ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    บทความวิชาเกรียน - ข้อมูลเทวดาฉบับฮาเฮ

    ลำดับตอนที่ #16 : เอราวัณเทพบุตร : เจ้าหน้าที่ขนส่งทวยเทพ

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 547
      5
      31 พ.ค. 59

    เอราวัณเทพบุตร : เจ้าหน้าที่ขนส่งทวยเทพ


    เมื่อนานมาแล้ว ผมเคยได้ยินคำถามจากคนรักสัตว์ที่สัตว์เลี้ยงตายไปว่า “สัตว์ตายแล้วไปสวรรค์เหมือนมนุษย์ไหม” ซึ่งเป็นคำถามที่น่าสนใจอยู่ไม่น้อย เพราะคนรักสัตว์ทั้งหลายก็คงอยากให้สัตว์เลี้ยงของตัวเองมีชีวิตหลังความตายที่ดีเหมือนกัน บางคนถึงกับจัดงานฌาปนกิจให้ไม่ต่างจากมนุษย์ด้วยกัน

    หากว่ากันตายคติความเชื่อของศาสนาพุทธแล้ว สัตว์ที่ทำความดี ช่วยเหลือมนุษย์ เมื่อตายไปแล้วก็สามารถไปสวรรค์และกลายเป็นเทวดาได้ ดังเรื่องของเทวดาองค์ที่ผมจะเล่าในตอนนี้

    หลายตอนที่ผ่านมา ผมก็ได้เล่าถึงเทวดาที่มีชื่อเสียงหลายองค์ที่สถิตยังสวรรค์บนยอดเขาพระสุเมรุมาไม่น้อย ทั้งพระอินทร์ผู้เป็นหัวหน้าเทวดา และเหล่าอุเปนทเทพยดา หรือเหล่าเทวดาผู้ใหญ่อันมีศักดิ์รองลงมาทั้งหลาย ทั้งเทพกลุ่มอาทิตย์ กลุ่มวสุเทพ และกลุ่มเทพประจำดาวเคราะห์ต่างๆ ซึ่งปกติแต่ละองค์จะแยกหน้าที่กันทำงานของตัวเอง เวลาไปไหนมาไหนก็แยกย้ายกันไปทำธุระด้วยพาหนะส่วนตัว

    แต่บางครั้งเหลาเทวดาผู้ใหญ่ของสวรรค์ชั้นนี้ก็มีธุระจะไปไหนมาไหนพร้อมกัน เหล่าเทวดาก็มีการยึดหลัก “ทางเดียวกันไปด้วยกัน ช่วยชาติประหยัดน้ำมัน” เอ๊ย ต้องบอกว่า “ช่วยสวรรค์ประหยัดพลังงาน” น่าจะถูกกว่า ดังนั้นราชาของเหล่าเทวดาอย่างพระอินทร์ ก็จะเป็นเจ้าภาพสำหรับการพาเทวดาทั้งหลายไปยังที่หมาย

    แต่ครั้นจะให้ทวยเทพสามสิบสามองค์ บวกด้วยพระมาตุลีพลขับ อัดเข้าไปบนรถราชรถคันเดียวที่เทียมม้าเจ็ดหัว “อุจไฉศรพ” มันก็คงเป็นการเดินทางที่อึดอัดอยู่ไม่น้อย ทว่าพระอินทร์เจ้าสวรรค์ก็มีทางออกของปัญหา นั่นคือพระเอกของตอนนี้ “เอราวัณเทพบุตร” “ไอยราวัต” หรือที่คนไทยคุ้นกันในชื่อ “ช้างเอราวัณ” ซึ่งชื่ออาจจะหมายถึง “ผู้เรียงร้อยก้อนเมฆ”


    ในคำอธิบายของคติพุทธศาสนา เอราวัณเทพบุตรเป็นหนึ่งในเทวดาบริวารของพระอินทร์ เมื่อพระอินทร์อยากจะเปลี่ยนบรรยากาศจากทรงราชรถมาทรงช้าง หรือจะไปไหนมาไหนพร้อมกับคณะเทพอื่นๆ เอราวัณเทพบุตรจะเนรมิตร่างกายเป็นช้างสีเผือกขนาดมโหฬารให้ ถ้าถามว่ามโหฬารปานใด ในไตรภูมิพระร่วงได้อธิบายว่าช้างเอราวัณนั้นสูงถึง ๑,๒๐๐,๐๐๐ วา หรือ ๒,๔๐๐ กิโลเมตร เรียกว่าถ้ายืนบนพื้นดินของโลกมนุษย์จะสูงทะลุชั้นบรรยากาศของโลกไปเลยทีเดียว!

    ที่น่าตกใจมากกว่าขนาดของช้างร่างเนรมิตของเอราวัณเทพบุตร คือรูปร่างของช้างที่พิสดารต่างกันไป (จะว่าไปแล้วร่างจำแลงนี่อยากจะให้มีลักษณะแบบไหนก็ได้ ไม่แปลกหรอกมั้ง) บ้างก็ว่าเป็นช้างสามหัว ในมหาภารตะของฮินดูบอกว่าเป็นช้างเผือกสามงวงสี่งา ในวิษณุปุราณะบอกว่ามีเจ็ดงวงสี่งา แต่ในไตรภูมิพระร่วงนั้นบรรยายความโดยพิสดารกว่านั้น คือเป็นช้างสามสิบสามหัว ซึ่งเวลาพระอินทร์จะไปไหนพร้อมคณะเทพ ก็จะให้เหล่าเทพขึ้นไปนั่งบนปราสาทซึ่งอยู่บนแต่ละหัว


    ในไตรภูมิพระร่วงยังได้อธิบายไปโดยพิสดารอีกว่าแต่ละหัวมีเจ็ดงา ซึ่งแต่ละงายาว ๔๐๐,๐๐๐ วา หรือ ๘๐๐ กิโลเมตร มีสระบัวตั้งอยู่งาละเจ็ดสระ แต่ละสระมีบัวเจ็ดกอ แต่ละกอมีบัวเจ็ดดอก แต่ละดอกมีเจ็ดกลีบ แต่ละกลีบมีนางฟ้าสถิตอยู่เจ็ดนาง แต่ละนางมีบริวารอีกเจ็ดนาง... ด้วยขนาดและปริมาณประชากรนี่ เรียกได้ว่าตัวช้างเนรมิตเป็นอาณาจักรอีกแห่งหนึ่งเลยก็ได้มั้ง

    ย้อนความสักนิดก่อนว่าทำไมเอราวัณเทพบุตรจึงมาเกิดเป็นเทวดาที่มีอำนาจฤทธิ์เนรมิตร่างกายได้ปานนั้น ในชาดกของศาสนาพุทธ อธิบายมาจากอำนาจของบุญสมัยยังมีชีวิตบนโลกเมื่อชาติก่อน

    ในสมัยที่พระอินทร์ยังเป็นมนุษย์ชื่อ “มฆ” หรือ “มฆมาณพ” ซึ่งเป็นคนจิตใจดีงาม เห็นคนเดินทางลำบากก็ชวนมิตรสหายอีกสามสิบสองคน ช่วยกันทำถนนหนทางให้ราบเรียบ  จนคนสามารถเดินทางได้อย่างสะดวก

    แต่ความดีนั้นใช่ว่าจะทำให้คนชอบ ผู้ใหญ่บ้านในยุคนั้นไม่พอใจมฆมาณพ จึงไปแจ้งความเท็จแก่พระราชาว่ามฆและพรรคพวกเป็นโจร พระราชาก็เหมือนจะรีบตัดสินให้จบๆ ไป จึงให้คนไปจับมฆและพวกมาประหารโดยไม่ทันได้ไต่สวนด้วยซ้ำ!

    ในตอนนั้นเอราวัณเทพบุตรเกิดเป็นช้าง และได้รับคำสั่งจากพระราชาให้ประหารมฆกับพวกด้วยการกระทืบให้ตาย นายมฆก็บอกกับเพื่อนๆ ว่าอย่าไปโกรธแค้นใครเลย ไม่ว่าจะคนใส่ความ พระราชา หรือช้าง จงให้อภัยเขา เมตตาเขา ปรากฏว่าช้างเอราวัณในชาตินั้นคงจะรู้สึกว่านายมฆเป็นคนดี หรือมีเหตุประการใดไม่ทราบ ช้างเอราวัณจึงไม่เดินไปเหยียบมฆมาณพตามคำสั่งควาญ

    พระราชาเห็นช้างไม่ไป ก็คิดว่าจะตื่นคน เลยให้ทั้งหมดหมอบลงแล้วเอาเสื่อคลุมทับไว้เป็นทางให้ช้างเอราวัณเดิน แต่ช้างก็ไม่ได้เดินไปเลยแม้แต่ก้าวเดียว ทำให้พระราชาเริ่มฉลาด หลังจากตัดสินคดีอย่างไม่คิด จึงเอาตัวมฆกับเพื่อนอีกสามสิบสองคนมาไต่สวนอีกที พอรู้ว่าบริสุทธิ์และคิดจะทำประโยชน์ เลยปลดผู้ใหญ่บ้านคนเก่าให้ไปเป็นทาส แล้วตั้งมฆเป็นผู้ใหญ่บ้านคนใหม่แทน นอกจากนี้ยังแถมช้างเอราวัณในชาตินั้นให้ไปช่วยงานสาธารณะประโยชน์อีกด้วย

    หลังจากมาอยู่ด้วยกัน ช้างเอราวัณก็ช่วยมฆและเพื่อนก่อสร้างศาลาสุธรรมา เอาไว้ให้คนเดินทางผ่านไปมาได้พักผ่อน พอสร้างศาลาเสร็จก็ช่วยขนส่งคนเดินทาง และคงจะช่วยมฆทำงานสาธารณะประโยชน์จวบจนสิ้นอายุขัย เมื่อสิ้นชีวิตไปแล้ว จึงไปเกิดเป็นเทพบุตรคู่บุญของมฆ ที่กลายเป็นพระอินทร์ โดยที่ยังมีหน้าที่จำแลงเป็นช้างเพื่อขนส่งคนตามที่ทำมาแต่ชาติเดิม และร่างจำแลงสามสิบสามหัว เจ็ดงา งาละเจ็ดสระนั่น ว่ากันว่าเป็นสัญลักษณ์แสดงความดีของพระอินทร์และเพื่อนรวมกันสามสิบสามคน ที่ทั้งชีวิตบำเพ็ญคุณธรรมคือ “วัตตบท”  เจ็ดอย่าง ได้แก่

    ๑. เลี้ยงมารดา บิดา ตลอดชีวิต

    ๒. ประพฤติอ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่ตลอดชีวิต

    ๓. กล่าววาจานุ่มนวลสุภาพตลอดชีวิต

    ๔. ไม่กล่าววาจาส่อเสียดตลอดชีวิต

    ๕. ยินดีในการบริจาคทานตลอดชีวิต

    ๖. พูดความจริงตลอดชีวิต

    ๗. ไม่โกรธ แม้ว่าโกรธก็ระงับไว้ได้ทันทีตลอดชีวิต

    ส่วนการอุบัติขึ้นมาในภพของเทวดาของเอราวัณนั้น ผมยังไม่พบว่าคติพุทธกล่าวว่าอย่างไร แต่คติความเชื่อของพราหมณ์ ฮินดู ได้อธิบายเอาไว้หลายอย่างอยู่เหมือนกัน ได้แต่

    -          - ในรามายณะ เอราวัณเป็นลูกของนางไอยราวดี ซึ่งนางเป็นบุตรีกัศยปเทพบิดร

    -          - ในตำราคชลักษณ์ของพราหมณ์ กล่าวไว้ว่าก็ว่าหลังจากพญาครุฑบุตรนางวินตากำเนิดขึ้นแล้ว พระพรหมเห็นเปลือกไข่เหลือไว้ จึงได้เอาเปลือกที่แยกแตกเป็นสองนั้นมาสร้างเทพเจ้าช้างสององค์ คือเอราวัณหรือไอยราวัต และชายาของเขา “ช้างอภรมู”

    -          - หลายแหล่งเชื่อว่าเกิดจากการกวนเกษียรสมุทร

    -          - บางแหล่งเชื่อว่าเกิดจากพระศิวะสร้างขึ้นให้พระอินทร์

    บทบาทของเอราวัณเทพบุตร นอกจากจะช่วยขนส่งคณะเทวดาแล้ว ยังทำหน้าที่ในฐานะช้างศึกของพระอินทร์เวลามีสงครามอีกด้วย เช่นปรากฏว่าพระอินทร์ขี่ช้างเอราวัณไปรบกับวฤตราสูร และหลังจากรบเสร็จแล้ว ช้างเอราวัณก็ช่วยพระอินทร์สูบน้ำที่วฤตราสูรช่วงชิง เอาขึ้นสวรรค์ไปทำฝนให้ตกลงมายังโลกอีกครั้ง

    ในรามายณะ เมื่อทศกัณฐ์และบุตรของเขา (ที่ได้รับชื่ออินทรชิตในภายหลัง) ยกทัพมาบุกสวรรค์ พระอินทร์ก็ขี่เอราวัณออกรบ ในสกันทะปุราณะ เมื่ออสุรนามสุรปัทมะบุกโจมตีสวรรค์ เอราวัณก็ได้ออกรบด้วย และถูกโจมตีจนงาหัก ส่วนตัวก็ปลิวกระเด็นลงมายังโลกมนุษย์ ก่อนจะบำเพ็ญเพียรภาวนาต่อพระอิศวร จนได้รับการรักษาให้งากลับสู่สภาพปกติ และพาส่งไปคืนยังเทวโลกอีกครั้ง

    นอกจากช้างศึกในคติฮินดูและช้างขนส่งในคติพุทธแล้ว ในวิษณุปุราณะได้ระบุว่า พระพรหมได้ตั้งให้เอราวัณเป็นผู้ดูแลแห่งบรรดาช้างทั้งมวล เช่นเดียวกับพระวรุณเป็นผู้ปกครองมหาสมุทรและน้ำ เช่นเดียวกับพระอัคนีเป็นผู้ดูแลวสุเทพทั้งหมด และบางแห่งยังบอกว่าเป็นหนึ่งในแปดช้างผู้พิทักษ์จักรวาลอีกด้วย

    เรื่องราวของเอราวัณเทพบุตร เทวดาผู้มีชาติก่อนเป็นช้างนั้น จะเห็นได้ว่าแม้เป็นสัตว์เลี้ยง ตายไปแล้วก็ไปสู่สุคติภูมิอย่างสวรรค์ได้ หากได้เจ้าของที่ดี ชวนกันไปทำความดี... ดังนั้นหากอยากให้สัตว์เลี้ยงของท่านไปสู่สุคติ ตัวคนเลี้ยงเองก็ต้องเป็นคนดี ทำความดี ชวนสัตว์ไปทำอะไรดีๆ ถ้าแบบนั้นท่านและสัตว์เลี้ยงก็คงจะมีชีวิตที่ดีทั้งโลกนี้และโลกหน้าครับ

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×