คืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด
คุณแน่ใจว่าต้องการคืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด ?
ลำดับตอนที่ #4 : [25/09] เช็กสมองนักการเมือง ค้นหาต่อมตอแหล
“นักการเมือง (ไทย) ...สมองที่น่าศึกษา”
หัวข้อชวนสนทนาของ ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ศูนย์ปฏิบัติการโรคทางสมอง คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์
คุณหมอธีระวัฒน์ บอกว่า ตั้งแต่ต้นปี 2551 จนถึงวันนี้ คนไทยคงปฏิเสธไม่ได้ว่าตกอยู่ในความเครียด ความกังวลวิตก
รวมทั้งความรู้สึกที่ว่า “เมืองไทย (กรุง) จะแตกหรือ?” ดังที่เคยปรากฏ ในประวัติศาสตร์ไทย ซึ่งมีชนวนจากการที่คนไทยแตกกันเอง...ทะเลาะกันเอง
วลีนักการเมืองที่คุ้นชิน “ทำเพื่อพี่น้องประชาชน...เพื่อชาติบ้านเมือง... ทำเพื่อรักษาระบอบประชาธิปไตย... สิทธิอันชอบธรรมจากการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตย”
ทว่า...ผลจากการกระทำที่ผ่านมาของนักการเมืองบางคน บางกลุ่มกลับตรงกันข้าม เข้ามายึดครองตำแหน่ง แสวงหาอำนาจ เพื่อผลประโยชน์มหาศาลใส่ตัว ผ่านการพัฒนารูปแบบจากนักการเมืองในอดีต
จาก...กินตามน้ำ คอรัปชัน แบ่งเปอร์เซ็นต์ จนมีลักษณะแยบยลยอกย้อน ซับซ้อน...ปรับเปลี่ยนกฎหมาย เพื่อเอื้อประโยชน์ต่อธุรกิจ และการรอมชอมระหว่างพรรคการเมืองต่างๆ เพื่อผลประโยชน์ร่วมกัน
บทพิสูจน์เชิงวิทยาศาสตร์จากทฤษฎีที่น่าสนใจที่สุด ตามพฤติกรรมความนึกคิดที่กำหนดบทบาทจากสมอง คือ ศาสตร์ที่เกี่ยวกับการศึกษาพฤติกรรม (Ethology)
การศึกษาในผึ้ง...แมลง...ปลา เริ่มมาไม่ต่ำกว่า 4 ทศวรรษ ทำให้คาร์ล วอน ฟรินซ์, คอนราด ลอเลนซ์ และนิโคลัส ทิน เบอเจน ได้รางวัลโนเบลในปี 2516 สาขาประสาทวิทยาศาสตร์
ที่น่าตื่นเต้น...ปัจจุบันเป็นการศึกษาสมองในตำแหน่งต่างๆที่รับรู้ เรียนรู้ จดจำ มีการแก้ปัญหา และนำมาซึ่งการสร้างแบบแผน รูปแบบของบุคลิก อารมณ์ พฤติกรรมของตนเอง ในสภาพสังคมนั้นๆ
นี่คือการปรับตัวเพื่อความอยู่รอด...รวมถึงการโน้มน้าว ความคิด ความเชื่อบุคคลอื่นๆในสังคม
คุณหมอธีระวัฒน์ชี้ว่า ศาสตร์ดังกล่าวยังสามารถนำมาใช้ประโยชน์ ในทางธุรกิจ เพื่อส่งเสริมด้านการค้า โดยวิเคราะห์ว่า สมองส่วนใดเป็นตัวกำหนดความชอบหรือไม่ชอบ
เช่น ชอบน้ำอัดลม โคล่า หรือเป๊ปซี่ โดยมีสมองส่วนใดที่ถูกกระตุ้นหรือควบคุม
ในกีฬาโอลิมปิก ณ กรุงปักกิ่ง ที่ผ่านมา มีการนำคอมพิวเตอร์สนามแม่เหล็กไฟฟ้ามาวิเคราะห์หน้าที่การทำงานของสมอง ในนักว่ายน้ำของแคนาดา ซึ่งเคยพ่ายแพ้ในกีฬาโอลิมปิกครั้งที่แล้วในปี 2004 ว่าสามารถจะมีใจสู้อีกหรือไม่
การศึกษาทำโดยให้ดูวีดิโอของตนเอง ซึ่งพ่ายแพ้ในการแข่งขันที่ผ่านมานักว่ายน้ำที่...ใจฝ่อ จะปรากฏมีการกระตุ้นสมองในส่วนอารมณ์หดหู่ ขณะที่มีการยับยั้งการทำงานของสมองส่วนเปลือกนอก ส่วนที่ใช้วางแผนการเคลื่อนไหว เพื่อแก้ข้อผิดพลาดที่ผ่านมา
นอกจากนี้ ยังมีความพยายามที่จะหาสายใยประสาทที่เชื่อมโยงสมอง ส่วนอารมณ์กับสมองส่วนการวางแผนการเคลื่อนไหว โดยใช้เทคนิคที่เรียกว่า diffusion tensor imaging
รวมไปถึง ยังมีความพยายามที่จะสลัดภาพของความหดหู่ล้มเหลวในใจ โดยการให้นักกีฬาตระหนักว่า ในขณะนี้ยังตกอยู่ในห้วงภาวะใจฝ่อ และพยายามให้กำลังใจ ให้ใจสู้ขึ้นมาอีก โดยจะปรากฏสัญญาณกระตุ้นสมองในอีกตำแหน่งหนึ่ง
การศึกษานี้...ทำให้สามารถคัดเลือกนักกีฬา ที่สามารถปรับตัว ปรับใจได้เร็วหลังจากพ่ายแพ้ในหนแรกๆ ไปจนถึงดึงนักกีฬาที่มีทักษะ ประสบการณ์เป็นเลิศ แต่ใจฝ่อให้หวนกลับสังเวียน ด้วยความกระตือรือร้นขึ้นมาอีกครั้ง
น่าเสียดายที่การศึกษานี้ ไม่มีรายงานชัดเจนว่า นักกีฬาที่ใจถึง ประสบความสำเร็จเพียงใด
ตัดภาพกลับมาที่นักการเมือง (ไทย) คุณหมอธีระวัฒน์ บอกว่า เป็นที่น่าแปลกอย่างยิ่ง ที่มีคุณสมบัติอันโดดเด่น
โดยเฉพาะ...ความอยากได้ อยากมี อย่างไม่รู้จักจบจักสิ้น
รายงานการศึกษาในเรื่อง การได้เงินทอง (monetary gain) ที่ผ่านมา พบว่า ณ ขณะที่ได้เงินมีกำไร จะมีการทำงานสนองตอบของสมองส่วนหน้าทางด้านใน และส่วนใจกลางสมองอีกตำแหน่ง
ส่งผลให้มีการกำกับว่า จะลงมือทำงานอย่างเต็มใจทุ่มเทก็ต่อเมื่อ ได้กำไรมากๆเท่านั้น โดยที่จะไม่มีการทำฟรี หรือทำเพื่อเป็นสาธารณประโยชน์
“สมองที่มีความคิดเฉพาะด้านแบบนี้ จะเกี่ยวเนื่องไปยังสมองซึ่งรับรู้ และทำให้เกิดความพอใจสูงสุด” คุณหมอธีระวัฒน์ ว่า
ความอยากได้ อยากมีไม่รู้จบ ลักษณะแง่ลบนักการเมืองไทย แม้ว่าวิทยาศาสตร์พิสูจน์ได้ แต่ในทางปฏิบัติถือว่า มีสภาวะเลวร้ายกว่าสมองของสัตว์ที่มีกระดูกสันหลัง เช่น หมา แมว
“สมองที่โปรแกรมเอาไว้ด้วยความอยาก จะทำให้เกิดมีการฆ่า...จะเพื่อเอามาเป็นอาหาร หรือเมื่อมีการต่อสู้ ก็จะเป็นเพื่อปกป้องตนเองหรือเอาชีวิตรอด”
ในสัตว์ลักษณะดังกล่าวจะไม่เกิดขึ้นตลอดเวลา ยกเว้นบางกรณี เช่น การติดเชื้อไวรัสสุนัขบ้า สัตว์จะมีอาการดุร้าย กัดไม่เลือก...แม้แต่ เจ้าของ
ที่ต้องวิเคราะห์กันต่อไปอีกคือ วิธีการเพื่อให้ได้มา ที่ไม่คำนึงถึงความถูกต้อง แม้ว่าจะรู้ตัวตลอดว่าได้ทำอะไรลงไป แต่ก็ไม่เกิดความสำนึกเสียใจ ไม่รู้สึกสำนึกผิด
ภาษาวิชาการเรียกว่า...เกิดปรากฏการณ์ตอแหล (confabulation)
คุณหมอธีระวัฒน์ บอกว่า ปรากฏการณ์ตอแหลไม่ได้เป็นคำหยาบแต่ประการใด แต่เป็นคำอธิบายถึงสภาวะทางสมอง ซึ่งเป็นความผิดปกติด้านความจำ ทั้งที่เกิดขึ้นโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ เกิดความเคยชินจนเป็นนิสัย
ลบล้างความจำตนเองได้เป็นส่วนๆ โดยเฉพาะในส่วนที่ได้เคยกระทำ เคยพูดไว้แล้ว สามารถตอแหลปฏิเสธสิ้นเชิงในทุกกรณี
แม้แต่การหาเหตุผลกลไก ทั้งที่ซับซ้อน ไม่ซับซ้อน ข้างๆคูๆ ในการเข้าข้างตนเอง จินตนาการ สร้างเรื่องทดแทนได้
“การเข้าข้างตนเองเปรียบเสมือน ดังที่ Dawkins ได้กล่าวในปาฐกถาในปี 2549 ที่ว่า...เมื่อเพ่งดูรูปลูกบาศก์ด้วยตาข้างเดียว เราจะเห็นลักษณะของสองมิติ
แต่เมื่อดูด้วยสองตา เราจะเริ่มเห็นความลึกของมิติ และเมื่อเพ่งมองนานๆขึ้น เราจะรับรู้สิ่งที่ลึกซึ้งขึ้น...ซับซ้อนกว่าลักษณะการมองเถรตรง ด้วยตาข้างเดียว”
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดในขณะนี้คือ การตัดสินคำว่า...ประชาธิปไตยหมายถึงการเลือกตั้งหรือหมายถึงคะแนนเสียง
แต่ไม่ได้นึกถึงกระบวนการก่อนหน้านั้น ที่เจาะลึกถึงกระบวนการอันแยบยลของนักการเมือง
“กระบวนการที่ว่า แสดงให้เห็นถึงมันสมองอัจฉริยะ วางแผนเป็นเลิศ นั่นคือ กระบวนการล้างสมองประชาชน ให้มีความอยากได้อยากมี พึงพอใจที่จะได้”
กุญแจแห่งความพอใจนี้ เกิดขึ้นได้โดยไม่ต้องลงแรงมาก และเกิดความผูกพันเป็นบุญเป็นคุณ ด้วยกระแสประชานิยม หว่านเม็ดเงินทั้งที่ได้มาโดยชอบและโดยมิชอบ
คุณหมอธีระวัฒน์ บอกว่า ความอยาก ตามปกติเป็นสัญชาตญาณชั้นต่ำของสัตว์และมนุษย์อยู่แล้ว โดยผ่านระบบสมอง Limbic
แต่เมื่อปรุงแต่งโยงความอยากเข้ากับความพึงพอใจในสมองขั้นสูงขึ้นมาอีก และปรับปรุงให้ไม่สำนึกจำแนกความผิดชอบชั่วดี...จะทำให้นำมาถึงการโกง โดยไม่จำกัดวิธี
เป็นที่น่าสังเกตว่า ความปรวนแปรของสมองที่พัฒนาในรูปแบบใหม่ แม้จะไม่ถูกต้อง ผิดจริยธรรม เมื่อในกลุ่มสังคมเดียวกันปฏิบัติซ้ำซาก จำเจ จนเป็นเรื่องธรรมดา ก็ทำให้เกิดข้อกำหนดใหม่จนกลายเป็นสิ่งถูกต้อง เป็นสังคมของความอยากได้ อยากมีไม่รู้จบ
ในทางวิทยาศาสตร์ สมองของนักการเมืองมีความอัจฉริยะล้ำเลิศ การศึกษาไม่จำเป็นต้องตัดสมองมาตรวจสอบ แต่ทดสอบได้เหมือนนักกีฬาโอลิมปิก
ผนวกกับการดูสารประกอบบางชนิด เช่น เปปไทด์ หรือฮอร์โมนที่หลั่งจากสมอง หรือไม่ก็ตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะหาปริมาณสาร oxytocin ซึ่งมีส่วนผลักดันให้คนเรามีความเชื่อต่อคนอื่น โดยไม่ต้องคำนึงถึงเหตุผล
ไม่แน่ว่า...เมื่อใดที่เสียงของประชาชนไม่มีพลังคัดกรองนักการเมืองน้ำดี เมืองไทยอาจต้องใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ เช็กต่อมความดีในสมอง สรรหานักการเมืองที่ไม่มีปรากฏการณ์สมองตอแหล เข้ามาบริหารประเทศ.
ความคิดเห็น