;;;;ครุฑพ่าห์สัญลักษณ์สูงส่งที่หายไป;;;; - ;;;;ครุฑพ่าห์สัญลักษณ์สูงส่งที่หายไป;;;; นิยาย ;;;;ครุฑพ่าห์สัญลักษณ์สูงส่งที่หายไป;;;; : Dek-D.com - Writer

    ;;;;ครุฑพ่าห์สัญลักษณ์สูงส่งที่หายไป;;;;

    ผู้เข้าชมรวม

    560

    ผู้เข้าชมเดือนนี้

    1

    ผู้เข้าชมรวม


    560

    ความคิดเห็น


    2

    คนติดตาม


    0
    เรื่องสั้น
    อัปเดตล่าสุด :  1 มิ.ย. 49 / 22:38 น.


    ข้อมูลเบื้องต้นของเรื่องนี้
    ตั้งค่าการอ่าน

    ค่าเริ่มต้น

    • เลื่อนอัตโนมัติ
             เพิ่งทราบจริงๆ จากเวทีอภิปราย “ปฏิญญาฟินแลนด์ : ยุทธศาสตร์ครองเมืองของไทยรักไทย” เมื่อวันพุธก่อนว่าเดี๋ยวนี้บัตรประจำตัวประชาชนรุ่นใหม่ของประเทศไทยไม่มีตรา “ครุฑ” หรือ “ครุฑพ่าห์” - ซึ่งเป็นทั้งตราแผ่นดินและสัญลักษณ์พระมหากษัตริย์ - ประทับอยู่แล้ว
             
              และจนถึงวันนี้ก็ยังไม่เห็นคำชี้แจงใดๆ ออกมาจากกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย
             
              ว่าเหตุผลกลใดจึงเปลี่ยนแปลง

             
              มีแต่คำแก้ตัวเห่ยๆ จาก น.ต.ศิธา ทิวารีว่า (1) เป็นเรื่องของหน่วยงาน ไม่ใช่เรื่องของรัฐบาลหรือพรรค (2) ในบัตรก็มีทั้งรูปแผนที่ประเทศไทย รูปพระบรมมหาราชวัง และรูปธงชาติไทย ซึ่งล้วนเป็นสัญลักษณ์ของพระมหากษัตริย์อยู่แล้ว
             
              ผมมีความผูกพันกับ “ครุฑ” และ “ตราครุฑ” มาตั้งแต่เด็ก
             
              เพราะช่วงปี 2508 - 2512 สมัยผมเด็กและคุณพ่อยังมีชีวิตอยู่ ท่านรับราชการในสำนักพระราชวังเป็นหัวหน้าแผนกหมายและทะเบียน มีหน้าที่ราชการส่วนหนึ่งเกี่ยวข้องกับการขอรับพระราชทาน “ตราครุฑ” หรือ “ตราตั้ง” บริษัทห้างร้านเอกชน
             
              มาจนวันนี้เมื่อลูกๆของผม สนใจวรรณกรรมเอกที่มีรากมาจากฮินดูอย่าง “รามเกียรติ์” ก็เลยต้องค้นมารายละเอียดมาเล่าให้เขาฟัง

             
              “ครุฑ” เป็นสัตว์กึ่งเทพในวรรณกรรมอินเดีย พญาครุฑชื่อ “เวนไตย” เป็นพาหนะของพระนารายณ์
             
              “ครุฑพ่าห์” หมายถึงครุฑกางปีก สื่อถึงครุฑที่เป็นพาหนะของพระนารายณ์โดยตรง
             
              “ครุฑพ่าห์” หรือ “พระครุฑพ่าห์” เป็นสัญลักษณ์ของราชบัลลังก์ เป็นตราประจำแผ่นดินของประเทศไทยที่สืบทอดกันมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา
             
              ควรเข้าใจว่า “ครุฑ” นั้นมีทั้งพ่าห์และไม่พ่าห์ คือมีทั้งที่กางปีกและไม่กางปีก
             
              คำว่า “พ่าห์” มาจาก “พาหะ” ซึ่งก็คือ “พาหนะ” นั่นเอง
             
              ตามหลักภาษาไทยคำนึงถึงความไพเราะในการอ่านออกเสียงด้วย คำว่า “พาหะ” ลงตัวด้วยคำตาย ฟังไม่ไพเราะ จึงเอาการันต์ไปใส่บน “ห” แต่เพื่อไม่ให้อ่านว่า “พา” จึงต้องเอาไม้เอกไปใส่ในพยัญชนะตัวหน้าด้วย ดังนั้น “พาหะ” เมื่อเอาการันต์ไปใส่และเติมไม้เอก ก็เลยต้องกลายเป็น “พ่าห์” ในที่สุด
             
              เหมือนกับคำ “ดุลพ่าห์” ที่หมายถึงตราชั่งของกระทรวงยุติธรรมที่จริงมาจาก “ดุลพาหะ” แต่อ่านแล้วฟังไม่ไพเราะเช่นกัน จึงใส่การันต์และไม้เอกโดยนัยเดียวกัน
             
              ทุกอารยธรรมในโลกมีตำนานว่าด้วยพญานกใกล้เคียงกัน ในลักษณะทางปรัชญาที่แปลความหมายได้ว่าเป็นสื่อพันธกิจโดยตรงจากพระเจ้า ผู้นำสาร หรือผู้นำพา เช่น ฟินิกซ์ - นกอมตะที่เผาตนเองแล้วคืนชีพใหม่สู่วิถีที่สูงส่งกว่า, ธันเดอร์เบิร์ด - ของชนเผ่าพื้นเมืองในทวีปอเมริกา, อิมดู - พาหนะของเทพแห่งสงครามในอารยธรรมเมโสโปเตเมียน , บีนไซ - ของชนเผ่าพื้นเมืองที่อาศัยอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของคาบสมุทรแปซิฟิก, ร็อก - ในตำนานปรัมปราของชาวเปอร์เซียน, ฯลฯ
             
              มีผู้วิเคราะห์ไว้อย่างแยบยลว่า ความคิดของผู้คนไม่ว่ายุคสมัยใด ล้วนให้คุณค่าต่อสิ่งที่อยู่เบื้องบน หรือสิ่งที่ลงมาจากเบื้องบนหรือท้องฟ้า จนหลายครั้งเป็นการลดค่าของสิ่งที่อยู่ต่ำ ทั้งบนดิน และใต้ดิน โดยนัยแห่งบทวิเคราะห์นี้ก็คือ
             
              “โลกียะ” = การอยู่ติดพื้นดิน (หรือใต้ดิน) คือสภาะที่เป็นไปตามแรงดึงดูดโลก
             
              “โลกุตระ” = การบินได้ เปรียบเสมือนการพ้นจากโลกียวิสัย

             
              แม้นักเขียนตะวันตกอย่างริชาร์ด บาค ยังนำไปเปรียบเทียบไว้ในงานเรื่อง “โจนานธาน ลิวิงสตัน - นางนวล” อันโด่งดังเมื่อ 30 ปีก่อนของเขา
             
              เทพและอภิมนุษย์ หรือ “ซูเปอร์ฮีโร่” ทุกชาติพันธุ์มักจะต้องเหาะเหิรเดินอากาศได้
             
              ปีกคืออุปกรณ์ในการเชื่อมโยงระหว่างภพเป็นจริง เป็นคุณลักษณ์พื้นฐานของเทพและอภิมนุษย์ในทุกคติ เป็นสิ่งที่เหนือธรรมชาติของมนุษย์สามัญ
             
              ปรัชญาและคติที่ว่ามานี้ ทำให้เกิดการแบ่งแยกระหว่างสูงกับต่ำ นรกกับสวรรค์ รวมไปถึงความเป็นคู่ตรงข้ามของสัตว์อย่างนก และงู ในขณะที่นกเป็นสัญลักษณ์ของความเจริญรุ่งเรืองและอารยะ งูกลับเป็นสัญลักษณ์ตรงข้ามที่สื่อถึงความไม่ดีไม่งามต่างๆ
             
              ในคติฮินดู -- งูหรือนาคเป็นศัตรูของครุฑ!
             
              แต่ที่ลึกซึ้งไปกว่านั้น คือกระบวนทัศน์ของพระนารายณ์ ที่ทรงเห็นความเชื่อมโยงเป็นหนึ่งเดียวของสรรพสิ่ง
             
              พระนารายณ์บรรทมและเจริญสมาธิบนขดร่างพญานาค และทรงครุฑยามที่จะลงมายุติทุกข์เข็ญของมนุษย์
             
              ไม่ใช่จู่ๆ พญาครุฑเวนไตยจะมาเป็นพาหนะให้พระนารายณ์ง่ายๆ นะครับ
             
              ตามเทพปกรณัมของฮินดูนั้น ครุฑมีฤทธิ์เดชสามารถเอาชนะเทพได้ทุกองค์ และกับพระนารายณ์นั้นก็ไม่ได้มีฝีมือเหลื่อมล้ำกันเท่าใดนัก แต่เมื่อได้เผชิญหน้ากันในศึกชิงน้ำอมฤต นอกจากจะยอมรับในฝีมือของกันและกันแล้ว พระนารายณ์ยังยอมรับในจิตใจสูงส่งและความข่มใจอันหนักแน่นของพญาครุฑเวนไตย จึงนอกจากจะไม่สู้รบต่อแล้ว ยังเอ่ยปากจะขอประทานพรทุกประการที่ต้องการให้
             
              ตรงนี้ งดงามมากเพราะแสดงให้เห็นความสูงส่งของทั้งพระนายรายณ์และพญาครุฑเวนไตย
             
              พรที่พญาครุฑเวนไตยต้องการคือ...
             
              “ขออยู่สูงกว่าพระองค์ ขอเป็นผู้ไม่มีเวลาตาย และไม่มีเวลาเจ็บ แม้ไม่ได้กินน้ำอมฤต”
             
              เพื่อความไม่เอาเปรียบและแสดงความเท่าเทียมกัน พญาครุฑเวนไตยขอถวายพรข้อหนึ่งตามแต่พระนารายณ์จะขอเช่นกัน
             
              “ขอให้ท่านเป็นพาหนะของข้า ร่วมแบกรับภารกิจยิ่งใหญ่ ขอให้ท่านสถิตอยู่ที่ยอดเสาธงของข้า เพื่อที่ท่านจะได้อยู่สูงกว่าข้า”
             
              โดยนัยนี้ “ครุฑพ่าห์” อันเป็นทั้งตราแผ่นดินและสัญลักษณ์พระเจ้าแผ่นดินจึงมีที่มาที่สื่อความหมายสูงส่ง
             
              เพราะเป็นเสมือนจิตวิญญาณอันศักดิ์สิทธิ์ที่เข้าแบกรับภาระตามสัจจะ เสมือนผู้เฝ้าคอยพิทักษ์รักษาความเข้มแข็งของชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ รัฐธรรมนูญ และความดีความงามความสว่างความสงบ ให้คงอยู่ตลอดไป
             
              เมื่อ “ครุฑพ่าห์” ประดับอยู่บนบัตรประจำตัวจึงมีความหมายล้ำลึกหลายแง่มุม
             
              จะว่าเป็นสัญลักษณ์ของ “พสกนิกร” ที่พึ่งพระบรมโพธิสมภารพระเจ้าอยู่หัวก็ได้ จะว่าเป็นสัญลักษณ์ของ “ราชประชาสมาสัย” หรือความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของพระมหากษัตริย์กับพสกนิกรของพระองค์ก็ว่าได้ จะว่าเป็นสัญลักษณ์ของจิตวิญญาณแห่งการสำนึกในภาระหน้าที่ของพลเมืองดีก็ว่าได้ หรือจะว่าเป็นสัญลักษณ์แห่งเป้าหมายของพลเมืองดีทุกคนที่จะต้องพยายามพ้นจากวิถีโลกียะไปสู่วิถีโลกุตระก็ว่าได้
             
              คนที่เอา “ครุฑพ่าห์” ออกจากบัตรประชาชน “รุ่นท้ากกกษิณ” พิจารณาเป็นอื่นไม่ได้ครับ
             
              นอกจากเปลือยให้เห็นธาตุแท้ของความเป็นคนไร้รากทางวัฒนธรรม และมืดบอดทางภูมิปัญญา อย่างถึงที่สุด!


      นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

      loading
      กำลังโหลด...

      คำนิยม Top

      ยังไม่มีคำนิยมของเรื่องนี้

      คำนิยมล่าสุด

      ยังไม่มีคำนิยมของเรื่องนี้

      ความคิดเห็น

      ×