ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    เกร็ดเล็กๆน้อยๆเกี่ยวกับ ปืน

    ลำดับตอนที่ #9 : การปฎิบัติเกี่ยวกับการตรวจค้นบุคคลพกปืนในที่สาธารณะ

    • อัปเดตล่าสุด 5 เม.ย. 50


    ผมมีเอกสารชิ้นหนึ่งเกี่ยวกับ การปฏิบัติเกี่ยวกับการตรวจค้นบุคคลพกพาอาวุธปืนไปในที่สาธารณสถานของเจ้าหน้าที่ตำรวจ อ่านแล้วน่าสนใจมากทีเดียวจึงอยากจะเผยแพร่แก่เพื่อนๆทุกคน จึงคัดลอกมาดังนี้

    กองวิจัยและวางแผน ส่วนราชการกรมตำรวจ ที่ 0503 (ส)/27663

    วันที่ 30 กันยายน 2525

    เรื่อง การปฏิบัติเกี่ยวกับการตรวจค้นบุคคลพกพาอาวุธปืนไปในที่สาธารณสถาน

    ผบช., ผบก., หรือผู้ดำรงตำแหน่งเทียบเท่าทุกหน่วยงาน

    ตามบันทึก ตร.ที่ 0501/30476 ลงวันที่ 11 ธันวาคม 2517 กำหนดแนวทางในการปฏิบัติของข้าราชการตำรวจ ให้ใช้ดุลพินิจในการตรวจค้น จับกุม ผู้พกพาอาวุธปืนไปในที่สาธารณสถานให้เป็นการถูกต้องตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 ได้บัญญัติไว้ ต่อมาได้มีคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 44 ลงวันที่ 21 ตุลาคม 2519 แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 8 ทวิ แห่งพ.ร.บ. อาวุธปืนฯ พ.ศ. 2490 ขึ้นอีก ในทางปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ตำรวจในปัจจุบันยังคงมีปัญหา เมื่อเจ้าหน้าที่ตรวจค้นพบบุคคลพกพาอาวุธปืนไปในที่สาธารณะ โดยมีเพียงใบอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืน แต่ยังไม่ได้รับใบอนุญาตให้พกพาอาวุธปืนติดตัวก็มักจะควบคุมตัวมาดำเนินคดีทุกรายไป ทำให้เป็นที่เดือดร้อนแก่ผู้บริสุทธิที่ถูกตรวจค้นและจับกุม เพื่อให้การปฏิบัติของเจ้าพนักงานตำรวจเป็นไปด้วยความเรียบร้อยและถูกต้อง จึงขอซักซ้อมความเข้าใจในการปฏิบัติเพิ่มเติมดังนี้ ตามบทบัญญัติ มาตรา 8 ทวิ แห่ง พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ พ.ศ. 2490 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 44 ลงวันที่ 21 ตุลาคม 2519 ข้อ 3 กำหนดว่า ห้ามมิให้ผู้ใดพกพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะ โดยไม่ได้รับใบอนุญาตให้มีอาวุธปืนติดตัว เว้นแต่กรณีต้องมีติดตัวเมื่อมีเหตุจำเป็นและเร่งด่วนตามสมควรแก่พฤติการณ์ ไม่ว่ากรณีใด

    ห้ามมิให้พกพาอาวุธปืนไปโดยเปิดเผยหรือพาไปในที่ชุมนุมชนที่ได้จัดให้มีขึ้นเพื่อนมัสการ การรื่นเริง การมหรสพ หรือการอื่นใด

    ดังนั้นจะเห็นว่ากฏหมายยังคงเปิดโอกาสให้ประชาชนผู้บริสุทธิ์นำอาวุธปืนที่ตนมีไว้โดยชอบด้วยกฎหมาย แต่ยังไม่ได้รับอนุญาตให้พกพาติดตัวไปเพื่อป้องกันตัวและทรัพย์สินได้ภายในขอบเขตที่กฎหมายให้กระทำได้ตามแนวคำชี้ขาดไม่ฟ้องของอธิบดีกรมอัยการเกี่ยวกับการพกพาอาวุธปืนไปในเมืองหมู่บ้าน หรือทางสาธารณะ โดยที่ยังไม่ได้รับอนุญาตให้พกพาจากเจ้าพนักงาน ซึ่งถือว่าโดยสถาพเป็นกรณีที่ต้องมีติดตัวเมื่อมีเหตุจำเป็นเร่งด่วนตามสมควรแก่พฤติการณ์ มีแนวทางพอสรุปได้ดังนี้คือ

    1.ถ้าได้นำอาวุธปืนใส่กระเป๋าเก็บไว้ในช่องเก็บของท้ายรถ ซึ่งไม่สามารถหยิบใช้ได้ทันทีทันใด

    2.เอาอาวุธปืนใส่กระเป๋าใส่กุญแจแล้ววางไว้ในรถซึ่งไม่สามารถหยิบใช้ได้ทันทีทันใด

    3.ไปเก็บเงินจากลูกค้าต่างจังหวัด จำนวนเป็นหมื่นๆ นำติดตัวมาแล้วมีอาวุธปืนได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนแล้วใส่ในช่องเก็บของหน้ารถยนต์เพื่อป้องกันตัวและทรัพย์สิน

    4.ไปเก็บเงินจากลูกค้าต่างจังหวัด นำอาวุธปืนติดตัวมาด้วย โดยแยกอาวุธปืนและเครื่องกระสุนออกจากกัน ใส่กระเป๋าเอกสารไว้ที่พนักเบาะหลังรถยนต์

    5.ห่ออาวุธปืน และแหนบบรรจุลูกกระสุน (แม็กกาซีน) แยกออกคนละห่อเก็บไว้ในกระโปรงรถยนต์ซึ่งใส่กุญแจ

    จึงแจ้งมาเพื่อทราบและแจ้งให้ข้าราชการตำรวจที่เกี่ยวข้องทราบเพื่อใช้เป็นดุลยพินิจประกอบการพิจารณาในการปฏิบัติหน้าที่ในเรื่องนี้ต่อไป

    ลงชื่อ พล.ต.ท.ณรงค์ มหานนท์ (ณรงค์ มหานนท์)
    รองอ.ตร.ปป.ปร.ท.อ.ตร.

    จะเห็นว่าการพกพาอาวุธปืนไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปไม่ได้หรือมีช่องให้เล็กน้อยมากหรอกครับ สิ่งที่ทำได้ก็อย่างที่ระบุอยู่ในเอกสารข้างต้น เพราะฉะนั้นถ้าเรามีเหตุจำเป็นก็พกได้ครับตามถนนตรอกซอกซอยก็ได้แต่ต้องไม่ใช่ในที่งานรื่นเริง นมัสการหรือเทศกาลที่คนมารวมกันเยอะๆ แต่ถ้าจะพกไว้โก้ๆ นี่ไม่ควรอย่างยิ่งเลยครับ ลั่นตูมขึ้นมาขอโทษใครไม่ได้ครับ ประมาทอย่างเดียว เพราะทุกคน ก็ทราบดีว่าปืนลั่นไม่ได้ถ้าไม่มีคนทำให้ลั่นใช่ไหมครับ จะว่าไปเอกสารนี้ก็มีอายุอานามพอสมควรแล้วอาจมีการปรับปรุงแล้วก็ไม่ทราบได้ คงต้องติดตามที่สำนักงานตำรวจแห่งชาตินะครับ แต่ว่าผมเพิ่งได้สำเนาเอกสารฉบับนี้มาไม่นานในฐานะเอกสารประกอบการเรียนชิ้นหนึ่งจึงคิดว่าน่าจะยังคงบังคับใช้อยู่ครับ

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×