ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    99วิธี สวัสดีแอดมิชชั่น

    ลำดับตอนที่ #5 : คู่มือและสถาบันกวดวิชา : ใช้ประโยชน์จากToolsเหล่านี้ให้เป็น

    • อัปเดตล่าสุด 20 ต.ค. 48


    หนังสือคู่มือและสถาบันกวดวิชา : ใช้ประโยชน์จาก Tools เหล่านี้ให้เป็น

    44. เราจะเตรียมเอนท์ทั้งที หลาย ๆ คนก็คงจะใช้เครื่องมือ(Tools)เหล่านี้บ้างใช่ไหมล่ะ ถ้าหากเรารู้จักใช้ รู้จักเลือกให้เหมาะกับตัวเรา มันก็จะยิ่งได้ประโยชน์มากขึ้นนะ



    45. หนังสือคู่มือหรือข้อสอบเก่า(ตามที่ได้แนะนำไว้) จริง ๆ แล้วไม่จำเป็นต้องซื้อเยอะแยะหรอกนะ พวกข้อสอบเก่าแบบนี้ ขอจากรุ่นพี่ก็ได้ หรือถ้าไปเรียนคอร์สเอนท์ที่ไหนก็อาจจะได้หนังสือประกอบการสอนมา ซึ่งก็คงจะไม่ต้องไปซื้อคู่มือเอนท์ของวิชานั้นแล้วล่ะ ขืนซื้อเยอะเกินไป อ่านไม่หมด เสียดายเงินแย่เลย



    46. คุณภาพของหนังสือก็สำคัญนะ แต่ละสำนักพิมพ์จะมีรูปแบบในการพิมพ์ที่แตกต่างกันออกไป เลือกคุณภาพของหนังสือที่มันดีหน่อยล่ะกัน เคยเจอหนังสืออยู่เล่มหนึ่ง พิมพ์ได้แย่มาก แค่เอายางลบลบหน่อยเดียว ตัวหนังสือที่พิมพ์ก็หายไปหมดเลยล่ะ แสดงว่าเป็นที่หมึกพิมพ์ของสำนักพิมพ์นี้แหละ



    47. ส่วนร้านที่จะซื้อ ถ้าไปร้านที่ใหญ่ ๆ และมีหนังสือให้เลือกเยอะมาก ก็จะเป็นประโยชน์กับเรานะ อย่างที่ศูนย์หนังสือจุฬาฯ นี้กำลังดีเลย ที่แผนกหนังสือคู่มือเอนท์จะมีหนังสือประเภทนี้ให้เลือกเยอะมากเลยล่ะ ที่สำคัญราคาก็ไม่แพงด้วย แต่ไม่ใช่ว่าร้านอื่นจะไม่ดีนะ ก็มีอีกหลายร้านแหละที่มีหนังสือประเภทนี้ให้เลือกเยอะ ไปร้านที่คุณสะดวกจะซื้อก็แล้วกันนะ



    48. หนังสือแต่ละเล่มก็จะมีจุดเด่นจุดด้อยที่แตกต่างกันออกไป บางคนก็อาจจะบอกว่าเล่มนี้ดี อ่านแล้วรู้เรื่อง แต่บางคนก็อาจจะบอกว่าไม่ดี อ่านแล้วไม่รู้เรื่อง ทั้ง ๆ ที่มันก็หนังสือเล่มเดียวกันนั้นแหละ นั้นเป็นเพราะแต่ละคนจะมีพื้นฐานการเรียนรู้ที่แตกต่างกัน ดังนั้น คุณควรจะเลือกเล่มที่อธิบายได้เหมาะกับตัวคุณด้วยนะ อย่าเลือกซื้อหนังสือตามคนอื่นโดยที่ไม่ดูก่อนว่าเหมาะกับตัวเองรึเปล่า ตอนที่จะซื้อหนังสือก็แนะนำให้ยืนอ่านดูสักหน่อยว่า

    - หนังสือเล่มนี้อธิบายแล้วเข้าใจไหม

    - มีโจทย์เยอะพอตามที่คุณต้องการรึเปล่า



    49. หนังสือที่รวมข้อสอบเก่าในแต่ละวิชา ควรเลือกเฉลยที่มันเชื่อถือได้หน่อยนะ อาจจะขอคำแนะนำจากเพื่อนหรือรุ่นพี่ก็ได้



    50. เคยเจอหนังสือรวมข้อสอบเก่าฟิสิกส์ของ NEO เล่มสีแดง เฉลยดีมากเลย

    - ข้อไหนที่คิดได้หลายแบบ เขาจะแสดงวิธีคิดให้ทุกแบบเลย เฉลยส่วนใหญ่จะเฉลยวิธีคิดให้แบบเดียว พอเราคิดอีกวิธีหนึ่งแต่ได้คำตอบตรงกัน ก็ไม่มั่นใจว่าถูกเพราะฟลุครึเปล่า

    - นอกจากนี้ยังแทรกเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับข้อนั้น ๆ ให้ด้วย ถ้าเราอ่านเฉลยไม่เข้าใจหรือต้องการเนื้อหาเพิ่มเติม ก็ไม่ต้องเสียเวลาไปเปิดจากหนังสือเล่มอื่น

    - เฉลยก็ดีมาก ๆ เชื่อถือได้

    แต่ไม่รู้ว่าเดี๋ยวนี้ยังมีขายอยู่รึเปล่า เพราะเก่ามาก (ที่บ้านผมมีอยู่แค่เล่มเดียว) ถ้าสำนักพิมพ์ไหนหรือผู้เขียนท่านใดเขียนหนังสือเฉลยข้อสอบเก่าออกมาในลักษณะนี้ ก็นับว่าเป็นเล่มที่น่าซื้อเหมือนกัน



    51. แน่นอนล่ะ หลาย ๆ คนก็คงจะลงเรียนพิเศษกันเยอะ กะไว้ว่าน่าจะช่วยทำให้คะแนนเอนท์ดีขึ้นใช่ไหมล่ะ อันที่จริงจะฟันธงไปว่า การเรียนพิเศษเป็นสิ่งที่ดีหรือไม่ดีก็อาจจะทำได้ไม่ชัดเจนนัก มันขึ้นอยู่กับว่าตัวผู้เรียนจะใส่ใจคอร์สเรียนพิเศษที่ตัวเองได้ลงเรียนไปขนาดไหน และรู้จักแบบเวลาได้ดีแค่ไหน การเรียนพิเศษมันจะเป็นเรื่องดีถ้าหากว่าคุณลงเรียนในวิชาที่คุณอ่อนเพื่อดึงให้มันดีขึ้น หรือเรียนในวิชาที่แข็งอยู่แล้ว ให้มันแข็งขึ้นไปอีก กะฟันคะแนนวิชานี้อย่างถล่มถลายว่างั้นเถอะ



    52. ถ้าหากว่าคุณลงเรียนพิเศษหลาย ๆ วิชา ทั้งคอร์ส ม.6 คอร์สปรับพื้นฐาน คอร์สเอนท์  คอร์สตะลุยโจทย์ เรียนตั้งแต่ 7 โมงเช้ายัน 1 ทุ่ม อันนี้ก็ไม่ไหวนะ คิดเหรอว่าลงเรียนแบบนี้แล้วจะได้ผลดี ในทางกลับกัน คุณจะเหนื่อยมาก ๆ สมองก็ตื้อ ไม่สามารถรับความรู้อะไรใหม่ ๆ ได้เลย เปลื้องเงินเปล่า ๆ เคยถามคนที่ลงเรียนพิเศษอย่างถล่มถลายแบบนี้เหมือนกัน โดยพื้นฐานแล้วเขามักจะคิดว่าการเรียนพิเศษเยอะ ๆ จะทำให้เราได้เปรียบคนอื่น อยากเก่งอยากเหนือกว่าคนอื่นนั้นเอง มันก็จริงอยู่หรอก แต่ถ้าลงเยอะเกินไปก็จะไม่ได้อะไรกลับมาเหมือนกัน ต้องประมาณความสามารถของตนเองให้ดี ๆ ด้วยว่าจะรับได้ไหวแค่ไหน



    53. คุณเคยดูหรือเคยเล่นกีตาร์ไหม ถ้าหากคุณปรับสายกีตาร์ให้ตึงเกินไป เสียงก็จะสูง ๆ เผลอ ๆ สายอาจจะขาดได้ แต่ถ้าหากคุณปรับสายกีตาร์ให้หย่อนเกินไป เสียงมันก็จะเพี้ยน สายห้อย ๆ ดีดยากจะตาย การเรียนพิเศษก็ไม่ต่างอะไรจากสายกีตาร์หรอก ปรับสายกีตาร์ให้พอดีดีกว่านะ ดีดออกมาจะได้เพราะ ๆ



    54. สูตรลัดทั้งหลายที่ได้มาจากที่เรียนพิเศษนะ ควรจะดูที่มาของสูตร หรือทำความเข้าใจเงื่อนไขของสูตรลัดนั้นด้วยนะ ไม่ใช่ว่าจะมัวแต่ตื่นเต้นกับสูตรลัด แต่พอเอาเข้าจริง ๆ กลับใช้สูตรลัดไม่เป็นเลย สูตรลัดบางสูตรมันก็มีข้อจำกัดที่จะใช้ได้กับโจทย์บางลักษณะเท่านั้น แต่ก็ยอมรับว่าสูตรลัดบางสูตรก็ดีจริง ๆ มันช่วยประหยัดเวลาตอนทำข้อสอบเอนท์ได้เยอะเหมือนกัน เอาเวลาตรงนี้ไปทำในข้อที่ยาก ๆ จะดีกว่าเนอะ ดังนั้น อย่าลืมทำความเข้าใจกับสูตรลัดที่ได้มาจากติวเตอร์ให้ดี ๆ ล่ะกัน อย่าคิดนะว่าจำสูตรลัดได้แล้วจะทำข้อสอบได้เสมอไป



    55. เคยถามคน ๆ หนึ่งว่าตั้งแต่เรียนพิเศษมารู้สึกดีขึ้นบ้างไหม เขาก็บอกว่าดีขึ้นนิดหน่อย พอถามไปถามมา ก็เลยรู้ว่าทำไมถึงดีขึ้นนิดหน่อย (ทั้ง ๆ ที่น่าจะดีขึ้นมากกว่านี้ เพราะเสียเงินไปแล้วนี้น่า) เขาเรียนแค่ในห้องเรียนพิเศษแล้วไม่เคยกลับมาทบทวนในสิ่งที่เรียนพิเศษไป ทั้ง ๆ ที่ที่เรียนพิเศษแต่ละที่เขาก็จะให้โจทย์หรือให้การบ้านมาทำบ้าง แต่เขาก็ไม่เคยทำ แบบนี้ไม่น่าแปลกใจหรอกว่าทำไมถึงดีขึ้นได้นิดเดียว ดังนั้น โจทย์ที่คุณได้มากจากที่เรียนพิเศษ หรือการบ้านต่าง ๆ ที่ติวเตอร์บางที่ให้มาทำแล้วไปเฉลยในห้องก็ควรจะทำสักบ้างนะ ถ้าหากติวเตอร์เขาเฉลยข้อนั้นไปแล้ว จะเสียดายโจทย์มาก ๆ อย่าเพิ่งบอกตัวเองว่าทำข้อนี้ไม่เป็น ลองทำดูก่อน ถ้าทำไม่ได้จริง ๆ ก็ค่อยไปดูเฉลยทีหลัง บางทีถ้าหากคุณคิดผิดหรือคิดไม่ได้จะได้รู้ตัวเองว่า ทำไมถึงคิดข้อนี้ไม่ได้ คุณจะได้รู้จักระวังในการทำโจทย์แนวนี้ในข้อต่อ ๆ ไปยังไงล่ะ และที่สำคัญ ถ้าหากคุณลงเรียนพิเศษวิชาใดไปแล้ว ถ้าไม่จำเป็นก็อย่าโดดเลยนะ ไม่อย่างนั้นมันจะเรียนไม่รู้เรื่องในคราวต่อไป ถ้าโดดบ่อย ๆ ก็จะไม่ได้อะไรกลับมาเหมือนกัน



    56. คอร์สเอนท์ ถ้าหากคุณได้ลงเรียนกับสถาบันกวดวิชาที่มีคุณภาพและคุณเองก็ตั้งใจเรียน ขอบอกว่าคุณจะได้รับประโยชน์จากคอร์สนี้มหาศาลเลยนะ เพราะคอร์สเอนท์จะสรุปความคิดรวบยอดของเนื้อหาทั้งหมดที่ได้เรียนมาให้คุณ นอกจากนี้ติวเตอร์ที่เก่ง ๆ เขาก็จะรู้แนวข้อสอบเป็นอย่างดี และสามารถจับจุดแนวข้อสอบเอนท์ให้กับคุณได้ มันจะช่วยคุณประหยัดเวลาที่คุณจะต้องไปจับแนวข้อสอบด้วยตัวคุณเอง



    57. เหนือสิ่งอื่นใด การเรียนในโรงเรียนเป็นสิ่งที่สำคัญนะ อย่าลืมนึกถึงGPAที่คุณต้องเก็บสะสมไว้เป็นทุนด้วยล่ะ

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×