คืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด
คุณแน่ใจว่าต้องการคืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด ?
ลำดับตอนที่ #7 : MS วินิจฉัยได้อย่างไร
การวินิจฉัย MS อาศัยจากอาการที่ปรากฏทางคลินิกร่วมกับผลการวินิจฉัยทางเอ็กซเรย์หรือผลการตรวจเพิ่มเติมอื่น ๆ ไม่มีการตรวจเพียงอย่างใดอย่างหนึ่งสามารถวินิจฉัยได้ว่าเป็นโรค MS และไม่มีผลการทดสอบใดที่สามารถบอกได้ว่าไม่ใช่โรค MS กล่าวคือไม่มีการตรวจหรือการทดสอบใดที่จะบอกได้ว่า เป็น MS ได้ 100%
1. การซักประวัติ
ประสาทแพทย์จะทำการซักประวัติ เพื่อวินิจฉัยแยกโรค MS จากโรคอื่น ๆ
ดังที่กล่าวแล้วว่า โรค MS สามารถเลียนแบบโรคอื่นได้ทุกโรค การซักประวัติเพื่อวินิจฉัยแยกโรคที่มีอาการคล้ายกัน จึงเป็นสิ่งสำคัญมาก
2. การตรวจร่างกายทางระบบประสาท
ประสาทแพทย์จะตรวจร่างกายหาอาการและอาการแสดงของระบบประสาทที่เปลี่ยนแปลงไปโดยรวบรวมข้อมูลทั้งหมดเพื่อหาข้อสนับสนุนว่าท่านเป็น MS จริงโดยมีข้อมูลสนับสนุนจากผลเอ็กซเรย์คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI), ผลการตรวจทางห้องปฎิบัติการจากการเจาะน้ำไขสันหลัง (Lumbar Puncture) เพื่อดูโอลิโกโคลนอลแบน (Oligoclonal band), ผลการตรวจการนำกระแสไฟฟ้าของสมองหรือ อีโวคโพเทนเชี่ยน (Evoke Potential)
ต่อไปจะกล่าวถึงการตรวจร่างกาย และการตรวจทางห้องปฏิบัติการโดยละเอียด
2.1 การตรวจทางระบบประสาท
การตรวจร่างกายทางระบบประสาทเป็นการตรวจว่าระบบประสาทของท่านทำงานดีเพียงใด การตรวจนี้ทำโดยประสาทแพทย์ แพทย์จะทำการตรวจการเปลี่ยนแปลงของมองเห็นการได้ยินการเปลี่ยนแปลงของการรับความรู้สึก หรือความผิดปกติเกี่ยวกับการพูด รวมถึงการตรวจ ปฏิกิริยารีเฟล็กซ์ (Reflex) ที่บริเวณข้อศอก ข้อมือ หัวเข่า ข้อเท้า และบริเวณเอ็นร้อยหวาย เพื่อดูว่ามีความผิดปกติเกิดขึ้นหรือไม่จากนั้นจะทำการตรวจการยืนการเดิน ท่าทาง การแกว่งแขนในระหว่างการเดินหรือยืนว่ามีกล้ามเนื้ออ่อนแรง หรือแข็งเกร็งหรือไม่ มีอาการเดินเซหรือการรับความรู้สึกที่ผิดปกติหรือไม่ อาการเหล่านี้อาจเป็นอาการเสดงจากความผิดปกติของไขสันหลังหรือสมอง นอกจากนี้แพทย์อาจจะทำการตรวจพิเศษบางอย่างเพิ่มเติม เช่น การตรวจลานสายตา
เส้นประสาทตาเป็นตำแหน่งที่เกิดพยาธิสภาพได้บ่อยตำแหน่งหนึ่งในผู้ป่วยโรค MS การตรวจประสาทตาได้แก่ การตรวจการมองเห็น ตรวจการนำกระแสไฟฟ้าของเส้นประสาทตา การตรวจจอประสาทตา และการตรวจลานสายตา
การทดสอบการมองเห็นทำได้ง่ายๆโดยใช้แผ่นตรวจสายตา (near chart vision หรือ snellen’s chart), การตรวจโดยใช้เครื่องมือออฟทาลโมสโคป (Ophthalmoscope) ทั้งหมดนี้เป็นการตรวจอย่างง่าย ๆ และไม่เจ็บปวด ส่วนการตรวจลานสายตาจะทำการตรวจโดยจักษุแพทย์
อาการผิดปกติอื่นๆทางสายตา ได้แก่ การสั่นหรือกระตุกของลูกตาอาจมีสาเหตุจากโรค MS หรืออาจจะเกิดจากความผิดปกติของหูชั้นในหรือโรคอื่น ๆ ได้
นอกจากการตรวจทางระบบประสาทแล้วยังมีการตรวจอื่นๆ เช่น การตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) ซึ่งเป็นการตรวจชนิดเดียวที่สามารถมองเห็นได้จริงว่ามีพยาธิสภาพจากการเป็น MS อยู่ ผลการตรวจที่ได้อาจจะไม่ได้บอกถึงตำแหน่งรอยโรคทั้งหมด และผลที่ได้อาจจะคล้ายคลึงกับโรคอื่นในระบบประสาทได้ ดังนั้นจะเห็นได้ว่า ผล MRI เพียงอย่างเดียวไม่สามารถนำมาวินิจฉัยได้ว่า ท่านเป็นโรค MS
2.2 การตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI)
MRI เป็นภาพเหมือนจริงของส่วนต่างๆของร่างกาย สร้างจาการใช้สนามแม่เหล็กความเข้มสูงกว่า คลื่นความถี่วิทยุทั่วไปส่งคลื่นความถี่เข้าสู่ร่างกายและรับคลื่นสะท้อนกลับโดยตัวรับสัญญาณจากนั้นนำมาประมวลผลและสร้างเป็นภาพด้วยคอมพิวเตอร์ ซึ่งสามารถให้รายละเอียด และความคมชัดเหมือนการตัดร่างกายออกเป็นแผ่นๆ ทำให้แพทย์สามารถมองเห็นจุดที่ผิดปกติในร่างกายคนเราได้อย่างละเอียด โดยไม่ก่ออันตรายใดๆต่อผู้รับการตรวจ MRI เป็นเครื่องมือที่มีประโยชน์ นอกจากจะสามารถแสดงถึงพยาธิสภาพที่เกิดขึ้นแล้วยังใช้ในการติดตามการดำเนินโรค โดยทำการตรวจติดตามเป็นระยะเพื่อดูการเปลี่ยนแปลงของพยาธิสภาพในเวลาต่างๆ การฉีดสารทึบรังสีร่วมในการทำ MRI นั้นจะทำให้เห็นพยาธิสภาพใหม่ในระยะที่มีการอักเสบได้ชัดเจนขึ้น
MRI เป็นวิธีการตรวจที่ไวมาก ในการดูตำแหน่งพยาธิสภาพในสมองหรือไขสันหลัง การทำ MRI อาจจะเป็นเรื่องน่าเบื่อสำหรับผู้ป่วย เนื่องจากใช้เวลาประมาณ 30 – 45 นาทีในการตรวจโดยผู้ป่วยจะต้องนอนนิ่ง ๆ อยู่บนเตียงซึ่งจะถูกเลื่อนเข้าไปในอุโมงค์ขนาดใหญ่ และมีเสียงค่อนข้างดัง ในสถานที่ตรวจบางแห่งผู้ป่วยอาจจะได้รับที่อุดหู หรือให้ฟังเสียงดนตรีระหว่างการทำ นอกจากนี้ผู้ป่วยอาจได้รับรีโมทเพื่อใช้ติดต่อกับรังสีแพทย์ในระหว่างที่นอนอยู่ในอุโมงค์ (รูป 6.1)
การทำ MRI จะไม่มีรังสีเอ็กซ์ ดังนั้น สามารถทำได้หลายครั้งเท่าที่ต้องการ ท่านอาจสอบถามแพทย์ของท่านถ้าต้องการข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการทำ MRI เมื่อรวมหลักฐานจากการซักประวัติ การตรวจร่างกายทางระบบประสาท และ ผลการตรวจ MRIและผลการตรวจทางห้องปฎิบัติการอื่นๆ เข้าด้วยกัน จะช่วยในการวินิจฉัยได้ว่าผู้ป่วยเป็นโรค MS
2.3 การวัดการนำกระแสประสาท
การตรวจการนำกระแสประสาท เป็นการตรวจที่ง่าย,ไม่เป็นอันตราย,สามารถทำซ้ำได้ ในโรค MS นั้นการนำกระแสประสาทจะช้าลงอย่างมาก เนื่องจากไมอิลินซึ่งทำหน้าที่เป็นฉนวนหุ้มเส้นประสาทได้ถูกทำลายลง ทำให้เหลือเพียงเส้นประสาทที่ไม่มีไมอิลินหุ้มซึ่งจะทำให้การนำกระแสประสาทเป็นไปอย่างช้ามาก (ดังบทที่ 1 รูปที่ 1.4.2)
การวัดการนำกระแสประสาทนั้น อธิบายได้ง่าย ๆ โดยเราทำการกระตุ้นที่จุดหนึ่งของเส้นทางเดินประสาทและตั้งตัวรับไว้อีกจุดหนึ่ง แล้วจับเวลาที่ไฟฟ้าเดินทางจากจุดที่กระตุ้นถึงตัวรับ เมื่อเราทราบระยะทางระหว่างสองจุด เราจะสามารถคำนวณได้ว่า ความเร็วของการนำกระแสประสาทเป็นเท่าไร
ในผู้ป่วยโรค MS พบว่ามีความล่าช้าของการนำกระแสประสาทระหว่าง 2 จุดที่ทำการตรวจเมื่อเทียบกับคนที่ไม่เป็นโรค MS โดยอาจทำการตรวจการนำกระแสประสาทของเส้นประสาทส่วนปลายที่ต้องการเทียบกับด้านที่ปกติในกรณีที่มีความผิดปกติเพียงข้างเดียว หรือเทียบกับค่าปกติ (รูปที่ 6.3)
การตรวจนี้จะสามารถบอกถึงความผิดปกติได้แม้ว่าพยาธิสภาพนั้นจะยังไม่แสดงอาการทางคลินิก นอกจากจะมีประโยชน์ในการช่วยวินิจฉัยโรค MS แล้วยังใช้เป็นตัวบ่งชี้การดำเนินโรคได้ด้วย
2.4 การวัดการนำกระแสประสาทของเส้นประสาทตา
เป็นการตรวจที่ทำมากที่สุดการตรวจหนึ่งในการวินิจฉัย MS โดยจะวัดความเร็วของการนำกระแสประสาทในเส้นประสาทตาที่ใช้ในการนำภาพที่เห็นไปแปรเป็นความหมายที่สมอง
ในการเตรียมผู้ป่วยนั้นจะมีการวางแผ่นตัวรับสัญญานบริเวณศีรษะซึ่งจะทำหน้าที่รับสัญญาณไฟฟ้าหรือคลื่นสมองที่บริเวณนั้น จากนั้นจะมีการบันทึกกระแสประสาทที่วิ่งผ่านเส้นประสาทระหว่างตาและสมอง ผู้ป่วยจะได้รับการบอกให้มองตารางคล้ายหมากรุกบนฉากกั้น ถ้าเกิดความเสียหายของเส้นประสาทตาจะทำให้เกิดความล่าช้าในการตรวจนี้
การตรวจนี้สามารถตรวจได้ละเอียด แม้ผู้ป่วยจะยังไม่มีอาการผิดปกติของการมองเห็นทางคลินิกก็อาจพบมีความผิดปกติจากการตรวจนี้ได้ถึง 75-97% (รูปที่ 6.4)
3.การตรวจวิเคราะห์น้ำไขสันหลัง (Cerebrospinal fluid analysis )
วิธีการตรวจทำได้โดยให้ผู้ป่วยนอนตะแคงข้าง จากนั้นแพทย์จะให้ยาชาเฉพาะที่ก่อนทำการเจาะน้ำไขสันหลัง (Lumbar Puncture) การตรวจนี้ผู้ป่วยจะต้องนอนพักหลังการตรวจที่โรงพยาบาลเป็นเวลาประมาณ 4-6 ชั่วโมง
การเจาะน้ำไขสันหลังตรวจช่วยในการสนับสนุนหรืออาจใช้วินิจฉัยแยกโรคอื่นออกจากโรค MS จากการศึกษาพบว่าประเทศทางตะวันตกนั้น 80-90% ของผู้ป่วยที่เป็นโรค MS จะพบว่ามีโปรตีนชนิดหนึ่ง เรียกว่า โอลิโกโคลนอลแบน (Oligoclonal band) ปรากฎในน้ำไขสันหลังต่างกับผู้ป่วยในภาคพื้นเอเชียซึ่งพบเพียง 20-30% เท่านั้น
กล่าวโดยสรุปแล้วจะเห็นได้ว่า การตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า การตรวจการนำกระแสประสาท หรือการเจาะน้ำไขสันหลังไปตรวจ เพียงวิธีใดวิธีหนึ่งไม่สามารถใช้เป็นวิธีวินิจฉัยว่าเป็นโรค MSได้ การตรวจเหล่านี้เป็นเพียงการตรวจเพิ่มเติมในการวินิจฉัยขั้นสุดท้าย และช่วยในการหาหลักฐานสนับสนุนหรือวินิจฉัยแยกโรคอื่นๆ ที่คล้ายกับโรค MS ดังนั้นในการแปรผลจะต้องอาศัยความระมัดระวังจากผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น
การวินิจฉัย MS มีประโยชน์อย่างไร
ดังกล่าวมาแล้วว่าโรค MS มีอาการได้หลายแบบ, อาการคล้ายโรคอื่นได้มากมาย ดังนั้นในการวินิจฉัยจึงต้องใช้ข้อบ่งชี้เฉพาะ ซึ่งในปัจจุบันมีหลายข้อบ่งชี้ในการวินิจฉัยโรค MS
อย่างไรก็ตามในปี 2544 จากการประชุมนานาชาติมีการกำหนดข้อบ่งชี้ใหม่ที่ใช้กันแพร่หลายในการวินิจฉัยว่าผู้ป่วยเป็นโรค MS เรียกว่า แมคโดนัลไคทีเรีย (Mcdonald’s Criteria) ซึ่งอาศัยอาการทางคลินิคร่วมกับผลการตรวจMRI
ข้อดีของ Mcdonald’s Criteria คือ ทำให้สามารถวินิจฉัยว่าเป็นโรค MS ได้เร็วขึ้นโดยการนำ MRI เข้ามาใช้ นอกจากนี้ MRI ยังช่วยให้แพทย์วินิจฉัยแยกโรคที่อาจมาด้วยอาการคล้ายคลึงกับ โรค MS ได้ด้วย การวินิจฉัยที่เร็วขึ้นจะทำให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาได้เร็วขึ้น ผลดีที่ตามมาก็คือ ลดความเสียหายที่เกิดจากการทำลายของระบบประสาทได้
เมื่อได้รับการวินิจฉัยว่าเป็น MS ผู้ป่วยจะต้องทำอะไรต่อไป
หลังจากผู้ป่วยทราบว่าเป็น MS ซึ่งอาจเป็นชนิดใดชนิดหนึ่งตามที่ได้กล่าวมาข้างต้น ผู้ป่วยจะมีชีวิตอยู่อย่างไรกับ MS
ถ้าท่านได้รับการวินิจฉัยว่าเป็น MS หลายท่านอาจจะเกิดปัญหาต่างๆ เกี่ยวกับอาการที่มีอยู่ซึ่งคนที่ไม่เป็นโรคนี้อาจจะไม่เข้าใจ ผู้ป่วยควรจะพูดคุยกับแพทย์ที่ดูแลในเรื่องที่สงสัยหรือเกี่ยวกับความกลัวกังวลต่าง ๆ
ผู้ป่วยบางคนอาจมีประสบการณ์เกี่ยวกับอาการใหม่ๆที่เกิดขึ้น หรืออาการที่ผิดปกติไปจากเดิม หรืออาการเก่ากลับเป็นซ้ำอีกหลังจากเป็นปกติอยู่เป็นเดือนเป็นปีหรือบางคนอาจจะกินเวลา 10 ปีหลังจากเป็นครั้งแรก
ปัจจุบันการทำคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าสามารถช่วยให้ผู้ป่วย MS ได้รับการวินิจฉัยและการรักษาที่เร็วขึ้นกว่าเดิม ทำให้ปัญหาความทุพพลภาพจากอาการของ MS ที่เกิดจากการสะสมของการกลับเป็นซ้ำแต่ละครั้งน้อยลงด้วย
ผู้ป่วยส่วนใหญ่เมื่อทราบว่าเป็นโรค MS จะเกิดปฏิกิริยาทางจิตใจเริ่มต้นด้วยอาการตกใจ ตามด้วยการปฏิเสธไม่ยอมรับว่าตัวเองเป็นโรคนี้ จากนั้นจะตามด้วยความกลัวซึ่งเกิดขึ้นเมื่อตนเองไม่รู้แน่นอนว่าจะต้องต่อสู้กับอะไร ความจริงแล้วอาการกลัวนี้จะทำลายการใช้ชีวิตประจำวันของท่านมากกว่าอาการที่เป็นจากโรค MS เอง ความกลัวอาจจะเกิดขึ้นในระหว่างที่มีอาการกำเริบ หรือเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีกในระหว่างการดำเนินโรคได้ การให้ข้อมูลเกี่ยวกับโรค MS จะช่วยให้ท่านเข้าใจ และสามารถต่อสู้กับสถานการณ์เหล่านี้ได้ ความวิตกกังวลเหล่านี้สามารถบรรเทาลงได้หลังจากได้ท่านได้พูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญในด้านการให้คำปรึกษา นอกจากนี้การพบปะพูดคุยกับกลุ่มคนโรคเดียวกันอาจจะช่วยทำให้ผู้ป่วยมีกำลังใจมากขึ้น
อาการหนึ่งที่พบได้บ่อยในผู้ป่วยโรค MS คือ อารมณ์เศร้า เสียใจ รวมทั้งอารมณ์หดหู่ อารมณเศร้าส่วนมากมักจะเป็นเพียงชั่วคราว ในขณะที่อารมณ์หดหู่มักจะเป็นตลอดช่วงเวลาที่เป็นโรค MS
จากการศึกษาพบว่าอารมณ์หดหู่พบบ่อยในผู้ป่วยที่เป็น MSเมื่อเทียบกับคนปกติหรือป่วยจากโรคเรื้อรังอื่น
ถ้าท่านมีอาการเศร้า หดหู่ ท่านควรพูดคุยกับเพื่อนสนิทของท่าน ผู้ป่วยบางคนอาจจะต้องการความช่วยเหลือจากจิตแพทย์และต้องการการบำบัดทางจิตใจ ผู้ป่วยบางคนอาจพยายามต่อสู้กับอารมณ์เศร้าหดหู่ด้วยตัวเอง แต่ในบางครั้งอารมณ์เศร้าหดหู่นั้นรุนแรงมาก ในกรณีนี้การใช้ยาลดความวิตกกังวลอาจจะช่วยได้
บางคนอาจจะมีความรู้สึกว่ามีแรงกดดันในจิตใจที่จะทำให้เกิดอารมณ์ซึมเศร้าเกิดขึ้น หลายคนที่เป็น MS มีความเครียดเกิดขึ้น หรือมีความรู้สึกสูญเสียหรือถูกแยกจากคนที่รักก่อนที่จะมีการกลับเป็นซ้ำของโรคเสียอีก
เมื่อผ่านภาวะต่างๆมาแล้วในที่สุดผู้ป่วยจะเริ่มยอมรับว่าตนเองเป็นโรค MS ซึ่งการยอมรับนี้ไม่ได้หมายถึงการสิ้นหวังหรือยอมรับชะตากรรม ผู้ป่วยควรจะเริ่มพูดคุยเพื่อหาแนวทางในการที่จะอยู่กับ MS อย่างไรให้ชีวิตมีความสุข ซึ่งจะกล่าวในรายละเอียดเกี่ยวกับอาการที่พบบ่อยใน MS ได้แก่ อาการเหนื่อยล้า ความผิดปกติทางการมองเห็น อาการปวดเกร็ง ความผิดปกติของการขับถ่ายในบทต่อไป
โดยทั่วไปอาการของโรค MS อาจจะแตกต่างกันไปได้มากในผู้ป่วยแต่ละรายขึ้นอยู่กับตำแหน่งของระบบประสาทส่วนกลางที่ถูกทำลาย, ความรุนแรง นอกจากนี้ระยะเวลาที่มีอาการก็ยังแตกต่างกันในแต่ละคนด้วย ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะเริ่มต้นด้วยอาการกำเริบเฉียบพลันรุนแรงซึ่งเรียกว่า อาการกลับเป็นซ้ำ ตามด้วยระยะการฟื้นฟูสภาพซึ่งอาจจะไม่พบอาการทางคลินิกใด ๆ อาการที่เกิดขึ้นอาจจะดีขึ้นภายในระยะเวลาเป็นวัน หลายวัน หลายอาทิตย์ จนกลับสู่สภาพปกติ หรือเกือบปกติ ในขณะที่บางคนอาจไม่มีระยะเวลาที่โรคสงบเลย
อาการที่พบบ่อยในผู้ป่วย MS ได้แก่ อาการเหนื่อยล้าอ่อนแรง อาการแข็งเกร็ง อาการอ่อนแรง อาการเกร็งของแขนขา การรับความรู้สึกที่ผิดปกติเช่น อาการคัน เจ็บหรือชา ความผิดปกติของระบบขับถ่าย และปัญหาทางด้านเพศสัมพันธ์ อาการเหล่านี้บางอาการพบได้บ่อย บางอาการพบได้น้อย โดยทั่วๆ ไป การรักษาแบ่งเป็น
1. การรักษา โดยไม่ใช้ยา
แนวทางการรักษาอาจจะมีการปรับใช้ขึ้นกับอาการของผู้ป่วย การรักษาโดยไม่ใช้ยา เช่น กายภาพบำบัด, โภชนาการที่ดี, การพูดคุย, การทำจิตบำบัด
ไม่ว่าผู้ป่วย MS จะมีความรู้สึกอย่างไรต่อตนเอง และไม่ว่าความรุนแรงของอาการจะมากน้อยเพียงใด เป็นเรื่องที่ผู้ป่วยควรจะต้องพูดคุยกับแพทย์, พยาบาลและผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อประโยชน์ในการรักษา นอกจากนี้การดูแลสุขภาพและกินอาหารที่มีประโยชน์ จะช่วยให้อาการของโรคโดยทั่วๆ ไป บรรเทาลง
2. การรักษาโดยใช้ยา ขึ้นอยู่กับความรุนแรง และอาการที่มี แพทย์ผู้รักษาจะพูดคุยกับผู้ป่วย และให้การรักษาตามอาการ
ความคิดเห็น