ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    ญี่ปุ่น (culture) ^O^

    ลำดับตอนที่ #7 : ซาโด (ชา)

    • อัปเดตล่าสุด 18 ต.ค. 49



     วิถีแห่งชา "ซาโด (sado)"


       กว่าจะมาเป็นชาสักถ้วยหนึ่งเพื่อต้อนรับแขก เจ้าบ้านจะพิถีพิถันในขั้นตอนการชง ความขึงขังและจริงจัง ใส่จิตวิญญาณของผู้ชงชาสร้างความขลังจนกลายเป็นพิธี คนญี่ปุ่นจะเรียกพิธีชงชาว่า "ซาโด" ซึ่งคำว่า "โด"แปลว่า วิถี และ "ซา" แปลว่า ชา สิ่งที่ทำให้พิธีชงชาเป็นเรื่องยากและต้องฝึกฝน คือ การควบคุมจิตใจให้เข้าถึงซึ่งต้องใช้เวลาและอาจต้องฝึกฝนตลอดชีวิต จุดมุ่งหมายสูงสุดของซาโด คือ การแสดงออกถึงความงามในการต้อนรับผู้มาเยือน ทุกความเคลื่อนไหวในกระบวนการชงชาต้องเป็นไปอย่างราบรื่น

       ก่อนหน้านี้การชงและดื่มชามักทำกันในงานเลี้ยงยามว่างของคนรวยเท่านั้น คนที่ทำให้พิธีชงชาเป็นพิธีที่ศักดิ์สิทธิ์ขึ้นมาและประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก คือ เซน โนะ ริคิว (Sen no Rikyuu) ซึ่งได้ตัดรูปแบบการเลี้ยงชาที่ฟุ่มเฟือยออก และนำความเรียบง่าย สมถะ จริงใจ อ่อนน้อมถ่อมตน และความเก่าแก่เข้ามาแทนที่ ริคิวยังได้นำแนวคิดความเท่าเทียมกันเข้ามาในพิธีชงชา จนมีคำกล่าวที่สำคัญและเป็นกฎเกณฑ์ในการสร้างห้องชงชา คือ "ทุกคนเท่าเทียมกันหมดในห้องชงชา" ผู้ที่เข้ามาทุกคนต้องก้มศีรษะทุกครั้ง เนื่องจากประตูมีขนาดเล็ก

       รูปแบบการจัดพิธีชงชา มักจัดในห้องพิธีชา (หรือประกอบพิธีกลางแจ้ง มีจัดเตรียมที่นั่งชั่วคราวไว้ เช่น ในสวน) เรียกการชงชาว่า "เทะมะเอะ (Temae)" ลำดับการชงชา คือ ผู้ชงจะใส่มัทฉะ (matcha : ชาสีเขียวป่น) ลงในถ้วยชาและตักน้ำร้อนหม้อต้มมาใส่ คนด้วยฉะเซน (chasen : ไม้คนชา) จนแตกฟอง วิธีดื่ม คือ ยกถ้วยชาขึ้นมาด้วยมือขวาและวางลงบนฝ่ามือข้างซ้าย หมุนถ้วยชาเข้าหาตัว หลังจากดื่มเสร็จแล้วใช้ปลายนิ้วเช็ดขอบถ้วยชา และใช้ไคชิ (kaishi : กระดาษรองขนม) เช็ดนิ้ว แต่องค์ประกอบที่สำคัญของพิธีชงชาไม่ใช้แค่การชงและการดื่มชา สิ่งสำคัญอยู่ที่การชื่นชมคุณค่าและความงามของสิ่งต่างๆ เช่น ถ้วยชาและเครื่องใช้ในพิธีชงชา ชื่นชมความงามของบรรยากาศรอบๆตัวและการสื่อประสานใจระหว่างเจ้าบ้านและแขกผู้มาเยือน

    เซน โน ริคิว ได้กำหนดกฎ 4 ข้อ และแนวปฎิบัติ 7 ประการ ที่พึงปฎิบัติในพิธีชงชาไว้

    กฎ 4 ข้อ ได้แก่ ความสงบของจิตใจ, ความเคารพ, ความงามแบบเรียบง่ายและบรรยากาศอันเงียบสงัดของห้องประกอบพิธีชา

    แนวปฏิบัติ 7 ข้อ เป็นสิ่งที่เจ้าภาพควรปฏิบัติในเวลารับรองแขก ได้แก่ เสิร์ฟชาเมื่อแขกปรารถนาจะดื่ม เตรียมถ่านให้พอเหมาะต้มน้ำเดือด รับรองแขกให้อบอุ่นในฤดูหนาวและเย็นสบายในฤดูร้อน จัดแต่งดอกไม้ตามธรรมชาติให้เหมือนกับขึ้นอยู่ในท้องทุ่ง เริ่มในเวลาเนิ่นๆ ตระเตรียมอุปกรณ์กันฝนแม้ในวันที่ฝนไม่ตก และเอาใจใส่ดูแลแขกอย่างทั่วถึงทุกคน

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×