คืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด
คุณแน่ใจว่าต้องการคืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด ?
ลำดับตอนที่ #1 : อุปกรณ์และเครื่องมือที่ใช้ในการตัดเย็บ
อุปกรณ์และเครื่องมือการตัดเย็บ เป็นสิ่งที่ช่วยให้งานตัดเย็บมีความละเอียด เรียบร้อย รวดเร็ว และได้ผลดี อนึ่งอุปกรณ์และเครื่องมือที่อยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ต้องมีการทำความสะอาด และควรเก็บรักษาให้อยู่ใน สถาพที่ใช้งานได้อยู่เสมอ เพราะงานตัดเย็บต้องใช้ฝีมือ มีความละเอียดเรียนร้อย มีความประณีตและมีความเที่ยงตรงเป็น หลักสำคัญ ซึ่งการใช้และการถนอมเครื่องมือเป็นการฝึกนิสัยของคนเป็นช่างที่ดี ดังนั้นจึงควรรู้จักอุปกรณ์ทุกชนิด เพื่อการเลือกใช้ให้เหมาะสมตามชนิดของผลงานและดูแลรักษาให้อยู่ในสภาพดีที่สุด เพื่อประสิทธิภาพในการใช้งาน ดังนี้
1. อุปกรณ์และเครื่องมือในการวัดตัวและการสร้างแบบ
การสร้างแบบตัดต้องใช้อุปกรณ์ที่ถูกต้อง อุปกรณ์ที่ใช้วัด มีหลายชนิดที่มีลักษณะแตกต่างกัน ซึ่งออกแบบให้เหมาะกับงานเฉพาะอย่าง ได้แก่
1.1 สายวัด สายวัดที่มีขายในท้องตลาดมีอยู่หลายชนิด เช่น ผ้าเทป ไฟเบอร์กราส พลาสติก เป็นต้น
สายวัดที่ดีดวรทำด้วยวัสดุไม่ยืด ไม่หด สามารถใช้ได้ทั้งหลักนิ้วและหลักเซนติเมตร สายวัดจะมีความยาว 60 นิ้ว 150 เซนติเมตร มีการแบ่งช่องอย่างชัดเจน ในการวัดตัวหลักเซนติเมตรจะมีความละเอียดกว่าหลักนิ้ว ซึ่งการเย็บผ้าสตรีส่วนใหญ่นิยมใช้หลักเซนติเมตร
การอ่านสายวัดหลักนิ้ว แบ่งเป็น 8 ช่อง นิยมอ่านเป็นเศษส่วน ดังนั้น 1 ช่อง อ่านว่า เศษ 1 ส่วน 8
2 ช่องอ่านว่าเศษ 1 ส่วน4 3 ช่องอ่านว่า เศษ 3 ส่วน 8 เป็นต้น
การอ่านสายวัดหลักนิ้ว แบ่งเป็น 10 ช่อง นิยมอ่านเป็นทศนิยม ดังนี้ 1 ช่องอ่านว่า .1 2 ช่องอ่านว่า.2 3 ช่องอ่านว่า.3 4 ช่องอ่านว่า.4 5 ช่องอ่านว่า.5 เป็นต้น
การเก็บดูแลรักษาสายวัด ให้ปฏิบัติดังนี้
1. ห้ามใช้สายวัดแทนเชือกผูกเอว เพราะจะทำให้สายวัดบิดเบี้ยวเสียรูป
2. ควรเก็บรักษาสายวัดโดยวิธีการแขวน จะทำให้สายวัดอยู่ในสภาพเดิมไม่เสียรูป สะดวกต่อการใช้งาน
1.2 ไม้บรรทัด ที่ใช้งานตัดเย็บมี 3 ขนาด คือ ขนาดยาว 12 นิ้ว ขนาดยาว 18 นิ้ว และขนาดยาว 24 นิ้ว สำหรับไม้บรรทัดยาว 12 นิ้ว ใช้สำหรับขีดเส้นระยะสั้น เช่น เส้นไหล่ เส้นบ่า เป็นต้น ไม้บรรทัดยาว 18 นิ้ว และ 24 นิ้ว ใช้สำหรับ ขีดเส้นที่เป็นเส้นยาว ในการสร้างแบบตัดเพื่อความสะดวก ควรมีไม้บรรทัดอย่างน้อย 2 อัน คือ ขนาดยาว 12 นิ้ว และขนาดยาว 18 นิ้ว หรือ 24 นิ้ว ไม้บรรทัดที่เป็นพลาสติกใสจะสะดวกต่อการใช้ เพระเห็นรอยเส้นด้านล่างชัดเจน
การเก็บดูแลรักษาไม้บรรทัด ในการเก็บรักษาไม้บรรทัดควรเก็บโดยวิธีแขวนถ้าเป็นไม้บรรทัดพลาสติก ควรระวังไม่ให้เกิดรอยขูดขีด เพระจะทำให้ตัวเลขระยะวัดเลือนหายไม่สามารถอ่านระยะวัดได้
1.3 ไม้ฉาก มีทั้งชนิดที่ทำด้วยไม้และพลาสติกใส มีความยาวตั้งแต่ 6 เซนติเมตรขึ้นไป มีหน่วยวัดข้างหนี่งเป็นนิ้ว ข้างหนึ่งเป็นเซนติเมตรเช่นเดียวกับไม้บรรทัด ใช้สำหรับทำมุมที่ต้องการให้เป็นมุมฉาก หรือขีดเกรนผ้าบนแบบตัด
การเก็บรักษาไม้ฉาก ควรจัดเก็บในกล่องเครื่องมืออุปกรณ์การตัดเย็บให้เรียบร้อย
1.4 ไม้โค้งสำเร็จ ใช้ขีดเส้นโค้งต่างๆ ในการสร้างแบบตัด เช่นโค้งคอด้านหน้า โค้งคอด้านหลัง ฯลฯ โดยเฉพาะผู้ไม่ชำนาญในการวาดเส้นโค้ง ไม้โค้งมีหลายชนิด มีรูปลักษณะต่างๆ ควรเรียนรู้วิธีใช้ ให้ถูกต้อง จะช่วยให้การทำงานสะดวก และรวดเร็วขึ้น
1.5 ยางลบ ใช้ลบเส้นที่ต้องการแก้ไขขณะสร้างแบบตัด ยางลบที่ใช้ควรมีคุณภาพดี สามารถลบรอบได้สะอาด ไม่ควรใช้ยางลบที่หัวดินสอเพราะลบไม่สะอาด
การเก็บรักษายางลบ ควรเก็บไว้ด้วยกันกับดินสอ
1.6 ดินสอ ใช้สำหรับทำเครื่องหมายและขีดเส้นต่างๆ ที่ใช้ในการสร้างแบบควรเหลาดินสอให้แหลมเพื่อความคมชัดของเส้น ไม่ควรใช้ดินสอที่ไส้อ่อนจนเกินไป จะทำให้ทู่เร็ว ดินสอที่ไส้แข็งเกินไปทำให้กระดาษสร้างแบบขาดได้ง่ายและมองไม่ชัดเจน
การเก็บรักษาดินสอ ควรจัดเก็บใส่กล่องเครื่องมืออุปกรณ์การตัดเย็บให้เรียบร้อย
1.7 กระดาษสร้างแบบ ควรใช้กระดาษสีขาวหรือสีน้ำตาล ซึ่งมีขายตามร้านขายเครื่องเขียนและร้านขายอุปกรณ์การตัดเย็บ ราคาแผ่นละ 2-3 บาท มีขนาดกว้าง 79 เซนติเมตร ยาว 190 เซนติเมตร
การเก็บรักษากระดาษสร้างแบบ ในกรณีที่ซื้อกระดาษจำนวนมาก ควรเก็บดูแลรักษาดังนี้
- เก็บในที่อากาศถ่ายเทได้ดี ไม่เปียกชื้น
- วางกระดาษตามแนวนอน โดยทับซ้อนกัน
- อย่าให้กระดาษถูกแสงแดดส่อง เพราะจะทำให้กระดาษเหลืองกรอบ
2. อุปกรณ์เครื่องมือในการทำเครื่องหมาย
การทำเครื่องหมาย ควรทำได้ง่ายๆ และเที่ยงตรง เป็นการลอกรอยจากแบบตัด ไปติดที่ผ้า เครื่องใช้ในการทำเครื่องหมาย ประกอบด้วย
2.1 ลูกกลิ้ง ใช้ในขั้นตอนการสร้างแขนเสื้อ และใช้กดรอยเพื่อลอกเส้นในแบบที่เป็นเส้นเย็บผ้า มีลักษณะปลายแหลมคมสม่ำเสมอ ทำด้วยเหล็กไม่เป็นสนิม ส่วนที่เป็นด้ามทำด้วยไม้หรือพลาสติก รอยระหว่างลูกกลิ้งกับด้ามมีความแข็งแรงทนทาน ใช้กลิ้งทับเส้นแบบเพื่อให้เห็นรอยหรือใช้เพื่อกดรอยลงบนกระดาษหรือผ้าเพื่อทำเครื่องหมาย
การดูแลรักษาลูกกลิ้ง ควรเก็บในกล่องเครื่องมือสร้างแบบเสื้อ หรือกล่องอุปกรณ์การตัดเย็บ ควรดูแลรักษาไม่ให้ลูกกลิ้งเป็นสนิม โดยไม่ให้ลูกกลิ้งสัมผัสสิ่งเปียกชื้นลูกกลิ้งที่เป็นสนิมไม่ควรนำมาใช้
2.2 กระดาษกดรอย เป็นกระดาษเทียนไขมีหลายสี ควรเลือกใช้สีให้ใกล้เคียงกับผ้า กระดาษกดรอยใช้ คู่กับลูกกลิ้ง
การเก็บดูแลรักษากระดาษกดรอย เพื่อให้กระดาษกดรอยใช้งานได้ยาวนาน ควรปฏิบัติดังนี้
เมื่อต้องการเก็บกระดาษกดรอยให้ใช้กระดาษไขหรือกระดาษขาวปิดทับด้านสี
2.3 ชอล์กเขียนผ้า ใช้ในการทำเครื่องหมายบนผ้า ใช้ขีดทำแนวผ้า มีอยู่หลายสี ลักษณะเป็นแท่งสามเหลี่ยม เลือกใช้ให้เหมาะสมกับผ้าที่จะตัด ก่อนใช้ควรเหลาให้สันของชอล์กบางเพื่อความแม่นยำในการเขียนหรือทำเครื่องหมาย
การเก็บรักษาชอล็กเขียนผ้า ให้ปฏิบัติดังนี้
- เมื่อใช้งานควรระมัดระวังไม่ให้ตก เพราะจะทำให้แตกหรือหักได้
- ไม่เก็บชอล์กเขียนไว้ในที่ที่มีแดดส่อง เพราะจะทำให้แห้งกรอบเมื่อนำไปใช้งานจะขีดเส้นไม่ติดผ้า
- ก่อนเก็บชอล็กใช้นำมันจักรหรือโลชั่นลูบทั้งสองด้านเพื่อให้ชอล็กสีไม่แห้งแข็ง
3. อุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้ในการตัด
เครื่องมือเครื่องใช้ในการตัดที่สำคัญ และจำเป็นสำหรับช่างตัดเย็บเสื้อผ้า คือ กรรไกร
3.1 กรรไกรตัดกระดาษ ใช้สำหรับตัดกระดาษที่สร้างแบบตัดที่สร้างแบบราคาไม่แพง ทำด้วยเหล็กหรืออะลูมิเนียมมีด้ามเป็นพลาสติกสีต่างๆ เช่น สีส้ม สีแดง สีเขียว เป็นต้น ขนาดที่เหมาะแก่การใช้งานคือ 7-8นิ้ว
การเก็บรักษากรรไกรตัดกระดาษ ให้ปฏิบัติดังนี้
- ขณะใช้งานควรระมัดระวังกรรไกรตก จะทำให้ด้ามซึ่งเป็นพลาสติกแตกได้
- ควรจัดเก็บให้เป็นที่โดยเก็บในกล่องอุปกรณ์การตัดเย็บ
- ห้ามนำกรรไกรตัดกระดาษไปตัดลวด เพราะจะทำให้คมกรรไกรเสีย เนื่องจากกรรไกรตัดกระดาษ ทำด้วยเหล็กเนื้ออ่อนหรืออะลูมิเนียม
3.2 กรรไกรตัดผ้า ขนาดของกรรไกรตัดผ้าที่ใช้เหมาะมือคือกรรไกรยาว 7-8นิ้ว กรรไกรที่ดีควรทำด้วยเหล็กที่มีคุณภาพดี กรรไกรต้องมีความคมตั้งแต่โคนถึงปลายกรรไกร กรรไกรตัดผ้าที่ช่างนิยมใช้ทั่วไป มี 3 ชนิด คือ
3.2.1 กรรไกรด้ามโค้ง กรรไกรด้ามโค้ง เป็นกรรไกรที่ตัดได้เที่ยงตรงกว่ากรรไกรชนิดอื่นๆ เพราะใบกรรไกรขนานกับผ้าในขณะตัดผ้า ข้อควรระวัง ต้องให้กรรไกรมีคมเท่ากัน ตั้งแต่โคนจรดปลายพอที่จะตัดผ้าได้ริมเรียบ
3.2.2 กรรไกรด้ามตรง ใช้สำหรับตัดตะเข็บตกแต่งต่างๆ เช่น ที่ชายกระโปรงตรงแนวพับชาย ต้องวัดให้เท่าๆ กัน ตัดให้เรียบสม่ำเสมอ ใช้กรรไกรด้ามตรงตัดได้ง่ายกว่ากรรไกรแบบอื่น
3.2.3 กรรไกรซิกแซก ใช้สำหรับตัดริมผ้าให้สำเร็จ ใช้กับผ้าที่ไม่ลุ่ย หรือไม่ซักบ่อยๆ ตัดริม ตะเข็บที่เย็บกันลุ่ยไว้ครั้งหนึ่ง เพื่อไม่ให้ริมตะเข็บหนามาก บางชนิดออกแบบให้ใช้เฉพาะผ้าหนา หรือผ้าบาง มีข้อเสียคือ ลับยาก ไม่ควรใช้พร่ำเพื่อ
การเก็บรักษากรรไกรตัดผ้า ควรปฏิบัติดังนี้
- ขณะใช้งานควรวางเบาๆและระวังอย่าให้กรรไกรตกเพราะจะทำให้กรรไกรเสียศูนย์ตัดผ้าไม่ขาด .
- ไม่ควรตัดผ้าที่ซ้อนกันหลายๆชั้นเพราะจะทำให้กรรไกรเสียคม .
- ห้ามนำกรรไกรตัดผ้าไปตัดกระดาษหรือสิ่งอื่นๆที่ไม่ใช่ผ้า เพราะจะทำให้กรรไกรทื่อนำไปตัดผ้าไม่ขาด
- ควรเก็บกรรไกรในกล่องเครื่องมือตัดเย็บหรือเก็บในลิ้นชักจักร
- ก่อนเก็บกรรไกรควรเช็ดละอองผ้าที่จับอยู่ที่กรรไกรและเช็ดด้วยนำมันจักร เพื่อป้องกันการเป็นสนิม
4. เครื่องมือที่ใช้ในการกลัด
4.1 เข็มหมุด ควรเลือกชนิดที่ไม่เป็นสนิม ปลายแหลม ตัวเล็กแต่ยาว ควรเลือกหัวเล็กหรือหัวแบน เพื่อให้แนบกับผ้า เข็มหมุด ใช้งานได้ 3 ลักษณะใช้กลัดแบบตัดผ้าก่อนการตัด ใช้กลัดผ้าเพื่อเตรียมเนา และกลัดผ้าแทนการเนาเพื่อการเย็บผ้าหรือการสอย
การเก็บรักษาเข็มหมุด ควรเก็บใส่กล่องเข็มหมุดหรือปักไว้บนหมอนปักเข็ม
4.2 หมอนปักเข็ม ควรมีชนิดที่กลัดติดเสื้อผ้าของผู้ทำงาน หรือเป็นสายคาดติดข้อมือ ทำให้สะดวกในการปักเข็ม และถอดออกมาใช้ ผ้าที่ทำควรใช้ผ้ากำมะหยี่ หรือผ้าขนสัตว์ ส่วนไส้หมอนเข็มควรยัดด้วยขนสัตว์หรือผม จะทำให้เข็มไม่เป็นสนิม
หลักเกณฑ์ในการกลัดเข็มหมุดเพื่อการกลัดแบบตัดผ้าควรกลัดเข็มหมุดให้ห่างจากเส้นที่ต้องการกดรอยประมาณ 3-4 เซนติเมตรเพื่อไม่ให้เสียเวลาในการถอดเข็มหมุด
5. อุปกรณ์เครื่องมือในการรีดเพื่อตัดเย็บ
เครื่องมือเหล่านี้จะช่วยให้การรีดสะดวก ทำงานได้ถูกต้อง และรวดเร็ว เครื่องมือเครื่องใช้ที่จำเป็น ประกอบด้วย
5.1 เตารีด มี 2 ชนิด เตารีดธรรมดา และเตารีดไอน้ำ ใช้รีดผ้าต่อตัดและหลังจากเย็บตะเข็บเพื่อให้ตะเข็บเรียบและทำให้งานตัดเย็บดูสวยงามประณีตมากขึ้น เพื่อให้ได้เสื้อผ้าที่มีตะเข็บเรียบ ไม่ย่น หรือโป่ง มีน้ำหนักเบา สะดวกที่จะยกด้วยมือ ตั้งความร้อนให้สูง-ต่ำ ตามต้องการ
5.2 โต๊ะรองรีด เป็นโต๊ะที่เก็บพับได้มี 2 แบบ คือแบบนั่งและแบบยืนรีด ควรเป็นแบบแผ่นกระดานรองรีด มีขาตั้งอย่างมั่นคง ปูด้วยผ้าที่ดูดซับความชื้นได้ดี ชั้นบนปูด้วยผ้าทนความร้อน ปลายโต๊ะเล็กลงเพื่อสะดวกใน การรีด
5.3 หมอนรองรีด ใช้รีดส่วนประกอบของเสื้อหรือตะเข็บที่มีส่วนเว้าโค้ง หมอนรองรีดมีหลายแบบ หลายขนาด ควรเลือกให้เหมาะกับตะเข็บ ทำด้วยผ้าขนสัตว์สีอ่อนๆ ซ้อนหลายชั้น เพื่อให้ยืดหยุ่นได้
5.4 ไม้รองรีดแขนเสื้อ ใช้รีดตะเข็บแขนเสื้อและส่วนที่แคบ ๆ เช่น ปลายเกล็ด ตะเข็บโค้งพับริม ตะเข็บวงแขนเสื้อ เป็นต้น
5.5 เนื้อผ้าบางรองรีด ใช้ชุบน้ำหมาดๆ หรือผ้าแห้งก็ได้ ใช้ปูรองบนผ้าที่จะรีด ป้องกันไม่ให้ เตารีดสัมผัสโดยตรง
5.6 หมอนรองรีดบนฝ่ามือ เป็นหมอนขนาดเล็ก ใช้รีดบริเวณแขนที่รีดด้วยไม้รองรีดแล้ว แขนยังไม่เรียบ รีดตะเข็บไหล่ รีดส่วนโค้งตามสันแขนให้เรียบกลม
5.7 หมอนรองรีดขนาดยาว กลม ลักษณะเหมือนหมอนข้างเล็กๆ ใช้รองรีดตะเข็บยาวๆ ที่อยู่ในที่แคบๆ ตะเข็บของแขนเสื้อแขนยาว ตะเข็บกางเกงเด็กชนิดกางเกงขายาว
6. เครื่องมือเบ็ดเตล็ด
เครื่องมือเบ็ดเตล็ด มีไว้เพื่อช่วยให้การทำงานสะดวก ประหยัดเวลา ซึ่งประกอบด้วย
6.1 ลวดช่วยกลับตะเข็บ ใช้กลับตะเข็บไส้ไก่ที่เย็บจากผ้าเฉลียง ช่วยสอดเชือกหรือ
โบว์ ร้อยเชือก ผูกรูดที่ต่างๆ เช่น ขอบกางเกง เอวเสื้อ ฯลฯ
6.2 ลวดช่วยร้อยด้ายเข้ารูเข็ม เป็นลวดเส้นเล็กๆติดกับแผ่นโลหะ ใช้ช่วยร้อยด้ายเข้ารูเข็ม
6.3 ปลอกนิ้ว ช่วยในงานเย็บมือ ใช้สวมนิ้วกลางเพื่อรองนิ้วขณะเย็บด้วยมือ เพื่อป้องกันเข็มตำนิ้วมือ ช่วยทำงานได้รวดเร็วขึ้น ดันก้นเข็ม และผลักเข็มไปมา เพื่อแทงให้ตรงจุดที่ต้องการ ป้องกันเข็มแทงนิ้ว ปลอกนิ้วมี 2 ชนิด คือ ครอบปลายนิ้วกลาง และแบบเป็นแหวนสวมโคนนิ้วนาง
6.4 ที่เลาะผ้า ใช้สำหรับเลาะแนวตะเข็บต่างๆ ที่ต้องการแก้ไข เลาะด้ายเนา หรือเลาะเส้นเย็บที่
ไม่ต้องการ ที่เลาะผ้า มีด้ามจับเป็นไม้หรือเป็นพลาสติกตรงปลายที่เลาะทำด้วยโลหะเคลือบมีความคมไม่เป็นสนิม มีปลอกสวมเพื่อป้องกันอันตรายจากปลายแหลม ใช้เจาะรังดุมที่เย็บด้วยจักร
การเก็บรักษาที่เลาะผ้า ไม่ควรให้สัมผัสของเปียกชื้น เพราะจะทำให้เป็นสนิมควรจัดเก็บในกล่องอุปกรณ์การตัดเย็บ
6.5 ปากคีบ มีหลายแบบ ส่วนมากนิยมใช้แบบปลายแหลม ทำด้วยทองเหลือง หรือชุบด้วยนิเกิล
ใช้ช่วยจับจีบ กลับมุม ดึงด้ายเนา ดึงไส้ไก่ ทำรังดุมจีน ฯลฯ
6.6 เหล็กแหลม ใช้เจาะกระดาษแบบตัด เจาะที่ๆ ต้องการทำรูเล็กๆ เจาะนำในการเย็บผ้าหนาๆทำด้วยเหล็กชุบนิเกิลกันสนิม มีด้ามจับอย่างแข็งแรง ทำด้วยไม้หรือพลาสติก
6.7 เหล็กทุบ ใช้ทุบแนวตะเข็บหนาๆ หรือส่วนที่ต้องการให้แบนราบ ส่วนมากใช้ในงานตัดเย็บเสื้อเทเลอร์
6.8 เข็มปลายกลม เป็นเข็มเล่มใหญ่ปลายเป็นปุ่มมน (ไม่แหลม) ใช้ร้อยอีลาสติค ริบบิ้นในที่ต่างๆ
6.9 เทียนไข ใช้สำหรับถูผ้า และเส้นด้ายที่ต้องการเย็บผ่านตะเข็บหนาๆ ใช้รูดด้ายสำหรับสอย โดยเฉพาะด้ายฝ้าย เพื่อไม่ให้ด้ายขมวกเป็นปม
6.10 แป้งเปียก ใช้ทาริมผ้าเล็ก ๆ ที่ต้องการพับให้อยู่ตัว รีดแล้วเย็บทับ ใช้ทาผ้าแข็ง
ให้ติดผ้าที่ต้องการรองแข็งบางแห่ง ถ้าเป็น งานประณีตจะไม่นิยมใช้
6.11 เข็มเย็บด้วยมือ ใช้สำหรับ เนา สอย เย็บติดเครื่องเกาะเกี่ยว ถักรังดุม เย็บในส่วนที่จักรเย็บไม่ได้ เข็มมีอยู่ด้วยกันหลายขนาด ได้แก่ เข็มเบอร์ 7-8 ใช้เย็บผ้าหนาและถักรังดุม เข็มเบอร์ 9 ใช้เย็บผ้าหนาปานกลาง เข็มเบอร์10 เย็บผ้าบาง เข็มเบอร์11 ใช้เย็บผ้าเนื้อบาง เข็มสำหรับสอยจะใช้ตั้งแต่เบอร์ 9-11
การเก็บรักษาเข็มเย็บผ้าด้วยมือ เข็มเย็บผ้าด้วยมือหลังจากการใช้ ถ้าจัดเก็บไม่ถูกต้องจะทำให้เป็นสนิม เข็มที่เป็นสนิมไม่ควรนำมาใช้งาน เพราะจะทำให้สนิมติดผ้า ซักออกยาก เพื่อยืดอายุการใช้งานของเข็มที่เย็บด้วยมือควรปฏิบัติดังนี้
- ในกรณีที่เก็บนานหลังจากการใช้งานให้เช็ดด้วยน้ำมันจักร เก็บในห่อที่เป็นกระดาษตะกั่วหุ้มด้วยกระดาษสีดำ และควรแยกห่อกับเข็มที่ยังไม่ผ่านการใช้งาน
- ในกรณีที่ใช้งานบ่อยๆควรเก็บใส่กล่องเข็ม ก่อนการเก็บควรเช็ดเข็มให้แห้ง อย่าให้เปื้อนเหงื่อ หรือเช็ดด้วยน้ำมัน การปักเข็มไว้ที่หมอนเข็มหลักจากการใช้งานโดยไม่เช็ดเข็มจะทำให้เข็มเกิดสนิมได้ง่าย เนื่องจากทำด้วยเหล็กจึงทำปฏิกิริยากับสิ่งเปียกชื้นคือเหงื่อและอากาศ
6.12 ด้ายมี 2 ชนิด คือด้ายเย็บผ้าและด้ายเนา ด้ายที่ใช้เย็บผ้าจะมีความเหนียวและราคาแพงกว่าด้ายเนา ด้ายเย็บผ้าควรเลือกสีแก่กว่าสีผ้าเล็กน้อย เนื่องจากเสื้อผ้าเมื่อผ่านการซักรีดนานๆ สีของด้ายจะซีดเร็วกว่าสีของผ้า
6.12.1 ด้ายเย็บผ้า เป็นอุปกรณ์ตัดเย็บสำคัญที่ใช้ในการประกอบชิ้นส่วนของเสื้อผ้าให้ติดกัน มีหลายชนิด หลายสี หลายขนาดให้เลือกใช้ เมื่อจะใช้งานควรพิจารณาให้เหมาะสมกับสี ความหนาของผ้า และขนาดของเข็ม โดยด้ายที่นิยมใช้กับผ้าเกือบทุกชนิดคือ เบอร์ 60 หลังใช้งานควรเก็บใส่กล่องเครื่องมือให้เรียบร้อย
6.12.2 ด้ายเนา ใช้สำหรับเนาเพื่อการลองตัว ด้ายเนาจะมีความเปื่อยซึ่งง่ายต่อการเลาะออกเมื่อเย็บตะเข็บ
การเก็บรักษาด้าย ก่อนการเก็บหลอดด้าย ควรนำปลายด้ายเสียบตรงรอยบากหรือที่เก็บด้าย ถ้าหลอดด้ายแบบไม่มีรอยบากสำหรับเสียบปลายด้ายให้ใช้สก็อตเทปทับปลายด้ายเก็บรักษาด้ายในกล่องอุปกรณ์หรือห่อด้วยพลาสติก
ความคิดเห็น