คืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด
คุณแน่ใจว่าต้องการคืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด ?
ลำดับตอนที่ #8 : หลักการรักษาโรค MS
แบ่งกล่าวได้เป็น 2 ส่วน
การรักษาโรค MS
การรักษาตามอาการ ซึ่งมีทั้งการรักษาโดยไม่ใช้ยาและการรักษาด้วยยา
การรักษาตามอาการ
อาการเหนื่อยล้าอ่อนแรง
อาการที่พบได้บ่อยในผู้ป่วย MS ได้แก่ อาการเหนื่อยล้าอ่อนแรง ซึ่งพบมากที่สุดถึงประมาณ 2 ใน 3 ของอาการต่าง ๆ โดยมากจะเป็นอยู่ หลาย ๆ เดือน หรือบางรายอาจมีอาการนานกว่านั้น อาการเหนื่อยล้าที่พบมีอยู่ 2 ลักษณะ
1. มีอาการเหนื่อยล้าอ่อนแรงอยู่ตลอดเวลา ทำให้ไม่สามารถทำงานง่ายๆ ที่เคยทำได้
2. มีอาการเหนื่อยล้าอ่อนแรง ซึ่งเป็นอยู่ระยะหนึ่งมักเกิดในช่วงเวลาไม่นานหลังจากทำกิจกรรมต่าง ๆ ลักษณะอาการนี้จะพบบ่อยบริเวณขาทั้งสองข้าง แต่อาการเหนื่อยล้าจะดีขึ้นหลังจากพักผ่อนสักครู่หนึ่ง
อาการดังกล่าวสามารถเกิดขึ้นได้กับการมองเห็นด้วย ซึ่งจะทำให้มีปัญหาในการอ่านหนังสือนาน ๆ แต่อาการจะดีขึ้นหลังจากได้รับการพักผ่อน
อาการเหนื่อยล้าอ่อนแรงนี้มักจะเป็นมากขึ้นในเวลาที่มีอากาศร้อน,หลังจากอาบน้ำร้อน หรือเวลาที่มีการเพิ่มสูงขึ้นของอุณหภูมิของร่างกาย เช่น เวลามีไข้ ดังนั้นผู้ป่วยที่เป็น MS อาจจะมาพบแพทย์เนื่องจากมีอาการเกิดขึ้นหลังจากผ่านภาวะเหล่านี้ หรือมีอาการเหนื่อยล้าอ่อนแรงจนไม่สามารถจะทำกิจวัตรประจำวันตามปกติได้
ถึงแม้ว่าอาการเหนื่อยล้าอ่อนแรงจะมีความสัมพันธ์โดยตรงกับการดำเนินโรค MS แต่มีปัจจัยหลายอย่างที่สามารถทำให้อาการเหนื่อยล้าอ่อนแรงเป็นมากขึ้นได้ เช่น ภาวะที่ร่างกายไม่แข็งแรง อาการซึมเศร้าหดหู่ การนอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ
การรักษาอาการเหนื่อยล้าอ่อนแรง
ถ้าอาการมาจากสาเหตุอื่นนอกเหนือจากโรค MS เอง เช่น การพักผ่อนไม่เพียงพอ ควรจะหาสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการนี้และรักษาอาการนั้นโดยตรง
ถ้าอาการเหนื่อยล้าเป็นปัญหาหลักในผู้ป่วยที่เป็น MS อาจจำเป็นจะต้องเปลี่ยนการใช้ชีวิตประจำวันบางอย่าง บางครั้งอาจต้องเปลี่ยนเวลาทำงาน หรือเปลี่ยนอาชีพ มียาไม่มากนักที่ใช้รักษาอาการอ่อนล้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตามผู้ป่วยที่เป็น MS ซึ่งมีอาการเหนื่อยล้ามากก็ยังได้รับผลดีจากการรักษา จึงควรพูดคุยกับแพทย์ของท่านเกี่ยวกับยาที่เหมาะสมกับสภาวะของท่าน
การรักษาโดยไม่ใช้ยา เช่น การนอนหลับพักผ่อนเป็นเวลา การหยุดพักระหว่างทำกิจกรรม การฝึกกล้ามเนื้อด้วยการออกกำลังกายเทคนิคต่าง ๆ เช่น Biofeedback การจัดตารางเวลาในการทำกิจกรรมต่าง ๆ การอาบน้ำเย็น หรือการเปิดแอร์ในช่วงอากาศร้อน เหล่านี้จะช่วยบรรเทาอาการอ่อนล้าได้ การฝึกโยคะ และการนั่งสมาธิจะช่วยทำให้การควบคุมอาการอ่อนล้าได้ดีขึ้น แต่ต้องระวังว่าการออกกำลังกายที่หนักเกินไปอาจจะทำให้อาการอ่อนล้าเป็นมากขึ้น ดังนั้นผู้ป่วยที่เป็น MS ควรเข้าใจและปรับปรุงการทำกิจกรรมให้เหมาะสมกับตนเอง
การรักษาอาการเกร็ง
อาการเกร็งเกิดจากการเพิ่มความตึงตัวของกล้ามเนื้อ อาจจะเกิดร่วมกับอาการปวดเนื่องจากกล้ามเนื้อมีการหดตัวอย่างมาก
การรักษาโดยไม่ใช้ยา ได้แก่ การฝึกคลายกล้ามเนื้อและการทำกายภาพบำบัด โดยยืดกล้ามเนื้อต้นขาด้านใน สะโพก ขา หลัง ซึ่งสามารถทำได้ด้วยตนเอง หรือการออกกำลังที่ต้องมีผู้ช่วย การยืดกล้ามเนื้อจะช่วยลดอาการเกร็งและป้องกันการหดสั้นของกล้ามเนื้อ ซึ่งการฝึกนี้ควรจะได้รับการสอนจากนักกายภาพบำบัดที่มีประสบการณ์
การรักษาอาการเกร็ง ขึ้นกับความรุนแรงของอาการเกร็งที่เกิดขึ้น การซื้อยามารับประทานเพื่อคลายอาการหดเกร็งของกล้ามเนื้ออาจจะช่วยลดอาการเกร็งได้ เมื่อไม่นานนี้มียาต่าง ๆ จำนวนมาก ที่ได้รับการพัฒนาขึ้นเพื่อใช้ในการรักษาการอาการเกร็ง โปรดปรึกษากับแพทย์ที่ดูแลท่านเกี่ยวกับยาเพื่อช่วยลดอาการที่ท่านมีอยู่
สิ่งที่ควรระวังก็คือ ผู้ป่วยบางคนมีกำลังของกล้ามเนื้อขาน้อยอยู่แล้ว การที่ลดอาการเกร็งมากเกินไป อาจทำให้กล้ามเนื้อไม่มีแรงพอในการทรงตัว
การรักษาความสมดุลและการเคลื่อนไหวประสานกัน
ปัญหาเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวประสานกัน และปัญหาด้านการทรงตัวอาจจะเกิดขึ้นได้เมื่อสมองน้อยเป็นตำแหน่งที่เกิดพยาธิสภาพ
สมองน้อยเป็นสมองส่วนที่ควบคุมการทำงานประสานกันของการเคลื่อนไหว พยาธิสภาพที่เกิดขึ้นจะทำให้มีการเสียสมดุลของร่างกายในการทรงตัว นอกจากนี้จะทำให้มีปัญหาในการหยิบจับวัตถุขนาดเล็กด้วยมือ อาการสั่นเป็นอีกอาการหนึ่งที่ตรวจพบได้
การรักษาการเสียการทรงตัวและการทำงานประสานกัน คือ การออกกำลังกายซึ่งเป็นหนึ่งในกายภาพบำบัดที่ได้รับการแนะนำในทุก ๆ ระดับของความรุนแรงที่เกิดขึ้น
การรักษา MULTIPLE SCLEROSIS
การรักษา MS ขึ้นอยู่กับสภาวะของโรคในขณะนั้น โดยมุ่งหวังให้เกิดความทุพพลภาพน้อยที่สุด แบ่งเป็น 2 ระยะ คือ
1. การรักษาการกลับเป็นซ้ำ เป็นการรักษาเฉียบพลัน
เมื่อมีอาการของการกลับเป็นซ้ำเกิดขึ้น การรักษาด้วย Corticosteroids ;Solu-Medrol, Medrol (Methylprednisolone), Decadron (dexamethasone), prednisolone และอื่นๆยังคงใช้ในการรักษาอาการที่เกิดเฉียบพลัน โดยหวังว่ายาจะไปลดการบวมของพยาธิสภาพที่กำลังเกิดขึ้นในสมองหรือไขสันหลัง
ยากลุ่มนี้มีผลน้อยมากต่อตัวโรค MS เองแต่การลดการบวมและการอักเสบจะช่วยให้ส่วนที่เกิดพยาธิสภาพนั้นกลับมาสู่ภาวะปกติได้เร็วขึ้น
ผลข้างเคียงจากยากลุ่มนี้ที่พบได้บ่อย ได้แก่ ภาวะบวมจากน้ำ ( fluid retention), สิว,กระดูกพรุน ต้อกระจก,น้ำหนักขึ้น, น้ำตาลสูง อย่างไรก็ตามพบว่าการให้ Corticosteroids ในระยะเวลาสั้นนั้น ส่วนใหญ่ผู้ป่วยจะทนกับผลข้างเคียงของยาได้ดี และมีผลข้างเคียงน้อย
2. การรักษาต่อเนื่อง มุ่งหวังเพื่อชะลอการดำเนินของโรค
2.1 ยากดภูมิคุ้มกัน (immunosuppressive drugs)
ดังกล่าวแล้วว่าการเกิดโรค MS เป็นโรค autoimmune ซึ่งเกิดจากระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายทำลายเซลตัวเอง จึงมีการนำยากดภูมิคุ้มกันมาใช้เพื่อหวังลดการอักเสบและการทำลาย ยาที่ใช้ เช่น Azathiopine (immuran), Metrotrexate ซึ่งควรสั่งโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น
จากการศึกษาพบว่า ยากลุ่มนี้อาจจะไม่มีประสิทธิภาพเท่ายาใหม่ อย่างไรก็ตามอาจมีประโยชน์ในผู้ป่วยกลุ่ม relapsing และ progressive บางราย
2.2 ยาปรับเปลี่ยนระบบภูมิคุ้มกัน (immunomodulating agents) ได้แก่ Interferon ชนิด Beta และ Glatiramer acetate ซึ่งจะกล่าวโดยละเอียดในบทต่อไป
ความคิดเห็น