ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    บทความวิชาเกรียน - ข้อมูลเทวดาฉบับฮาเฮ

    ลำดับตอนที่ #11 : พระวิศวกรรม : วิศวกรผู้ถูกเข้าใจผิด

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 624
      7
      30 พ.ย. 58

    พระวิศวกรรม : วิศวกรผู้ถูกเข้าใจผิด


    หลังจากกล่าวถึงพระอินทร์ พระวรุณ และบรรดาเทพประจำดาวเคราะห์แห่งสวรรค์บนเขาพระสุเมรุทั้งหลายแล้ว หากจะไม่กล่าวถึงหนึ่งในเทวดาองค์สำคัญที่มีบทบาทในเรื่องราวของเทพหลายองค์ก็คงจะไม่ดีนัก เนื่องจากเขาเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการสนับสนุนความเก่งกล้าและความสุขสบายของเหล่าเทพ ในฐานะผู้สร้างอาวุธยุทโธปกรณ์ ยานพาหนะ วิมาน และอื่นๆ อีกมากมายที่จะบรรยายในลำดับถัดไป

    เทพองค์ที่ผมจะเอ่ยถึงต่อไปนี้ คือพระวิศวกรรม ซึ่งมีความหมายของชื่อว่า “ทำทุกอย่าง” หรืออาจจะเรียกว่าพระวิษณุกรรม พระวิสสุกรรม พระเพชรฉลูกัณฑ์ หรืออะไรก็แล้วแต่ความสะดวกของแต่ละสถานที่ แต่เอาเป็นว่าเทพองค์นี้ แม้จะมีศักดิ์เป็นผู้รับใช้พระอินทร์ แต่ก็เป็นผู้ที่มีความรู้การสามารถด้านวิศวกรรม และงานช่างต่างๆ มากที่สุดบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ หรืออาจจะมากที่สุดบนสวรรค์ทุกชั้นเลยก็ได้ 

    จากที่กล่าวมาข้าวต้น มันก็ไม่แปลกเท่าไรนักที่จะได้รับความนับถือและเคารพบูชาจากผู้ศึกษาด้านวิศวกรรมหรือช่างเทคนิคต่างๆ บางทีผมก็รู้สึกว่ามีนักเรียนช่างบางกลุ่มนั้นให้ความนับถือมากเสียงจนยกพวกตีกันเพื่อปกป้องศักดิ์ศรีของเทพองค์นี้ ที่พวกเขานับถือประหนึ่งบิดาอีกคนหนึ่งเลยด้วยซ้ำ...

    มันไม่แปลกเท่าไรนักกับการนับถือเทพผู้เชี่ยวชาญความรู้ด้านที่ตนศึกษา และเชื่อกันว่าเป็นผู้สอนวิชานี้ให้มนุษย์ เป็นดังพ่อคนที่สองของตน เพราะก็มีคำกล่าวว่าครูบาอาจารย์คือพ่อแม่คนที่สองของศิษย์อยู่แล้ว แต่ผมรู้สึกแปลกนิดหน่อยกับการตีกันเพื่อปกป้องศักดิ์ศรีของพระวิศวกรรม หรือที่พวกเขาเรียกว่าวิษณุกรรม... 

    แปลกยังไง ผมจะขออธิบายทีหลัง ตอนนี้วกกลับมาที่ประวัติและผลงานของเทพองค์นี้ก่อนดีกว่า

    พระวิศวกรรมนั้นมีกำเนิดที่ค่อนข้างคลุมเครือ เพราะแต่ละตำนานก็จะพูดถึงการกำเนิดที่แตกต่างกัน ในคติของพราหมณ์ – ฮินดูบ้างก็ว่าเป็นบุตรของพระพรหม บ้างก็ว่าพระศิวะเนรมิตขึ้นมาให้เป็นเทวดาคู่บุญบารมีของพระอินทร์ บ้างก็ว่าเป็นการแบ่งภาคจากพระนารายณ์ บ้างก็ว่าเป็นลูกของประภาสเทพบุตร ผู้เป็นหนึ่งในคณะวสุเทพทั้งแปด ซึ่งอยู่ในสามสิบสามเทพผู้ใหญ่บนเขาพระสุเมรุ ในคติพุทธระบุว่าเป็นโอปปาติกะกำเนิดจากกำลังบุญของนายช่างที่ช่วยพระอินทร์สร้างศาลาเมื่อครั้งเป็นมฆมาณพ แต่ตำนานท้องถิ่นเขมร เล่าว่าเกิดจากนางฟ้าที่ถูกสาปลงมาอยู่บนโลกมนุษย์ 

    ไม่ว่าจะมีชาติกำเนิดอย่างไรก็ตาม พระวิศวกรรมได้รับหน้าที่เป็นนายช่างใหญ่ประจำเขาพระสุเมรุ เป็นผู้สร้างสรรค์ผลงานมากมายให้ทวยเทพและมนุษย์ ซึ่งคุณงามความดีตามตำนานนี้ ทำเอามนุษย์ในประเทศไทยหลายคนเข้าใจผิด เห็นชื่อว่าพระวิษณุกรรม ก็คิดว่าท่านเป็นองค์เดียวกับพระวิษณุ หรือพระนารายณ์ เทพผู้ทำหน้าที่ปกป้องโลกมนุษย์ไปเสียอย่างนั้น!

    เทพสององค์นี้แตกต่างกันอย่างยิ่งในหลายด้าน สิ่งที่สังเกตได้ง่ายที่สุดคือลักษณะภายนอก คือพระวิษณุนั้นเป็นเทพนักรบ ปรากฏพระองค์ในลักษณะสี่กร ถืออาวุธคือจักร คทา และสังข์ในมือทั้งสามอยู่เสมอ ส่วนมือที่สี่ หากเป็นศิลปะไทยจะถือตรี แต่ศิลปะของฮินดูต้นฉบับนั้นจะถือดอกบัว (ซึ่งคงได้กล่าวถึงจุดนี้ต่อไปในส่วนของพระวิษณุในอนาคต) และทรงพญาครุฑเป็นพาหนะ ทรงพญาอนันตนาคราชเป็นแท่นบรรทม

    ขณะที่พระวิศวกรรมเป็นเทพการช่าง มักปรากฏกายในลักษณะที่ถืออุปกรณ์การช่าง เช่นลูกดิ่งสำหรับงานช่าง เชือก ไม้ฉาก ไม้วา ไม้บรรทัด จอบ ผึ่ง (อุปกรณ์คล้ายจอบ แต่ด้ามสั้น) เป็นต้น และทรงหงส์ หรือช้างเป็นสัตว์พาหนะ

    ในด้านประวัติความเป็นมา ขณะที่พระวิษณุโดดเด่นเรื่องการปราบอสูร และการอวตารมาปกป้องโลก แต่พระวิศวกรรมมีวีรกรรมเกี่ยวกับการต่อสู้น้อยมาก นอกจากการขัดขวางไม่ให้พญาครุฑชิงน้ำอมฤตและถูกเล่นงานในเวลาอันสั้น ก็แทบไม่ปรากฏว่าไปสู้รบปรบมือกับใครอีก จะไปโดดเด่นเรื่องผลงานทางด้านวิศวกรรม สถาปัตยกรรม และการช่างแขนงต่างๆ มากกว่า ซึ่งผลงานแต่ละด้านนั้นก็จัดว่าเด็ดทั้งนั้น ผลงานที่โดดเด่นก็ เช่น

    - ด้านวิศวกรรมโยธา พระวิศวกรรมมีผลงานเกี่ยวกับการสร้างเมืองและสิ่งปลูกสร้างต่างๆ ในระยะเวลาอันสั้น เช่นวางผังและสร้างกรุงลงกาของพวกอสูรพงศ์พรหมทั้งหลาย กรุงทวารกาของพระกฤษณะ สร้างเมืองอินทรปัสถ์ให้พี่น้องปาณฑพ สร้างบรรณศาลาให้พระเวสสันดร 

    - ด้านวิศวกรรมไฟฟ้า นำสายฟ้ามาสร้างให้เป็นอาวุธของพระอินทร์

    - ด้านวิศวกรรมวัสดุ ปรับปรุงคุณสมบัติของวัตถุดิบที่ไม่น่าจะใช้ประโยชน์ได้ ให้ใช้ประโยชน์ได้จริง คือรัศมีจากผิวพระสุริยะ ที่ถูกนำมาขึ้นรูปให้กลายเป็นอาวุธชนิดต่างๆ แจกทวยเทพ เช่นจักรสุทรรศน์หรือวัชรนาถ กับคทาเกาโมทกีให้พระนารายณ์ ตรีศูลให้พระศิวะ กระบองถวายท้าวกุเวรหรือท้าวเวสสุวรรณ ขวานถวายพระอัคนี หอกศักติถวายพระกรรติเกยะ 

    - ด้านวิศวกรรมเครื่องกล มีตำนานว่าเป็นผู้ประดิษฐ์วาฬสังฆาตยนต์ ซึ่งเป็นเครื่องยนต์ที่คอยป้องกันพระบรมสารีริกธาตุ ซึ่งพระเจ้าอชาตศัตรูอัญเชิญไปประดิษฐานในสถูป และเป็นผู้ทำให้มันหยุดทำงานเมื่อพระเจ้าอโศกมหาราชเสด็จเข้าไปในสถูปนั้น นอกจากนี้ยังเป็นผู้สร้างรถที่เคลื่อนที่ได้เองแม้ไม่มีสัตว์ลากให้กับพระอินทร์

    - ด้านวิศวกรรมชีวการแพทย์ สร้างอวัยวะเทียมแทนอวัยวะเดิมที่เสียไปให้พระคเณศใช้ คือศีรษะช้าง

    - ด้านวิศวกรรมการบิน สร้างบุษบกวิเศษ และสร้างวิมานซึ่งเป็นพาหนะบินได้ให้กับท้าวกุเวร พระวรุณและพระยม

    - ด้านวิศวกรรมการขนส่ง สร้างบันไดแก้ว บันไดเงิน และบันไดทอง เป็นเส้นทางนำพระพุทธเจ้าและเหล่าเทวดาจากยอดเขาพระสุเมรุมายังโลก ในวันเทโวโรหณะ

    - ด้านงานช่างปั้น ได้ปั้นรูปผู้หญิงที่สวยงามระดับอุดมคติ ซึ่งก็คือนางติโลมา หนึ่งในนางฟ้าที่สวยที่สุดบนสวรรค์

    - ด้านงานช่างภูษา สร้างเสื้อผ้าให้กับพระลักษมีที่อุบัติขึ้นจากการกวนเกษียรสมุทร

    - ด้านการช่างเครื่องดนตรี เป็นผู้ประดิษฐ์เครื่องดนตรีหลายชนิดบนสวรรค์ 

    ผลงานที่กล่าวมาข้างต้นเป็นผลงานที่โดดเด่นเท่านั้น ยังมีผลงานอีกมากมายที่ไม่ได้บรรยายไว้ข้างต้น ซึ่งจะเห็นได้ว่าพระวิศวกรรมทำทุกอย่างสมชื่อจริงๆ นั่นแหละ

    แต่ถึงจะมีผลงานมากมาย แต่พระวิศวกรรมก็ไม่ได้บ้างานจนไม่มีเวลาโรแมนติก พระวิศวกรรมมีชายาเป็นหนึ่งในนางฟ้าผู้งามที่สุดบนสวรรค์ ชื่อนางฆฤตาจี มีลูกสาวคือนางสัญญา ผู้กลายเป็นชายาของพระสุริยะ  และนางวิศวาจี หนึ่งในนางฟ้าที่งามที่สุดบนสวรรค์ ซึ่งทำให้ฤๅษีอุศนัสถอดจิตตามมาจีบอย่างที่เคยเอ่ยถึงในบทก่อนๆ

    จากที่กล่าวมาข้างต้น อาจจะพอคลายความสับสนระหว่างพระวิษณุ พระเป็นเจ้าผู้ปกป้องโลก กับพระวิศวกรรม เทพแห่งวิศวกรรม ซึ่งเป็นที่นับถือของเหล่าวิศวกรและช่างทั้งหลายได้บ้างไม่มากก็น้อย

    แต่ข้อมูลประวัติและผลงานข้างต้นนั่นแหละ ที่ทำให้ผมรู้สึกว่าการยกพวกตีกันเพื่อปกป้องศักดิ์ศรีของนักเรียนช่างกลจากข่าวที่เคยได้ยิน มันช่างเป็นการปกป้องศักดิ์ศรีที่แปลกประหลาดจริงๆ

    ก็ในเมื่อพระวิศวกรรมเป็นเทพแห่งการสร้างสรรค์ผลงานด้านวิศวกรรม ผลงานด้านงานช่างแขนงต่างๆ ประวัติการรบที่โดดเด่นคือถูกพญาครุฑจัดการในเวลาไม่กี่อึดใจ ดังนั้นศักดิ์ศรีของพระวิศวกรรมคงไม่ได้มาจากการสู้รบมั้ง แต่เป็นความสามารถด้านวิศวกรรมหรือการช่างสารพัดอย่างมากกว่า...

    ดังนั้นถ้านักเรียนช่างบางกลุ่มอยากจะปกป้องศักดิ์ศรีของพระวิศวกรรมหรือพระวิษณุกรรมอย่างที่เขาว่า ผมคิดว่าถ้าตั้งใจสร้างผลงานเจ๋งๆ มาอวดชาวโลกให้มากแบบพระวิศวกรรมที่พวกเขานับถือ น่าจะเข้าเค้ากว่ายกพวกตีกันมั้งนะ...


    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×