คืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด
คุณแน่ใจว่าต้องการคืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด ?
ลำดับตอนที่ #2 : P.002.1 : วิชาวรรณกรรมศาสตร์ คาบเรียนที่ 1
หญิงสาวเดินเข้ามาในห้องเรียนก่อนจะกวาดสายตามองไปรอบๆ แล้วจดจำสภาพลักษณะของนักเรียนแต่ละคนเอาไว้ในสมองก่อนที่จะเอ่ยบางอย่างออกมา
“สวัสดีนักเรียนทุกคน ฉันมีชื่อว่าศศิรัตนากร นฤเคนทร์ หรือจะเรียกว่าอาจารย์เรย์ก็ได้ รับผิดชอบสอนวิชาวรรณกรรมศาสตร์และวรรณคดีศึกษา...” เรย์เว้นช่วงเล็กน้อยก่อนจะเอ่ยต่อ “ซึ่งในคาบเรียนนี้เราจะเรียนในส่วนของวิชาวรรณกรรมศาสตร์ วิชาที่ว่าด้วยเรื่องของวรรณกรรมทั้งหมด”
“แต่ก่อนอื่นเราจะมาทำความรู้จักกันก่อน...” ดวงตาภายใต้แว่นไร้กรอบสีใสเปล่งประกายประหลาดก่อนจะดับไปอย่างรวดเร็ว “...ลองแนะนำตัวใครครูฟังหน่อยสิ”
“เอาล่ะ…มาเริ่มคลาสแรกของเราก่อนเลย” เรย์เอ่ย “วันนี้เราจะมาพูดถึงความหมายของวรรณกรรมกัน”
เสียงเปิดหนังสือดังขึ้นตามด้วยเสียงใสของหญิงสาว
“วรรณกรรม หรือ Literature หมายถึง งานเขียนที่แต่งขึ้นหรืองานศิลปะ ที่เป็นผลงานอันเกิดจากการคิด และจินตนาการ แล้วเรียบเรียง นำมาบอกเล่า บันทึก ขับร้อง หรือสื่อออกมาด้วยกลวิธีต่างๆ โดยทั่วไปแล้ว จะแบ่งวรรณกรรมเป็น 2 ประเภท คือ วรรณกรรมลายลักษณ์ คือวรรณกรรมที่บันทึกเป็นตัวหนังสือ และวรรณกรรมมุขปาฐะ อันได้แก่วรรณกรรมที่เล่าด้วยปาก ไม่ได้จดบันทึก
ด้วยเหตุนี้ วรรณกรรมจึงมีความหมายครอบคลุมกว้าง ถึงประวัติ นิทาน ตำนาน เรื่องเล่า ขำขัน เรื่องสั้น นวนิยาย บทเพลง คำคม เป็นต้น
วรรณกรรมเป็นผลงานศิลปะที่แสดงออกด้วยการใช้ภาษา เพื่อการสื่อสารเรื่องราวให้เข้าใจระหว่างมนุษย์ ภาษาเป็นสิ่งที่มนุษย์คิดค้น และสร้างสรรค์ขึ้นเพื่อใช้สื่อความหมาย เรื่องราวต่าง ๆ ภาษาที่มนุษย์ใช้ในการสื่อสารได้แก่
1. ภาษาพูด โดยการใช้เสียง
2. ภาษาเขียน โดยการใช้ตัวอักษร ตัวเลข สัญลักษณ์ และภาพ
3. ภาษาท่าทาง โดยการใช้กิริยาท่าทาง หรือประกอบวัสดุอย่างอื่น
ความงามหรือศิลปะในการใช้ภาษาขึ้นอยู่กับ การใช้ภาษาให้ถูกต้อง ชัดเจน และ เหมาะสมกับเวลา โอกาส และบุคคล นอกจากนี้ ภาษาแต่ละภาษายังสามารถปรุงแต่ง ให้เกิดความเหมาะสม ไพเราะ หรือสวยงามได้ นอกจากนี้ ยังมีการบัญญัติคำราชาศัพท์ คำสุภาพ ขึ้นมาใช้ได้อย่างเหมาะสม แสดงให้เห็นวัฒนธรรมที่เป็นเลิศทางการใช้ภาษาที่ควรดำรงและยึดถือต่อไป ผู้สร้างสรรค์งานวรรณกรรม เรียกว่า นักเขียน นักประพันธ์ หรือ กวี (Writer or Poet)
วรรณกรรมไทย แบ่งออกได้ 2 ชนิด คือ
1. ร้อยแก้ว เป็นข้อความเรียงที่แสดงเนื้อหา เรื่องราวต่าง ๆ
2. ร้อยกรอง เป็นข้อความที่มีการใช้คำที่สัมผัส คล้องจอง ทำให้สัมผัสได้ถึงความงามของภาษาไทย ร้อยกรองมีหลายแบบ คือ โคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน และร่าย”
เรย์คลี่ยิ้มก่อนจะเอ่ยต่อ “เอาล่ะ..มีอะไรสงสัยไหม”
“ถ้าไม่มี งั้นฉันจะพูดต่อเลยนะ”
“มีความหมายตามนัยยะ หมายถึง กรรม ที่เกิดขึ้นจากต่างคน ต่างวรรณะ หมายความว่า วรรณะหรือชนชั้นต่างกันก็จะใช้คำต่างกัน คำคำนี้ มีปรากฏขึ้นครั้งแรกในพระราชบัญญัติคุ้มครองวรรณกรรมและศิลปกรรม พ.ศ. 2475 คำว่า วรรณกรรม อาจเทียบเคียงได้กับคำภาษาอังกฤษว่า Literary work หรือ general literature ความหมายแปลตามรูปศัพท์ว่า ทำให้เป็นหนังสือ ซึ่งดูตามความหมายนี้แล้วจะเห็นว่ากว้างขวางมาก นั่นก็คือการเขียนหนังสือจะเป็นข้อความสั้น ๆ หรือเรื่องราวสมบูรณ์ก็ได้ เช่น ข้อความที่เขียนตามใบปลิว ป้ายโฆษณาต่าง ๆ ตลอดไปจนถึงบทความ หรือ หนังสือที่พิมพ์เป็นเล่มทุกชนิด เช่น ตำรับตำราต่าง ๆ นวนิยาย กาพย์ กลอนต่าง ๆ ก็ถือเป็นวรรณกรรมทั้งสิ้น จากลักษณะกว้าง ๆ ของวรรณกรรม สามารถทำให้ทราบถึงคุณค่ามากน้อยของวรรณกรรมได้โดยขึ้นอยู่กับ วรรณศิลป์ คือ ศิลปะในการแต่งหนังสือนั้นเป็นสำคัญ ถ้าวรรณกรรมเรื่องใดมีคุณค่าทางวรรณศิลป์สูง มักเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่าเป็นหนังสือดี”
“ซึ่งวรรณกรรมก็อาจได้รับยกย่องว่าเป็น วรรณคดี อย่างไรก็ตามการที่จะกำหนดว่า วรรณกรรมเรื่องใดควรเป็นวรรณคดีหรือไม่นั้น ต้องคำนึงถึงระยะเวลาที่แต่งหนังสือนั้นยาวนานพอควรด้วย เพื่อพิสูจน์ว่าคุณค่าของวรรณกรรมนั้นเป็นอมตะ เป็นที่ยอมรับกันทุกยุคทุกสมัยหรือไม่ เพราะอาจมีวรรณกรรมบางเรื่องที่ดีเหมาะสมกับระยะเวลาเพียงบางช่วงเท่านั้น ดังนั้นอาจสรุปได้ว่า วรรณคดีนั้นก็คือวรรณกรรมชนิดหนึ่งนั่นเอง กล่าวคือ เป็นวรรณกรรมที่กลั่นกรองและตกแต่งให้ประณีต มีความเหมาะสมในด้านต่าง ๆ อันเป็นคุณค่าของการประพันธ์ หรือจะกล่าวอีกนัยหนึ่ง วรรณคดีนั้นเป็นวรรณกรรม วรรณกรรมไม่จำเป็นต้องเป็นวรรณคดีเสมอไป”
เสียงปิดหนังสือดังขึ้นตามด้วยเสียงพูดของหญิงสาว
“เอาล่ะ…ใกล้จะหมดเวลาเรียนแล้ว” เรย์ใช้ดวงตาสีทะเลมองดูนาฬิกาก่อนจะเงยหน้าขึ้นมา จากนั้นจึงไปเขียนบางอย่างที่กระดาน “ถึงเวลาให้การบ้านแล้ว…”
การบ้านวิชาวรรณกรรมศาสตร์ คาบเรียนที่ 1
คำสั่ง ให้นักเรียนตอบคำถามต่อไปนี้ตามความเข้าใจ
1. วรรณกรรมที่คุณชอบมากที่สุดคือเรื่องใด และเพราะทำไมถึงชอบเรื่องดังกล่าว
ตอบ
2. วรรณกรรมกับวรรณคดีมีความแตกต่างหรือเหมือนกันอย่างไร จงอธิบาย
ตอบ
3. เมื่อคุณได้ยินคำว่า “วรรณกรรม” คุณจะนึกถึงสิ่งใดเป็นสิ่งแรก จงอธิบาย
ตอบ
เมื่อหญิงสาวเขียนการบ้านบนกระดานเสร็จแล้ว เธอก็เดินออกไปทันที
ป.ล. ส่งไม่เกินวันที่พุฤหัสบดีที่ 7 สิงหาคม
ความคิดเห็น