ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    เทพนิยายกรีก

    ลำดับตอนที่ #19 : ^0^เทพีดิมิเทอร์ (Demeter)^0^

    • เนื้อหานิยายตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 490
      0
      1 ส.ค. 48





                                                      ^0^เทพีดิมิเทอร์ (Demeter)^0^





                         ...ซูสเทพปริณายก มีเทวีภคินี 3 องค์ ในจำนวนนี้ 2 องค์เป็นคู่พิศวาสของซูสด้วย องค์หนึ่งคือเจ้าแม่ฮีรา ที่เราได้รู้จักกันมาแล้ว   อีกองค์ทรงนามว่า ดีมิเตอร์ (Demeter) ตามชื่อกรีกหรือภาษาโรมันว่า ซีริส (Ceres) เป็นเทวีครองข้าวโพด  ซึ่งหมายถึงการเกษตรกรรมนั่นเอง





                         เจ้าแม่ดีมิเตอร์มีธิดาองค์หนึ่งทรงนามว่า พรอสเสอะพิน (Proserpine) หรือ เพอร์เซโฟนี (Persephone) เป็นเทวีครองฤดูผลิตผลของพืชทั้งปวง  เพื่ออธิบายธรรมชาติของการผลัดฤดู  กวีกรีกโบราณจึงผูกเรื่องให้เทวีองค์นี้ถูกฮาเดสลักพาตัวไปเป็นคู่ครองในยมโลก  ดังมีเรื่องพิสดารดังนี้





                         ฮาเดสปกครองยมโลกอยู่คนเดียวโดดเดี่ยวไร้คู่ปฏิพัทธ์มาเป็นเวลานาน  หามีเทวีองค์ใดไยดีที่จะร่วมเทวบัลลังก์กับเธอ  เทวีแต่ละองค์ที่เธอทอดเสน่หา  ต่างองค์ต่างก็ไม่สมัครรักใคร่เธอ  ด้วยไม่ปรารถนาจะลงไปอยู่ในใต้หล้าแดนบาดาล  อันดวงสุริยาไม่สามารถทอแสงลงไปถึง  ทำให้เธอมึนตึงหมางหทัยนัก  ในที่สุดจึงต้องตั้งปณิธานจะไม่ทอดเสน่หาใครอีกเป็นอันขาด  หากปฏิพัทธ์สวาทกับใครก็จะฉุดคร่าพาเอาลงไปบาดาลดื้อ ๆ





                         วันหนึ่งเพอร์เซโฟนีพร้อมเพื่อนเล่นทั้งมวลชวนกันลงเที่ยวสวนดอกไม้  เที่ยวเด็ดดอกไม้อันจรุงกลิ่นสอดสร้อยร้อยมาลัยอยู่เป็นที่สำราญ  บังเอิญฮาเดสขับรถทรงแล่นผ่านมาทางนั้น   ได้ยินสรวลสรรหรรษาร่าเริงระครเสียงขับร้องของเหล่านางอัปสรสาวสวรรค์ลอยมา  เธอจึงหยุดรถทรงลงไปเยี่ยมมองทางช่องสุมทุมพุ่มไม้   ครั้นพบเทวีรุ่นสะคราญทรงโฉมวิลาสลิไลนักให้นึกรัก  จะเอาไปไว้ในยมโลก  เธอจึงก้าวกระชากชิงอุ้มเพอร์เซโฟนีเทวีขึ้นรถไปในทันที





                         ฮาเดสขับรถเร่งไปจนถึงแม่น้ำไซเอนี (Cyane) ซึ่งขวางหน้าอยู่เห็นน้ำในแม่น้ำเกิดป่วนพล่านแผ่ขยายท่วมท้นตลิ่งสกัดกั้นเธอเอาไว้   จึงชักรถไปทางอื่น   ใช้มือถือคู่หัตถ์มีง่าม 2 แฉกกระแทกกระทุ้งแผ่นดินให้แยกออกเป็นช่องแล้วขับรถลงไปยังบาดาล  ในขณะเดียวกันนั้น เพอร์เซโฟนีแก้สายรัดองค์ขว้างลงในแม่น้ำไซเอนี พลางร้องบอกนางอัปสรประจำแม่น้ำให้เอาไปถวายเจ้าแม่ดีมิเตอร์ผู้มารดาด้วย





                         ฝ่ายดีมิเตอร์แม่โพสพกลับมาจากทุ่งข้าวโพด  ไม่เห็นธิดา  เที่ยวเพรียกหาก็ไม่พานพบวี่แววอันใด เว้นแต่ดอกไม้ตกเรี่ยราดกลาดเกลื่อนอยู่  เจ้าแม่เที่ยวหากระเซอะกระเซิงไปตามที่ต่าง ๆ พลางกู่เรียกไปจนเวลาเย็นให้อาดูร  โทมนัสนัก  ล่วงเข้าราตรีกาลเจ้าแม่ก็ไม่หยุดพักการเสาะหาธิดา จนถึงรุ่งอรุณของวันใหม่   แม้กระนั้นเจ้าแม่ก็ไม่ลดละความพยายาม  คงดั้นด้นเรียกหาธิดาไปตามทางอีก  มิได้ห่วงถึงภาระหน้าที่ประจำที่เคยปฏิบัติแต่อย่างใด  ดอกไม้ทั้งปวงจึงเหี่ยวเฉาเพราะขาดฝนชะโลมเลี้ยง  ติณชาติตายเกลี้ยงไม่เหลือเลย  พืชพันธุ์ธัญญาหารถูกแดดแผดเผาซบเซาหมด  ในที่สุดเจ้าแม่ก็สิ้นหวังระทดระทวยหย่อนองค์ลงนั่งพักที่ริมทางใกล้นครอีลูสิสความระทมประดังขึ้นมาสุดที่จะหักห้าม เจ้าแม่ก็ซบพักตร์กันแสงไห้ตามลำพัง





                         ในระหว่างที่ยังไม่พบธิดานี้ มีเรื่องแทรกเกี่ยวกับเจ้าแม่ดีมิเตอร์เกิดขึ้นเรื่องหนึ่ง สมควรจะเล่าไว้เสียด้วย





                         เพื่อมิให้ผู้หนึ่งผู้ใดรู้จัก  เจ้าแม่ดีมิเตอร์ได้จำแลงองค์เป็นยายแก่  ในขณะที่เจ้าแม่นั่งพัก  พวกธิดาของเจ้านครอีลูสิสรู้ว่ายายแก่มานั่งคร่ำครวญคิดถึงลูก  บังเกิดความสังเวชสงสาร  และเพื่อที่จะให้ยายหายโศกเสร้า  นางเหล่านั้นจึงชวนยายแก่เข้าไปในวังให้ดูแลกุมารทริปโทลีมัส (Triptolemus) ผู้น้อง ซึ่งยังเป็นทารกแบเบาะอยู่





                         เจ้าแม่ดีมิเตอร์ยอมรับภาระนี้ พอลูบคลำโอบอุ้มทารก ทารกก็เปล่งปลั่งมีนวลขึ้นเป็นที่อัศจรรย์แก่เจ้านครและบริษัทบริวารยิ่งนัก ตกกลางคืนขณะที่เจ้าแม่อยู่ตามลำพังกับทารก  เจ้าแม่คิดใคร่จะให้ทารกได้ทิพยภาพเป็นอมรรตัยบุคคล จึงเอาน้ำต้อยเกสรดอกไม้ชะโลมทารกพลางท่องบทสังวัธยายมนต์  แล้ววางทารกลงบนถ่านไฟอันเร่าร้อน  เพื่อให้ไฟลามเลียเผาผลาญธาตุมฤตยูที่ยังเหลืออยู่ในกายทารกให้หมดสิ้น





                          ฝ่ายนางพญาของเจ้านคร  ยังไม่วางใจยายแก่นัก  ค่อยย่องเข้าไปในห้องเพื่อคอยดู  ประจวบกับตอนเจ้าแม่ดีมิเตอร์กำลังทำพิธีชุบทารกอยู่พอดี  นางตกใจนักหวีดร้องเสียงหลง พลางถลันเข้าฉวยบุตรออกจากไฟ  ครั้นเห็นบุตรสุดสวาทไม่เป็นอันตรายแล้ว จึงหันกลับมาจะไล่เบี้ยเอากับยายแก่เสียให้สาสมกับความโกรธแค้น  แต่แทนที่จะเห็นยายแก่กลับเห็นรูปเทวีประกอบด้วยรัศมีเรืองรองอยู่ตรงหน้า เจ้าแม่ตรัสพ้อนางพญาโดยสุภาพ  ในการที่เข้าไปขัดขวางการพิธีเสีย ทำให้มนต์เสื่อมและชุบทารกอีกไม่ได้ แล้วเจ้าแม่ดีมิเตอร์ก็ออกจากเมืองอีลูสิสเที่ยวหาธิดาต่อไป





                          วันหนึ่งเจ้าแม่ดีมิเตอร์พเนจรเลียบฝั่งแม่น้ำอยู่  พลันได้ประสบวัตถุแวววาวสิ่งหนึ่งอยู่แทบบาท  เจ้าแม่จำได้ทันทีว่าเป็นสายรัดองค์ของธิดา  คือสายรัดองค์ที่เพอร์เซโฟนีทิ้งฝากนางอัปสรแห่งแม่น้ำไซเอนีไว้  เมื่อตอนรถทรงของฮาเดสจะลงสู่บาดาล  เจ้าแม่ได้ของสิ่งนี้ยินดียิ่งนัก  แสดงว่าธิดาอยู่ใกล้ที่นั้น จึงรีบดำเนินไปจนถึงน้ำพุแก้วแห่งหนึ่ง  รู้สึกเมื่อยล้า  จึงลงพักทอดองค์ตามสบาย  พอรู้สึกเคลิ้มจะหลับ  เสียงน้ำพุก็ฟ่องเฟื่องยิ่งขึ้นเหมือนเสียงพูดพึมพำ  ในที่สุดเจ้าแม่ก็จับความได้ว่าเป็นความประวัติของตนให้เจ้าแม่สดับฟัง และต้องการจะแจ้งข่าวของธิดาเจ้าแม่ว่าเป็นประการใด  น้ำพุเล่าประวัติของตนเองว่า  เดิมตนเป็นนางอัปสรขื่อว่าแอรีธูสะ (Arethusa) บริวารของเทวีอาร์เตมิส (Artemis) วันหนึ่งลงอาบน้ำในแม่น้ำแอลฟีอัส (Alpheus)   เทพประจำน่านน้ำนั้นหลงรัก  แต่นางไม่ไยดีด้วยจึงหนีไป  ส่วนเทพนั้นก็ ติดตามไม่ลดละ  นางหนีเตลิดข้ามเขาไปตลอดแว่นแคว้น  ซ้ำผ่านแดนบาดาลไปตลอดอาณาเขตของฮาเดส  ได้เห็นเพอร์เซโฟนีประทับบัลลังก์อาสน์อยู่ในที่ราชินีแห่งยมโลก  ครั้นกลับขึ้นมาอ่อนแรงเห็นไม่พ้นเทพแอลฟีอัส  นางเสี่ยงบุญอธิษฐานยึดเอาเจ้าแม่ของนางเป็นที่พึ่ง เทวีเดียนาจึงโปรดบันดาลให้นางกลายเป็นน้ำพุอยู่ ณ ที่นั่น





                          เมื่อได้รู้ถึงที่อยู่ของธิดาดังนี้แล้ว  เจ้าแม่ดีมิเตอร์จึงรีบไปอ้อนวอนเทพปริณายกให้ช่วย  ซูสอนุโลมตามคำวอนขอ โดยมีเงื่อนไขว่า  ถ้าเพอร์เซโฟนีไม่ได้เสพเสวยสิ่งใดในระหว่างที่อยู่บาดาล  จะให้ฮาเดสส่งเพอร์เซโฟนีขึ้นมาอยู่กับมารดา  แล้วมีเทวบัญชาให้เฮอร์มีสลงไปสื่อสารแก่ฮาเดสในยมโลก  เจ้าแดนบาดาลจำต้องยอมโอนอ่อนจะส่งเพอร์เซโฟนีคืนสู่เจ้าแม่ดีมิเตอร์  แต่ในขณะนั้นภูตครองความมืดเรียกว่าแอสกัลละฟัส (Ascalaphus) ร้องประกาศขึ้นว่า ราชินีแห่งยมโลกได้เสวยเมล็ดทับทิมแล้ว 6 เมล็ด  ในที่สุดจึงตกลงกันเป็นยุติว่า ในปีหนึ่ง ๆ ให้เพอร์เซโฟนีเทวีอยู่กับฮาเดสในยมโลก 6 เดือน  สำหรับเมล็ดทับทิมที่เสวยเมล็ดละเดือน  แล้วให้กลับขึ้นมาอยู่กับมารดาบนพิภพอีก 6 เดือน สลับกันอยู่ทุกปีไป   ด้วยเหตุนี้เมื่อเพอร์เซโฟนีเทวีอยู่กับมารดา โลกจึงอยู่ในระยะกาลของวสันตฤดู  พืชพันธุ์ธัญญาหารนานาชนิดผลิดอก ออกผล และเมื่อเพอร์เซโฟนีเทวีลงไปอยู่ในบาดาล โลกก็ตกอยู่ในระยะกาลของเหมันตฤดู  พืชผลทั้งปวงร่วงหล่นซบเซา อันเป็นความเชื่อของชาวกรีกและโรมันโบราณ  ตามเรื่องที่เล่ามาฉะนี้





                          ยังมีเรื่องที่ต้องเล่าต่ออีกเล็กน้อย  คือเมื่อเจ้าแม่ดีมิเตอร์พบธิดาแล้วก็กลับไปยังเมืองอีลูสิสอีก  เพราะว่าเจ้าครองนครกับนางพญาปลูกวิหารถวายเจ้าแม่ไว้ที่นั่น  เพื่อให้มนุษย์รู้จักการทำไร่ ไถนา เจ้าแม่ได้สั่งสอนทริปโทลีมัส ซึ่งเติบโตเจริญวัยเป็นผู้ใหญ่แล้ว ให้รู้จักใช้ไถ จอบ และเคียว สั่งสอนชาวนาสืบ ๆ กันมาจนตราบเท่าบัดนี้





                          ขอบคุณสำหรับการติดตามค่ะ

















    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×