เมื่อสื่อสำคัญผิดในหน้าที่ทักษิณก็หลอกชาวบ้านได้ - เมื่อสื่อสำคัญผิดในหน้าที่ทักษิณก็หลอกชาวบ้านได้ นิยาย เมื่อสื่อสำคัญผิดในหน้าที่ทักษิณก็หลอกชาวบ้านได้ : Dek-D.com - Writer

    เมื่อสื่อสำคัญผิดในหน้าที่ทักษิณก็หลอกชาวบ้านได้

    คำว่าสื่อ

    ผู้เข้าชมรวม

    243

    ผู้เข้าชมเดือนนี้

    4

    ผู้เข้าชมรวม


    243

    ความคิดเห็น


    0

    คนติดตาม


    0
    เรื่องสั้น
    อัปเดตล่าสุด :  27 มิ.ย. 49 / 12:21 น.


    ข้อมูลเบื้องต้นของเรื่องนี้
    ตั้งค่าการอ่าน

    ค่าเริ่มต้น

    • เลื่อนอัตโนมัติ
      สังเกตไหมครับว่าพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร สยบปากสยบคำมานาน ทีมงานคงจะกำชับเป็นพิเศษ เพราะรู้ว่าปากของท่านถ้าไม่ข่มจิตข่มใจมันก็เท่ากับน้ำมันที่สาดเข้าไปในกองไฟแห่งความขัดแย้งดีๆ นี่เอง สถานการณ์ที่ผ่านมาเกือบ 1 ปีคงจะพิสูจน์ได้
             
              พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรและแกนนำพรรคไทยรักไทยพูดน้อย แต่ในทุกคำพูดก็เกาะหลักอยู่
             
              - ไม่ได้ทำผิด
             
              - ทำตามกติกา, ทำตามกฎหมาย และทำตามรัฐธรรมนูญ
             
              - ยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญ
             
              - ยึดมั่นในการเลือกตั้ง
             
              - ไม่เห็นด้วยกับการนำมวลชนมาเผชิญหน้ากัน
             
              - ปัญหาการเมืองทำให้การแก้ปัญหาความยากจนของรัฐบาลชะงัก
             
              - ยึดมั่นในพระราชดำรัส ที่ให้แต่ละคนแต่ละ
             ฝ่ายทำหน้าที่ของตนเองให้เต็มความสามารถ
             
              วนเวียนอยู่แค่นี้แหละ ถ้าจะมีเพิ่มเติมก็เป็นประเภทที่ว่าขอทำงานหนัก ไม่ขอพูดเรื่องการเมือง
             
              โดยนัยก็เสมือนกล่าวหาพรรคฝ่ายค้าน คุณสนธิ ลิ้มทองกุล และพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ไปในตัวว่าเป็นพวกทำนอกกฎนอกกติกานอกรัฐธรรมนูญ เพราะไม่ส่งคนลงสมัครรับเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2549 ใช้มวลชนมากดดัน และขอนายกรัฐมนตรีพระราชทานตามมาตรา 7 ซึ่งเป็นวิธีการนอกรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นประชาธิปไตย และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัสออกมาแล้วเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2549 ว่าไม่ทรงเห็นด้วย
             
              เป็นการพูดที่ง่าย ถ้าไม่มีพื้นฐานความรู้มากพอก็น่าเชื่อถือไม่หยอก
             
              ต้องยอมรับว่าคนไทยส่วนใหญ่ติดตามข่าวสารอย่างผิวเผินจากหน้าหนังสือพิมพ์และวิทยุโทรทัศน์
             
              ที่จำกัดหน้าที่และบทบาทของตนเองเพียงแค่ 4 W ในทฤษฎีสื่อสารมวลชน
             
              Who, What, When และ Where
             
              ขาด Why ไป!
             
              คือรายงานแต่เพียงว่าใครพูดอะไรเมื่อไรที่ไหน ไม่ได้รายงานว่าทำไม ซึ่งจะต้องเจาะลึกลงไปในเนื้อหาสาระของคำพูดพร้อมให้ข้อมูลประกอบ
             
              นอกจากนั้น ข่าวการเมืองในหน้าหนังสือพิมพ์และวิทยุโทรทัศน์ส่วนใหญ่ก็มักจะเป็นการเมืองในความหมายอย่างแคบ กล่าวคือเป็นเพียงการเมืองในระบบรัฐสภา ที่มีตัวละครเพียงฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน ฝ่ายประชาชนไม่ว่าจะเป็นนักวิชาการหรือองค์กรภาคเอกชนถ้าไม่ดังจริงๆ แล้วมักจะเป็นข่าวน้อย
             
              นอกจากนั้นหนังสือพิมพ์และวิทยุโทรทัศน์ส่วนใหญ่มักจะอย่างความเป็นกลางอย่างผิดๆ
             
              ความเป็นกลางที่มาบดบังบทบาทชี้ W - Why นั่นแหละ
             
              ไม่ต้องพูดถึงว่าความเป็นกลางมีอยู่ในโลกหรือไม่
             
              เอาแค่ความเป็นกลางในความหมายตื้นๆ ที่ให้ความสำคัญในการให้เนื้อที่ข่าวของทุกฝ่ายอย่างเท่าเทียมกัน หนังสือพิมพ์และวิทยุโทรทัศน์ไทยส่วนใหญ่ก็ทำไม่ได้แล้ว ประการหนึ่งสิ่งที่จะเป็นข่าวมักจะต้องมาจากการให้สัมภาษณ์ โดยคนให้สัมภาษณ์ถ้ามีตำแหน่งทางการเมืองจะได้รับการพิจารณาก่อน อีกประการหนึ่งความเท่าเทียมหรือพยายามจะให้เท่าเทียมกันก็วัดกันด้วยการให้สัมภาษณ์ของแต่ละฝ่าย ถ้าสัมภาษณ์รัฐบาลคนหนึ่ง ก็มีสัมภาษณ์ฝ่ายค้านคนหนึ่ง ตัวหนังสือพิมพ์และวิทยุโทรทัศน์ส่วนใหญ่พยายามจะไม่ค้นคว้านำข้อมูลมาบอกเล่าเอง หรือถ้าทำก็จะพยายามจำกัดตัวเองอยู่แค่การให้ข้อมูลกว้างๆ ไม่ตัดสินถูกผิด
             
              ถ้ารู้ธรรมชาติของหนังสือพิมพ์และวิทยุโทรทัศน์ไทยส่วนใหญ่อย่างกระจ่างแจ้งเช่นนี้แล้ว
             
              วิธีบริหารจัดการข่าวให้เกิดประโยชน์ต่อตนเองมากที่สุดก็ไม่ยาก
             
              นี่ผมพูดถึงการปฏิบัติหน้าที่โดยบริสุทธิ์เท่านั้น ยังไม่ได้พูดถึงว่ามีผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนบ้านเราส่วนหนึ่งมีผลประโยชน์ไม่ทางตรงก็ทางอ้อมจากฝ่ายรัฐบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งฝ่ายรัฐบาลที่มาจากกลุ่มธุรกิจใหญ่เช่นปัจจุบัน และยังไม่ได้พูดถึงประเด็นสำคัญที่ว่าวิทยุโทรทัศน์ไทย ณ วันนี้ยังคงเป็นกรรมสิทธิ์ของรัฐบาลและหน่วยงานภาครัฐบาล
             
              เมื่อประกอบกับพื้นฐานความสนใจข้อมูลข่าวสารของคนไทยส่วนใหญ่ของประเทศแล้วก็ยิ่งวังเวง
             
              เอากันง่ายๆ นะครับประชาชนทั้งประเทศมี 60 ล้านคน แต่หนังสือพิมพ์รายวันที่ขายดีที่สุดพิมพ์วันละกี่ฉบับคงจะทราบกันดี
             
              ประมาณ 1 ล้านฉบับ!
             
              หากรวมทุกฉบับแล้วใน 1 วันมีหนังสือรายวันพิมพ์กี่ฉบับทราบใช้ไหมครับ
             
              ประมาณไม่เกิน 2 ล้านฉบับ!
             
              แล้วเนื้อหาสาระและองค์ประกอบทางข่าวของหนังสือพิมพ์จำนวนนี้เป็นอย่างไร ข่าวบันเทิง ข่าวอาชญากรรม ข่าวสังคม และข่าวกีฬา กินเนื้อที่กว่าร้อยละ 50 ข่าวการเมืองก็เป็นไปในลักษณะที่ว่าไว้ข้างต้น คือข่าวคนพูดคนให้สัมภาษณ์เป็นหลักมากกว่าพื้นฐานข้อมูลข่าวสารและการวิเคราะห์ที่อยู่บนพื้นฐานเหล่านั้น
             
              แล้ววิทยุโทรทัศน์ที่กลายเป็นแหล่งข่าวสารหลักของประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศล่ะ คุณภาพข่าวเป็นอย่างไรยังไม่ต้องพูดถึง เอาแค่พื้นที่ข่าวก็มีน้อยนิดมากเมื่อเทียบกับสารพัดรายการน้ำเน่าที่มอมเมาประชาชน รวมทั้งโฆษณาสินค้าที่ทำหน้าที่เป็นโฆษกที่ซื่อสัตย์ของระบบทุนนิยมเสรีที่เน้นการบริโภค
             
              รายการข่าวในวิทยุโทรทัศน์ที่ฮิตก็เป็นประเภทเล่าข่าว คือหาคนข่าวที่เป็นคนดังมานั่งอ่านข่าวหนังสือพิมพ์ให้ฟัง ไม่ใช่รายการที่มีทีมผลิตเอง
             
              ระยะหลังๆ นวัตกรรมใหม่ที่น่าสลดหดหู่คือเอานักแสดงผู้หญิงหน้าตาสวยงามมานั่งเล่าข่าวที่ทีมงานทำสคริปต์มาให้ โดยที่คุณเธอเหล่านั้นไม่ได้ตกผลึกเอง
             
              หนังสือพ็อกเก็ตบุ๊คเมื่อ 30 ปีก่อนโน้นที่ประเทศยังมีประชากรแค่ 45 ล้านคน ยอดพิมพ์เริ่มต้นอยู่ที่ 3,000 เล่ม วันนี้เมื่อประชากรเพิ่มขึ้นอีก 15 ล้านคน คนอ่านออกเขียนได้เพิ่มขึ้น จบปริญญาตรีเพิ่มขึ้น มีมหาวิทยาลัยของรัฐเพิ่มขึ้นเป็นสิบเท่า ยอดพิมพ์พ็อกเก็ตบุ๊คก็ยังคงเริ่มต้นที่ 3,000 เล่มเหมือนเดิม บางหัวข้อที่ออกแนววิชาการต้องสาร์ทลดลงมาที่ 2,000 หรือ 1,500 เล่มด้วยซ้ำ จะมียกเว้นก็ต่อเมื่อคนเขียนเป็นนักแสดง และหัวเรื่องที่เขียนเป็นเรื่องส่วนตัว เรื่องบันเทิงคดี หรือออกแนวสองแง่สองง่าม ไม่ก็ต้องเป็นประเภท How to แต่ไม่ใช่ How to เป็นคนดีคนมีศีลธรรมอย่างไร แต่เป็น How to การเป็นคนมีสตางค์
             
              ใครๆ ก็พูดได้ว่ารับสนองพระราชดำรัส
             
              แต่ตลอดระยะเวลา 60 ปีของการครองสิริราชสมบัติโดยธรรมขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำรัสจำนวนมหาศาล ประชาชนทั่วๆ ไปคงไม่ได้จดจำทั้งหมด
             
              แค่พระราชดำรัสวันที่ 25 เมษายน 2549 ก็เห็นได้ชัดแล้ว
             
              คนสำคัญๆ ของรัฐบาลและพรรคไทยรักไทยมักจะพูดว่าพระองค์ท่านทรงปฏิเสธมาตรา 7 ทรงมีพระราชดำรัสว่าการขอนายกรัฐมนตรีพระราชทานไม่ได้เป็นประชาธิปไตย
             
              หนังสือพิมพ์และวิทยุโทรทัศน์ส่วนใหญ่ไม่ค่อยจะได้ให้ข้อมูลพื้นฐานประกอบ ไม่ค่อยจะได้ตั้งคำถามกลับไปยังรัฐบาลในประเด็นต่างๆ ที่รัฐบาลนำมาพูดมาอ้างอิงง่ายๆ
             
              เมื่อหนังสือพิมพ์และวิทยุโทรทัศน์ส่วนใหญ่ทำหน้าที่ของตัวเองแต่เพียงแค่นี้
             
              จึงยากที่จะทำให้ชาวบ้านส่วนใหญ่รู้เท่ารู้ทันพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร!

      นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

      loading
      กำลังโหลด...

      คำนิยม Top

      ยังไม่มีคำนิยมของเรื่องนี้

      คำนิยมล่าสุด

      ยังไม่มีคำนิยมของเรื่องนี้

      ความคิดเห็น

      ×