ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    สาระดนตรีไทย #ฉบับปรับปรุง

    ลำดับตอนที่ #33 : [การละครไทย] ละครพูด

    • เนื้อหานิยายตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 426
      0
      28 ส.ค. 53

               ละครพูดเริ่มขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการแสดงละครพูดสมัครเล่นเป็นครั้งแรก ละครพูดในสมัยนี้แตกต่างกับละครพูดในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร ในสมัยหลัง เกี่ยวกับเนื้อเรื่องคือ เนื้อเรื่องละครพูดที่แสดงในสมัยนี้ดัดแปลงมาจากบทละครรำที่เรารู้จักกันอย่างแพร่หลาย สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงอธิบายถึงการแสดงละครพูดในครั้งรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกลาเจ้าอยู่หัว ว่า "บางทีมีการสโมสรปีใหม่ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เล่นละครสมัครเล่น ผู้ที่เล่นเจ้านายก็มี ขุนนางก็มี แล้วแต่ใครจะสมัครเล่น แต่เล่นเป็นละครพูด" นับว่าละครพูดในภาษาไทยมีขึ้นเป็นครั้งแรกในครั้งนั้น นำเอาเรื่องละครรำ เช่น สังข์ศิลป์ชัยมาเล่นเป็นละครพูดบ้าง เอาเรื่องนิทานมาเล่นบ้าง

    พ.ศ. 2447  สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงสำเร็จการศึกษา และเสด็จนิวัติประเทศไทยแล้ว ทรงตั้ง "ทวีปัญญาสโมสร" ขึ้นในพระราชอุทยานวังสราญรมย์ แต่ในสมัยเดียวกันนี้ได้มีการตั้ง "สามัคยาจารย์สโมสร" ซึ่งมีเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี เป็นประธานอยู่ก่อนแล้ว กิจกรรมของ 2 สโมสรที่คล้ายคลึงกัน คือ การแสดงละครพูดแบบใหม่ ที่ได้รับอิทธิพลจากละครตะวันตก ละครพูดแสดงเป็นครั้งแรกที่สโมสรใดไม่ปรากฏหลักฐานยืนยัน แต่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงมีส่วนร่วมในกิจการแสดงละครพูดของทั้ง 2 สโมสรนี้ จึงได้ถวายพระเกียรติว่าทรงเป็นผู้ให้กำเนิดละครพูด

    พระยาสุนทรพิพิธ ซึ่งเคยเป็นตัวละครในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เขียนเล่าไว้ว่า "ละครพูดได้ถือกำเนิดขึ้นในเมืองไทยที่สถาบันทั้งสองนั้น สมเด็จพระมหาธีรราชเจ้าทรงก่อกำเนิดขึ้น เมื่อแสดงครั้งแรกๆเรียกว่า "ละครทวีปัญญา" หมายความว่า เป็นละครของสโมสรทวีปัญญา ต่อมาจึงตั้งชื่อเป็นหลักฐานว่า คณะศรีอยุธยา ตามพระนามแฝงของรัชกาลที่ 6 ที่ใช้พระราชนิพนธ์บทละครพูด โรงละครที่ใช้แสดงในครั้งนั้น เป็นเรือนไม้ที่ติดอยู่กับมุมกำแพงพระราชอุทยานวังสราญรมย์ ด้านตะวันออกเฉียงเหนือ ตัวสโมสรทวีปัญญาก็คือ เรือนกระจกที่เป็นสมาคมช่างตัดผมในปัจจุบัน"
     

    ในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว อาจกล่าวได้ว่าเป็นยุคทองของละครพูด ประชาชนให้ความสนใจกับละครประเภทนี้อย่างมาก เพราะเห็นว่าเป็นของแปลก และแสดงได้ง่าย พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสนับสนุนละครพูดอย่างดียิ่ง ทรงพระราชนิพนธ์บทละครพูดที่ดีเด่นไว้เป็นจำนวนมาก และทรงร่วมในการแสดงด้วยหลายครั้ง

    ละครพูด แบ่งได้เป็นประเภทใหญ่ๆคือ

    • ละครพูดล้วนๆ หรือละครพูดแบบร้อยแก้ว

    • ละครพูดแบบร้อยกรอง

    • ละครพูดสลับลำ

    ผู้แสดง 

    • ละครพูดล้วนๆ ในสมัยโบราณใช้ผู้ชายแสดงล้วน ต่อมานิยมผู้แสดงชายจริงหญิงแท้

    • ละครพูดแบบร้อยกรอง ใช้ผู้แสดงทั้งชายและหญิง มีบุคลิก และการแสดงเหมาะสมตามลักษณะที่บ่งไว้ในบทละคร น้ำเสียงแจ่มใสชัดเจนดี เสียงกังวาน พูดฉะฉาน ไหวพริบดี

    • ละครพูดสลับลำ ใช้ผู้แสดงทั้งชายและหญิง เหมือนละครพูดแบบร้อยกรอง 

    การแต่งกาย 

    • ละครพูดล้วนๆ แต่งกายตามสมัยนิยม ตามเนื้อเรื่องโดยคำนึงถึงสภาพความเป็นจริงของตัวละคร

    • ละครพูดแบบร้อยกรอง แต่งให้เหมาะสมถูกต้องตามบุคลิกของตัวละคร และยุคสมัยที่บ่งบอกไว้ในบทละคร

    • ละครพูดสลับลำ การแต่งกายเหมือน ละครพูดล้วนๆ หรือแต่งกายตามท้องเรื่อง

    เรื่องที่แสดง

    • ละครพูดล้วนๆ เรื่องที่แสดงเรื่องแรก คือ เรื่อง "โพงพาง" เมื่อ พ.ศ. 2463 เรื่องต่อมา คือ "เจ้าข้า สารวัด!" ทั้ง 2 เรื่องเป็นพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว นอกจากนี้ยังมีบทพระราชนิพนธ์ในพระองค์อีกมากมายที่นิยมนำมาแสดง

    • ละครพูดแบบร้อยกรอง จำแนกตามลักษณะคำประพันธ์ดังนี้ คือ ละครพูดคำกลอน จากบทพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เช่น เรื่องเวนิชวาณิช เรื่องพระร่วง ละครพูดคำฉันท์ ได้แก่ เรื่องมัทนะพาธา แล้วยังมีละครพูดคำฉันท์อีกเรื่องหนึ่งที่นิยมนำมาแสดง คือ เรื่องสามัคคีเภท ของนายชิต บุรทัต ละครพูดคำโคลง ได้แก่ เรื่องสี่นาฬิกา ของอัฉราพรรณ (นายมนตรี ตราโมท)

    • ละครพูดสลับลำ ได้แก่ เรื่องชิงนาง และปล่อยแก่

    การแสดง

    • ละครพูดล้วนๆ ดำเนินเรื่องด้วยวิธีพูด ใช้ท่าทางแบบสามัญชนประกอบ การพูดที่เป็นธรรมชาติ ลักษณะพิเศษของละครพูดชนิดนี้ คือ ในขณะที่ตัวละครคิดอะไรอยู่ในใจมักใช้วิธีป้องปากบอกกับคนดู

    • ละครพูดแบบร้อยกรอง ดำเนินเรื่องด้วยวิธีพูดที่เป็นคำประพันธ์ชนิดคำกลอน คำฉันท์ คำโคลง ซึ่งมีวิธีอ่านออกเสียงปกติเหมือนละครพูดร้อยแก้ว แต่มีจังหวะวรรคตอนเน้นสัมผัสตามชนิดของคำประพันธ์นั้นๆ

    • ละครพูดสลับลำ ยึดถือบทพูดมีความสำคัญในการดำเนินเรื่องแต่เพียงอย่างเดียว บทร้องเป็นเพียงบทแทรกเพื่อเสริมความ ย้ำความ ประกอบเรื่องไม่เกี่ยวกับเนื้อเรื่อง ถ้าตัดบทร้องออกก็ไม่ทำให้เนื้อเรื่องของละครขาดความสมบูรณ์แต่อย่างใด คำว่า "ลำ" มาจากคำ "ลำนำ" หมายถึง บทร้องหรือเพลง

    ดนตรี

    • ละครพูดล้วนๆ บรรเลงโดยวงดนตรีสากลหรือปี่พาทย์ไม้นวมแต่จะบรรเลงประกอบเฉพาะเวลาปิดฉากเท่านั้น

    • ละครพูดแบบร้อยกรอง บรรเลงดนตรีคล้ายกับละครพูดล้วนๆ

    • ละครพูดสลับลำ บรรเลงดนตรีคล้ายกับละครพูดล้วนๆ แต่บางครั้งในช่วงดำเนินเรื่องถ้ามีบทร้อง ดนตรีก็จะบรรเลงร่วมด้วย

    เพลงร้อง

    • ละครพูดล้วนๆ เพลงร้องไม่มี ผู้แสดงดำเนินเรื่องโดยการพูด

    • ละครพูดแบบร้อยกรอง เพลงร้องไม่มี ผู้แสดงดำเนินเรื่องโดยการพูดเป็นคำประพันธ์ชนิดนั้นๆ

    • ละครพูดสลับลำ มีเพลงร้องเป็นบางส่วน โดยทำนองเพลงขึ้นอยู่กับผู้ประพันธ์ที่จะแต่งเสริมเข้ามาในเรื่อง


      http://www.anurakthai.com/

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×