ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    พัฒนาการด้านศิลปะ วัฒนธรรม และภูมิปัญญาไทย

    ลำดับตอนที่ #8 : ตัวอย่างภูมิปัญญาไทยที่มีอิทธิพลต่อวิถีการดำเนินชีวิตของคนไทย

    • เนื้อหานิยายตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 19.93K
      17
      6 พ.ย. 52

    ตัวอย่างภูมิปัญญาไทยที่มีอิทธิพลต่อวิถีการดำเนินชีวิตของคนไทย
    ภูมิปัญญา คือความรู้ความสามารถในการจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้นในการดำเนินชีวิตในสังคมไทย ภูมิปัญญาที่เกิดขึ้นในสังคมไทยมีมากมายหลายด้าน ภูมิปัญญาไทยบางด้านสืบทอดมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน โดยมีอิทธิพลต่อชีวิตของคนไทยในด้านต่างๆ หลายด้าน ได้แก่ ด้านการเมืองการปกครอง ด้านคติความเชื่อ ด้านการดำเนินชีวิต ด้านศิลปวัฒนธรรม

    ด้านการเมืองการปกครอง
    ภูมิปัญญาไทยด้านการเมืองการปกครองมีหลายประการ เช่น
    1.ฐานะของสถาบันพระมหากษัตริย์ในสังคมไทย ในสังคมต่างๆ จะต้องมีระบบเกณฑ์บังคับให้สมาชิกในสังคมปฏิบัติตาม เพื่อให้สมาชิกทุกคนสามารถอยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างปกติสุข ดังนั้น แต่ละสังคมจึงต้องมีผู้ดูแลควบคุมสมาชิกคนอื่นๆ อีกขั้นหนึ่ง ทำให้โครงสร้างทางสังคมต่างๆ ประกอบด้วยผู้ปกครองและผู้อยู่ใต้ปกครอง ในสังคมไทยมีพระเจ้าแผ่นดิน หรือพระมหากษัตริย์เป็นผู้ปกครองควบคุมดูแลผู้อยู่ใต้การปกครองให้อยู่อย่างปกติสุข
    พระมหากษัตริย์ไทยเป็นศูนย์กลางที่สำคัญที่สุดและอยู่สูงสุดของสังคม เป็นจักรกลของความเคลื่อนไหวทางสังคม โดยมีบทบาทสำคัญคือ ความรับผิดชอบทั้งต่อการเมืองและสังคม ซึ่งคตินี้มีรากฐานความคิดมาจากทั้งคัมภีร์ในพระพุทธศาสนาและศาสนาพราหมณ์-ฮินดู คือการขึ้นอยู่กับธรรมะของพระมหากษัตริย์ โดยเฉพาะธรรมะของพระมหากษัตริย์ที่มีในพระพุทธศาสนา ได้แก่ หลักทศพิธราชธรรม 10 ซึ่งเป็นหลักคุณธรรมสำหรับพระราชา และหลักจักรวรรดิวัตร 12 ซึ่งเป็นแนวทางปฏิบัติทางด้านการปกครอง เท่ากับผูกพันสังคมเข้ากับธรรมะของพระมหากษัตริย์ และพระมหากษัตริย์เป็นศูนย์กลางของสังคมไทยมาตลอดตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
    การที่สถาบันพระมหากษัตริย์ไทยผูกพันกับหลักความคิดและพิธีกรรมในศาสนาทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์มีความศักดิ์สิทธิ์ในสังคมไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
    สถาบันพระมหากษัตริย์ในสมัยสุโขทัยได้ถูกสร้างให้ดำรงเสมือนฐานะเป็นบิดาผู้ปกครองบุตรซึ่งก็คือราษฎรทั้งหลาย และดำรงฐานะเป็นธรรมราชา ผู้ปกครองแคว้นด้วยหลักธรรมของพระพุทธศาสนา แต่ต่อมาในสมัยอยุธยา หลักการสมมติเทพของเขมรได้เข้ามามีอิทธิพล ทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์อยุธยาดำรงฐานะเป็นสมมติเทพ มีอำนาจสงสุด เป็นเจ้าชีวิตเหนือชีวิตของไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินทั่วราชอาณาจักร เนื่องจากพระมหากษัตริย์ดำรงฐานะเป็นสมมติเทพ จึงเป็นสถาบันที่มีความศักดิ์สิทธิ์ดุจดั่งเทพเจ้า ซึ่งประชาชนต้องให้ความเคารพสูงสุด
    ต่อมาในสมัยรัตนโกสินทร์ สถาบันพระมหากษัตริย์ยังคงดำรงฐานะเป็นสมมติเทพอยู่ แต่อยู่ในฐานะของธรรมราชา ผู้ปกครองประเทศด้วยหลักธรรม และเมื่อประเทศไทยปรับปรุงประเทศสู่ความทันสมัย สถาบันพระมหากษัตริย์ไทยได้เพิ่มบทบาททางสังคมอีกประการคือบทบาทในการเป็นสถาบันที่ก้าวทันโลกนำพาประเทศสู่ความทันสมัย ทำให้สถาบันดังกล่าวยงคงฐานะเป็นศูนย์กลางของสังคมไทยท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของสังคม
    ในปัจจุบัน สถาบันพระมหากษัตริย์ไทยยังคงดำรงฐานะศูนย์กลางของสังคมไทย แม้สถาบันนี้ไม่ได้มีอำนาจการปกครองโดยตรงแล้วก็ตาม แต่พระองค์ยังคงดำรงฐานะเป็นมาในอดีตอย่างครบถ้วน ทั้งด้านความศักดิ์สิทธิ์ในฐานะธรรมราชา สถาบันที่นำสังคมสู่ความทันสมัย และเป็นสถาบันที่จรรโลงความสันติสุขให้แก่สังคมไทยท่ามกลางความผันผวนของสังคมสมัยใหม่ เช่น เมื่อประเทศไทยประสบกับวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจเมื่อ พ.ศ.2540 พระบาทสมเด็จประเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียงให้แก่ประชาชนเพื่อเป็นหลักในการดำเนินชีวิต และนำพาประเทศไทให้รอดพ้นจากวิกฤตการณ์ครั้งนี้ จนทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์ไทยมีความสำคัญและเป็นที่เคารพบูชาของประชาชน
    2. ระบบการเกณฑ์แรงงาน สภาพของประชาชนกับพื้นที่ในประเทศไทยตั้งแต่สมัยโบราณมาจนถึงสมัยของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติในช่วง พ.ศ.2500 มีลักษณะจำนวนประชากรมีปริมาณน้อยไม่สมดุลกับพื้นที่อันกว้างใหญ่ ทำให้ในการสร้างบ้านแปลงเมืองและงานสาธารณะอื่นๆรวมถึงด้านการทหารต้องอาศัยระบบในการรวบรวมกำลังคน จนเมื่อเกิดพัฒนาการของชุมชนที่มีราษฎรอพยพเข้ามาอาศัยอยู่รวมกันเป็นจำนวนมาก ผู้ปกครองจึงคิดค้นระบบการควบคุมแรงงานเหล่านี้ให้ได้ประโยชน์แก่ชุมชนและรัฐมากที่สุด ระบบการควบคุมแรงงานหรือที่เรียกว่าระบบไพร่จึงเกิดขึ้น
    ระบบไพร่มีความสำคัญต่อพัฒนาการของสังคมไทยหลายประการ ได้แก่ประการแรก รัฐสามารถควบคุม ดูแลประชากรในสังคมให้มีความเป็นระเบียบได้ ประการที่สอง ทำให้รัฐสามารถเรียกใช้แรงงานราษฎรในการทำงานสาธารณะต่างๆ ส่งผลให้อายธรรมไทยมีความเจริญก้าวหน้า ประการที่สาม ระบบไพร่ทำให้รัฐสามารถเรียกเกณฑ์ผลผลิต ภาษีอากรต่างๆ ทำให้รัฐมีความเจริญก้าวหน้าทางด้านเศรษฐกิจ ประการที่สี่ รัฐสามารถใช้ระบบไพร่ ในการดูดกลืนคนต่างชาติ ต่างภาษา และต่างวัฒนธรรม ในมาอยู่ภายใต้การควบคุม ของระบบราชการ ประการสุดท้าย ระบบไพร่มีประโยชน์ทางการเมือง ในการจัดสรรอำนาจ และผลประโยชน์ในหมู่ชนชั้นผู้ปกครอง
    ในสมัยสุโขทัยปรากฏหลักฐานในศิลาจารึกสุโขทัยได้กล่าวถึงกลุ่มคนที่เรียกว่า “ไพร่” ต่อมาในสมัยอยุธยา ระบบไพร่มีการขยายตัวขึ้นเนื่องจากระบบราชการและพระราชอาณาเขตมีการขยายตัว มีการกวาดต้อนผู้คนจากอาณาจักรรอบข้างเข้ามา ตลอดจนสงครามและผลประโยชน์ทางการค้าที่เพิ่มมากขึ้นในช่วงกลางสมัยอยุธยาเป็นต้นมา การเกณฑ์แรงงานในระบบไพร่เริ่มมีความรัดกุมมากขึ้น มีการกำหนดให้ไพร่ต้องสังกัดมูลนาย มีการกำหนดแรงงานเป็นการเข้าเดือนออกเดือน คือการเกณฑ์แรงงาน 1 เดือน และอยู่กับครอบครัวอีก 1 เดือน ในสมัยอยุธยาระบบไพร่ได้พัฒนาการให้มีความรัดกุมมากขึ้น เพื่อให้ตอบสนองผลประโยชน์แก่รัฐให้มากที่สุด
    ในสมัยธนบุรี ผลจากสงครามคราวเสียกรุงศรีอยุธยาในปีพ.ศ.2310 ทำให้รัฐขาดแคลนแรงงานอย่างมากทั้งในด้านการฟื้นฟูบูรณะประเทศและการศึกสงคราม รัฐบาลสมัยธนบุรีจึงริเริ่มการสักเลกไพร่เพื่อให้สามารควบคุมแรงงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และในสมัยรัตนโกสินทร์ได้ผ่อนปรนการเกณฑ์แรงงานไพร่ลง โดยการลดเวลาการเข้ารับราชการลงจากปีละ 6 เดือนในสมัยอยุธยามาเป็น 4 เดือน จนถึงปีละ 3 เดือนตามลำดับเนื่องจากรัฐสมัยต้นรัตนโกสินทร์ต้องการได้ผลผลิตทางเศรษฐกิจจากการประกอบอาชีพของไพร่ และการว่าจ้างชาวจีนได้ผลดีกว่าการใช้ไพร่ทำงาน ระบบไพร่มาสิ้นสุดลงในสมัยรัชกาลที่ 5 พ.ศ. 2448 เมื่อระบบการเกณฑ์ทหารแบบตะวันตกเข้ามาแทนที่ระบบไพร่
    ระบบการเกณฑ์แรงงานไพร่ถือเป็นภูมิปัญญาไทยที่สำคัญประการหนึ่ง ซึ่งมีประโยชน์ต่อการตั้งบ้านแปลงเมือง ตลอดจนมีบทบาทในการสร้างราชอาณาจักรให้กลายเป็นรัฐที่เข้มแข็งที่สุดรัฐหนึ่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในช่วงก่อนยุคสมัยใหม่

    ด้านคติความเชื่อ
    ในแต่ละสังคมย่อมมีการสร้างระเบียบแบบแผน ขนบธรรมเนียมประเพณีเป็นแนวทางให้สมาชิกในสังคมสามารถอยู่รวมกันได้อย่างสันติสุข ภูมิปัญญาที่เป็นแนวทางในการปฏิบัติ คือ ภูมิปัญญาด้านความเชื่อ ซึ่งในสังคมไทยภูมิปัญญาด้านความเชื่อที่มีอิทธิพลต่อคนไทยมีอยู่ 2 ความเชื่อ คือ คติความเชื่อในพระพุทธศาสนาและคติความเชื่อในเรื่องจิตวิญญาณ
    1. คติความเชื่อในพระพุทธศาสนา คติความเชื่อในพระพุทธศาสนาเป็นแนวทางในทางปฏิบัติของสังคมไทยมาเป็นเวลาช้านาน พระพุทธศาสนาทำให้คนไทยมีกรอบความคิดและโลกทัศน์เป็นไปตามคำสั่งสอนในพระพุทธศาสนา เช่น นิสัยโอบอ้อมอารี มีความเมตตากรุณา ไม่นิยมความรุนแรง มองโลกในแง่ดี เป็นต้น
    ด้านโลกทัศน์ คนไทยมองธรรมชาติตามหลักพระพุทธศาสนา คือ สรรพสิ่งมีเกิด มีดับ มีความเสื่อม และมีความเจริญตามตามลำดับ ปรากฏการณ์ทางธรรมชาติจึงเป็นไปตามกฎเกณฑ์ ส่งผลให้คนไทยยอมรับความจริงที่ผ่านเข้ามาในชีวิต และไม่หวั่นไหวกับความเปลี่ยนในชีวิต
    ด้านการเมืองการปกครอง คำสอนในด้านการปกครองของพระพุทธศาสนาได้กลายมาเป็นหลักในการปกครองประเทศของพระมหากษัตริย์ โดยหลักคำสอนทั้งทศพิธราชธรรม 10 และจักรวรรดิวัตร 12 ล้วนเป็นหลักธรรมในการปกครองประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลักในการปกครองอย่างมีคุณธรรม ปกครองอาณาประชาราษฎร์ให้อยู่อย่างร่มเย็นเป็นสุข ขณะที่อาณาประชาราษฎร์ต้องมีความภักดีต่อพระมหากษัตริย์
    ด้านขนบธรรมเนียมประเพณี พระพุทธศาสนาเป็นรากฐานสำคัญของขนบธรรมเนียมประเพณีของไทยเกือบทุกด้าน ทั้งจารีตประเพณีซึ่งเป็นเรื่องของศีลธรรม ขนบประเพณี ได้แก่ แบบแผนประเพณีเกี่ยวกับธรรมเนียม แบบแผนพิธีการต่างๆ และธรรมเนียมประเพณี คือ ธรรมเนียมปฏิบัติต่างๆ ในสังคม เช่น การแต่งกาย เป็นต้น
    ด้านการศึกษา ในช่วงเวลาก่อนการปฏิรูปการศึกษาในสมัยรัชกาลที่ 5 สถาบันที่มีบทบาทด้านการศึกษาในสังคมไทยคือสถาบันพระพุทธศาสนา โดยเป็นแหล่งในการถ่ายทอดความรู้ทั้งด้านการศาสนาและศิลปวิทยาต่างๆ แม้เมื่อมีการเริ่มต้นการศึกษาแผนใหม่แล้วก็ยังต้องอาศัยสถาบันพระพุทธศาสนาในการจัดการศึกษา
    ด้านภาษาและวรรณคดี พระพุทธศาสนาได้เข้ามามีบทบาทในสังคมไทย ในด้านภาษา ได้แก่ ภาษาบาลีและสันสกฤต ซึ่งเป็นภาษาที่นิยมใช้ในพระพุทธศาสนานิกายเถรวาทและพระพุทธศาสนานิกายมหายาน ซึ่งเคยมีอิทธิพลในดินแดนประเทศไทยมาก่อน ทั้งภาษาบาลีและภาษาสันสกฤตได้เข้ามามีอิทธิพลในภาษาไทย ช่วยให้ภาษาไทยมีความสละสลวยมากขึ้น ส่วนทางด้านวรรณคดี เนื้อหาวรรณคดีก็แสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่างวิถีชีวิตของคนไทยและพระพุทธศาสนา
    ด้านสังคม วัดในพระพุทธศาสนาดำรงฐานะเป็นศูนย์กลางของชุมชน โดยดำรงฐานะสำคัญสำหรับชุมชนในหลายด้าน ได้แก่ วัดเป็นศูนย์กลางด้านการทำพิธีกรรม เป็นสถานศึกษาและเป็นแหล่งศิลปวิทยาต่างๆ นอกจากนี้วัดยังเป็นสถานที่สังคมสงเคราะห์แก่ผู้ยากไร้ ส่วนประสงฆ์ดำรงฐานะเป็นเนื้อนาบุญและเป็นนักปราชญ์ที่ปรึกษาของชาวบ้านด้วย
    คติความเชื่อในพระพุทธศาสนา เป็นภูมิปัญญาสำคัญที่สุดของสังคมไทย เนื่องจากเป็นรากฐานทางภูมิปัญญาที่ให้กำเนิดภูมิปัญญาด้านอื่นๆในสังคมไทย
    2.คติความเชื่อในเรื่องจิตวิญญาณ คติความเชื่อในเรื่องจิตวิญญาณเป็นคติความเชื่อสำคัญที่ใช้อธิบายปรากฏการณ์ต่างๆ ที่มนุษย์ไม่สามารถอธิบายได้ คนไทยนับถือผีตั้งแต่ก่อนนับถือพระพุทธศาสนา ผีสามารถแบ่งได้เป็นผีฟ้าอยู่บนสวรรค์ เป็นที่นับถือในหมู่ชาวไทย บริเวณกลุ่มแม่น้ำโขง ผีเมืองเป็นผีที่ปกปักรักษาเมือง เป็นที่นับถือของคนไทยทุกภูมิภาค ผีบรรพบุรุษของชนเผ่าต่าง ๆ ผีบ้านเป็นผีบรรพบุรุษของหมู่บ้าน และผีเรือนเป็นผีที่สิงห์อยู่ในบ้านเรือน นอกจากนี้ยังมีผีชนิดอื่น ๆ อีก เช่น รุกขเทวดา ผีสางนางไม้ ผีประจำที่ดิน เป็นต้น เรื่องจิตวิญญาณเป็นเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสิ่งที่อยู่เหนือธรรมชาติ ศิลาจารึกสุโขทัยหลักที่ 45 (พ.ศ.1935) ซึ่งกล่าวถึงการทำสัญญาระหว่างสุโขทัยกับน่านโดยมีการอ้างถึงพระนามของกษัตริย์ในราชวงศ์สุโขทัยกับราชวงศ์น่าน รวมถึงมีผีผู้อารักษ์ภูเขา เช่น ปู่เจ้าพระโขนง เป็นต้น นอกจากนี้ในบริเวณเมืองสุโขทัยเก่า ทางด้านใต้ยังเป็นที่ตั้งของเขาหลวงซึ่งเป็นที่สถิตของผีบ้านผีเมืองมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย
    นอกจากนี้ในบริเวณเมืองสุโขทัยเก่า ทางด้านใต้ยังเป็นที่ตั้งของเขาหลวงซึ่งเป็นที่สถิตของผีบ้านผีเมืองมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย แสดงให้เห็นถึงบทบาทของคติความเชื่อเรื่องจิตวิญญาณที่มีอิทธิพลต่อวิถีชีวิตของคนไทยมาตั้งแต่โบราณ
    การที่คติความเชื่อเรื่องจิตวิญญาณเป็นภูมิปัญญาที่สำคัญประการหนึ่ง เนื่องจากคติความเชื่อดังกล่าวเป็นแหล่งที่มาของขนมธรรมเนียมประเพณี แบบแผนวิถีชีวิตของคนไทยในอดีตแม้กระทั่งปัจจุบัน ยกตัวอย่างเช่น การเคารพนับถือสิ่งเหนือธรรมชาติเป็นการกำหนดพฤติกรรมของมนุษย์ให้มีความเคารพธรรมชาติ การนับถือผีบ้านผีเรือนเป็นแบบแผนปฏิบัติในการเคารพบุคคล สถานที่ ผู้อาวุโสในวงศ์ตระกูล เป็นต้น คติความเชื่อเรื่องจิตวิญญาณจึงมีส่วนสำคัญในการกำหนดแบบแผน ขนบธรรมเนียมประเพณี แม้เมื่อประเทศไทยรับเอาศาสนาพุทธเข้ามา แต่คติความเชื่อเรื่องจิตวิญญาณยังค้างอยู่ และผสมกลมกลืนเข้ากับหลักความเชื่อในพระพุทธศาสนา
    ดังนั้นคติความเชื่อเรื่องจิตวิญญาณจึงเป็นความเชื่อถือของประชาชนไทยมาตั้งแต่โบราณ ต่อมาเมื่อสังคมไทยรับเอาพระพุทธศาสนาเข้ามา แต่คติความเชื่อเรื่องจิตวิญญาณยังมีอยู่ พื้นฐานของสังคมไทยคือหมู่บ้าน ระเบียบแบบแผนขนบธรรมเนียมประเพณีการปฏิบัติต่างๆ และพื้นฐานของหมู่บ้านอันเป็นที่เริ่มต้นของวัฒนธรรมไทย คือ การทำกสิกรรมและคติความเชื่อ โดยจะเห็นได้ว่า แต่เดิมหมู่บ้านโดยส่วนใหญ่จะมีหมอผีประจำหมู่บ้านสำหรับงานพิธีกรรมและเทศกาลต่าง ๆ ต่อมาเมื่อคนไทยรับพระพุทธศาสนาเข้ามา ศูนย์กลางและชุมชนและศูนย์กลางด้านภูมิปัญญาของหมู่บ้านได้เปลี่ยนมาเป็นวัดในพระพุทธศาสนา
    เมื่อพิจารณาภูมิปัญญาด้านคติความเชื่อแล้ว คติความเชื่อเรื่องจิตวิญญาณเป็นความเชื่อดั้งเดิมของคนไทย ต่อมาคนไทยก็รับเอาพระพุทธศาสนาและศาสนาพราหมณ์-ฮินดู เข้ามาเป็นหลักปฏิบัติ เพราะฉะนั้นสังคมไทยจึงมีคติความเชื่อซ้อนกันอยู่ คือ คติความเชื่อเรื่องจิตวิญญาณ พิธีกรรมในศาสนาพราหมณ์-ฮินดูแทรกอยู่ประปราย และหลักธรรมในพระพุทธศาสนา

    ด้านการดำเนินชีวิต
           ภูมิปัญญาในการดำเนินชีวิตของคนไทยเกิดขึ้นจากการปรับตัวในการตั้งถิ่นฐานในสภาพแวดล้อมต่างๆ และการแก้ปัญหาที่เกิดจากการดำเนินชีวิตประจำวัน
    1. การสร้างบ้านแปลงเมือง การตั้งชุมชนเป็นปรากฏการณ์ในด้านพัฒนาการทางสังคมของคนไทย ซึ่งคนไทยเลือกตั้งถิ่นฐานบริเวณที่เหมาะสมต่อการดำเนินชีวิตในสภาพแวดล้อมของแต่ละท้องถิ่น เช่น การตั้งถิ่นฐานในเขตที่ราบในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือที่ราบภาคกลางตอนบน คนไทยจะเลือกตั้งถิ่นฐานในบริเวณที่สูงใกล้กับแหล่งน้ำ ส่วนคนไทยที่ตั้งถิ่นฐานบริเวณที่ราบลุ่มในภาคกลางตอนล่างมักเลือกตั้งถิ่นฐานบริเวณตามริมฝั่งแม่น้ำ โดยทั่วไปการตั้งถิ่นฐานของคนไทยจะเลือกตั้งถิ่นฐานในพื้นที่ที่เหมาะสมแก่การอยู่อาศัย มีความปลอดภัย มีสถานที่ประกอบพิธีกรรมตามความเชื่อ และบริเวณที่ตั้งบ้านเรือนก็จะมีบริเวณสำหรับเพาะปลูกและทำกิจกรรมอื่นๆ ที่เหมาะสมแก่การดำรงชีวิต ส่วนพื้นที่รอบก็เป็นที่ราบลุ่มเหมาะแก่การเพาะปลูก และขณะเดียวกันชุมชนดังกล่าวก็เหมาะสมในการคมนาคมติดต่อกับชุมชนอื่นๆ
    ส่วนการเกิดขึ้นของเมืองในประเทศไทยก็เกิดจากชุมชนหมู่บ้านที่เหมาะสมในการตั้งถิ่นฐานมีการขยายตัวทั้งด้านพื้นที่และประชากร ทำให้ระบบสังคมมีความซับซ้อนขึ้น มีการแบ่งชนชั้นผู้ปกครองและผู้อยู่ใต้ปกครอง มีการแบ่งหน้าที่กันระหว่างสมาชิกภายในชุมชน เพื่อการควบคุมธรรมชาติและทรัพยากรให้เกิดประโยชน์แก่สมาชิกในชุมชนให้มากที่สุด เช่น มีการเกณฑ์แรงงานประชาชนในการขุดคูเมือง แหล่งน้ำในการอุปโภคของชุมชนเมือง มีการประกอบอาชีพต่างๆ ในชุมชนเมืองต่างๆ ตามหลักฐานทางโบราณคดีปรากฏเครื่องมือเครื่องใช้ที่เป็นสำริดในแหล่งชุมชนโบราณต่างๆ แสดงให้เห็นความเป็นช่างฝีมือในชุมชนเมือง นอกจากนี้ชุมชนต่างๆ เหล่านี้ยังเลือกทำเลการตั้งถิ่นฐานให้สามารถติดต่อคมนาคมทั้งระหว่างชุมชนใกล้เคียงและที่อยู่ภายนอกออกไป ยังผลให้เกิดการผสมผสานทางอารยธรรม พัฒนาเป็นเมืองศูนย์กลางในด้านต่างๆ และพัฒนาเป็นแคว้นและอาณาจักรใหญ่ที่สุด
           ภูมิปัญญาการสร้างบ้านแปลงเมืองเป็นผลจากการปรับตัว และการเลือกทำเลการตั้งถิ่นฐานให้เหมาะสมแก่การดำรงชีวิตของคนไทยในด้านต่างๆ ยังเป็นผลให้เกิดพัฒนาการทางสังคม
           2. ระบบการจัดการน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค ระบบการจัดการน้ำเป็นภูมิปัญญาที่เกิดในประเทศไทยที่มีมาตั้งแต่สมัยของการตั้งบ้านแปลงเมือง ดังที่ปรากฏหลักฐานทางด้านโบราณคดีตามชุมชนโบราณขนาดใหญ่หลายแห่ง มีการขุดคูน้ำและแหล่งน้ำเพื่อการอุปโภคและบริโภค นอกจากเหตุผลด้านการป้องกันข้าศึกศัตรูและยังเป็นแหล่งอาหารให้กับประชากรในชุมชนอีกด้วย ผลสะท้อนอย่างหนึ่งจากการจัดการระบบน้ำแสดงว่าชุมชนนั้นจะต้องมีการจัดระบบแรงงานไว้ระดับหนึ่งเช่นกัน
           ต่อมาในสมัยสุโขทัย บริเวณที่ตั้งของเมืองสุโขทัยมักจะประสบปัญหาความขาดแคลนน้ำในฤดูแล้ง อันเป็นปัญหาจากลักษณะทางภูมิศาสตร์ของสุโขทัยที่ปราศจากแหล่งน้ำขนาดใหญ่ที่อยู่ใกล้เคียง เพราะฉะนั้นคนไทยสมัยสุโขทัยจึงได้ดัดแปลงสภาพธรรมชาติในรูปของการจัดระบบชลประทานซึ่งเป็นภูมิปัญญาในการจัดระบบน้ำที่สลับซับซ้อนของคนไทย มีตั้งแต่การนำน้ำหรือส่งน้ำไปยังพื้นที่ที่ต้องการน้ำ การเก็บกักน้ำไว้ใช้ และการจ่ายน้ำเพื่ออุปโภคและบริโภค
           คนสุโขทัยบังคับน้ำที่ไหลจากที่สูงลงมายังพื้นที่ราบให้ไหลไปตามแนวคันดินและท่อส่งน้ำไปยังแหล่งเก็บกักน้ำต่างๆ เช่น คูน้ำประจำศาสนสถาน คูเมือง และสระน้ำต่างๆ โดนมีทำนบดินที่สำคัญคือ ทำนบพระร่วง หรือ สรีดภงค์ ซึ่งเป็นแหล่งรับน้ำและเก็บกักน้ำที่สำคัญ ส่วนแหล่งรับน้ำที่สำคัญเป็นอันดับสุดท้าย คือ บ่อน้ำและสระน้ำขนาดเล็กซึ่งมีอยู่ทั่วไปในตัวเมืองสุโขทัย นอกจากนี้ระบบการควบคุมน้ำดังกล่าวยังลดสภาวะอุทกภัยที่เกิดขึ้นได้อีกด้วย
    ตัวอย่างการจัดการน้ำของคนสุโขทัยเป็นตัวอย่างภูมิปัญญาไทยในการควบคุมสภาวะธรรมชาติให้เหมาะสมต่อการตั้งถิ่นฐานและการดำรงชีวิต
    3. การรักษาโรค สภาพลักษณะภูมิอากาศแบบมรสุมเขตร้อนของประเทศไทยได้ก่อให้เกิดความหลากหลายทางด้านชีวภาพ ซึ่งได้ก่อกำเนิดพืชที่มีคุณประโยชน์ในการรักษาโรค คนไทยจึงได้สร้างภูมิปัญญาในการนำพืชต่างๆ เหล่านี้มาผ่านกระบวนการรักษาโรคอย่างเป็นระบบมานานแล้ว ภูมิปัญญาดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงภูมิปัญญาในความเข้าใจถึงลักษณะของธรรมชาติ
           ความเป็นมาของการแพทย์เริ่มมาตั้งแต่สมัยทวารวดีแล้ว โดยนักโบราณคดีได้ค้นพบหลักฐานที่เป็นหินบด ซึ่งอาจมีหน้าที่ในการบดเครื่องยาเพื่อทำการผสมยา ในสมัยวัฒนธรรมเขมรเข้ามามีอิทธิพลในประเทศไทย ในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ได้ปรากฏหลักฐานโบราณสถาน อโรคยาศาลา ซึ่งใช้เป็นสถานที่ในการรักษาโรคในบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย
    ต่อมาในสมัยอยุธยา ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชมีการรวบรวมตำรับยาขึ้นเป็นครั้งแรกและยังคงใช้กันต่อมา นอกจากนี้ วิทยาการด้านการแพทย์ยังถูกจำแนกออกเป็นแขนงต่างๆ ดังที่ปรากฏตำแหน่งขุนนางแพทย์ในแขนงต่างๆ แสดงให้เห็นว่าในสมัยอยุธยามีการรวบรวมและจัดระบบความรู้ทางด้านการแพทย์อย่างกว้างขวางและเป็นระบบ ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬา-โลกมหาราชได้ทรงปฏิสังขรณ์วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม และโปรดเกล้าฯ ให้มีการรวบรวมตำรายา จารึกความรู้เรื่องการนวดไว้ตามศาลาราย และให้มีรูปฤๅษีดัดตนในบริเวณวัด ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 2 ได้มีการรวบรวมคัดเลือกตำรายา และเมื่อมีการบูรณปฏิสังขรณ์วัดพระเชตุพนฯ ในสมัยรัชกาลที่ 3 ก็ได้โปรดเกล้าฯ ให้มีการจัดตั้งโรงเรียนแพทย์แผนโบราณขึ้นในวัดพระเชตุพนฯ และมีการรวบรวมเป็นตำราเวชศาสตร์ฉบับหลวงในสมัยรัชกาลที่ 5
    ภูมิปัญญาด้านการรักษาโรคของไทยเป็นภูมิปัญญาที่เกิดจากประสบการณ์ความเข้าใจในตัวมนุษย์และสภาวะทางธรรมชาติ เพื่อรักษาคุณภาพชีวิตของคนไทยให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตและขนบธรรมเนียมประเพณีของไทย ภูมิปัญญาด้านดังกล่าวของไทยจึงมีประวัติความเป็นมายาวนานควบคู่กับการตั้งถิ่นฐานในดินแดนประเทศไทย ผ่านการรวบรวม ชำระ บันทึกความรู้ดังกล่าวไว้ ภูมิปัญญาเหล่านี้จึงเป็นมรดกของสังคมไทยที่คนไทยรุ่นหลังควรจะอนุรักษ์และพัฒนาให้คงอยู่คู่กับสังคมไทยสืบไป
    4. การประดิษฐ์เครื่องปั้นดินเผา เครื่องปั้นดินเผา นับเป็นภูมิปัญญาไทยที่มีมาแต่โบราณ ปรากฏหลักฐานในการขุดพบซากโบราณวัตถุ ซึ่งมักจะมีเครื่องปั้นดินเผารวมอยู่ด้วย และที่มีหลักฐานชัดเจน ได้แก่ ในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ เครื่องปั้นดินเผาบ้านเชียง จังหวัดอุดรธานี เป็นภาชนะดินเผาที่ปั้นด้วยมือ หรือใช้ไม้ตีผิวนอกให้ได้ตามรูปต้องการ เครื่องปั้นดินเผาบ้านเชียงมีรูปแบบและลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์ของตนเอง ต่อมาในสมัยประวัติศาสตร์ เครื่องปั้นดินเผาสมัยสุโขทัยมีการปั้นเป็นรูปทรงต่างๆ มีทั้งชนิดเคลือบและไม่เคลือบ ชนิดที่เคลือบเรียกว่า เครื่องสังคโลก เครื่องปั้นดินเผาสมัยสุโขทัยนั้นมีการผลิตกันอย่างแพร่หลายและเป็นสินค้าที่สำคัญ มีการขุดพบทั้งเตาเผาและภาชนะดินเผาเป็นจำนวนมากทั้งที่สุโขทัยและศรีสัชนาลัย
    เครื่องสังคโลกสุโขทัยมีทั้งชนิดหนาและชนิดบาง สีมีทั้งสีเขียวไข่กากับสีน้ำตาล คนสุโขทัยสามารถพิจารณาความเหมาะสมของสภาพภูมิอากาศกับการผลิตเครื่องสังคโลก โดยการผลิตเครื่องเคลือบสีน้ำตาลจะผลิตในฤดูแล้งซึ่งมีความชื้นน้อย ส่วนเครื่องเคลือบสีเขียวไข่กาจะเผาในฤดูฝนเนื่องจากความชื้นสูง ทำให้เครื่องเคลือบมีความสวยงาม อุตสาหกรรมเครื่องเคลือบสังคโลกยังคงดำรงสืบเนื่องมาจนถึงสมัยอยุธยาตอนต้น ดังที่ปรากฏเครื่องเคลือบในซากเรือที่อับปางในอ่าวไทยอมัยอยุธยา
           การผลิตเครื่องปั้นดินเผามีการสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน มีหลายชุมชนที่ยังสืบทอดอาชีพนี้อยู่ เช่น เครื่องปั้นดินเผาด่านเกวียน จังหวัดนครราชสีมา เป็นเครื่องปั้นดินเผาที่จัดว่ามีคุณภาพดี ทนทาน มีรูปแบบที่ทันสมัย มีทั้งที่เป็นเครื่องใช้และเครื่องประดับตกแต่ง และมีการพัฒนารูปแบบให้ทันสมัยอยู่ตลอดเวลา
    นอกจากนี้ยังมีเครื่องปั้นดินเผาเกาะเกร็ด จังหวัดนนทบุรี มีการแกะสลักลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์ของตนเองอย่างสวยงาม เครื่องปั้นดินเผาสามโคก จังหวัดปทุมธานี เป็นแหล่งเครื่องปั้นดินเผาที่มีชื่อเสียงมาเป็นระยะเวลานานแล้วเช่นกัน
           การผลิตเครื่องปั้นดินเผายังมีการสืบทอดกันมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าจะมีการพัฒนารูปแบบให้ทันสมัยขึ้น แต่ก็ยังคงรักษาภูมิปัญญาไทยดั้งเดิมไว้ ซึ่งเป็นความภาคภูมิใจของคนไทย
    5. การประดิษฐ์เครื่องจักสาน คนไทยเรารู้จักนำวัสดุที่มีอยู่ตามธรรมชาติมาทำเป็นเครื่องมือเครื่องใช้ในการทำมาหากิน เช่น เครื่องมือในการจับปลา ภาชนะเครื่องใช้ต่างๆ เครื่องมือในการเกษตร เป็นต้น สิ่งเหล่านี้นับเป็นผลิตภัณฑ์จากภูมิปัญญาของชาวบ้านที่มีมานานและพัฒนาหรือสร้างสรรค์ขึ้นใหม่ให้สอดคล้องกับสภาพสังคม หรือสิ่งแวดล้อมในขณะนั้น
           เครื่องจักสานซึ่งเป็นที่รู้จักได้แก่ เครื่องจักสานย่านลิเภา เป็นงานฝีมือขั้นสูงที่นิยมใช้กันในหมู่เจ้านายในอดีต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเมืองนครศรีธรรมราช จัดว่าเป็นงานศิลปหัตถกรรมที่มีความละเอียดประณีตที่สุด มีอยู่หลายชนิด เช่น กระเชอ กุบหมาก กล่องยาเส้น ปั้นชา พาน กระเป๋า เป็นต้น เป็นการนำวัสดุที่มีอยู่ในท้องถิ่นมาใช้ให้เกิดประโยชน์
           ปัจจุบันมีการส่งเสริมให้ผลิตเครื่องจักสานชนิดนี้อย่างแพร่หลาย แม้ว่าวิธีการจะแตกต่างจากของโบราณไปบ้าง แต่ก็ยังคงรักษาแบบแผนเดิมไว้ เพื่อเป็นแนวทางในการอนุรักษ์และพัฒนาเครื่องจักสานย่านลิเภาไว้เป็นมรดกทางศิลปหัตถกรรมสืบไป
           ปัจจุบันรัฐบาลได้ส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการผลิตผลิตภัณฑ์จากภูมิปัญญาท้องถิ่นเพื่อสร้างงานและสร้างรายได้ให้แก่ชุมชน ชุมชนต่างๆ จึงหันมาสนใจในการรื้อฟื้นเครื่องมือเครื่องใช้พื้นบ้านที่มีมาแต่ดั้งเดิมให้มีมาตรฐานมากขึ้น นอกจากเป็นการอนุรักษ์ศิลปหัตถกรรมพื้นบ้านแล้ว ยังช่วยสร้างรายได้ ทำให้ชุมชนมีความเข้มแข็งและพึ่งพาตนเองได้
    6. การสร้างเครื่องมือเครื่องใช้จากโลหะ ภูมิปัญญาด้านเครื่องมือเครื่องใช้เป็นภูมิปัญญาที่เกิดจากการประยุกต์ใช้แร่ธรรมชาติมาดัดแปลงให้เกิดประโยชน์ในการดำรงชีวิต ในประเทศไทยได้ปรากฏภูมิปัญญาในด้านดังกล่าวมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ ดังนั้น ภูมิปัญญาด้านเครื่องมือเครื่องใช้จากโลหะจึงดำรงคู่กับสังคมมนุษยชาติมาตลอด
           เครื่องมือเครื่องใช้โลหะที่เป็นภูมิปัญญาดั้งเดิมของคนไทย ได้แก่ เครื่องมือที่เป็นโลหะสำริดและเครื่องมือที่เป็นโลหะเหล็ก
           เครื่องมือเครื่องใช้ที่ทำด้วยโลหะ มนุษย์ในดินแดนประเทศไทยสามารถผลิตเครื่องมือที่ทำด้วยโลหะมาตั้งแต่ช่วงปลายยุคก่อนประวัติศาสตร์ ดังที่ปรากฏหลักฐานเครื่องมือโลหะทำด้วยสำริดและเหล็ก ตามการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีในการถลุงโลหะ
           การสร้างเครื่องมือเครื่องใช้ที่ทำจากโลหะถือได้ว่าเป็นภูมิปัญญาที่ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงของสังคมในทุกด้าน ในด้านการเมือง การผลิตเครื่องมือโลหะทั้งจากสำริดและเหล็ก ทำให้มนุษย์สามารถผลิตอาวุธสำหรับนำมาใช้ในการสู้รบเพื่อขยายดินแดน ทางด้านเศรษฐกิจ การสร้างเครื่องมือทำด้วยโลหะ ทำให้มนุษย์สามารถทำการผลิตทางการเกษตรกรรม รวมถึงการผลิตในด้านอื่นๆ ได้อย่างรวดเร็วขึ้น ทางด้านสังคมวัฒนธรรม ส่งผลให้เกิดศิลปกรรมที่เกิดจากโลหะ เช่น เทวรูป พระพุทธรูป เป็นต้น
           ตัวอย่างเครื่องมือโลหะทำจากโลหะสำริดและเหล็กได้ค้นพบตามแหล่งโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ เช่น การค้นพบเครื่องมือเครื่องใช้ที่ทำด้วยสำริดที่แหล่งโบราณคดีบ้านเชียงมีอายุกว่า 3,000 ปี ได้แก่ เครื่องประดับที่ทำจากสำริด เครื่องอาวุธที่ทำด้วยสำริด เป็นต้น
    หลักฐานทางด้านโบราณคดีเหล่านี้แสดงให้เห็นว่า มนุษย์ในดินแดนประเทศไทยตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ สามารถประดิษฐ์เครื่องมือเครื่องใช้ที่ทำจากสำริดได้ ต่อมาการผลิตโลหะมีกระบวนการผลิตที่สูงขึ้น มนุษย์ในประเทศไทยจึงสามารถผลิตเครื่องมือเครื่องใช้ที่ทำจากเหล็กได้
           ต่อมาในสมัยสุโขทัยได้ปรากฏหลักฐานเครื่องมือเครื่องใช้และการผลิตอาวุธที่มีเหล็กเป็นวัตถุดิบ และได้มีการค้นพบแหล่งแร่โลหะประเภทอื่นๆ ใกล้เมืองสุโขทัย เช่น แร่ดีบุกและทองแดง เป็นต้น คนสุโขทัยได้ถลุงโลหะนำมาใช้สร้างเครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆ และนำมาสร้างสรรค์งานศิลปกรรมที่แสนงดงามและเป็นเอกลักษณ์ของสุโขทัย เช่น พระพุทธรูป เป็นต้น ฝีมือการสร้างสรรค์งานโลหะขอสุโขทัยได้พัฒนาสืบเนื่องต่อมาจนถึงปัจจุบัน
    งานประดิษฐ์จากโลหะจึงเป็นภูมิปัญญาที่น่าภาคภูมิใจและทรงคุณค่าของคนไทยอีกแขนงหนึ่ง
    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×