คืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด
คุณแน่ใจว่าต้องการคืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด ?
ลำดับตอนที่ #6 : อารยธรรมตะวันตกสมัยโบราณ : อารยธรรมลุ่มน้ำไนล์
อารยธรรมลุ่มน้ำไนล์หรืออารยธรรมอียิปต์โบราณก่อกำเนิดขึ้นบริเวณสองฝั่งของแม่น้ำไนล์เป็นแนวยาวตั้งแต่ปากแม่น้ำซึ่งเป็นปลายสุดของแม่น้ำไนล์ไปจนถึงตอนเหนือของประเทศซูดานในปัจจุบัน
สภาพภูมิประเทศของลุ่มน้ำไนล์แบ่งลุ่มน้ำไนล์เป็น2บริเวณได้แก่ บริเวณอียิปต์ล่าง(Lower Egypt) ตั้งอยู่บริเวณที่ราบปากแม่น้ำไนล์ เป็นที่ที่แม่น้ำไนล์แยกออกเป็นแม่น้ำสาขา ลักษณะเป็นรูปพัด ชาวกรีกโบราณเรียกว่า เดลตา แล้วไหลลงทะเลเมดิเตอร์เรเนียน อารยธรรมโบราณของอียิปต์ได้เจริญขึ้นบริเวณแถบนี้ และบริเวณอียิปต์บน(Upper Egypt) ได้แก่ บริเวณที่แม่น้ำไนล์ไหลผ่านหุบเขา เป็นที่ราบแคบๆขนาบด้วยหน้าผาและทะเลทราย
ในฤดูร้อนแม่น้ำไนล์ได้รับน้ำจากการที่หิมะในเขตที่ราบสูงเอธิโอเปียละลาย ทำให้เกิดน้ำหลากเข้าท่วมบริเวณที่ราบลุ่มน้ำในเดือนสิงหาคมถึงตุลาคมของทุกปี แต่จากกการที่น้ำท่วมได้นำเอาดินตะกอนมาทับถมจึงทำให้บริเวณดังกล่าวอุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การเพาะปลูก
บริเวณที่ราบลุ่มน้ำไนล์เปรียบเสมือนโอเอซิสท่ามกลางทะเลทรายเพราะเป็นดินแดนที่ล้อมรอบด้วยทะเลทราย ทิศเหนือจดทะเลเมดิเตอร์เรเนียนและคาบสมุทรไซนาย ทิศตะวันตกจดทะเลทิเบียและทะเลทรายซาฮารา
ทิศตะวันออกและทิศใต้จดทะเลทรายนูเบียและทะเลแดง
การที่ลักษณะภูมิประเทศของดินแดนลุ่มแม่น้ำไนล์ล้อมรอบด้วยทะเลทรายทำให้เป็นปราการธรรมชาติป้องกันการรุกรานจากภายนอก ชาวอียิปต์จึงอยู่อย่างสันโดษ สามารถพัฒนาอารยธรรมให้ต่อเนื่องและมั่นคงได้เป็นเวลานาน ซึ่งต่างจากดินแดนเมโสโปเตเมียที่เป็นดินแดนเปิดโล่งต่อการรุกรานจาก น้ำในแม่น้ำไนล์เอ่อล้นทั้งสองประมาณเดือนกรกฏาคมของทุกปี แล้วลดลงเดือนตุลาคม ทิ้งโคลนตมไว้สองฝั่งแม่น้ำ ทำให้ดินดี เพาะปลูกได้ผล ชาวอียิปต์โบราณเชื่อว่าปรากฏการณ์นี้เกิดจากอำนาจของฟาโรห์
ดินแดนอียิปต์มีทรัพยากรธรรมชาติไม่มากนัก ที่มีมากคือ หินทราย ซึ่งนำมาใช้ก่อสร้าง ดินเหนียวนำมาทำเป็นที่อยู่อาศัย ส่วนบริเวณคาบสมุทรไซนายมีแร่ทองแดงและพลอย
ในสมัยอียิปต์โบราณ ชุมชนในยุคหินเก่าที่อาศัยอยู่ในดินแดนอียิปต์บนเป็นพวกเร่ร่อน อาศัยตามชะง่อนหิน ล่าสัตว์และตกปลาเป็นอาหาร ส่วนอียิปต์ล่าง ส่วนใหญ่เป็นที่ราบลุ่มหนองบึง จะสร้างที่พักหยาบๆด้วยดินเหนียวและต้นอ้อ ในยุคหินใหม่ชาวอียิปต์รู้จักใช้ประโยชน์จากธรรมชาติ รู้จักการเพาะปลูกข้าวบาเล่ย์ ข้าวสาลี ข้าวฟ่าง ฝึกสัตว์ให้เชื่องและนำมาใช้แรงงาน ทำเครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น รู้จักสร้างพาหนะคือ เรือแคนู เพื่อใช้ล่องแม่น้ำไนล์
พัฒนาการของอียิปต์โบราณจึงมีปัจจัยสำคัญจากลักษณะภูมิประเทศคือ อียิปต์มีพรมแดนธรรมชาติได้แก่ ทะเลเมดิเตอร์เรเนียนและทะเลทรายซะฮารา ที่ช่วยป้องกันการรุกรานจากศัตรู และมีแม่น้ำไนล์ที่นำความชุ่มชื้นมาให้ตลอดริมฝั่ง ชาวอียิปต์รู้จักการนำความรู้เกี่ยวกับธรรมชาติมาใช้ประโยชน์ เช่น การทำชลประทาน ทำนบกั้นน้ำ ระบบระบายน้ำ การขุดคูคลองส่งน้ำเข้าในที่ที่ห่างไกลจากแม่น้ำไนล์จนสามารถเพราะปลูกในที่ดินที่อยู่ห่างไกลได้
ที่จะต้องช่วยกันทำระบบประทานและการป้องกันตนเองจากศัตรูภายนอก ทำให้ต้องมีการจัดระเบียบสังคม เกิดชนชั้นผู้ปกครอง การขยายพื้นที่เพราะปลูกทำให้ประชาชนมีมากขึ้น จนขยายตัวออกเป็นรัฐเล็กๆ เรียกว่าโนมิส(Nomes) แต่ละโนมิสมีสัญลักษณ์ที่แตกต่างกัน เช่น สุนัข แมงป่อง ต่อมาได้มีการรวมกันเป็นอาณาจักรใหญ่ๆ2แห่งคือ อียิปต์บนและอียิปต์ล่าง จนกระทั่ง300ปีก่อนคริสต์ศักราช กษัตริย์เมนิส (Menes) จากอียิปต์บนได้รวมสองอาณาจักรเข้าด้วยกัน และสถาปนาราชวงศ์ขึ้นปกครองอียิปต์ครั้งแรก
ชาวอียิปต์บนนับถือเทพเจ้าหลายองค์เช่นเดียวกับพวกเมโสโปเตเมีย โดยมีสุริยเทพ หรือเทพเจ้าเร(Re) เป็นเทพเจ้าสูงสุด นอกจากนี้ยังมีเทพเจ้าสำคัญองค์อื่นๆอีกเช่น โอไซริส(Osiris) เทพแห่งแม่น้ำไนล์ ชาวอียิปต์ไม่ได้คิดว่าตนเองเป็นทาสของเทพเจ้า แต่กลับยกย่องว่าเทพเจ้ามีพระเมตตาต่ออียิปต์ และยกให้ฟาโรห์ ประมุขสูงสุดเป็นเทพเจ้าพระองค์หนึ่ง คำสั่งสอนของฟาโรห์จึงถือเป็นประกาศิตและกฎหมาย ชาวอียิปต์เชื่อเรื่องการเป็นอมตะและการฟื้นคืนชีพของผู้ตาย
ชาวอียิปต์นิยมสร้างสุสานฝังพระศพของฟาโรห์ ตลอดจนราชวงศ์และขุนนางที่เรียกว่า พีระมิด(Pyramid) มากกว่าการสร้างสถาปัตยกรรมอื่น พระศพจะถูกนำไปชำระร่างกายให้สะอาดและผ่านกรรมวิธีที่สลับซับซ้อนก่อนแล้วพันด้วยผ้าห่อขาว สภาพศพจะแห้งและไม่เน่าเปื่อยเรียกว่ามัมมี่( mummy )
การสร้างพีระมิดและทำมัมมี่เป็นความเชื่อในเรื่องการฟื้นคืนชีพของผู้ตาย ซึ่งจะเป็นไปตามธรรมชาติเข่นเดียวกับการขึ้นและตกของดวงอาทิตย์ที่ให้แสงสว่างและความมืด เนื่องจากความเชื่อที่ว่าฟาโรห์ทรงเป็นทั้งเทพเจ้าและมนุษย์ในเวลาเดียวกัน การเก็บรักษาพระศพของฟาโรห์จึงเป็นพิธีกรรมสำคัญของอียิปต์ พีระมิดของฟาโรห์มีขนาดใหญ่โตและสำคัญเท่าๆกับศาสนสถาน มีการตกแต่งอย่างงดงามด้วยสิ่งประดับที่มีค่ามากมาย
การสร้างพีระมิดนิยมมาในสมัยอาณาจักรเก่า (Old Kingdom2631-2151 ปีก่อนคริสต์ศักราช) ช่วงนี้อียิปต์เจริญรุ่งเรืองด้านวิทยาการ สามารถประดิษฐ์เครื่องมือสกัดหินและนำมาเรียงเป็นขั้นบันไดรูปกรวยสามเหลี่ยมขนาดใหญ่ ต่อมาอียิปต์ได้สร้างพีระมิดพื้นข้างเรียบไม่เป็นขั้น ที่สำคัญได้แก่ มหาพีระมิดแห่งเมืองกิซา (The great Pyramid of Giza)สร้างเมื่อ2600ปีก่อนคริสต์ศักราช ประกอบด้วยพีระมิด3องค์ องค์ใหญ่สุดคือ พีระมิดที่เป็นสุสานของฟาโรห์ คีออปส์(Cheops) หรือคูฟู(Khufu) สูง146.5เมตรและต้องเดินถึง1กิโลเมตรจึงจะครบ1รอบของพีระมิด หน้าพีระมิดมีสฟิงค์(Sphinx) ทำจากหินขนาดใหญ่เป็นตัวสิงโต หน้าเป็นคน
การสร้างพีระมิดขนาดใหญ่ต้องใช้แรงงานชาวอียิปต์และค่าใช้จ่ายมหาศาล ระยะเวลาก่อสร้างเป็นสิบปี ซึ่งถือเป็นการบั่นทอนเศรษฐกิจและแรงงานของอียิปต์ ซึ่งนำความเสื่อมมาสู่ราชวงศ์อียิปต์ในที่สุด
ชาวอียิปต์ได้ประดิษฐ์อักษรไฮโรกลิฟิก(Hieroglyphic)หรืออักษรศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งเป็นอักษรภาพได้ในเวลาไล่เลี่ยกับที่ชาวสุเมเรียนประดิษฐ์อักษรลิ่มได้ คำว่าhieros แปลว่าศักดิ์สิทธิ์
และคำว่า glyphein หมายถึงการแกะสลัก การประดิษฐ์อักษรดังกล่าวนี้เพื่อบันทึกเรื่องราวทางศาสนาและวิทยาการ ช่วงแรกๆ การเขียนหนังสือเป็นการสลักบนฝาผนังโบสถ์และสุสานฝังพระศพฟาโรห์ โดยแกะหรือเขียนบนหิน ไม้ หรือดินเผา ต่อมาชาวอียิปต์เริ่มเขียนอักษรภาพลงบนกระดาษปาปิรัส ที่ทำจากต้นปาปิรัสที่มีขึ้นทั่วไปแถบชายฝั่งแม่น้ำไนล์และใช้ปล้องหญ้ามาตัดเป็นปากกาจิ้มหมึก ส่วนหมึกที่ใช้เขียนทำด้วยถ่านป่นผสมยางไม้
ต่อมาอักษรไฮโรกลิฟิกได้รับการดัดแปลงให้เขียนเข้าใจง่ายขึ้นโดยเป็นอักษรตัวหวัดที่เรียกว่า ไฮแรติก(hieratic) แต่ก็ยังมีลักษณะเป็นอักษรที่เขียนเครื่องหมายแทนความหมายต่างๆอยู่ จนในที่สุดได้พัฒนาเป็นอักษรแอลฟาเบต(alphabet) ที่ใช้พยัญชนะและสระเขียนแทนรากฐานเสียงของเสียงแต่ละเสียง ซึ่งสามารถนำมาผสมกันอ่านออกเสียงเป็นคำที่มีความหายแตกต่างกันไปได้อย่างสมบูรณ์ ดังนั้นอักษรไฮโรกลิฟิกจึงไม่มีใครอ่านออก
จนกระทั่ง ชอง ฟรังซัว ชองโปลิยอง (Jean Francois Champollion) นักปราชญ์ชาวฝรั่งเศส สามารถอ่านอักษร ไฮโรกลิฟิกในจารึกโรเซตตา(Rosetta Stone)ได้ในคริสต์ศตวรรษที่19 จากรึกนี้พบที่เมืองโรเซตตา ประเทศอียิปต์ ช่วงบนเป็นอักษรไฮโรกลิฟิก ช่วงกลางเป็นอักษรที่ชาวอียิปต์ใช้กันโดยทั่วไป ช่วงล่างเป็นอักษรกรีก การที่จารึกทั้งสามภาษานี้กล่าวถึงเรื่องเดียวกันจึงทำให้ชอง โปลิยองอ่านอักษรไฮโรกลิฟิกออก ซึ่งช่วยเปิดเผยให้โลกได้ทราบถึงประวัติศาสตร์และเรื่องราวที่ลี้ลับเกี่ยวกับอียิปต์โบราณเป็นจำนวนมาก
การที่ชาวอียิปต์มีความเชื่องมั่นในการฟื้นคืนชีพทำให้แนวความคิดของอียิปต์ที่ปรากฏในงานประพันธ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นวรรณกรรมหรือบทเพลง เน้นหนักในเรื่องความสุข ความรักในภพนี้ ตลอดจนสอนให้ดำเนินชีวิตด้วยความสุจริตและอยู่ในศีลธรรมที่ดีงาม เพื่อว่าเมื่อตายไปแล้วจะสามารถแสดงความบริสุทธิ์ต่อเทพโอไซริสซึ่งเป็นตุลาการแห่งยมโลกได้ ชาวอียิปต์จึงนิยมเขียนเรื่องราวที่แสดงความดีและความบริสุทธิ์ของตนไว้เพื่อนำไปแสดงต่อเทพโอไซริสเมื่อตนถึงแก่ความตาย เรียกบันทึกนี้ว่า บันทึกของผู้ตาย(Book of the Dead)
นอกเหนือจากวรรณกรรมแล้วอียิปต์ยังได้ถ่ายทอดความรู้ด้านวิชาการให้แก่คนรุ่นหลังมากมาย เช่น วิชาดาราศาสตร์ ปฎิทินทางสุริยคติที่แบ่งปีออกเป็น365วัน วิชาแพทยศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และอื่นๆ ในช่วงแห่งการเป็นผู้นำด้านอารยธรรมในช่วงเวลาดังกล่าวนี้ อียิปต์ได้ผ่านทั้งความเจริญสูงสุดและความเสื่อม การแย่งชิงอำนาจของราชวงศ์ ขุนนาง พระ ตลอดจนการผลัดเปลี่ยนราชวงศ์ต่างๆขึ้นปกครอง
แนวความคิดต่างๆและปรัชญาในการครองชีวิตของชาวอียิปต์ในยุคต้นๆก็เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลาด้วย เช่น ในสมัยอาณาจักรใหม่(New Kingdom1150-1050 ปีก่อนคริสตศักราช) ฟาโรห์ได้ทำนุบำรุงเศรษฐกิจ ศิลปกรรม วรรณคดี และโดยเฉพาะสถาปัตยกรรม มีการส่งเสริมการค้าขายกับพวกซีเรีย ปาเลสไตน์ และเกาะครีต เป็นสมัยที่อียิปต์รุ่งเรืองมากจนเรียกว่าเป็นยุคทองของอียิปต์
ในสมัยปลายราชวงศ์ อำนาจของฟาโรห์ลดน้อยลงจนสูญเสียพระราชอำนาจและอภิสิทธิ์ต่างๆให้แก่พระและขุนนาง ฟาโรห์แอคนาคาตัน(Akhnaton1379-1361 ปีก่อนคริสตศักราช)ได้พยายามกอบกู้ศักดิ์ศรีของสถาบันกษัตริย์กลับคืน โดยการเปลี่ยนแปลงประเพณีการนับถือศาสนาจากการมีเทพเจ้าหลายองค์มาเป็นมีเทพเจ้าองค์เดียว คือสุริยเทพอะตัน แต่ฟาโรห์และเชื้อพระวงศ์เท่านั้นที่มีสิทธิในการเคารพบูชาเทพอะตัน ประชาชนทั่วไปต้องเคารพบูชาฟาโรห์ การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวฟาโรห์หวังจะให้มีพระราชอำนาจกลับมาดังเดิมแต่กลับไม่เป็นที่นิยม และยังก่อให้เกิดความเกลียดชังโกรธแค้นแก่ผู้ที่นับถือเทพเจ้าหลายองค์จนทำให้อียิปต์ทรุดโทรมลงไปอีก
ในช่วง 620ปีก่อนคริสตศักราช อียิปต์สูญเสียอำนาจให้แก่พวกอัสซีเรียซึ่งยึดครองได้ไม่นานนักก่อนเสียให้กับ พวกเปอร์เซีย กรีก และโรมันตามลำดับ จนท้ายสุด อียิปต์เปลี่ยนไปนับถือศาสนาอิสลาม ดังนั้นอียิปต์ในสมัยหลังจึงไม่รวมอยู่ในโลกตะวันตก เพราะความสัมพันธ์ทางด้านศาสนา การเมือง ศิลปวัฒนธรรม และเศรษฐกิจของอียิปต์มีความใกล้เคียงกับประเทศตะวันออกมากกว่า แต่หากกล่าวถึงอียิปต์สมัยโบราณแล้ว อียิปต์เป็นต้นกำเนิดของอารยธรรมตะวันตกควบคู่ไปกับอารยธรรมเมโสโปเตเมียโดยถ่ายทอดต่อไปให้กรีกและโรมัน ซึ่งถือว่าเป็นต้นกำเนิดของอารยธรรมตะวันตกอย่างแท้จริง
ความคิดเห็น