คืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด
คุณแน่ใจว่าต้องการคืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด ?
ลำดับตอนที่ #5 : รักเพศเดียวกัน
หลาย ๆ ครั้งเราเคยได้ยินคนที่แอนตี้คนรักเพศเดียวกันให้เหตุผลว่า "ก็มันเป็นเรื่องผิดธรรมชาตินี่นา" พอคุณท่านเหล่านั้นอ้างธรรมชาติขึ้นมาปุ๊บ เราก็ถึงกับอึ้งไปเหมือนกัน ทั้ง ๆ ที่จำได้แม่นว่าเคยเห็น สุนัขตัวเมีย ที่บ้านสองตัวมีอะไรกัน หากแต่ว่ามันเป็นสุนัขที่ทำหมันแล้ว ก็เลยไม่กล้าเอากรณีนี้ไปเถียงเขา กลัวเขาจะเถียงกลับ ว่าทำหมันมันก็ผิดธรรมชาติไปแล้ว และคิดอีกทีแม้จะเป็นคนรักสุนัข แต่ก็ไม่อยากเอาชีวิตรักของเราไปเปรียบ กับมันเหล่านั้น เลยมักพูดแต่ว่า "สำหรับฉันน่ะ จะให้รักผู้ชายคงต้องฝืนใจตัวเองอย่างใหญ่หลวง ไม่เป็นธรรมชาติ เอาเสียเลย"
ยังไงก็แล้วแต่เรื่องธรรมชาตินี่ก็ยังคงค้างคาอยู่ในใจ เอ๊ะ แล้วนี่ฉันเป็นคนผิดธรรมชาติจริงอย่างที่เขาว่าหรือนี่
และแล้ววันหนึ่งก็มีเพื่อนเอารายงานการวิจัยทางชีววิทยามาให้ดู อันนี้แหละที่อยากเอามาเล่าให้ฟัง เผื่อคนที่ต้องถกเถียง เพื่อปกป้องชีวิตรักของตัวเอง จะได้มีข้อมูลที่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์มาสนับสนุนเชียวนะ
งานวิจัยนี้ทำโดยโจน รัฟการ์เดน อาจารย์สาวทรานสเจนเดอร์ที่สอนชีววิทยา อยู่ที่มหาลัยสแตนฟอร์ด ในแคลิฟอร์เนีย ตัวเธอเองเล่าว่าก่อนที่จะเปิดเผยกับที่คณะว่าเป็นทรานสเจนเดอร์ ก็หวาด ๆ อยู่เหมือนกันว่าจะถูกไล่ออกหรือเปล่า พอเอาท์ออกมาแล้วก็โชคดีหน่อยไม่ถูกไล่ออก แต่ถูกปลดออกจากงานด้านการบริหารเสียเรียบ เธอก็เลยเปลี่ยนวิกฤต เป็นโอกาส เอาเวลาว่างมาทำงานวิจัยเรื่องเพศ ๆ ของสัตว์ ได้ผลตามที่จะเล่าให้ฟังต่อไปนี้
เธอเสนอว่าทฤษฎีเรื่องการคัดเลือกทางเพศ (Sexual selection) ของชาลส์ดาร์วินน่ะ ควรเอาไปโยนทิ้งได้แล้ว เรื่องที่ เป็นปัญหาก็คือ ในปี คศ. 1871 ดาร์วินเขียนไว้ ว่า สัตว์ตัวเมียจะเลือกคู่ตัวผู้ที่น่าดึงดูด แข็งแกร่ง และมีอาวุธ ป้องกันตัว พร้อมสรรพ เพื่อให้เกิดการคัดเลือกยีนส์ที่ดีที่สุดต่อการสืบเผ่าพันธุ์ต่อไป
ดาร์วินมักยกตัวอย่างขนแพนหางของนกยูงตัวผู้ที่สวยงามดึงดูดใจตัวเมีย หรือไม่ก็เขากวางตัวผู้ที่เปรียบดั่งอาวุธนักรบ แล้วยังกล่าวอีกว่า ตัวผู้ของสัตว์เกือบทุกชนิดมีอารมณ์รุนแรงกว่าตัวเมีย ขณะที่ตัวเมียส่วนใหญ่แล้วจะขี้อาย
ฟังดูแล้ว เหมือนดาร์วินจะจัดระเบียบบทบาททางเพศให้แก่สัตว์เสียเรียบร้อย ทฤษฎีนี้มีปัญหามาก เพราะไม่สามารถนำ มาอธิบายพฤติกรรมทางเพศที่ต่างไปจากคู่ผัวตัวเมียได้ เช่น ถ้าตัวเมียกับตัวเมียเกิดมีอะไรกันขึ้นมาล่ะ ดาร์วินจะบอก ว่ายังไง เพราะ นี่ไม่ใช่การเลือกคู่เพื่อให้เกิดการสืบเผ่าพันธุ์ต่อไปได้นี่
อาจารย์โจนเธอศึกษาดูแล้วก็ว่า ทฤษฎีดาร์วินคงต้องถูกโยนทิ้งแน่ เพราะประเด็นแรก ในสัตว์เองมีความหลากหลายทาง เพศมากกว่านั้นเยอะ ในสัตว์หลาย ๆ สปีชีส์ รวมถึงเรามนุษย์ ตัวเมียไม่ได้อยากจะหาคู่ที่ล่ำบึกอย่างพี่อาร์โนลด์ ชวาสเนกเกอร์เสมอไป ในหลาย ๆ กรณีบทบาททางเพศกลับสลับกันด้วยซ้ำ แล้วตัวเมียต่างหากที่มักจะตามตัวผู้แล้ว ตัวผู้เป็นฝ่ายปฏิเสธ
เท่านั้นยังไม่พอ บรรดาสัตว์ต่าง ๆ ก็ใช่ว่าจะสามารถแบ่งแยกเป็นสองเพศได้อย่างเด่นชัด เช่น หนึ่งในสามของบรรดาปลา ในแหล่งปะการัง จะสามารถผลิตทั้งไข่และสเปิร์มได้ ไม่ว่าจะในขณะเดียวกันหรือผลิตคนละเวลา ในบรรดาสิ่งมีชีวิต หลายเซลล์ รวมทั้งพืชด้วย เป็นเรื่องธรรมดามากที่สิ่งมีชีวิตนั้นจะสร้างทั้งเซลล์สืบพันธุ์เพศ ผู้และเพศเมียในช่วง ใดช่วงหนึ่ง ของชีวิต เพราะฉะนั้นเราไม่สามารถบ่งชี้ได้ชัดว่าสิ่งมีชีวิตนี้เป็นตัวผู้หรือตัวเมีย
เรื่องความหลากหลายนี้ยังมีอีก คุณโจนเธอพบว่า สัตว์สามารถมีลักษณะทางเพศแตกต่างกันไปได้มากมาย เช่น ตัวผู้ในสปีชีส์หนึ่ง แม้จะผลิตสเปิร์มได้เหมือนกัน แต่ลักษณะอื่น ๆ เช่น ขนาดร่างกาย สี รูปร่าง พฤติกรรม วิถีชีวิต อาจต่างกันอย่างมากจนนักชีววิทยามือใหม่ไม่รู้ว่าเป็นสปีชีส์เดียวกัน ตัวเมียก็เป็นเช่นนี้ได้เหมือนกัน เธอศึกษาปลา ชนิดหนึ่งที่เรียกว่า Bluegill sunfish ตัวผู้ของปลานี้มีลักษณะที่แตกต่างกันแยกได้เป็นสามจำพวก ซึ่งเธอเรียกจำพวก เหล่านี้ว่า เพศสภาพ หรือ gender (แน่ะ ใช้คำเดียวกับคนเลย) สามจำพวกที่ว่าคือ ตัวควบคุม ตัวร่วมมือ และ endrunner (ไม่รู้ว่าแปลว่าอะไรเหมือนกัน) ตัวควบคุมนี่จะตัวใหญ่ ตัวร่วมมือจะมีลักษณะคล้าย ๆ ตัวเมีย ทั้งสองจะ ช่วยกันจีบตัวเมีย ตัวควบคุมเป็นผู้ฉีดสเปิร์มซะส่วนใหญ่ แต่ก็แบ่งให้ตัวร่วมมือได้ฉีดบ้างเล็กน้อย ส่วนเจ้า endrunner จะคอยซุ่มอยู่หลังสาหร่าย แล้วก็แอบแวบเข้ามาฉีดสเปิร์มบ้าง
ประเด็นที่สองที่คุณโจนคิดว่าดาร์วินพลาดไป ก็คือ ในบรรดาสัตว์สังคม เช่นนกและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม การเกี้ยว พาราสีและการจับคู่ ไม่จำเป็นต้องเกี่ยวข้องกับการฉีดสเปิร์ม เสมอไป จริง ๆ แล้วไม่บ่อยเลยที่มีการฉีดสเปิร์ม การจับคู่ส่วนใหญ่เป็นไปเพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่จะส่งผลให้การเลี้ยงดูตัวอ่อนเป็นไปด้วยดี ลองดูตัวอย่างในคนก็ได้
สมมติว่าออซซี่กับแฮเรียต แต่งงานกันมาห้าสิบปี มีลูกด้วยกันสองคน ถ้าทั้งสองมีอะไรกันอาทิตย์ละหน ตลอดห้าสิบปี คำนวณได้ว่ามีอะไรกันมาแล้ว 2500 ครั้ง หารเฉลี่ยเท่ากับว่า ลูกหนึ่งคน ต่อการมีอะไรกัน 1500 ครั้ง ถ้าคิดอย่างนี้ จะเห็นได้ว่า การมีเพศสัมพันธ์ไม่ได้เกี่ยวกับการสร้างตัวอ่อนเพื่อสืบเผ่าพันธุ์เสมอไป จุดนี้โจนให้ความเห็นว่า ดังนั้น การมีเพศสัมพันธ์อาจเป็นการช่วยให้ทั้งคู่อยู่ด้วยกันได้นานขึ้นเพื่อให้เลี้ยงลูกอ่อนได้อย่างดี เช่นกัน ในสัตว์ทั้งหลาย บ่อย ๆ ครั้งการผสมพันธุ์เกิดขึ้นในเวลาและสถานที่ที่ไม่สามารถก่อให้เกิดการสร้างชีวิตใหม่ได้ ดังนี้แล้วการที่สัตว์มีอะไรกัน ก็ไม่ใช่เป็นไปเพื่อการสืบเผ่าพันธุ์เสมอไป
เมื่อโยนทฤษฎีเก่าทิ้ง อาจารย์โจนก็นำเสนอทฤษฎีใหม่ขึ้นมาแทน เธอเรียกมันว่า การคัดเลือกทางสังคม (social selection) ทฤษฎีนี้สามารถอธิบายความหลากหลายทางเพศที่มีอยู่ได้
เธอเห็นว่าชีวิตทางสังคมของสัตว์นั้นเกี่ยวข้องกับการเข้าถึงโอกาสทางการสืบพันธุ์ ซึ่งรวมไปถึงอาหาร รัง และคู่ ดังนั้นแล้ว สัตว์จะใช้สิ่งที่ตัวเองมีไปแลกเปลี่ยนความช่วยเหลือจากสัตว์ตัวอื่นไม่ว่าจะเป็นเพศเดียวกันหรือต่างเพศ
เช่น ตัวไฮยีนา ตัวเมียนั้นจะมีอวัยวะเพศที่ขยายใหญ่ได้จนมีขนาดเท่ากับอวัยวะเพศของตัวผู้ ตัวใดที่มีลักษณะอวัยวะเพศ คล้ายเพศผู้ จะสามารถเข้ากลุ่มตัวเมียได้ดี ทฤษฎีของดาร์วินไม่สามารถใช้อธิบายปรากฏการณ์เช่นนี้ได้
แต่โจนเสนอว่าถ้าใช้ทฤษฎีการคัดเลือกทางสังคมมาอธิบาย ก็จะเข้าใจได้ว่า กลุ่มเป็นผู้ควบคุมสิ่งต่าง ๆ ที่เอื้อต่อการ สืบพันธุ์ ไฮยีนาตัวเมียที่ไม่มีอวัยวะเพศผู้จะถูกขับออกจากกลุ่มตัวเมีย และไม่สามารถ ใช้ประโยชน์จากการมีกลุ่มได้ ตัวไหนที่มีก็จะเข้ากลุ่มกับเขาได้ และได้ประโยชน์จากกลุ่ม
อีกตัวอย่างจากลิง Bonobos ปกติแล้วตัวเมียจะมีการกอดหันหน้าชนกันและเอาอวัยวะเพศเสียดสีกัน ซึ่งเป็นการสร้าง ความสัมพันธ์ และเอื้อต่อการสร้างความร่วมมือในกลุ่มที่จะเลี้ยงลูกอ่อนด้วยกัน ในกลุ่มจะมีการหาอาหารและปกป้อง อันตรายร่วมกัน ตัวไหนที่ไม่ได้กอดรัดฟัดเหวี่ยงกับตัวเมียด้วยกัน ก็จะไม่ได้รับความร่วมมือจากตัวเมียอื่น ๆ
ในลิงบาบูนและปลาวาฬบางชนิดการมีอะไรกับเพศเดียวกันอาจจะเป็นการสร้างความร่วมมือเพื่อให้อยู่รอดท่ามกลาง
ความขัดแย้ง
เอ แล้วนี่มันเป็นเรื่องผิดธรรมชาติของสัตว์รึเปล่านะ
คุณโจนเธออ้างถึงหนังสือเล่มหนึ่งชื่อ Biological Exuberance: Animal Homosexuality and Natural Diversity โดย Bruce Bagemihl คนนี้นี่เขียนถึงสัตว์มีกระดูกสันหลังสามร้อยสปีชีส์ ที่มีการผสมพันธุ์ระหว่างเพศเดียวกัน บางชนิดก็มีไม่บ่อย แค่ 1-10 % แต่บางชนิดอย่างลิง Bonobos จะเกิดพอ ๆ กันกับการผสมต่างเพศเลยทีเดียว บางชนิดคู่รักเพศเดียวกันจะอยู่ด้วยกันเป็นปี ๆ บางชนิดก็อยู่ไม่นาน ผลงานของตาคนนี้ทำให้เห็นว่า ก็เมื่อมันมีเรื่องจู๋จี๋ ระหว่างเพศเดียวกันมากขนาดนี้ มันไม่น่าเป็นการผิดธรรมชาติ แต่น่าจะเป็นประโยชน์ต่อสัตว์มากกว่า ส่วนในคนนั้น การรักเพศเดียวกันน่ะเกิดบ่อยเกินกว่าจะถือว่าเป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของยีนส์ และไม่ได้มีผลให้วิวัฒนาการ ของมนุษย์เสียหายแต่ประการใด
ในที่สุดเธอก็สรุปว่า การมีอะไรกับเพศเดียวกันนี่เป็นการปรับตัวอย่างหนึ่งของสัตว์ และอาจรวมถึงมนุษย์ด้วย เพราะ มันก่อให้เกิดความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้น ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งต่อการประสบความสำเร็จในชีวิต
คุณโจนเธอสรุปได้เยี่ยมมาก จนอยากจะเชิญเธอมาคุยกับพวกที่เคยเถียงกับเราเสียเหลือเกิน งานวิจัยของเธอทำให้เรารู้ ได้ว่า สัตว์เองก็มีความหลากหลายทางเพศมากมาย ไม่ใช่ว่าจะเป็นรักต่างเพศเสมอไป และความหลากหลายนั้น ก็เป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดสำหรับชีวิต อีกอย่างทำให้เราฉุกคิดได้ว่า เวลาที่คนอ้างว่าธรรมชาติ ๆ นั้น มันก็เป็นวาทกรรมที่ต้องมีการตรวจสอบและสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตามความเข้าใจของคนในยุคหนึ่ง ๆ
เราเองก็ขอช่วงชิงการใช้วาทกรรมนี้ โดยอ้างอิงจากงานวิจัยของคุณโจน เราขอเสนอว่า "รักเพศเดียวกัน - เป็นเรื่องธรรมชาติ"
หวังว่าสุนัขตัวเมียเป็นหมันสองตัวที่บ้าน คงจะเห็นด้วยกับเรา -โฮ่ง !-
.................................................................................................................................................
ขอบคุณข้อมูลจากhttp://pirun.ku.ac.th/~b4803043/link3.htm
ความคิดเห็น