ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    ข้อมูลที่หาระหว่างแต่งนิยาย

    ลำดับตอนที่ #2 : มุฮัมมัด ศาสนทูตแห่งอัลลอหฺ

    • อัปเดตล่าสุด 22 พ.ค. 51


    มุฮัมมัด ศาสนทูตแห่งอัลลอหฺ
    การสะกดไม่มาตรฐาน โมฮัมมัด, โมฮัมเหม็ด, มะหะหมัด, พระมะหะหมัด, มูฮัมมัด, มูฮัมหมัด, มูหัมมัด


    นามมุฮัมมัดในภาษาอาหรับ

    ท่านศาสดามุฮัมมัด(ซล) เกิดที่มหานครมักกะหฺ (เมกกะ) ตรงกับวันจันทร์ที่ ๑๗ (บ้างก็ว่า ๑๒) เดือนร็อบีอุลเอาวัล ในปี ค.ศ. ๕๗๐ ในตอนแรกเกิดวรกายของมุฮัมมัด (ซล) มีรัศมีสว่างไสวและมีกลิ่นหอม เป็นสุภนิมิตบ่งถึงความพิเศษของทารก

    ปีที่ท่านเกิดนั้นเป็นปีที่อุปราชอับร็อฮะหฺแห่งอบิสสิเนีย (เอธิโอเปียปัจจุบัน) กรีฑาทัพช้างเข้าโจมตีมหานครมักกะหฺ เพื่อทำลายกะอฺบะหฺอันศักดิ์สิทธิ์ แต่อัลลอหฺได้ทรงพิทักษ์มักกะหฺ ด้วยการส่งกองทัพนกที่คาบกรวดหินลงมาทิ้งลงบนกองทัพนี้ จนไพร่พลต้องล้มตายระเนระนาด เนื้อตัวทะลุดุจดั่งใบไม้ที่ถูกหนอนกัดกิน อุปราชอับร็อฮะหฺจึงจำต้องถอยทัพกลับไป

    ในปีเดียวกันนั้นมีแผ่นดินไหวเกิดขึ้นในเปอร์เซีย เป็นเหตุให้ราชวังอะนูชิรวานของจักรพรรดิ์เปอร์เซียสั่นสะเทือนจนถึงรากเหง้าและพังทลายลง ยังผลให้ไฟศักดิ์สิทธิ์ในวิหารบูชาไฟของพวกโซโรอัสเตอร์ที่ลุกอยู่เป็นพันปีนั้นต้องดับลงไปด้วย


    วิหารบูชาไฟของพวกโซโรแอสเตอร์ ในอิหร่าน

    บิดาของมุฮัมมัดคือ อับดุลลอหฺ เป็นบุตรสุดท้องของอับดุลมุฏฏอลิบ แห่งเผ่ากุเรช ผู้ได้รับเกิยรติให้คุ้มครองบ่อน้ำศัมศัมริมกะอฺบะหฺ อับดุลลอหได้เสียชีวิตไปตั้งแต่ตอนที่มุฮัมมัด(ซล)ยังอยู่ในครรภ์ของอะมีนะหฺ สตรีแห่งเผ่าศุหฺเราะหฺ ฺผู้เป็นมารดา  อับดุลมุฏฏอลิบผู้เป็นปู่ได้ขนานนามว่า มุฮัมมัด แปลว่าผู้ที่ได้รับการสรรเสริญ เป็นนามที่ยังไม่มีผู้ใดใช้มาก่อนเลย เมื่อเกิดได้เพียงไม่นาน ท่านก็ต้องไปอยู่กับแม่นมรับจ้างซึ่งมีนามว่า ฮะลีมะหฺ แห่งเผ่าซะอัด ซึ่งมีสามีชื่อว่า อะบูกับชะหฺ ตั้งถิ่นฐานอยู่นอกมหานคร ทั้งนี้เป็นเพราะประเพณีดั้งเดิมของชาวอาหรับ เมื่อต้องการให้บุตรของตนเติบโตขึ้นในชนบท เพื่อสัมผัสกับวัฒนธรรมของชาวอาหรับพื้นเมืองที่แท้จริง

    และแล้วมุฮัมมัดก็ต้องสูญเสียมารดาตอนที่มีอายุ ๖ ขวบ ท่านจึงอยู่ในความอุปการะของท่านปู่ ต่อมาอีกสองปี ท่านปู่ก็สิ้นชีวิตไปอีกคน ท่านจึงอยู่ในความดูแล ของอะบูฏอลิบผู้เป็นลุง ซึ่งเป็นผู้มีเกิยรติคนหนึ่งในเผ่ากุเรชเช่นกัน

    มุฮัมมัดก็เหมือนกับชาวอาหรับทั่วไปคือเป็นคนไม่รู้หนังสือ ท่านอ่านและเขียนหนังสือไม่เป็นตลอดชีวิตของท่าน นักประวัติศาสตร์รายงานว่าในสมัยนั้นมีคนที่อ่านออกเขียนได้ในมักกะหฺไม่กี่คนเท่านั้น ด้วยเหตุนี้ชาวอาหรับในสมัยนั้นถูกขนานนามว่า อุมมียูน คือชนผู้อ่านเขียนไม่เป็น

    ในวัยหนุ่มมุฮัมมัดได้รับการยอมรับว่าเป็นบุคคลที่มีความซื่อสัตย์ไว้วางใจได้ มีใจเมตตาการุณและจริงใจ  จนกระทั่งผู้คนในสมัยนั้นให้สมญานามท่านว่า "อัล-อะมีน" หรือผู้ซื่อสัตย์  แม้ผู้คนในสมัยนั้นจะเคารพบูชาเจว็ดและเทวรูปต่างๆ  แต่มุฮัมมัดไม่เคยเข้าร่วมพิธีการบูชารูปปั้นทั้งหลายเลย เพราะครอบครัวของมุฮัมมัดนับถือศาสนาแห่งศาสดาอิบรอฮีม(อับราฮาม)อันเป็นบรรพบุรุษของท่าน

    เมื่อมูฮัมมัดมีอายุได้ ๒๐ ปี กิตติศัพท์แห่งคุณธรรม และความสามารถในการค้าขายก็เข้าถึงหูของคอดีญะหฺเศรษฐีนีหม้ายผู้มีเีกียรติจากตระกูลอะซัดแห่งเผ่ากุเรช นางจึงเชิญให้ท่านเป็นผู้จัดการในการค้าของนาง โดยให้ท่านนำสินค้าไปขายยังประเทศซีเรียในฐานะหัวหน้ากองคาราวาน ปรากฏผลว่าการค้าดำเนินไปด้วยความเรียบร้อย และได้กำไรเกินความคาดหมาย จึงทำให้นางพอใจในความสามารถ และความซื่อสัตย์ของท่านเป็นอย่างมาก

    เมื่ออายุ ๒๕ ปี ท่านก็ได้แต่งงานกับนาง ค็อดีญะหฺผู้มีอายุแก่กว่าถึง ๑๕ ปี สิ่งแรกที่ท่านนบีมูฮัมมัด (ซล) ได้กระทำภายหลังสมรสได้ไม่กี่วันก็คือการปลดปล่อยทาสให้เป็นอิสระ ซึ่งในสมัยนั้นน้อยนักที่จะมีผู้ทำเช่นนั้น ต่อมาการปลดทาสได้กลายเป็นบทบัญญัติอิสลาม ทั้งสองได้ใช้ชีวิตครองคู่กันเป็นเวลา ๒๕ ปีมีบุตรีด้วยกัน ๔ คน  ท่านหญิงเคาะดีญะฮฺเสียชีวิตปี ค.ศ. ๖๑๙ ก่อนมุฮัมมัดจะลี้ภัยไปยังเมืองยัธริบ ๓ ปี

    เมื่ออายุ ๓๐ ปี ท่านได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกในสหพันธ์ ฟุดูล อันเป็นองค์การพิทักษ์สาธารณภัยประชาชน เพื่อขจัดทุกข์บำรุงสุขให้ประชาชน กิจการประจำวันของท่าน ก็คือ ประกอบแต่กุศลกรรม ปลดทุกข์ขจัดความเดือดร้อน ช่วยเหลือผู้ตกยาก บำรุงสาธารณกุศล

    เมื่ออายุ ๓๕ ปี ได้เกิดมีกรณีขัดแย้งในการบูรณะกะอฺบะหฺ ในเรื่องที่ว่าผู้ใดกันที่จะเป็นนำเอา อัลฮะญัร อัลอัสวัด (หินดำ) ไปประดิษฐานไว้สถานที่เดิมคือที่มุมของกะอฺบะหฺ อันเป็นเหตุให้คนทั้งเมืองเกือบจะรบราฆ่าฟันกันเองเพราะแย่งหน้าที่อันมีเกียรติ หลังจากการถกเถียงในที่ประชุมเป็นเวลานาน บรรดาหัวหน้าตระกูลต่าง ๆ ก็มีมติว่า ผู้ใดก็ตามที่เป็นคนแรกที่เข้ามาใน อัลมัสญิด อัลฮะรอม ทางประตูบนีชัยบะหฺในวันนั้นจะให้ผู้นั้นเป็นผู้ชี้ขาดว่าจะทำอย่างไร ปรากฏว่า มุฮัมมัด (ซล) เป็นคนเดินเข้าไปเป็นคนแรก ท่านจึงมีอำนาจในการชี้ขาด โดยท่านเอาผ้าผืนหนึ่งปูลง แล้วท่านก็วางหินดำลงบนผืนผ้านั้น จากนั้นก็ให้หัวหน้าตระกูลต่าง ๆ จับชายผ้ากันทุกคน แล้วยกขึ้นพร้อม ๆ กัน เอาไปใกล้ ๆ สถานที่ตั้งของหินดำนั้น แล้วท่านก็เป็นผู้นำเอาหินดำไปประดิษฐานไว้ ณ ที่เดิม

    ชาวอาหรับในอาราเบียสมัยนั้นเชื่อว่า อัลลอหฺเป็นพระผู้เป็นเจ้าแห่งสากลจักรวาลตามคำสอนดั้งเดิมของบรรพบุรุษอาหรับคืออิสมาอีลและอิบรอฮีม ผู้ก่อตั้งกะอฺบะหฺ แต่ในขณะเดียวก็บูชาเทวรูปและผีสางอีกด้วย ด้วยเหตุนี้พวกเขาจึงถูกเรียกว่า มุชริกูน นอกจากนี้ยังมีอาหรับส่วนหนึ่งที่นับถือศาสนาคริสเตียน และในยัธริบก็มีชาวยิวหลายตระกูลอาศัยอยู่อีกด้วย

    เมื่ออายุ ๔๐ ปี ท่านได้รับว่าวะฮฺยู (การวิวรณ์) จากอัลลอหฺพระผู้เป็นเจ้า ในถ้ำฮิรออฺ ซึ่งอยู่บนภูเขาลูกหนึ่งนอกเมืองมักกะหฺ โดยฑูตญิบรีลเป็นผู้นำมาบอกเป็นครั้งแรก เรียกร้องให้ท่านรับหน้าที่เป็นผู้เผยแผ่ศาสนาของอัลลอหฺดั่งที่ศาสดามูซา(โมเสส) อีซา(เยซู)เคยทำมา นั่นคือประกาศให้มวลมนุษย์นับถือพระเจ้าเพียงองค์เดียว ท่านได้รับพระโองการติดต่อกันเป็นเวลา ๒๓ ปี  พระโองการเหล่านี้รวบรวมขึ้นเป็นเล่มเรียกว่าคัมภีร์อัลกุรอาน

    ในตอนแรกท่านเผยแพร่ศาสนาแก่วงศาคณาญาติและเพื่อนใกล้ชิดเป็นการภายในก่อน ท่านค็อดีญะหฺเองได้สละทรัพย์สินเงินทองของท่านไปมากมาย และท่านอะบูฏอลิบก็ได้ปกป้องหลานชายของตนด้วยชีวิต ต่อมาท่านได้รับโองการจากพระเจ้าให้ประกาศเผยแพร่ศาสนาโดยเปิดเผย ทำให้ญาติพี่น้องในตระกูลเดียวกัน ชาวกุเรชและอาหรับเผ่าอื่น ๆ ที่เคยนับถือท่าน พากันโกรธแค้น ตั้งตนเป็นศัตรูกับท่านอย่างรุนแรง ถึงกับวางแผนสังหารท่านหลายครั้งแต่ก็ไม่สำเร็จ ชนมุสลิมถูกค่ำบาตรไม่สามารถทำธุรกิจกับผู้ใด จนต้องอดอยากเพราะขาดรายได้และไม่มีที่จะซื้ออาหาร อบูซุฟยาน แห่งตระกูลอุมัยยะหฺ และ อบูญะฮัล คือสองในจำนวนหัวหน้ามุชริกูนที่ได้พยายามทำลายล้างศาสนาอิสลาม

    สาวกกลุ่มหนึ่งต้องหนีออกจากมักกะหฺเข้าลี้ภัยในอบิสสิเนีย กษัตริย์นัญญาชี(เนเกช)แห่งอบิสสิเนียที่นับถือคริสตศาสนาก็ได้ให้การต้อนรับเป็นอย่างดี ภายหลังท่านเองก็เข้ารับนับถือศาสนาอิสลาม

    เมื่อพวกมุชริกูนคุกคามท่านรุนแรงยิ่งขึ้น ในปี ค.ศ. ๖๒๒ ท่านและสาวกเป็นร้อยจึงต้องอพยพหนีไปอยู่ที่นครยัธริบ ซึ่งอยู่ห่างออกไปทางทิศเหนือ ๔๕๐ กม. ตามคำสั่งของพระผู้เป็นเจ้าหลังจากการเผยแผ่ศาสนาในมักกะหฺ ๑๓ ปี การอพยพนี้เรียกว่า ฮิจญ์เราะหฺ ซึ่งศักราชของอิสลามก็เริ่มนับตั้งแต่ปีนั้นเป็นต้นมา ชาวเมืองยัธริบฺที่ได้รับศาสนาอิสลามก่อนหน้านั้นไม่นาน ก็ได้ต้อนรับท่านนบีและผู้อพยพจากมักกะหฺเสมือนพี่น้องของตนเอง นครยัธริบก็ได้เปลี่ยนเป็นชื่อเป็น อัล-มะดีนะหฺ อัล-นะบะวียะหฺ หรือ มดีนัต อัล-นะบีย์ ซึ่งแปลว่า เมืองแห่งศาสนฑูต ท่านนบีได้ทำสัญญากับชาวยิวในเมืองมดีนะหฺว่าจะเป็นพันธมิตรไม่ทำความเดือดร้อนแก่กัน นครมดีนะหฺจึงกลายเป็นราชธานีแห่งอาณาจักรอิสลามตั้งแต่นั้นมา


    สาส์นศาสนทูตมุฮัมมัดถึงประมุขชนชาติข้างเคียง

    แม้ว่าท่านจะลี้ภัยไปอยู่มดีนะหฺแล้ว ท่านก็ยังถูกชาวมุชริกูนจากมักกะหฺยกพลมารุกรานโจมตีนครมดีนะหฺไม่ขาดสาย ทำให้ท่านนบี(ซล)ต้องเกณฑ์ไพร่พลออกต่อสู้ข้าศึกนอกเมืองหลายครั้งเป็นเวลาหลายปี ศึกสงครามครั้งแรกที่เกิดขึ้นได้แก่สงครามบะดัร (๑๗ เดือนรอมฎอนปี ฮ.ศ. ที่ ๒ ตรงกับ ๑๕ มีนาคม ปี ค.ศ. ๖๔๔) เมื่อท่านนบีได้นำพลจำนวนเพียง ๓๑๔ คนออกสกัดกั้นกองคาราวานค้าขายของอบูซุฟยานและอบูญะฮัลที่ขนสินค้าเดินทางกลับมาจากซีเรีย กองคาราวานนี้มีผู้คนมากกว่า ๑๐๐๐ คน ถึงกระนั้นก็ตาม ทัพของศรัทธาชนก็ได้รับชัยชนะ ทำให้พวกมุชริกูนต้องกระจัดกระเจิงหนีกลับไปมักกะหฺ อบูญะฮัลตายในสงครามนี้ ด้วยเหตุนี้

    อบูซุฟยานจึงรวบรวมไพร่พลจากมักกะหฺกลับมาหมายโจมตีเมืองมะดีนะหฺอีกครั้ง วันที่ ๒๑ เดือนมีนาคม ๖๒๕ กองทัพของอบูซุฟยานที่มีไพร่พล ๓๐๐๐ คน ก็มาถึงที่อุฮุด ท่านนบีก็ได้นำทัพซึ่งมีไพร่พลเพียง ๑๐๐๐ คนออกสกัดกั้น ความจริงท่านนบีได้เตรียมกองทัพทั้งหมด ๑๕๐๐ คน แต่อีก ๕๐๐ คนซึ่งอยู่ภายใต้การนำของอุษมานถอยกลับเข้าเมืองมะดีนะหฺ สาเหตุก็เพราะว่าอุษมานเป็นญาติใกล้ชิดกับอบูซุฟยาน และไพร่พลในกองทัพของอุษมานก็เป็นพวกมุนาฟิกูนเป็นส่วนมาก

    ในวันที่ ๒๓ สองกองทัพก็ประจัญบานกัน ผลัดกันแพ้ผลัดกันชนะ ในที่สุดชาวมุชริกูนก็ถอยทัพกลับไป ชาวมุสลิมเสียชีวิตไป ๗๐ คน ท่านนบีเองก็ได้รับบาดเจ็บ

    ในเดือนเมษายน ค.ศ. ๖๒๗ อะบูซุฟยานได้ระดมพลจากเผ่าอาหรับต่าง ๆ ในอาราเบียถึง ๑๐ ๐๐๐ คน แล้วกรีฑาทัพเข้าโจมตีเมืองมะดีนะหฺ อนึ่งอะบูซุฟยานยังได้ติดต่อให้ชาวยิวเผ่าต่างๆในกรุงมะดีนะหฺช่วยบุกโจมตีด้านในอีกแรงหนึ่งด้วย ท่านนบีจึงสั่งให้มีการขุดคูรอบๆเมืองมะดีนะหฺเพื่อป้องกันข้าศึก ตามคำเสนอของซัลมาน ชายเฒ่าจากเปอร์เซีย ด้วยเหตุนี้จึงเรียกสงครามนี้ว่า สงครามคอนดัก (คู) เมื่ออบูซุฟยานเห็นว่ากองทัพของตนไม่สามารถจะเข้าเมืองมดีนะหฺได้ ก็ตั้งค่ายริมคูเพื่อหาวิธีอยู่ แต่ต่อมาเกิดมีพายุพัดมาอย่างรุนแรงจนเตนท์ต่างๆและข้าวของล้มระเนระนาด จะปรุงอาหารก็ไม่ได้   จึงไม่สามารถจะหาวิธีอื่นใดนอกจากจะต้องถอยทัพกลับ ท่านนบีจึงนำทัพเข้าโจมตีค่ายของเผ่ากุร็อยเซาะหฺที่ผิดสัญญาที่ทำไว้ตั้งแต่แรก

    เมื่อชาวมุชริกูนเอาชนะรัฐอิสลามไม่ได้ ก็ได้มีการทำสัญญาสงบศึกกันในเดือนมีนาคม ค.ศ. ๖๒๘ เรียกสัญญาสงบศึกครั้งนั้นว่า สัญญา ฮุดัยบียะหฺ

    ต่อมาในเดือนพฤศจิกายน ๖๒๙ ชาวมักกะหฺได้ละเมิดสัญญาสงบศึก ในเดือนมกราคม ปี ค.ศ. ๖๓๐ ท่านนบีจึงนำทหาร ๑๐๐๐๐ คนเข้ายึดเมืองมักกะห ท่านจึงประกาศนิรโทษกรรมให้ชาวมักกะหฺเกือบทั้งหมดยกเว้นบางคน ในจำนวนนั้นมีอัลฮะกัม แห่งตระกูลอุมัยยะหฺที่ท่านนบีประกาศให้ทุกคนบอยคอตเขา


    ฟันและผมศาสนทูต

    การนิรโทษกรรมครั้งนี้มีผลให้ชาวมักกะหฺซาบซึ้งในความเมตตาของท่าน จึงพากันหลั่งไหลเข้านับถือศาสนาอิสลามเป็นจำนวนมาก

    ท่านนบีมูฮัมมัด(ซล) ได้สิ้นชีวิตที่เมืองมะดีนะหฺ เมื่อวันจันทร์ที่ ๑๒ เดือนรอบีอุลเอาวัล ฮ.ศ.ที่ ๑๑ ซึ่งตรงกับ ๘ มิถุนายน ปี ค.ศ. ๖๓๒ รวมอายุได้ ๖๓ ปี

    อธิบายคำศัพท์
    มุชริกูน = ชนผู้ตั้งภาคี หมายถึง พวกชาวมักกะหฺที่บูชาเจว็ดแต่ศรัทธาในอัลลอหฺในเวลาเดียวกัน
    มุนาฟิกูน = พวกสัปหลับที่อ้างว่าตนเป็นมุสลิมแต่ในใจเป็นผู้ปฏิเสธ ในเมืองมดีนะหฺสมัยท่านศาสดามีพวกนี้อยู่เป็นจำนวนมาก


    สถานที่ฝังศพอันทรงเกีรยติของท่านศาสดา อยู่ในมัสยิดของท่านในเมืองมะดีนะหฺ


    ภายในมัสยิดศาสนทูต


    มินบัรในมัสยิดศาสนทูต


    ใต้โดมสีเขียวคือทีตั้งของสุสานศาสนทูต

     

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×