั้งยังเป็นนักวิทยาศาสตร์ชื่อดังขององค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐ (นาซา) ซึ่งเชื่อในเรื่องสิ่งมีชีวิตนอกโลก โดยตั้งข้อสังเกตว่ามีสารอณูอินทรีย์อันเป็นสิ่งก่อชีวิตในโลกกระจายอยู่ตามดาวต่างๆ เกือบทุกดวงที่ค้นพบในระบบสุริยะ
           
           นอกจากนี้ซาเจนยังมีบทบาทสำคัญต่อโครงการอวกาศของสหรัฐฯ โดยได้ช่วยออกแบบหุ่นยนต์ให้ออกไปปฏิบัติภารกิจนอกโลก อีกทั้งยังมีส่วนช่วยในโครงการมาริเนอร์, ไวกิง, วอยเอเจอร์ และกาลิเลโอ แต่งานส่วนใหญ่ของเขาคือการค้นหาโลกที่มีสภาพเหมาะแก่การอยู่อาศัย และสิ่งมีชีวิตที่มีเชาว์ปัญญาที่ไกลออกไปจากระบบสุริยะ โดยแนวคิดของเขาได้ถูกเขียนลงในรูปแบบนิยายและสุดท้ายทำเป็นภาพยนตร์เรื่อง “คอนแท็ค” (Contact)
           
           ”ฮอว์กิง” นักวิทยาศาสตร์ชาวอังกฤษวัย 64 ปีเจ้าของผลงานที่ขายดีที่ที่สุดในโลกหนังสือ "A Brief History of Time" ซึ่งได้รับการแปลเป็นภาษาไทยโดยใช้ชื่อ “ประวัติย่อของกาลเวลา” เขาป่วยเป็นโรคทางประสาทที่เรียกว่า Amyotrophic Lateral Sclerosis (ALS) ตั้งแต่อายุ 21 ปีทำให้ไม่สามารถขยับส่วนต่างๆ ของร่างกายได้ แต่อวัยวะหนึ่งเดียวของเขาที่ทำงานคือ “สมอง” และใช้คอมพิวเตอร์ที่ติดอยู่บนรถเข็นเป็นเครื่องมือสื่อสาร
           
           อย่างไรก็ดี แม้ฮอว์กิงจะไม่สามารถใช้ระบบประสาทได้อย่างคนปกติ แต่เขาก็ค้นพบทฤษฎีเกี่ยวกับ “หลุมดำ” ที่ค้านความเชื่อเดิมๆ ขึ้น พร้อมทั้งยังมีทฤษฎีเกี่ยวกับกำเนิดจักรวาล รวมถึงขอบเขตของกาลและอวกาศที่ไม่มีจุดเริ่มต้นและจุดจบ
           
           นอกจากนี้ ระหว่างที่อยู่ที่ฮ่องกง ฮอว์กิงพร้อม “ลูซี ฮอว์กิง” (Lucy Hawking) ลูกสาววัย 35 ปีผู้เป็นทั้งนักข่าวและนักเขียน เปิดเผยว่าพวกเขากำลังผจญภัยอยู่ในโลกแห่งนิยาย โดยได้ร่วมมือกันเขียนหนังสือเกี่ยวกับจักรวาลสำหรับเด็ก ซึ่งจับกลุ่มคนอ่านเดียวกับแฮร์รี่ พอตเตอร์ แต่ลูซีก็แย้มออกมาเพียงนิดเดียวว่าเป็นหนังสือที่เกี่ยวกับความมหัศจรรย์ของจักรวาล แต่ไม่มีเรื่องเวทย์มนตร์ ส่วนจะชื่อเรื่องอะไร หรือพล็อตเรื่องเป็นอย่างไรนั้นพ่อลูกฮอว์กิงขออุบไว้ก่อน

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×