คืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด
คุณแน่ใจว่าต้องการคืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด ?
ลำดับตอนที่ #2 : ประวัติศาสตร์ของประเทศ (2)
ยุคกลาง (ศตวรรษที่ 12- 16)
เป็นยุคที่ชนชั้นปกครอง ราชวงศ์และเชื้อพระวงศ์หมดอำนาจลง การปกครองตกไปอยู่กับชนชั้นนักรบซึ่งเป็นผู้สร้างระบบศักดินาต่อไป
สมัยคะมะคุระ
เมื่อ มินะโมโตะ โนะ โยะริโตะโมะ ตั้งบะคุฟุ (Bakufu : ที่ว่าราชการรัฐบาลโชกุน) ขึ้นที่คะมะคุระในปลายศตวรรษที่ 12 การปกครองประเทศโดยชนชั้นทหารได้เริ่มมาแต่นั้นเรื่อยมาจนถึงประมาณ 150 ปี โดยช่วงเวลานี้รัฐบาลทหารซึ่งมีศูนย์กลางอำนาจอยู่ทางฝั่งตะวันออกของญี่ปุ่น ได้ทำการต่อสู้กับฝ่ายอำนาจเก่า คือ ราชวงศ์จักรพรรดิและเชื้อพระวงศ์ อันกุมอำนาจอยู่บริเวณภาคตะวันตกอยู่เนือง ๆ และได้เริ่มวางรากฐานของระบบศักดินาในญี่ปุ่นขึ้นทีละเล็กทีละน้อย จนกะทั่งในครึ่งหลังของศตวรรษที่ 13 กองทัพมองโกลได้รุกรานสู่ญี่ปุ่นโดยเข้าโจมตีภาคเหนือของเกาะคิวชู กองทัพทหารได้ทำการต่อสู้ป้องกันอย่างเข้มแข็ง ประกอบกับภัยธรรมชาติเป็นส่วนช่วยเหลือ ญี่ปุ่นจึงรอดพ้นจากอันตรายมาได้ แต่นั่นก็เป็นจุดเริ่มต้นของการเสื่อมอำนาจในการควบคุมชนชั้นนักรบของรัฐบาลทหาร
ส่วนความเจริญทางด้านวัฒนธรรมนั้น วัฒนธรรมของชนชั้นนักรบได้ก่อกำเนิดขึ้นโดยมีวัฒนธรรมของชนชั้นปกครองเป็นรากฐาน แต่ยังคงเอกลักษณ์ของชนชั้นนักรบไว้ อันได้แก่ ความมีพลวัตร และการสะท้อน ความเป็นจริงอย่างเรียบง่าย ในด้านศาสนา พุทธศาสนาแบบคะมะคุระก็ได้กำเนิดขึ้นโดยพระเถระผู้มีชื่อเสียง อย่าง โฮเน็น (Hounen) ชินรัน (Shinran) และนิฉิเรน (Nichiren) เป็นต้น นักรบฝั่งที่ราบคันโตจะนับถือศาสนาเซนอันได้รับการถ่ายทอดจากจีนแผ่นดินซ้องในศตวรรษที่ 12 เป็นหลัก รูปแบบศิลปะใหม่ ๆ ก็เกิดขึ้นในยุคนี้ อย่างเช่น ปฏิมากรรมสมัยคะมะคุระตอนต้นนั้น จะมีลายเส้นที่หนักแน่นมีพลังเหมือนของจริง และแสดงออกถึงความเป็นมนุษย์ วรรณศิลป์ส่วนใหญ่จะเป็นสิ่งที่ชนชั้นนักรบนิยม เช่น "เฮเคะ โมะโนะงะตะริ (Heike Monogatari)" ซึ่งแต่งขึ้นเมื่อต้นศตวรรษที่ 13 เป็นผลงานที่ดีที่สุดในจำนวนนิยายเกี่ยวกับการสู้รบ และก็ยังมีหนังสือรวบรวมบทเรียงความเรื่อง "โฮโจขิ (Houjouki)" ซึ่งแต่งในศตวรรษที่ 13 และ "ทสึเระซุเระงุสะ (Tsurezuregusa)" ซึ่งแต่งในศตวรรษที่ 14
สมัยราชวงศ์เหนือใต้
แม้ว่าจักรพรรดิ โกะไดโกะ (Godaigo) จะเป็นผู้โค่นล้มรัฐบาลโชกุนคะมะคุระได้ก็ตามที แต่ก็ได้แตกหักกับแม่ทัพของตน คือ อะชิคะงะทะคะอุจิ (Ashikaga Takauji) ซึ่งเป็นต้นเหตุของการแยกราชบัลลังก์ออกเป็นราชวงศ์เหนือที่เกียวโต และราชวงศ์ใต้ ที่โยะชิโนะ (Yoshino) (ปัจจุบันอยู่ในจังหวัดนะระ) ซึ่งเป็นสาเหตุให้นักรบเชื้อพระวงศ์ที่ฝักใฝ่อยู่กับแต่ละฝ่ายรบพุ่งกันมาตลอด ก่อให้เกิดการอพยพย้ายถิ่นฐานของประชาชนเพื่อหนีภัยสงคราม จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้วัฒนธรรมท้องถิ่นอันแตกต่างกันระหว่างญี่ปุ่นตะวันออกและญี่ปุ่นตะวันตกหลอมรวมเข้ากันเป็นหนึ่งเดียว
สมัยมุโระมะฉิ
ครึ่งหลังของศตวรรษที่ 14 อะชิคะงะ โยะชิมิทสึ ได้ปราบปรามชนชั้นปกครองลงอย่างราบคาบ และตั้งรัฐบาลโชกุนขึ้นอีกครั้งที่เกียวโต ซึ่งรัฐบาลโชกุนนี้ได้ปกครองญี่ปุ่นต่อมาเป็นเวลานานถึงสองศตวรรษเศษอันเป็นช่วงเวลาที่วัฒนธรรมของชนชั้นนักรบก็ได้กลืนวัฒนธรรมของชนชั้นปกครองลงอย่างราบคาบเช่นเดียวกัน อย่างไรก็ตามรัฐบาลโชกุนของตระกูลอะชิคะงะ เกิดจากการรวมตัวของขุนศึกสำคัญ ๆ ตามหัวเมืองต่าง ๆ เข้าด้วยกัน จึงเป็นธรรมดาที่การรวบอำนาจให้รัฐบาลมีเสถียรภาพนั้นเป็นไปได้อย่างลำบาก ดังนั้นในครึ่งหลังศตวรรษที่ 15 เป็นต้นมา ขุนศึกตามหัวเมืองต่าง ๆ จึงเริ่มทำสงครามแย่งชิงอำนาจกัน จนทั้งประเทศญี่ปุ่นตกเข้าสู่ยุคสงคราม ภายในยุคนี้เป็นยุคที่ชนชั้นนักรบมีอำนาจเหนือเกษตรกรและมีกรรมสิทธิเหนือที่ดินจึงเป็นการปกครองระบบศักดินาโดยสมบูรณ์ ด้านเศรษฐกิจก็เจริญรุ่งเรืองมาก เนื่องจากทำการค้ากับจีนสมัยหมิง
ด้านวัฒนธรรม ลัทธิเซนเป็นส่วนเพิ่มเติมให้กับวัฒนธรรมของชนชั้นปกครองและชนชั้นนักรบ ซึ่งเห็นรูปแบบได้จากตำหนักทอง (Kinkaku) ในปลายศตวรรษที่ 14 อันเป็นตัวแทนของวัฒนธรรมคิตะยะมะ (Kitayama) และตำหนักเงิน (Ginkaku) ในปลายศตวรรษที่ 15 อันเป็นตัวแทนของวัฒนธรรมฮิงะชิยะมะ (Higashiyama) การละคร อย่างเช่น โน เคียวเง็น และการต่อเพลง ก็เริ่มแพร่หลายสู่ประชาชนภายนอก ศิลปะวัฒนธรรมดั้งเดิมของญี่ปุ่น อย่างเช่น พิธีชงชา การจัดดอกไม้ ก็เริ่มมีรากฐานมาจากยุคนี้ และในช่วงกลางศตวรรษที่ 16 พวกฝรั่ง เช่น ชาติโปรตุเกส และสเปนก็ได้นำอาวุธปืนยาวและศาสนาคริสต์เข้ามาเผยแพร่ที่ญี่ปุ่น
che
ery H
P+
++
++
+
ความคิดเห็น