ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    พัฒนาการด้านศิลปะ วัฒนธรรม และภูมิปัญญาไทย

    ลำดับตอนที่ #7 : วัฒนธรรมและภูมิปัญญาไทย

    • อัปเดตล่าสุด 6 พ.ย. 52


    วัฒนธรรมและภูมิปัญญาไทย
    รากฐานทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญาไทยมีที่มาจากวิถีชีวิตดั้งเดิม คือ สังคมเกษตรที่พึ่งพาธรรมชาติ ความคิด ความเชื่อทางศาสนา การผสมผสานวัฒนธรรมต่างชาติ มีการดัดแปลงปรับปรุงเพื่อให้เหมาะสมจนมีเอกลักษณ์เฉพาะและมีพัฒนาการถ่ายทอดมาจนถึงปัจจุบัน วัฒนธรรมและภูมิปัญญาไทยเป็นมรดกทางวัฒนธรรมอันล้ำค่าที่บรรพบุรุษไทยได้สั่งสมไว้ให้ลูกหลานไทย จึงควรอนุรักษ์ไว้ด้วยความภาคภูมิใจ
     

           วัฒนธรรมไทย

           วัฒนธรรม (Culture) หมายถึง ทุกสิ่งทุกอย่างที่มนุษย์สร้างขึ้น โดยปรับปรุงเปลี่ยนแปลงจากการเรียนรู้และประสบการณ์ ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งที่ดีงาม มีคุณค่าควรที่คนในสังคมจะยึดถือเป็นแบบแผนเพื่อประพฤติปฏิบัติ และถ่ายทอดสืบต่อกันมาเป็นขนบธรรมเนียมประเพณี
     
    วัฒนธรรมไทย (Thai culture) สิ่งที่คนไทยคิดและสร้างมาจากความรู้และประสบการณ์ ซึ่งคนส่วนใหญ่ต่างยอมรับว่าเป็นสิ่งที่ดีงาม อันมีรูปแบบ กฎเกณฑ์ เป็นที่ยอมรับของคนในสังคม เพื่อการปฏิบัติให้เป็นไปในรูปแบบเดียวกันเป็นการแสดงออกถึงความเจริญงอกงาม ความสมัครสมานสามัคคีกัน การอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างสงบสุข และมีการสืบทอดต่อกันมา วัฒนธรรมไทยเป็นมรดกทางสังคมที่ครอบคลุมทุกสิ่งทุกอย่าง ที่แสดงออกถึงวิถีชีวิตของคนไทย ทั้งภาษา ศิลปะ การแต่งกาย ประเพณี ความเชื่อ ทัศนคติ ฯลฯ ซึ่งต้องรักษาไว้และทะนุบำรุงให้เจริญงอกงาม แต่วัฒนธรรมไทยนั้นเป็นสิ่งที่ไม่คงที่ มีการเปลี่ยนแปลงเคลื่อนไหวอยู่ตอลดเวลาตามสภาพแวดล้อมของสังคมมนุษย์ที่มีการเปลี่ยนแปลง เพราะมนุษย์มีการประดิษฐ์คิดค้นสิ่งใหม่ๆตลอดเวลา จนกลายเป็นแบบแผนวิถีชีวิตของคนในสังคม
    สังคมไทยเป็นสังคมเปิด ฉะนั้น วัฒนธรรมไทยนอกจากจะเกิดขึ้นมากจากคนไทยหรือบรรพบุรุษไทยที่รู้จักคิดสร้างสิ่งต่างๆเพื่อการดำเนินชีวิตร่วมกันในสังคมที่สืบทอดกันมายาวนานแล้ว เรายังรับวัฒนธรรมต่างชาติ โดยเฉพาะวัฒนธรรมตะวันตกเข้ามาด้วย เช่นเทคโนโลยี ระบบการศึกษา การปกครอง เศรษฐกิจ ภาษา การแต่งกาย อาหารการกิน และกีฬาต่างๆ ซึ่งวัฒนธรรมต่างชาติที่หลั่งไหลเข้ามานั้นมีส่วนช่วยเกื้อกูลให้สังคมไทยเจริญก้าวหน้าทัดเทียมนานาประเทศ และวัฒนธรรมบางอย่างได้กลมกลืนกับวัฒนธรรมเดิมของไทยจนไม่สามารถแยกออกจากกันได้ การที่ชื่นชมและหลงใหลวัฒนธรรมต่างชาตินั้นจะทำให้วัฒนธรรมไทยถูกกลืนหายไป ทำให้สังคมไทยตกเป็นเมืองขึ้นทางวัฒนธรรมของชาติอื่น เอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมไทยก็จะขาดหายไป แม้ว่าเราจะพัฒนาประเทศไปสู่ความทันสมัย แต่เราก็ไม่ควรละทิ้งรากฐานวัฒนธรรมของชาติเรา


    ภูมิปัญญาไทย

           ภูมิปัญญาไทย (Thai wisdom) หมายถึง ความรู้ ความสามารถ และทักษะของคนไทยที่เกิดจากการสั่งสมประสบการณ์ โดยผ่านกระบวนการเรียนรู้ เลือกสรร ปรับปรุง พัฒนา และถ่ายทอดมาเป็นอย่างดี เพื่อใช่ในการแก้ไขปัญหา และพัฒนาวิถีชีวิตของคนไทยได้อย่างเหมาะสมกับยุคสมัย
    ภูมิปัญญาไทยเป็นเรื่องของการใช้ความรู้ ทักษะ ความเชื่อ และพฤติกรรมของคนไทยที่แสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่างคนกับคน คนกับธรรมชาติแวดล้อม และคนกับสิ่งเหนือธรรมชาติ โดยเป็นองค์รวมหรือกิจกรรมทุกอย่างในวิถีชีวิตของคนไทยที่ใช้ในการแก้ปัญหา การจัดการ การปรับตัว การเรียนรู้เพื่อความอยู่รอดของบุคคล ชุมชน และสังคม และยังเป็นแกนหลักในการมองชีวิต รวมทั้งเป็นการเปลี่ยนแปลง เพื่อการปรับสมดุลในการพัฒนาทางสังคม ภูมิปัญญาเกิดมาจากท้องถิ่นเป็นอันดับแรก เนื่องจากคนในท้องถิ่นได้นำสิ่งต่างๆที่มีอยู่ตามธรรมชาติมาใช้ประโยชน์เพื่อการดำรงชีวิต รวมทั้งการแก้ปัญหาต่างๆ จนเกิดการเรียนรู้ การพัฒนา ปรับปรุงให้เกิดประโยชน์สูงสุดที่เรียกว่าทักษะหรือความชำนาญเช่น ทำเหมืองฝายเพื่อเก็บกักน้ำไว้ทำการเกษตร รู้จักนำพืชผักต่างมาเป็นอาหาร ยารักษาโรค รู้จักสร้างบ้านเรือนอยู่อาศัย รู้จักประดิษฐ์เครื่องมือเครื่องใช้ไว้ทำมาหากิน เป็นต้น เหล่านี้ล้วนเป็นภูมิปัญญาของคนไทยที่เกิดจากการศึกษาค้นคว้า รวบรวม และจัดเป็นความรู้ ถ่ายทอดปรับปรุงจากคนรุ่นหนึ่งไปสู่คนอีกรุ่นหนึ่ง จนเกิดเป็นผลผลิตที่ดีงาม มีคุณค่า มีประโยชน์ สามารถนำไปแก้ปัญหาและพัฒนาวิถีชีวิตได้อย่างเหมาะสมสอดคล้องกับยุคสมัย
    ภูมิปัญญาไทยเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่เกิดจากการสั่งสมความรู้ดั้งเดิมที่สะสมมาจากประสบการณ์ชีวิตของชาวบ้านเอง หรือจากการได้รับถ่ายทอดจากบรรพบุรุษ ซึ่งภูมิปัญญาแต่ละด้านนั้นได้รับการเรียนรู้มาเป็นระยะเวลายาวนาน ผ่านการสังเกต ทดลองใช้ ปรับเปลี่ยน แก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในการดำรงชีวิตด้วยสติปัญญา ความสามารถ และความเชื่อ เพื่อให้เหมาะสมกับสังคมของตนเอง ภูมิปัญญาบางอย่างอาจมีการปรับปรุงใหม่ บางอย่างสร้างขึ้นใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับยุคสมัยและความจำเป็นในขณะนั้น ในขณะภูมิปัญญาบางอย่างรับอิทธิพลมาจากต่างชาติ โดยนำมาใช้เลย หรือนำมาผสมผสานกับวัฒนธรรมไทยจนเกิดเป็นภูมิปัญญาไทยทั้งนี้ก็เพื่อปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับสังคมไทย
    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×