ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    พัฒนาการด้านศิลปะ วัฒนธรรม และภูมิปัญญาไทย

    ลำดับตอนที่ #4 : ศิลปะอยุธยา (พุทธศตวรรษที่ 20-24)

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 13.27K
      19
      6 พ.ย. 52

     

    ศิลปะอยุธยา (พุทธศตวรรษที่ 20-24)

    ศิลปะอยุธยาเป็นศิลปะที่สร้างขึ้นในอยุธยาในระยะเวลา 417 ปี ซึ่งมีศิลปกรรมแขนงต่างๆเกิดขึ้นมาก ศิลปกรรมเหล่านี้มีรูปแบบเนื้อหาที่คล้ายคลึงกัน และมีวิวัฒนาการไปตามสภาพของบ้านเมือง
    1.สถาปัตยกรรม สถาปัตยกรรมอยุธยาสามารถแบ่งช่วงเวลาออกได้เป็น 3 ยุคด้วยกัน คือ
    สถาปัตยกรรมอยุธยาตอนต้น ตั้งแต่สมเด็จพระรามาที่ 1 ทรงสถาปนากรุงศรีอยุธยาเมื่อ พ.ศ.1893 จนถึงสมัยสมเด็จประบรมไตรโลกนาถใน พ.ศ.2031 ลักษณะสถาปัตยกรรมเป็นแบบศิลปะลพบุรี หรือศิลปะเขมร กับศิลปะอู่ทอง ลักษณะทางสถาปัตยกรรมนิยมสร้างปรางค์เป็นประธานของวัดโดยมีลักษณะเลียนแบบปรางค์เขมรแต่มีลักษณะสูงชะลูดกว่า เช่น ปรางค์ประธานวัดพุทไธสวรรย์ ปรางค์ประธานวัดมหาธาตุ เป็นต้น
    สถาปัตยกรรมอยุธยาตอนกลาง  เริ่มตั้งแต่สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถเสด็จขึ้นครองราชย์ที่เมืองพิษณุโลกใน พ.ศ.2006 จนถึงสมัยพระเจ้าปราสาททองใน พ.ศ.2172 สถาปัตยกรรมได้รับอิทธิพลของศิลปะสุโขทัย โดยหันไปนิยมเจดีย์ทรงลังกาแบบปรางค์แบบเขมร เช่น พระมหาสถูปสามองค์วัดพระศรีสรรเพชญ์ พระเจดีย์ใหญ่ชัยมงคล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นต้น
           สถาปัตยกรรมอยุธยาตอนปลาย เริ่มตั้งแต่รัชกาลสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง พ.ศ.2172 จนสิ้นสมัยอยุธยาใน พ.ศ.2310 เป็นช่วงเวลาที่ศิลปะเขมรเข้ามามีอิทธิพลในศิลปะอยุธยาอีกครั้ง โดยเฉพาะรูปแบบสถาปัตยกรรมปรางค์และสถาปัตยกรรมเขมร ตัวอย่างศิลปะในยุคนี้ เช่น ปรางค์ประธานวัดไชยวัฒนาราม ปราสาทพระนครเหนือ นอกจากนี้ สมัยนี้ยังนิยมสร้างพระเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสอง นับเป็นลักษณะเฉพาะของสถาปัตยกรรมอยุธยา
    ในสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ (พ.ศ.2275-2301) เป็นช่วงสมัยของการบูรณปฏิสังขรณ์การสร้างพระเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสองเป็นที่นิยม ตัวอย่างสถาปัตยกรรมที่ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ในช่วงเวลานี้ เช่น พระมหาเจดีย์วัดภูเขาทอง เป็นต้น
    สถาปัตยกรรมแบบอื่นๆ คือ โบสถ์ วิหาร สมัยอยุธยาตอนต้นนิยมทำขนาดใหญ่มากเป็นอาคารโถงสี่เหลี่ยม ตัวอาคาร ผนัง เสา ก่อด้วยอิฐ ผนังอาคารเจาะเป็นช่องแคบๆ คล้ายซี่กรงเรียกว่า ลูกฟัก เพื่อให้มีทางระบายลมและให้แสงแดดส่องผ่านเข้าไปได้บ้าง ยังไม่มีการเขียนภาพจิตรกรรมตกแต่งพอถึงสมัยอยุธยาตอนกลางอาคารลดขนาดเล็กลง ก่อผนังทึบ เจาะช่องระบายลมแคบๆ มีประตู 2-3 ช่อง
    อาคารในสมัยอยุธยาตอนปลายฐานอาคารนิยมทำเป็นรูปโค้งคล้ายท้องเรือ ถือเป็นลักษณะเฉพาะของอาคารสมัยนี้ มีการเจาะหน้าต่างที่ผนังอาคาร ตกแต่งซุ้มประตูหน้าต่างอย่างประณีต ใช้กระเบื้องเคลือบมุงหลังคา ในสมัยนี้มีการติดต่อค้าขายกับยุโรปมากขึ้นทำให้ได้รับวิทยาการใหม่ๆ มีการนำศิลปะการก่อสร้างอาคารของยุโรปมาผสม เช่น การเจาะหน้าต่างโค้งแบบศิลปะกอทิกและใช้หน้าต่างถี่ขึ้น เกิดการสร้างอาคาร 2 ชั้น โบสถ์ วิหารที่สร้างขึ้นใหม่มีหลายแห่ง เช่น ตำหนักพระพุทธโฆษาจารย์ วิหารวัดตึก วิหารวัดเจ้าย่า จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นต้น
    สำหรับสถาปัตยกรรมที่เกี่ยวข้องกับการปกครองบ้านเมืองนั้น มีป้อมปราการและกำแพงเมืองในสมัยแรกๆ กำแพงเมืองเป็นเพียงเชิงเทินดิน มีเสาไม้ระเนียดปัก ต่อมาจึงมีการก่ออิฐถือปูน ป้อมปราการและประตูเมือง พัฒนาขึ้นภายหลังมีการติดต่อค้าขายกับชาวตะวันตก
           นอกจากนี้ยังมีสถาปัตยกรรมที่อยู่อาศัยของประชาชน ซึ่งเรียกว่า เรือนไทย นิยมสร้างเป็นเรือนชั้นเดียว ยกพื้นสูงใต้ถุนโปร่ง มี 2 ลักษณะ คือ เรือนเครื่องผูก ปลูกด้วยไม้ไผ่ ใช้เส้นหวายและตอกเครื่องผูกรัด เป็นที่อยู่ของชาวบ้านทั่วไป และเรือนเครื่องสับ ปลูกด้วยไม้ เช่น ไม้ยาง ไม้ตะแบก ไม้แดง การปลูกต้องอาศัยวิธีเข้าปากไม้ โดยบากเป็นปากเป็นร่องในตัวไม้แต่ละตัวแล้วนำมาสับประกบกัน เป็นเรือนของผู้มีฐานะดี

    2.ประติมากรรม ศิลปะอยุธยาด้านประติมากรรม ส่วนมากสร้างเนื่องจากในพระพุทธศาสนา พระพุทธรูปสมัยนี้นิยมหล่อด้วยสำริด อาจทำด้วยวัสดุอื่นบ้าง เช่น สกัดจากศิลา ทำด้วยไม้ ปูนปั้นดินเผา และทองคำ พระประธานในโบสถ์วิหารสมัยนี้มักเป็นพระปูนปั้นหรือสำริดขนาดใหญ่โตคับโบสถ์ สมัยอยุธยาตอนปลายนิยมสร้างพระพุทธรูปทรงเครื่องกันมาก
           นอกจากนี้ยังมีการสร้างประพิมพ์ทำเป็นพระพุทธรูปองค์เล็กๆหลายองค์บนแผ่นเดียวกัน เรียกว่า พระแผง หรือพระกำแพงห้าร้อย มีมาตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนกลาง ส่วนอยุธยาตอนปลายมักนิยมทำพระพิมพ์เป็นพระพุทธรูปทรงเครื่องประทับอยู่ภายในเรือนแก้ว

    3.จิตรกรรม ภาพจิตรกรรมอยุธยาเหลืออยู่น้อยมาก ส่วนใหญ่เป็นเรื่องพระพุทธศาสนา ในสมัยอยุธยาตอนต้นนิยมเขียนบนผนังคูหาปรางค์และคูหาเจดีย์เท่านั้น วิธีเขียนจะเขียนบนผนังขณะผิวปูนที่ฉาบยังหมาดๆอยู่ เพื่อให้เนื้อสีซึมเข้าไปในผนัง เรียกว่า ภาพปูนเปียก โดยมากเป็นภาพพระพุทธเจ้า ภาพสาวก และภาพบุคคลนั่งซ้อนกันเป็นแถวๆ
    ราวปลายพุทธศตวรรษที่ 21 เป็นต้นมา มีการเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังบนผนังโบสถ์และวิหาร เรื่องราวที่เขียนมักเป็นภาพพุทธประวัติ ภาพชาดกทางพระพุทธศาสนา ภาพเทพชุมนุมเครื่องประดับของภาพจะเขียนอย่างวิจิตรบรรจงมาก เช่น ภาพจิตรกรรมฝาผนังวัดใหญ่สุวรรณาราม วัดเก้าแก้วสุทธาราม จังหวัดเพชรบุรี วัดใหม่ประชุมพล ตำหนักพระพุทธโฆษาจารย์ วัดพุทไธสวรรย์ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จิตรกรรมฝาผนังที่อุโบสถวัดช่องนนทรี กรุงเทพมหานคร เป็นต้น

    4.ประณีตศิลป์ ในสมัยอยุธยามีหลายประเภท เท่าที่ปรากฏหลักฐานเหลืออยู่เป็นพวกเครื่องไม้จำหลัก การเขียนลายรดน้ำ เครื่องเงิน เครื่องทอง เครื่องถม และการประดับมุก ส่วนใหญ่เป็นศิลปกรรมที่สร้างขึ้นปลายสมัยอยุธยา มีเพียงไม่กี่ชิ้นที่เป็นของสมัยกลางปลายสมัยต้น เช่น เครื่องใช้เครื่องประดับ และวัตถุทางศาสนาทำด้วยทอง เป็นงานสมัยต้นอยุธยา พบในกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะ และประตูจำหลักไม้ วัดพระศรีสรรเพชญ์ ผลงานสมัยอยุธยา
           ในสมัยปลายอยุธยา ประณีตศิลป์รุ่งเรืองมากเช่น การทำลายรดน้ำ ตกแต่งบานประตูตู้พระธรรม หีบหนังสือ และที่มีชื่อเสียงมากและสวยงามที่สุด ได้แก่ ลายรดน้ำบนตู้พระธรรม วัดเชิงหวาย (วัดเวตวันธรรมาวาส) กรุงเทพมหานคร นอกจากนี้ก็มีการประดับมุก การทำเครื่องถม และ เครื่องเบญจรงค์ ที่มีชื่อเสียงมากคือ บานประตูประดับมุกมณฑปพระบาท จังหวัดสระบุรี บานประตูประดับมุกวิหาร พระพุทธชินราช จังหวัดพิษณุโลก เครื่องถมที่สมเด็จพระนารายณ์มหาราชส่งไปถวายพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 เป็นพวกสร้อย กำไล แหวน พาน ขัน กาน้ำ หีบ คนโท กระโถน

    5.นาฏศิลป์ การแสดงนาฏศิลป์สมัยอยุธยามีการแสดงเป็นเรื่องราว เช่น หนังใหญ่ โขน ละครชาตรี ละครนอก ละครใน และการเชิดหุ่น ซึ่งในงานพระราชพิธีและงานสำคัญของบ้านเมืองมักนิยมการแสดงกันมากแต่สามัญชนนิยมเล่น ละครชาตรี ส่วนด้านการดนตรีก็พัฒนาขึ้นมาก มีการประสมวง 3 ลักษณะ ได้แก่ วงมโหรี วงปี่พาทย์และวงเครื่องสาย มีบทเพลงและทำนองเพลงของสมัยอยุธยาเป็นอันมากที่สืบทอดต่อมาจนถึงปัจจุบัน

    6.วรรณกรรม วรรณกรรมสมัยอยุธยาเท่าที่มีหลักฐานเหลืออยู่และพอจะตรวจสอบได้มีไม่มากนัก ลักษณะวรรณกรรมค่อนข้างหลากหลายในเนื้อหา คือ มีทั้งวรรณกรรมที่เกี่ยวกับพิธีกรรม ศาสนาและคำสอน การสดุดีเฉลิมพระเกียรติพระมหากษัตริย์ ตลอดจนวรรณกรรมเกี่ยวกับความรัก ความบันเทิงเริงรมย์ และการบันทึกเหตุการณ์ มีทั้งประเภทร้อยแก้วและร้อยกรอง โดยมีลักษณะร่วมกันอยู่ประการหนึ่ง คือ ผู้แต่งวรรณกรรมเป็นชนชั้นสูงและมีความสัมพันธ์กับราชสำนัก
           สมัยต้นอยุธยา วรรณกรรมที่สำคัญ คือ ลิลิตโองการแช่งน้ำ แต่งขึ้นเพื่อใช้ในพระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา มาถึงสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถครองราชย์ ถือเป็นยุครุ่งเรืองทางวรรณกรรม มีมหาชาติคำหลวง แต่งขึ้นเพื่อความศรัทราในพระพุทธศาสนา ลิลิตยวนพ่าย เพื่อสดุดีและเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถในการทำสงครามชนะล้านนา ลิลิตพระลอ เป็นวรรณกรรมเพื่อความบันเทิงและความงามในวรรณศิลป์ โคลงกำสรวล และโคลงทวาทศมาศ เป็นวรรณกรรมประเภทนิราศ
           ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช จัดเป็นยุครุ่งเรืองทางวรรณกรรมอีกสมัยหนึ่ง วรรณกรรมที่แต่งขึ้นในสมัยนี้ค่อนข้างมีเนื้อหาหลากหลาย เช่น สมุทรโฆษคำฉันท์ (บางส่วน) แต่งขึ้นเพื่อใช้เล่นหนังในงานฉลองพระชนมายุครบ 25 พรรษาของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ได้รับการยกย่องว่าเป็นยอดของวรรณกรรมประเภทฉันท์ วรรณคดีที่แต่งเป็นคำฉันท์มีอีกหลายเรื่อง คือ เสือโคคำฉันท์ อนิรุทธ์คำฉันท์ และฉันท์ดุษฏีสังเวยกล่อมช้าง นอกจากนี้ยังมี จินดามณี เป็นแบบเรียนภาษาไทยเล่มแรกที่พระโหราธิบดีแต่งขึ้นใน พ.ศ.2215 และพระราชพงศาวดารกรุงเก่าฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ รวบรวมขึ้นใน พ.ศ.2223
    ระยะสุดท้ายของความรุ่งเรืองทางวรรณกรรมอยู่ในรัชสมัยของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ วรรณคดียุคนี้ส่วนใหญ่เป็นประเภทร้อยกรอง ทั่งโคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน และร่าย เช่น โครงชะลอพระพุทธไสยาสน์ โคลงพาลีสอนน้อง โคลงทศรถสอนพระราม โคลงราชสวัสดิ์ พระราชนิพนธ์ในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ กาพย์ห่อโคลงประพาสธารทองแดง กาพย์แห่เรือนันโทปนันทสูตรคำหลวง พระมาลัยคำหลวง พระนิพนธ์เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร เป็นต้น
    สำหรับสมัยธนบุรี (พ.ศ. 2310 – 2325) เป็นช่วงเวลาสั้นเพียง 15 ปีเท่านั้น ศิลปกรรมต่าง ๆ ที่สร้างขึ้นคงเป็นไปตามแบบอย่างของอยุธยา จึงผนวกรวมเข้าไว้ในศิลปะอยุธยา
    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×