ฤๅษีอุศนัส - ความรักทำให้คนตาบอด
อีกเรื่องหนึ่งที่ผมพบเห็นบ่อยๆ คือเรื่องของการฆ่าตัวตายเมื่ออกหัก เพราะทุ่มเทให้กับความรักมากเกินไป แล้วไม่ได้พบกับความรักที่สมหวัง อีกทั้งไม่สามารถปล่อยวางจากความรักได้ดังเช่นที่พระพุธปล่อยวางจากนางอิลาในบทก่อน
เรื่องราวของคนที่ทุ่มเทให้ความรักจนต้องมาเจ็บช้ำเองแบบนี้ก็ไม่ใช่เรื่องที่แปลกมากเท่าไร และเป็นเรื่องที่เกิดมาทุกยุคทุกสมัย ดังนั้นเราจึงควรรักใครแต่พอดี ไม่เช่นนั้นอาจจะต้องเจ็บกับมันมาก เหมือนกับพระฤๅษีนาม “อุศนัส” หรือที่รู้จักกันในฐานะเทพประจำดาวเคราะห์ว่า “พระศุกร์” ที่เราจะกล่าวถึงกันในบทนี้
พระฤๅษีอุศนัส หรือพระศุกร์ อาจารย์ของเหล่าอสูร
นอกจากเทพประจำดาวเคราะห์แล้ว ฤๅษีอุศนัสหรือพระศุกร์นั้นยังถูกนับถือว่าเป็นอาจารย์แห่งเหล่าอสูรทั้งหลาย ดังที่ได้เล่าไว้ในเรื่องพระโสมทำสงครามชิงคนรักกับพระพฤหัสบดีที่มีพระอินทร์เป็นแบคอัพ แล้วท่านฤๅษีนำลูกศิษย์ที่เป็นชาวอสูรทั้งหลายไปเข้าร่วมสงครามโดยอยู่ฝ่ายเดียวกับพระโสม และสกิลชุบชีวิตหมู่ของท่านฤๅษีก็ทำให้เหล่าอสูรฟื้นคืนชีพมาสู้กับเทวดาที่เป็นอมตะได้เรื่อยๆ ไม่รู้จักจบสิ้น
นอกจากจะช่วยพระโสมในการรบกับเทวดาแล้ว ฤๅษีอุศนัสเองก็ยังมีบทบาทในการช่วยเหลือเหล่าอสูรผู้เป็นศิษย์ทั้งหลายอีกบ่อยครั้ง ลูกศิษย์ที่รู้จักกันดีก็คงเป็นท้าวมหาพลี พญายักษ์ผู้ขับไล่พระอินทร์ออกจากสวรรค์ได้สำเร็จ ซึ่งทำให้พระวิษณุต้องอวตารเป็นพราหมณ์วามนมาช่วยเหลือ และศิษย์ที่โด่งดังอีกคนคือพญาราวัณในรามายณะ ซึ่งคนไทยรู้จักในชื่อว่าทศกัณฐ์ ผู้ทำความเดือดร้อนให้แก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย จนพระวิษณุต้องอวตารมาปราบอีกเช่นเคย
นอกจากจะถูกนับถือเป็นอาจารย์ของอสูรแล้ว พระศุกร์ยังถูกนับถือในฐานะเทพแห่งการแต่งกวี เทพแห่งความร่ำรวย และเทพแห่งการอุปถัมภ์ค้ำจุนความรักอีกด้วย ซึ่งฟังดูแล้วอาจจะไม่แปลกเท่าไรที่อาจารย์ของอสูรเป็นเทพแห่งความร่ำรวย แต่คงแปลกอยู่บ้าง ที่อาจารย์ของเหล่าอสูรมาเป็นเทพแก่งกวี และผู้อุปถัมภ์ความรักเสียอย่างนั้น
อันดับแรกต้องทำความเข้าใจก่อนว่าท่านอาจารย์ของปวงอสูรเป็นฤๅษีที่ต่างจากนักบวชอื่นๆ คือแทนที่จะมุ่งเน้นการบำเพ็ญตบะเพื่อความหลุดพ้น กลับเน้นไปที่ความรื่นเริงบันเทิงใจทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นการร้องรำทำเพลง หรือการบริโภคอาหารดีๆ งานเลี้ยงรื่นเริงสังสรรค์ คล้ายกับวิธีการดับทุกข์ที่ในทางพุทธศาสนาเรียกว่า “กามสุขัลลิกานุโยค” คือการหาวิธีพ้นทุกข์ด้วยการบำเรอความต้องการต้องตนเอง ตรงกันข้ามกับ “อัตตกิลมถานุโยค” คือการทรมานตนเอง
ไม่ว่าจะเป็นทางใด ในพุทธศาสนาก็จัดว่าก็ไม่ใช่วิธีการทำให้พ้นทุกข์ได้อย่างแท้จริง ไม่ทำให้หลุดพ้นจากการสังสารวัฏไปได้ แต่เหมือนท่านฤๅษีจะไม่ได้สนใจกับการหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดสักเท่าไรนัก คงเพราะพอใจกับความบันเทิงในสิ่งต่างๆ อันเป็นทิพย์และคิดว่าดีอยู่แล้ว กับมีวิชาชุบชีวิตที่คงสั่งสอนให้ศิษย์ตนเองมาใช้ยามตนเองสิ้นบุญ เท่ากับว่าสามารถรื่นเริงในทิพยสมบัติได้เรื่อยๆ
แต่อย่างที่ผมเคยได้กล่าวไว้ในเรื่องชีวิตของพระสุริยเทพ ว่าการเป็นเทวดานั้นก็ยังไม่ใช่การหลุดพ้นจากความทุกข์ ยังคงต้องพบเจอกับความทุกข์และปัญหาต่างๆ เช่นเดียวกับมนุษย์ พระฤๅษีอุศนัสหรือพระศุกร์เองก็หนีไม่พ้น แม้ว่าจะใช้ชีวิตรื่นเริงอย่างมีความสุข แต่ก็มีความทุกข์อย่างหนึ่งเกิดขึ้นกับฤๅษีอุศนัสอยู่เสมอ ตั้งแต่ยังไม่มาเป็นพระศุกร์ จนกระทั่งเป็นพระศุกร์แล้วก็ยังต้องเจอปัญหาเรื่องนี้อยู่ประจำ... เรื่องของความรัก
ย้อนความถึงเรื่องราวก่อนจะมาดำรงตำแหน่งพระศุกร์ ฤๅษีอุศนัสเป็นบุตรของพระฤๅษีภฤคุ ผู้เป็นพี่น้องกับพระฤๅษีกัศยปเทพบิดร กับนางปุโลมา มีพี่น้องร่วมท้องอีกหกคน แต่ฤๅษีอุศนัสเป็นผู้ที่แข็งแรง ฉลาดเฉลียวที่สุด เป็นคนที่พ่อแม่ตั้งความหวังไว้มาก และรักมากกว่าพี่น้อง
วันหนึ่งฤๅษีภฤคุผู้เป็นบิดาบำเพ็ญเพียรโดยการนั่งสมาธิชั้นสูงซึ่งกินเวลายาวนาน อุศนัสผู้เป็นลูกก็ได้รับมอบหมายให้ดูแลพ่อระหว่างที่นั่งสมาธิ แต่ไม่รู้ว่าความบังเอิญหรือพระเป็นเจ้าจงใจ อุศนัสไม่อาจดูแลพ่อจนเสร็จจากการนั่งสมาธิได้ เพราะระหว่างที่ออกมานั่งที่นอกชานของอาศรม เขาได้พบกับเสียงเพลงอันไพเราะที่ไม่เคยได้ยิน และบางสิ่งบางอย่างที่สวยงามเกินกว่าที่เขาเคยเห็นมาก่อน... เขาได้พบกับสตรีผู้หนึ่งที่งดงามราวกับนางฟ้า... แต่จะว่าไปแล้วก็เป็นนางฟ้าจริงๆ นั่นแหละ คือนางวิศวาจี ลูกสาวพระวิศวกรรม ซึ่งกำลังเหาะผ่านมาชมธรรมชาติบนโลกมนุษย์ไปพลาง ฮัมเพลงไปพลาง
อุศนัสปิ๊งนางทันทีตั้งแต่แรกพบ และอยากจะทำความรู้จักให้มากขึ้น จึงถอดจิตตามไปยังดินแดนของพระอินทร์เพื่อจีบนางอย่างไม่รอช้า และหลังจากใช้เวลาตามจีบอยู่แสนนาน ทั้งสองก็ได้เสียเป็นเมียผัวกันเรียบร้อย และครองรักกันอย่างมีความสุขที่สวรรค์บนเขาพระเมรุนั่นเอง... ความสุขนั้นมากเสียจนอุศนัสลืมไปเคยว่าเคยได้รับมอบหมายให้ดูแลพ่อ!
มีกล่าวกันว่าการอยู่บนสวรรค์นั้นต้องอาศัยผลของบุญกุศลที่ตัวเองเคยทำมา หากบุญหมดก็จะต้องจุติจากสวรรค์ไปเกิดใหม่ที่อื่นตามเวรกรรม เว้นแต่จะดื่มน้ำอมฤตที่ทำให้อายุขัยไม่มีจำกัด หลังจากรื่นเริงกับวิศวาจีเป็นเวลานานนับพันปี อุศนัสก็หมดบุญและถึงคราวต้องจุติลงไปเกิดบนโลกมนุษย์ และเมื่อถึงเวลานั้นวิศวาจีก็ทิ้งเขาไปอย่างไม่ใยดีเลยแม้แต่น้อย...
อุศนัสเกิดบนโลกมนุษย์และเวียนว่ายตายเกิดนับร้อยชาติ ซึ่งขณะนั้นเป็นจังหวะที่ท่านฤๅษีภฤคุผู้เป็นบิดาออกมาจากสมาธิพอดี และเมื่อเรียกหาลูกชายก็ไม่พบ ออกไปนอกอาศรมก็พบแต่ร่างไร้วิญญาณของลูกชายที่กำลังนั่งสมาธิอยู่ ก็เข้าใจว่าลูกชายตายแล้ว แต่ท่านฤๅษีไม่เข้าใจว่าทำไมถึงตายได้ เพราะอายุขัยของลูกที่เป็นเชื้อสายเทพ ไม่น่าจะหมดตอนที่พ่อนั่งสมาธิอยู่ได้
เนื่องจากท่านฤๅษีเส้นใหญ่พอ จึงไปยมโลกเพื่อเคลียร์เรื่องนี้กับพระยมโดยเฉพาะ แต่พระยมก็ยืนกรานว่าตนไม่ได้รับวิญญาณของอุศนัสออกจากร่าง และไม่มียมทูตตนไหนพาอุศนัสไปยมโลกเลยแม้แต่น้อย อุศนัสถอดจิตออกไปจีบนางฟ้าแล้วหมดบุญระหว่างนั้นเอง ตอนนี้ไปเกิดอยู่บนโลกมนุษย์ เจอความทุกข์ต่างๆ นานาเพราะกรรมที่ทิ้งพ่อไปจีบสาว แต่อีกไม่นานจะหมดกรรมแล้วกลับเข้าร่างเดิมเอง
เล่ามาถึงตรงนี้ บางคนอาจจะสงสัยว่าฤๅษีภฤคุนั้นเส้นใหญ่ขนาดไหน ถึงกล้าไปเคลียร์กับพระยมแบบนั้น ขออธิบายโดยสังเขปนะครับ ว่าท่านฤๅษีผู้นี้เป็นลูกพระพรหม และเป็นพี่น้องกับพระกัศยปเทพบิดรซึ่งมีศักดิ์เป็นตาของพระยม นอกจากนี้ยังมีวีรเกรียน เอ๊ย วีรกรรม บุกรุกดินแดนของมหาเทพทั้งสามเพื่อจะถามว่าใครยิ่งใหญ่ที่สุด ถึงขนาดลบหลู่พระศิวะที่ไม่ว่างตอบคำถามเพราะกำลังจู๋จี๋กับพระนางอุมา กับกระโดดเตะพระวิษณุที่กำลังนอนหลับให้ลุกมาตอบคำถามตัวเองมาแล้ว ถึงแม้จะจบลงที่ฤๅษีเจ็บเท้าเอง และพระวิษณุลุกขึ้นมารักษาให้อย่างอ่อนโยน พร้อมตอบคำถามว่าสามมหาเทพนั้นแท้จริงคือหนึ่งเดียวกันก็ตาม
ฤๅษีภฤคุได้ทราบว่าเดี๋ยวไม่นานวิญญาณลูกจะใช้กรรมหมดและกลับร่างก็ดีใจ จัดงานสมโภชทำขวัญการกลับมาของลูก เชิญทวยเทพทั้งหลายมาในพิธีเป็นสิริมงคล และในงานสมโภชนี้ พระศิวะที่ฤๅษีภฤคุเคยลบหลู่ดูถูกก็มาปรากฏตัวเมื่อวิญญาณของอุศนัสเข้าร่าง พร้อมกับมอบมนตร์วิเศษที่มีแต่สามมหาเทพที่รู้ให้ ก็คือสกิลชุบชีวิตหมู่ที่ได้กล่าวไปแล้วนั่นเอง และยังแถมตำแหน่งอาจารย์แห่งบรรดาอสูร ซึ่งมีศักดิ์เทียบเท่าพระพฤหัสบดีผู้อาวุโส กับทรัพย์สมบัติอีกมากมายให้อีกต่างหาก
นั่นทำให้เหล่าเทพทั้งหลายได้เห็นว่าพระศิวะนั้นใจกว้างมาก แม้แต่คนที่เคยลบหลู่ตัวเองก็ไม่ได้โกรธเคืองแต่อย่างใด จากนั้นเป็นต้นมา อุศนัสก็ได้ดำรงตำแหน่งอาจารย์ของเหล่าอสูรทั้งหลาย และมีชายาใหม่ที่ไม่ทอดทิ้งไปไหนอีก คือนางศุศุมา และมีลูกสาวชื่อเทวยานี ซึ่งจะไปแต่งงานกับลูกหลานพระพุธกับนางอิลาต่อไป
แต่ก็ใช่ว่าฤๅษีอุศนัสจะไม่ต้องทนทุกข์เพราะความรักอีก เขายังเจอความเจ็บปวดจากความรักอยู่เช่นกัน แต่ไม่ใช่รักแบบชู้สาว คราวนี้เป็นความรักที่มีต่อศิษย์อสูรของเขา ก็อย่างที่ทราบกับว่าฤๅษีอุศนัสเป็นผู้หนุนหลังเหล่าอสูรในสงครามกับเทวดาทุกครั้ง ดังเช่นสงครามชิงเมียของพระพฤหัสบดีกับพระโสม
ความรักที่มีต่อลูกศิษย์มากเกินประมาณ ทำให้อุศนัสต้องเจ็บปวดกายใจอยู่ประจำ ครั้งที่เด่นที่สุดคงเป็นเรื่องที่ปกป้องท้าวมหาพลี…. ซึ่งเป็นอสูรที่มีฤทธิ์เหนือกว่าพระอินทร์ และมหาพลีมีบุตรชายคือพาณาสูรซึ่งเป็นที่โปรดปรานของพระศิวะ พระกรรตติเกยะ และพระคเณศ
มหาพลีและพาณาสูรปราบพระอินทร์จนต้องหนีออกจากสวรรค์ ร้อนถึงพระวิษณุต้องลงมาปราบ แต่ก็ไม่ใช่การปราบด้วยกำลัง แต่เป็นการอวตารมาเป็นพราหมณ์เตี้ยนาม “วามน“ มาขอที่ดินสามก้าวจากมหาพลี ผู้เป็นอสูรใจกว้าง ชอบทำบุญสุนทาน
เมื่อวามนเอ่ยปากขอที่ดินนั้น อุศนัสได้อยู่กับมหาพลีด้วย และได้รู้ด้วยญาณวิเศษว่าวามนคืออวตารของพระวิษณุ มาเพื่อจะทำอะไรที่ทำให้ลูกศิษย์ตนเสียประโยชน์แน่ๆ จึงเอ่ยปากห้ามมหาพลี แต่อสูรใจบุญไม่ฟังคำอาจารย์ ยืนยันจะทำบุญให้ทานให้ได้ และจะทำพิธีหลั่งน้ำทักษิโณทก รินน้ำจากคนโทเพื่อประกาศมอบที่ดินสามก้าวให้วามน
พระศุกร์จึงขัดขวางสุดกำลังด้วยการแปลงกายเข้าไปในคนโทไม่ให้น้ำไหลออกมา มหาพลีเห็นน้ำไม่ไหลออกจากคนโทก็ประหลาดใจ วามนจึงเอาหญ้าคามีคมแทงเข้าไปในคนโท โดนตาของอุศนัสจนบอดไปข้างหนึ่ง และน้ำก็ไหลออกมาจากคนโท และเมื่อมหาพลีตัดสินใจยกที่ดินให้ วามนก็กลายเป็นพระวิษณุและเดินสองก้าวเกือบทั่วจักรวาล จนมหาพลีลดอัตตาที่คิดว่าตนไร้เทียมทาน ยกสวรรค์คืนให้พระอินทร์ แล้วตนเองไปอยู่ทีเมืองบาดาล
นอกจากจะเจ็บตาเพราะปกป้องมหาพลี ครั้งหนึ่งลูกศิษย์อสูรที่ไปบุกเขาพระสุเมรุเสียท่า ถูกเทวดาตีทัพแตกพ่ายไปและไม่รู้จะหลบหนีไปทางไหน ก็ได้รับคำแนะนำให้ไปหลบที่อาศรมของนางปุโลมา ผู้เป็นแม่ของฤๅษีอุศนัส แล้วจะรอดพ้นการตามล่าของเหล่าเทพได้ในระหว่างที่พระศุกร์จะเจรจายุติสงครามกับเหล่าเทวดา
แต่เหล่าเทวดาไม่ได้ปล่อยให้อสูรได้หลบภัยแต่โดยดี เหล่าเทพที่นำทัพโดยพระอินทร์กลับตามตีมาถึงอาศรม นางปุโลมาได้ขัดขวางไม่ให้พระอินทร์ทำอันตรายลูกศิษย์ของลูกโดยการร่ายมนตร์ใส่ทัพเทวดาให้ง่วงจนไม่สามารถต่อสู้ได้ พระอินทร์จึงหลบไปขอร้องพระวิษณุให้สังหารนางปุโลมาเพื่อเทวดาจะได้หลุดจากมนตร์สะกด พระวิษณุก็จากเกษียรสมุทรมายังที่เกิดเหตุ แล้วใช้จักรตัดหัวนางปุโลมาจนขาดกระเด็น เหล่าเทพจึงหลุดจากมนตร์สะกดนั้นได้
เมื่อแม่ของพระศุกร์ต้องตายด้วยมือพระวิษณุเพราะไปช่วยเหลือลูกศิษย์ตัวเองแบบนั้น พระศุกร์ก็โกรธจนปรอทแตก เมื่อชุบชีวิตแม่เรียบร้อยแล้ว จึงใช้พลังที่มีสาปพระวิษณุซึ่งทำผิดกฎในคัมภีร์พระเวท ซึ่งห้ามฆ่าผู้หญิงวรรณะพราหมณ์ จึงสาปให้การอวตารครั้งต่อๆ ไปของพระวิษณุจะต้องพลัดพรากจากคนที่รักเสมอเพื่อชดใช้กรรมนี้... ดังนั้นเมื่ออวตารเป็นปรศุรามจึงถูกลูกกษัตริย์อรชุนฆ่าพ่อแม่ เมื่อเป็นพระรามจึงต้องพรากจากนางสีดานั่นเอง (บางตำนานกล่าวว่าฤๅษีภฤคุผู้เป็นพ่อของพระศุกร์เป็นผู้สาป แต่ผมคิดว่าฤๅษีภฤคุที่เคยกระโดดเตะพระวิษณุแต่ท่านไม่เอาความ แถมยังรักษาให้ ไม่น่าจะมาสาปพระวิษณุเสียเอง)
จะเห็นได้ว่าพระศุกร์หรืออุศนัสนั้นเป็นที่มีความรักจนเป็นเหตุให้ต้องเจ็บปวดกายใจ ได้รับความทุกข์ทรมานต่างๆ แฟนทิ้ง ตาบอด แม่ตาย นี่กระมังที่เขายกพระศุกร์ให้เป็นเทพแห่งการอุปถัมภ์ความรัก เพราะตัวเขาเจ็บปวดกับมันมากจนไม่อยากให้คนอื่นต้องมาเจ็บเหมือนตัวเองสักเท่าไร (เว้นพระวิษณุที่ฆ่าแม่เขาไว้คนหนึ่ง)
แต่ถึงแบบนั้นผมก็คิดว่าไม่ใช่ว่าความรักนั้นเป็นสิ่งที่ทำให้เจ็บปวดหรอกครับ สิ่งที่ทำให้คนเราเจ็บปวด คือการมีความรักที่เกินพอดีต่างหาก เพราะหากสังเกตดูแล้ว เราจะพบต้นเหตุแห่งความทุกข์ของอุศนัส
- อุศนัสโดนผู้หญิงทิ้งครั้งแรกเพราะทิ้งหน้าที่ซึ่งมีต่อพ่อไปหาเขาก่อน แทนที่จะดูแลพ่อให้เสร็จตามหน้าที่ ซึ่งถ้าจะเทียบกับมนุษย์แล้ว ความรักที่ถึงขนาดทั้งครอบครัว ทิ้งหน้าที่การงานไปหาคนรัก คงไม่ใช่สิ่งที่ดีเท่าไร อีกทั้งเป็นการตามจีบผู้หญิงที่ได้พบกันแวบเดียวอีกต่างหาก
- เมื่อดำรงตำแหน่งเป็นพระศุกร์ เสียตาไปข้างหนึ่งเพราะเอาตัวไปขัดขวางพระวิษณุ ซึ่งมีวิธีอีกสารพัดในการขัดขวาง เช่นบอกความจริงแก่มหาพลีว่าวามนคือพระวิษณุอวตาร แต่เลือกที่จะปิดปังไว้ เหมือนกับความรักที่เกิดขึ้นพร้อมการปิดบังความจริง และการแปลงไปอุดน้ำเต้าโดยไม่บอกมหาพลี ก็เหมือนกับการทุ่มเททำอะไรสักอย่างให้เขาโดยไม่บอกกันล่วงหน้า
- ที่เสียแม่ไปก็เพราะดึงเอาบุพการีของตนมายุ่งเกี่ยวกับคนที่ตนรัก เหมือนกับมนุษย์ที่การใช้อำนาจเงินตราหรือหน้าที่ของพ่อแม่เพื่อคนรักของตน
จะเห็นว่าทุกข์จากความรักของพระศุกร์นั้น เกิดจากความรักที่เกินคำว่าพอดี และไม่ได้คิดถึงผลกระทบอื่นๆ ที่ตามมา นั่นจึงทำให้เขาพบกับความทุกข์จากมันครั้งแล้วครั้งเล่า...
ดังนั้นถ้าไม่อยากเป็นแบบอุศนัส จะรักใครชอบใคร ก็ขอให้ใช้สติพิจารณากันสักหน่อย ว่าความรักที่มีนั้นพอดีหรือว่ามากเกินไป จนจะทำให้เจ็บปวดทรมานในอนาคตหรือเปล่า มีอะไรที่จะซ้ำรอยพระศุกร์ก็พยายามเลี่ยงนะครับ จะได้มีความสุขกับความรักและคนที่รักไปนานๆ
ข้อความที่โพสจะต้องไม่น้อยกว่า {{min_t_comment}} ตัวอักษรและไม่เกิน {{max_t_comment}} ตัวอักษร
กรอกชื่อด้วยนะ
_________
กรอกข้อมูลในช่องต่อไปนี้ไม่ครบ
หรือข้อมูลผิดพลาดครับ :
_____________________________
ช่วยกรอกอีกครั้งนะครับ
กรุณากรอกรหัสความปลอดภัย
แต่ลิงพวกนี้มายอมให้ยักษ์นี่มันเสื่อมเสียเกยรติภูมิเผ่าพันธุ์ที่พวกพาลี หนุมาน สั่งสมมาเหลือเกิน
เสียดายว่าจังหวะที่ฟ้าบินหล่นลงมา กลับไม่ใช่อ้อมกอดของครุฑหนุ่มคนหนึ่งที่ผ่านเข้ามาพอดี