ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    หนัง-ของ-ฉัน

    ลำดับตอนที่ #3 : เด็กหอ

    • อัปเดตล่าสุด 5 มี.ค. 49


    คำเตือน : สำหรับคนที่ยังไม่ได้ชม    ห้ามอ่านบทความนี้เด็ดขาด   เดี๋ยวจะหาว่าไม่รักกันจริง

    ผมว่าจุดเด่นอย่างหนึ่งของผู้กำกับกลุ่มแฟนฉันมีร่วมกัน คือ

    การให้สำคัญของมิตรภาพ    และ    การมองอดีตด้วยความสุขและความงดงาม

    ไม่ว่าจะเป็นแฟนฉัน.....เพื่อนสนิท....เรื่อยมาจนถึงเด็กหอ

    ล้วนแต่เป็นหนังที่อบอุ่นไปด้วยคำว่าเพื่อน......

    คำพูดและเหตุการณ์ในหนังทั้งสามเรื่องเต็มไปด้วยมิตรภาพ   ความสนุกสนาน

    เป็นมิตรภาพที่เป็นธรรมชาติ  และดูจริงใจ

    นี่เป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้ผมติดใจการทำงานของผู้กำกับกลุ่มนี้เรื่อยมา

    และนี่ คือ สิ่งแรกที่อยากจะพูดถึงจากการได้ดูเด็กหอ

                   

                    หนังใช้คำโปรยไว้ว่า เพื่อนตายหาง่ายกว่าที่คิด    แค่คำพูดนี้ก็ โดนใจผมแล้ว และเหมือนจะบอกเป็นนัย ๆ ด้วยว่าชาตรีมันจะต้องเป็นเพื่อนกับผีแน่ ๆ        และก็ เป็นเช่นนั้นจริง ๆ   คนที่ดูแล้วจะทราบว่า   เพื่อนตายคนนั้น คือ วิเชียร   ช่ำชอง นั่นเอง

                    ผมว่ามีเด็กไม่กี่คนหรอกที่อยากจะออกจากบ้านไปอยู่โรงเรียนประจำ     เป็นเรื่องจิตวิทยาสามัญธรรมดาของการพลัดพราก     เมื่อไรก็ ตามที่เราจะจากสถานที่หนึ่ง    ไปอยู่อีกสถานที่หนึ่ง      ยกตัวอย่างเรื่องใกล้ตัวเช่น    ตอนจบ ป. 6 ขึ้นม. 1 (ซึ่งก็ เป็นเหตุการณ์เช่นเดียวกับในเรื่อง)    หรือ  ตอนม. ปลายขึ้นมหาลัย    ผมจำได้ว่ามันรู้สึกโหวงเหวงชอบกล      รู้อยู่ว่าเพื่อนไม่ได้หายไปไหน   ยังติดต่อกันได้    แต่มันก็ รู้สึกว่าบางอย่างหายไป    และหลายอย่างจะไม่เหมือนเดิม     กิจกรรมที่พวกเราอาจจะไม่ได้ทำร่วมกันอีก   แค่เรื่องนี้ ก็ เหงาพอแล้วสำหรับเด็กคนนึงที่ต้องย้ายโรงเรียน

                    แต่สำหรับชาตรี    ไม่ได้มีเพียงแค่นั้น

                    เนื่องจากชาตรีได้เห็นภาพที่ไม่เหมาะสมระหว่างพ่อกับสาวใช้ และการที่เขาถูกส่งไปยังโรงเรียนประจำอย่างกะทันหันในช่วงกลางเทอม    ทำให้ชาตรีเกิดความแคลงใจระหว่างเขากับพ่อ....ปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างชาตรีกับพ่อจึงได้พ่วงท้ายรถที่พาเขาไปยังโรงเรียนประจำด้วย

                    มาถึงวันแรก....ชาตรีก็ ถูกเด็กเจ้าถิ่นเขม่น    จากนั้นตอนกลางคืนถูกชวนมาฟังเรื่องผี    ไม่รู้ว่ามีเรื่องจริงไม่จริงกี่เรื่อง     และ ชาตรีเจอดีแต่คืนแรกเมื่อตอนที่เขาปวดฉี่แล้วไปเข้าห้องน้ำตอนกลางคืน      ตอนเช้าชาตรีฉี่รดที่นอน.......ถูกเพื่อนล้อ        ผ้าที่ชาตรีตากไว้ (ซึ่งไปทับที่ชาวบ้าน) ก็ หล่นไปกองกับพื้น      บางวันชาตรีต้องตื่นขึ้นมาคนเดียวโดยที่เพื่อน ๆ ในหอแต่งตัวไปเรียนกันหมดแล้ว      สิ่งต่าง ๆ ดูไม่ต้อนรับเขาเลย    มีแต่เด็กชายคนหนึ่งที่ชื่อ วิเชียร  ช่ำชอง   ที่เข้ามาคอยให้คำแนะนำต่าง ๆ ในการใช้ชีวิตเด็กหอ       เข้ามาคุยและเป็นเพื่อนกับชาตรี      ความสัมพันธ์ระหว่างชาตรี กับ วิเชียร เป็นไปด้วยดีจนกระทั่งต่อมาหนังได้เฉลยในช่วงที่เด็กทั้งสองไปดูหนังกลางแปลงว่า เพื่อนตายหาง่ายกว่าที่คิดจริง ๆ

                    หลังจากที่ชาตรีรู้แล้วว่าวิเชียรเป็นอะไร    เขาก็ กลัวแล้วหนีไปอยู่กับเพื่อนคนอื่น (ซึ่งก็ คือ ก๊วนเล่าเรื่องผีในตอนแรก)

     

    ถึงตอนนี้สำหรับผมดูแล้วรู้สึกเกิดคำถามขึ้นมาคำถามหนึ่งว่า....

    สิ่งสำคัญที่ทำให้คนเราเป็นเพื่อนกัน คือ อะไร

     

                    ตอนนี้ทำให้ผมย้อนนึกไปถึงเพื่อนสนิท 2 คนของผม  สมมติชื่อ A และ B      A เป็นคนดีและมีน้ำใจมากมาย    แต่แล้ววันหนึ่ง....A กลับได้เผยความรู้สึกว่าเขาชอบผู้ชายด้วยกันซึ่งผู้ชายที่เขาชอบนั้น คือ B เพื่อนสนิทอีกคนนึงของผมนั่นเอง      ปัญหาคงจะไม่เกิดหาก A ไม่ไปบอก B      และถึงปัญหาที่แม้จะเกิดแล้ว ก็ คงไม่รุนแรงขนาดนี้หากสิ่งที่ A ขอ B นั้นไม่ใช่การขอมีอะไรด้วย

                    หลังจาก A พูดกับ B ไป     B โทรฯ มาคุยกับผม   B บอกว่าเสียใจและโกรธมาก    เขาบอกว่า เพื่อนกัน...พูดอย่างนี้ได้อย่างไร  แล้วก็ ร้องห่มร้องไห้     A ก็ โทรฯ มาคุยกับผมว่า เขาไม่ได้ตั้งใจ   ผิดพลาดไปแล้วอยากแก้ตัว         ผมในฐานะคนกลางได้แต่พยายามบอกทั้งสองฝ่ายให้ใจเย็น ๆ ก่อน      อย่าเพิ่งพูดคุย หรือ ตัดสินใจอะไรในช่วงที่น้ำกำลังเชี่ยว     แต่ก็ ไม่สำเร็จ   เพราะ A เพียรพยายามจะติดต่อกับ B     ส่วน B ก็ เพียรพยายามวางโทรศัพท์ และปิดการติดต่อกับ A ทุกครั้ง     มิตรภาพระหว่าง A กับ B ดูเหมือนจะแตกหัก       เรื่องก็ คงจบลงเท่านั้น      แต่ทว่า B มิได้พูดเรื่องนี้กับผมคนเดียว       เรื่องราวทั้งหมดแพร่กระจายไปทั่วห้อง       คนบางกลุ่มในห้องที่ไม่ค่อยชอบ A เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว   ก็ เม้าท์เรื่องนี้กันอย่างสนุกสนาน      สิ่งที่ผมเห็น คือ ต่อหน้าพูดจาดี     แต่ลับหลังกลับไปค่อนขอด   นินทาว่าร้าย   และพูดเป็นเรื่องสนุก

                    ผมเองในฐานะเพื่อนสนิทของทั้ง A และ B      ผมรู้มานานแล้วละว่า A มีรสนิยมเป็นเช่นไร      A ไม่เคยพูดออกมา    แต่จากหลาย ๆ ลักษณะมันก็ บ่งบอกชัด     ซึ่งผมเชื่อว่าคนอื่น ๆ ในห้องก็ ต้องรู้เช่นเดียวกัน       และผมเองก็ สังเกตเห็นด้วยว่า A ค่อนข้างชอบ B      ผมจึงไม่ค่อยแปลกใจนักกับเรื่องที่เกิดขึ้น      แต่สิ่งที่ทำให้ผมแปลกใจคือ  พฤติกรรมของ B และคนอื่น ๆ ในห้อง

                    เล่ามานาน    แต่ประเด็นที่อยากจะพูดถึงจากเรื่องเล่านี้ คือ การที่ A เสมือนถูกตัดขาดจากการเป็นเพื่อนกับ B และคนอื่น ๆ ภายในห้อง     แม้ไม่แสดงออกอย่างชัดเจน      แต่ว่า A รับรู้ได้จากความห่างเหินที่เกิดขึ้น       คำถามคือ  สิ่งสำคัญที่ทำให้คนเราเป็นเพื่อนกัน คือ อะไร       ความผิดพลาด 1 อย่าง ลบล้างความดี 100 อย่างได้เลยหรือ     มิตรภาพถูกผูกไว้กับความผิดพลาด 1 อย่างเท่านั้นหรือ

                    ในที่สุด A โทรฯ มาบอกผม    พูดทั้งน้ำตาว่าเขาจะฆ่าตัวตาย

                    ผมตกใจ    ผมจำรายละเอียดอื่น ๆ ในเรื่องที่คุยไม่ได้       แต่สิ่งหนึ่งที่ผมจำได้ว่าได้บอกกับ A ไป คือ ไม่ว่านายจะชอบผู้ชาย หรือ ไม่ก็ ตาม      นายยังเป็นเพื่อนเราอยู่นะ     ยังมีคนที่ห่วงนายอยู่นะ    นึกถึงพ่อ   แม่   พี่ ซิว่าเขาจะเสียใจแค่ไหนกับการกระทำด้วยอารมณ์ชั่ววูบของนาย

                    แล้วก็ วางหูกันไป

                    หลังจากนั้น A โทรฯ มาขอบคุณ     เขาบอกว่าวันนั้นเกือบจะเอาคัตเตอร์กรีดข้อมือตัวเองอยู่แล้ว     เขาบอกว่าโชคดีที่โทรฯ มาหาผม

                    ทุกวันนี้ผมกับ A ยังคบเป็นเพื่อนกันอยู่      ผมกับ B ก็ ยังเป็นเพื่อนกันอยู่     ส่วน A กับ B ไม่ต้องพูดถึง.....ความสัมพันธ์ขาดสะบั้นตั้งแต่วันที่ A เปิดเผยความในใจกับ B ไปแล้ว         นอกจากนี้ความสัมพันธ์ระหว่าง A กับเพื่อนคนอื่น ๆ ในห้อง ก็ ดูเหมือนจะถูกตัดขาดไปด้วย

                    ขอออกตัวก่อนว่า....ไม่ได้ยกตัวว่าเป็นคนดี      แต่อยากแสดงความเห็นของผมในเรื่องมิตรภาพเท่านั้น     เพราะนอกจากผมแล้วก็ ยังมีเพื่อนในห้องบางส่วน (ซึ่งเป็นส่วนน้อย) ยังคงยอมรับ A และเป็นเพื่อนกับ A ด้วยความจริงใจอยู่

                    และก็ ไม่ได้กล่าวหาว่า B และคนอื่น ๆ ในห้องผิด      เพราะแต่ละคนย่อมมีขีดจำกัดและเหตุผลของตัวเอง     สำหรับผม    ผมยอมรับได้    แต่สำหรับ B และอีกหลายคนอาจยอมรับไม่ได้      เป็นความแตกต่างระหว่างบุคคล

                    ย้อนกลับมาที่เด็กหอ    ดูเหมือนว่าความสัมพันธ์ระหว่างชาตรี กับ วิเชียร จะถูกทดสอบด้วยคำถามที่ว่า มิตรภาพระหว่างคนสองคนเกิดจากอะไร      มิตรภาพถูกผูกไว้กับคำว่าคนเป็น และคนตายหรือไม่      นี่ไม่ใช่เป็นประเด็นหลักที่หนังต้องการจะสื่อ     แต่หนังเรื่องนี้ทำให้ผมนึกถึงและนึกไปไกลถึงเรื่องที่ผมเล่ามา

                    ช่วงถัดมาชาตรีได้ตัดสินใจกลับมาคบกลับกับวิเชียรอีกครั้ง    มิตรภาพระหว่างคนทั้งสองก็ พัฒนาขึ้นเรื่อย ๆ     จนกระทั่งในช่วงสุดท้ายของหนังได้ทำให้เห็นว่าคำว่าเพื่อนจะพาคุณไปไกลได้แค่ไหน      ชาตรียอมเสี่ยงชีวิตเป็นวิญญาณเพื่อช่วยให้วิเชียรหลุดพ้นจากบ่วงกรรม

     

     

     

    ชาตรีบอกว่าสิ่งที่เขากับวิเชียรเหมือนกัน คือ ไม่มีตัวตนในสายตาของคนอื่น

    ช่วงถัดมาของหนังช่วงหนึ่ง......วิเชียรได้ย้อนถามชาตรีว่า  แล้วนายเคยเห็นคนอื่นอยู่ในสายตาบ้างไหม

     

    ในเรื่องผมเห็นว่ามีตัวละครสี่ตัวที่ดูเหมือนจะติดอยู่กับอะไรบางอย่าง

    คนแรก คือ ตัวชาตรีเองที่ติดอยู่กับความโกรธพ่อของตัวเองที่ไปมีอะไรกับสาวใช้ในบ้าน

    คนที่สอง คือ พ่อของชาตรีที่ได้รับผลกระทบตามมา      กับการที่ลูกไม่ยอมให้อภัยในความผิดพลาดของตัวเอง

    คนที่สาม คือ ครูปราณีที่ติดอยู่กับความรู้สึกผิดของความเชื่อที่ว่าตนเป็นต้นเหตุให้วิเชียรต้องฆ่าตัวตาย

    คนที่สี่ คือ วิเชียรที่ต้องโดดน้ำฆ่าตัวตายซ้ำ ๆ ทุกตอน 18.00 น.

    ตัวละครทั้งสี่ต้องการการใส่ใจ   ต้องการการดูแล    และต้องการให้ใครบางคนมาเข้าใจ

                    พ่อของชาตรี กับ ชาตรี     จะเห็นว่าฝ่ายพ่อพยายามหาทางออกโดยการโทรฯ มาหาชาตรี      แต่ปัญหา คือ ชาตรีไม่ยอมรับโทรศัพท์     คนที่พูดมีเพียงฝ่ายเดียวจึงไม่เกิดการสื่อสาร    ปัญหาความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นจึงไม่ได้รับการแก้ไข

                    ครูปราณีวนเวียนอยู่กับความรู้สึกผิด    นั่งเฝ้ามองลิ้นชักดึงเข้าออก    ฟังเครื่องเล่นแผ่นเสียงชำรุดที่เล่นแต่เนื้อซ้ำซากวนไปวนมา    ขณะที่วิเชียรต้องออกไปฆ่าตัวตายทุกครั้งตอน 18.00 น.

     

                    อีกประเด็นหนึ่งที่ผมได้จากการดูหนังเรื่องนี้ คือ เรื่องของการให้อภัย    โดยข้อแรก คือ เราต้องรู้จักให้อภัยผู้อื่น    บุคคลที่ผมว่า คือ ชาตรีที่ต้องให้อภัยพ่อตัวเอง          ส่วนอีกข้อหนึ่งคือ เราต้องรู้จักให้อภัยตัวเอง   บุคคลนั้น คือ ครูปราณี     แม้ในเรื่องครูปราณีจะได้รับรู้ทีหลังว่าตนไม่ได้เป็นต้นเหตุ      และวิเชียรไม่ได้ฆ่าตัวตายก็ ตาม    แต่ในชีวิตจริงจะมีซักกี่คนที่โชคดีได้รับรู้สิ่งเหล่านี้     ดังนั้นผมเชื่อว่าคนเราต้องรู้จักให้อภัย....ทั้งต่อตนเองและบุคคลอื่น      บางครั้งหากมองว่าเราไม่ได้อยู่ในสายตาของคนอื่นเพียงมุมเดียว    ก็ คงจะมองเห็นแต่ว่าเราเป็นผู้ถูกกระทำฝ่ายเดียว      แต่หากลองมองคนอื่นให้อยู่ในสายตาแล้ว...บางทีเราก็ อาจเป็นผู้กระทำต่อคนอื่นเช่นกัน    และบางทีการให้อภัยอาจจะง่ายขึ้นหากเรารู้จักมองอีกแง่มุม    เพราะการจะหลุดพ้นจากบ่วงกรรมทั้งหลายต้องใช้กรรไกรที่ชื่อว่า การให้อภัย เป็นตัวตัดเท่านั้น

                    และแล้วแผ่นเสียงก็ ต้องเล่นเพลงต่อไปจนจบ      ชีวิตคนเราก็ ต้องดำเนินต่อไปเช่นกัน

                    ผมเห็นความแตกต่างในฉากบนรถระหว่างขาไป กับ ขากลับ

                    ขาไปเต็มไปด้วยความลึกลับ..........แต่ขากลับพร้อมด้วยความประทับใจ

                    หนังไทยปี 2549 อีกเรื่องที่ควรค่าแก่การชม


                                                                                                               บันทึกไว้เมื่อวันอาทิตย์ที่ 5 มี.ค. 2549
                                                                                                                identity

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×