คืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด
คุณแน่ใจว่าต้องการคืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด ?
ลำดับตอนที่ #15 : ๑๔ - ผ้าทอง ; แก้วเก้า - อาถรรพณ์ ความเชื่อ ความบังเอิญ และกฎแห่งกรรม -
~ ผ้ า ท อ ง ~
อาถรรพณ์ ความเชื่อ
ความบังเอิญ และกฎแห่งกรรม
นวนิยายโดย : แก้วเก้า
สำนักพิมพ์ : ทรีบีส์ (เพื่อนดี)
พิมพ์ครั้งที่
๘ : มกราคม ๒๕๕๘
ราคา : ๓๖๕ บาท
รายละเอียด
ถ้า อุมา
คือหญิงสาวที่เต็มไปด้วยความมีสง่า อ่อนหวาน
เธอก็คือความแข็งแกร่งดั่งหินผาดุจเดียวกัน
เป็นเทพธิดาที่บางคนคิดว่ามีปีศาจร้ายแฝงอยู่ในร่าง
ไม่ต่างอะไรจาก
‘ผ้าทอง’ ของเธอ
ซึ่งงดงามสูงค่า แต่เจือด้วยความโหดเหี้ยมต่ำช้า
ผ้าทองที่เธอสร้างมันขึ้นมา
คือพรสวรรค์หรือคำสาป ที่ยากจากกันไม่ออก
ทุกอย่างที่เกิดขึ้น ก้ำกึ่งกันอยู่
ระหว่างอาถรรพณ์ ความเชื่อ
และความบังเอิญ
ที่แม้แต่อุมาเอง...ก็ไม่อาจแน่ใจ
บันทึกหลังอ่าน
***รีวิวนี้เปิดเผยเนื้อหาสำคัญบางส่วนของเรื่อง***
เวลาใครถามอุ้มสมว่านักเขียนในดวงใจของอุ้มสมคือใคร “แก้วเก้า”
(และ ว.วินิจฉัยกุล)
จะเป็นนามปากกาแรกๆ
ที่อุ้มสมเอ่ยออกมาเสมอ
แต่พอเอาเข้าจริงแล้ว
ก็รู้สึกว่าเราอ่านงานของท่านน้อยมาก
โดยเฉพาะงานในยุคแรกๆ
หรือยุคกลางๆ แต่พออ่านเรื่อง “ผ้าทอง”
ที่ได้นำมารีวิวในวันนี้
ก็บอกกับตัวเองเลยว่า
เรื่องนี้จะเป็นงานของแก้วเก้าที่เราชอบมากเป็นอันดับต้นๆ เลยละ
“ผ้าทอง” เป็นนวนิยายที่ว่าด้วยชีวิตของ “อุมา”
ที่ตั้งแต่สาวจนกระทั่งวัยห้าสิบ
เธอล้วนผูกพันกับผ้าทองที่เธอเป็นผู้ปักทุกผืน
มันช่างน่าอาภัพที่ผ้าทองอันสวยสง่าและเปี่ยมไปด้วยพลังเช่นเดียวกับตัวตนของเธอ ไม่เคยถูกนำไปใช้ได้เลยสักครั้ง อีกทั้งยังนำมาซึ่งเรื่องไม่ดีมากมาย จนใครหลายคนเชื่อว่า มันคือ
“ผ้าอาถรรพณ์”
ชีวิตของอุมาประสบพบเจอเจอเรื่องราวมากมาย
ทั้งดีและร้าย ทว่ามาถึงปัจจุบัน
อุมาจะติดสินใจได้หรือยังว่าระหว่าง
“คนรัก” กับ “ผ้าทอง”
อะไรคือสิ่งที่เธอเลือก
เปิดเรื่องด้วยตัวละครที่ชื่อ “เข็มขาว”
ในฐานะเด็กสาวที่ “คุณผู้หญิง”
ของบ้านเรือนไทยที่ลำลูกกาเอ็นดูมาตั้งแต่เยาว์วัย
คุณผู้หญิงในวัยห้าสิบที่เพิ่งผ่าตัดมาหมาดๆ และเข็มขาวคือผู้ที่เข้ากับคุณผู้หญิงได้ดี เธอคือคนโปรดของคุณผู้หญิง และแน่นอนว่าเรื่องราวชีวิตของคุณผู้หญิงที่เกี่ยวพันกับผ้าทอง คือเรื่องที่เข็มขาวรับรู้จากปากคุณผู้หญิงเอง
สิ่งแรกที่ขอชื่นชมคือการเล่าเรื่อง “แก้วเก้า”
ทำได้ดีมาก สนุกจนวางไม่ลง การวางพล็อตเรื่องที่สมจริง ชวนติดตาม
อดใจรอไม่ไหวที่จะรู้ตอนจบไวๆ บทสรุปของผ้าทองและนางเอก เป็นเล่มหนาไม่เบา แต่เราก็ใช้เวลาอ่านไม่นาน เรื่องต่อมาคือการสร้างตัวละคร อุมา
คีรี คุณนายเจริญ ชุ้น
คุณเสนีย์ ประกายพรึก (ที่กล่าวมาคือตัวละครที่เราชอบและทึ่ง) ทั้งพระนางตลอดจนตัวละครแวดล้อม มีความสมจริง
และผู้เขียนทำให้เราเข้าใจถึงแก่นลึก
ก้นบึ้งในใจของตัวละคร
โดยเฉพาะนางเอกของเรื่อง ได้ด้วยสำนวนภาษาที่สละสลวยระคนคมคาย
ผู้อ่านจะได้ติดตามชีวิตของ “อุมา”
ตั้งแต่เป็นสาวน้อยผู้อ่อนต่อโลก
จนกลายเป็นสาวใหญ่ผู้ปกครองบ้านเรือน
และเข้าสู่ชีวิตครึ่งศตวรรษ
แต่ให้ความรู้สึกเสมือนผ่านอะไรมากมาย
จนเราอดที่จะเหน็ดเหนื่อยและอ่อนล้าไปกับเธอไม่ได้
เราชอบการสร้างตัวละครอุมามาก...และถ้าถามว่านิยามของอุมาเป็นอย่างไร ขอให้ผู้อ่านนึกถึง “พระแม่อุมาเทวี” ตามความหมายของชื่อเธอเลยครับ ผู้เป็นทั้งพระแม่ผู้เปี่ยมล้นความกรุณา และเจ้าแม่กาลีผู้โหดเหี้ยมและร้ายกาจอยู่ในคนคนเดียวกัน
เป็นเรื่องที่ยากมากที่นักเขียนจะสร้างตัวละครแบบนี้ได้ออกมาประทับใจผู้อ่าน และทำให้ผู้อ่านหลงรัก ชวนติดตามในเรื่องราวของเธอ เพราะอุมาไม่ใช่ตัวละครที่รักแรงเกลียดแรง แสดงอาการ
เผยอารมณ์รัก โลภ โกรธ
หลง ออกมาอย่างชัดเจน (ขอยกตัวอย่างถึง ปัทมา
ในขมิ้นกับปูน หรือ อลิน
ในสูตรเสน่หา) แต่ถามว่าเธอคือคนดีไหม ก็ไม่สามารถตอบได้อย่างเต็มปากเต็มคำว่าดี เธอคือตัวละครสีเทาเข้มไปทางดำเสียด้วยซ้ำ
และสำหรับเรา...อุมาคือตัวละครที่มีพลังเหลือเกิน
คุณผู้หญิงมาเข็มขาว (และผู้อ่าน)
ย้อนไปยังเมื่อครั้งที่เป็นสาวชาววัง
พ่อแม่นำมาฝากไว้กับ
เสด็จพระองค์หญิงด้วยหวังจะให้ลูกสาวมีเกียรติยศ ศักดิ์ศรี
และได้รับความรู้จากภายในวัง
และผ้าทองผืนแรกที่อุมาปัก
ก็เกิดขึ้นในวังแห่งนี้
ผืนแรก...ปักถวายท่านหญิงบุษบากร เพื่อรอรับเสด็จท่านชายพระคู่หมั้น ทว่าท่านชายก็สิ้นชีพิตักษัยเสียก่อน
ผืนที่สอง...ปักถวายเสด็จพระองค์หญิง
ที่เสด็จไปงานศพ ทว่าประสบอุบัติเหตุสิ้นพระชนม์ระหว่างทาง
ผืนสาม ผืนสี่
ผืนห้า...หากผ้าที่อุมาลงมือปักเป็นผ้าทองเมื่อใด
เมื่อนั้นย่อมนำมาซึ่งเหตุการณ์ที่เลวร้าย
หายนะที่ไม่มีใครอยากจดจำ
ผู้เขียนทำให้เราเชื่อได้ว่า ผ้าทองทุกผืนจากฝีมือของอุมานั้นงามยิ่ง อุมาคือ
“ศิลปิน”
ที่เปี่ยมไปด้วยพรสวรรค์ งามเสียจนบางทีมันอาจไม่เหมาะกับคนธรรมดา จนทำให้เรื่องราวร้ายๆ เกิดขึ้น
อุมาคงไม่ใช่ศิลปินที่มีความสุขนัก
ในเมื่อพรสวรรค์ของเธอนั้นมาพร้อมคำสาปจากนรก!
อุ้มสมของสารภาพตามตรงว่าอดหมั้นไส้อุมาในช่วงแรกไม่ได้ เธอค่อนข้างเป็นผู้หญิงที่ทะนงตน ถือตัวในเกียรติยศและศักดิ์ศรี (ก็เธอมีพร้อมพรั่งนี่นา) และในช่วงนั้น
อุมาก็ได้พบกับ “รักแรก” ของเธอ
เราชอบอารมณ์ของอุมาในตอนนั้นมาก
คือเธอมีความเป็นปุถุชนธรรมดาจริงๆ
เมื่อมีความรักย่อมไม่มีทางเก็บไว้ในใจได้คนเดียว
หากพบเจอชายหนุ่มผู้นั้นยังไงส่วนลึกในใจก็ต้องถูกเปิดเผยออกมาไม่มากก็น้อย ต่อให้อายและถือตัวแค่ไหน
แต่หากเป็นศิวนาถก็ย่อมดูออกแน่นอนว่าสาวเจ้าผู้นี้มีใจให้ (จะเรียกว่าแอบแรงแบบเบาๆ ก็ว่าได้
ฮ่าๆๆ)
จนกระทั่งอุมาไม่สมหวังในรักนี่ละครับ ที่ทำให้อุมาเป็นผู้ใหญ่มากขึ้น ใช้ชีวิตอย่างเข้าใจโลกมากขึ้น หลังจากที่เธอเคยไม่เข้าใจอะไรหลายอย่างมามาก
ทั้งการกระทำความคิดของบุพการี
เพราะทั้งพ่อแม่ของเธอ
ต่างประกอบอาชีพที่จะเรียกว่า “มิจฉาอาชีวะ” ก็ว่าได้
งานที่ร่ำรวยแต่ก็มาจากการเอารัดเอาเปรียบผู้อื่น งานที่มากด้วยอิทธิพลราวกับ “มาเฟีย” ในยุคปัจจุบัน
อุมากลายเป็นผู้หญิงที่เข็มแข็ง
เด็ดเดี่ยว กล้าได้กล้าเสีย
ความงามที่มากด้วยพลังของเธอทำให้เธอสามารถเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงของครอบครัวได้ สามารถปกครองคนงานลูกน้องได้
เราประทับใจความเป็นศิลปินของอุมา ไม่แปลกใจเลยว่าเหตุใดเข็มขาวรับรู้เรื่องราวคุณผู้หญิงของเธอจนจบ จะทำให้เธอเอื้อนเอ่ยว่า “เข็มรักคุณผู้หญิงค่ะ”
อีกตัวละครที่เป็นเสมือนคู่แข่ง เป็นมารชีวิตของอุมา ชนิดที่ว่าตามจอง้างจองผลาญอุมาไปทั้งเรื่องคือ
“มาลตี” เป็นตัวละครที่เห็นแก่ตัว ขี้อิจฉาชนิดที่หาข้อดีไม่ได้เลยครับ ถึงแม้จะรักลูกแต่ก็รักแบบผิดๆ (แอบเชียร์ให้อุมาปักผ้าทองให้เจ๊แกสักผืน) ส่วนพ่อแม่ของอุมา ก็เป็นตัวละครที่น่าสนใจ คือถึงแม้จะเป็นคนที่มีเล่ห์เหลี่ยม แต่คำสอนของบุคคลทั้งสองท่านที่สอนอุมา สามารถนำมาปรับใช้ได้จริงในสังคมปัจจุบัน
พระเอกของเรากว่าจะออกก็เกือบๆ จะสองร้อยหน้าแล้ว ซึ่งจนถึงตอนนั้น เรารู้จักอุมาค่อนข้างดีพอ จนทำให้รู้สึกว่า “คีรี”
นั้นแตกต่างจากผู้เป็นภรรยาอย่างสิ้นเชิง คีรีคือชายหนุ่มบ้านนอก ที่ทะเยอทะยาน
ใฝ่เรียนรู้จนมีหน้าที่การงานที่ดี
การเติบโตมาในสังคมผู้มีอิทธิพล
กลับทำให้เขาทั้งรังเกียจและขยะแขยงสิ่งเหล่านั้น
จนกลายเป็นเขาเสียเองที่ทำใจยอมรับเรื่องเหล่านั้นไม่ได้...ตรงกันข้ามกับอุมา
คีรีคือคนซื่อ ปากตรงกับใจ
คิดสิ่งใดก็พูดสิ่งนั้นออกมา จนบางคราดูเหมือนขวานผ่าซาก นั่นคือสิ่งที่ตรงข้ามและไม่ใช่สิ่งที่อุมาชอบ เขาไม่มีอะไรเหมือนกับรักแรกของเธอเลย จนอุมาก็ยังตอบคำถามตัวเองไม่ได้
ว่าที่แต่งงานกับคีรีเพราะรักเขาจริงหรือเปล่า แต่ความรักที่คีรีมีให้อุมาจะต้องจับใจผู้อ่านอย่างแน่นอน สำหรีบคีรีแล้ว อุมาคือเพชรน้ำงามประดับเรือนอย่างแท้จริง คีรีรู้สึกโชคดีที่ได้อุมาเป็นคู่ครอง เขาทั้งรักและไว้ใจอุมา ซึ่งนั่นนำมาซึ่งเหตุการณ์ที่เป็นโศกนาฏกรรมชีวิตคู่ของเขา
ตอนที่คีรีรู้ความจริงที่อุมาพยายามปิดบังเขามาตลอด เรานี่เจ็บไปกับเขาด้วยเลยครับ แต่ถ้ามองอย่างเป็นกลาง อุ้มสมก็คิดว่าสองคนนี้ต่างกันเกินไป ตอนแรกอดที่จะโมโหไม่ได้ที่จู่ๆ คีรีก็ไปมีกิ๊ก (ถ้าเป็นผู้หญิงคนอื่น จะไม่โมโหเท่านี้เลย!) แต่เราก็เข้าใจคีรี ด้วยความที่เขาเป็นผู้ชายแบบนี้แน่นอนว่าไม่มีทางตามทันมารยาร้อยเล่มเกวียนของผู้หญิงคนใดๆ โดยพาะผู้หญิงที่ทำทุกอย่างเพื่อหวังให้อุมาไม่มีความสุขในชีวิต
ที่พีคมากคือตอนที่อุมารู้ใจตัวเองว่าแท้จริงแล้วเธอก็รักคีรี ไม่ต่างจากที่คีรีรักเธอเลย เป็นอะไรที่สะเทือนใจมาก
เพราะคนอ่านเองก็สงสัยว่าอุมารักสามีของเธอไหม แต่กว่าจะรู้ตัวรู้ใจก็สายเกินไปแล้ว คีรีไม่สามารถยอมรับอุมาได้อีกแล้ว ถามว่าอุ้มสมสงสารใครมากกว่ากัน อุ้มสมขอบอกว่าแอบสงสารอุมามากกว่า เพราะผู้เขียนทำให้เราเข้าถึงอารมณ์อุมา เข้าใจและรู้ซึ้งในสิ่งที่เธอแบกรับ สิ่งที่เธอพยายามปิดบังมาตลอด มันช่างหนักหนา และเมื่อมันถูกเปิดเผยออกมา ก็ไม่ใช่แค่ทำร้ายคีรี แต่คนที่เจ็บกว่าก็คืออุมาเอง!
การขมวดปมในช่วงท้ายทำได้ดีมาก ลุ้นชนิดที่ว่าวางไม่ได้แล้วล่ะ!!!
และปัญหาของสามีภรรยาคู่นี้คงไม่สามารถยุติได้ลงหากไม่มี “แม่ชีเจริญ” (หรือ
คุณนายเจริญ ในอดีต) มารดาของอุมา
แม่ชีเจริญคือตัวละครสำคัญที่สรุปเนื้อหาของ “ผ้าทอง”
ได้อย่างชัดเจนแจ่มแจ้ง
คลายความกังขาในทุกๆ เรื่อง ทำให้ผู้อ่านได้รู้จักอุมาในมุมมองของคนอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คนอื่นที่ว่าคือแม่แท้ๆ ของอุมา
ผู้เข้าใจโลกใบนี้ในบั้นปลายชีวิต
และยังทำให้อุมาได้เข้าใจตนเองมากขึ้น
สิ่งที่ชอบมากคือแก่นเรื่องของนิยายเรื่องนี้ เรื่องราวทั้งหมดที่เกิดขึ้น “โศกนาฏกรรม”
ที่ใครพากันโทษว่าเกิดจากผ้าทอง จะว่าด้วยอาถรรพณ์ หรือ
ความเชื่อก็ตามแต่
หรือใครอาจจะคิดว่าเป็น
ความบังเอิญ แต่สุดท้ายแล้ว เรื่องราวที่ตัวละครทุกตัวในเรื่องเผชิญ ล้วนถูกลิขิตจากการกระทำของมนุษย์ จากกฎแห่งกรรม
แม้ไม่มีผ้าทอง ทุกอย่างก็ถูกดำเนินไปตามครรลองของมัน
ท้ายที่สุดแล้ว สิ่งที่มีอำนาจเหนือผ้าทอง
และไม่มีมนุษย์ผู้ใดจะอยู่เหนือสิ่งนี้ได้...นั่นคือ “กฎแห่งกรรม”
ก่อนจะจบรีวิวขอบ่นนิดนึง อุ้มสมไม่ชอบปกนี้เอาเสียเลย
มีความรู้สึกว่าอุมาในจินตนาการของผู้เขียน
และอุมาในจินตนาการของเราจะต้องสวยและมีพลังมากกว่านี้
ประทับใจตอนจบ จากที่คิดว่าประเด็นของอุมากับคีรี
และผ้าทอง จะพีคที่สุด ที่พีคกว่านั้นคือตอนจบปลายเปิด ที่ชวนให้ผู้อ่านได้ขบคิดต่อไป
และอุ้มสมมั่นใจว่าเมื่ออ่านจบผู้อ่านก็คงรู้คำตอบแล้ว...
ว่าสุดท้าย...อุมารักคีรี หรือผ้าทอง
มากกว่ากัน...
เป็นบทสรุปที่ประทับใจ
แนะนำอย่างยิ่งครับ
อุ้มสม
๒๘ กันยายน ๒๕๕๙
ความคิดเห็น