คืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด
คุณแน่ใจว่าต้องการคืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด ?
ลำดับตอนที่ #3 : การเมือง เศรษฐกิจ และสังคมของยุโรปสมัยกลาง
ความคิดทางการเมืองของนักบวชคริสต์สมัยต้น
พระคัมภีร์ใหม่ (New Testament) มีเนื้อหาสำคัญที่เด่นชัดถือเป็นหลักการเชิงการเมืองของศาสนาคริสต์คือ การยอมรับกฎหมายธรรมชาติ (Natural Law) ความเสมอภาค และความเชื่อว่ารัฐและรัฐบาลเป็นสิ่งที่พระผู้เป็นเจ้าสร้างขึ้น
หลักการทั้งสามประการนี้นอกจากจะปรากฏในพระคัมภีร์ใหม่แล้วบรรดานักบวชคริสต์สมัยต้นอีกหลายท่านยังช่วยอรรถาธิบายเพิ่มเติมจนผู้ที่ศึกษาสามารถเข้าใจได้กระจ่างยิ่งขึ้น เซนต์ปอล (Saint Paul) ได้เขียนไว้ในจดหมายบันทึกเหตุ ความว่า
กฎหมายธรรมชาติถูกลิขิตไว้ในจิตใจของมนุษย์ทุกรูป สามารถที่จะค้นหาพบได้ด้วยเหตุผล เป็นกฎหมายที่แตกต่างจากกฎหมายของรัฐ เป็นเช่นเดียวกับกฎแห่งศีลธรรม (conscience) สิ่งใดผิดหรือถูกสามารถรู้ได้ผ่านทางกฎหมายนี้ โดยมโนสำนึกจะคอยบอกว่าสิ่งใดควรหรือไม่ควร แนวความคิดเรื่องกฎหมายธรรมชาตินี้บรรดาฟาร์เธอร์ของคริสต์ศาสนาในสมัยต่อ ๆ มา ยอมรับว่าเป็นหลักการสำคัญประการหนึ่งของคริสต์ศาสนา นอกจากนี้พระคัมภีร์ใหม่ยังอ้างว่า บรรดารัฐบาลและสถาบันการปกครองต่าง ๆ ล้วนแต่เป็นสิ่งที่พระเจ้าสร้างขึ้นและกำหนดให้เป็นไปทั้งสิ้น ดังนั้นจึงต้องยอมรับว่า บรรดาสถาบันเหล่านี้เป็นสถาบันศักดิ์สิทธิ์ ได้รับหน้าที่จากพระเป็นเจ้า การเคารพเชื่อฟังเป็นพันธะของทุก ๆ คนเช่นเดียวกับพันธะต่อศาสนา “รัฐถูกจัดตั้งขึ้นเพื่อรักษาความยุติธรรม ดังนั้นรัฐจึงมีลักษณะแห่งความศักดิ์สิทธิ์ ผู้ปกครองคือผู้รับใช้ของพระเจ้า การเชื่อฟังจึงเป็นสิ่งจำเป็น” แนวทรรศนะ
เกี่ยวกับกษัตริย์หรือผู้ปกครองที่ปรากฏในคัมภีร์ใหม่จึงเป็นรากฐานของลัทธิเทวสิทธิ (Divine Right)อำนาจของผู้ปกครองมีความชอบธรรม เพราะผู้ปกครองได้รับอำนาจหรืออาณัติมอบหมายมาจากพระเจ้า ผู้ปกครองไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบต่อประชาชน เพราะเป็นผู้ที่ได้รับการรับรองโดยพระเจ้า ประชาชนไม่มีสิทธิต่อต้านหรือไม่ยอมรับผู้ปกครอง เพราะการกระทำเช่นนั้นเป็นการปฏิเสธพระเจ้า “อำนาจทั้งหมดเป็นของพระเจ้า กษัตริย์ทรงปกครอง โดยอำนาจของพระเจ้า ดังนั้นอำนาจของพระองค์จึงไม่มี
ขอบเขต และไม่ต้องรับผิดชอบต่อผู้ใดนอกจากพระเป็นเจ้า” อำนาจของกษัตริย์สืบต่อด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ เพราะพระเจ้าเลือกกษัตริย์โดยยึดหลักสายโลหิต พฤติกรรมของกษัตริย์ พระเจ้าจะเป็นผู้ตัดสินว่าดีหรือไม่ดี ประชาชนหรือองค์การอื่น ๆ ไม่มีสิทธิวินิจฉัย
พระคัมภีร์ใหม่ (New Testament)
เซนต์ปอล (Saint Paul)
ทฤษฎีว่าด้วยอำนาจสูงสุดของพระผู้เป็นเจ้า (Supremacy of God)
ปรัชญาเมธีฝ่ายกฎหมายธรรมชาติ (Natural legal philosopher) ได้อ้างทฤษฎีว่าด้วยอำนาจสูงสุดของพระผู้เป็นเจ้า มาตั้งแต่สมัยเซนต์ออกุสติน โดยอ้างว่าบรรดาสรรพสิ่งทั้งปวงย่อมอยู่ใต้คำบังคับบัญชาของพระผู้เป็นเจ้า ข้อนี้เห็นจะเทียบได้กับเรื่อง “พรหมลิขิต” ตามคตินิยมแบบฮินดู นักชีววิทยาอ้างว่า ทฤษฎีเช่นนี้มีรากฐานความเชื่อมาตั้งแต่สมัยโบราณแล้ว เมื่อมนุษย์เริ่มรู้จักการนับถือผีสางเทวดา (theism) โดยมนุษย์รู้จักกันว่าจะต้องมีสิ่งสูงสุดสิ่งหนึ่งคอยดลบันดาลปรากฏการณ์ต่าง ๆ ทางธรรมชาติ และลิขิตความเป็นไปของชีวิตมนุษย์ กล่าวอีกนัยหนึ่ง มนุษย์เกิดจากลิขิตของสิ่งนั้น และมนุษย์จะต้องกลับไปหาสิ่งที่ลิขิตชีวิต
ในบั้นปลาย ต่อมาเมื่อศาสนาคริสต์ นิกายโรมันคาธอลิก (Roman Catholic) เจริญรุ่งเรืองขึ้นในตอนต้นสมัยกลาง (Middle Age)
ศาสนจักรเรืองอำนาจมากเหนืออาณาจักรทั้งปวงในยุโรป และมีการอ้างอิงว่า กฎหมายธรรมชาติเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับกฎของพระผู้เป็นเจ้า โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ธรรมชาติ” (Nature) ที่ว่านั้นคือ พระผู้เป็นเจ้า (God) นั่นเอง ลัทธิอำนาจสูงสุดของพระผู้เป็นเจ้า
ก็เริ่มเป็นที่กล่าวอ้างกันทั่วไปอย่างกว้างขวางจากแนวคิดของนักบวชคริสต์ดังนี้
เซนต์ออกัสติน (Saint Augustine)
ในบรรดาฟาเธอร์ของคริสต์ศาสนาทั้งหลายในยุคต้น เซนต์ออกัสติน (ค.ศ. 354 - 430) ชาวเมือง
แถบแอฟริกาศิษย์ของเซนต์แอมโบรส เป็นผู้ที่เผยแพร่แนวความคิดที่มีอิทธิพลต่อความคิดทางการเมืองสมัยนั้นและสมัยต่อมา
มากที่สุด ผลงานที่เลื่องชื่อที่สุดของท่านผู้นี้คือ นครของพระเจ้า (City of God) และคำสารภาพ (Confession) ในระยะเริ่มแรกสมัยที่อาศัยอยู่ตามธรรมชาติ คนทุกคนมีความเสมอภาคกันทุกคนมีกฎหมายธรรมชาติเป็นเครื่องยึดเหนี่ยว และกฎหมายธรรมชาติสร้างสันติภาพในการอยู่ร่วมกันของมวลมนุษย์ ต่อมาสภาพธรรมชาติของคนถูกทำลายลงด้วยบาป (Sin) คนแต่ละคนหันไปแสวงหา
ผลประโยชน์ใส่ตนโดยเฉพาะ ความเสมอภาคระหว่างเพื่อนร่วมโลกหมดสิ้นลง บาปจึงเป็นจุดเริ่มต้นของความสับสนในสังคมมนุษย์ ออกุสติน กล่าวว่า “บาปเป็นอาชญากรรมที่แท้จริงของคนชั่ว โดยมีรากฐานมาจากความผิดพลาดและความรักในสิ่งที่ผิด”
ความจำเป็นในการที่ต้องมีผู้ปกครอง มีกฎหมายเพื่อจัดระเบียบและผดุงไว้ซึ่งสันติภาพจึงเกิดขึ้น อาจกล่าวได้ว่ารัฐบาลหรือสถาบันการปกครองเกิดขึ้นเพราะผลแห่งบาปที่มนุษย์สร้างขึน ทรรศนะของเซนต์ออกุสติน เป็นแนวความคิดที่สนับสนุนลัทธิเทวสิทธิ
ตามแบบของนักบวชคริสต์ทั้งหลาย แต่เน้นว่า เฉพาะกษัตริย์หรือผู้ปกครองที่ยอมรับพระเจ้าและเป็นคริสต์ศาสนิกชนเท่านั้นจึงจะประกาศตัวเองได้ว่าเป็นผู้ได้รับอาณัติจากสวรรค์ มอบหมายให้เป็นผู้ปกครองมีอาญาสิทธิเหนือประชาชนทั้งปวง ส่วนผู้ปกครอง
ที่ปฏิเสธคริสต์ศาสนาย่อมไม่ใช่ผู้ที่ได้รับเทวโองการให้มาปกครองในนครรัฐหรืออาณาจักรที่ปกครองโดยกษัตริย์ที่ไม่ใช่
คริสตชนจะไม่มีทางบันดาลความสุขให้เกิดขึ้นกับประชาชนผู้อาศัยได้ ออกุสตินเน้นความศรัทธาในพระเจ้าว่าเป็นหนทางเดียวที่จะนำมนุษย์ไปสู่ความสุข และอำนาจทางการเมืองจะต้องมาจากความศรัทธาในศาสนา ออกุสตินให้ความสำคัญแก่สถาบันศาสนามากกว่าสถาบันการปกครอง เขามีทรรศนะว่า “พระเจ้าได้จัดหาตัวแทนเพื่อช่วยเหลือคนให้พ้นจากบาปได้สำเร็จ และประสบกับชีวิตนิรันดร์ในนครของพระเจ้า ตัวแทนที่ว่านี้คือวัดกับรัฐ วัดมีความสำคัญมากกว่ารัฐ อันที่จริงแล้วรัฐอาจจะเป็นอุปสรรคในการที่จะล้างบาป หากว่ารัฐนั้นไม่ใช่ คริสตรัฐ วัดเป็นสถาบันที่ยิ่งใหญ่เป็นตัวแทนของพระเจ้าบนพื้นพิภพ”
เซนต์ออกุสติน (Saint Augustine)
จอห์นแห่งซัลส์เบอรี่ (John of Salsbury)
จอห์น (ค.ศ. 1120 - 1180) เป็นชาวอังกฤษโดยกำเนิด แต่ได้รับการศึกษาในฝรั่งเศส เมื่อจบการศึกษาได้ทำงานเป็น
เลขานุการของอาร์คบิช็อบ ธอมัส เบ็คเก็ต (Thomas Backet) แห่ง Canterbury ในตอนปลายแห่งชีวิตจอห์นได้เป็นบิช็อบแห่ง Charters จนกระทั่งสิ้นชีวิต ผลงานที่สร้างชื่อเสียงให้กับเขามากคือหนังสือเรื่อง Policraticus ซึ่งแนวความคิดในเล่มนี้มีอิทธิพลมากในสมัยกลาง ในด้านความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันศาสนากับสถาบันการปกครองจอห์นเขียนไว้อย่างชัดแจ้งว่า อำนาจของกษัตริย์ไม่อาจทัดเทียมอำนาจฝ่ายพระ เพราะอำนาจในการปกครองทางโลกนั้น กษัตริย์ได้รับจากพระเจ้าและจากวัดซึ่งมีฐานะเป็นองค์การตัวแทนของพระเจ้าบนแผ่นดิน จอห์นกล่าวว่า “ดังนั้น ดาบเล่มนี้ (อำนาจการปกครองทางโลก) กษัตริย์ได้รับจากมือของฝ่ายวัด แม้ว่าฝ่ายวัดจะไม่มีดาบเปื้อนเลือดเลยก็ตาม ต้องถือว่าวัดเป็นผู้ใช้ดาบเล่มนี้ด้วยมือของกษัตริย์ผู้ซึ่งตนมอบอำนาจบังคับทางกายให้” จอห์น หมายความว่าเนื่องจากฝ่ายศาสนาซึ่งเป็นผู้แทนพระเจ้าบนพิภพมอบอำนาจในการปกครองทางโลกให้กับกษัตริย์ ดังนั้นจึงควรจะมีอำนาจและศักดิ์ศรีเหนือกว่า เพราะศาสนาเป็นฝ่ายให้ความชอบธรรมแก่อำนาจทางการเมือง
จอห์นแห่งซัลส์เบอรี่ (John of Salsbury)
ลักษณะของฟิวดัล
ระบบฟิวดัลหรือระบบศักดินาสวามิภักดิ์ คำว่าฟิวดัล (feudalism) มาจากคำว่า Fiefs หมายถึง ที่ดินที่เป็นพันธะสัญญาระหว่างเจ้านายเจ้าของที่ดิน กับผู้ใช้ประโยชน์ในที่ดินที่เรียกว่า ข้า เจ้าของที่ดินเป็นพวกขุนนาง เรียกว่า ลอร์ด ผู้ที่อยู่ใต้อำนาจ
เรียกว่า วัสซัล ระบบฟิวดัล คือ ความสัมพันธ์ระหว่างเจ้านายกับข้า กษัตริย์ได้มอบที่ดินให้แก่ขุนนาง พวกขุนนางมีสิทธิหา
ผลประโยชน์จากที่ดิน และดูแลปกครองผู้คนที่อาศัยทำมาหากินบนพื้นที่ดินนั้น ตัดสินคดีพิพาทต่างๆ ส่วนพันธะที่มีกษัตริย์ คือ การส่งกำลังไปช่วยในยามสงคราม ส่งภาษี กษัตริย์มีหน้าที่ให้ความคุ้มครอง และความยุติธรรมแก่ขุนนาง ในทางทฤษฎีเป็น
การจัดระบบระหว่างเจ้านายกับข้าตามระดับ กษัตริย์จึงเป็นเจ้านายชั้นสูงสุดของระบบ ที่ดินทั่วราชอาณาจักรเป็นของพระองค์
แต่พระราชทานที่ดินแก่ขุนนางระดับสูง ขุนนางระดับสูงก็จะแบ่งที่ดินให้แก่ขุนนางระดับต่ำกว่าอีกทอดหนึ่ง ระบบนี้แบ่งที่ดินลงเป็นทอด ๆ
ระบบฟิวดัล
ความคิดเห็น