ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    ห้องเก็บการบ้าน

    ลำดับตอนที่ #1 : อารยธรรมฝรั่งเศส(วรรณคดี)

    • อัปเดตล่าสุด 15 ส.ค. 55


    วรรณคดีฝรั่งเศสสมัยศตวรรษที่ 17

    ภาพรวมวรรณคดีศตวรรษที่ 17

                ในวงการวรรณคดีของฝรั่งเศส เหล่าชนชั้นสูงทั้ง กษัตริย์ และขุนนางต่างมีบทบาทสำคัญในการเป็นทั้งผู้อุปถัมภ์และผู้ผลิตวรรณคดี ส่วนสามัญชนที่นับเป็นชนชั้นล่างสุดของสังคมยุคนั้นเข้าถึงวรรณคดีได้เพียงเล็กน้อย กล่าวคือ พวกเขามีโอกาสชมละครและซื้อนิยายเล่มเล็กราคาถูกอยู่บ้าง

                หากย้อนกลับไปช่วงปลายศตวรรษที่ 16 ถึงปลายรัชสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 13 วรรณคดีฝรั่งเศสอยู่ในอิทธิพลบาโรก ลักษณะการประพันธ์ไม่มีข้อบังคับตายตัว ต่อมาความนิยมวรรคดีรูปแนวนี้แทนที่ด้วย วรรณคดีแนวคลาสสิก และแพร่กระจายความนิยมอย่างกว้างขวางในยุคนั้น จนได้ชื่อว่า ศตวรรษที่ 17 คือ “สมัยคลาสสิกของฝรั่งเศส”

                วรรณคดีแนวคลาสสิกนี้ ได้รับเอาแนวคิดมาจากวรรณคดีกรีกโรมันโบราณที่ยึดหลักเหตุผล กล่าวคือ วรรณคดีควรมีความสมเหตุสมผล แม้จะเป็นเรื่องเหนือจริงนักเขียนก็ต้องทำให้ผู้อ่านรู้สึกคล้อยตาม นอกจากการยึดแนวคิดเหตุผลนิยมแล้ว ยังมีการสอดแทรกศีสธรรมเข้ามาด้วย

                ศตวรรษที่ 17 วรรณคดีมีความเฟื่องฟูมาก เห็นได้จากการก่อตั้ง ราชบัณฑิตยสถาน         ( L’Académie  française ) โดย ริเชอริเยอ เพราะเขาตระหนักถึงคุณค่าทางวรรณคดี ในฐานะที่วรรณคดีเป็นสิ่งหนึ่งในการเชิดชูเกียรติของประเทศฝรั่งเศส   ราชบัณทิตยสถานมีหน้าที่เกี่ยวกับงานด้านภาษาและวรรณคดี  เช่น  ชำระภาษาฝรั่งเศสให้บริสุทธิ์  จัดทำพจนานุกรม  ผลิตตำราไวยากรณ์ และพิจารณารางวัลทางวรรณกรรม  เป็นต้น  เหล่านี้ล้วนมีส่วนในการวางรากฐานภาษาฝรั่งเศสให้มั่นคง เพราะสมัยก่อนนักเขียนใช้ภาษาละตินในการสร้างผลงาน การเกิดนโยบายชาตินิยมในศตวรรษที่ 17 ทำให้นักเขียนหันมาใช้ภาษาฝรั่งเศสสร้างงานเขียนแทน

                นอกจากราชบัณทิตยสถานของรัฐแล้ว ยังมีการตั้ง “salon” ขึ้นมากมาย salon นี้ก็คือ สถานที่พบปะสังสรรค์เพื่อพูดคุยและเปลี่ยนความรู้ความคิดเกี่ยวกับวรรณคดีของชนชั้นสูง  salon ที่มีชื่อเสียงส่วนใหญ่ก่อตั้งโดยสุภาพสตรีชั้นสูงในกรุงปารีส โดยใช้คฤหาสน์ของตนเป็นสถานที่ดำเนินกิจกรรมดังกล่าว (ชื่อ salon ตั้งตามชื่อเจ้าของคฤหาสน์ )  วัตถุประสงค์ของ salon คือ จัดกิจกรรมเกี่ยวกับวรรณคดี อาทิ แต่งกลอนสด  อ่านงานประพันธ์ของตนให้สมาชิกฟังและช่วยกันวิจารณ์  เล่นละครขนาดสั้น เป็นต้น  หลังสิ้นสุดเหตุการณ์กบฏลาฟรงด์ปลายปี ค.ศ. 1652 ชนชั้นกลางมีความสนใจเข้าร่วม salon เป็นจำนวนมาก ทั้งในกรุงปารีสและในหัวเมืองต่างๆ

                สองปีหลังเหตุการณ์กบฏลาฟรงด์สิ้นสุด ได้เกิดกลุ่ม La Préciosité ใช้เรียกพฤติกรรมของเหล่าสุภาพสตรีชั้นสูงใน salon ผู้ต้องการยกตนให้ดูมีสูงค่า จึงต้องมีการแสดงออกและใช้ภาษาให้แตกต่างจากสามัญชน  จึงเกิดการบัญญัติศัพท์ใหม่ในกลุ่ม La Préciosité เช่น พวกเธอเรียก  le miroir (กระจกเงา)  ว่า  le conseil des graces (ที่ปรึกษาความงาม)  แม้จะมีนักเขียนร่วมสมัยหลายคนวิพากษ์วิจารณ์สุภาพสตรีชั้นสูงกลุ่มนี้เกี่ยวกับการใช้ภาษาและพฤติกรรมที่ปรุงแต่งเกินพอดีของพวกเธอ แต่กลุ่ม La Préciosité ได้แสดงให้เห็นถึง ความคิดแบบสตรีนิยม จากการที่พวกเธอเรียกร้องสิทธิความเท่าเทียมระหว่างสตรีกับบุรุษ

                วรรณคดีแนวคลาสสิกมีความเจริญสูงสุดในสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 เพราะพระองค์อุปถัมภ์นักเขียนจำนวนมาก ทั้งยังมีพระทัยเปิดกว้าง หากนักเขียนจะวิจารณ์สภาพสังคมหรือแม้กระทั่งตัวพระองค์  แต่วรรณคดีแนวคลาสสิกเริ่มลดอิทธิพลลงไป มาจากการที่นักเขียนเริ่มหาแนวการเขียนซึ่งต่างไปจากแนวเดิมในช่วงปลายศตวรรษที่ 17

     

     

     

    งานเขียนด้านปรัชญาและศาสนา

    1.            เรอเน  เดส์การ์ต  (René  Descartes)

     

    ประวัติ

    เรอเน  เดส์การ์ต  เกิดเมื่อค.ศ.1596 จบการศึกษาด้านนิติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยปัวติเยส์เขาได้รับการยกย่องว่าเป็น “บิดาแห่งปรัชญาสมัยใหม่” และ “บิดาแห่งปรัชญาลัทธิเหตุผลนิยม”เนื่องมาจากความคิดของเขาที่ความคิดต้องตั้งอยู่บนหลักเหตุผล และสามารถพิสูจน์ได้ ดังประโยค “Je pense, donc je suis” (ฉันคิด ฉันจึงเป็น(คน)) การคิดนับเป็นพื้นฐานของการกระทำทั้งยังส่งผลต่อความเป็นมนุษย์อีกด้วย คำพูดของเขาได้กลายมาเป็นเอกลักษณ์และส่งอิทธิพลต่อวรรณกรรมสมัยศตวรรษที่ 17 (วรรณกรรมแนวคลาสสิก)อย่างกว้างขวาง กระทั่งมีการก่อตั้งลัทธิการ์เตเซียง (le catésianism)ขึ้น

         ผลงาน

    -                        Discours de la Méthode  ตีพิมพ์ในปีค.ศ.1637 ถือเป็นงานเขียนทางปรัชญาชิ้นแรกที่เป็นภาษาฝรั่งเศส เนื้อหากล่าวถึง คุณค่าของการใช้เหตุผลของมนุษย์ และสัจธรรมจะพบได้จากการคิดแบบวิทยาศาสตร์เท่านั้น

    2.            แบลส  ปาสกาล  (Blaise Pascal)

    ประวัติ

    ปาสกาลเกิดเมื่อปีค.ศ. 1623  เขาได้รับการยกย่องจากชาวฝรั่งเศสยกย่องให้เป็นนักปราชญ์ที่ยิ่งใหญ่ของชาติ  ปาสกาลมีสติปัญญาดีตั้งแต่เด็กและสนใจด้านคณิตศาสตร์กับวิทยาศาสตร์ เมื่ออายุ 19 ปี เขาสามารถประดิษฐ์เครื่องคิดเลขขึ้นใช้เอง เขาประทับใจคำสอนของสาวกลัทธิฌองเซนิสม์จึงย้ายมาอยู่ที่ปอร์-รัวยาลร่วมกับผู้นับถือลัทธิคนอื่นๆ  

     

     

    ผลงาน

    -                                           Les Provincials  เป็นวรรณกรรมรูปแบบจดหมายรวม 18 ฉบับ ต้องตีพิมพ์อย่างลับๆเพราะผิดกฎหมายในสมัยนั้น เพราะเนื้อหาเกี่ยวข้องกับลัทธิฌองเซนิสม์และเยซูอิต เนื้อความแสดงความไม่เห็นด้วยที่จะปฏิรูปศาสนาคาทอลิกแบบใหม่ แต่ควรยึดตามแบบเก่า เพราะศาสนาไม่ใช้สิ่งที่เปลี่ยนแปลงตามกลุ่มคนในสังคม หรือ กาลเวลา

    -                                            Les pensées  เป็นหนังสือที่ปาสกาลเขียนไม่จบเพราะมีปัญหาด้านสุขภาพและเสียชีวิตไปก่อน ต่อมาจึงมีคนพยายามเรียบเรียงสิ่งที่เขาต้องการนำเสนอจนออกมาเป็นรูปเล่มและตีพิมพ์สู่สาธารณะ

    3.            ฌากส์-เบนิญ บอสซุเอต์  (Jacques – Bénigne Bossuet)

    ประวัติ

           บอสซุเอต์  เกิดเมื่อปีค.ศ. 1627  จบการศึกษาด้านเทววิทยาจากมหาวิทยาลัยนาวาร์ ต่อมาได้บวชเป็นพระ มีความสามารถโดดเด่นเรื่องการเทศนาจนเป็นที่รู้จักและยอมรับทั่วกัน  เขาต้องการสร้างความเป็นปึกแผ่นแก่คริสต์ศาสนานิกายคาทอลิก และต่อต้านทุกลัทธินอกเหนือจากนี้ เขาเป็นพวกอนุรักษ์นิยมที่กล่าวหาว่าละครเป็นสิ่งชั่วร้ายอีกด้วย  แต่เพราะเขามีความสามารถด้านการเทศน์จึงได้รับเลือกเป็นสมาชิกราชบัณฑิตยสถาน เป็นพระอาจารย์ของรัชทายาทในพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 และได้รับตำแหน่งสูงสุดในชีวิตคือ พระราชาคณะแห่งเมืองโมซ์ (Meaux)  

    ผลงาน

    -                                           Declaration  des  Quatres  Articles  บอสซุเอต์เขียนหนังสือเล่มนี้เพื่อตอบสนองพระราโชบายของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ซึ่งมีพระประสงค์จะให้ฝรั่งเศสไม่ต้องขึ้นต่อกรุงโรม

    กวีพิพนธ์

    1.            ฌอง เดอ ลา ฟงแตน  (Jean de la Fontaine)

    ประวัติ

                ลา ฟงแตน  เกิดเมื่อปีค.ศ. 1612 เมื่ออายุ 37 ปีจึงเข้ามาตั้งรกรากในกรุงปารีส เขามีเพื่อนนักเขียนหลายคน และรู้จักกับคนทุกชนชั้น ทำให้มีประสบการณ์จากการพบปะแล้วนำมาดัดแปลงเป็นนิทาน  นอกจากนิทานเขายังแต่งบทกวีไว้อีกหลายบท ความสามารถของเขาทำให้ได้รับเลือกเข้าสู่ราชบัณฑิตยสถานในที่สุด

    ผลงาน

    -                                           Les Fables  เป็นผลงานที่โด่งดังที่สุดของลา ฟงแตน เขาได้ปรับมาจากนิทานอิสป  ในนิทานของเขาแฝงด้วยศีลธรรมเสมอ จุดเด่นอีกอย่างของนิทานเรื่องนี้ คือ ตัวละครส่วนใหญ่เป็นสัตว์ ซึ่งลา ฟงแตนจำลองบุคลิกของคนมาใส่ เช่น  แมวแทนคนหน้าไหว้หลังหลอก  หรือ  มดแทนคนตระหนี่  เป็นต้น

    บทละคร

    1.            ปิแยร์  กอร์เนย  (Pierre  Corneille)

    ประวัติ

    กอร์เนย  เกิดเมื่อปีค.ศ. 1606  เขาเคยประกอบอาชีพทนายความก่อนจะหันมาแต่งบทละคร กอร์เนยเป็นกวีที่รุ่งเรืองคนหนึ่งในศตวรรษที่ 17 ลักษณะการแต่งบทละครของเขาเน้นว่า โศกนาฏกรรมควรมีบทบาทส่งเสริมความรู้สึกนึกคิดมากกว่าเน้นเรื่องเพศและความรัก  ก่อนเสียชีวิตในปี 1684  กอร์เนยได้สร้างบทละครไว้มากกว่า 30 เรื่อง

    ผลงาน

    -                                           Le Cid  กอร์เนยแต่งขึ้นในปีค.ศ. 1636  เป็นบทละครโศกนาฏกรรมที่ได้โครงเรื่องจากบทละครสเปน  Le Cid ถือเป็นผลงานชิ้นเอกที่ส่งให้เขาประสบความสำเร็จสูงสุดในอาชีพนักแต่งบทละคร  และต่อมา Le Cid  ยังถูกแปลเป็นภาษาของประเทศในยุโรปเกือบทุกภาษา  เนื้อหาของ Le Cid มุ่งนำเสนอว่า หน้าที่สำคัญกว่าความรัก ดังจะเห็นจากตัวเอกของเรื่องที่ตัดสินใจเลือกครอบครัว ไม่ใช่หญิงคนรัก

    -                                           Horace   กอร์เนยแต่งขึ้นในปีค.ศ. 1640  เป็นบทละครโศกนาฏกรรมที่ได้โครงเรื่องมาจากบันทึกประวัติศาสตร์โรมันของ ติต-ลิฟ (Tite-Live)   กอร์เนยอุทิศบทละครเรื่องนี้แด่ริเชอริเยอ  ซึ่งเนื้อหาในเรื่องเข้ากับประบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในศตวรรษที่ 17 เป็นอย่างดี ทั้งเรื่องของความจงรักภักดีต่อกษัตริย์และความเป็นชาตินิยม

    2.            ฌอง  ราซีน  (Jean  Racine)

    ประวัติ

                ราซีน  เกิดเมื่อปีค.ศ. 1639  จบการศึกษาด้านมนุษย์ศาสตร์ และมีโอกาสศึกษาโศกนาฏกรรมกรีก คัมภีร์ไบเบิล รวมทั้งแนวคิดลัทธิฌองเซนิสม์ ซึ่งมีอิทธิพลต่อบทละครโศกนาฏกรรมของเขา  ราซีนเริ่มมีชื่อเสียงจากการที่โมลิแยร์นำบทละครเรื่อง La Thébaïde  ของเขาไปเปิดแสดง

    ผลงาน

    -                                           Andromaque  ถือเป็นบทละครยอดเยี่ยมที่สุดในบรรดาบทละครที่ราซีนแต่ง เนื้อหาของบทละครมีเค้าโครงจากประวัติกรุงทรอย กล่าวถึงพระนาง Andromaque ชายาของแฮกเตอร์ที่ถูกจับไปเป็นเชลย และต้องเลือกระหว่างความรักต่อสามีที่ตายไปหรือความรักต่อลูก  นอกจากนี้บทละครยังแสดงให้เห็นถึงความรักที่เป็นทุกข์ได้นำไปสู่ โศกนาฏกรรม

    3.            โมลิแยร์  (Molière)

    ประวัติ

                โมลิแยร์  เป็นนามปากกาของ ฌอง-บัปติสท์ ป็อกเกอแล็ง (Jean-Baptiste Poquelin) เกิดเมื่อปีค.ศ. 1622 หลังจบการศึกษาด้านนิติศาสตร์ก็เข้าสู่วงการละคร เขากับมากแลน เบฌาต์ ร่วมกันสร้างคณะละครชื่อ Illustre Théâtre  เนื่องจากการแสดงที่ปารีสไม่ประสบความสำเร็จเขากับคณะละครจึงออกแสดงตามต่างจังหวัด ในภาคใต้ของฝรั่งเศส ขณะนั้นเองที่เขาได้เริ่มแต่งบทละครของตนเอง ในเวลาต่อมาบทละครสุขนาฏกรรมของเขาก็ได้รับความนิยม ทำให้เขาสามารถกลับมาเปิดการแสดงที่ปารีสได้อีกครั้ง  โมลิแยร์กลายเป็นที่จดจำในฐานะนักแต่งบทละครสุขนาฏกรรม

    ผลงาน

    -                                           L’Avare  เปิดแสดงครั้งแรกในปี 1668  เรื่องนี้กล่าวถึงชนชั้นกลางชื่อ อาร์ปาก็อง มีนิสัยตระหนี่ถี่เหนียวมากเกินไป และนำมาซึ่งปัญหายุ่งยากในครอบครัว  แม้ว่าบทละครเรื่องนี้จะไม่ประสบความสำเร็จในศตวรรษที่ 17 แต่กลับเป็นที่นิยมในศตวรรษที่ 20

    -                                           Tartuffe  บทละครเรื่องนี้เขียนเมื่อปีค.ศ. 1664 มีจุดประสงค์เพื่อเสียดสีพวกที่หน้าไหว้หลังหลอก แสร้งทำเป็นเคร่งศาสนาเพื่อกอบโกยผลประโยชน์ สร้างความไม่พอใจแก่ชาวคริสเตียนเป็นอย่างมาก ทำให้ Tartuffe เคยถูกห้ามเปิดแสดง แต่ต่อมาพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ก็ทรงมีพระบรมราชานุญาตให้เปิดการแสดงเรื่อง Tartuffe หลังโมลิแยร์ปรับปรุงบทละครให้เหมาะสมขึ้น

    วรรณกรรมรูปแบบจดหมาย

    1.            มาดาม เดอ เซวิญเญ่  (Madame de Sévigné)

          ประวัติ

                            มาดาม เดอ เซวิญเญ่  เดิมชื่อ มารี เดอ ราบูแต็ง-ชองตาล (Marie de Rabutin-Chantal)   เกิดเมื่อค.ศ. 1626  ได้รับการศึกษาอย่างดี มีความรู้ด้านภาษาละติน อิตาเลียน และสเปน  เมื่อฟรองซัวส์ บุตรสาวของเธอสมรสกับเคาท์แห่งกรีญญอง (le comte de Grignan) และติดตามสามีไปอยู่ที่แคว้นโพรวองซ์ ด้วยความคิดถึง มาดาม เดอ เซวิญเญจึงเริ่มเขียนจดหมายถึงบุตรสาว กลายมาเป็นจุดเริ่มต้นของวรรณกรรมประเภทจดหมายในวงการวรรณคดีศตวรรษที่ 17

    ผลงาน

    -                                           จดหมาย   มาดาม เดอ เซวิญเญ เขียนจดหมายถึงบุตรสาวนาน 25 ปีจนกระทั่งเสียชีวิต มีการรวบรวมจดหมายได้ถึง 1,155 ฉบับ(ไม่รวมฉบับที่สูญหาย)แล้วนำมาตีพิมพ์ในศตวรรษที่ 18 และ 19  จดหมายของเธอมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ เพราะเป็นเสมือนเครื่องบันทึกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสมัยนั้น เนื้อหาในจดหมายเล่าถึงเหตุการณ์ต่างๆและวิถีชีวิตผู้คนในกรุงปารีส รวมถึงความรู้สึกนึกคิดของมาดาม เดอ เซวิญเญต่อสิ่งเหล่านั้น

    นวนิยาย

    1.            มาดาม เดอ ลาฟาแยต  (Madame de la Fayette)

          ประวัติ

                            มาดาม เดอ ลาฟาแยต  เดิมชื่อ มารี-มาดแลน เดอ ลาแวญ (Marie-Madeleine de Lavergne)  เกิดเมื่อปีค.ศ. 1634  เธอชอบเข้าร่วม salon และคบหากับขุนนางชั้นสูงที่มีความรู้ความสนใจงานวรรณคดี เธอเป็นนักเขียนนวนิยายแนวคลาสสิกซึ่งเป็นนวนิยายแนวใหม่ที่เกิดขึ้นในสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 14  นวนิยายแนวคลาสสิกนี้เน้นความรักที่เกิดจากความปรารถนาไม่ใช่คุณธรรมหรือความเสียสละเหมือนนวนิยายสมัยก่อน

    ผลงาน

    -                                           La princesse  des  Clèves   เป็นนวนิยายอิงประวัติศาสตร์ในสมัยพระเจ้าอองรีที่ 2  ตีพิมพ์เมื่อปีค.ศ. 1678  นับเป็นนวนิยายแนวคลาสสิกที่โดดเด่นที่สุด

    วรรณคดีปลายศตวรรษทที่ 17

    1.            ฌอง  เดอ ลา บรูแยร์  (Jean de la Bruyère)

          ประวัติ

                            ลา บรูแยร์  เกิดเมื่อปีค.ศ. 1645  ได้รับการศึกษาอย่างดีทั้งนิติศาสตร์ ภาษากรีก ละติน และเยอรมัน ในปีค.ศ. 1693 เขาได้รับเลือกให้เป็นสมาชิกราชบัณฑิตยสถาน  เขาไม่ชอบนักเขียนหัวใหม่ แต่สนับสนุนนักเขียนแนวคลาสสิก ผลงานของเขาที่ตีพิมพ์จึงก่อศัตรูกับพวกหัวใหม่

    ผลงาน

    -                                           Les caractère   ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 1688  ลา บรูแยร์ได้แปลมาจากต้นฉบับภาษากรีก ของเตโอฟราสต์ แต่เขาได้สอดแทรกทัศนะคติส่วนตัวต่อสิ่งที่พบเห็นในสังคมและเสียดสีพฤติกรรมคนร่วมสมัย จึงทำให้ Les caractère  แทบจะกลายเป็นผลงานของเขา  แต่การที่เขาจำแนกลักษณะคนในสังคมมากถึง 1,120 ลักษณะ แล้วอธิบายไม่เห็นภาพชัดเจน ทำให้ผลงานของเขาไม่ค่อยเป็นที่นิยมนักในศตวรรษที่ 18

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×