อวสาน ท้ากกกสินจริงหรือ - อวสาน ท้ากกกสินจริงหรือ นิยาย อวสาน ท้ากกกสินจริงหรือ : Dek-D.com - Writer

อวสาน ท้ากกกสินจริงหรือ

เหลี่ยม

ผู้เข้าชมรวม

452

ผู้เข้าชมเดือนนี้

2

ผู้เข้าชมรวม


452

ความคิดเห็น


2

คนติดตาม


0
เรื่องสั้น
อัปเดตล่าสุด :  3 ส.ค. 49 / 01:56 น.


ข้อมูลเบื้องต้นของเรื่องนี้
ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
           เป็นคำถามที่ตัวผู้เขียนยังไม่แน่ใจว่า ทักษิณจะมีวันอวสานจริงหรือไม่ หรือจะเป็น TAKSIN NEVER DIE กันแน่ ผู้เขียนในฐานะรักษาการสมาชิกวุฒิสภาจังหวัดบุรีรัมย์ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหลายสมัย เคี่ยวกรำอยู่กับแวดวงการเมืองมาประมาณ 20 กว่าปี พยายามที่จะตอบคำถามดังกล่าว เพราะมีพันธมิตรฯ หลายต่อหลายท่านได้ถามไถ่มาทั้งทางโทรศัพท์และเมื่อเจอตัว
           
            ประกอบกับ ดร.วุฒิพงษ์ เพรียบจริยวัฒน์ ได้เชิญผมร่วมเป็นวิทยากรรายการเสวนาประชาชนเรื่อง “อวสาน...ท้ากกกษิณ” ในวันอังคารที่ 1 สิงหาคม ระหว่างเวลา 13.00 - 16.30 น. ณ ห้องจุมภฎ-พันธุ์ทิพย์ ชั้น 4 อาคารประชาธิปก - รำไพพรรณี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผมได้ตอบรับพร้อมกับนั่งคิดถึงหัวข้อที่ผมได้รับมอบหมาย ว่าผมจะพูดอย่างไร
           
            เมื่อวันอาทิตย์ที่ 30 กรกฎาคม 2549 ที่ผ่านมา ผมได้มีโอกาสหยิบหนังสือปรัชญาการเมืองมาอ่าน ได้เจอ แนวความคิดทางการเมืองของนักปราชญ์ท่านหนึ่ง คือ มาเคียเวลลี่ เป็นนักปราชญ์ที่เขียนเกี่ยวกับการเมืองในโลกแห่งความเป็นจริง เชื่อว่าก่อนที่เราจะบอกว่า “การเมืองที่ควรจะเป็น” นั้นเป็นอย่างไรต้องรู้เสียก่อนว่า “การเมืองที่เป็นจริง” นั้นเป็นอย่างไร
           
            เขาได้รับการยกย่องว่าเป็นปราชญ์ที่ฉลาดมาก มีคำกล่าวว่า “ใครที่เรียนรัฐศาสตร์แล้วไม่ได้อ่านงานเขียนของมาเคียเวลลี่ ถือว่าไม่ได้เรียนรัฐศาสตร์” ผลงานที่สำคัญของมาเคียเวลลี่ คือ The Prince (เจ้าผู้ปกครอง), Mandragora เป็นบทเสียดสีสังคม
           
            ความเป็นอมตะของ The Prince ที่นักรัฐศาสตร์มักจะอ้างถึง มีเหตุผลดังนี้
           
            1. เขาสร้างผลงาน The Prince บนพื้นฐานความจริงทางการเมือง มาเคียเวลลี่เป็นนักปราชญ์คนแรกของยุคนวสมัย เพราะมองการเมืองบนพื้นฐานความเป็นจริง คำนำในงานเขียนของเขาไม่ได้ต้องการบอกว่างานเขียนของเขามีคุณธรรมหรือไม่ แต่กำลังจะบอกว่า ในโลกความเป็นจริงมันเป็นเช่นนี้
           
            ในบทนำบอกว่า “ขอคารวะมายังเจ้าเมืองคนใหม่ สิ่งที่ข้าพเจ้าเขียนมานั้นมิบังอาจมาสอนท่าน แต่ข้าพเจ้าเขียนมาเพื่อรวบรวมประสบการณ์จากชีวิตของข้าพเจ้าที่ผ่านพบเห็นผู้ปกครองเมืองต่างๆ ว่าเขาปกครองกันอย่างไร ในฐานะที่ข้าพเจ้าอยู่ข้างล่างข้าพเจ้าย่อมเห็นคนข้างบน แต่ข้าพเจ้าเสียเปรียบเพราะท่านอยู่ข้างบน ย่อมมองเห็นสิ่งต่างๆ ได้อย่างรอบข้างกว่าข้าพเจ้า แต่สิ่งที่ท่านจะไม่เห็นเลย คือ ตัวท่านเอง”
           
            2. เป็นการวิเคราะห์เรื่องของอำนาจและการเมืองตามความเป็นจริง ผู้ปกครองทุกคนที่ได้มาศึกษาแล้วต้องอกสั่นขวัญแขวนเหมือนวิญญาณของมาเคียเวลลี่มาจับจ้องแบบตาไม่กะพริบ
           
            3. งานเขียนชิ้นนี้ทำให้เกิดข้อโต้แย้งทางด้านจริยธรรมทางการเมือง มองว่า มาเคียเวลลี่เขียนงานแบบนี้ได้อย่างไร ทั้งนี้เขาไม่ได้ส่งเสริมให้ผู้ปกครองไร้คุณธรรม แต่เขาบอกว่าในโลกความเป็นจริงนั้นมีผู้ปกครองแบบนี้อยู่ มาเคียเวลลี่ได้สรุปลักษณะของผู้ปกครองว่าจะมีลักษณะดังนี้
           
            1) ผู้ปกครองต้องแบ่งแยกแล้วปกครอง เพราะถ้าลูกน้องสามัคคีกัน เจ้านายก็ต้องระวังจะลำบากไม่ได้รับทราบข้อมูลต่างๆ เพราะลูกน้องจะช่วยเหลือปิดบังความผิดซึ่งกันและกัน
           
            2) ผู้ปกครองหลายคนที่อยู่ในอำนาจได้เพราะมีความพยายามสร้างพันธมิตรกับฝ่ายต่างๆ ตลอดเวลา ยิ่งไปกว่านั้นต้องคอยตรวจสอบความเป็นมิตรของมนุษย์ด้วย ถามว่ารักหรือไม่ ก็ตอบว่ารัก แต่จะจริงหรือไม่ต้องตรวจสอบโดยให้เขาทำในสิ่งที่เขาลำบากใจจะทำ
           
            3) ผู้ปกครองจะอยู่ในอำนาจได้ต้องไม่ไว้วางใจผู้ใต้บังคับบัญชา เพราะท้ายที่สุดแล้วขุนนางอำมาตย์หรือบุคคลใกล้ชิดก็จะโค่นล้มผู้ปกครองเสียเอง
           
            4) ผู้ปกครองที่มาจากการสืบทอดอำนาจต้องระลึกเลยว่าขุนนางภายใต้ผู้พ่อนั้นจะมีโอกาสไว้ใจลูกน้อยมาก ลูกต้องพิสูจน์ว่าตนมีความสามารถกว่าพ่อ แต่กว่าจะพิสูจน์ได้ก็ถูกโค่นล้มไปแล้ว ดังนั้น สิ่งที่ต้องทำเป็นสิ่งแรก คือ ต้องปลดขุนนางเอกเพื่อแสดงให้เห็นว่าอำนาจนั้นเป็นของผู้ปกครอง
           
            5) ผู้ปกครองที่ขึ้นมาโดยใช้กำลังต้องระวังผู้ใต้บังคับบัญชา เพราะเขาเห็นเราเป็นเยี่ยงอย่าง เขาเห็นเราโค่นล้มคนอื่นได้ เขาก็โค่นล้มเราได้เหมือนกัน มาเคียเวลลี่บอกว่าคนที่ขึ้นมามีอำนาจโดยใช้กำลัง ต้องหาทางใช้หลักการแบ่งแยกแล้วปกครอง
           
            6) ผู้ปกครองต้องเป็นทั้งราชสีห์และสุนัขจิ้งจอก เพราะราชสีห์มีลักษณะที่น่าเกรงขาม และต้องเป็นสุนัขจิ้งจอกเพราะฉลาด ว่องไว ดุดัน และเจ้าเล่ห์
           
            7) ความเมตตากับความเด็ดขาด ผู้ปกครองนั้นบางช่วงต้องเมตตา บางช่วงก็ต้องมีความเด็ดขาด แต่ใช้ความเด็ดขาดแล้วทำอย่างไรไม่ให้ประชาชนตราหน้าว่าเป็นคนโหดร้ายทารุณ เช่น การที่ผู้ปกครองสั่งประหารชีวิตคน จากนั้นก็ต้องพาประชาชนทำบุญบ้าง เพื่อแสดงให้เห็นว่าผู้ปกครองไม่ได้โหดร้าย แต่สิ่งที่ทำนั้นเป็นเรื่องจำเป็น
           
            8) ผู้ปกครองต้องไม่ทำตัวให้เป็นที่น่ารัก แต่ต้องทำตัวให้เป็นที่น่ากลัว น่าเกรงขาม เพราะความน่ารักเป็นความรู้สึกฝ่ายเดียว แต่ความน่าเกรงขามเป็นความสัมพันธ์ของทั้งสองฝ่าย ความน่ารักทำให้เกิดความคาดหวัง แต่ความน่าเกรงขามทำให้รู้จักยับยั้ง
           
            9) คำสรรเสริญเยินยอเป็นอันตรายสำหรับผู้ปกครอง คนทั่วไปมี 2 หู ผู้นำทั่วไปอยากฟังในสิ่งที่ตนเองอยากฟัง แต่ผู้นำที่ฉลาดควรใช้หูทั้งสองข้างให้เป็นประโยชน์ ผู้นำควรฟังมากกว่าพูด ฝ่ายที่ฟังย่อมได้เปรียบกว่าฝ่ายที่พูด
           
            10) ผู้ปกครองควรใช้ความโอบอ้อมอารีให้เป็นประโยชน์
           
            11) ผู้ปกครองไม่ควรพึ่งจมูกคนอื่นหายใจไม่ควรใช้ทหารรับจ้าง แต่ผู้ปกครองที่ดีต้องสร้างกองทัพของตนให้เข้มแข็ง มาเคียเวลลี่เป็นคนแรกที่เสนอให้มีการเกณฑ์ทหาร ต้องปลุกความรู้สึกของคนในเมืองเดียวกันมาเป็นทหารให้ได้
           
            12) การรักษาคำพูด คำพูดของผู้ปกครองจะย้อนกลับมาสู่ตัว ผู้ปกครองจะรักษาคำพูดก็ต่อเมื่อไม่มีผลเสียต่อตัวเองเท่านั้น
           
            13) ผู้นำควรมีภาพลักษณ์ของผู้มีคุณธรรม เช่น ถ้าต้องฆ่าคนวันละคน 10 วัน กับฆ่าคน 10 คนภายในวันเดียว ผู้ปกครองควรเลือกอย่างหลัง เพราะการฆ่าวันละคน 10 วันเป็นการตอกย้ำถึงความโหดร้าย การฆ่าคนวันละคน 10 วันนั้นทำให้ผู้ปกครองต้องอธิบายเหตุผลในการกระทำทุกวันจนบางครั้งอาจลืมเหตุผลที่แท้จริง ทำให้ชาวบ้านรู้ว่าตนโกหก
           
            14) ประชาชนไม่ชอบผู้ปกครองที่ฟุ่มเฟือย ดังนั้น ผู้ปกครองต้องแอบจัดงาน แอบกินของดีๆ อย่าให้ประชาชนรู้
           
            15) ผู้ปกครองไม่ควรทำตัวให้ถูกมองว่ามีความอ่อนแอเหมือนผู้หญิง
           
            16) ระหว่างคนรอบข้างที่ฉลาดกับจงรักภักดี ผู้ปกครองควรเลือกคนรอบข้างที่จงรักภักดี
           
            เมื่ออ่านมาถึงตอนนี้ ความคิดก็ย้อนกลับไปว่า The Prince ช่างมีลักษณะเหมือนกับท่านผู้นำของเราบางคนเสียเหลือเกิน หรืออาจจะมองย้อนกลับไปว่า ท่านผู้นำของเรามีลักษณะตรงกับ The Prince เสียเหลือเกิน การที่มี The Prince คนที่หนึ่ง ย่อมมี The Prince คนที่ 2 , 3 และ 4 ตามมาไปเรื่อยๆ เพียงแต่มีวิธีการปรับตัวเปลี่ยนแปลงไปตามยุคตามสมัย หรือเรียกว่า “วิวัฒนาการ”
           
            มาถึงตอนนี้ทำให้ผู้เขียนต้องไปหาหนังสือชีววิทยามาศึกษาเพื่อทำความเข้าใจกับเรื่องวิวัฒนาการ พบว่า
           
            สิ่งมีชีวิตชนิดแรกได้ถือกำเนิดขึ้นมาบนโลกเมื่อประมาณ 3,900 ล้านปีมาแล้ว ปัจจุบันเราจะพบสิ่งที่มีชีวิตมากมายหลายล้านชนิดอยู่รอบตัวเราและแต่ละชนิดจะมีรูปร่างลักษณะแตกต่างกันไป
           
            มีคำถามว่าสิ่งมีชีวิตต่างๆ เหล่านี้มาจากไหน เกิดขึ้นได้อย่างไร สามารถดำรงเผ่าพันธุ์ต่อไปได้อย่างไร นักชีววิทยาได้ศึกษาหาคำตอบ พบว่า สิ่งมีชีวิตมีวิวัฒนาการ นั่นคือ การเปลี่ยนแปลงลักษณะพันธุกรรมในประชากรของสิ่งที่มีชีวิต
           
            ลักษณะพันธุกรรมที่เปลี่ยนแปลงนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง โครงสร้าง รูปร่าง ลักษณะหรือหน้าที่การทำงาน เมื่อมีการสะสมในปริมาณที่มากขึ้น นำไปสู่การกำเนิดสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่หรือเกิดสปีชีส์ (Species) วงศ์ (Family) ตลอดจนอันดับ (Order) ไปสู่ไฟลั่ม (Phylum) ในที่สุด
           
            การเมืองก็เป็นเช่นเดียวกัน
           
            ในเมื่อตอนต้นมีการเทียบเคียงกับทฤษฎีทางรัฐศาสตร์ ตอนท้ายผู้เขียนจึงขออนุญาตเทียบเคียงกับแนวคิดทฤษฎีวิวัฒนาการของชาร์ล ดาร์วิน ที่ได้ชื่อว่าเป็น “บิดาแห่งวิวัฒนาการ” แนวคิดของดาร์วิน พอสรุปหลักๆ ได้ดังนี้
           
            1. สิ่งมีชีวิตแต่ละชนิด มีความสามารถในการสืบพันธุ์สูง ถ้าทุกตัวมีโอกาสอยู่รอดได้เท่ากันหมด จะส่งผลให้ประชากรมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น
           
            2. สมาชิกในกลุ่มประชากร มีลักษณะแตกต่างแปรผันมากบ้างน้อยบ้างต่างกันไป
           
            3. เมื่อสมาชิกมาอยู่รวมกัน มีการแข่งขันแก่งแย่งทรัพยากร ในการดำรงชีวิตได้แก่ อาหาร ที่อยู่อาศัย และสิ่งอื่นๆ ตัวไหนที่แข็งแรงกว่า มีความสามารถมากกว่าก็อยู่รอดได้ ตัวที่อ่อนแอจะถูกกำจัด ทำให้เกิดการคัดเลือกโดยธรรมชาติ (Natural Selection)
           
            4. ตัวที่ถูกคัดเลือกไว้ สามารถสืบพันธุ์และถ่ายทอดลักษณะต่อไปยังลูกหลานเมื่อกาลเวลาผ่านไป มีการสะสมลักษณะที่เปลี่ยนแปลงเพิ่มมากขึ้น ในที่สุดทำให้กลายเป็นสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่
           
            ทฤษฎีที่กล่าวมาข้างต้น เมื่อมองไปแล้ว ช่างตรงกับความเป็นจริงทางการมืองของไทยอย่างน่าอัศจรรย์ ก็เหมือนกับผู้นำของเราที่มีการก่อกำเนิดพรรค มีสมาชิกพรรค และเกิดการแข่งขันกันเองภายในพรรค กลุ่มไหนที่แข็งแกร่งก็เป็นฝ่ายที่อยู่รอดไป
           
            ตัวที่ถูกคัดเลือกไว้ ถ้าจะให้ทันสมัยก็ต้องเรียกว่า นอมินี เป็นผู้ที่ดำเนินการแทนท่านผู้นำ ประเภท ได้ครับพี่ ดีครับผม เหมาะสมครับนาย ตามสบายครับท่าน จึงทำให้เกิดปัญหาต่างๆ มากมาย ที่ยังคาราคาซังอยู่
           
            เมื่ออธิบายมาถึงตอนนี้ ก็ได้แต่นั่งถอนใจว่า พวกเราคงต้องเหนื่อยต่อไป กับการจะต้องมาตะโกนว่า ท้ากกกสิน ออกไป
           
            บทสรุปสุดท้ายของคำตอบนี้ คือ การก่อเกิดทักษิณจะมีทดแทนกันอย่างไม่สิ้นสุดอย่างนั้นหรือ
           
            ทำไมโลกนี้จึงต้องสร้างทรราชขึ้นมาทดแทนกันได้เรื่อยๆ
           
            หรือเห็นว่าโลกนี้ได้สร้างวีรชนขึ้นมาเรื่อยๆ เช่นเดียวกัน
           
            นี่เป็นเรื่องที่น่าเศร้าใจที่มีทรราช หรือน่าภูมิใจที่มีวีรชนกันแน่

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    คำนิยม Top

    ยังไม่มีคำนิยมของเรื่องนี้

    คำนิยมล่าสุด

    ยังไม่มีคำนิยมของเรื่องนี้

    ความคิดเห็น

    ×