ลำดับตอนที่ #6
คืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด
คุณแน่ใจว่าต้องการคืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด ?
ลำดับตอนที่ #6 : ศิลปะรัตนโกสินทร์ตั้งแต่รัชกาลที่ 4 เป็นต้นมา (พ.ศ. 2394-ปัจจุบัน)
ศิลปะรัตนโกสินทร์ตั้งแต่รัชกาลที่ 4 เป็นต้นมา (พ.ศ. 2394-ปัจจุบัน)
นับจากรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ศิลปะไทยอยู่ในช่วงการปรับตัวระหว่างรูปแบบตามประเพณีนิยมกับศิลปะทางตะวันตกของยุโรป แม้ว่ายังมีการสร้างศิลปะตามแบบประเพณีนิยมอยู่บ้างแต่ไม่มากเท่าตอนต้นสมัยรัตนโกสินทร์ ยิ่งในสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อเจ้านายและขุนนางชั้นสูงออกไปศึกษาในประเทศตะวันตก พระมหากษัตริย์เสด็จประพาสประเทศในเอเชียและประเทศทางยุโรป รวมทั้งการจ้างชาวตะวันตกที่เป็นสถาปนิก จิตรกร ประติมากร และนักวิชาการทางวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี สังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ เข้ามาทำงานในเมืองไทย ศิลปะแบบตะวันตกเริ่มฝังรากลงในสังคมและวัฒนธรรมไทย ผลักดันให้เกิดการพัฒนาแนวความคิดและวิธีการแสดงรูปแบบทางศิลปกรรมทุกด้าน
1. สถาปัตยกรรม รูปแบบสถาปัตยกรรมเปลี่ยนแปลงไปมากในสมัยรัชกาลที่ 4 เริ่มด้วยราชสำนักหันความนิยมไปสู่รูปแบบฝ่ายตะวันตกแทนรูปแบบศิลปะของจีน กระบวนการช่างศิลปะอย่างยุโรปก็ได้แพร่หลายออกไปสู่วัดวาอารามและวังเจ้านายในท้องที่ต่างๆ รอบกรุง ตลอดจนต่างจังหวัด เช่น การสร้างพระราชวังสราญรมย์ (ปัจจุบันเป็นที่ทำการของกระทรวงการต่างประเทศ) ซึ่งเป็นตึกแบบตะวันตก และพระนครคีรี จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งรัชกาลที่ 4 ทรงเอาแบบอย่างมาจากการสร้างบ้านเรือนบนเขาในต่างประเทศ
หลังจากการฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ครบ 100 ปี ใน พ.ศ. 2425 แล้ว การบริหารประเทศส่วนใหญ่ก้าวเข้าสู่ภาวะของการรับอารยธรรมตะวันตกอย่างเต็มที่ รัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 6 ทรงพัฒนาประเทศทางด้านสาธารณประโยชน์ของสังคมทางวัตถุเป็นหลักใหญ่เพื่อให้ประเทศเจริญก้าวหน้าทันอารยประเทศ เช่น การสร้างพระที่นั่งตามแบบตะวันตก อาคาร บ้านเรือน สถานที่ราชการ ถนน สะพานข้ามคลอง การรถไฟ การประปา การไฟฟ้า ฯลฯ สถาปัตยกรรมที่ก่อสร้างแบบตะวันตกที่สำคัญคือ พระราชวังบางปะอิน ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา (สร้างเลียนแบบพระราชวังแวร์ซาย ประเทศฝรั่งเศส) พระราชวังสวนดุสิต พระที่นั่งอนันตสมาคม วัดนิเวศธรรมประวัติ (อยู่บนเกาะตรงข้ามพระราชวังบางปะอิน สร้างเลียนแบบวัดในคริสต์ศาสนา เป็นแบบศิลปะกอทิกในยุโรป) พระราชวังพญาไท (ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า) และพระราชวังสนามจันทร์ ที่จังหวัดนครปฐม เป็นคฤหาสน์งดงามเหมือนบ้านคหบดีหรือขุนนางในอังกฤษ
ขณะที่ค่านิยมตะวันตกมีมากขึ้น การแสวงหาเอกลักษณ์ใหม่ด้านสถาปัตยกรรมไทยก็เกิดขึ้นพร้อมๆ กัน เช่น การสร้างวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม กรุงเทพมหานคร ทำตามคติเก่าคือ เอาเจดีย์มาเป็นประธานของวัดอย่างอดีต สร้างระเบียงและวิหารล้อมรอบ แต่กลับตกแต่งภายในอย่างโบสถ์เป็นแบบศิลปะกอทิกของยุโรป นอกจากนี้ก็มีพระอุโบสถวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงออกแบบขึ้นใหม่ตามหลักเกณฑ์ของศิลปะไทย แต่ใช้วัสดุจากต่างประเทศ คือ หินอ่อนจากประเทศอิตาลี รวมทั้งพระที่นั่งจักรีมหาปราสาทในพระบรมมหาราชวัง ซึ่งองค์พระที่นั่งเป็นสถาปัตยกรรมยุโรป แต่หลังคาสร้างเป็นยอดปราสาทแบบไทย
อย่างไรก็ตาม ความพยายามจะรักษาสถาปัตยกรรมที่เป็นศิลปะแบบไทยยังคงมีอยู่บ้าง เห็นได้จากพระที่นั่งไอศวรรย์ทิพยอาสน์กลางสระน้ำที่พระราชวังบางปะอิน สร้างด้วยไม้ มีขนาดเล็ก ลงรักปิดทองเป็นสถาปัตยกรรมไทยแท้ที่งดงามมาก หอประชุมโรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย กรุงเทพมหานคร มีรูปทรงคล้ายกับวัด หลังคา หน้าจั่ว ช่อฟ้า ล้วนสร้างตามแบบศิลปะไทย เพียงแต่ดัดแปลงสร้างเป็นอาคาร 2 ชั้น
2. ประติมากรรม ตั้งแต่รัชกาลที่ 5 เป็นต้นมา ประติมากรรมที่สร้างขึ้นจะได้รับอิทธิพลศิลปะตะวันตกมาก แม้แต่การปั้นพระพุทธรูปให้เหมือนมนุษย์ยิ่งขึ้น เช่น มีกล้ามเนื้อ ครองจีวรเป็นริ้วอย่างธรรมชาติ ขณะเดียวกันก็ยังคงพุทธลักษณะบางประการที่สำคัญไว้ เช่น พระรัศมีเป็นเปลวพระเกตุมาลา พระเกศาที่ขมวดเป็นปม เป็นต้น ดังจะเห็นได้จากพระศรีศากยะทศพลญาณ พระประธานพุทธมณฑลสุทรรศน์ ที่พุทธมณฑล อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม เป็นพระพุทธรูปปางลีลาแบบสุโขทัยที่ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ออกแบบและปั้นต้นแบบไว้ตั้งแต่เมื่อมีการจัดงานฉลอง 25 พุทธศตวรรษ ใน พ.ศ. 2500
งานประติมากรรมอื่นๆ มักจะเป็นงานจำหลักหินอ่อนหรือหล่อสำริดส่งมาจากยุโรป ถือเป็นการเริ่มรับแบบอย่างการปั้นภาพเหมือนและอนุสาวรีย์จากตะวันตก เช่น พระบรมรูปทรงม้า ซึ่งสั่งทำจากยุโรปและนำมาตั้งไว้ที่หน้าพระที่นั่งอนันตสมาคม รูปปั้นสุนัขย่าเหล หล่อด้วยสำริดส่งมาจากต่างประเทศ ตั้งเป็นอนุสาวรีย์ที่พระราชวังสนามจันทร์ จังหวัดนครปฐม นอกจากนี้ยังมีงานประติมากรรมภาพปั้นนูนสูงประดับสะพานข้ามคลองต่างๆ และประติมากรรมภาพเหมือนตกแต่งพระที่นั่งในพระบรมมหาราชวัง สถานที่ราชการ สวนสาธารณะ อาคารพาณิชย์ และอาคารบ้านเรือนของคนสามัญ
3. จิตรกรรม นับจากสมัยรัชกาลที่ 4 จิตรกรรมไทยได้รับอิทธิพลของศิลปะตะวันตกเข้ามาผสมผสานทำให้เกิดศิลปะรูปแบบใหม่ กล่าวคือได้มีการนำวิทยาการสมัยใหม่ของตะวันตกในการสร้างภาพมนุษย์ที่เน้นความเหมือนจริงมาผนวกเข้ากับวิทยาการของไทยที่เขียนภาพแบบอุดมคติ งานเหล่านี้มีให้เห็นอยู่ในจิตรกรรมฝาผนังของ ขรัวอินโข่ง จิตรกรเอกสมัยรัชกาลที่ 4 ซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้เริ่มต้นงานจิตรกรรมไทยสมัยใหม่ ตัวอย่างผลงาน เช่น ภาพปริศนาธรรมบนผนังพระอุโบสถวัดบวรนิเวศ และจิตรกรรมฝีพระหัตถ์สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวิดติวงศ์ ผู้ทรงพระอัจฉริยภาพในการผสมผสานจิตรกรรมไทยเข้ากับจิตรกรรมตะวันตกได้อย่างอัศจรรย์ ตัวอย่างผลงาน เช่น ภาพมัจฉชาดกที่หอคันธารราษฎร์ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม นอกจากนี้ยังมีศิลปินไทยเดินทางไปศึกษาศิลปะในประเทศตะวันตก และนำวิทยาการใหม่ๆ เข้ามาเผยแพร่ ทำให้ศิลปะไทยก้าวจากศิลปะประจำชาติหรือศิลปะไทยแบบศิลปะประเพณีไปสู่ศิลปะสมัยใหม่และศิลปะร่วมสมัยในที่สุด
4. นาฏศิลป์และดุริยางคศิลป์ กลุ่มชาวไทยมุสลิมที่ถูกกวาดต้อนมาจากภาคใต้เข้ามาในเมืองหลวงเนื่องมาจากสงครามในหัวเมืองมลายูตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 ถึงรัชกาลที่ 5 ได้นำธรรมเนียมการสวดขับบูชาพระผู้เป็นเจ้า มีกลองรำมะนาตีเป็นจังหวะประกอบ ซึ่งเป็นวัฒนธรรมที่รับมาจากมลายูเข้ามาด้วย ต่อมาการสวดเปลี่ยนวัตถุประสงค์ไปเป็นเพื่อความบันเทิง เมื่อมีงานรื่นเริงพวกผู้ชายมักนั่งล้อมวงกันตีกลองรำมะนาประกอบการสวดขับเพลงมลายูประชันกันครึกครื้น ที่เรียกว่า ดจิเก ในสมัยรัชกาลที่ 5 ดจิเกเริ่มมีคำร้องเป็นภาษาไทย จากนั้นจึงมีการแสดงที่พลิกแพลงและพัฒนาเป็น ลิเก ซึ่งเป็นที่นิยมกันอย่างแพร่หลายในเวลาต่อมา
ในสมัยนี้ แนวคิดและวิถีชีวิตของคนตะวันตกได้แพร่ขยายเข้ามาในเมืองไทยมากขึ้น จึงมีการเปลี่ยนแปลง ตัดทอนนาฏศิลป์และดนตรีไทยให้กระชับขึ้น ในขั้นแรกเป็นไปเพื่อต้อนรับอาคันตุกะจากต่างประเทศซึ่งมีมาอยู่เนืองๆ การดัดแปลงนาฏศิลป์และดนตรีอย่างใหม่นี้เป็นที่นิยมอย่างมากในขณะนั้นไปด้วย เช่น การแสดงดนตรีแบบคอนเสิร์ต เป็นการขับร้องประกอบการบรรเลงที่ใช้เครื่องดนตรีแบบชาวตะวันตก ละครพันทาง หรือละครนอกที่นำเอาศิลปะทางการขับร้องดนตรีและฟ้อนรำเข้ามาผสมให้น่าดูน่าฟังมากขึ้น แต่ตัวละครมักนุ่งผ้าโจงกระเบนและมีหน้าพากย์อย่างละครรำ ละครดึกดำบรรพ์ เป็นละครสมัยใหม่ที่ได้รับการปรับปรุงให้คล้ายละครโอเปราของฝรั่งและจัดแสดงเพื่อต้องรับแขกเมือง ละครชนิดนี้ต้องปรับดนตรีปี่พาทย์ขึ้นมาใช้เป็นพิเศษ จึงเกิดวงปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์ขึ้น นอกจากนี้ยังมีละครตามแบบตะวันตก คือ ละครร้อง เป็นการแสดงละครแบบฝรั่ง ผู้แสดงแต่งกายธรรมดา ไม่มีการร่ายรำ มีแต่ร้องและออกท่าทางตามบท และละครพูด ตัวละครเป็นชายล้วน เล่นกันโดยไม่มีบท ผู้แสดงเจรจากันเองตามท้องเรื่อง
ละครดังกล่าวล้วนเป็นละครร่วมสมัย และได้รับความนิยมจนทำให้นาฏศิลป์เก่า เช่น ละครใน ละครนอก ละครชาตรี เสื่อมความนิยมลงไปมากในสมัยรัชกาลที่ 5 จนเมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตั้งกรมมหรสพขึ้นมาเพื่อฟื้นฟูนาฏศิลป์ไทย เช่น โขน ละครอีกครั้งหนึ่ง รัชกาลที่ 6 ทรงพระราชนิพนธ์บทละครขึ้นหลายเรื่องและทรงร่วมแสดงละครด้วย ทำให้การละครของไทยรุ่งเรืองมาก แต่เมื่อรัชกาลที่ 6 สวรรคตแล้ว ทั้งนาฏศิลป์และดนตรีไทยก็กลับซบเซาลงอีก ทำให้รัฐบาลต้องหาทางอนุรักษ์และเผยแพร่ศิลปะไทยด้านนี้ เช่น จัดตั้งโรงเรียนนาฏศิลป์ ซึ่งต่อมาได้ยกฐานะขึ้นเป็นวิทยาลัย
ปัจจุบันคนไทยนิยมการแสดงแบบตะวันตก เช่น การแสดงดนตรีแบบคอนเสิร์ต โดยมีการใช้ทำนองเพลงแบบตะวันตกแต่มีการใส่เนื้อร้องภาษาไทย การแสดงละครโทรทัศน์ และการแสดงภาพยนตร์ซึ่งมีความสมจริงทั้งตัวผู้แสดง บทบาท เครื่องแต่งกาย ฉาก เทคโนโลยี เป็นต้น นอกจากนี้ การนำเข้าภาพยนตร์จากต่างประเทศเข้ามาฉายในประเทศเป็นจำนวนมากในแต่ละปี ทำให้ความนิยมในดนตรีและนาฏศิลป์ไทยดั้งเดิมมีแนวโน้มลดความนิยมลงไปในหมู่คนไทย ขณะที่วัฒนธรรมตะวันตกกลับแพร่หลายในสังคมไทยมากขึ้นผ่านการเผยแพร่โดยสื่อมวลชนและวัฒนธรรมการแสดงสมัยใหม่
5. วรรณกรรม ได้รับอิทธิพลจากตะวันตกมากขึ้นเรื่อยๆ สมัยรัชกาล ที่ 4 ใน พ.ศ. 2405 หมอบรัดเลย์ผู้ริเริ่มธุรกิจการพิมพ์ในเมืองไทย ได้ซื้อลิขสิทธิ์หนังสือเรื่องนิราศลอนดอน ของหม่อมราโชทัยเพื่อนำไปพิมพ์จำหน่าย นับเป็นการซื้อขายลิขสิทธิ์วรรณกรรมครั้งแรกของประเทศไทย
นับจากสมัยรัชกาลที่ 5 ได้เกิดนักวิชาการทางวรรณกรรมขึ้น คือ ผู้ที่ไปศึกษาในยุโรป ได้สัมผัสกับวรรณกรรมสำหรับสามัญชน และนำรูปแบบใหม่เข้ามาในเมืองไทย รวมทั้งการใช้นามปากกาในการเขียนวรรณกรรม ที่ได้รับความนิยมมาก คือ บทละครพูดและบทละครร้อง ผู้ที่เด่นที่สุดในการประพันธ์บทละคร คือ ประเสริฐอักษร (พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิป-ประพันธ์พงศ์) ทรงประพันธ์บทละครร้องเรื่องสาวเครือฟ้า โดยทรงนำเค้าโครงเรื่องมาจากอุปรากรเรื่องมาดามบัตเตอร์ฟลาย (Madame Butterfly) ของเกียโคโม พูชินี (Giacomo Puccini) คีตกวีชาวอิตาลี บทละครที่คนรู้จักมากและได้ดูการแสดงมาก คือ พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 6 ซึ่งบางเรื่องทรงแปลมาจากบทละครของชาวตะวันตก เช่น เวนิสวาณิช (The Merchant of Vanice) โรเมโอและจูเลียต (Romeo and Juliet) จากงานของวิลเลียม เชกสเปียร์ (William Shakespeare) นักเขียนบทละครชาวอังกฤษ
นอกจากนี้ยังมีวรรณกรรมภาษาสันสกฤตที่เคยเข้ามามีอิทธิพลต่อวรรณกรรมไทยในสมัยอยุธยาอยู่บ้าง แต่ไม่ปรากฏเด่นชัด ความสนใจกับวรรณกรรมสันสกฤตมาเกิดขึ้นอย่างมากในรัชกาลที่ 5 ต่อมาถึงรัชกาลที่ 6 มีงานแปลและงานแต่งจากวรรณกรรมสันสกฤตทั้งประเภทร้อยกรองและร้อยแก้ว เช่น พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 6 เรื่องศกุนตลา งานแปลของเสถียรโกเศศ (พระยาอนุมานราชธน) ร่วมกับนาคะประทีป (พระสารประเสริฐ)
วรรณกรรมประเภทนวนิยายที่เขียนเป็นร้อยแก้วของไทยได้รับอิทธิพลจากวรรณกรรมตะวันตกโดยการรับเอาวรรณกรรมในรูปแบบนวนิยายและเรื่องสั้นเข้ามา เริ่มแรกเป็นการแปลจากนวนิยายภาษาอังกฤษเป็นส่วนใหญ่ จึงเกิดนักแปลจำนวนมาก งานแปลที่จำกันได้มากและนิยมว่าเป็นหนังสือแปลดี คือ เรื่องความพยาบาท ของแม่วัน (พระยาสุรินทราชา) ซึ่งแปลจากเวนเดตตา(Vendetta) ของแมรี คอเรลลี (Marie Corelli) นักประพันธ์สตรีชาวอังกฤษ เรื่องความพยาบาทของแม่วันถือกันว่าเป็นนวนิยายไทยเล่มแรก แม้ว่าจะเป็นหนังสือแปลก็ตาม
งานเขียนร้อยแก้วที่ได้รับความสนใจมากอีกประเภทหนึ่ง ได้แก่ สารคดี เรื่องที่คนติดใจอ่านมาจนถึงทุกวันนี้ คือ ไกลบ้าน พระราชนิพนธ์ในรัชกาล ที่ 5 มีที่มาจากพระราชหัตถเลขาส่วนพระองค์ที่ทรงมีถึงราชเลขาธิการฝ่ายใน นับเป็นสารคดีท่องเที่ยวที่แต่งดีอย่างยิ่งเล่มหนึ่ง พระราชนิพนธ์สำคัญในรัชกาลที่ 5 อีกเล่มหนึ่ง ได้แก่ พระราชพิธีสิบสองเดือน มีคุณค่าทางการศึกษาประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม วรรณคดีสโมสรซึ่งตั้งขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 6 ได้ยกย่องพระราชนิพนธ์เล่มนี้ให้เป็นยอดแห่งวรรณคดีประเภทความเรียงอธิบาย
เมื่อการเขียนการอ่านเพิ่มขึ้น ผลที่ตามมาก็คือ เกิดอาชีพขายหนังสือ ออกหนังสือรายวัน รายสัปดาห์ รายเดือน ตีพิมพ์งานเขียนสู่ตลาดให้ทันความต้องการของคนที่อ่านหนังสือออก มีนิตยสารออกมามากฉบับ เช่น วชิรญาณ ลักวิทยา ทวีปัญญา ถลกวิทยา สยามประเทศ ผดุงวิทยา ศรีกรุง มิตรสภา เสนาศึกษา สุภาพบุรุษ
รัชกาลที่ 6 ทรงมีบทบาทอย่างมากในการส่งเสริมวรรณกรรมไทย ทรงพระราชนิพนธ์วรรณคดีจำนวนมากทั้งที่เป็นร้อยแก้ว ร้อยกรอง และบทละคร ทรงสนับสนุนให้มีการสร้างสรรค์วรรณกรรมอย่างกว้างขวาง สมัยนี้มีหนังสือพิมพ์รายวันทั้งภาษาไทย ภาษาจีน และภาษาอังกฤษรวม 22ฉบับ และมีวารสาร นิตยสารถึง 127 ฉบับ
ในช่วงกลางสมัยรัชกาลที่ 6 นักเขียนนวนิยายไทยแต่งเรื่องเองมากขึ้น แทนที่จะอาศัยนักแปลฝ่ายเดียว นวนิยายไทยจึงเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ และเจริญขึ้นในรัชกาลที่ 7 เมื่อการศึกษาเริ่มขยายตัวไปสู่คนทุกชนชั้นในประเทศ นวนิยายและเรื่องสั้นที่ได้รับความนิยมมากก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ก็มีนวนิยายอิงประวัติศาสตร์เรื่องแรกของไทยเรื่องดาบศักดิ์เหล็กน้ำพี้ ของอายัณโฆษ (ขุนธนกิจวิจารณ์) นวนิยายสะท้อนภาพชีวิตชนชั้นสูงเรื่องความผิดครั้งแรก ของดอกไม้สด (ม.ล.บุบผา นิมมานเหมินท์) นวนิยายเชิงชีวประวัติเรื่องละครแห่งชีวิต ของ ม.จ.อากาศดำเกิง รพีพัฒน์ เรื่องหลังนี้มีความสำคัญในประวัติการประพันธ์ของไทย เพราะเป็นครั้งแรกที่มีนักประพันธ์ใช้ตัวละครเป็นสมาชิกในราชสกุล เขียนเรื่องเป็นชีวิตของคนไทยในประเทศตะวันตก และเสนอความคิดวิพากษ์วิจารณ์สังคมชั้นสูงค่อนข้างรุนแรง
หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองใหม่ๆ วรรณกรรมไทยสะท้อนภาพการเปลี่ยนแปลงจากระบบสังคมแบบเก่าไปสู่ระบบสังคมแบบใหม่ นวนิยายเด่นๆ ในระยะนี้ เช่น เรื่องข้างหลังภาพ ของศรีบูรพา (กุหลาบ สายประดิษฐ์) เป็นเรื่องรักสะเทือนอารมณ์ ขณะเดียวกันก็ชี้ให้เห็นความแตกสลายของชนชั้นสูงที่ปรับตัวเข้ากับสังคมใหม่ไม่ได้ เรื่องผู้ดี ของดอกไม้สด สะท้อนภาพชนชั้นสูงหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง เป็นต้น ส่วนนิยายอิงประวัติศาสตร์ที่ประสบความสำเร็จสูงสุด คือเรื่องผู้ชนะสิบทิศ ของยาขอบ (โชติ แพร่พันธุ์) เขียนลงหนังสือพิมพ์ประชาชาติระหว่าง พ.ศ. 2475-2481 ได้รับความนิยมถึงขนาดมีผู้อ่านจำนวนมากที่ติดใจเรื่องนี้ไปยืนคอยหนังสือพิมพ์ออกที่หน้าโรงพิมพ์ทุกวัน
ในช่วงที่จอมพล ป. พิบูลสงครามเป็นนายกรัฐมนตรี ได้ดำเนินนโยบายรัฐนิยมอย่างเข้มงวดและมีการปฏิวัติภาษาไทยอย่างขนานใหญ่ รัฐบาลส่งเสริมงานเขียนที่มีลักษณะส่งเสริมความคิดชาตินิยม ความรักชาติ โดยเฉพาะงานเขียนประวัติศาสตร์ นิยายหรือบทละครอิงประวัติศาสตร์มักจะเขียนในลักษณะยกย่องความยิ่งใหญ่ ความรุ่งเรืองของชาติไทยในอดีต ดังเช่นงานของหลวงวิจิตรวาทการ ซึ่งมีทั้งงานเขียนประวัติศาสตร์ เช่น งานค้นคว้าเรื่องชนชาติไทย บทละครถึงประวัติศาสตร์ เช่น เลือดสุพรรณ เจ้าหญิงแสนหวี พ่อขุนผาเมือง เพลงปลุกใจให้รักชาติที่แต่งประกอบในบทละคร เช่น เพลงเลือดสุพรรณ เพลงต้นตระกูลไทย เป็นต้น
หลังสงครามมหาเอเชียบูรพา วรรณกรรมเริงรมย์แนวพาฝันได้รับความนิยมสูงสุด เพราะช่วยให้ผู้อ่านลืมสภาพทุกข์ยากในชีวิตจริงไปอยู่ในโลกจินตนาการ ขณะเดียวกันนักเขียนมีเสรีภาพมากขึ้นจึงเกิดวรรณกรรมแบบก้าวหน้าหรือวรรณกรรมแนวสังคมการเมืองขึ้นมากมาย เช่น นวนิยายเรื่องปีศาจ ของเสนีย์ เสาวพงศ์ เรื่องพรุ่งนี้ต้องมีอรุณรุ่ง ของศรีรัตน์ สถาปนวัฒน์ บทร้อยกรอง ของเปลื้อง วรรณศรี และนายผี (อัศนี พลจันทร์) เป็นต้น
ในยุคเผด็จการของจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ นักเขียนถูกปิดกั้นเสรีภาพทางความคิด วรรณกรรมก้าวหน้าหยุดการเผยแพร่ จนถึงสมัยของจอมพล ถนอม กิตติขจร ประชาขนเรียกร้องให้มีรัฐธรรมนูญ นิสิตนักศึกษาและคนรุ่นใหม่ออกหนังสือแสดงความคิดเห็นทางการเมืองและสังคมอย่างกว้างขวาง จนเกิดเหตุ 14 ตุลาคม 2516 ขึ้น หลังเหตุการณ์นี้งานของคนรุ่นใหม่ที่มุ่งสะท้อนถึงความทุกข์ยากลำเค็ญของชาวไร่ชาวนาและกรรมกรซึ่งเรียกว่า วรรณกรรมเพื่อชีวิต ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย ครั้นเมื่อเกิดเหตุการณ์นองเลือด 6 ตุลาคม 2519 อันนำไปสู่การปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน รัฐบาลที่ตั้งขึ้นใหม่รวมทั้งรัฐบาลต่อๆ มากวดขันเข้มงวดหนังสือที่อยู่ในข่ายสนับสนุนลัทธิคอมมิวนิสต์ สำนักพิมพ์ไม่กล้าจัดพิมพ์วรรณกรรมเพื่อชีวิต ประกอบกับความนิยมวรรณกรรมแนวนี้ค่อยๆ เสื่อมคลายลง วรรณกรรมไทยระยะต่อมาจึงเสนอเนื้อหาเกี่ยวกับสังคมอย่างกว้างขวางขึ้น
ปัจจุบันวรรณกรรมได้มีการนำเสนอรูปแบบใหม่ทั้งด้านรูปแบบและเนื้อหาที่หลากหลายโดยเน้นไปที่การแสดงออกทางความคิดในแง่มุมต่างๆ และสะท้อนให้เห็นสภาพสังคม การเมือง เศรษฐกิจ วิถีการดำเนินชีวิตของผู้คนในยุคสมัยปัจจุบัน วรรณกรรมหลายประเภทได้ปรับตัวเข้ากับสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น วรรณกรรมบางประเภทปรับตัวให้เข้ากับสังคมสมัยใหม่ มีการนำเสนอรูปแบบละครโทรทัศน์ เป็นต้น หรือวรรณกรรมบางประเภทก็มีจำนวนผู้อ่านขยายตัวมากขึ้น เช่น วรรณกรรมหนังสือพิมพ์ วรรณกรรมประเภทสารคดี ซึ่งเป็นไปตามสังคมที่มีการขยายตัวทางด้านการศึกษาและชนชั้นกลางที่เพิ่มมากขึ้นในปัจจุบัน
เก็บเข้าคอลเล็กชัน
ความคิดเห็น