คืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด
คุณแน่ใจว่าต้องการคืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด ?
ลำดับตอนที่ #2 : ประเภทของภาพลวงตา
เนื่องจากองค์ประกอบและปัจจัยที่ทำให้เกิดภาพลวงตานั้นมีมากมายหลายรูปแบบ การจะแบ่งประเภทของภาพลวงตาให้เป็นหมวดหมู่ที่ชัดเจนนั้นจึงไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็พอจะจำแนกประเภทคร่าวๆ ได้เป็น 3 กลุ่มใหญ่ๆ คือ
Ø Literal optical illusions
เกิดจากการนำเอาส่วนย่อยต่างๆ ของภาพมาประกอบกัน เมื่อมองภาพรวมแล้วจะเห็นเป็นภาพอีกลักษณะหนึ่งขึ้นมา
Ø Physiological illusions
เชื่อกันว่าภาพลวงตาลักษณะนี้เป็นภาพที่ส่งผลต่อการทำงานของดวงตาหรือสมองอันเนื่องมาจากองค์ประกอบของภาพกระตุ้นการทำงานของสายตาหรือสมองมากเกินไป หรืออาจเป็นเพราะการเกิดปฏิสัมพันธ์ระหว่างสิ่งเร้างต่างๆ อย่างเช่นความสว่าง สี ตำแหน่ง ตาราง ขนาด การเคลื่อนไหว ฯลฯ มีการตั้งสมมติฐานว่าสิ่งเร้าเหล่านี้ไปกระตุ้นการทำงานเบื้องต้นของระบบประสาทการมองเห็น โดยองค์ประกอบที่ซ้ำๆ กันจำนวนมากหรือการทำปฏิกิริยาระหว่างกันขององค์ประกอบนั้นได้รบกวนสมดุลทางกายภาพของการมองเห็นทำให้การรับรู้ภาพนั้นผิดปกติไปจากความเป็นจริง
Ø Cognitive illusions
เป็นภาพลวงตาที่เล่นกับการรับรู้ภาพของเราที่มีต่อธรรมชาติของสิ่งต่างๆ โดยทั่วไปแบ่งออกเป็น 4 ประเภท คือ
1. Ambiguous illusions คือภาพหรือสิ่งที่ถูกถ่ายทอดให้รับรู้ได้ตั้งแต่ 2 แง่มุมขึ้นไป มองเห็นสลับกันไปมาได้
2. Distorting illusions คือภาพที่ถูกบิดเบือนโดยสิ่งแวดล้อมต่างๆ เช่น ขนาด ความยาว ตำแหน่ง ความโค้ง เป็นต้น
3. Paradox illusions คือภาพที่ถูกทำให้ดูผิดปกติไปจากธรรมชาติซึ่งไม่มีทางเกิดขึ้นจริงได้
4. Fiction illusions คือการเห็นภาพทั้งๆ ที่ไม่มีสิ่งนั้นอยู่จริง พูดง่ายๆ คือการเห็นภาพหลอนซึ่งเป็นอาการทางจิตอย่างหนึ่งนั่นเอง
อย่างที่ได้กล่าวมาแล้วว่าการจะแบ่งประเภทของภาพลวงตาให้ชัดเจนนั้นเป็นเรื่องยาก งานภาพลวงตาบางชิ้นอาจคาบเกี่ยวอยู่ระหว่างประเภทใดประเภทหนึ่งเนื่องจากองค์ประกอบและปัจจัยที่นำมาใช้สร้างภาพลวงตามีอยู่หลากหลาย รวมไปถึงเทคนิคที่นำมาใช้ในการสร้างภาพลวงตานั้นๆ ด้วย ต่อไปนี้จะกล่าวถึงตัวอย่างทฤษฎีและหลักการต่างๆ ที่นำมาใช้อธิบายการเกิดภาพลวงตาบางชนิดหรือถูกค้นพบโดยบังเอิญแล้วนำมาประยุกต์ใช้กับการสร้างภาพลวงตา ซึ่งมีตัวอย่างดังนี้
- Phi phenomenon
เป็นภาพลวงตาที่ทำให้ภาพนิ่งหลายๆ ภาพที่เรียงต่อกันเป็นชุดกลายเป็นภาพเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องขึ้นมา หลักการคือ เมื่อนำเอาชุดภาพนิ่งดังที่กล่าวไว้มาเคลื่อนผ่านสายตาของเราอย่างรวดเร็ว จะทำให้เกิดภาพลวงตาขึ้นบริเวณช่องว่างระหว่างภาพแต่ละภาพที่มีลักษณะเหมือนการเคลื่อนไหว ทำให้ภาพแต่ละภาพเชื่อมโยงกันกลายเป็นภาพเคลื่อนไหวที่ดูลื่นไหลไม่มีสะดุด ภาพยนต์ที่ฉายอยู่ในโรงก็อธิบายได้ด้วยหลักการนี้
- Beta movement
เป็นภาพลวงตาที่แสดงการเคลื่อนไหวอีกรูปแบบหนึ่งโดยการเปลี่ยนภาพนิ่งภาพหนึ่งไปเป็นอีกภาพหนึ่งอย่างรวดเร็วจนทำให้สายตาไม่สามารถสังเกตเห็นการเปลี่ยนแปลงนั้นได้ทัน จึงก่อให้เกิดการลวงตาที่เหมือนกับว่าภาพนั้นกำลังเคลื่อนไหวอยู่ เป็นภาพลวงตาที่อาศัยหลักการที่ว่าระบบประสาทตาของคนเราสามารถแยกแยะการเปลี่ยนแปลงของแสงที่ตกกระทบเข้าสู่ดวงตาได้ด้วยระยะเวลาประมาณ 0.1 วินาทีขึ้นไป ถ้าเร็วกว่านั้นจะแยกแยะไม่ทัน
แม้ Beta movement จะเป็นการลวงตาที่ทำให้ภาพนิ่งเกิดการเคลื่อนไหวเช่นเดียวกับ Phi phenomenon แต่ก็มีความแตกต่างกันในวิธีการ กล่าวคือ Beta movement จะใช้การเปลี่ยนภาพโดยที่ตำแหน่งของภาพที่ถูกเปลี่ยนยังอยู่ที่ตำแหน่งเดิม แต่ Phi phenomenon นั้นจะใช้การเลื่อนภาพนิ่งมาแทนที่ภาพเดิม ทำให้แต่ละภาพต้องเคลื่อนที่ตลอดเวลาไม่ได้อยู่ในตำแหน่งเดิม
- Persistence of vision
Persistence of vision หรือภาพติดตา เป็นทฤษฎีที่เชื่อว่าสายตาของเรารับรู้การหายไปของภาพที่เห็นช้ากว่าความเป็นจริง กล่าวคือ เมื่อสิ่งที่เราเห็นได้หายไปแล้วแต่ภาพนั้นยังคงติดอยู่ในสายตาเราต่อไปอีกชั่วระยะเวลาหนึ่งซึ่งเป็นช่วงเวลาที่สั้นมาก และเมื่อนำภาพนิ่งที่เป็นชุดมาเรียงต่อกันแล้วเคลื่อนไหวผ่านสายตาเราอย่างรวดเร็ว เมื่อภาพนิ่งชิ้นแรกผ่านสายตาเราไปแล้ว แต่ภาพนั้นยังคงติดอยู่ในสายตาเราโดยไม่ทันจะหายไปภาพที่สองก็เข้ามาแทนที่ ทำให้เกิดความต่อเนื่อง ภาพที่เห็นจึงถูกลวงตาให้ดูเหมือนกำลังเคลื่อนไหวจริงๆ ทฤษฎีนี้ถูกนำมาใช้สอนอย่างแพร่หลายเพื่ออธิบายการเกิดภาพเคลื่อนไหวในภาพยนต์ แต่ก็มีคนที่ไม่เห็นด้วยกับทฤษฎีนี้เพราะมีบางจุดที่ไม่สอดคล้องกับหลักการมองเห็นภาพเคลื่อนไหว นั่นคือ ทฤษฎีนี้ไม่สามารถอธิบายได้ว่าช่องว่างระหว่างภาพหายไปไหน เพราะถ้าเป็นไปตามทฤษฎีนี้เราต้องมองเห็นช่องว่างระหว่างภาพด้วย ดังนั้นทฤษฎี Phi phenomenon จึงสามารถใช้อธิบายการเคลื่อนไหวของภาพลักษณะนี้ได้ดีกว่า
- Forced perspective
เป็นเทคนิคที่ใช้ในการสร้างภาพลวงตาอย่างหนึ่งโดยอาศัยการรับรู้เรื่องระยะทางกับขนาด กล่าวคือ ถ้าเรานำเอาของสองชิ้นที่มีขนาดเท่ากันมาวางให้ห่างจากตัวเราในระยะที่ต่างกัน สมองของเราจะรับรู้ว่าชิ้นที่อยู่ใกล้ตัวเราขนาดจะดูใหญ่กว่าชิ้นที่อยู่ไกลออกไป แต่เมื่อเราไม่เห็นความต่างของระยะทางในแนวลึก การรับรู้ภาพของเราจะถูกลวงว่าของทั้งสองชิ้นอยู่ห่างจากเราเป็นระยะทางเท่ากันและสมองพิจารณาเฉพาะเรื่องของขนาดเท่านั้น เมื่อนำมาเปรียบเทียบกันจึงเห็นว่าของทั้งสองชิ้นมีขนาดต่างกัน
- Afterimage
เป็นภาพที่ยังค้างอยู่ในสายตาของเราภายหลังจากที่เราเลิกจ้องมองภาพที่ใช้เป็นตัวกระตุ้นในช่วงระยะเวลาหนึ่ง ตัวอย่างภาพ Afterimage ที่มักจะพบเห็นอยู่บ่อยๆ คือ ภาพแสงสว่างเรืองๆ ที่ดูเหมือนลอยอยู่ตรงหน้าซึ่งเกิดขึ้นหลังจากที่เราจ้องมองแหล่งกำเนิดแสงชั่วขณะหนึ่ง
- Hollow-Face illusion
เป็นภาพลวงตาที่สมองตีความภาพที่เห็นจากวัตถุที่มีความเว้าให้กลายเป็นภาพของวัตถุนูนแทน และเมื่อเราย้ายตำแหน่งการมอง ภาพที่เห็นก็ดูเหมือนจะเคลื่อนไหวไปตามมุมมองที่เปลี่ยนไปของเราด้วย ซึ่งแตกต่างจากการมองวัตถุนูนตามปกติที่ภาพนั้นจะดูนิ่งไม่มีความเคลื่อนไหวเมื่อมีการเปลี่ยนตำแหน่งการมองของเรา
- Color constancy
Color constancy คือระบบการรับรู้สีที่ทำให้สมองของเรารับรู้ว่าสีของวัตถุยังคงเป็นสีเดียวกันแม้ว่าจะอยู่ในสภาวะที่ระดับความสว่างของแสงที่ตกกระทบบนวัตถุนั้นไม่เท่ากัน ดังตัวอย่างในภาพจะเห็นว่าบริเวณ A มีสีที่อ่อนกว่าบริเวณ B เนื่องจากบริเวณทั้งสองนั้นรับแสงที่มาตกกระทบได้ไม่เท่ากัน แต่สมองเราจะรับรู้ว่าทั้งสองบริเวณนั้นเป็นสีเดียวกัน (ซึ่งตามความเป็นจริงแล้วก็เป็นสีเดียวกันจริงๆ) โดยสมองจะไม่พิจารณาเฉดสีที่แตกต่างกันอันเนื่องมาจากการตกกระทบของแสง และการที่สมองสามารถตีความได้ว่าวัตถุที่เห็นนั้นคืออะไร ก็มีส่วนช่วยในการรับรู้เรื่องสีนี้ด้วย ทำให้รู้ว่าบริเวณสีที่มีเฉดต่างกันนั้นเป็นสีของวัสดุเดียวกัน
- Troxler’s fading
เป็นปรากฏการณ์การรับรูปภาพอีกแบบหนึ่ง เกิดขึ้นเมื่อเราเพ่งมองที่ตำแหน่งหรือจุดจุดหนึ่งเป็นระยะเวลาประมาณ 20 วินาทีขึ้นไป ภาพโดยรอบที่อยู่ห่างจากจุดที่เราเพ่งจะค่อยๆ เลือนหายไป หรืออาจพูดได้ว่าถูกแทนที่ด้วยสีของพื้นหลัง ปรากฏการณ์นี้จะเห็นผลชัดเจนยิ่งขึ้นเมื่อภาพที่ใช้อยู่ห่างจากจุดที่เพ่งมากจนใกล้กับขอบที่สิ้นสุดการมองเห็นของสายตา ต้องเป็นภาพที่มีขนาดเล็ก สีไม่ตัดกับพื้นมากเกินไป หรือมีลักษณะเบลอๆ ฟุ้งๆ ไม่ชัดเจน ปรากฏการณ์นี้ค้นพบโดย Ignaz Paul Vital Troxler ในปี 1804
- ภาพลวงตาปอนโซ (Ponzo illusion) เป็นภาพลวงตาชนิดหนึ่ง คิดค้นโดย มาริโอ ปอนโซ นักจิตวิทยาชาวอิตาลี ในปี พ.ศ. 2456 เป็นภาพเส้นตรงสองเส้นที่มีความยาวเท่ากัน แต่อยู่บนฉากหลังที่เป็นเส้นตรงที่มีความยาวต่างกัน เนื่องจากสมองของคนเราเปรียบเทียบขนาดของวัตถุจากพื้นหลัง ภาพลวงตานี้จึงให้ความรู้สึกว่าเส้นตรงทั้งสองเส้นยาวไม่เท่ากัน
- ลูกบาศก์เนกเกอร์ (Necker cube) เป็นภาพลวงตาชนิดหนึ่ง คิดค้นโดย ลุยส์ อัลเบิร์ต เนกเกอร์ นักผลิกศาสตร์ชาวสวิตเซอร์แลนด์ ใน พ.ศ. 2375 เป็นภาพโครงสร้างของลูกบาศก์ ภาพนี้สามารถมองให้ด้านหน้าของลูกบาศก์เป็นด้านหน้าหรือด้านหลังของภาพก็ได้
- ภาพลวงตาผนังร้านกาแฟ (Café wall illusion) เป็นภาพลวงตาชนิดหนึ่ง คิดค้นโดย ริชาร์ด เกรกอรี เป็นภาพของตารางสี่เหลี่ยมจัตุรัสที่เส้นของในแนวนอนทุกเส้นขนานกัน แต่จากสีในภาพ ทำให้ดูเหมือนเส้นตรงแต่ละเส้นเอนไปมา
ความคิดเห็น