ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    My Study & My Working :

    ลำดับตอนที่ #3 : รอยนิ้วมือ 3

    • อัปเดตล่าสุด 5 ก.ค. 53


     มนุษย์ไร้ลายนิ้วมือ

    อาหารสมอง  วีรกร ตรีเศศ Varakorn@dpu.ac.th  มติชนรายสัปดาห์  วันที่ 03 พฤศจิกายน พ.ศ. 2549 ปีที่ 27 ฉบับที่ 1368

    ลายนิ้วมือซึ่งแต่ละคนมีอย่างไม่ซ้ำกันนั้นถือได้ว่าเป็นสิ่งประเสริฐที่ธรรมชาติให้มา เพราะช่วยทำให้สังคมเรา อยู่กันได้อย่างสะดวก และมีต้นทุนต่ำลงสำหรับสังคม และแต่ละคน แต่กระนั้นก็ตาม มีบางคนในโลกนี้ที่ไม่มีลายนิ้วมือ

    ลองจินตนาการดูว่าหากไม่อาจอาศัยลายนิ้วมือเป็นเครื่องช่วยในการพิสูจน์ตัวตนของมนุษย์แล้ว จนต้องอาศัยม่านตา (Iris) ลายมือ DNA (DNA Fingerprint) ภาพพิมพ์ ฟัน ฯลฯ แล้ว ชีวิตจะลำบากและเกิดต้นทุนสูงขึ้นแค่ไหน

    เพียงจำนำสมบัติของตัวเองก็ต้องใช้กล้องราคาแพงบันทึกลักษณะม่านตา ต้องใช้แล็บช่วยในการหา DNA Fingerprint ไม่อาจอาศัยการปั๊มลายนิ้วได้สะดวกอย่างที่เป็นกันมา การพิสูจน์ตัวตนอาชญากร ผู้ก่อการร้าย การจับโจรที่ถึงจะทิ้งรอยนิ้วมือไว้ก็จะกินเงินทองมากมายของทั้งสังคมและขอแต่ละคน

    ลายนิ้วมือจึงมีประโยชน์อย่างยิ่ง และเป็นประโยชน์ต่อมนุษย์ร้อยละ 99.999999 ยกเว้นคนจำนวนน้อยมากๆ ในโลกที่ไม่มีลายนิ้วมือ คนแหกคอกโดยธรรมชาติเหล่านี้โชคร้าย เพราะนอกจากชีวิตจะยุ่งยากแล้ว (ปั๊มนิ้วกี่หนเขาก็บอกให้ปั๊มใหม่ และอาจถูกสงสัยว่าเป็นอาชญากรที่เพิ่งผ่าตัดทำลายลายนิ้วมือ) ยังมีอาการเจ็บป่วยอีกด้วย

    มนุษย์แต่โบราณตื่นตาตื่นใจกับลายนิ้วมือมนุษย์เช่นเดียวกับลายเส้นบนฝ่ามือ (นำไปสู่การพยากรณ์ชีวิต) และสงสัยว่ามีซ้ำกันหรือไม่ แต่ไม่มีใครมีงานศึกษาเชิงวิทยาศาสตร์พิสูจน์กันจริงจังว่าลายนิ้วมือมนุษย์นั้นไม่ซ้ำกัน และสามารถใช้เป็นสิ่งพิสูจน์ตัวตนได้ จนกระทั่ง ค.ศ.1880 Dr.Henry Faulds เขียนบทความในวารสาร Nature เสนอไอเดียให้ใช้ลายนิ้วมือเป็นเครื่องพิสูจน์ตัวตน แต่ไม่เป็นที่ยอมรับ

    ใน ค.ศ.1892 Sir Francis Galton ใช้สถิติช่วยวิเคราะห์แบบแผนลายนิ้วมือ และเสนอให้ใช้เป็นเครื่องมือพิสูจน์ตัวตน หนังสือของเขาชื่อ Finger Prints สนับสนุนการใช้ลายนิ้วมือ และใน ค.ศ.1901 Scotland Yard ยอมรับเรื่องการใช้ลายนิ้วมือ และนับตั้งแต่นั้นมาก็ใช้กันอย่างกว้างขวางในโลก

    คนที่ไม่มีลายนิ้วมือปลายนิ้วทั้งหมดจะลื่นไม่มีรอยดุนขึ้นมาเป็นสันเหมือนคนปกติ และจะป่วยมีอาการดังนี้ ต่อมเหงื่อไม่ทำงานเป็นปกติจนเหงื่อไม่ออก สันมือและส้นเท้าจะหนาขึ้นทุกที

    ฟันจะผิดปกติไม่แข็งแรง มีปัญหาในเรื่องการควบคุมความร้อนในร่างกายจนอาจชักได้ และบนร่างกายจะมีรอยคล้ายปานสีน้ำตาลเป็นจุดๆ และมีลายด่างเป็นลายเส้น คล้ายตาขายที่ลำตัว คอ แขน และขา ผมร่วง เล็บจะเสื่อมหมดสภาพ ฯลฯ อาการจะเริ่มปรากฏเมื่ออายุ 2 หรือ 3 ขวบ เป็นได้ทั้งหญิงและชาย เป็นสิ่งที่สืบทอดกันทางกรรมพันธุ์อย่างชัดเจน

    ทางการแพทย์แต่เดิมเชื่อว่าคนไร้รอยนิ้วมือทำให้เกิดเป็น 2 โรค คือ กลุ่มอาการของโรคที่เรียกว่า Naegeli Syndrome และ Dermatopathia Pigmentosa Reticularis (DPR) ซึ่งมีอาการของโรคคล้ายกันมาก ล่าสุดเชื่อว่าน่าจะเป็นความผิดปกติเดียวกัน อันเกิดจากความบกพร่องทางพันธุ์กรรม

    บทความใน The American Journal of Human Genetics ตีพิมพ์ในฉบับ October, 2006 ระบุว่าสองโรคดังกล่าวมีสาเหตุมาจากการเปลี่ยนรูปอย่างทำให้เป็นปัญหา (mutate) ของยีนที่มีชื่อว่า Keratin 14 ซึ่งรับผิดชอบการสร้างผิวของทารกและการสร้างลายนิ้วมือในครรภ์มารดา

    ในเกือบเซลล์ทุกชนิดของร่างกายมนุษย์ จะมีโครโมโซมขดเป็นเส้นกันอยู่ (มนุษย์มี 23 โครโมโซม) หากนำโครโมโซมเหล่านี้มาต่อกันเข้า ก็จะเป็นสิ่งที่เรียกว่า DNA มีความยาว 1.3 เมตร ซึ่งมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า DNA เปรียบเสมือนโค๊ดคอมพิวเตอร์ที่สั่งให้ร่างกายทำงาน (โครโมโซมแต่ละตัวมียีนเป็นส่วนประกอบ) โดยแต่ละโครโมโซม และย่อยลงไปถึงยีนจะเป็นคำสั่งให้แต่ละส่วนของร่างกายทำงาน

    หากยีนใดบกพร่องจะด้วยเหตุใดก็ตามที (พันธุ์กรรม โดนสารเคมีบ่อยๆ โดนกัมมันตภาพรังสี ฯลฯ) คำสั่งนั้นก็จะบกพร่องจนทำให้เกิดความผิดปกติขึ้นดังกรณีของยีน Keratin 14

    แต่เดิมแพทย์คิดว่า Naegeli Syndrome และ DPR แตกต่างกัน มีการพบ Naegeli Syndrome ครั้งแรกเมื่อ 80 ปีก่อน ในครอบครัวใหญ่ของชาวสวิสครอบครัวหนึ่ง และต่อมาพบ DPR ใน 4 ครอบครัว โดยพบในแต่ละครอบครัวในอิตาลี อังกฤษ ฝรั่งเศส และอเมริกา

    ในปลายทศวรรษ 1980 ทีมนักวิจัยของ Technion - Israfl Institute of Technology เก็บข้อมูลและวิเคราะห์ DNA จาก 25 คน ใน 5 ครอบครัวข้างต้น และพบว่ายีน KRT 14 เป็นสาเหตุ โดยทั้งสองโรคโดยแท้จริงแล้วก็คือโรคเดียวกัน

    ทั้งสองโรคเป็นโรคที่เกิดขึ้นได้ยากมากๆ กับคนทั่วไปจนไม่น่ากังวล (เป็นได้ยากกว่าถูกแจ๊คพ็อต 2 ตัว 3 ตัว หน่อยหนึ่ง) จะเป็นได้ก็เฉพาะในกรณีของพันธุ์กรรมเท่านั้น

    ล่าสุดพบว่ามีเพียง 4 รายในสหรัฐอเมริกา และนับตั้งแต่ ค.ศ.1958 เป็นต้นมา พบ 12 ราย ส่วนใหญ่ในยุโรป พบน้อยมากในสหรัฐอเมริกาและเอเชีย

    โรคนี้ไม่มีการรักษาเป็นพิเศษที่ได้ผลที่ทำได้ก็คือรักษากันไปตามอาการ คำแนะนำก็คืออย่าพยายามโดนแสงแดด เพราะอาจทำให้เกิดปฏิกิริยาที่รุนแรงขึ้นกว่าเดิมได้ คงไม่ต้องบอกว่าผู้เป็นโรคนี้มีอายุสั้นกว่าปกติ

    ไม่น่าเชื่อว่าจะมีโรคเช่นนี้อยู่ในโลกและผูกพันอย่างใกล้ชิดกับการไม่มีลายนิ้วมืออย่างน่าประหลาดใจ หากแม้ว่าคนทั้งโลกไม่มีลายนิ้วมือ แต่ก็ไม่เป็นโรคเช่นนี้ ก็ไม่น่าพิสมัยอยู่ดีเพราะจะทำให้การพิสูจน์ตัวตนยากขึ้น และสิ้นเปลืองเงินทองขึ้นอีกมากมาย

    ก่อนจบมีข้อมูลเกี่ยวกับลายนิ้วมือที่น่าสนใจ ลิงมีลายนิ้วมือเช่นเดียวกับคน อย่างไรก็ดี มีสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมน้อยชนิดมาก ที่มีลักษณะเช่นนี้ หมีโคล่าที่มีอยู่แห่งเดียวในโลกที่ออสเตรเลีย มีลายนิ้วมือที่คล้ายกับมนุษย์อย่างยิ่ง ถึงแม้ว่าจะเอากล้องจุลทรรศน์ส่องดูลายนิ้วมือของหมีโคล่า และมนุษย์ ก็แทบจะบอกไม่ได้ว่าอันไหนเป็นของใคร

    ด้วยเหตุฉะนี้กระมังหมีโคล่า จึงมีสติไม่ประกอบอาชญากรรมเหมือนมนุษย์ โดยเฉพาะในเรื่องคอร์รัปชั่น เอาแต่เกาะอยู่บนต้นไม้ กินใบยูคาลิปตัสเป็นอาหาร โดยไม่มีการกินน้ำเลยในชีวิต

    http://www.nidambe11.net/ekonomiz/2006q4/2006november03p10.htm
    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×