ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    เรื่องลึกลับมหัศจรรย์ของโลกและจักรวาล

    ลำดับตอนที่ #1 : เลือดเทียม

    • อัปเดตล่าสุด 7 ม.ค. 50


    เลือดเทียม

    รศ.ดร.นพ.กำพล ศรีวัฒนกุล ผู้อำนวยการด้านการวิจัยและพัฒนา บริษัท ฮีโมทรานซ์ จำกัด หนึ่งในทีมนักวิจัยกล่าวถึง “โครงการผลิตเลือดเทียม” ว่า เป็นความร่วมมือระหว่าง ประเทศแคนาดา ไทย และฮ่องกง โดยเริ่มต้นใน ปี 1999 ได้มี 2 ผู้เชี่ยวชาญ คือ ดร.แจน รูมสทรีน นักวิจัยชาวแคนาดา และ ดร.เจฟฟรี่ บรองส์ นักวิจัยชาวฮ่องกง ที่ทำงานในมหาวิทยาลัยโทรันโต้ ประเทศแคนาดา ได้ใช้เวลาเกือบ 30 ปี ในการพัฒนาเลือดเทียม แทนการให้เลือดกับคนอื่น ทั้งนี้ แนวความคิดมาจาก การหาเลือดในบางแห่งที่ยากลำบากมาก เช่น ในเกาะเล็กๆ หรือสถานที่ที่ห่างไกลชุมชน ไม่มีธนาคารเลือด ก็จะหาเลือดใช้ในยามฉุกเฉินไม่ได้ หรือหากในกรณี เกิดภัยพิบัติ อุบัติเหตุหรือยามสงคราม ก็พบว่าทหารส่วนหนึ่ง มีอัตราการเสียชีวิตจากภาวะเสียเลือดอย่างรุนแรง ประมาณ 20% แต่หากมีเลือดที่สามารถใช้ได้ทันที ก็จะเกิดประโยชน์มาก

    “ที่เห็นชัดเจน คือกรณีฉุกเฉินในเหตุการณ์ภาคใต้ ถ้าหน่วยทหารหรือตำรวจมีเลือดเทียมติดไว้ เมื่อถูกยิง หรือได้รับบาดเจ็บ แทนที่จะต้องรอเวลาก็สามารถให้เลือดได้เลย เพราะข้อดีของเลือดเทียม คือ สามารถใช้ได้ทันทีกับคนไข้ในทุกกรุ๊ปเลือด และมีอายุอยู่ได้ถึง 2 ปี”

    ความจำเป็นอีกอย่างหนึ่ง คือการติดเชื้อเอชไอวี โดยนักวิจัยพบว่า 5% ในจำนวนคนที่เป็นโรคเอดส์ เกิดจากการรับเลือดจากบุคคลอื่น และยังมีไวรัสชนิดอื่นๆที่สามารถปนเปื้อนมากับเลือดได้ด้วย อย่างไรก็ดี การขาดแคลนเลือดในประเทศไทยยังไม่ร้ายแรง เพราะในวันสำคัญต่างๆ เช่น วันเฉลิมพระชนมพรรษา คนไทยก็มักจะบริจาคเลือด แต่ในต่างประเทศไม่เป็นเช่นนั้น โดยองค์การอนามัยโลกได้ประเมินว่า 82% ของประชากรโลกยังขาดแคลนเลือดที่ใช้ในยามฉุกเฉิน ดังนั้น แนวคิดเรื่องการผลิตเลือดเทียมจึงเกิดขึ้นมา

    ส่วนวิธีในการผลิตเลือดเทียมนั้น คือ การนำเอาส่วนประกอบของฮีโมโกลบิน(Hemoglobin) ซึ่งเป็นตัวนำออกซิเจนที่อยู่ในเลือด ทำการแยกออกมา ซึ่งทำให้โปรตีนต่างๆที่ทำให้เกิดอาการแพ้ หรือที่ไม่เข้ากัน ก็จะถูกแยกออกไปด้วย ในช่วงแรกพบว่า ถ้านำเอาฮีโมโกลบินที่ไม่อยู่ในเซลล์ออกมา ก็จะถูกกรองออกจากไตในเวลาสั้นๆ ประมาณ 2-3 ชั่วโมง และจากการศึกษาวิจัยพบว่า เด็กซแตรน (Dextran) หรือโพลิเมอร์สังเคราะห์ที่วงการแพทย์ใช้มากว่า 30 ปี ในการให้น้ำเกลือคนไข้ที่ช็อค หรือต้องการน้ำในเลือดเพิ่มขึ้น ดังนั้น แนวความคิดในการผลิตเลือดเทียมก็คือ การนำเอาเด็กซแตรน มาเป็นตัวเกาะเพื่อนำเอาฮีโมโกลบินมาติดไว้ โดยผลที่ได้ คือ แทนที่ฮีโมโกลบินจะถูกกรองออกในเวลาอันสั้น ก็จะอยู่ในร่างกายได้เกิน 7 วัน ซึ่งจะเพียงพอในภาวะฉุกเฉิน หลังจากนั้นไขกระดูกก็จะสร้างเลือดมาทดแทน

    รศ.ดร.นพ.กำพล กล่าวถึงความร่วมมือในการพัฒนาเลือดเทียมในไทยว่า ในกลุ่มนักพัฒนาได้เลือกประเทศไทยเป็นฐานผลิตเลือดเทียมเพื่อส่งออกในเอเชียและอเมริกา เนื่องจากมีความพร้อมมากที่สุด ส่วนกลุ่มพัฒนาในประเทศแคนาดา ก็จะทำการวิจัยในแคนาดา เพื่อพัฒนาและทำธุรกิจในยุโรปและอเมริกาเหนือ โดยสิ่งที่น่าสนใจในโครงการผลิตเลือดเทียม คือ การเป็นผลิตภัณฑ์แรกๆของโลกที่มีความจำเป็นต้องใช้ และนักวิจัยก็พยายามทำให้สำเร็จ

    “เหตุผลที่เขาเลือกประเทศไทยเป็นแหล่งผลิตเลือดเทียม เพราะเห็นว่าประเทศไทยมีความพร้อม โดยรัฐบาลได้สนับสนุนให้ไทยเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ของเอเชีย โดยมีหน่วยงานที่เอื้อเฟื้อ คือ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) ที่กำลังพิจารณาให้ใช้สถานที่ในการตั้งโรงงานผลิตขนาดย่อย รวมถึงได้รับความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยหลายแห่ง นอกจากนี้ เรายังมีภาพของเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ค่อนข้างชัดเจนอีกด้วย”

    ขณะนี้ “โครงการผลิตเลือดเทียม”กำลังอยู่ในระหว่างการทดลองในสุนัข โดยได้รับความร่วมมือจาก คณะสัตวแพทย์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยใช้วิธีดูดเลือดออกจากสุนัข แล้วให้เลือดเทียมเพื่อดูว่าจะสามารถทดแทนเลือดเดิมของสุนัขได้หรือไม่ ซึ่งในเบื้องต้นพบว่า ร่างกายของสุนัขสามารถรับเลือดเทียมได้ดี และมีสุขภาพแข็งแรง ขั้นตอนต่อไปทีมวิจัยจะศึกษาความเป็นพิษ เพราะถ้าแยกโปรตีนออกมาไม่หมดก็อาจเป็นอันตรายต่อไตได้ อย่างไรก็ตาม ทีมวิจัยสามารถแยกโปรตีนออกได้หมด ตลอดจนมีกระบวนการผลิตที่เคร่งครัด จึงไม่มีการปนเปื้อนของจุลินทรีย์ เอนโดท็อกซินจากแบคทีเรีย หรือแม้แต่ไวรัสต่างๆ

    “หลังจากทำการศึกษาความเป็นพิษ ก็จะทำการวิจัยด้านความปลอดภัย และศึกษาวิจัยในกลุ่มผู้ป่วยฉุกเฉิน โดยขณะนี้อยู่ในช่วงเจรจากับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา คาดว่าเร็วที่สุดประมาณ 2-3 ปี ซึ่งไม่ถือว่านานเกินไปสำหรับการพัฒนาโครงการที่มีศักยภาพเช่นนี้ และในวันที่ 3 ต.ค.สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ จะประชุมร่วมกับทีมวิจัยโครงการ เพื่อวางแนวทางในการร่วมลงทุน การวางบทบาทและ การส่งออก” รศ.ดร.นพ.กำพล กล่าว

    แม้วันนี้”โครงการผลิตเลือดเทียม”ยังไม่แล้วเสร็จ และต้องใช้เวลาอีกประมาณ 2-3 ปี จึงจะเห็นเป็นรูปธรรม แต่อย่างน้อยก็เป็นสัญญาณที่ดีในอนาคต เพราะไม่ว่าเหตุการณ์วันข้างหน้าจะเป็นอย่างไร มนุษย์ก็ได้เตรียมการรับมือเรียบร้อยแล้ว

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×