ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    ประวัติศาสตร์

    ลำดับตอนที่ #4 : อารยธรรมตะวันออก : อารยธรรมอินเดีย

    • อัปเดตล่าสุด 21 พ.ย. 56


       



    อารยธรรมอินเดีย

    1.ปัจจัยทางภูมิศาสตร์กับการตั้งถิ่นฐาน

    ปัจจัยที่ทำให้เกิดอารยธรรมอินเดีย

    อารยธรรมอินเดียกำเนิดขึ้นบริเวณลุ่มน้ำสินธุ เป็นเขตที่ราบกว้างใหญ่ มีสาขาจำนวนมากไหลลงสู่ทะเลอาหรับ ทำให้ดินแดนนี้มีความอุดมสมบูรณ์ และสามารถเดินทางติดต่อกับดินแดนเมโสโปเตเมียซึ่งเป็นแหล่งอารยธรรมโลกอีกแห่งหนึ่งได้ สภาพภูมิประเทศดังกล่าวทำให้ลุ่มน้ำสินธุเป็นแหล่งกำเนิดของอารยธรรมอินเดียโบราณ





    ภูมิประเทศและภูมิอากาศ
                     
    ในพื้นที่ของอินเดียมีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ด้วยทองคำและโลหะที่นำมาผสมเป็นสำริด ส่วนภูมิอากาศมีลักษณะแบบลมมรสุม ในฤดูร้อนจะมีลมที่พัดตามมหาสมุทรอินเดียทำให้ฝนตกทางตอนเหนือ ในฤดูหนาวจะมีลมมรสุมพัดผ่านทำให้ที่ราบลุ่มแม่น้ำคงคามีฝนตกชุก ส่วนบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำสินธุ และที่ราบสูงภาคกลางมีภูมิอากาศแห้งแล้ง น้ำที่ใช้ในการเกษตรได้จากแม่น้ำเป็นหลัก


    ปัจจัยทางภูมิศาสตร์ของอินเดีย

    มีเทือกเขาหิมาลัยที่มีความสูงชันขนานยาวเป็นพรมแดนทางตอนเหนือ มีที่ราบลุ่มแม่น้ำสินธุและทะเลทรายธาร์ทางตะวันตกเฉียงเหนือ มีที่ราบลุ่มแม่น้ำคงคาและแม่น้ำสาขาทางตะวันออกเฉียงเหนือ ทางตอนใต้ลุ่มแม่น้ำสินธุเป็นบริเวณที่ราบสูงกว้างใหญ่
            ปัจจัยทางภูมิศาสตร์ดังกล่าวทำให้อินเดียถูกแบ่งเป็นส่วนๆ การติดต่อเป็นไปด้วยความลำบาก และเป็นปราการธรรมชาติที่ทำให้อินเดียสร้างสมอารยธรรมที่มีลักษณะเฉพาะ



    อารยธรรมอินเดียสมัยก่อนประวัติศาสตร์

              อารยธรรมอินเดียเป็นอารยธรรมที่เก่าแก่มาก เช่นเดียวกับอารยธรรมอียิปต์และอารยธรรมเมโซโปเตเมีย แต่ที่ต่างกันคืออารยธรรมอินเดียเป็นอารยธรรมที่สืบสายกันมาไม่ขาดตอนจนถึงสมัยปัจจุบัน ไม่มีระยะเวลาใดที่อารยธรรมอินเดียถูกอารยธรรมต่างชาติเข้ามาทำลายจนต้องมีการเริ่มต้นใหม่ แต่การค้นคว้าเรื่องอารยธรรมอินเดียก็เป็นเรื่องที่ยากเพราะหลักฐานตัวเขียนที่เล่าเรื่องราวของอารยธรรมอินเดียที่เก่าที่สุดก็เก่าเพียงแค่สมัยพระเวท ที่เก่ากว่านั้นไปไม่มีหลักฐานตัวเขียนกล่าวถึง จะรู้เรื่องราวได้ก็ต้องอาศัยวิธีการของนักโบราณคดี และประเทศอินเดียก็ไม่มีนักโบราณคดีมาก่อนที่นักปราชญ์ชาวยุโรป โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวอังกฤษจะเดินทางเข้ามาทำการขุดค้นในอินเดีย ดังนั้นความรู้เรื่องอารยธรรมอินเดียในสมัยก่อนประวัติศาสตร์จึงเพิ่งรู้กันเมื่อประมาณสองร้อยกว่าปีมานี้เอง



    นักปราชญ์ชาวตะวันตกที่มีคุณูปการในการค้นคว้าหาความรู้เพื่อให้เกิดความกระจ่างในเรื่องอารยธรรมอินเดีย

    – เซอร์วิลเลียม โจนส์ (Sir William Jones ค.ศ. 1746-1794)
               ก่อนที่เขาจะมาอินเดียเขาก็ได้ตั้งทฤษฎีแล้วว่าภาษาต่างๆในยุโรปมีความเกี่ยวข้องกับภาษาเปอร์เซีย และเขาคิดว่าภาษาต่างๆในยุโรปและภาษาเปอร์เซียสืบเชื้อสายมาจากต้นตอเดียวกัน เมื่อมาถึงอินเดียเซอร์วิลเลียม โจนส์ก็เริ่มเรียนภาษาสันสกฤต แล้วเขาก็ออกวารสารวิชาการที่ชื่อ Asiatic Researchesผลงานวิชาการที่ลงในวารสารนี้ช่วยเปิดเผยความลับเกี่ยวกับอารยธรรมของอินเดียซึ่งก่อนหน้านี้ไม่มีผู้พูดถึง


    นักปราชญ์ชาวตะวันตกที่มีคุณูปการในการค้นคว้าหาความรู้เพื่อให้เกิดความกระจ่างในเรื่องอารยธรรมอินเดีย

    – เซอร์อเล็กซานเดอร์ คันนิงแฮม       เรียนจบวิชาวิศวกรรมศาสตร์และได้บรรจุมาเป็นทหารในประเทศอินเดียตั้งแต่ยังหนุ่ม พอเดินทางมาถึงประเทศอินเดียในค.ศ. 1831 เขาก็อุทิศเวลาเกือบทั้งหมดที่ว่างเว้นจากภารกิจประจำเพื่อขุดค้นทางโบราณคดีในประเทศอินเดีย ในค.ศ. 1862 เขาได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งนักสำรวจทางโบราณคดี ในตอนปลายของชีวิตเขาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นเซอร์และได้รับพระราชทานยศเป็นนายพลแห่งกองทัพอังกฤษ แต่งานที่สำคัญที่สุดในชีวิตของเขาคือการสำรวจทางโบราณคดีของประเทศอินเดีย



    นักปราชญ์ชาวตะวันตกที่มีคุณูปการในการค้นคว้าหาความรู้เพื่อให้เกิดความกระจ่างในเรื่องอารยธรรมอินเดีย

     – เซอร์จอห์น มาร์แชลล์ (John Marshall)
                 พอถึงสมัยคริสตศตวรรษที่ยี่สิบอุปราชอินเดีย (Viceroy of India) ในขณะนั้นคือลอร์ด เคอร์ซัน (Lord Curzon)ได้ส่งเสริมวิชาโบราณคดีอย่างมาก ได้ให้จ้างนักโบราณคดีหนุ่มชื่อจอห์นมาร์แชลล์ (John Marshall) ซึ่งต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นเซอร์ เซอร์จอห์น มาร์แชลล์เป็นผู้อำนวยการ (Director General) ของสำนักสำรวจทางโบราณคดี (The Archaeological Survey) ผลงานที่สำคัญของเซอร์จอห์น มาร์แชลล์ก็คือการขุดค้นทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือของอินเดียแล้วพบอารยธรรมยุคก่อนประวัติศาสตร์ของอินเดีย คืออารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุ (The Indus Civilization)







     
    อารยธรรมอินเดียสมัยก่อนประวัติศาสตร์

    บริเวณลุ่มแม่น้ำสินธุเป็นแหล่งอารยธรรมอินเดียที่เก่าแก่มาก ปัจจุบันได้พบแหล่งโบราณคดีกว่า 60 แห่ง เมืองโบราณที่สำคัญ  คือเมืองฮารัปปา และโมเฮนโจดาโร เมืองทั้งสองตั้งริมแม่น้ำสินธุ (ปัจจุบันอยู่ในประเทศปากีสถาน) การขุดค้นทางโบราณคดีที่เมืองทั้งสองดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงความเจริญแบบอารยธรรมเมือง ตัวเมืองมีการวางผังเป็นย่านใหญ่ๆ แต่ละย่านมีตรอกแคบๆ เป็นตัวเชื่อมมีป้อมหรือมีที่หมั่นประจำเมือง มีที่อาบน้ำสาธารณะ แสดงให้เห็นความเชื่อในการชำระล้างร่างกายให้บริสุทธิ์ก่อนประกอบพิธีกรรม มีระบบการระบายน้ำ มีย่านการค้า และยังพบรูปปั้นที่ทำจากดินเผา
    ประชากรพื้นเมืองเชื่อว่าเป็นชนเผ่าทฺรวิฑ ดราวิเดียน(Dravidian) หรือทมิฬ เป็นชนเผ่าดั้งเดิมก่อนที่พวกอารยันจะอพยพเข้ามา
        พวกดราวิเดียน เป็นพวกที่สร้างอารยธรรมนี้ ชนกลุ่มนี้รู้จักการใช้โลหะ ทำเครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆ รู้จักการทอผ้า เพาะปลูก สร้างที่อยู่ด้วยอิฐ    ทำระบบชลประทาน และการเขียนอักษรรูปภาพ






    เครื่องมือเครื่องใช้ที่พบทำจากเขาสัตว์ กระดูกสัตว์ หิน และสำริด และยังพบดวงตราที่มีรูปเทวดาอยู่ตรงกลาง ล้อมรอบด้วยเสือ สิงห์ กรกะทิง แรด และยังพบศิวลึงค์ซึ่งเป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่งในศาสนาพราหมณ์







      
    วัฒนธรรมการแต่งกายเป็นอีกสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงความเจริญรุ่งเรือง คือ การนำฝ้ายมาตัดเป็นเครื่องนุ่งห่ม และมีเครื่องประดับหลายชนิด พบแผ่นประทับตราที่มีลวดลายคนและสัตว์ มีจารึกตัวอักษรเป็นข้อความสั้นๆแต่ไม่มีใครสามารถอ่านออก เครื่องหมายเหล่านี้อาจเป็นกำเนิดของตัวอักษรอินเดีย




    อารยธรรมแม่น้ำสินธุเสื่อมลงเนื่องจากภัยธรรมชาติ คือ น้ำท่วมและพายุทราย ประกอบกับชนเผ่าอินโด-อารยันเข้ามารุกราน 

       
    ชนเผ่าอินโด-อารยัน
    พวกอารยันมีผิวขาว จมูกโด่ง รูปร่างสูง ซึ่งแตกต่างจากชาวพื้นเมืองเดิม ชาวอารยันได้ยึดบ้าน ทรัพย์สินของพวกทมิฬ ให้ชาวทมิฬเป็นผู้รับใช้ และถูกเรียกว่า ทาส ซึ่งเป็นที่มาของการเกิด “วรรณะ”
    การรวมกลุ่มของชาวอารยันเริ่มจากหน่วยที่เล็กที่สุดคือ ครอบครัว บิดามีอำนาจสูงสุดเพียงผู้เดียว
    อาชีพของชาวอารยัน คือ การเลี้ยงปศุสัตว์
    ชนเผ่าอินโด-อารยันมีสินค้าส่งออกที่สำคัญคือ ผ้าไหม เครื่องเทศและน้ำหอม
    ชาวอารยันมีความสามารถในการประดิษฐ์อาวุธและสร้างรถม้าเคลื่อนที่เร็ว

    อารยธรรมของพวกอารยัน
    อารยธรรมของพวกอารยันที่สำคัญ คือ การแต่งบทสรรเสริญพระผู้เป็นเจ้าในพิธีบูชายัญโดยนักบวช และบทสรรเสริญนี้ถ่ายทอดต่อกันมาโดยการท่องจำ ครั้นถึงประมาณ 1,000 ปีก่อนคริสต์ศักราช มีการรวบรวมและจัดระเบียบ แต่ก็ยังไม่มีการจดบันทึก จนกระทั่งราวศตวรรษที่ 8 หรือศตวรรษที่ 7 ก่อนคริสต์ศักราช อินเดียจึงเริ่มมีการประดิษฐ์ตัวอักษร และมีการจดบันทึกคัมภีร์ทั้งหลาย





    อารยธรรมอินเดียสมัยประวัติศาสตร์ แบ่งเป็น 3 สมัย
    1.สมัยมหากาพย์
    2.สมัยจักวรรดิ
    3.สมัยมุสลิม


    1.สมัยมหากาพย์

    เป็นสมัยที่มีการใช้ตัวหนังสือบันทึกเรื่องราว การปกครองเริ่มแรกปกครองแบบชนเผ่าอารยัน มีราชาเป็นผู้ปกครองอำนาจสูงสุดเด็ดขาด
        ในสมัยนี้มีมหากาพย์ดัง 2 เรื่องคือ รามายณะของฤษีวาลมิกิ และมหาภารตะฤษีวยา ที่สะท้อนเกี่ยวกับการปกครองสังคม เศรษฐกิจ ของชาวอารยันสมัยนั้น




    มีความเชื่อในเรื่องการบูชายัน ภูตผีปีศาจ และอำนาจต่างๆทางธรรมชาติ ซึ่งต่อมาได้มีการบูชารูปปั้นของเทวะและเทวี ซึ่งกลายมาเป็นต้นแบบของศาสนาฮินดู

    ปลายสมัย ชนเผ่าอารยันขยายตัวออกไป มีการดำเนินการปกครองแบบราชาธิปไตยจากราชา เปลี่ยนเป็น กษัตริย์ เป็นสมมติเทพ


    2.สมัยจักรวรรดิ
    เป็นสมัยที่มีความสำคัญต่อการวางพื้นฐานของแบบแผนทางสังคม ศิลปะ วัฒนธรรมอินเดีย ที่ยังคงสืบเนื่องต่อมาถึงปัจจุบัน
    สมัยจักรวรรดิแบ่งเป็น 5 สมัยคือ
    - จักรวรรดิมคธ
    - จักรวรรดิเมารยะ
    - สมัยแบ่งแยกและรุกรานจากภายนอก
    - สมัยจักรวรรดิคุปตะ
    - อินเดียหลังสมัยจักรวรรดิคุปตะ

    จักรวรรดิมคธ
        ตั้งอยู่บริเวณภาคตะวันออกของลุ่มแม่น้ำคงคา เป็นแคว้นที่มีอนุภาพมากที่สุดในศตวรรษที่6 ก่อนคริสต์ศักราช กษัตริย์ที่มีชื่อเสียงสองพระองค์คือ พระเจ้าพิมพิสาร และพระเจ้าอชาตศัตรู
        ระบอบการปกครองกษัตริย์มีอำนาจสูงสุดมีขุนนาง 3 ฝ่าย คือ
    ฝ่ายบริหาร ฝ่ายตุลาการ และฝ่ายการทหาร รวมเรียกว่า “มหามาตระ”
        พระพุทธศาสนาได้รับการอุปถัมภ์จากกษัตริย์ทั้งสองพระองค์ ทำให้จักรวรรดิมคธกลายเป็นศูนย์กลางพระพุทธศาสนา ในขณะเดียวกันศาสนาพราหมณ์เสื่อมลง เนื่องจากการตีความที่มุ่งเน้นไปที่อิทธิปาฏิหารย์แห่งองค์เทพเจ้าเป็นหลัก แทนที่จะศึกษาเพื่อการหลุดพ้นจากบ่วงทุกข์ตามหลักคำสอนในคัมภีร์


    จักรวรรดิเมารยะ
    จักรวรรดิเมารยะ ในกลางศตวรรษที่4ก่อนคริสต์ศักราช ราชวงศ์นันทะที่ปกครองจักรวรรดิมคธเสื่อมอำนาจลง ราชวงศ์เมารยะได้มีอำนาจขึ้นปกครอง ปัจจุบัน คือพื้นที่ทางภาคเหนือของอินเดีย
        ระเบียบการปกครอง รวมอำนาจไว้ที่พระมหากษัตริย์และเมืองหลวง จักรพรรดิมีอำนาจสูงสุดทางด้านบริหาร กฎหมาย การศาลและการทหาร  มีสภาเสนาบดีและสภาแห่งรัฐเป็นสภาปรึกษา
        กษัตริย์ที่มีชื่อเสียงของราชวงศ์เมารยะคือ พระเจ้าอโศกมหาราช ทรงนำหลักพระพุทธศาสนามาใช้ในการปกครอง และทำนุบำรุงพุทธศาสนาอย่างจริงจัง นอกจากนี้ยังให้อิสรภาพในการเลือกนับถือศาสนา โดยเฉพาะศาสนาพราหมณ์ ทรงยกเลิกการแบ่งชั้นวรรณะ


    สมัยแบ่งแยกและการรุกรานจากภายนอก
    จากความเสื่อมอำนาจของราชวงศ์เมารยะมีผลกระทบต่ออินเดีย 2 ประการ
    - อาณาจักรใหญ่น้อยแบ่งแยกออกเป็นอิสระ
    - เกิดการรุกรานจาก กรีก อิหร่าน เปอร์เชีย ศกะ กุษาณะ
        เมื่อมาตั้งถิ่นฐานก็ย่อมรับวัฒนธรรมอินเดยไว้ด้วย และกรีกเปอร์เชียก็ได้ถ่ายทอดวัฒนธรรมของตนเองเช่น ด้านศิลปกรรม ได้แก่ สถาปัตยกรรม และประติมากรรมให้แก่อินเดียเช่นกัน


    อารยธรรมสมัยคุปตะ
    ได้รับการยกย่องว่าเป็นยุคทองของอินเดีย เนื่องจากพระเจ้าจันทรคุปต์มีความพยายามที่จะฟื้นฟูอาณาจักรมคธให้รุ่งเรือง
        มีมหาวิทยาลัยต่างๆเกิดขึ้นมากมาย เช่น  มหาวิทยาลัยนาลันทา มหาวิทยาลัยพาราณสี มีเมืองหลายเมืองกลายเป็นศูนย์กลางการศึกษา เช่น เมืองสาญจี
        การแพทย์ในสมัยนี้มีวิธีการผ่าตัด และเรียนรู้การทำสบู่และปูนซีเมนต์
        ทรงให้การอุปถัมภ์พุทธศาสนาเป็นอย่างดีถึงแม้พระองค์จะนับถือพราหมณ์ ทรงอนุญาติให้ชาวลังกามาสร้างวัดพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทขึ้น
        หลวงจีนฟาเหียนเดินทางมานำพระไตรปิฏกกลับไปเป็นการส่งเสริมพระพุทธศาสนาให้แพร่กระจายไปยังดินแดนต่างๆ


    หลังสมัยจักรวรรดิคุปตะ
    ราชวงศ์คุปตะเริ่มเสื่อมอำนาจลงชนต่างชาติได้รุกรานอินเดีย ภาคเหนือแบ่งแยกเป็นแคว้นเล็กๆ มีราชวงศ์ต่างๆเข้ามายึดครอง หลังการสิ้นสุดจักรวรรดิคุปตะ ชนชาติที่มากรุกรานนับถือพราหมณ์ จึงได้กวาดล้างชาวพุทธให้สิ้นซาก และวัด แต่พระพุทธศาสนาในอินเดียยังคงรุ่งเรืองอยู่




    3.สมัยมุสลิม
    มุสลิมที่เข้ารุกรานอินเดีย คือมุสลิมเชื้อสายเติร์กจากเอเชียกลาง เข้าปกครองอินเดียภาคเหนือ ตั้งเมืองเดลี เป็นเมืองหลวง เมื่อเข้ามาปกครองมีการบีบบังคับให้ชาวอินเดียมานับถือศาสนาอิสลาม ราษฎรที่ไม่นับถือศาสนาอิสลามจะถูกเก็บภาษี “จิซยา” ในอัตราสูง หากหันมานับถือจะได้รับการยกเว้น การกระทำของเติร์กส่งผลให้สังคมอินเดียเกิดความแตกแยกระหว่างพวกฮินดูและมุสลิมจนถึงปัจจุบัน
    สังคมและวัฒนธรรมอินเดีย

    ระบบวรรณะ
    ในคัมภีร์ 4 วรรณะ ดังนี้

    1. วรรณะพราหมณ์ เกิดจากโอษฐ์ของพระพรหม มีสีเครื่องแต่งกายประจำวรรณะคือสีขาวซึ่งแสดงถึงความบริสุทธิ์มีหน้าที่ กล่าวมนต์ ให้คำปรึกษากับพระเจ้าแผ่นดิน ตลอดจนสอนมนต์ให้แก่คนทั่วไป ส่วนพวกที่เป็นนักบวชก็ทำหน้าที่สอนไตรเภทและประกอบพิธีทางศาสนา

    2. วรรณะกษัตริย์ เกิดจากพระอุระของพระพรหม และถือว่าสืบเชื้อสายมาจากพระอาทิตย์ สีเครื่องแต่งกายประจำวรรณะคือสีแดงซึ่งหมายถึงนักรบ ทำหน้าที่รบเพื่อป้องกันหรือขยายอาณาจักร รวมทั้งเป็นนักปกครอง เป็นพระเจ้าแผ่นดินหรือคณะผู้ปกครองแบบสามัคคีธรรม

    3.วรรณะแพศย์ เกิดจากโคนขา หรือ สะโพกของพระพรหมของพระพรหมมีสีเครื่องแต่งกายประจำวรรณะคือ สีเหลือง เป็นพวกแสวงหาทรัพย์สมบัติ ได้แก่พวกพ่อค้า คหบดี เศรษฐี และเกษตรกร

    4. วรรณะศูทร เกิดจากพระบาท(เท้า) ของพระพรหม มีสีเครื่องแต่งกายประจำวรรณะคือสีดำหรือสีอื่น ๆ ที่ไม่มีความสดใส มีหน้าที่เป็นกรรมกร ลูกจ้าง
             ยังมีอีกวรรณะหนึ่งซึ่งถือว่าเป็นพวกต่ำสุด คือ จัณฑาล ลูกที่เกิดจากพ่อแม่ต่างวรรณะกัน ซึ่งจะถูกรังเกียจและเหยียดหยาม


    ปรัชญาและลัทธิศาสนาของสังคมอินเดีย
        อินเดียเป็นแหล่งกำเนิดศาสนาสำคัญของโลกตะวันออก ได้แก่ ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู พระพุทธศาสนา และศาสนาเชน หลักคำสอนของพระพุทธศาสนาและศาสนาเชน เป็นผลมาจากการคิดไตร่ตรองทางปรัชญา เพื่อแสวงหาสัจจะการดำเนินชีวิต และหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด ส่วนหลักคำสอนของศาสนาพราหมณ์-ฮินดูมีรากฐานมาจากคิดค้นสร้างระบบปรัชญา เพื่อสนับสนุนความเชื่อและความศรัทธาที่มีต่อพระเจ้า  ศาสนาพราหมณ์-ฮินดูมีการทำพิธีกรรมบวงสรวงพระเจ้า ซึ่งเป็นหน้าที่สำคัญในการปฏิบัติศาสนกิจ







    เทพเจ้าของอินเดีย
            ในบรรดาเรื่องราวของเทพเจ้าของชนชาติทั้งหลายนั้น เทพเจ้าของอินเดียนับว่ามีเรื่องราวและประวัติความเป็นมาที่ซับซ้อนมากกว่าชาติอื่น และกล่าวกันว่า ตั้งแต่สมัยดึกดำบรรพ์ ชนชาติอริยกะ หรืออินเดียอิหร่านที่อพยพไปตั้งถิ่นฐานอยู่ในลุ่มแม่น้ำสินธุ มีการนับถือเทพเจ้าและมีคัมภีร์พระเวทเกิดขึ้น พวกอริยกะ หรืออารยันนั้น แต่เดิมก็นับถือธรรมชาติ เช่น ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ ท้องฟ้า ลม และไฟ ต่อมามีการกำหนดให้ปวงเทพเกิดมีหน้าที่กันขึ้น โดยตั้งชื่อตามสิ่งที่เป็นธรรมชาตินั้นๆ แล้วก็เกิดมีหัวหน้าเทพเจ้าขึ้น ดังที่ปรากฏอยู่ในคัมภีร์พระเวท ซึ่งก็คือพระอินทร์
        สมัยของพระเวท จึงมีผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า มีมาก่อนพุทธกาลราว 1,000 ปีและบางตำราบอกว่า เทพเจ้าดั้งเดิมของพวกอริยกะนั้นมีพระอินทร์ พระสาวิตรี พระวรุณ และพระยม (พระสาวิตรี คือ ดวงอาทิตย์) ส่วนอีกตำราหนึ่งกล่าวว่า เทพเจ้าที่เก่าที่สุด คือ พระอินทร์ พระพฤหัสบดี พระวรุณ และพระยม เทพที่พราหมณ์ยกย่องนั้น มีเพียงไม่กี่องค์ที่ปรากฏอยู่ในพระเวท ซึ่งก็คือพระอินทร์ ที่ถือว่ามีฤทธิ์อำนาจมาก
            พวกพราหมณ์จะทำหน้าที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาและติดต่อกับเทพเจ้า จึงเป็นฐานะที่ผู้คนยกย่องนับถือที่สุดในระบบวรรณะ
    จากหลักฐานโบราณที่เป็นจารึกบนแผ่นดินเหนียวอายุราว 1,400 ปี ก่อนคริสตกาล เรียกว่าแผ่นจารึก โบกาซ คุย หรือจารึก เทเรีย ซึ่งขุดพบที่ตำบลดังกล่าว ของดินแดนแคปปาโดเซีย ในตุรกี จารึกนี้ ได้ออกนามเทพเจ้าเป็นพยานถึง 4 องค์ นั่นก็คือ พระอินทร์ (lndra) เทพเจ้าแห่งพลัง มิทระ (Mitra) พระวรุณ (Varuna) และ นาสัตย์ (Nasatya) คือ พระนาสัตย์อัศวิน (Asvins)   นับเป็นชื่อเทพเจ้าที่เก่าที่สุดที่ถูกเอ่ยนาม แสดงว่าลัทธิพราหมณ์ มีมายาวนานยิ่งนัก




    ศิลปกรรมอินเดีย
             งานสร้างสรรค์ศิลปกรรมแขนงต่างๆของอารยธรรมอินเดียมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับความเชื่อทางศาสนา ศิลปกรรมแขนงต่างๆของอินเดียจึงมักปรากฏนับเนื่องในศาสนา ทั้งศาสนาพราหมณ์-ฮินดู พระพุทธศาสนา และศาสนาเชน

            ความศรัทธาและความเคารพต่อศาสนาของชาวอินเดีย ทำให้มีการสร้างกฎเกณฑ์เกี่ยวกับลักษณะของงานศิลปะต่างๆมีลักษณะร่วมกันอย่างมาก อิทธิพลศิลปะจากภายนอก เช่น เปอร์เซีย กรีก แม้จะมีผลสำคัญต่อพัฒนาการทางศิลปะอินเดีย แต่ภายในเวลาไม่นานก็จะถูกกลมกลืนเข้ากับศิลปะอินเดีย

         ศิลปกรรมของอินเดียเริ่มปรากฏหลักฐานในอารยธรรมลุ่มน้ำสินธุ ราว 2,500 ปีก่อนคริสต์ศักราช ในสมัยต่อมาชาวอารยันเข้ามาในอินเดีย แต่ไม่ปรากฏหลักฐานงานทางศิลปะของพวกอารยันวิวัฒนาการทางศิลปะของอินเดียจึงขาดช่วงเป็นเวลาเกือบพันปี จนกระทั่งถึงสมัยพุทธกาลจึงได้ปรากฏหลักฐานทางศิลปะที่ชัดเจนขึ้นทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือแถบลุ่มน้ำสินธุ เป็นศิลปะที่ได้รับอิทธิพลจากจักรวรรดิเปอร์เซียและศิลปะแบบเฮลเลนิสติกของกรีก

             อิทธิพลของศิลปะภายนอกดังกล่าวได้พัฒนามาสู่ศิลปกรรมสมัยราชวงศ์เมารยะ ซึ่งเป็นศิลปะสมัยแรกที่มีหลักฐานปรากฏชัดเจน ในช่วงสมัยนี้พระพุทธศาสนาเป็นแรงบันดาลใจสำคัญในการสร้างสรรค์ศิลปกรรม และยังมีความสำคัญต่อสกุลศิลปะในสมัยต่อมา


             ในสมัยราชวงศ์คุปตะ ศิลปะแขนงต่างๆได้พัฒนาไปมากจนกระทั่งได้ก่อกำเนิดยุคทองทางศิลปะของอินเดีย จนกระทั่งหลังศตวรรษที่ 12-13 แบบอย่างของศิลปะอิสลามแพร่ขยายอย่างกว้างขวาง ขณะที่ศิลปะในพระพุทธศาสนาสูญสิ้นไปและศิลปะในศาสนาพราหมณ์-ฮินดูเสื่อมโทรมเป็นเวลานานหลายศตวรรษ

    สถาปัตยกรรม

            การขุดพบซากเมืองฮารัปปาและโมเฮนโจดาโรสมัยอารยธรรมลุ่มน้ำสินธุทำให้เห็นว่าสถาปัตยกรรมอินเดียมีมาเกือบ 5,000 ปีแล้ว มีการวางผังเมืองและการก่อสร้างซึ่งเน้นประโยชน์ใช้สอยมากกว่าความสวยงาม

             หลักฐานทางสถาปัตยกรรมของอินเดียในสมัยต่อมากำหนดอายุได้ราวต้นพุทธกาล มีการพบซากเมืองโบราณหลายสิบเมือง บริเวณสองฟากฝั่งลุ่มน้ำคงคาจนถึงที่ราบลุ่มปัญจาบ แต่ร่องรอยที่พบไม่ได้แสดงพัฒนาการสืบเนื่องทางสถาปัตยกรรมจากสมัย อารยธรรมลุ่มน้ำสินธุสถาปัตยกรรมที่เป็นศิลปะอย่างชัดเจนปรากฏขึ้นในสมัยราชวงศ์เมารยะ ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากจักรวรรดิเปอร์เซีย

            ได้แก่ สถูป เสาหิน ตลอดจนฐานรากของพระราชวัง สถาปัตยกรรมดังกล่าวมักเกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนาเพื่อแสดงถึงความศักดิ์สิทธิ์ของสถานที่ หรือเพื่อเป็นอนุสรณ์ถึงเหตุการณ์สำคัญ เช่น พระสถูปที่สาญจี เสาหินที่เมืองสารถี และพระราชวังของพระเข้าอโศกมหาราชที่เมืองปาฏลีบุตร สถาปัตยกรรมอินเดียสมัยต่อมาเป็นสมัยที่ราชวงศ์กุษาณะมีอำนาจเหนืออินเดียทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือ และราชวงศ์มธุราในภาคกลางของอินเดีย เกิดศิลปะสำคัญขึ้น 3 แบบ คือ ศิลปะแบบคันธาระ แบบมถุรา และแบบอมราวดี ซึ่งเป็นศิลปะเนื่องในพระพุทธศาสนา

             ในสมัยราชวงศ์คุปตะและหลังสมัยคุปตะ สถาปัตยกรรมที่สร้างขึ้นมีทั้งที่เนื่องในพระพุทธศาสนาและศาสนาพราหมณ์-ฮินดูควบคู่กันไป  มีการสร้างสถูป เจดีย์ และอาคารทางพระพุทธศาสนาเพิ่มขึ้นอีกหลายแบบรวมทั้งการสร้างเทวสถานในนิกายต่างๆของศาสนาฮินดู

             ในสมัยมุสลิม สถาปัตยกรรมอินเดียจะผสมระหว่างศิลปะฮินดูและเปอร์เซีย เช่น สุสานตาชมะฮัล ( Taj Mahal ) ซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมหินอ่อนที่มีชื่อเสียงมาก สร้างในสมัย พระเจ้าชาห์จะฮาน ( Shah Jahan ค.ศ.1628-1658 ) กษัตริย์ราชวงศ์มุคัล เพื่อเป็นที่ระลึกถึงนางมุมตาซ มะฮัล (Mumtaz Mahal) มเหสีของพระองค์

    ประติมากรรม

             ประติมากรรมรุ่นแรกๆของอินเดียอยู่ในสมัยราชวงศ์เมารยะ เป็นประติมากรรมลอยตัวขนาดใหญ่ สลักจากหิน มีรูปร่างหนัก แข็งกระด้าง แสดงท่าหยุดนิ่ง เช่น รูปยักษ์ รูปสตรี นอกจากนี้ก็มีประติมากรรมภาพสลักนูนต่ำเป็นภาพพุทธประวัติ ภาพชาดกประดับตกแต่งรั้ว ซุ้มประตู และฐานสถูป เช่น ภาพสลักนูนต่ำที่เมืองภารหุตและที่สาญจี


             ประติมากรรมที่เป็นพระพุทธรูปสมัยแรก คือ พระคันธาระ ( คริสต์ศตวรรษที่1-2 ) โดยรับอิทธิพลจากศิลปะกรีก เห็นได้ชัดจากพระหัตถ์และพระวรกาย ตลอดจนริ้วจีวรเป็นแบบกรีก พบมากในบริเวณที่ราชวงศ์กุษาณะปกครอง คือ ภาคเหนือ ภาคตะวันตกเฉียงเหนือของอินเดียรวมตลอดถึงอัฟกานิสถานของเอเชียกลาง

             ประติมากรรมพระพุทธรูปของศิลปะเมถุราซึ่งอยู่ในระยะเวลาเดียวกัน ได้รับอิทธิพลของศิลปะแบบคันธาระผสมกับลักษณะพื้นเมือง โดยทั่วไปมีลักษณะเหมือนศิลปะคันธาระ แต่พระเศียรพระพุทธรูปเกลี้ยง พระพักตร์กลม จีวรเป็นริ้วห่มเฉียงดูนุ่มนวล นอกจากนี้ยังมีประติมากรรมรูปยักษ์ ยักษิณี นาคและนาคี ท้าวกุเวร พระโพธิสัตว์ รูปกษัตริย์ราชวงศ์กุษาณะ และรูปติรภังกรของศาสนาเชน

             พระพุทธรูปในศิลปะแบบอมราวดีเป็นแบบผสมอิทธิพลของกรีก วงพระพักตร์ของพระพุทธรูปค่อนข้างยาว พระเกตุมาลาปรากฏอย่างชัดเจนบนพระเศียร และมีขมวดพระเกศาเวียนขวาเป็นขมวดเล็กๆ พระพุทธรูปครองจีวรหนาและมักห่มเฉียง

            ประติมากรรมสมัยคุปตะ เป็นศิลปะที่แสดงศิลปะแบบอินเดียอย่างแท้จริง มีทั้งพระพุทธรูปและเทวรูปในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู มักมีขนาดใหญ่โต เช่น พระพุทธรูปปางปรินิพพานในถ้ำอชันตะ เทวรูปเครื่ององค์ของพระมเหศวรมูรติและพระอุมาที่ ถ้ำเอเลฟันตา พระพุทธรูปที่เมืองบามิยานในอัฟกานิสถาน


             สมัยหลังคุปตะ ประติมากรรมอินเดียมักจะสร้างตามกฎเกณฑ์มากขึ้นและไม่ค่อยเป็นธรรมชาติ ลักษณะโดยทั่วไปจะมีรูปร่างหนักและหนา ความเป็นธรรมชาติน้อยลง มีการประดับตกแต่งเพิ่มขึ้น พบจำนวนมากที่ถ้ำอชันตะ รวมทั้งเกาะลังกาและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

    จิตรกรรม

             จิตรกรรมสมัยราชวงศ์เมารยะส่วนใหญ่สูญหายไปหมดแล้ว โดยเฉพาะจิตรกรรมที่ใช้ตกแต่งภาพปูนปั้นล้อมรอบผนังสถูป จิตรกรรมเก่าสุดที่ยังเหลืออยู่ในปัจจุบันพบที่เพดานถ้ำโดยคีมารา ในทิวเขารามคฤหะ ภาคตะวันออกของอินเดีย วาดขึ้นด้วยสีดำ ขาว และแดง เป็นภาพเขียนอย่างง่ายๆค่อนข้างหยาบ

             จิตรกรรมอินเดียสมัยต่อมาอยู่ในสมัยศิลปะอมราวดีเป็นภาพจิตรกรรมฝาผนังถ้ำที่อชันตะ แม้ภาพจะลบเลือนแต่แสดงให้เห็นถึงความงดงามของลายเส้นที่ทำให้ภาพมีความอ่อนช้อย การจัดวางภาพบุคคลและและลวดลายเครื่องประดับมีลักษณะตำแหน่งที่ชัดเจน


             จิตรกรรมสมัยคุปตะและหลังสมัยคุปตะ เป็นสมัยที่รุ่งเรืองที่สุดแห่งงานจิตรกรรมของอินเดีย ปรากฏอยู่อย่างสมบูรณ์และมีจำนวนนับสิบแห่ง ที่ผนังถ้ำอชันตะเป็นภาพเขียนในพระพุทธศาสนาเล่าเรื่องชาดกต่างๆราว 30 เรื่อง และพุทธประวัติบางตอน ภาพเกี่ยวกับประเพณีชีวิตประจำวันของประชาชนและชีวิตในราชสำนัก ความสามารถในการวาดเส้นและการอาศัยประโยชน์จากเงามืดบริเวณขอบภาพ ทำให้ภาพแลดูเคลื่อนไหว ให้ความรู้สึกหลังจากยุครุ่งเรืองแห่งจิตรกรรมของอินเดียก็เสื่อมลง

    นาฏศิลป์และสังคีตศิลป์

             มีความสำคัญต่ออารยธรรมอินเดียมาตั้งแต่โบราณ ถือเป็นศิลปะชั้นสูง และเป็นส่วนหนึ่งของพิธีกรรมเพื่อบูชาเทพเจ้าตามคัมภีร์พระเวทอันศักดิ์สิทธิ์ของชาวอินเดีย นาฏศิลป์และสังคีตศิลป์จึงเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของชาวอินเดียทั้งทางด้านศาสนาและชีวิตประจำวัน

            นาฏศิลป์ที่เกี่ยวกับการฟ้อนรำมีกำเนิดจากวัด ราชสำนัก และจากท้องถิ่นพื้นบ้านก่อนคริสต์ศตวรรษที่ 1-2 นาฏศิลป์ของอินเดียเป็นแบบแผนมั่นคงแล้ว เพราะในตำรานาฏยศาสตร์ เรียบเรียงโดยภรตมุนี ได้กล่าวถึงนาฏยศาสตร์ในทุกๆด้านอย่างละเอียดตั้งแต่การฟ้อนรำ การแสดงออกของอารมณ์ต่างๆ การแต่งตัว การแต่งหน้า อุปกรณ์ที่จำเป็นสำหรับการแสดง ภาษาที่ใช้ในการจัดแสดง ตลอดจนถึงเรื่องการสร้างโรงละครและพิธีกรรมต่างๆ

             ส่วนการดนตรีหรือสังคีติศิลป์ นับตั้งแต่สมัยพระเวท บทสวดสรรเสริญเทพเจ้าทั้งหลายถือเป็นแบบแผนการร้องที่เก่าแก่ที่สุดในสังคีตศิลป์ของอินเดีย แบ่งเป็นดนตรีสากลที่บรรเลงในศาสนสถานและประกอบพิธีกรรมทางศาสนา ดนตรีในราชสำนัก และดนตรีท้องถิ่น นิยมบรรเลงประกอบการแสดงละคร ส่วนเครื่องดนตรีที่ใช้บรรเลงประกอบบทสวดและการร่ายรำที่สำคัญ คือ วีณาหรือพิณใช้สำหรับดีด เวณุหรือขลุ่ย และกลอง

    วรรณกรรม
             พัฒนาการทางวรรณกรรมของอินเดียเริ่มจากการเป็นบทสวดในพิธีบูชาเทพพระเจ้าซึ่งท่องจำด้วยปากเปล่าถ่ายทอดสืบต่อกันมานานนับพันปี วรรณกรรมอินเดียเน้นหนักไปทางด้านศาสนา แม้ว่าภายหลังเนื้อหาจะขยายขอบเขตออกไปกลายประเภท แต่วรรณกรรมเหล่านั้นก็ยังอ้างเรื่องราวทางศาสนาอยู่เสมอ

       วรรณกรรมอินเดียแบ่งตามพัฒนาการทางภาษาออกเป็น 4 กลุ่ม คือ     
              1) วรรณกรรมภาษาพระเวท หมายถึง วรรณกรรมที่ใช้ภาษาสันสกฤตโบราณของพวกอารยัน ประกอบด้วย ฤคเวท แต่งเป็นบทร้อยกรองสำหรับใช้สวดสรรเสริญเทพเจ้า ถือเป็นวรรณกรรมเริ่มแรกที่สุด ยชุรเวท เป็นบทร้อยแก้วว่าด้วยการประกอบแบบแผนพิธีกรรมและพิธีบวงสรวง สามเวท เป็นบทร้อยกรองสวดในพิธีถวายน้ำโสมแก่พระอินทร์และขับกล่อมเทพเจ้าองค์อื่น อาถรรพเวท เป็นบทรวบรวมเวทย์มนตร์คาถาอาคม

             2) วรรณกรรมตันติสันสกฤต หรือ วรรณกรรมสันสกฤตแบบแผน คือวรรณคดีซึ่งใช้ภาษาสันสกฤตที่วิวัฒนาการมาจากภาษาเก่าของพระเวท รูปแบบคำประพันธ์มักเป็นประเภทร้อยกรองที่เรียกว่า โศลก งานสำคัญคือ มหาภารตะ และ รามายณะ ถือเป็นมหากาพย์สำคัญที่สุดของอินเดีย มหากาพย์ทั้งสองเรื่องนี้มีเรื่องราวสะท้อนให้เห็นลักษณะสังคม การเมือง ศาสนา และชีวิตความเป็นอยู่ของชาวอินเดียในช่วงระยะเวลาประมาณระหว่าง 1,000-500 ปีก่อนคริสต์ศักราช ซึ่งเรียกว่า ยุคมหากาพย์

             3)วรรณกรรมสันสกฤตผสม ภาษาสันสกฤตผสมเป็นภาษาสันสกฤตที่แตกต่างไปจากภาษาพระเวทและตันติสันสกฤต ใช้เขียนหลักธรรมและเรื่องราวทางพระพุทธศาสนา งานนิพนธ์เป็นแบบร้อยแก้ว งานนิพนธ์สำคัญและมีชื่อเสียงมาก ได้แก่ พุทธจริต ของอัศวโฆษ

             4) วรรณกรรมภาษาบาลี ใช้ในวรรณกรรมพระพุทธศาสนานิกายเถรวาท เขียนเป็นร้อยแก้ว อธิบายหลักธรรมคำสอนทางพระพุทธศาสนา เช่น พระไตรปิฎกชาดก วรรณกรรมภาษาทมิฬ ซึ่งดัดแปลงจากวรรณกรรมสันสกฤตส่วนวรรณกรรมที่เป็นของทมิฬเองจริงๆ ไม่มีหลักฐานปรากฏ วรรณกรรมสันสกฤตที่มีอิทธิพลต่อวรรณกรรมภาษาทมิฬมาก คือ มหาภารตะ รามายณะ และคัมภีร์ปุราณะ

    ความก้าวหน้าทางวิทยาการของอินเดีย

             วิทยาการสาขาต่างๆของอินเดียที่บันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรมีความสมบูรณ์น้อยมากมักจะพบหลักฐานอยู่น้อยและกระจัดกระจาย

    ภาษาศาสตร์
             ภาษาสันสกฤตมีความสำคัญอย่างมากต่ออารยธรรมอินเดีย เป็นภาษาที่ใช้อยู่ในคัมภีร์พระเวท ซึ่งชาวอินเดียเชื่อว่าพระผู้เป็นเจ้าประทาน จึงมีความศักดิ์สิทธิ์ มีการแต่งตำราว่าด้วยไวยากรณ์ขึ้นหลายเรื่อง เช่น นิรุกตะ ของยาสกะ ( ประมาณ 500 ปีก่อนคริสต์ศักราช ) อธิบายประวัติที่มาและความหมายของคำ โดยเลือกคำมาจากคัมภีร์พระเวท หนังสือที่สำคัญมากอีกเล่มหนึ่ง คือ อัษฎาธยายี ของปาณินิ ( ราว 400 ปีก่อนคริสต์ศักราช ) นักไวยากรณ์คนสำคัญหนังสือเล่มนี้ยังมีต้นฉบับสมบูรณ์ถึงปัจจุบัน เป็นตำราไวยากรณ์เล่มแรกที่วางหลักเกณฑ์ไว้อย่างรัดกุมเกี่ยวกับการใช้ภาษาสันสกฤต

             ชาวอินเดียให้ความสนใจเรื่องภาษาศาสตร์มาก มีการแต่งหนังสือศัพทานุกรม หรือโกศะขึ้นหลายเล่ม โดยรวบรวมศัพท์และความหมายที่ถูกต้องของศัพท์ไว้ เมื่อมุสลิมเติร์กเข้าปกครองอินเดียตอนเหนือ ได้นำเอาภาษาสันสกฤต ภาษาอารบิก และภาษาเปอร์เซียมาผสมกันเป็นภาษาใหม่ เรียกว่า ภาษาอูรดู ( Urdu ) ซึ่งเป็นภาษาที่มุสลิมใช้พูดกันในอินเดียปัจจุบัน

    ธรรมศาสตร์และนิติศาสตร์

             ธรรมศาสตร์ในทัศนะของอินเดียมีความหมายกว้าง คือ เป็นทั้งกฎหมาย ศาสนบัญญัติ จารีตประเพณี ศีลธรรม และหน้าที่ ซึ่งมีพื้นฐานมาจากธรรมสูตรซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของคัมภีร์พระเวท หนังสือเล่มแรกที่รวบรวมกฎและหน้าที่เกี่ยวกับฆราวาส คือ มนูสมฤติ หรือ มานวธรรมศาสตร์

             เขียนขึ้นระหว่าง 200 ปีก่อนคริสต์ศักราช ถึง ค.ศ. 200 กล่าวถึงการสร้างโลก กฎหมายแพ่ง-อาญา หน้าที่ของวรรณะต่างๆ ชีวิตของคฤหัสถ์ การออกบวช ชีวิตในภพหน้า และการเข้าถึงโมกษะ เป็นการแสดงให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างเทพเจ้ากับมนุษย์ สังคมมนุษย์ และอุดมคติสูงสุดของมนุษย์ภายใต้กฎเกณฑ์และหน้าที่ที่รวมกัน เรียกว่า ธรรมศาสตร์

             นิติศาสตร์หรือาถรรกศาสตร์ หมายถึง เรื่องราวเกี่ยวกับการเมืองการปกครองและความมั่งคั่งของสังคมบ้านเมือง ดังนั้นจึงเป็นศาสตร์ที่ว่าด้วยการปกครอง การบริหารบ้านเมืองเพื่อนความรุ่งเรืองมั่งคั่ง งานเขียนเล่มสำคัญที่สุดคือ อรรถศาสตร์ ของ เกาฏิลยะ

             เขียนขึ้นราว 400 ปี ก่อนคริสต์ศักราช เป็นการวางหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการปกครองบ้านเมือง โดยไม่เกี่ยวข้องกับศาสนาเหมือนธรรมศาสตร์ เนื้อหากล่าวถึงหน้าที่ของกษัตริย์ วินัยขององค์รัชทายาท คุณสมบัติของผู้ปกครองประเทศ การปกครองรัฐ การอุตสาหกรรม กฎหมายแพ่ง-พาณิชย์ กฎหมายอาญา การทหาร การเมือง เงินเดือนของข้าราชการ วิธีเอาชนะสงคราม
    แพทยศาสตร์
             หลักฐานทางประวัติศาสตร์ได้แสดงออกว่าการแพทย์ของอินเดียมีมานานแล้ว ในจารึกของพระเจ้าอโศกมหาราชกล่าวถึงโรงพยาบาลสำหรับรักษาผู้เจ็บป่วย และในบันทึกของเมกัสเธนีส ทูตกรีกที่เข้ามายังกรุงปาฏลีบุตรในสมัยพระเจ้าจันทรคุปต์กล่าวถึงเรื่องการแพทย์ นอกจากนี้มีหนังสือหลายเล่มกล่าวถึงวิชาการแพทย์ เช่น อรรถศาสตร์ ระบุถึงการใช้ยาพิษ หนังสือ มหาภาสนะ ของปตัญชลี มีศัพท์ว่า ไวทยกัม ซึ่งหมายถึง อายุรเวทหรือแพทยศาสตร์นั่นเอง คัมภีร์บาลี ของฝ่ายพระพุทธศาสนากล่าวถึง ชีวกะ แพทย์ผู้มีชื่อเสียง

            ยังมีตำราทางอายุรเวทของอินเดียโบราณที่สำคัญอีกหลายเล่ม เช่น จรกะสังหิตา ของจรกะ เขียนขึ้นราวคริสต์ศตวรรษที่ 1 กล่าวถึงเรื่องยารักษาโรค อาหาร กายวิภาค และชีววิทยา ว่าด้วยสัตว์แรกเกิด อาการของโรค การศึกษาเกี่ยวกับอายุรเวททั่วไป และตำรา สุศรุตสังหิตา แต่งโดย สุศรุต กล่าวถึง ศัลยศาสตร์ และแปลเป็นภาษาอาหรับในคริสต์ศตวรรษที่ 8

    ชโยติษ ( ดาราศาสตร์ โหราศาสตร์ และคณิตศาสตร์ )

             ชโยติษเป็นศาสตร์ที่ใช้ประกอบกับคัมภีร์พระเวท ในระยะแรกหมายถึงดาราศาสตร์เพื่อใช้ประกอบยัญกรรมและพิธีกรรมตามคัมภีร์พระเวท ในการประกอบพิธี ฤกษ์ยามมีความสำคัญมาก จึงต้องอาศัยวิถีโคจรของดวงอาทิตย์ดวงดาวที่โคจรมาอยู่ในตำแหน่งต่างๆในแต่ละช่วงเวลา การโคจรของดวงดาวยังมีอิทธิพลต่อชีวิตทั้งหลาย ทำให้ชโยติษในความหมายของดาราศาสตร์ผนวกเข้ากับโหราศาสตร์

             ขณะเดียวกันการค้นหาตำแหน่งต่างๆของดวงดาวทำให้เกิดศาสตร์การคำนวณหรือคณิตศาสตร์ ซึ่งรวมถึงเรขาคณิต พีชคณิต และตรีโกณมิติ อินเดียโบราณได้พัฒนาวิทยาการทางด้านคณิตศาสตร์มาก ชาวอินเดียเป็นชนชาติแรกที่ประดิษฐ์เลข 0 ขึ้นใช้ ทำให้มีหลักหน่วย หลักสิบ หลักร้อย หลักพัน ในการคำนวณได้โดยไม่สับสน ต่อมาพวกอาหรับรับเลข 0 ไปใช้ และถ่ายทอดให้กับชาวยุโรปอีกต่อหนึ่ง ส่วนเรขาคณิต พีชคณิต และตรีโกณมิติ ชาวอินเดียได้รับอิทธิพลมาจากกรีก

    อิทธิพลอารยธรรมตะวันออกที่มีต่อภูมิภาคต่างๆของโลก

    การเผยแพร่และการถ่ายทอดอารยธรรมอินเดีย
             พัฒนาการหลายพันปีของอารยธรรมอินเดียแพร่ขยายเข้าไปสู่ภูมิภาคต่างๆทั่วทวีปเอเชียโดยผ่านทางการค้า ศาสนา การเมือง การทหาร และได้ผสมผสานกับอารยธรรมแต่ละประเทศจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของอารยธรรมนั้นๆ

            ในเอเชียตะวันออก พระพุทธศาสนานิกายมหายานของอินเดียมีอิทธิพลอย่างลึกซึ้งต่อชาวจีน ทั้งในฐานะศาสนาสำคัญและในฐานะที่มีอิทธิพลต่อการสร้างสรรค์ศิลปะจีน

            สำหรับภูมิภาคเอเชียกลางนั้น กลุ่มชนต่างๆในภูมิภาคนี้มีพัฒนาการทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมร่วมกับชาวอินเดียมาตั้งแต่ยุคสมัยแรกๆ อิทธิพลของอารยธรรมอินเดียที่ปรากฏชัดเจน คือ ศาสนสถาน สิ่งก่อสร้าง รวมทั้งศิลปวัตถุในพุทธศาสนานิกายมหายานแต่นับจากคริสต์ศตวรรษที่ 7 เป็นต้นมา เมื่ออำนาจทางการเมืองของพวกมุสลิมจากตะวันออกกลางขยายเข้ามาในเอเชียกลาง อารยธรรมอิสลามจึงเข้ามาแทนที่ และมีอิทธิพลเหนือกลุ่มชนต่างๆมาจนถึงปัจจุบัน

            ส่วนดินแดนในตะวันออกกลางมีการติดต่อกับอินเดียมาตั้งแต่อารยธรรมลุ่มน้ำสินธุจนกระทั่งถึงศตวรรษที่ 6 ก่อนคริสต์ศักราช จักรวรรดิเปอร์เซียแผ่อำนาจทางการเมืองเข้ามาปกครองลุ่มน้ำสินธุ และพวกกรีกได้เข้ามามีอำนาจทางการเมืองสืบแทน ต่อมาอินเดียจึงได้รับอารยธรรมบางอย่างทั้งของเปอร์เซียและของกรีกโดยเฉพาะทางด้านศิลปกรรม ประติมากรรม เช่น พระพุทธรูปศิลปะคันธาระ แสดงให้เห็นถึงอิทธิพลของกรีกอย่างชัดเจน นอกจากนี้ก็มีทางคณิตศาสตร์ ได้แก่ พีชคณิต ตรีโกณมิติ ซึ่งได้รับมาจากกรีก

            ส่วนอิทธิพลของเปอร์เซียจะปรากฏในรูปของการแกครองและสถาปัตยกรรม เช่น พระราชวัง การเจอะภูเขาเป็นถ้ำเพื่อนสร้างศาสนาสถาน สำหรับอารยธรรมอินเดียที่ถ่ายทอดให้กับดินแดนในตะวันออกกลางนำเอาวิทยาการหลายอย่างของอินเดียไปใช้ ได้แก่ การแพทย์ คณิตศาสตร์ และดาราศาสตร์

             ภูมิภาคที่ปรากฏอิทธิพลของอารยธรรมอินเดียเด่นชัดมากที่สุด คือ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พ่อค้า พราหมณ์ และภิกษุสงฆ์ชาวอินเดียเดินทางมาสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และนำอารยธรรมอินเดียมาเผยแพร่ ขณะเดียวกันคนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็เดินทางไปอินเดียด้วยจุดประสงค์ต่างๆ ทั้งการจาริกแสวงบุญและการค้า และได้นำอารยธรรมอินเดียกลับมาเผยแพร่ในดินแดนของตน

             อารยธรรมอินเดียปรากฏชัดอยู่ในวัฒนธรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แทบทุกด้าน โดยเฉพาะในด้านศาสนา ความเชื่อ การปกครอง ศาสนาพราหมณ์-ฮินดูและพระพุทธศาสนาได้หล่อหลอมจนกลายเป็นรากฐานสำคัญที่สุดของประเทศต่างๆในภูมภาคนี้ ศิลปกรรมอินเดียทุกยุคสมัยไม่ว่าจะเป็นศิลปะอมราวดี มถุรา คุปตะ ปาละ และเสนะ ปรากฏชัดอยู่ตามศาสนสถานและศิลปวัตถุทั่วดินแดนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และตัวอักษรอินเดียก็นับเป็นมรดกสำคัญที่ตกทอดมาถึงภูมิภาคนี้ด้วย


    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×