ลำดับตอนที่ #2
คืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด
คุณแน่ใจว่าต้องการคืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด ?
ลำดับตอนที่ #2 : พี่หนูดี วนิษา เรซ แบบอย่างที่ดีของเด็กเรียน
วนิษา เรซ หรือ พี่หนูดี
- จบปริญญาตรีเกียรตินิยมด้าน ครอบครัวศึกษา Family Studies มหาวิทยาลัยแมรี่แลนด์ คอลเลจพาร์ค สหรัฐอเมริกา
- ปริญญาโทเกียรตินิยมด้านวิทยาการทางสมอง (Neuroscience) ในโปรแกรม Mind, Brain and Education มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สหรัฐอเมริกา
- ปัจจุบัน - เป็นผู้เชี่ยวชาญและที่ปรึกษาด้านอัจฉริยภาพ (เพียงคนเดียวในไทย)
- ผู้ชนะล้านที่ 15 รายการ "อัจฉริยะข้ามคืน"
- ประธานกรรมการ บริษัท อัจฉริยะสร้างได้ จำกัด www.geniuscreator.com
- ผู้อำนวยการโรงเรียนวนิษา www.vanessa.ac.th
- เป็นผู้นำเสนอแนวคิด - คนทั่วไปก็สร้างและฝึกฝนให้เป็นอัจฉริยะได้เช่นกัน - เขียนหนังสือ "อัจฉริยะสร้างได้"
พื้นฐานที่คุณแม่สร้างให้ โรงเรียนวนิษา ตั้งขึ้นโดยมี คุณชุมศรี รักษ์วนิชพงศ์ เป็นผู้ก่อตั้งภายใต้แนวความคิดซึ่ง คุณชุมศรีได้ให้สัมภาษณ์ ไว้ในเอกสารชื่อว่า “ ปฏิรูปการเรียนรู้ ผู้เรียนสำคัญที่สุด ” ของ คณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ กระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ.2543 ว่า
...ดิฉันไม่เชื่อวิธีที่โรงเรียนส่วนใหญ่ทำอยู่ จับเด็กมาขังในคอก ไม่อยากจะใช้คำนี้ แต่มันเป็นอย่างนั้นจริง ๆ บังคับเด็กมานั่งนิ่ง ๆ จำกัดศักยภาพการเติบโตของสมอง ”
"โชคดีที่คุณแม่วางพื้นฐานทางความคิดมาให้ตั้งแต่เด็กๆ โดยริเริ่มเปิดโรงเรียนสอนหนูดีคนเดียวก่อน ชื่อโรงเรียนวนิษา เป็นโรงเรียนที่ไม่ให้เด็กต้องมานั่งท่อง ก.ไก่ ข.ไข่ แต่ใช้วิธีการสอนแบบใหม่ คือให้เด็กคิดแบบอิสระ กล้าที่จะถาม ซึ่งตอนแรกคิดว่าไม่มีใครสนใจ แต่พอคนเริ่มเห็นกิจกรรมต่างๆ ที่ทางรร.สอนเด็ก อย่างวิชาวิทยาศาสตร์ก็จะมีการพาเด็กไปดูสวน ธรรมชาติ ก็เลยสนใจส่งลูกๆ มาเรียนกัน"
"แต่พอขึ้นมัธยมหนูดีก็ย้ายมาเรียนรร.สตรีล้วน ปรากฏว่าเราเข้ากับระบบการศึกษาไม่ได้ พอจบมัธยมหนูดีก็เลยตัดสินใจขอคุณแม่ไปเรียนต่อป.ตรีที่มหาวิทยาลัยแมริแลนด์ อเมริกา พอจะต่อโทก็ประจวบเหมาะได้ศึกษาแนวความคิดขอโปรเฟสเซอร์โฮเวิร์ด การ์ดเนอร์ที่ว่าคนเรามีความอัจฉริยะที่แตกต่างกันไป ไม่จำเป็นต้องเรียนเก่ง"
"พอทราบว่าเขากำลังเปิดสอนปริญญาโทหลักสูตรเกี่ยวกับสมองเป็นหลักสูตรแรกที่ฮาร์วาร์ด หนูดีก็เลยสมัครเข้าไปเรียนเพื่อนำความรู้มาพัฒนาระบบความคิดของคนไทยใหม่ ซึ่งตอนนี้รร.วนิษาก็เริ่มใช้ระบบนี้แล้ว อีกทั้งหนูดียังเปิดบริษัทอัจฉริยะสร้างได้ ให้คำปรึกษา 3 ส่วน คือ ดูแลเรื่องหลักสูตรโรงเรียน เทรนนิ่งครูและผู้บริหาร"
"เป็นที่ปรึกษาการพัฒนาศักยภาพองค์กรต่างๆ และหลักสูตรครอบครัวอัจฉริยะ เปิดสัมนาสำหรับบุคคลทั่วไป เพราะหนูดีคิดว่าครอบครัวเป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างอัจฉริยะภาพที่ดีที่สุดค่ะ"
ในช่วงปริญญาตรี
ชีวิตแต่ละวันผ่านไปด้วยความหนักและเหนื่อย ท่องหนังสือเยอะมาก เวลาที่จะออกกำลังกาย ออกไปเที่ยวกับเพื่อนก็น้อย เมื่อมารวมกับวัฒนธรรมของเพื่อนอเมริกัน ที่ชอบไปค้างอ้างแรมในป่า ไปปีนเขา พายเรือ เข้าถ้ำช่วงสุดสัปดาห์ ทำให้หนูดีต้องแพ็คกระเป๋าตามไปด้วย
แต่ไม่ว่าจะไปป่าลึกแค่ไหน หรือ พายเรือไปค้างบนเกาะที่ไม่มีไฟฟ้าใช้ สิ่งหนึ่งที่จะขาดไม่ได้ในกระเป๋าแบ็คแพ็ค คือ “หนังสือเรียน” หยิบออกมาทีไร โดนเพื่อนฝรั่งหัวเราะใส่ตลอด ว่ามาเที่ยวนะ อีกอย่าง วันจันทร์ก็ไม่ได้มีสอบด้วย แต่หนูดีก็กลัวสอบได้คะแนนไม่ดี จนต้องท่องหนังสือแทบทุกเวลาที่ว่าง
ประกอบกับเป็น นิสัยดั้งเดิมที่ติดไปตั้งแต่เมืองไทยด้วย คือ กลัวสอบตก กลัวทำให้พ่อแม่ผิดหวัง แถมเราเป็นเด็กสองภาษา ไม่ได้พูดภาษาอังกฤษภาษาเดียวเหมือนเพื่อนฝรั่ง หนูดีจึงต้องพยายามเป็นสองเท่า เวลาต้องเรียนหนักและไม่ได้ทำอะไรที่อยากทำ หรือ ไม่มีชีวิตสบายๆแบบคนอื่น หนูดีก็จะปลอบใจตัวเองว่า “เดี๋ยวก็จบตรีแล้ว” แล้วก็ก้มหน้าท่องหนังสือต่อไป โดยไม่เคยได้รู้ว่าชีวิตมีตัวเลือกอื่น ที่ทำให้เราเรียนได้ดีขนาดนี้เหมือนกัน
เวลาผ่านไปจนหนูดีเรียนเกือบจบปริญญาตรี ใบรางวัลเรียนดีที่เพิ่มขึ้นทุกปี จนจำชื่อไม่ได้ว่าได้ใบประกาศเกียรติคุณด้านไหนบ้าง รู้แต่ว่าจะได้เกรดสลับกันไป บางเทอมได้ 4.00 บางเทอมได้ 3.9 รวมถึงจดหมายชมเชยจากอธิการบดี ที่จะส่งตรงมาถึงบ้านคุณแม่ที่เมืองไทยทุกครั้ง
แต่ทั้งหมดนี้ ก็มาพร้อมความเครียดที่เพิ่มขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ของหนูดี รวมถึงความรู้สึกว่า สมัยนี้แค่ปริญญาตรีคงไม่พอ โอ้โห ถ้าหนูดีต้องเรียนปริญญาโทด้วยความรู้สึกแบบนี้ คงต้องตายก่อนเรียนจบแน่ๆ
คือ หนูดีอยากรู้ว่า ทำอย่างไรคนเราถึงจะฉลาด เป็นอัจฉริยะกันได้ โดยยังใช้ชีวิตดำเนินทางสายกลางอย่างมีความสุข ไม่ต้องหักโหม ทิ้งทุกสิ่งทุกอย่างเหมือนที่หนูดีเคยทำมา และเหมือนเพื่อนร่วมมหาวิทยาลัยคนอื่นๆที่ได้เกียรตินิยมเหมือนกัน
เช็คแล้ว ปรากฏว่า ที่เดียวในโลก ที่สอนด้านสมอง แต่ไม่ใช่ให้เราไปผ่าตัดนะคะ แต่เรียนให้รู้ว่า สมองคืออะไร ทำงานอย่างไร และรู้ว่า ทำตัวอย่างไร ถึงจะใช้สมองให้คุ้มค่า มีศักยภาพที่สุด ก็มีอยู่ที่เดียวในโลกเท่านั้น คือ ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ที่บอสตัน สหรัฐ อเมริกา
เห็นชื่อมหาวิทยาลัยแล้ว ก็ตกใจ ถอยมาหนึ่งก้าว เพราะถึงจะเป็นนักเรียนระดับเกียรตินิยมมา แต่ก็ไม่ใช่ว่า เด็กคะแนนดีทุกคนจะเข้าเรียนที่นี่ได้ เพราะ เป็นมหาวิทยาลัย อันดับหนึ่งของโลก ใครๆก็เรียนเก่งมาทั้งนั้นตัวหนูดีเอง เรียนที่แมรี่แลนด์ ซึ่งก็จัดว่าอยู่ในระดับดี แต่ก็ได้แค่ประมาณอันดับที่ยี่สิบ อันดับที่ยี่สิบห้าของประเทศอยู่เท่านั้น....
ขนาดแค่นี้ ยังเรียนหนักจะตาย แล้วอย่างที่ฮาร์วาร์ด หนูดีมิต้องตายคาหนังสือหรือนั่น แถมเพื่อนๆ ก็คงเก่งระดับอัจฉริยะกันทุกคน...นึกๆไปว่า คงไม่มีใครคุยกันหรอก คงแข่งกันเรียน แข่งกันทำงาน ไม่มีใครมีเวลาเสวนากับใครแน่ๆ.....แถมสมัครไปก็ไม่รู้ว่าเขาจะรับเราหรือเปล่า เพราะนอกจากเรียนเก่งแล้ว ก็ต้องประวัติดี มีความพิเศษที่ไม่เหมือนใคร มีจดหมายรับรองชั้นดี สารพัด
แต่ก็เอาค่ะ ฮึดสุดชีวิต ตั้งหน้าตั้งตาสอบวัดมาตรฐาน เขียนจดหมายแนะนำตัวอย่างใช้ความคิดทุกหยด เตรียมตัวเป็นเดือน สมัครไป รอคำตอบอีกครึ่งปี......
ระหว่างที่รอคำตอบจากฮาร์วาร์ด เธอได้กลับมาพักผ่อนที่เขาหลัก และอยู่ในเหตุการณ์สึนามิ
กลับมาเมืองไทยวันแรกก็บินไปเที่ยวเขาหลักกับน้องสาว (หนูหวาน) แล้วน้องสาวอยากมาหาดป่าตองก็ขับรถกันไป แล้วตอนแรกก็จะลงเล่นน้ำแต่เปลี่ยนใจไปปีนเขากัน เลยทำให้รอดจากเหตุการณ์นี้ จากนั้นได้ไปช่วยเป็นอาสาสมัครเป็นล่ามแปลภาษาอยู่ 3 วันที่โรงพยาบาลพังงา
...จากที่ได้พบเห็นเหตุการณ์เหล่านี้ หนูดีเลยกลับไปเขียนแนะนำตัวส่งให้ทางฮาวาร์ดใหม่หมดเลย...ซึ่งเขียนวิเคราะห์ระบบการศึกษาไทยผ่านเหตุการณ์สึนามินี้ ซึ่งหนูดีก็เคยเรียนโรงเรียนไทย หนูดีรู้ว่าเวลาปกติ ระบบการศึกษาไทยก็ไม่ได้สอนให้คนใช้ศักยภาพสมองเต็มที่อยู่แล้ว คนไทยไม่ได้ถูกฝึกกระบวนการคิด ไม่ได้ถูกฝึกในการที่จะสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่
ฉะนั้นในเวลาปกติเราก็ไม่ได้เก่งเป็นพิเศษอยู่แล้วพอเจอภาวะฉุกเฉินหรือเหตุการณ์คับขันซึ่งเราน่าจะลดภาวะการณ์สูญเสียชีวิต หรือสูญเสียทรัพยากรมนุษย์ได้ เช่น สามารถจะเตือนภัยได้ สามารถลดการสูญเสียคนได้เกือบร้อยเปอร์เซ็นต์เลย เพราะคลื่นสึนามิป้องกันง่ายมากคนวิ่งหนีไป 10 นาทีก็รอดแล้ว แต่พอไม่มากก็มีคนสูญเสียบาดเจ็บล้มตายเยอะ
..ระบบโรงพยาบาลก็ไม่เพียงพอ ที่โรงพยาบาลพังงา 3 วันแรกติดเชื้อเยอะมาก ก็ต้องย้ายผู้ป่วย มีการขอรถพยาบาล ขอเฮลิคอปเตอร์ ทีนี้ขอไปแล้วไม่ส่งมา 1 วันก็แล้ว 2 วันก็แล้ว มีฝรั่งคนหนึ่งจากบาดแผลปกติกลายเป็นแผลติดเชื้อ ต้องตัดขา ซึ่งเราเสียความรู้สึกมากกับระบบตรงนี้ คือระบบของคนไทยแตกสลายลงทุกส่วนเลย เพราะระบบการศึกษามันไม่เอื้อให้คนคิด พอคนไม่คิดมันก็กระทบเป็นโดมิโนหมด
ตอนท้ายจดหมายหนูดีก็เลยบอกว่าอยากเรียนด้านสมอง เพราะต้องการเอาตรงนี้มาช่วยเหลือคนในทุกสถานการณ์ของชีวิต ไม่ว่าจะเป็นระบบการศึกษา นอกระบบการศึกษา และองค์กรต่างๆ ซึ่งหนูดีไม่เชื่อว่าคนในองค์กร ณ ปัจจุบันได้ใช้สมองอย่างเต็มประสิทธิภาพ
ในที่สุด ฟ้าก็ส่งคำตอบมาในรูปจดหมายว่า “ยินดีด้วย คุณได้รับเลือกเป็นนักเรียนฮาร์วาร์ด สำหรับปีการศึกษาหน้า”
โอ้โห ตกใจอีกรอบ น้ำตาไหลด้วยความดีใจ แล้วก็แอบมาเครียดเล็กๆว่า เอาอีกแล้ว ถึงเวลาจมอยู่กับกองหนังสือเรียนอีกแล้ว คราวนี้คงยิ่งหนักเป็นสองเท่า เฮ้อ คิดแล้ว ภูมิใจปนกลุ้ม
แต่วันเดินทางก็มาถึง แล้วหนูดีก็ไปโผล่ที่ ฮาร์วาร์ด สแควร์ ในฐานะ นักศึกษาใหม่ หน้าตาตื่นเต้น ในต้นฤดูใบไม้ร่วง อากาศสดใสที่บอสตัน แต่ในใจก็ยังกังวลและเครียดไม่วาย จนได้มานั่งอยู่ในห้องปฐมนิเทศ มีรุ่นพี่ของปีที่แล้วมาให้คำแนะนำว่า จะเรียนอย่างไร ให้ประสบความสำเร็จที่ฮาร์วาร์ด โดยมีเหตุผลว่า พวกเราทุกคนที่นั่งอยู่ในห้องนี้ ถือว่าเป็นผู้ชนะของสังเวียนที่ยากที่สุด คือการฝ่าด่านสิบแปดอรหันต์เข้ามาเป็นนักเรียนใหม่ที่นี่ได้ แต่หลายคนคงเรียนมาด้วยวิธีผิดๆ คือ เรียนหนักเข้าว่า โดยไม่ได้ “เรียนอย่างฉลาด”
วันนั้น หนูดีได้เกร็ดจากรุ่นพี่มาเยอะมาก ซึ่งก็รวมอยู่ใน “เทคนิคเรียนเก่งอย่างอัจฉริยะ” ที่หนูดีตัดสินใจเปิดเพื่อให้ความรู้ดีๆ ส่งต่อไปถึงน้องนักเรียนรุ่นหลังๆ เหมือนที่หนูดีได้รับมาจากรุ่นพี่ระดับอัจฉริยะ ทุกคน
แล้วตลอดเวลาที่เข้าเรียนที่ฮาร์วาร์ด หนูดีก็ได้เรียนรู้เทคนิคดีๆ ที่มหาวิทยาลัยชั้นหนึ่งแห่งนี้ ได้คิดและทำวิจัยมาใช้กับเด็กของเขาโดยเฉพาะ เพราะคนกลุ่มนี้ ถือว่าเป็นกลุ่มคนที่เรียนหนักมาก เรียนยากมาก และการค้นพบใหม่ๆ ที่เปลี่ยนแปลงโลก ก็มักถูกค้นพบที่นี่ หรือ โดยนักศึกษา และคณาจารย์ ของมหาวิทยาลัยแห่งนี้ทั้งนั้น
หนูดีได้เรียนรู้เทคนิคการจัดหมวดความคิด การสรุปย่อให้ตรงประเด็น การอ่านเร็วและจับใจความโดยไม่ตกหล่น การเขียนบทความวิชาการระดับโลก การเขียนรายการชนิดเอาไปนำเสนอกับคองเกรสได้เลย หรือ การอภิปรายแสดงความคิดแบบผู้นำระดับโลก คือทุกอย่างที่เราถูกสอน จะถูกสอนประหนึ่งว่า พรุ่งนี้ เราต้องไปรับตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี หรือประธานาธิบดีนั่นเชียว
เพราะมหาวิทยาลัยนี้ ผลิตผู้นำในทุกแขนง ไม่ว่าจะเป็นผู้นำประเทศ ผู้นำองค์กร ผู้นำทางการแพทย์ ผู้นำวงการการศึกษา ประธานาธิบดีอเมริกาหลายคนก็เป็นศิษย์เก่าที่นี่ รวมถึงว่าที่กษัตริย์ ที่เป็นเป็นขวัญใจชาวไทย อย่างองค์มกุฎราชกุมารจิกมี แห่งภูฐาน ซึ่งมาเรียนเรื่องการปกครอง ที่โรงเรียนเคนเนดี้ ฝั่งข้ามแม่น้ำชาร์ลส์ของหนูดีนี่เอง ดังนั้น อาจารย์ จะฝึกเราไว้เตรียมรับทุกอย่างที่อาจจะเกิดขึ้น
แต่เมื่อการเรียนโดยเนื้อหา ถือว่ายากมากแล้ว กระบวนการเรียน ก็เลยถูกคิดค้นให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด และใช้เวลาน้อยที่สุด เพราะไม่เช่นนั้น ทั้งมหาวิทยาลัยคงไม่มีใครได้นอนกันแน่ เพราะงานเยอะมาก แม้แต่วิธีการอ่านก็ต้องย่นย่อ ให้อ่านได้มากที่สุด ในเวลาที่ประหยัดที่สุด เพราะเราอ่านกันในปริมาณมหาศาล เป็นตั้งๆทุกคืน แถมต้องตีความและอภิปรายอย่างฉลาดด้วย ทั้งๆที่แค่อ่านให้จบนับว่าแทบจะเป็นไปไม่ได้ ถ้าใช้วิธีการอ่านอย่างปรกติที่หนูดีใช้สมัยเรียนปริญญาตรี คงไม่ได้ทำอะไรอื่นๆในชีวิตอีกเลย
พอมาเรียนรู้กระบวนการเรียนใหม่ ที่ใช้ข้อมูลทางสมองเป็นพื้นฐาน ทำให้หนูดีเรียนได้อย่างมีความสุขอย่างแท้จริงเป็นครั้งแรกในชีวิต และนอกจากเรียนได้ดี โดยเทอมแรกก็คว้าเกรดเฉลี่ย 4.00 มาครองเหมือนเดิม ทั้งๆ ที่โดนขู่ไว้ตลอดว่า เรียนที่นี่ ใครจะเก่งมาจากไหน ยากมากที่เทอมแรกจะได้ เอ ทุกตัว แต่หนูดีก็ทำได้มาแล้ว ด้วยสุขภาพจิตที่เปลี่ยนไปเป็นคนละคน เรียนไปยิ้มไป เรียนที่นี่ เรียนด้วยความมั่นใจ เพราะเรา “เรียนเป็น” แล้ว และที่น่าทึ่ง คือหนูดีได้นอนหลับประมาณ แปดชั่วโมงทุกคืน และได้ออกกำลังกายสัปดาห์ละ สามครั้งเป็นประจำ จิตใจแจ่มใส สมองก็ปลอดโปร่ง เรียนได้ดีจนไปติวเพื่อนได้เป็นกลุ่มๆ ทุกคนน่ารักและเป็นมิตร จนเราได้เพื่อนกลุ่มใหญ่ติดมือกลับมาเมืองไทย
และในที่สุด วันรับปริญญาโทก็มาถึง ซึ่งหนูดีก็ได้ร่วมกับงานรับปริญญาที่ขลังและเก่าแก่ที่สุดในโลก ด้วยคะแนนระดับเกียรตินิยมอีกแล้ว (แต่การจะจบจากมหาวิทยาลัยฮาว์วาร์ดได้ต้องใช้ทุนในการศึกษาและค่าใช้จ่ายต่อปีไม่น้อยกว่า 10 ล้านบาท ซึ่ง "หนูดี" ยอมรับการเป็นคนเรียนดี และรู้จักใช้สมองอย่างถูกวิธีทำให้สามารถเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยนี้โดยได้รับทุนการศึกษาตลอดจนจบการศึกษา)
แต่คราวนี้ที่ต่างไป คือความสุข ความมั่นใจของหนูดี ที่รู้แล้วว่า เรียนเก่งระดับอัจฉริยะแบบนี้ ไม่ต้องเครียด ก็ทำได้ แถมมีเวลาใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพมากมาย แล้วก็กลายเป็นความตั้งใจว่า หนูดีจะต้องนำความรู้ที่ดีๆ ที่คนไทยน้อยคนจะมีโอกาสได้ไปรับรู้ มาให้เด็กไทย คนไทย ได้นำไปใช้ เพราะประเทศของเราก็เรียนกันหนัก แข่งกันเรียน แข่งกันสอบ...ถ้าเรา “คิดเป็น” เราก็จะ “เรียนเป็น” และเมื่อทำงานก็จะ “ทำงานเป็น” แบบที่พวกอัจฉริยะเขาเป็นกัน
ครูหนูดี ตั้งใจว่า ก่อนจะบินกลับไปเก็บตัวในห้องวิจัยเพื่อเรียนต่อปริญญาเอกเธอจะใช้เวลา 2 ปี "ติวเข้ม" ให้คนอีก 4 กลุ่มเรียนรู้ในการพัฒนาตัวเอง นั่นคือ กลุ่มนักเรียนม.ปลาย ที่กำลังเตรียมตัวเอนทรานซ์อย่างหน้าดำคร่ำเครียด นักศึกษาเรียนหนัก กลุ่มพ่อแม่ฝึกลูกให้เป็นอัจฉริยะ และกลุ่มยังก์โปร หรือคนทำงานรุ่นใหม่
ผ่านงานเขียนหนังสือ และการฝึกอบรม ภายใต้บริษัทจัดอบรม "อัจฉริยะสร้างได้"
เริ่มจากการปั้นเด็กๆ ในโรงเรียนวนิษาที่เธอนั่งบริหารอยู่ให้เป็นเด็กน้อยแสนอัจฉริยะ และมีความสุข
Credit
http://women.sanook.com/dreammodel/women/women_42610.php
---------------------
เก็บเข้าคอลเล็กชัน
ความคิดเห็น