คืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด
คุณแน่ใจว่าต้องการคืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด ?
ลำดับตอนที่ #12 : พีรมิด คูฟู
พีระมิดคูฟู หรือ พีระมิดคีออปส์ นิยมเรียกกันโดยทั่วไปว่า มหาพีระมิดแห่งกีซา (The Great Pyramid of Giza) เป็น พีระมิดในประเทศอียิปต์ที่มีใหญ่โตและเก่าแก่ที่สุด ในหมู่พีระมิดทั้งสามแห่งกีซา เชื่อกันว่าสร้างขึ้นในสมัย ฟาโรห์คูฟู (Khufu) แห่ง ราชวงศ์ที่ 4 ซึ่งปกครองอียิปต์โบราณ เมื่อประมาณ 2,600 ปีก่อนคริสตกาล หรือกว่า 4,600 ปีมาแล้ว เพื่อใช้เป็นที่เก็บรักษาพระศพ ไว้รอการกลับคืนชีพ ตามความเชื่อของชาวอียิปต์ในยุคนั้น มหาพีระมิดนี้ได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งในเจ็ดสิ่งมหัศจรรย์ของโลก และเป็นหนึ่งเดียว ในเจ็ดสิ่งมหัศจรรย์ยุคโบราณ ที่ยังคงอยู่มาจนถึงปัจจุบัน
ขนาด และรูปทรง ของพีระมิดคูฟู
เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จในสมัยของฟาโรห์คูฟู มหาพีระมิด มีความสูงถึง 147 เมตร (481 ฟุต หรือประมาณเท่ากับอาคารสูง 40 ชั้น เมื่อคิดความสูงที่ชั้นละ 3.5 เมตร) นับจากก่อสร้างแล้วเสร็จ พีระมิดคูฟูนับเป็นสิ่งก่อสร้างสูงที่สุดในโลก เป็นเวลาต่อเนื่องยาวนานถึง 43 ศตวรรษ จนกระทั่ง มีการก่อสร้าง มหาวิหารลินคอล์น (Lincoln Cathedral) ที่ ประเทศอังกฤษ ซึ่งมียอดวิหารสูง 160 เมตร ในปี พ.ศ. 1843 (ค.ศ. 1300) ซึ่งต่อมายอดวิหารนี้ถูกพายุทำลายในปี พ.ศ. 2092 (ค.ศ. 1549) แต่ขณะนั้นส่วนยอดพีรามิดคูฟูก็สึกกร่อนลงจนมีความสูงไม่ถึง 140 เมตร ทำให้ วิหารเซนต์โอลาฟ (St. Olav's Church) ในประเทศเอสโตเนีย ซึ่งเพิ่งก่อสร้างแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2062 (ค.ศ. 1519) กลายเป็นสิ่งก่อสร้างสูงที่สุดในโลกด้วยความสูงของยอดวิหาร 159 เมตร ปัจจุบันมหาพีระมิดมีความสูง ประมาณ 137 เมตร ซึ่งต่ำกว่าเมื่อแรกสร้างประมาณ 10 เมตร และรัฐบาลอียิปต์ได้ดำเนินการติดตั้ง โครงโลหะเพื่อแสดงถึงความสูงที่แท้จริง ขณะก่อสร้างแล้วเสร็จ ไว้ที่ส่วนยอดของ มหาพีระมิดคูฟู
รูปทรงของพีระมิดมีลักษณะเฉพาะตัว ฐานเป็นรูปสี่เหลี่ยมจตุรัส ประกอบด้วยด้านสามเหลี่ยม 4 ด้าน ยอดสามเหลี่ยมแต่ละด้าน เอียงเข้าบรรจบกัน เป็นยอดแหลม ฐานทั้ง 4 ด้านของพีระมิด กว้างด้านละประมาณ 230 เมตร (756 ฟุต กว้างกว่า สนามฟุตบอล ต่อกัน 2 สนาม) คิดเป็นพื้นที่ฐานประมาณ 53,000 ตารางเมตรหรือประมาณ 33 ไร่ ฐานล่างสุดของพีระมิด ก่อขึ้นบนชั้นหินแข็ง ซึ่งอยู่ลึกลงไปใต้ชั้นทราย เพื่อป้องกันปัญหา การทรุดตัวของชั้นทราย ซึ่งจะมีผล กับความคงทนแข็งแรง ของโครงสร้างพีระมิด ผิวหน้าแต่ละด้านของ พีระมิดคูฟู ทำมุมเอียงประมาณ 52 องศา ซึ่งมีส่วนทำให้พีระมิด คงทนต่อการสึกกร่อน อันเนื่องมาจากพายุทราย
ตามที่มีข้อมูลปรากฏในแหล่งต่างๆ อ้างถึง จำนวนหิน ที่นำมาก่อสร้าง พีระมิดคูฟู ต่างกันไปตั้งแต่ 2 ล้านถึง 2.6 ล้านก้อน ประมาณน้ำหนักเฉลี่ยก้อนละ 2.5 ตัน โดยจัดเรียงซ้อนกันขึ้นไปประมาณ 200 ชั้น คิดเป็นน้ำหนักรวมกว่า 6 ล้านตัน [1]
สิ่งที่น่าสังเกตอย่างหนึ่งคือด้านทั้ง 4 ของพีระมิดหันออกในแนวทิศ เหนือ ใต้ ตะวันออก ตะวันตก ถูกต้องแม่นยำตามทิศจริงไม่ใช่ตามทิศเหนือแม่เหล็ก จึงไม่ใช่การกำหนดทิศด้วยเข็มทิศ ตำแหน่งของพีระมิดนั้น คลาดเคลื่อนจากทิศเหนือเพียง 3 ลิปดา 6 ฟิลิปดา [1] แสดงถึงความสามารถของ ชาวอียิปต์โบราณ ในการประยุกต์ความรู้ทางดาราศาสตร์ มาใช้ในการกำหนดทิศทางได้เป็นอย่างดี
นอกจากนี้คนงานก่อสร้างพีระมิดคูฟูยังสามารถทำงานได้อย่างเที่ยงตรงน่าทึ่ง โดยหินตรงส่วนฐานของพีระมิดจัดวางได้เสมอกัน มีความคลาดเคลื่อน เพียงไม่ถึง 2.5 เซนติเมตร และแต่ละด้านของฐานพีระมิด มีความกว้างคลาดเคลื่อนจากกัน เพียงไม่เกิน 8 นิ้ว หรือคิดเป็นเพียง 0.09 % ซึ่งถือว่าน้อยมาก เมื่อเทียบกับขนาดงานก่อสร้าง และระดับเทคโนโลยีในขณะนั้น
เปรียบเทียบความสูงพีระมิดคูฟูกับสิ่งก่อสร้างในประเทศไทย
หากเทียบกับความสูงกับสิ่งก่อสร้างในกรุงเทพมหานคร พระปรางค์วัดอรุณราชวราราม ซึ่งก่อสร้างเพิ่มเติมในรัชกาล พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 จากพระปรางค์องค์เดิมสมัยอยุธยา ที่สูงเพียง 8 วา เมื่อการก่อสร้างแล้วเสร็จ ในปี พ.ศ. 2394 (ประมาณ ค.ศ. 1851) พระปรางค์องค์ใหญ่ มีความสูง 1 เส้น 13 วา 1 ศอก 1 คืบ 1 นิ้ว (ประมาณ 67 เมตร) นับได้ว่าเป็นสิ่งก่อสร้างสูงที่สุดในกรุงเทพมหานครขณะนั้น ต่อมาในปี พ.ศ. 2420 (ประมาณ ค.ศ. 1877) การก่อสร้างพระเจดีย์ภูเขาทอง (พระบรมบรรพต) ซึ่งเป็นพระเจดีย์ที่สร้างบนยอดภูเขาซึ่งก่อขึ้นโดยฝีมือมนุษย์จากไม้และอิฐ ได้ดำเนินการแล้วเสร็จมีความสูง ถึงยอดเจดีย์ 1 เสัน 19 วา 2 ศอก (ประมาณ 77 เมตร) จึงนับเป็นสิ่งก่อสร้างสูงที่สุดแห่งใหม่ในกรุงเทพมหานคร
สิ่งก่อสร้างสำคัญอีกแห่งหนึ่งได้ก่อสร้างแล้วเสร็จก่อนหน้าพระเจดีย์ภูเขาทองเล็กน้อย คือ พระปฐมเจดีย์ ที่จังหวัดนครปฐม ซึ่งเมื่อดำเนินการก่อสร้าง เจดีย์องค์ใหม่ ครอบเจดีย์องค์เดิม เสร็จสิ้นในปี พ.ศ. 2413 (ประมาณ ค.ศ. 1870) ทำให้ พระปฐมเจดีย์องค์ใหม่ มีความสูงถึง 3 เส้น 1 คืบ 6 นิ้ว (ประมาณ 120.45 เมตร) นับเป็นสิ่งก่อสร้างสูงที่สุดในประเทศไทยต่อมาอีกเป็นเวลากว่า 100 ปี
ในปี พ.ศ. 2513 (ค.ศ. 1970) โรงแรมดุสิตธานีก่อสร้างแล้วเสร็จเป็นอาคาร 21 ชั้น มีความสูง 82 เมตรนับเป็นอาคารสูงที่สุดในกรุงเทพมหานคร เนื่องจากก่อนหน้านั้น อาคารสูงที่สุดในกรุงเทพฯ คือ Cathay Trust Building (Esso Building) สูงเพียง 12 ชั้นเท่านั้น
ต่อมาในปี พ.ศ. 2525 (ค.ศ. 1982) อาคารสำนักงานใหญ่ธนาคารกรุงเทพ ก่อสร้างแล้วเสร็จ เป็นอาคาร 32 ชั้นได้ครองตำแหน่งอาคารสูงที่สุดในกรุงเทพฯ ด้วยความสูง 134 เมตร โดยที่ยังคงมีความสูงน้อยกว่า พีระมิดคูฟู ที่อียิปต์ซึ่งขณะนั้นผุพังลงจนมีความสูงประมาณ 137 เมตร
จนถึงปี พ.ศ. 2530 (ค.ศ. 1987) กรุงเทพมหานครจึงมีอาคาร โรงแรมใบหยกสวีท (Baiyoke Suite Hotel) เป็นอาคาร 44 ชั้น ที่มีความสูง 151 เมตร ซึ่งนับเป็นอาคารแห่งแรกในประเทศไทย ที่มีความสูงมากกว่า พีระมิดคูฟู ที่ชาวอียิปต์สร้างไว้เมื่อ 4,600 ปีก่อน หลังจากนั้นมีการสร้างอาคารสูงทำลายสถิติ ความสูงของ ใบหยกสวีท อีกหลายแห่ง โดยที่ อาคารใบหยกทาวเวอร์ 2 (Baiyoke Tower 2) ซึ่งสร้างเสร็จในปี พ.ศ. 2540 (ค.ศ. 1997) เป็นอาคาร 85 ชั้น มีความสูงถึง 304 เมตร กว่า 2 เท่าความสูง พีระมิดคูฟู และยังครองตำแหน่ง อาคารสูงที่สุดในกรุงเทพมหานครอยู่ ณ ปี พ.ศ. 2549 (ค.ศ. 2006)
เปรียบเทียบพีระมิดคูฟูกับสิ่งก่อสร้างยุคปัจจุบัน
หากเปรียบเทียบน้ำหนักของ พีระมิดคูฟู กับอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กอย่าง ตึกเอ็มไพร์สเตท (Empire State Building) อดีตตึกระฟ้าสูงที่สุดในโลก ซึ่งมีน้ำหนักรวม 365,000 ตัน จะพบว่า พีระมิดคูฟู มีน้ำหนักมากกว่า ตึกเอ็มไพร์สเตท ถึงประมาณ 16 เท่าครึ่ง และเมื่อเทียบกับ อาคารไทเป 101 (Taipei 101) อาคารสูงที่สุดในโลก ณ ปี พ.ศ. 2549 (ค.ศ. 2006) ซึ่งมีน้ำหนักรวม 700,000 เมตริกตัน พีระมิดคูฟู ยังคงมีน้ำหนักมากกว่า อาคารไทเป 101 ถึง 8 เท่าครึ่ง
พีระมิดแห่งกีซา ยังจัดเป็นงานระดับอภิมหาโปรเจกต์แม้ในยุคปัจจุบัน มีผู้ประเมินว่าหากทำการก่อสร้างพีระมิดคูฟูขึ้นใหม่เพียงหลังเดียว โดยเลือกพื้นที่ รัฐแอริโซนาในสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีลักษณะใกล้เคียงกับสถานที่ก่อสร้างพีระมิดเดิม แต่ได้เปรียบที่มีทางรถไฟสะดวกในการขนส่งวัสดุก่อสร้าง และใช้รถโฟค์ลิฟ 400 คัน เครนก่อสร้าง 20 ตัว และเฮลิคอปเตอร์ขนส่งอีก 1 ลำ โดยใช้หินปูนจากเหมืองหินสมัยใหม่รวม 4 แห่ง พร้อมทั้งงบประมาณอีกราว 45,000 ล้านบาท จะสามารถระดมก่อสร้างมหาพีระมิดคีออปส์ขึ้นมาได้ภายในเวลา 5 ปี
แต่หากต้องการสร้าง หมู่พีระมิดกีซา ทั้งหมดขึ้นมาใหม่ให้ครบทั้ง 3 หลัง นั่นหมายถึงจะต้องใช้งบประมาณกว่า 120,000 ล้้านบาท และเป็นที่แน่นอนว่า หากไม่อาศัยเครื่องจักร และระบบขนส่งสมัยใหม่ การก่อสร้างมหาพีระมิดคูฟูเพียงหลังเดียว ซึ่งเปรียบได้กับการย้ายภูเขาด้วยแรงมนุษย์ ก็ยังยากจะเป็นไปได้ แม้ในยุคปัจจุบัน ไม่ว่าจะใช้งบประมาณมากมายเพียงใดก็ตาม
ความคิดเห็น