ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    หน้าที่พลเมือง วัฒนธรรม และการดำเนินชีวิตในสังคม ม.ปลาย

    ลำดับตอนที่ #2 : กฎหมาย

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 1.74K
      0
      30 ก.ค. 54

    กฎหมาย 

    ในฐานะที่เราเป็นพลเมืองของประเทศชาติ ถือเป็นสมาชิกของสังคม มีความจำเป็นต้องเรียนรู้กฎหมาย ก็เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยของสังคมและความอยู่รอดของคนในสังคม กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันและวิถีการดำเนินชีวิตก็ยิ่งมีความสำคัญ เพราะความเป็นธรรม ความยุติธรรมจะเกิดขึ้นในสังคมก็ต่อเมื่อมนุษย์ได้ใช้กฎหมายเป็นบรรทัดฐานในการตกลง ตัดสินข้อพิพาท การแจกจ่ายและการได้มาอย่างมีกฎเกณฑ์และเป็นที่ยอมรับของสังคม

    ความหมายของกฎหมาย

    ได้มีผู้ให้ความหมายของกฎหมายไว้ดังนี้

    กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ พระบิดาแห่งกฎหมายไทย
    "กฎหมาย คือ คำสั่งทั้งหลายของผู้ปกครองว่าการแผ่นดินต่อราษฏรทั้งหลาย เมื่อไม่ทำตาม ธรรมดาต้องลงโทษ"

    ดร.สายหยุด แสงอุทัย
    "กฎหมาย คือข้อบังคับของรัฐที่กำหนดความประพฤติของมนุษย์ ถ้าฝ่าฝืนจะได้รับผลร้ายหรือถูกลงโทษ"

    กฎหมาย สามารถแยกได้เป็น 2 คำคือ คำว่ากฎซึ่งแผลงมาจากคำว่า กด หรือกำหนดความประพฤติของมนุษย์ ถ้าฝ่าฝืนจะได้รับผลร้ายและถูกลงโทษ 

    จากคำจำกัดความของกฎหมายข้างต้น สามารถสรุปความหมายของกฎหมายได้ว่า หมายถึง ระเบียบ ข้อบังคับ บทบัญญัติซึ่งผู้มีอำนาจสูงสุดในรัฐหรือประเทศ ได้กำหนดมาเพื่อใช้ในการบริหารกิจการบ้านเมืองหรือบังคับความประพฤติของประชาชนในรัฐหรือประเทศนั้นให้ปฏิบัติตาม เพื่อให้เกิดความสงบสุขในสังคม หากผู้ใดฝ่าฝืนจะได้รับผลอย่างใดอย่างหนึ่งตามกฎหมาย

    ความสำคัญของกฎหมาย

    มนุษย์เป็นสัตว์สังคมอยู่ร่วมกันเป็นหมู่ เป็นเหล่า ความเจริญของสังคมมนุษย์นั้นยิ่งทำให้สังคมมีความ
    สลับซับซ้อน ตามสัญชาตญาณของมนุษย์แล้ว ย่อมชอบที่จะกระทำสิ่งใด ๆ ตามใจชอบ ถ้าหากไม่มีการ
    ควบคุมพฤติกรรมของมนุษย์แล้ว มนุษย์ก็จะกระทำในสิ่งที่เกินขอบเขต ยิ่งสังคมเจริญขึ้นเพียงใด วามจำเป็น
    ที่จะต้องมีมาตรฐานในการกำหนดพฤติกรรมของมนุษย์ ที่จะต้องถือว่าเป็นมาตรฐานอันเดียวกันนั้นก็ยิ่งมี
    มากขึ้น เพื่อใช้บังคับเป็นการทั่วไปแก่ทุกคนในลักษณะของกฎเกณฑ์และข้อบังคับต่าง ๆ ซึ่งจะกำหนด
    วิถีทางการปฏิบัติตนในชีวิตประจำวันตั้งแต่เกิดจนตาย   กฎเกณฑ์และข้อบังคับหรือวิธีการควบคุมพฤติกรรมของมนุษย์มีการพัฒนา และมีวิวัฒนาการต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง ดังนั้นเราจะปฏิเสธไม่ได้เลยว่ากฎหมายไม่มีความจำเป็น และเกี่ยวข้องกับชีวิตคนเราในปัจจุบันนี้ กฎหมายได้เข้ามาเกี่ยวข้องกับชีวิตเรามาก ตั้งแต่เราเกิดก็จะต้องแจ้งเกิดเพื่อขอสูติบัตร เมื่ออายุครบ 15 ปีบริบูรณ์ ก็ต้องทำบัตรประจำตัวประชาชน จะสมรสกันก็ต้องจดทะเบียนสมรสจึงจะสมบูรณ์และในระหว่างเป็นสามี ภรรยากันกฎหมายก็ยังเข้ามาเกี่ยวข้องไปถึงวงศาคณาญาติอีกหรือจนตายก็ต้องมีใบตาย เรียกว่าใบมรณะบัตร และก็ยังมีการจัดการมรดกซึ่งกฎหมายก็ต้องเข้ามาเกี่ยวข้อง
    เสมอนอกจากนี้ในชีวิตประจำวันของคนเรายังมีความเกี่ยวข้องกับ ผู้อื่น เช่นไปตลาดก็มีการซื้อขายและ
    ต้องมี กฎหมายเข้ามาเกี่ยวข้องในเรื่องการซื้อขาย หรือการ ทำงานเป็นลูกจ้าง นายจ้างหรืออาจจะเป็น
    ข้าราชการก็ต้องมีกฎหมายเข้ามาเกี่ยวข้องอยู่ตลอดเวลา และที่เกี่ยวข้องกับชาติบ้านเมืองก็เช่นกัน
    ประชาชนมีหน้าที่ต่อบ้านเมืองมากมาย เช่น การปฏิบัติตนตามกฎหมาย หน้าที่ในการเสียภาษีอากร
    หน้าที่รับราชการทหาร สำหรับชาวไทย กฎหมายต่าง ๆ ที่เข้ามาเกี่ยวข้องก็มีมากมายหลายฉบับ เช่น
    กฎหมายรัฐธรรมนูญ กฎหมายแรงงาน กฎหมายภาษีอากร กฎหมายแพ่ง กฎหมายอาญา "คนไม่รู้
    กฎหมายไม่เป็นข้อแก้ตัว" เป็นหลักที่ว่า บุคคลใดจะแก้ตัวว่าไม่รู้กฎหมายเพื่อให้หลุดพ้นจากความผิด
    ตามกฎหมายมิได้ ทั้งนี้ ถ้าหากต่างคนต่างอ้างว่าตนไม่รู้กฎหมายที่ทำไปนั้น ตนไม่รู้จริง ๆ เมื่อกล่าวอ้าง
    อย่างนี้คนทำผิดก็คงจะรอดตัว ไม่ต้องรับผิด ไม่ต้องรับโทษกัน ก็จะเป็นการปิดหูปิดตาไม่อยากรู้กฎหมาย
    และถ้าใครรู้กฎหมายก็จะต้องมีความผิด รู้มากผิดมากรู้น้อยผิดน้อย แต่จะอ้างเช่นนี้ไม่ได้เพราะถือว่าเป็น
    หลักเกณฑ์ของสังคมที่ประชาชนจะต้องมีความรู้ เรียนรู้กฎหมาย เพื่อขจัดข้อปัญหาการขัดแย้ง ความ
    ไม่เข้าใจกัน ด้วยวิธีการที่เรียกว่า กฎเกณฑ์อันเดียวกันนั้นก็คือ กฎหมาย

    กฎหมายกับสิทธิ  เสรีภาพ  และหน้าที่ของประชาชน

    สิทธิของประชาชนตามกฎหมาย เช่น กฎหมายรัฐธรรมนูญ โดยรัฐธรรมนูญได้กำหดสิทธิของ
    ประชาชนเอาไว้ โดยให้ถือว่าประชาชนไทยไม่ว่าแหล่งกำเนิด หรือศาสนาใด ย่อมอยู่ในความคุ้มครอง
    แห่งรัฐธรรมนูญนี้เสมอกันหมด เช่น
    1. บุคคลย่อมมีสิทธิทางการเมือง

    หมายความว่า คนทุกคนย่อมสามารถเข้ามารับผิดชอบต่อ
    บ้านเมือง โดยการใช้สิทธิตามกฎหมาย เช่น กฎหมายเลือกตั้ง เมื่อประชาชนอายุครบ 18 ปี ย่อมมีสิทธิ
    ที่จะเลือกตั้งผู้แทนราษฎร เพื่อให้ผู้แทนราษฎรไปทำหน้าที่ทางการเมืองแทนตนเอง ที่เป็นการตัดสินใจ
    ของประชาชนว่าจะได้ผู้แทนที่ไปทำหน้าที่ในด้านการเมืองได้ดีเพียงใด
    2. บุคคลย่อมมีสิทธิในทรัพย์สินและย่อมได้รับความคุ้มครอง

    ทั้งสิทธิอันนั้นสามารถใช้อ้างอิง หรือยืนยันกับบุคคลอื่นได้ตลอดเวลา ถึงแม้ว่าทรัพย์สินจะไปอยู่ที่ใด จะถูกขโมยหรือ เคลื่อนย้ายไปที่อื่น ผู้เป็นเจ้าของก็ยังสามารถอ้างสิทธิอันนี้ได้โดยตลอด เพื่อให้ทรัพย์สินเหล่านั้นกลับคืนมาอยู่ที่เดิมหรือ อยู่ในความครอบครองอย่างเดิม ถ้าหากบุคคลอื่นครอบครองเอาไว้โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือโดยไม่มี สิทธิก็ย่อมสามารถฟ้องร้องต่อศาล เพื่อบังคับให้เป็นไปตามสิทธิได้

    หน้าที่ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ
    1. บุคคลมีหน้าที่รักษาไว้ซึ่งชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองระบอบประชาธิปไตย
    หน้าที่ในข้อนี้ถือว่าเป็นหน้าที่อันสำคัญ
    2. บุคคลมีหน้าที่ป้องกันประเทศ หน้าที่ข้อนี้มิใช่ว่าจะเป็นหน้าที่ของทหารเท่านั้น คนไทยทุกคน
    ต้องมีหน้าที่เช่นเดียวกัน
    3. บุคคลมีหน้าที่รับราชการทหารเพราะการเป็นทหารนั้นจะได้ทำหน้าที่ป้องกันประเทศโดยตรง
    พอถึงวัยหรืออายุตามที่กฎหมายกำหนดก็จะต้องไปรับราชการทหาร แต่ก็มีข้อยกเว้นสำหรับบางคน
    ที่กฎหมายบัญญัติยกเว้นไว้
    4. บุคคลมีหน้าที่ปฏิบัติตามกฎหมายเนื่องจากกฎหมายเป็นหลักปฏิบัติในการอยู่ร่วมกันในสังคม
    จึงจะละเว้นการปฏิบัติตามกฎหมายไม่ได้
    5. บุคคลมีหน้าที่ช่วยเหลือราชการ เมื่อถึงคราวที่ประชาชนพอจะช่วยเหลือได้ หรือเมื่อทางราชการ
    ขอความช่วยเหลือในฐานะที่เป็นประชาชนพลเมืองของชาติจึงต้องมีหน้าที่อันนี้ เช่น การช่วยพัฒนา
    ถนนหนทาง การช่วยบริจาคทรัพย์สินต่าง ๆ หรือแม้กระทั่งช่วยกันดูแลความสงบเรียบร้อยของ
    บ้านเมือง โดยการเป็นหูเป็นตาให้ราชการ

    ประเภทของกฎหมาย

    การแบ่งประเภทของกฎหมายโดยพิจารณาจากสภาพภูมิศาสตร์หรือขอบเขตการใช้กฎหมายมาเป็นแนวทางในการแบ่งประเภท อาจแบ่งกฎหมายได้เป็น 2 ประเภท คือ

    1. กฎหมายระหว่างประเทศ

    กฎหมายระหว่างประเทศ เป็นกฎหมายที่กำหนดความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับรัฐในฐานะที่เท่าเทียมกัน เป็นกฎหมายที่เกิดขึ้นจากความตกลงระหว่างรัฐ ซึ่งถือเป็นกติกาในการจัดระเบียบสังคมโลก ตัวอย่างเช่น กฎหมายการประกาศอาณาเขตน่านฟ้า การส่งผู้ร้ายขามแดน และสนธิสัญญาต่างๆ เป็นต้น

    2. กฎหมายภายในประเทศ

    เป็นกฎหมายที่ใช้บังคับภายในรัฐต่อบุคคลทุกคนที่อาศัยอยู่ภายในรัฐ ไม่ว่าจะเป็นประชาชนของประเทศนั้นๆ หรือบุคคลต่างด้าว กฎหมายภายในประเทศยังสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ชนิด คือ กฏหมายมหาชนและกฎหมายเอกชน

    ·       กฎหมายมหาชน หมายถึง กฎหมายที่รัฐเข้าไปมีส่วนร่วมในการเป็นคู่กรณีด้วยกับเอกชน มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการจัดรูปแบบการปกครองรัฐ และควบคุมความสัมพันธ์ระหว่างหน่วยงานของรัฐกับประชาชนในฐานะที่รัฐจำต้องรักษาผลประโยชน์ของรัฐ และผลประโยชน์ของสาธารณะ โดยทั่วไปกฎหมายมหาชนแบ่งได้เป็น 5 ประเภท คือ

    ·       รัฐธรรมนูญ เป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ กำหนดรูปแบบและการปกครองของรัฐ การใช้อำนาจอธิปไตย และการกำหนดสิทธิเสรีภาพของประชาชนในด้านต่างๆ

    ·       กฎหมายปกครอง เป็นกฎหมายที่ขยายความให้ละเอียดจากรัฐธรรมนูญบัญญัติเกี่ยวกับองค์กรของรัฐ เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจในการปฏิบัติการต่างๆ ตามกฎหมาย กำหนดสิทธิของประชาชนในการเกี่ยวพันกับรัฐ

    ·       กฎหมายอาญา เป็นกฎหมายที่มีบทบัญญัติครอบคลุมเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของรัฐ ชุมชน และประชาชนโดยส่วนรวม วัตถุประสงค์ของกฎหมายเพื่อที่จะให้ความปลอดภัย สร้างความเป็นระเบียบของรัฐและรักษาศีลธรรมอันดีของประชาชน

    ·       กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เป็นกฎหมายที่กำหนดรายละเอียดวิธีพิจารณาคดีอาญาทางศาล

    ·       พระธรรมนูญศาลยุติธรรม กำหนดว่าในการพิจารณาคดีนั้น ศาลใดจะมีอำนาจในการพิจารณาคดีประเภทใด

    กฎหมายแพ่งเกี่ยวกับตนเองและครอบครัว

    กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับตนเองและครอบครัว

                    นักเรียนเป็นเด็กและเยาวชนย่อมอยู่ภายใต้การบังคับของกฎหมายเช่น้ดียวกับบุคคลอื่นๆ มิได้ยกเว้นว่า ถ้าเป็นเด็กหรือเยาวชนฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามกฎหมายแล้ว จะไม่ต้องรับโทษหรือไม่มีความผิด ดังนั้นจึงจำเป็นต้องศึกษากฎหมายให้เข้าใจเพื่อจะได้ปฏิบัติตนให้ถูกต้องตามกฎหมาย กฎหมายมีหลายประเภท กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับตนเองและครอบครัวที่นักเรียนจะได้ศึกษาในชั้นเรียนนี้ แยกกล่าวเป็น 2 ประเด็นคือ กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับตนเองและกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับครอบครัว

    กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับตนเอง

         กฎหมายเกี่ยวกับชื่อบุคคล

                    ชื่อบุคคล เป็นเครื่องบ่งชี้เฉพาะตัวบุคคล บุคคลที่มีสัญชาติไทย กฎหมายกำหนดให้ต้องมีชื่อบุคคล ซึ่งประกอบด้วยชื่อตัวและชื่อสกุล และอาจมีชื่อรองก็ได้ แต่โดยปกติแล้วคนไทยไม่นิยมตั้งชื่อรอง

                    ชื่อตัว เป็นชื่อประจำตัว ชื่อตัวเป็นการจำแนกบุคคลแต่ละคนเป็นรายตัว ในครอบครัวที่ใช้ชื่อสกุลเดียวกัน เจ้าบ้านหรือมารดาผู้มีหน้าที่แจ้งการเกิดจะต้องแจ้งชื่อเด็กที่เกิดตามแบบพิมพ์ในสูติบัตรภายใน 6 เดือน นับตั้งแต่วันแจ้งเกิดนั้น

                    ชื่อรอง หมายถึง ชื่อประกอบ ซึ่งกฎหมายไม่บังคับจะต้องมีชื่อรอง เพียงแต่บังคับให้มีชื่อตัว

                    ชื่อสกุล หมายถึง ชื่อประจำวงศ์สกุล หรือนามสกุลนั่นเอง

                    การตั้งชื่อตัวและชื่อรอง

                    ตามพระราชบัญญัติชื่อบุคคล พ..2505 และระเบียบกระทรวงมหาดไทย พ..2506 การตั้งชื่อตัวและชื่อรองมีหลักเกณฑ์ดังนี้

                    1. ต้องไม่พ้องหรือมุ่งหมายให้คล้ายกับพระปรมาภิไธย พระนามของพระราชินี หรือราชทินนาม

                    2. ต้องไม่มีคำหรือความหมายหยาบคาย

                    3. ต้องไม่มีเจตนาทุจริต มีความหมายให้รู้ว่าเป็นชายหรือหญิง

                    4. ชื่อหนึ่งไม่ควรยาวเกิน 5 พยางค์

                    5. ผู้เคยได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ แต่ได้ออกจากบรรดาศักดิ์นั้น โดยมิได้ถูกถอดถอนจะใช้ราชทินนามเป็นชื่อตัวหรือชื่อรองก็ได้

                    การเปลี่ยนชื่อตัวและชื่อรอง

                    มีหลักเกณฑ์ดังนี้

                    1. ต้องมีเหตุผลสมควร

                    2. ไม่เป็นไปเพื่อทุจริตหรือมีทุจริตแอบแฝงอยู่

                    3. ถูกต้องตามหลักการตั้งชื่อตัว ชื่อที่เหมาะสม ไม่ยาวเกินไป ไม่เป็นภาษาต่างประเทศ

                    4. ผู้ที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะต้องให้บิดามารดา ผู้ปกครองให้ความยินยอมเป็นลายลักษณ์อักษร

                    การขอเปลี่ยนชื่อตัวและชื่อรองให้ผู้ขอยื่นคำขอต่อนายทะเบียนท้องที่ที่ตนเองมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน เมื่อนายทะเบียนพิจารณาแล้ว เห็นว่าชื่อตัวหรือชื่อรองที่ขอเปลี่ยนใหม่นั้นไม่ขัดต่อพระราชบัญญติชื่อบุคคลก็จะอนุญาต และออกหนังสือสำคัญแสดงการเปลี่ยนชื่อให้

                    การตั้งชื่อสกุล

                    ชื่อสกุลหรือนามสกุลที่เราใช้กันอยู่ทุกวันนี้ โดยมากจะสืบทอดมาจากบิดามารดาหรือบรรพบุรุษ แต่ถ้าต้องการขอเปลี่ยนชื่อสกุลใหม่ ต้องปฏิบัติตามกฎหมายกำหนด โดยยื่นคำขอต่อนายทะเบียนท้องที่ การตั้งชื่อสกุลมีหลักเกณฑ์ดังนี้

                    1. ต้องไม่พ้องหรือมุ่งหมายให้คล้ายกับพระปรมาภิไธย พระนามของพระราชินี

                    2. ต้องไม่พ้องหรือมุ่งหมายให้คล้ายกับราชทินนาม เว้นแต่ราชทินนามของตน ของบุพการี หรือของผู้สืบสันดาน

                    3. ไม่คล้ายกับชื่อสกุลที่ได้รับการพระราชทานจากพระมหากษัตริย์ หรือชื่อสกุลที่ได้รับการจดทะเบียนไว้แล้ว

                    4. ไม่มีคำหรือความหมายหยาบคาย

                    5. ต้องมีพยัญชนะไม่เกินกว่า 10 พยัญชนะ เว้นแต่การใช้ราชทินนามเป็นชื่อสกุล

                    การใช้ชื่อสกุลของหญิงมีสามี หญิงมีสามีมีสิทธิเลือกใช้ชื่อสกุลเดิมของตน หรือชื่อสกุลของสามี

                    การใช้ชื่อสกุลของผู้เยาว์ บุตรที่ชอบด้วยกฎหมายมีสิทธิที่จะใช้ชื่อสกุลของบิดาหรือมารดาก็ได้ แต่ถ้าเป็นบุตรที่เกิดจากบิดามารดาที่มิได้ทำการจดทะเบียนสมรสกันตามกฎหมาย หรือบิดาไม่ปรากฏให้ใช้ชื่อสกุลของมารดา

                    บุตรบุญธรรมมีฐานะอย่างเดียวบุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย จึงใช้ชื่อสกุลของผู้รับบุตรบุญธรรมได้ แต่บุตรบุญธรรมก็ยังไม่สูญสิทธิและหน้าที่ของบิดามารดาโดยกำเนิด จึงมีสิทธิใช้ชื่อสกุลเดิมได้ แล้วแต่บุตรบุญธรรมจะเลือก

                    เด็กสัญชาติไทยที่เกิดมาไม่ปรากฏชื่อสกุล เช่นไม่ปรากฏบิดามารดา ผู้อุปการะเลี้ยงดูเด็ก เช่นสถานพยาบาล สถานสงเคราะห์ อาจของตั้งชื่อสกุลให้เด็กใช้ร่วมกันหรือแยกกันก็ได้

                    นอกจากชื่อตัว ชื่อรอง และชื่อสกุล บุคคลอาจมีชื่ออย่างอื่นๆ เช่น ชื่อบรรดาศักดิ์ นามแฝงอีกก็ได้

         กฎหมายเกี่ยวกับบัตรประจำตัวประชาชน

                    บัตรประจำตัวประชาชน เป็นบัตรซึ่งใช้แสดงว่าตนเป็นคนไทย ผู้มีสัญชาติไทยเท่านั้นที่มีสิทธิมีบัตรประจำตัวประชาชน คนต่างด้าวไม่มีสิทธิมีบัตรประจำตัวประชาชน ในบัตรจะระบุชื่อ นามสกุล วัน เดือน ปีเกิด ที่อยู่ตามทะเบียนบ้าน และรูปถ่ายของผู้ถือบัตร จึงมีประโยชน์ในการติดต่อกับทางราชการ และธุรกิจที่ต้องการหลักฐานแสดงตน อายุ และภูมิลำเนาของผู้ถือบัตรด้วย

                    กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับบัตรประจำตัวประชาชน ได้แก่ พระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.. 2526 และพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน (ฉบับที่ 2) พ..2542 ซึ่งมีสาระสำคัญดังนี้

                    บุคคลที่มีสัญชาติไทยซึ่งมีอายุตั้งแต่ 15 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป แต่ไม่เกิน 70 ปีบริบูรณ์ และชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน จะต้องดำเนินการขอมีบัตรประจำตัวประชาชน ภายใน 60 วัน นับตั้งแต่วันที่มีอายุครบ 15 ปีบริบูรณ์

                    ในกรณีที่เป็นคนต่างด้าว และได้แปลงสัญชาติเป็นไทย จะต้องยื่นคำขอมีบัตรประจำตัวประชาชน ภายใน 60 วันนับตั้งแต่วันที่ได้สัญชาติไทย

                    การขอมีบัตร ผู้ขอต้องยื่นคำขอพร้อมด้วยหลักฐานประกอบคำขอตามระเบียบที่กรมการปกครองกระทรวงมหาดไทยกำหนด เช่น ทะเบียนบ้าน เป็นต้น ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ณ สถานที่ดังต่อไปนี้

                    1. สำหรับผู้ที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในท้องที่ซึ่งกระทรวงมหาดไทยประกาศกำหนดให้เป็นท้องที่จังหวัดสำหรับการออกบัตรด้วยระบบคอมพิวเตอร์ ให้ผู้ขอยื่นคำขอ ณ ที่ว่าการอำเภอ หรือกิ่งอำเภอ สำนักงานเขต สำนักงานเทศบาล ศาลาว่าการเมืองพัทยา หรือสำนักทะเบียนสาขาตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎรแห่งใดแห่งหนึ่งในท้องที่จังหวัดตามประกาศของกระทรวงมหาดไทยก็ได้ การทำบัตรประจำตัวประชาชนด้วยระบบคอมพิวเตอร์นี้สามารถทำได้ทุกแห่งในท้องที่ซึ่งบริการทำบัตรด้วยระบบคอมพิวเตอร์

                    2. สำหรับผู้ที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านนอกท้องที่ซึ่งกระทรวงมหาดไทยกำหนดให้เป็นท้องที่จังหวัดสำหรับการออกบัตรด้วยระบบคอมพิวเตอร์ ให้ผู้ขอยื่นคำขอ ณ ที่ว่าการอำเภอ หรือกิ่งอำเภอ สำนักงานเทศบาล หรือสำเนาทะเบียนสาขาตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎรแห่งท้องที่ ซึ่งผู้ขอมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน

                    ผู้ใดฝ่าฝืนไม่ไปทำบัตรประจำตัวประชาชนภายในกำหนดเวลาดังกล่าวย่อมมีความผิด

                    อย่างไรก็ตาม บุคคลบางประเภทได้รับการยกเว้นไม่ต้องมีบัตรประจำตัวประชาชน เช่นทหารกองประจำการ ข้าราชการ ตำรวจ ภิกษุ สามเณร นักบวช ผู้มีกายพิการเดินไม่ได้ หรือเป็นใบ้ หรือตาบอดทั้งสองข้าง หรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ และผู้อยู่ในที่คุมขัง โดยชอบด้วยกฎหมายเป็นต้น

                    สำหรับบัตรประจำตัวประชาชนนั้นใช้ได้ 6 ปี นับแต่วันออกบัตร ซึ่งในบัตรจะระบุวันที่ออกบัตรและวันที่บัตรหมดอายุ เมื่อบัตรหมดอายุแล้ว ผู้ถือบัตรจะต้องขอเปลี่ยนบัตรใหม่ โดยยื่นคำขอต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ภายใน 60 วันนับแต่วันที่บัตรหมดอายุ มิฉะนั้นจะมีความผิด อย่างไรก็ตามผู้ถือบัตรจะขอบัตรใหม่ก่อนวันที่บัตรหมดอายุก็ได้ โดยยื่นขอภายใน 60 วันก่อนวันที่บัตรเดิมจะหมดอายุ

                    ผู้ถือบัตรที่มีอายุครบ 70 ปีบริบูรณ์ไม่ต้องขอเปลี่ยนบัตรประจำตัวประชาชนฉบับใหม่ บัตรประจำตัวประชาชนฉบับเดิมยังคงใช้ได้ตลอดชีวิต

                    ถ้าบัตรประจำตัวประชาชนหาย หรือถูกทำลาย หรือชำรุดในสาระสำคัญ ผู้ถือบัตรจะต้องขอมีบัตรใหม่หรือขอเปลี่ยนบัตรใหม่แล้วแต่กรณีภายใน 60 วัน นับแต่วันที่บัตรนั้นหาย ถูกทำลาย หรือชำรุด และถ้าผู้ถือบัตรเปลี่ยนชื่อตัว หรือชื่อสกุล หรือทั้งชื่อตัวและชื่อสกุล แล้วแต่กรณีจะต้องขอทำบัตรใหม่ภายใน 60 วันเช่นกัน นอกจากนี้ผู้ถือบัตรที่ย้ายที่อยู่จะขอมีบัตรใหม่ก็ได้ โดยต้องขอมีบัตรใหม่ภายใน 60 วัน นับแต่วันที่มีชื่อในทะเบียนบ้านนั้นๆ

                    ผู้ถือบัตรจะต้องมีบัตรประจำตัวประชาชนไว้พร้อมที่จะแสดงต่อเจ้าพนักงานตลอดเวลา หากไม่อาจแสดงได้เมื่อเจ้าพนักงานตรวจบัตรขอตรวจย่อมมีความผิด

    กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับความสามารถของผู้เยาว์

                    คนเราเมื่อเกิดมาแล้วเราเรียกว่า คนหรือมนุษย์ แต่ในทางกฎหมายนั้นเรียกว่า บุคคลธรรมดา

                    ความเป็นมาหรือสภาพบุคคลนั้นเริ่มมาตั้งแต่เมื่อใด ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 15 บัญญัติว่า สภาพบุคคลย่อมเริ่มตั้งแต่เมื่อคลอดแล้วอยู่รอดเป็นทารกและสิ้นสุดลงเมื่อตาย

                    เมื่อคนเราเกิดมามีสภาพบุคคลแล้ว ก็ย่อมมีสิทธิหน้าที่ตามกฎหมาย ในขณะที่เป็นผู้เยาว์ย่อมมีสิทธิหน้าที่และความสามารถในทางกฎหมายแตกต่างไปจากผู้ใหญ่

                    เนื่องจากผู้เยาว์เป็นผู้ที่ยังอ่อนทั้งด้านสติปัญญา ความรู้สึกนึกคิด ความสามารถและความรับผิดชอบ แม้จะมีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมาย เช่น มีสิทธิที่จะมีทรัพย์สินได้ มีสิทธิที่จะศึกษาเล่าเรียนได้ แต่โดยที่ผู้เยาว์มีอายุยังน้อยอยู่ ฉะนั้นการที่จะให้มีสิทธิ สามารถกระทำการต่างๆ ในทางกฎหมายได้ทุกประการเหมือนผู้ใหญ่หรือผู้บรรลุนิติภาวะแล้ว ก็อาจทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เยาว์ได้ ดังนั้น ในเรื่องเกี่ยวกับความสามารถนี้กฎหมายจะต้องให้ความคุ้มครองเป็นพิเศษ

                    ในการให้ความคุ้มครอง กฎหมายจะจำกัดความสามารถของผู้เยาว์ในการกระทำการใดๆ ที่จะก่อให้เกิดผลผูกพันทางกฎหมาย โดยให้บิดามารดาผู้แทนโดยชอบธรรมกระทำการแทน หรือต้องได้รับความยินยอมจากบิดามารดาผู้แทนโดยชอบธรรมเสียก่อน

                    ในทางกฎหมายนั้น ผู้เยาว์ หมายถึง บุคคลที่อายุยังไม่ครบ 20 ปีบริบูรณ์ บุคคลที่พ้นจากการเป็นผู้เยาว์ เรียกว่า ผู้บรรลุนิติภาวะ ซึ่งได้แก่ ผู้ที่อายุครบ 20 ปีบริบูรณ์แล้ว ถ้าอายุยังไม่ครบ 20 ปีบริบูรณ์ จดทะเบียนสมรสโดยได้รับความยินยอมจากบิดามารดาของทั้งสองฝ่าย เมื่ออายุครบ 17 ปีบริบูรณ์ ก็ถือว่าเป็นผู้บรรลุนิติภาวะเหมือนกัน คือบรรลุนิติภาวะโดยการสมรส

                    กล่าวโดยสรุปผู้บรรลุนิติภาวะมี 2 ประเภท ได้แก่ ผู้ที่มีอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ และชายหญิงที่สมรสกันเมื่อเขาทั้งสองมีอายุครบ 17 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป

                    เมื่อนักเรียนยังเป็นผู้เยาว์อยู่ กฎหมายจึงจำเป็นต้องคุ้มครองไว้ว่าผู้เยาว์จะใช้สิทธิกระทำการใดๆที่จะก่อให้เกิดผลผูกพันทางกฎหมายโดยลำพังไม่ได้ จะต้องให้ผู้แทนโดยชอบธรรมกระทำการแทน หรือต้องได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรมเสียก่อน การกระทำนั้นๆ จึงจะสมบูรณ์ตามกฎหมาย

                    โดยทั่วไปผู้แทนโดยชอบธรรมก็คือ บิดามารดาของผู้เยาว์นั่นเอง ฉะนั้นการที่กฎหมายบังคับว่าผู้เยาว์จะต้องได้รับความยินยอมโดยความเห็นชอบจากผู้แทนโดยชอบธรรม ย่อมชอบด้วยกฎหมายแล้ว เพราะว่าผู้แทนโดยชอบธรรม คือบิดามารดาซึ่งเป็นผู้ดูแลผู้เยาว์ ให้การศึกษาเล่าเรียนแก่ผู้เยาว์แล้วย่อมมีความรักความผูกพันต่อผู้เยาว์ และจะได้รู้เห็นรับผิดชอบช่วยเหลือผู้เยาว์ได้ ถ้าการที่ได้กระทำไปแล้วนั้นเกิดความเสียหายขึ้นมา แต่ถ้าผู้เยาว์สามารถทำได้ตามลำพังโดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรมแล้ว เมื่อเกิดความเสียหายขึ้นมาก็จะไม่มีใครรับผิดชอบช่วยเหลือได้

    ในเรื่องความสามารถของผู้เยาว์นี้อาจสรุปได้ว่า การที่ผู้เยาว์จะกระทำการใดๆ ก็ตามต้องได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรมก่อน หากกระทำลงไปโดยปราศจากความยินยอมหรือความเห็นชอบแล้ว ผู้แทนโดยชอบธรรมย่อมมีสิทธิที่จะบอกเลิกการกระทำนั้นได้

                    นักเรียนอาจจะสงสัยว่า ถ้าเป็นเช่นนี้แล้วมิต้องขออนุญาตจากบิดามารดาผู้แทนโดยชอบธรรมในทุกเรื่องไปหรือ ก็มิได้หมายความเช่นนั้นทุกเรื่องไป หากเป็นกิจการอันเป็นประโยชน์แก่ผู้เยาว์ฝ่ายเดียวไม่มีทางเสีย เช่น การรับทรัพย์สินที่บุคคลอื่นให้โดยเสน่หา โดยไม่มีข้อผูกมัดเงื่อนไขใดๆ หรือเป็นเรื่องส่วนตัว หรือเป็นเรื่องเล็กน้อย เช่น การไปโรงเรียนต้องซื้ออาหารที่โรงเรียนรับประทาน หรือซื้อดินสอปากกาใช้ตามฐานะของนักเรียน เป็นต้น นักเรียนหรือผู้เยาว์ก็ย่อมกระทำได้อยู่แล้ว ซึ่งไม่จำเป็นต้องมาขอความเห็นชอบจากบิดามารดาหรือผู้แทนโดยชอบธรรม

    กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับครอบครัว

                    1. การหมั้น

        "การหมั้น" หมายถึงการที่ชายหญิงทำสัญญาว่าจะทำการสมรสกันเมื่อเกิดการหมั้นขึ้น แล้วฝ่ายหนึ่งผิดสัญญาคือไม่ยอมทำการสมรส อีกฝ่ายหนึ่งมีสิทธิเรียกค่าทดแทนได้ แต่จะฟ้องศาลเพื่อให้ศาลบังคับให้อีกฝ่ายหนึ่งทำการสมรสไม่ได้

          เงื่อนไขของการหมั้น

    • ชายและหญิงต้องมีอายุ 17 ปีบริบูรณ์ และได้รับความยินยอมจากทั้งสองฝ่าย ส่วนบุคคลที่บรรลุนิติภาวะแล้ว มีอำนาจทำการหมั้นได้ตามลำพัง ไม่จำเป็นต้องได้รับความยินยอมจากบิดามารดา หรือรับบุตรบุญธรรม หรือผู้ปกครอง

          ของหมั้นและสินสอด

    • "ของหมั้น" คือ ทรัพย์สินที่ฝ่ายชายให้ไว้แก่ฝ่ายหญิงเพื่อเป็นหลักฐานการหมั้นและเป็น ประกันว่าจะสมรสกับฝ่ายหญิง การหมั้นจะสมบูรณ์เมื่อฝ่ายชายได้ส่งมอบหรือโอนทรัพย์สินซึ่งเป็นของหมั้น ให้ฝ่ายหญิง เมื่อหมั้นแล้วของหมั้นตกเป็นสิทธิของหญิง
    • "สินสอด" คือทรัพย์สินที่ฝ่ายชายให้แก่บิดามารดา ผู้รับบุตรบุญธรรม หรือผู้ปกครองฝ่ายหญิงเพื่อเป็นการตอบแทน ถ้ามีเหตุการณ์เกิดขึ้นที่ทำให้ชายไม่สมควรหรือไม่อาจสมรสกับหญิงนั้นฝ่ายชายสามารถเรียกสินสอดคืนได้

          การเลิกสัญญาหมั้น

    • การเลิกสัญญาหมั้นด้วยความยินยอมของทั้งสองฝ่าย ฝ่ายหญิงต้องคืนของหมั้นและสินสอดให้แก่ฝ่ายชาย


    2. การสมรส

        "การสมรส" หมายถึง การที่ชายและหญิงสมัครใจเข้ามาอยู่กินกันฉันสามีภรรยา ถ้าจะให้ถูกต้องตามกฎหมาย คู่สมรสจะต้องจดทะเบียนสมรสกัน

          หลักเกณฑ์การสมรส

    • บุคคลเพศเดียวกันจะสมรสกันไม่ได้ การสมรสจะต้องเป็นการกระทำโดยสมัครใจของ ชายและหญิง การสมรสจะต้องมีคู่สมรสเพียงคนเดียว คู่สมรสจะสมรสใหม่ไม่ได้ตราบเท่าที่ยังไม่หย่าขาดจากคู่สมรสเดิม

          เงื่อนไขแห่งการสมรส

    1.             ชายและหญิงต้องมีอายุครบ 17 ปีบริบูรณ์ มีข้อยกเว้นว่าศาลอาจอนุญาตให้ทำการสมรสก่อนนั้นได้หากมี เหตุอันสมควร

    2.             ชายหรือหญิงต้องไม่เป็นคนวิกลจริต หรือเป็นบุคคลที่ศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ

    3.             ชายหรือหญิงมิได้เป็นญาติที่สืบสายโลหิตต่อกัน หรือเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาหรือร่วมแต่บิดาหรือมารดา

    4.             ชายหรือหญิงจะทำการสมรสในขณะที่ตนมีคู่สมรสอยู่ไม่ได้

    5.             การสมรสจะต้องมีการจดทะเบียนสมรส ทำให้ชายหญิงเป็นสามีภรรยากันตามกฎหมาย


    3. มรดก

        ทรัพย์สินทุกชนิดของผู้ตาย เรียกว่า กองมรดก ทายาทในกฎหมายมรดก มิได้หมายถึงแต่เพียงลูกหลานของผู้ตายเท่านั้น แต่หมายความรวมถึงบุคคลใดก็ตามที่อยู่ ในฐานะที่จะมีสิทธิรับมรดกของผู้ตายได้ตามกฎหมายมรดก ทายาทแบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่

       ประเภทที่ 1

       ทายาทที่มีสิทธิตามกฎหมาย เรียกว่า "ทายาทโดยธรรม" ได้แก่ คู่สมรสและญาติ  ทายาทที่เป็นญาติ แบ่งได้ ดังนี้

    1.             ผู้สืบสันดาน

    2.             บิดามารดา

    3.             พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน

    4.             พี่น้องร่วมแต่บิดาหรือมารดา

    5.             ปู่ ย่า ตา ยาย

    6.             ลุง ป้า น้า อา

        ประเภทที่ 2

        ทายาทที่มีสิทธิตามพินัยกรรม เรียกว่า "ผู้รับพินัยกรรม" คือ บุคคลที่ผู้ตายได้ทำเอกสาร ซึ่งเรียกว่า "พินัยกรรม" ยกทรัพย์สินให้ผู้รับพินัยกรรม ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นญาติกับผู้ตาย แต่เป็นบุคคลที่ผู้ตายพอใจจะยกทรัพย์สินให้

    กฎหมายแพ่งเกี่ยวกับนิติกรรมและสัญญา

    1.             นิติกรรม

    -นิติเหตุ (เหตุการณ์ธรรมชาติ, นิติกรรม, ละเมิด)

    -นิติกรรม มีองค์ประกอบ 5 ประการ คือ การกระทำ, ชอบด้วยกฎหมาย, มุ่งผูกนิติสัมพันธ์, สมัครใจ, ก่อ เปลี่ยนแปลง ดอน สงวน หรือระงับซึ่งสิทธิ์

    -“การกระทำชัดแจ้ง, ปริยาย, นิ่ง

    -“ชอบด้วยกฎหมายต้องไม่ต้องห้ามตาม ก.ม., ไม่พ้นวิสัย, ไม่ขัดต่อความสงบฯ

    -151 ต้องผ่าน 150 คือมีวัตถุประสงค์ชอบด้วย ก.ม. แต่เป็นการขัดความสงบฯ

    -แบบของนิติกรรม ทำเป็นหนังสือ, จดทะเบียน, ทำเป็นหนังสือต่อเจ้าพนักงาน, ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียน

    -153 ทำโดยผู้เยาว์, คนวิกลจริต, คนไร้ความสามารถ, คนเสมือนไร้ความสามารถ

    -154 ถ้าผู้แทนนิติบุคคลมีผลประโยชน์ขัดกับนิติบุคคล จะเป็นผู้แทนไม่ได้

    -155 1 ระหว่างกัน เป็นโมฆะ แต่จะยกข้อต่อสู้ต่อคนนอกที่สุจริตและเสียหายไม่ได้

    -155 2 นำก.ม. ของนิติกรรมที่ถูกอำพราง มาใช้บังคับ

    -สำคัญผิด 156 สำคัญผิดในสาระสำคัญ, 157 สำคัญผิดในคุณสมบัติ

    -ถูกกลฉ้อฉล ต้องถึงขนาด ถ้ากลฉ้อฉลเพื่อเหตุจ่ายแต่ค่าสินไหม

    -ข่มขู่ ต้องถึงขนาด ถ้าเป็นเพียงการใช้สิทธิตามปกตินิยม หรือมีสิทธิ์ ไม่ใช่ข่มขู่

    -การแสดงเจตนา (ฝ่ายเดียว โดยเคร่งครัด, หรือต้องมีผู้รับการแสดงเจตนา 168, 169, 170, 171

    -โมฆะกรรม ไม่อาจให้สัตยาบัน, ผู้มีส่วนได้เสียทุกคนอ้างได้, ใช้ลาภมิควรได้

    โมฆียกรรม ให้สัตยาบันได้, บุคคล 175 บอกล้างหรือสัตยาบันได้, ใช้กลับคืนสู่ฐานะเดิม

    -เงื่อนไข หรือเงื่อนเวลา (182, 183, 191 ถึง 193, 193/24, 193/24)

    2.             การก่อสัญญา

    -คำเสนอ นิติกรรมฝ่ายเดียวที่ต้องมีการแสดงเจตนา, ชัดแจ้งเท่านั้น, มีความชัดเจนแน่นอน, ต่อบุคคลเฉพาะเจาะจงหรือต่อสาธารณชนเท่านั้น, ถอนไม่ได้, ไม่ใช้ 169 2

    -คำสนอง นิติกรรมฝ่ายเดียวที่ต้องมีผู้รับการแสดงเจตนา, ถอนไม่ได้, ไม่ใช้ 360, ใช้ 169 2

    คำสนองล่วงเวลาหรือมีข้อไข

    -สัญญาเกิดที่ไหน (361, 366, 367, 368)

    3.             ผลของสัญญา

    -สัญญาต่างตอบแทน 369 ถึง 372 (ให้ดูเรื่องบาปเคราะห์ ดูว่าโทษเจ้าหนี้หรือลูกหนี้ได้หรือไม่)

    สัญญาต่างตอบแทนที่เป็นการโอนทรัพย์เฉพาะสิ่งและกรรมสิทธิ์โอนแล้ว

    สัญญาต่างตอบแทนที่เป็นการโอนทรัพย์เฉพาะสิ่งแต่กรรมสิทธิ์ยังไม่โอน

    สัญญาต่างตอบแทนที่ไม่เกี่ยวกับการโอนกรรมสิทธิ์

    -สัญญาเพื่อประโยชน์บุคคลภายนอก 374-376 สิทธิ์เกิดเมื่อถือเอา, ถือเอาแล้วเปลี่ยนแปลงไม่ได้

    4.             มัดจำเบี้ยปรับ (เป็นสัญญาอุปกรณ์) (มัดจำต้องเป็นเงินและต้องให้ในขณะทำสัญญา)

    (เบี้ยปรับ มี 2 ชนิด คือเพื่อการไม่ชำระหนี้ และเพื่อการชำระหนี้ไม่ถูกต้อง)

    5.             การเลิกสัญญา ปพพ.386-394 เป็นการเลิกสัญญาที่มีผลย้อนหลัง

    -หนี้ระงับได้ 2 วิธี (1) ชำ, ปลด, หัก, แปลง, กลืน (2) ทำลายบ่อเกิดแห่งหนี้ด้วยการเลิกสัญญา

    -เลิกสัญญามี 2 ประเภท (1) ระงับความผูกพันในอนาคต (2) เลิกสัญญาทีมีผลย้อนหลัง

    -เลิกสัญญาที่มีผลย้อนหลังมี 2 กรณี (1) เลิกโดยข้อสัญญา (2) เลิกโดยข้อกฎหมาย

    -เมื่อเลิกสัญญาแล้วเกิดผล 4 ประการ คืนสถานะเดิม, ไม่กระทบคนนอก, เรียกค่าเสียหาย, 392

    ละเมิด

    1.             ต้องรับผิดในการกระทำของตนเอง (420-424)

    -420 ผู้ใด กระทำ ต่อบุคคลอื่น โดยผิดกฎหมาย, จงใจหรือประมาทเลินเล่อ, ทำให้เขาเสียหาย

    -423 ต้องเกิดจากการไขข่าว, เกี่ยวกับชื่อเสียงเท่านั้น, ต้องโดยจงใจเท่านั้น

    -424 ไม่เอาองค์ประกอบทางอาญามาพิจารณาด้วย

    2.             ต้องรับผิดในการกระทำของผู้อื่น (425-432)

    -425 นายจ้าง-ลูกจ้าง นายจ้างรับผิดในทางการที่จ้าง 427 ตัวการ-ตัวแทน ต้องไม่มีสินจ้าง

    -428 ผู้ว่าจ้าง-ผู้รับจ้าง ผู้รับจ้างต้องรับผิด เว้นแต่ในการงานที่สั่งให้ทำ, คำสั่งที่ให้, เลือกผู้รับจ้าง

    -429 ผู้เยาว์-บิดามารดาชอบด้วยกฎหมายรับผิด, คนวิกลจริตที่ศาลสั่งแล้ว-ผู้อนุบาลรับผิด

    เว้นแต่พิสูจน์ว่าใช้ความระมัดระวังพอแล้ว

    -430 ผู้รับผิดต้องเกิดโดย กฎหมาย, สัญญา, ข้อเท็จจริง (รวมบิดาไม่ชอบด้วยกฎหมาย)

    เว้นแต่พิสูจน์ว่าใช้ความระมัดระวังพอแล้ว

    -432 ผู้ร่วมกระทำต้องรับผิดร่วมกัน

    3.             ต้องรับผิดในความเสียหายที่เกิดจากสัตว์ และทรัพย์ หรือความรับผิดโดยเด็ดขาด (433-437)

    -433 สัตว์ เจ้าของหรือผู้รับเลี้ยงรับผิดเว้นแต่ระวังแล้วตามวิสัยของสัตว์หรืออย่างไรต้องเกิด

    -434 โรงเรือน หรือสิ่งปลูกสร้างชำรุดหรือบำรุงรักษาไม่ดี ผู้ครองหรือเจ้าของต้องรับผิด

    -436 ของตกล่นจากโรงเรือน หรือทิ้งขว้าง ผู้ครองโรงเรือนต้องรับผิด

    -437 1 ยานพาหนะอันเดินด้วยเครื่องจักรกล ว2 ของเกิดอันตรายโดยสภาพ

    เว้นแต่สุดวิสัย และความผิดของผู้เสียหายเอง

    หนี้

    1.             บุคคลสิทธิ, ทรัพยสิทธิ (บ่อเกิดแห่งสิทธิ, สิทธิหน้าที่, วัตถุแห่งสิทธิ, การใช้สิทธิ, อายุความ)

    2.             สัญญา, ละเมิด (ผิดหน้าที่สัญญา-ผิดหน้าที่ทั่วไป, ความสมบูรณ์, ค่าเสียหาย, ผิดนัด, อายุความ)

    3.             มูลแห่งหนี้ หรือบ่อเกิดแห่งหนี้ (สัญญา, ละเมิด, นอกสั่ง, ลาภมิควรได้, กฎหมายกำหนด)

    4.             วัตถุแห่งหนี้ (กระทำการ, งดเว้นกระทำการ, โอนทรัพย์)

    5.             ผลแห่งหนี้ (กำหนดเวลา 203, ลูกหนี้ผิดนัด 204-6, ผลการผิดนัด 216-7, 224, เจ้าหนี้ผิดนัด,

    ค่าสินไหม)

    6.             การชำระหนี้พ้นวิสัย (ก่อนสัญญาเกิด, หลังสัญญาแต่ยังไม่เลือกการชำระหนี้, หลังเลือกการชำระหนี้)

    7.             รับช่วงสิทธิ์ (คนนอก, ชำระหนี้แล้ว, โดยผลกฎหมายเท่านั้น, มี 5 กรณี)

    8.             รับช่วงทรัพย์ (มี 2 หนี้, โดยผลกฎหมาย, ทรัพย์ถูกทำลาย, มี 2 กรณี คือ 228, 231)

    9.             การใช้สิทธิเรียกร้อง (หนี้ 2 หนี้, ไม่ส่วนตัว, ลูกหนี้ขัดขืนเพิกเฉย, เจ้าหนี้เสียเปรียบ, ต้องเรียกลูกหนี้)

    10.      เพิกถอนการฉ้อฉล (ไม่ใช้กับ ปพพ. 155 โมฆะอยู่แล้ว, ฝ่าฝืน วพ 305, ปพพ. 1300, ปพพ. 1336

    11.      ลูกหนี้ร่วม (หลายคน, หนี้เดียวกัน, ใช้หนี้โดยสิ้นเชิง, ผล 292-296)

    12.      เจ้าหนี้ร่วม (หลายคน, หนี้เดียวกัน, สิทธิเรียกหนี้โดยสิ้นเชิง, ผล 299, 300)

    13.      โอนสิทธิเรียกร้อง (โอนความเป็นเจ้าหนี้, สิทธิที่โอนไม่ได้ 303-4, วิธีการโอน 306, ผล 305, 307, 308)

    14.      ความระงับแห่งหนี้ (อย่าลืมผู้ค้ำ 698, ผู้รับจำนอง 744, ผู้รับจำนำ 769 หลุดพ้นจากความรับผิดด้วย)

    -การชำระหนี้

    -ปลดหนี้ (หนี้นั้นแม้ไม่ต้องทำเป็นหนังสือแต่ถ้ามีการทำเป็นหนังสือแล้วอยู่ภายใต้ 340 ด้วย)

    -หักกลบลบหนี้ (เจ้าหนี้ลูกหนี้ผูกพันกัน, วัตถุแห่งหนี้เป็นอย่างเดียวกัน, ถึงกำหนดชำระหนี้ทั้ง 2 หนี้, แสดงเจตนา, ไม่ต้องห้าม 6 กรณี, ไม่ต้องฟ้องแย้งขอหักกลบได้, ใช้กับ วพ 293 ด้วย)

    -แปลงหนี้ (มีหนี้เดิม, เปลี่ยนสาระสำคัญแห่งหนี้, ประสงค์ระงับหนี้เดิม, หนี้ใหม่ต้องสมบูรณ์)

    -หนี้เกลื่อนกลืนกัน

    หมายเหตุ ในเรื่องหนี้บุคคลภายนอกจะเข้ามาเป็นเจ้าหนี้ได้ 3 กรณี

    1. โอนสิทธิเรียกร้อง 2.รับช่วงสิทธิ 3.แปลงหนี้ใหม่

    ทรัพย์

    1.             บททั่วไป 1298-1307

    2.             การได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ 1308-1312, 1329-1332, 1336, 1338, 1349, 1350, 1356-9

    3.             สิทธิครอบครอง 1367, 1373, 1375 2, 1378, 1382

    4.             ภาระจำยอม 1387, 1399, 1400, 1401

    กฎหมายอาญา
                       
    1. กฎหมายอาญาเป็นกฎหมายที่มีวัตถุประสงค์ในการป้องกันสังคมให้เกิดความสงบเรียบร้อย โดยกำหนดว่าการกระทำใดเป็นความผิดอาญาและกำหนดโทษของผู้ฝ่าฝืน
                        2. ลักษณะที่สำคัญของกฎหมายอาญา คือเป็นกฎหมายที่กำหนดเป็นความผิดชัดแจ้งและไม่มีผลบังคับย้อนหลังที่เป็นโทษแก่ผู้กระทำความผิด
                        3. โทษทางอาญามี 5 ชนิด คือ ประหารชีวิต จำคุก กักขัง ปรับและริบทรัพย์สิน4. การกระทำความผิดทางอาญามีบางกรณีที่กฎหมายยกเว้นโทษและยกเว้นความผิด
                        5. เด็กและเยาวชนกระทำความผิดอาจได้รับโทษต่างกับการกระทำความผิดของผู้ใหญ่ เนื่องจากเด็กและเยาวชนเป็นผู้อ่อนเยาว์ ปราศจากความรู้สึกรับผิดชอบ การลงโทษต้องคำนึงถึงอายุของเด็กกระทำความผิด

    ·       กฎหมายอาญา คือ กฎหมายที่ว่าด้วยความผิดและโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิด ตัวบทที่สำคัญๆ ของกฎหมายอาญาก็คือ ประมวลกฎหมายอาญา นอกจากประมวลกฎหมายอาญาแล้ว ยังมีพระราชบัญญัติอื่นๆที่กำหนดโทษทางอาญาสำหรับการฝ่าฝืนพระราชบัญญัตินั้น เช่น พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พระราชบัญญัติการพนัน เป็นต้น
                    ทุกสังคมย่อมมีกฎเกณฑ์ ข้อบังคับความประพฤติของสมาชิกในสังคมนั้นๆ บุคคลใดมีการกระทำที่มีผลกระทบกระเทือนต่อสังคมหรือคนส่วนใหญ่ จัดเป็นการกระทำความผิดทางอาญา ดังนั้นกฎหมายอาญาจึงเป็นกฎหมายซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการป้องกันสังคม เพื่อให้เกิดความสงบเรียบร้อยโดยการกำหนดว่า การกระทำใดเป็นความผิดอาญาและได้กำหนดโทษของผู้ฝ่าฝืน กระทำความผิดนั้นๆ

    ·       1. ความผิดทางอาญา
                   
    ความผิดทางอาญา คือ การกระทำที่มีผลกระทบกระเทือนต่อสังคมหรือคนส่วนใหญ่ของประเทศ   เมื่อบุคคลใดกระทำความผิดทางอาญา จะต้องได้รับโทษตามกฎหมายมากน้อยเพียงใดนั้นขึ้นอยู่กับความร้ายแรงของการกระทำความผิด กฎหมายมิได้ถือว่าการกระทำความผิดทุกอย่างร้ายแรงเท่าเทียมกัน การลงโทษผู้กระทำความผิดจึงขึ้นอยู่กับการกระทำ และสังคมมีความรู้สึกต่อการกระทำนั้นๆ ว่า อะไรเป็นปัญหาสำคัญมากน้อยเพียงใด ซึ่งอาจจะแบ่งการกระทำความผิดอาญาออกเป็น 2 ลักษณะ คือ
                    1.1 ความผิดต่อแผ่นดิน หมายถึง ความผิดในทางอาญา ซึ่งนอกจากเรื่องนั้นจะมีผลต่อตัวผู้รับผลร้ายแล้ว ยังมีผลกระทบที่เสียหายต่อสังคมอีกด้วย และรัฐจำเป็นต้องป้องกันสังคมเอาไว้ด้วยการยื่นมือเข้ามาเป็นผู้เสียหายเอง ดังนั้นแม้ผู้รับผลร้ายจากการกระทำโดยตรงจะไม่ติดใจเอาความ แต่ก็ยังต้องเข้าไปดำเนินคดีฟ้องร้องเอาตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษให้ได้
                    กรณีตัวอย่างที่ 1
    นายมังคุดทะเลาะกับนายทุเรียน นายมังคุดบันดาลโทสะใช้ไม้ตีศีรษะนายทุเรียนแตก นายทุเรียนไปแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจให้ดำเนินคดีกับนายมังคุดในข้อหาทำร้ายร่างกายผู้อื่น ต่อมานายทุเรียนหายโกรธนายมังคุดก็ไม่ติดใจเอาเรื่องกับนายมังคุด แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจจะต้องดำเนินคดีกับนายทุเรียนต่อไปเพราะเป็นความผิดต่อแผ่นดิน
                    กรณีตัวอย่างที่ 2
    นายแตงโมขับรถยนต์ด้วยความประมาทไปชนเด็กชายแตงไทยถึงแก่ความตายเป็นความผิดอาญาฐานขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ต่อมานายแตงกวาและนางแต่งอ่อนบิดามารดาของเด็กชายแตงไทย ได้รับชดใช้ค่าเสียหายจากนายแตงโมเป็นเงิน 200,000 บาทแล้ว จึงไม่ติดใจเอาความกับนายแตงโม แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจจะต้องดำเนินคดีกับนายแตงโมต่อไป เพราะความผิดฐานขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายเป็นความผิดต่อแผ่นดิน
                    1.2 ความผิดอันยอมความกันได้ หมายถึง ความผิดในทางอาญาซึ่งไม่ได้มีผลร้ายกระทบต่อสังคมโดยตรง หากตัวผู้รับผลร้ายไม่ติดใจเอาความแล้ว รัฐก็ไม่อาจยื่นมือเข้าไปดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดได้ และถึงแม้จะดำเนินคดีไปแล้ว เมื่อตัวผู้เสียหายพอใจยุติคดีเพียงใดก็ย่อมทำได้ด้วยการถอนคำร้องทุกข์ ถอนฟ้อง หรือยอมความ เช่น ความผิดฐานหมิ่นประมาท ความผิดเกี่ยวกับเสรีภาพ เป็นต้น
                    กรณีตัวอย่างที่ 1 นายโก๋และนางกี๋ลักลอบได้เสียกัน นายแฉแอบเห็นเข้า จึงได้นำความไปเล่าให้นายเชยผู้เป็นเพื่อนฟัง การกระทำของนายแฉมีความผิดฐานหมิ่นประมาท เมื่อนายโก๋และนางกี๋รู้เข้าจึงไปแจ้งความที่สถานีตำรวจ นายแฉไปหานายโก๋และนางกี๋  เพื่อขอขมานายโก๋และนางกี๋จึงถอนคำร้องทุกข์ดังนั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงไม่มีอำนาจดำเนินคดีกับนายแฉอีกต่อไป ถือว่าเป็นความผิดอันยอมความกันได้
                    กรณีตัวอย่างที่ 2
    นายตำลึงล่ามโซ่ใส่กุญแจประตูใหญ่บ้านของนายมะกรูด ทำให้นายมะกรูดออกจากบริเวณบ้านไม่ได้ นายมะกรูดต้องปีนกำแพงรั้งกระโดลงมา การกระทำของนายตำลึงเป็นความผิดฐานหน่วงเหนี่ยวกักขังทำให้ปราศจากเสรีภาพ นายมะกรูดจึงไปแจ้งความยังสถานีตำรวจ นายตำลึงได้ไปหานายมะกรูดยอมรับความผิด และขอร้องไม่ให้นายตำลึงเอาความกับตนเอง นายตำลึงเห็นใจจึงไปถอนคำร้องทุกข์ ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจก็จะดำเนินคดีต่อไปอีกไม่ได้เพราะเป็นความผิดอันยอมความกันได้

    ·       2. ลักษณะสำคัญของกฎหมายอาญา
                   
    2.1 เป็นกฎหมายที่กำหนดเป็นความผิดชัดแจ้ง ในขณะกระทำความผิดต้องมีกฎหมายบัญญัติไว้แล้วอย่างชัดแจ้งว่าการกระทำนั้นเป็นความผิด เจ้าหน้าที่ผู้ใช้กฎหมายจะสร้างกฎหมายใหม่ขึ้นมาใช้บังคับแก่ประชาชนคนใดคนหนึ่งโดยเฉพาะไม่ได้ เช่น กฎหมายบัญญัติว่า การลักทรัพย์เป็นความผิดดังนั้น ผู้ใดลักทรัพย์ก็ย่อมมีความผิดเช่นเดียวกัน
                    2.2 เป็นกฎหมายที่ไม่มีผลย้อนหลัง เป็นโทษไม่ได้แต่เป็นคุณได้ ถ้าหากในขณะที่มีการกระทำสิ่งใดยังไม่มีกฎหมายบัญญัติว่าเป็นความผิด แม้ต่อมาภายหลังจะมีกฎหมายบัญญัติว่าการกระทำอย่างเดียวกันนั้นเป็นความผิด ก็จะนำกฎหมายใหม่ใช้กับผู้กระทำผิดคนแรกไม่ได้
                    กรณีตัวอย่าง
    นายมะม่วงมีต้นไม้สักขนาดใหญ่ซึ่งขึ้นในที่ดิน ซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของเขา นายมะม่วงได้ตัดต้นสัก เลื่อยแปรรูปเก็บเอาไว้ ก่อนที่จะมีพระราชบัญญัติป่าไม้ ฉบับที่ 3 ออกมาบังคับใช้ ถือว่าไม้สักเป็นไม้หวงห้ามก็ตาม นายมะม่วงก็ไม่มีความผิด เพราะจะใช้กฎหมายใหม่ย้อนหลังลงโทษทางอาญาไม่ได้

    ·       3. โทษทางอาญา
                   
    1) ประหารชีวิต คือ นำตัวไปยิงด้วยปืนให้ตาย
                    2) จำคุก คือ นำตัวไปขังไว้ที่เรือนจำ
                    3) กักขัง คือนำตัวไปขังไว้ ณ ที่อื่น ที่ไม่ใช่เรือนจำ เช่น นำไปขังไว้ที่สถานีตำรวจ
                    4) ปรับ คือ นำค่าปรับซึ่งเป็นเงินไปชำระให้แก่เจ้าพนักงาน
                    5) ริบทรัพย์สิน คือ ริบเอาทรัพย์สินนั้นเป็นของหลวง เช่น ปืนเถื่อน ให้ริบ ฯลฯ

    ·       4. บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาและได้รับโทษทางอาญาเมื่อใด
                   
    บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาต่อเมื่อ
                    4.1 กระทำโดยเจตนา คือ การกระทำโดยรู้สำนึกในการที่กระทำและในขณะเดียวกันผู้กระทำประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้น
                    กรณีตัวอย่างที่ 1
    นายฟักรู้ว่านายแฟง ซึ่งเป็นศัตรูจะต้องเดินผ่านสะพานข้ามคลองหลังวัดสันติธรรมทุกเช้าเวลาประมาณ 08.00 น. เขาจึงไปดักซุ่มอยู่ใกล้บริเวณนั้น เมื่อนายแฟงเดินมาใกล้นายฟักจึงใช้ปืนยิงไปที่นายแฟง 1 นัด กระสุนปืนถูกบริเวณหน้าอกของนายแฟง เป็นเหตุให้นายแฟงถึงแก่ความตาย นายฟักมีความผิดฐานฆ่าคนตายโดยเจตนา
                    กรณีตัวอย่างที่ 2
    ดาวเรืองทะเลาะกับบานชื่น ดาวเรืองพูดเถียงสู้บานชื่นไม่ได้ ดาวเรืองจึงตบปากบานชื่น 1 ที่ ดาวเรืองมีความผิดฐานทำร้ายร่างกายโดยเจตนา
                    4.2 กระทำโดยไม่เจตนา แต่ต้องเป็นกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้ โดยแจ้งชัดให้รับผิดแม้กระทำโดยไม่เจตนากระทำโดยไม่เจตนา คือ ผู้กระทำไม่ได้ประสงค์ต่อผล หรือไม่อาจเล็งเห็นผลของการกระทำนั้นได้ เช่น เราผลักเพื่อนเพียงจะหยอกล้อเท่านั้น แต่บังเอิญเพื่อนล้มลงไป ศีรษะฟาดขอบถนนถึงแก่ความตาย เป็นต้น
                    4.3 กระทำโดยประมาท แต่ต้องเป็นกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดเมื่อได้กระทำโดยประมาทการกระทำโดยประมาท คือ การกระทำความผิดมิใช่โดยเจตนา แต่กระทำโดยปราศจากความระมัดระวัง ซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจะต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์ และผู้กระทำอาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านี้ได้ แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่
                    กรณีตัวอย่าง
    นายเหิรฟ้าใช้อาวุธปืนขู่นายเหิรลม เพื่อไม่ให้เอาแป้งมาป้ายหน้านายเหิรฟ้า โดยที่นายเหิรฟ้าไม่รู้ว่าอาวุธปืนกระบอกนั้น มีลูกกระสุนปืนบรรจุอยู่ เป็นเหตุให้กระสุนปืนลั่นไปถูกนายเหิรลมตาม นายเหิรฟ้ามีความผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย
                    อนึ่ง การกระทำไม่ได้หมายความเฉพาะถึงการลงมือกระทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งเท่านั้น แต่หมายความรวมถึงการงดเว้นการกระทำโดยประสงค์ให้เกิดผลและเล็งเห็นผลที่จะเกิดเช่น แม่จงใจทิ้งลูกไม่ให้กินข้าว จนทำให้ลูกตาย ตามกฎหมายแม่มีหน้าที่จะต้องเลี้ยงดูลูก เมื่อแม่ละเลยไม่ทำหน้าที่ดังกล่าวจึงเป็นเหตุให้ลูกตาย ย่อมเป็นการกระทำความผิดโดยงดเว้น ถ้าการงดเว้นนั้นมีเจตนางดเว้นก็ต้องรับผิดในฐานะกระทำโดยเจตนา ถือว่าเป็นความผิดฐานฆ่าคนตายโดยเจตนา

    ·       บุคคลจะต้องได้รับโทษทางอาญาต่อเมื่อ
                   
    1. การกระทำอันกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำนั้น บัญญัติเป็นความผิดซึ่งเป็นไปตามหลักที่ว่าไม่มีความผิดโดยปราศจากกฎหมาย
                    2. กฎหมายที่ใช้ในขณะนั้นต้องกำหนดโทษไว้ด้วย เป็นไปตามหลักที่ว่าไม่มีโทษโดยไม่มีกฎหมายการลงโทษต้องเป็นโทษที่กำหนดไว้ในกฎหมาย เช่น กฎหมายกำหนดโทษปรับศาลจะลงโทษจำคุกไม่ได้ แม้ศาลจะลงโทษปรับศาลก็ลงโทษปรับเกินอัตราขั้นสูงที่กฎหมายกำหนดไว้ไม่ได้
                    กรณีตัวอย่าง
    ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 372 บัญญัติว่า ผู้ใดทะเลาะกันอย่างอื้ออึงในทางสาธารณะ หรือสาธารณสถานหรือกระทำโดยประการอื่นใด ให้เสียความสงบเรียบร้อยในทางสาธารณะหรือสาธารณะสถานต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 500 บาท  ดังนั้น ถ้าผู้ใดกระทำความผิดตามมาตรานี้ศาลจะลงโทษจำคุกไม่ได้  เพราะความผิดตามมาตราดังกล่าวกำหนดเฉพาะโทษปรับเท่านั้น ถ้าศาลจะลงโทษปรับก็จะปรับได้ไม่เกิน 500 บาท

    ·       5. เหตุที่กฎหมายไม่ลงโทษ
                   
    โดยหลักทั่วไปแล้วบุคคลใดกระทำความผิดต้องรับโทษ แต่มีบางกรณีที่กฎหมายไม่ลงโทษ   เหตุที่กฎหมายไม่ลงโทษนั้น เป็นกรณีที่กฎหมายไม่ลงโทษผู้กระทำการอันกฎหมายบัญญัติเป็นความผิด หมายความว่า ผู้กระทำยังมีความผิดอยู่แต่กฎหมายยกเว้นโทษให้ ต่างกับกรณียกเว้นความผิด ซึ่งผู้กระทำไม่มีความผิดเลยทีเดียว อย่างไรก็ตามทั้งเหตุยกเว้นและหยุดยกเว้นความผิดต่างก็มีผลทำให้ผู้กระทำรับโทษเหมือนๆกัน
                    เหตุยกเว้นโทษทางอาญา  
                   
    การกระทำความผิดอาญาที่ผู้กระทำไม่ต้องรับโทษถ้ามีเหตุอันจะอ้างได้ตามกฎหมาย เช่น
                        1. การกระทำความผิดด้วยความจำเป็น
                        2. การกระทำความผิดเพราะความบกพร่องทางจิต
                        3. การกระทำความผิดเพราะความมึนเมา
                        4. การกระทำตามคำสั่งของเจ้าพนักงาน
                        5. สามีภริยากระทำความผิดต่อกันในความผิดเกี่ยวกับทรัพย์บางฐาน
                        6. เด็กอายุไม่เกิน 14 ปีกระทำความผิด

    ·       6. เด็กและเยาวชนกระทำความผิด
                   
    เด็กอาจกระทำความผิดได้เช่นเดียวผู้ใหญ่ แต่การกระทำความผิดของเด็กอาจได้รับโทษต่างจากการกระทำของผู้ใหญ่ ทั้งนี้เนื่องจากเด็กเป็นผู้อ่อนเยาว์ ปราศจากความรู้สึกรับผิดชอบหรือขาดความรู้สึกสำนึกเท่าผู้ใหญ่ การลงโทษเด็กจำต้องคำนึงถึงอายุของเด็ก   ผู้กระทำความผิดด้วย   กฎหมายได้แบ่งการกระทำความผิดของเด็กและเยาวชนออกเป็น 4 ช่วงอายุ คือ
                    1) เด็กอายุไม่เกิน 7 ปี
                    2) เด็กอายุกว่า 7 ปี แต่ยังไม่เกิน 14 ปี
                    3) เยาวชนอายุเกินกว่า 14 ปีแต่ไม่เกิน 17 ปี
                    4) เยาวชนอายุกว่า 17 ปี แต่ไม่เกิน 20 ปี
                สำหรับเด็กในช่วงอายุไม่เกิน 7 ปี และเด็กอายุกว่า 7 ปีแต่ไม่เกิน 14 ปีเท่านั้น  ที่กฎหมายยกเว้นโทษให้ ส่วนผู้ที่อายุเกินกว่า 14 ปีแต่ไม่เกิน 17 ปี และผู้ที่มีอายุกว่า 17 ปี  แต่ไม่เกิน 20 ปี หากกระทำความผิดกฎหมายก็จะไม่ยกเว้นโทษให้ เพียงแต่ให้รับลดหย่อนโทษให้
                        6.1 เด็กอายุไม่เกิน 7 ปีการกระทำความผิด เด็กไม่ต้องรับโทษเลย ทั้งนี้เพราะกฎหมายถือว่าเด็กในวัยนี้ยังไม่สามารถรู้ผิดชอบได้ ฉะนั้นจะมีการจับกุมฟ้องร้อยเกในทางอาญามิได้
                        6.2 เด็กอายุกว่า 7 ปี แต่ไม่เกิน 14 ปีกระทำความผิด เด็กนั้นก็ไม่ต้องรับโทษเช่นกัน แต่กฎหมายให้อำนาจศาลที่จะใช้วิธีการสำหรับเด็ก เช่น
                                1) ว่ากล่าวตักเตือนเด็กนั้นแล้วปล่อยตัวไป
                                2) เรียกบิดามารดา ผู้ปกครองหรือบุคคลที่เด็กนั้นอาศัยอยู่มาตักเตือนด้วยก็ได้
                                3) มอบตัวเด็กให้แก่บิดามารดาหรือผู้ปกครองไป โดยวางข้อกำหนดให้บิดามารดาหรือผู้ปกครองระวังเด็กนั้นไม่ให้ก่อเหตุร้าย
                                4) มอบเด็กให้แก่บุคคลที่เด็กอาศัยอยู่ เมื่อเขายอมรับข้อกำหนดที่จะระวังเด็กนั้นไม่ให้ก่อเหตุร้าย
                                5) กำหนดเงื่อนไขเพื่อคุมความประพฤติ
                                6) มอบตัวเด็กให้กับบุคคลหรือองค์การที่ศาลเห็นสมควร เพื่อดูและอบรมและสั่งสอนเด็กในเมื่อบุคคลหรือองค์การนั้นยินยอม
                                7) ส่งตัวเด็กนั้นไปยังโรงเรียนหรือสถานฝึกอบรม หรือสถานที่ซึ่งจัดตั้งขึ้นเพื่อฝึกและอบรม
                        6.3 เยาวชนอายุเกิน 14 ปี แต่ไม่เกิน 17 ปีกระทำความผิด ผู้ที่อายุกว่า 14 ปีแต่ไม่เกิน 17 ปี กระทำการอันกฎหมายบัญญัติเป็นความผิด ให้ศาลพิจารณาถึงความรู้ผิดชอบและสิ่งอื่นทั้งปวงเกี่ยวกับผู้นั้นในอันควรวินิจฉัยว่าสมควรพิพากษาลงโทษผู้นั้นหรือไม่ศาลอาจใช้วิธีการตามข้อ 6.2 หรือลงโทษเช่นเดียวกับผู้ใหญ่ โดยลดมาตราส่วนโทษที่จะใช้กับเยาวชนนั้นลงกึ่งหนึ่ง ก่อนที่จะมีการลงโทษเยาวชนผู้กระทำความผิด
                        6.4 เยาวชนอายุกว่า 17 ปี แต่ไม่เกิน 20 ปีกระทำความผิด ผู้ที่อายุกว่า 17 ปี แต่ไม่เกิน 20 ปี กระทำอันกฎหมายบัญญัติเป็นความผิด ถ้าศาลเห็นสมควรจะลดมาตราส่วนโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นลง 1 ใน 3 หรือกึ่งหนึ่งก็ได้จะเห็นได้ว่า ผู้ที่อายุกว่า 17 ปี แต่ไม่เกิน 20 ปี กฎหมายไม่ถือว่าเป็นเด็ก   แต่กฎหมายก็ยอมรับว่า บุคคลในวัยนี้ยังมีความคิดอ่านไม่เท่าผู้ใหญ่จริง จึงไม่ควรลงโทษเท่าผู้ใหญ่กระทำความผิด โดยให้ดุลพินิจแก่ศาลที่จะพิจารณาว่า สมควรจะลดหย่อนผ่อนโทษให้หรือไม่ ถ้าศาลพิจารณาสิ่งต่างๆที่เกี่ยวกับผู้กระทำความผิด เช่น ความคิดอ่าน การศึกษาอบรม ตลอดจนพฤติการณ์ในการกระทำความผิด เช่น กระทำความผิดเพราะถูกผู้ใหญ่เกลี้ยกล่อม หากศาลเห็นสมควรลดหย่อนผ่อนโทษให้ก็มีอำนาจลดมาตราส่วนโทษได้ 1 ใน 3 หรือกึ่งหนึ่งการลดมาตราส่วนโทษ คือ การลดอัตราโทษขั้นสูงและโทษขั้นต่ำลง 1 ใน หรือกึ่งหนึ่งแล้ว จึงลงโทษระหว่างนั้น แต่ถ้ามีอัตราโทษขั้นสูงอย่างเดียวก็ลดเฉพาะอัตราโทษขั้นสูงนั้น แล้วจึงลงโทษจากอัตราที่ลดแล้วนั้น
                    กรณีตัวอย่าง
    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 536/2516 จำเลยอายุ 19 ปี ยอมมีความรู้สึกผิดชอบน้อย ได้กระทำความผิดโดยเข้าใจว่าผู้ตายข่มเหงน้ำใจตน ศาลเห็นสมควรลดมาตราส่วนโทษลง 1 ใน 3

    ·       สรุปสาระสำคัญ
                       
    1. กฎหมายอาญา คือ กฎหมายที่ว่าด้วยความผิดและโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิด
                        2. ความผิดทางอาญา คือ การกระทำที่มีผลกระทบกระเทือนต่อสังคมหรือคนส่วนใหญ่ของประเทศ
                        3. การกระทำความผิดอาญาออกเป็น 2 ลักษณะ คือ  ความผิดต่อแผ่นดิน และความผิดอันยอมความกันได้
                        4. ลักษณะสำคัญของกฎหมายอาญาเป็นกฎหมายที่กำหนดเป็นความผิดชัดแจ้ง หรือเป็นกฎหมายที่ไม่มีผลย้อนหลัง
                        5. โทษทางอาญา มี 5 ชนิด
                                    1. ประหารชีวิต 2. จำคุก
                                    3. กักขัง 4. ปรับ
                                    5. ริบทรัพย์สิน
                        6. กระทำโดยเจตนา คือ การกระทำโดยรู้สำนึกในการที่กระทำและในขณะเดียวกันผู้กระทำประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้น
                        7. กระทำโดยไม่เจตนา คือ ผู้กระทำไม่ได้ประสงค์ต่อผล หรือไม่อาจเล็งเห็นผลของการกระทำนั้นได้
                        8. การกระทำโดยประมาท คือ การกระทำความผิดมิใช่โดยเจตนา แต่กระทำโดยปราศจากความระมัดระวัง ซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้น จะต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์และผู้กระทำอาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านี้ได้ แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่
                        9. กฎหมายได้แบ่งการกระทำความผิดของเด็กและเยาวชนออกเป็น 4 ช่วงอายุ คือ
                                1) เด็กอายุไม่เกิน 7 ปี
                                2) เด็กอายุกว่า 7 ปี แต่ยังไม่เกิน 14 ปี
                                3) เยาวชนอายุเกินกว่า 14 ปีแต่ไม่เกิน 17 ปี
                                4) เยาวชนอายุกว่า 17 ปี แต่ไม่เกิน 20 ปี

    กฎหมายอื่นที่ควรรู้

    กฎหมายรับราชการทหาร
          ชายที่มีสัญชาติไทยตามกฎหมาย  มีหน้าที่เข้ารับราชการทหารทุกคนตามพระราชบัญญัติรับราชการทหาร  พุทธศักราช 2497 โดยการรับราชการทหารของชายไทยมีดังนี้ 
    ทหารกองเกิน  หมายความว่า  ผู้ที่ซึ่งมีอายุตั้งแต่สิบแปดปีบริบูรณ์  และยังไม่ถึงสามสิบปีบริบูรณ์
    ทหารกองประจำการ หมายความว่า  ผู้ซึ่งขึ้นทะเบียนทหารกองประจำการ  และได้เข้ารับราชการในกองประจำการจนกว่าจะได้ปลดทหารกองหนุน  หมายความว่า ทหารที่ปลดจากกองประจำการ  โดยรับราชการในกองประจำการจนครบกำหนดแล้ว  หืรอขึ้นทะเบียนกองประจำการแล้วปลดเป็นกองหนุน (โดยปกติจะพ้นราชการทหารกองหนุนเมื่ออายุครบ  40 ปีบริบูรณ์ ยกเว้นผู้ทีผ่านการฝึกวิชาทหารตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการฝึกวิชาทหาร)
    1.  ชายสัญชาติไทยเมื่ออายุย่างเข้า  18 ปี  ในพุทธศักราชใดก็ต้องแสดงตนเพื่อลงบัญชีกองเกินที่อำเภอท้องที่ซึ่งเป็นภูมิลำเนาของตนภายในเดือนพฤศจิกายนของปีนั้นๆผู้ที่ไม่สามารถ     ไปลงทะเบียนด้วยตนเองได้  ต้องให้ผู้ที่บรรลุนิติภาวะและพอเชื่อถือได้ไปแจ้งแทน
    2.  ผู้ที่ยังมิได้ลงทะเบียนทหารกองเกินพร้อมกับคนชั้นเดียวกัน  เพราะเหตุใดก็ตามถ้าอายุยังไม่ถึง  46 ปีบริบูรณ์  ต้องปฏิบัติทำนองเดียวกับบุคคลในข้อที่ หนึ่ง ภายในสามสิบวันนับ แต่วันที่สามารถปฎิบัติได้ แต่ต้องแจ้งแทนไม่ได้
    3. ผู้ซึ่งได้รับยกเว้น ไม่ต้องลงบัญชีทหารกองเกิน ได้แก่  บุคคลซึ่งไม่มีวุฒิที่จะเป็นทหารได้เฉพาะบางท้องที่ตามกำหนดในกฎกระทรวง  พระภิกษุที่มีสมณะศักดิ์  หรือที่เป็นเปรียญและนักบวชในพระพุทธศาสนาแห่งนิกายจีนหรือญวนที่มีสมณะศักดิ์
    4. ผู้ซึ่งไม่ไปแสดงตนเพื่อลงบัญชีทหารกองเกิน  ได้แก่ สามเณรเปรียญ  และผู้ซึ่งอยู่ในที่คุมขังของเจ้าพนักงาน
    กฎหมายภาษีอากร
    ภาษีอากร คือเงินที่รัฐ  หรือท้องถิ่นเก็บจากบุคคลทั่วไปเพื่อใช้จ่ายในการบริหารประเทศ หรือท้องถิ่น เช่นภาษีเงินได้  ภาษีบำรุงท้องที่  ภาษีโรงเรือนและที่ดิน  ภาษีมูลค่าเพิ่ม  ภาษีสรรพสามิต อากรแสตมป์ เป็นต้น ภาษีที่ควรรู้  คือภาษีบุคลเงินได้ธรรมดา
    ภาษีเงินได้ธรรมดา  เป็นภาษีที่รัฐเรียกเก็บโดยคำนวณอัตราจากรายได้ของบุคคลในปีหนึ่งๆ รายได้ดังกล่าวนี้ตามกฎหมายเรียกว่า  "เงินได้พึงประเมิน"
    เงินได้พึงประเมิน  หมายถึง  ตัวเงิน  ทรัพย์สิน  หรือประโยชน์ที่อาจคิดคำนวณเป็นเงิน หรือทั้งตัวเงินหรือทรัพย์สิน  หรือประโยชน์ปะปนกัน  โดยได้รับในระหว่างวันที่  1 มกราคม ถึง  31 ธันวาคม ของปีเดียวกัน ซึ่งเงินได้พึ่งประเมินแบ่งเป็นประเภทต่างๆ ได้แก่  เงินเนื่องจากการจ้างแรงงาน  เงินที่ได้เนื่องจากหน้าที่หรือตำแหน่งที่ทำงาน  หรือจากการรับทำงานให้  เงินที่ได้ดอกเบี้ยต่างๆ เงินหรือประโยชน์อื่นๆ ที่ได้จากการเช่าทรัพย์สิน  เงินที่ได้จากอาชีพอิสระ  เงินที่ได้จากการรับเหมาและเงินที่ได้จากธุรกิจอื่นๆตามที่กฎหมายบัญญัติ
    ผู้ที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียรายได้บุคคลธรรมดา  คือ บุคคลในคณะทูต  และบุคคลในคณะกงสุล
    1) การยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีเงินได้
    การยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดานั้น  ผู้เสียภาษีจะยื่นแบบแสดงรายการเสีนภาษี  เรียกว่าภ.ง.ด. 90 หรือ ภ.ง.ด. 91  แล้วแต่กรณี ตามเกณฑ์ต่อไปนี้
    1. ผู้ที่เป็นโสด  มีเงินได้พึงประเมินเกิน 30,000 บาท
    2. คู่สมรส  มีเงินได้พึงประเมินไม่ว่าฝ่ายเดียวหรือทั้งสองฝ่ายร่วมกันเกิน 60,000 บาท
    3. กองมรดกที่ยังไม่ได้แบ่ง มีเงินได้พึงประเมินเกิน 30,000 บาท
    4. ห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่ไม่ใช่นิติบุคคลมีเงินได้พึงประเมินเกิน30,000 บาท ทั้งนี้สามีภริยาที่อยู่ร่วมกันตลอกทั้งปีภาษี ถือว่าเงินได้ของภริยาเป็นเงินได้ของสามี
    2) การลดหย่อนภาษี  และการหักค่าใช้จ่าย  สามารถกระทำได้ดังนี้
    2.1 คู่สมรส กรณีคู่สมรสไม่มีเงินได้    หรือคำนวณภาษี  ให้หักลดหย่อน  30,000 บาท และในกรณีภริยาแยกคำนวณภาษีหักค่าลดหย่อนของภริยา  30,000บาท
    2.2 บุตร  กรณีบุตรศึกษาอยู่ในประเทศให้หักค่าลดหย่อนได้คนละ  17,000 บาท หากแยกคำนวณภาษี ให้หักได้คน 8,500 บาท บุตรในที่นี้ต้องเป็นบุตรที่เห็นชอบด้วยกฎหมายของผู้มีเงินได้สมรสและต้องเป็นผู้เยาว์ (อายุไม่ถึง 20 ปี หรือยังไม่บรรลุนิติภาวะโดยการสมรส)  หรืออายุไม่เกิน 25  ปีและยังศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัยหรือชั้นอุดมศึกษา  หรือเป็นผู้ที่ศาลมีคำสั่งให้เป็นบุคคลไร้ความสามารถ หรือ เสมือนไร้ความสามารถ
    จำนวนบุตรที่มีสิทธิหักลกหย่อนคือที่เกิดก่อน พ.ศ.2523 ให้หักลดหย่อนได้ทุกคน และบุตรที่เกิดตั้งแต่  พ.ศ. 2523 หรือบุตรที่รับเลี้ยงเป็นบุตรบุญธรรม ตั้งแต่  พ.ศ.2522 ให้หักรวมกัน (รวมกับบุตรที่เกิดก่อน  พ.ศ.2523 ได้ไม่เกินสามคน)
    2.3 บิดามารดา  ต้องมีอายุตั้งแต่  60 ปีขึ้นไป และอยู่ในความอุปการะเลี้ยงดูของผู้มีเงินได้ซึ่งหักลดหย่อนบิดามารดา สามารถหักได้คนละ30,000 บาท
    2.4 เบี้ยประกันชีวิต  ผู้มีเงินได้ที่สามารถหักค่าลดหย่อน เนื่องจากมีการประกันชีวิตนั้นกรมธรรม์ประกันชีวิตต้องมีระยะเวลาตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป และเอาประกันภัยไว้กับผู้รับประกันภัยที่ประกอบกิจการในราชอาณาจักร  ผู้มีเงินได้มีสิทธิหักค่าลดหย่อนเบี้ยประกันได้ตามจ่ายจริงแต่ ไม่เกิน 100,000 บาท
    2.5 ดอกเบี้ยเงินกู้ยืม เพื่อซื้อ หรือเช่าซื้อ   หรือสร้างที่อยู่อาศัย ตามเงินที่ได้จ่ายจริงภาษีในปีนั้นแต่ไม่เกิน 100,000 บาท
           การหักค่าใช้จ่ายเงินได้พึงประเมิน  เนื่องจากการสร้างแรงงาน และหน้าที่หรือตำแหน่งงานที่ทำ  หักค่าใช้จ่ายได้ร้อยละ 40 ของเงินได้ แต่รวมกันต้องไม่เกิน 60,000บาท

    กฎหมายระหว่างประเทศที่ควรรู้

    กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีเมือง:เรื่อง สัญชาติ และ คนไร้สัญชาติ

               สัญชาติ หมายถึง ประเทศที่ที่บุคคลคนนั้นเกิด โดยไม่นับเชื้อชาติ การเปลี่ยนสัญชาตินั้นทำได้ แต่ต้องว่าตามกฎหมายของแต่ละประเทศ สัญชาตินั้นสำคัญมากเพราะจะทำให้คนอื่นรู้ว่าคุณเกิดที่ไหน ดังนั้นในแบบกรอกหลายอย่าง จึงมีช่องสัญชาติให้เติม สำหรับหนังสือเดินทาง จะต้องมีสัญชาติติดตัวอยู่ เพื่อที่จะได้ว่ามาจากประเทศอะไร

             คนไร้สัญชาติ

            คนไร้สัญชาติหมายถึงสภาพที่บุคคลที่ไม่มีสัญชาติของรัฐใดรัฐหนึ่งในโลกนี้เลย จากเหตุผลที่ตัวเขาเอง หรือบุพการี หรือกฎหมายเกี่ยวกับสัญชาติของประเทศต่าง ๆ ส่งผลให้คนเหล่านั้นกลายเป็นคนไร้รัฐรวมทั้งกลายเป็นคนต่างด้าวที่ผิดกฎหมายของทุกรัฐในโลกนี้

              นักวิชาการด้านกฎหมายสัญชาติ จำแนกสาเหตุความไร้สัญชาติในประเทศไทยไว้ 2 ลักษณะคือ

             1) ความไร้สัญชาติเพียงด้านข้อเท็จจริง (De facto Stateless)ความไร้สัญชาติด้านข้อเท็จจริง ซึ่งมีสาเหตุ 2 รูปแบบ ที่เป็นข้อบกพร่องทั้งผู้ปกครอง คือ พ่อแม่และในระบบราชการไทยมากที่สุด และผลักให้เด็กไทยที่มีสิทธิอยู่แล้วตามกฎหมาย กลายเป็นคนชายขอบ โดยเฉพาะเด็กๆ ที่เกิดและเติบโตในประเทศไทย ซึ่งหากสรุปว่ากลไกราชการนี้เองที่มีส่วนร่วมในการละเมิดสิทธิประชาชน และสิทธิมนุษยชน

            2) ความไร้สัญชาติทั้งด้านข้อกฎหมาย (De Jure Stateless) และ ความไร้สัญชาติโดยข้อเท็จจริง ความไร้สัญชาติด้านข้อกฎหมายนั้น พอเข้าใจ หมายถึงความจำกัด ว่าไม่มีกฎหมายใดเลย กำหนดกระบวนการ หรือวิธีให้สัญชาติแก่บุคคล

    คนกลุ่มนี้ส่วนใหญ่เป็นคนไทย แต่ถูกละเลยการให้สัญชาติ ไม่ใช่คนไร้สัญชาติคือไร้รัฐสังกัด และอันดับต่อมา คือคนที่อพยพ หนีภัย หรือมาตั้งรกรากนานเป็นชั่วอายุคน คนเหล่านี้ก็สำคัญ ที่ต้องพิจารณาให้สิทธิ ให้สถานะ ให้สัญชาติ และรวมทั้งคนที่อพยพหนีภัย กลับคืนถิ่นไม่ได้และสมัครใจตั้งรกรากอยู่ถาวรก็ต้องเร่งพิจารณาให้สถานะเช่นกัน

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×