ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    มารจันทรา

    ลำดับตอนที่ #1 : ขึ้น 14 ค่ำ เดือน 11

    • อัปเดตล่าสุด 18 ต.ค. 48


    ขึ้น 14 ค่ำ เดือน 11

    น่านฟ้าอายุ 20 ปี



        เสียงประตูห้องถูกเคาะเบาๆ ดึงความสนใจของหญิงชราที่นั่งพับเพียบอยู่หน้าหีบเหล็กใบใหญ่ ของที่ถูกยกออกจากหีบ วางเรียงรายรอบตัว



        ประตูไม้ถูกเลื่อนเปิดออก ชายหนุ่มร่างสูงคุกเข่าลงข้างประตูมุ้งลวด



        “คุณย่าให้หาผมหรือครับ”

        ชายหนุ่มถามเบาๆ เขายังอยู่ในเครื่องแต่งกายที่กลับจากมหาวิทยาลัย วางหนังสือลงข้างตัว



        “น่านฟ้าหรือ เข้ามาซิ” คุณย่าเรียก

        “เพิ่งกลับมาหรือ ได้กินอะไรหรือยัง”



        “ยังครับ”



        ชายหนุ่มตอบยิ้มๆ เลื่อนบานมุ้งลวดออก ย้ายกระเป๋าเป้ไปวางไว้ข้างในประตู คลานเข้ามาปิดประตู ก่อนเลื่อนปราดไปใกล้คุณย่า



        “มาขอข้าวคุณย่ากิน”



        “กินกับย่า กินน้ำพริกผัก ได้แล้วหรือ” ท่านเย้าหลานชาย เด็กยุคใหม่กินแต่อาหารฝรั่ง



        “พรุ่งนี้คุณย่าไปวัดใช่ไหมครับ เดี๋ยวผมขับรถให้”



        ชายหนุ่มเปลี่ยนเรื่องเอื้อมมือยาวๆ ไปหยิบหมอนมาวาง ก่อนเลื่อนตัวลงนอนเขลง พลิกซ้ายตะแคงขวาเหมือนเมื่อยามเป็นเด็ก



        ห้องคุณย่าก็ไม่เห็นต่างจากเดิมเลย  พื้นไม้เย็นๆ มันวับ น่านฟ้าวาดมือออกไปสุดวงแขน เขารู้ว่าท่านยังเก็บกวาดเช็ดถูห้องเองอยู่  การออกกำลังเล็กๆ น้อยๆ ท่านว่าอย่างนั้น



        เตียงตั้งอยู่ชิดฝาด้านหนึ่ง เว้นที่ข้างฝาไว้ให้เดินรอบเตียงได้ เตียงสี่เสา ท่านยังกางมุ้งนอนอยู่เลย โต๊ะเครื่องแป้งเตี้ยๆ โต๊ะเดิม แกะสลักเป็นลายดอกพุดตานเข้าชุดกับตียง  ตู้เสื้อผ้าเป็นของสั่งทำใหม่ถึงจะลายเดียวกัน แต่ฝีมือห่าง...กันมาก คุณย่ามีราวพาดผ้าอีกอันหนึ่ง แล้วก็หีบสมบัติวางซ้อนกันอยู่สี่หีบ  ตอนนี้เหลือสามแล้ว ก็อีกหีบท่านยกมาเปิดอยู่ตรงนี้



        “ย่ามีคนขับรถให้แล้ว”



        คุณย่าตอบยิ้มๆ มองหลานชาย หนึ่งในสิบห้าของหลานทั้งหมด ที่นอนเกลือกกลิ้งอยู่นั่น มีเหตุผลอื่นไหมที่เลือกชายหนุ่มวัยคะนองคนนี้แทนคนอื่นๆ ทำไมไม่รอเวลา เธอยังมีหลานได้อีกหลายคน ยังมีเวลานี่น่า



        “หาคนหิ้วปิ่นโตหรือครับ”



        น่านฟ้าถาม ขยับลุกนั่ง เลื่อนบรรดากล่องต่างๆ ของคุณย่ามาเปิดดู เขามองเครื่องประดับในกล่องที่เขาเลือกเปิด กำไลหัวบุษราคัมเม็ดใหญ่ประมาณเหรียญสิบ เจียระไนเป็นรูปหลังเต่า ทรงกลม เขาหยิบขึ้นมาพินิจดูตัวกำไรทำจากเงินเนื้อหนา ออกแบบเป็นเครื่องประดับของบุรุษ ลวดลายหัวกำไล เป็นยักษ์อ้าปากกว้าง ตัวก้าน เป็นลำแขนของยักษ์ สลักเป็นมือใหญ่ประสามกัน ประดับด้วยอัญมณีสีต่างๆ



        “ราหูอมจันทร์หรือครับ ทำใหม่หรือครับ ไม่น่าจะใช่ ฝีมืออย่างนี้ของช่างโบราณ แต่ผมบอกไม่ได้ว่าสมัยไหน ได้มาใหม่หรือครับ”



        น่านฟ้าเงยหน้าถาม เขาเป็นคนมีสัมผัสเรื่องเครื่องประดับ จะว่าจริงๆ แล้วก็คืออัญมณี แท้ไม่แท้ เก่าไม่เก่า  เข้าใจทันทีว่าที่คุณย่าตามตัวมานี่คงจะให้มาดูกำไลวงนี้



        “มาขอเงินจำ (จำนำ) เท่าไรครับ ฝีมือดี แต่ค่าของพลอยที่มีราคาก็ที่หัว “

        น่านฟ้าเลื่อนกำไลไปใกล้ๆ โคมไฟ แต่แสงโคมไฟเหมือนจะยังไม่เป็นที่พอใจของหนุ่มน้อย



        “ขอโทษนะครับ” ชายหนุ่มพูดเบาๆ คลานปร๊าดถอยมา ก่อนเดินโหย่งๆ ผ่านระเบียงออกไป



        ยกเครื่องประดับในมือให้หัวกำไลรับแสงธรรมชาติ ตาฝาดไปหรือไงที่เห็นเหมือนเงาสาวโสภาเบี่ยงตัวหลบแสงตะวัน เขาเอียงให้เม็ดพลอยรับแสงในมุมต่างๆ จนพอใจ ถึงกลับเข้าห้อง คลานเข้ามานั่งข้างๆ คุณย่า



        “กำไลแปลกแบบนี้ คงปล่อยไม่ยาก แต่ก็ไม่ง่าย สัก หนึ่งหรือสอง น่าจะไหว ถ้าสามผมว่าแพงไป”



        พูดไปอีกมือก็ควานหยิบกล่องมา แต่ก็เหมือนอาลัย ยากจะตัดใจวางมันลง แล้วชายหนุ่มก็วางกำไลลงในกล่อง ปิดเรียบร้อย ก่อนยกกล่องเล็กในมือขึ้นพิจารณา



        “อะโย้ คุณย่า กล่องหยกเย็นเลยนะครับนี้ หยกแท้ซะด้วย” เขาพิจารณากล่องหยก สีเขียวเข้มเหมือนสีใบไม้ เนื้อใส มีรอยแต้มแดงที่ฝาหีบ รอยแต้มกลม ราวโลหิต หยดลง



        “กิมบ่เซี้ยงหรือครับ เอ กล่องเขาเรียกกิมบ่เซี้ยงไหม” น่านฟ้าถามปนรำพึงกับตัวเอง



        กิมบ่เซี้ยงเป็นคำที่เรียก หยกที่ไม่มีสีเดียว มีสีอื่นผสมเข้ามา เชื่อว่าหยกแบบนี้ จะทำให้มีกินมีใช้ไม่มีวันสิ้นสุด



        “ชอบหรือ ถ้าชอบย่าจะยกให้ พรุ่งนี้วันเกิดเรานี่”



        ชายหนุ่มเงยหน้ายิ้มกว้าง



        “โธ่ตามผมมาให้ของ” ชายหนุ่มคลานมุดเข้าไปกราบถึงตัก



        “คำอวยพรของคุณย่าเป็นสิ่งมงคลสูงสุดแล้วครับ” หนุ่มน้อยเงยหน้ายิ้มโชว์ฟันขาว



        “เอามาให้ผม แล้วเวลาเขามาไถ่ คุณย่าจะเอาอะไรไปคืนเขา พรุ่งนี้ผมไปทำบุญด้วยนะครับ ไม่ให้ขับรถ ไม่ให้หิ้วปิ่นโต ไปเป็นเด็กถือตระกล้าหมากก็ได้”



        “ฉันเลิกกินหมากแล้วยะ” ผู้ชราค้อน ผลักหัวหลานชายออก เจ้าตัวอิดออดหน่อย แล้วก็ยอมถอยไปนอนเขลงที่เดิม



        “ไปหาอะไรกินไป รีบนอนล่ะ ถ้าพรุ่งนี้จะไปวัดกับย่า”



        ชายหนุ่มยกนาฬิกาแบบสปอร์เรือนล่ะร้อยเก้าสิบเก้า ที่ถ่านหมดโยนทิ้งขึ้นมาดูเวลา



         “ให้ผมนอนตั้งแต่สี่โมงเย็น ตื่นสี่ทุ่ม กว่าจะหลับอีกที ตีสี่ ไปวัดกับคุณย่า ท่านสมภารชอบผมแน่ ซาบซึ้งหลับตลอด”



        คุณย่าโยนกล่องเล็กๆ ขนาดใส่แหวนมาให้แทน



        “เอา ย่าให้ ค่าดูกำไล”



        ชายหนุ่มพลิกตัวนอนกราบ แล้วนอนตะแคงตามเดิม ควานหาของยกครูมาดู แหวนทับทิมอยู่ในนั้น ชายหนุ่มปิดฉับ



        “แหวนผู้หญิงนี่ครับ คุณย่า” ชายหนุ่มโวยวาย



        “อ้าว ฉันเป็นผู้หญิง จะเก็บแหวนผู้ชายไว้ทำไมยะ อยากได้แหวนผู้ชาย ตายตามไปขอปู่แกโน้น”



        น่านฟ้าหัวเราะเสียงดัง



        “ฮาฮาฮา ตามไปคุณปู่จะมีอะไรให้ผม ก็อยู่กับคุณย่าหมดแล้ว”



        คุณย่าค้อนเหมือนสาวๆ



        “ไม่อยากได้ก็เอาคืนมา ไอ้น่าน”



        “อิ๊บป๊อก คุณย่า ค่ายกครู” ชายหนุ่มกราบลา คลานถอยปรู๊ดออกจากห้อง



        “ผมจะเก็บเอาไว้ให้สาว” เขาส่งยิ้มล้อเลียน



        บุหงาส่ายหน้ายิ้มๆ มองตามหลานชายไป



        “เขายังเด็กอยู่ ฉันนะแก่แล้ว แต่ก็ไม่ใช่แก่จนจะตายวันตายพรุ่งนี่ใช่ไหม”



        เธอเอ่ยลอยๆ ทยอยเก็บกล่องเล็กกล่องน้อย ใส่หีบใบใหญ่



    <><><><>



    ขึ้น 14 ค่ำ เดือน 11

    ไพฑูรย์ อายุ 43 ปี



        เสียงประตูห้องถูกเคาะเบาๆ ดึงความสนใจของหญิงชราที่นั่งพับเพียบอยู่หน้าหีบเหล็กใบใหญ่ ของที่ถูกยกออกจากหีบ วางเรียงรายรอบตัว



        ประตูไม้ถูกเลื่อนเปิดออก ชายร่างสูงคุกเข่าลงข้างประตูมุ้งลวด



        “คุณแม่ให้หาผมหรือครับ”

        นายแพทย์ไพฑูรย์ถามเบาๆ เขายังอยู่ในเครื่องแต่งกายที่กลับจากโรงพยาบาล



        “ไพฑูรย์หรือ เข้ามาซิ” คุณแม่เรียก

        “เพิ่งกลับมาหรือ ได้กินอะไรหรือยัง”



        “ยังครับ”



        คุณหมอตอบเรียบๆ ลงจากรถภรรยาก็บอกว่าคุณแม่ให้หาทันที ทันทีก็คือทันที ไม่มีกินข้าวอาบน้ำก่อน เลื่อนบานมุ้งลวดออก คลานเข้ามาปิดประตู ก่อนเข้ามานั่งใกล้ๆ



        “คุณแม่ทานข้าวหรือยังครับ”



        “เสร็จแล้ว กินน้ำพริกผัก จะกินไหม แม่จะได้ให้เขาตั้งสำรับให้” ท่านบอก มองลูกชายคนที่ดำเนินอาชีพที่ทั้งให้ชีวิต และพรากชีวิต



        “เหนื่อยนัก ก็พักบ้างนะ ทำงานโรงพยาบาล แล้วยังทำคลินิก ห่วงตัวเองบ้าง รักษาคนอื่นได้ ตัวเองเป็นอะไรใครจะมารักษา”



        ลูกชายก็ได้แต่ยิ้ม

        “คุณแม่มีอะไรกับผมครับ เรื่องข้าวปลา คุณแม่ไม่ต้องห่วง ลูกสะใภ้คุณแม่ ยังไม่ให้ผมอดตาย”



        “ก็แน่ล่ะ” ท่านชำเลืองดูส่วนเอว ที่เริ่มหนา



        “พรุ่งนี้วันออกพรรษา....”



        แค่มารดาเกร่น ไพฑูรย์ ก็รีบบอก



        “ผมกลับมาดึกนะครับคุณแม่ แล้วเด็กๆ เช้าก็ต้องไปโรงเรียน เจ้าน่านซิครับ เรียนมหาวิทยาลัยแล้ว บ้างวันก็ไม่ต้องเรียน”



        บุหงาถอนหายใจดังๆ ให้ได้ยิน



        “ฉันจะบอกแค่ให้ตื่นมาใส่บาตร บ้างก็เท่านั้น คริสต์มาส วาเลนไทน์ แห่กันไปฉลองได้ วันออกพรรษา ทำอะไรไม่ได้ก็มาใส่บาตร”



        บุหงาส่ายหน้า มองลูกชาย หนึ่งในเจ็ดของลูกทั้งหมด ถ้าเป็นเขา คงยินดีนักล่ะ นั่นไม่ใช่ทางเลือกที่ดีเลย ทำไมไม่รอเวลา เธอยังมีเวลานี่น่า



        ไพฑูรย์มองประดากล่องต่างๆ ของคุณแม่  เสหยิบกล่องหนึ่งมาเปิดดู เขามอง เครื่อง ประดับในกล่อง กำไลหัวบุษราคัมเม็ดใหญ่ประมาณเหรียญสิบ เจียระไนเป็นรูปหลังเต่า ทรงกลม หนุ่มใหญ่หยิบขึ้นมาพินิจดูตัวกำไรทำจากเงินเนื้อหนา ออกแบบเป็นเครื่องประดับของบุรุษ ลวดลายหัวกำไล เป็นยักษ์อ้าปากกว้าง ตัวก้าน เป็นลำแขนของยักษ์ สลักเป็นมือใหญ่ประสามกัน ประดับด้วยอัญมณีสีต่างๆ ลองเลื่อนสลักดูก็เลื่อนเปิดอย่างง่ายดาย



        “ได้มาใหม่หรือครับ ผมไม่เคยเห็น”



        ไพฑูรย์ ถาม เกิดความรู้สึกประหลาด อยากเป็นเจ้าของกำไลวงนี้ บุหงามองลูกชายยิ้มให้อย่างเมตตา บอกเขาอย่างอ่อนโยน



        “อยากได้หรือ”

        

        “ครับ” ไพฑูรย์ยิ้มขัดเขิน



        “แบบมันไม่เหมาะกับเราหรอก” บุหงาบอกลูกชาย โยนกล่องแหวนมาให้กล่องหนึ่ง



        “เอานี้ คุณหญิงพัชรา เธอฝากมาเรื่องหลานสาวเธอ”



        “โธ่ คุณแม่ อาชีพผม ไม่ว่าใครผมก็ช่วย” ไพฑูรย์บอก เปิดกล่องออกดู ยังไงก็อดชื่นชมแหวนมรกตน้ำงามไม่ได้ เขาเพ่งมองมันคุ้นตา



        “นี่ ถ้าผมจำไม่ผิด คุณพ่อ...”



        “ใช่” มารดาพยักหน้า



        “อ้าว แล้วที่คุณหญิง...”ไพฑูรย์ถึงขั้นอ้ำอึ้ง



        “เขาฝากขอบใจมา” บุหงาหัวเราะ



        “แหวนพ่อแก ได้ข่าวว่าได้เลื่อนตำแหน่งไม่ใช่หรือ”



        ไพฑูรย์ ยิ้มอย่าง ปิติ ก้มลงกราบ



        “ไปหาอะไรกินไป รีบนอนล่ะ แล้วพรุ่งนี้อย่าลืมลุกมาใส่บาตร”



        “ครับ” หนุ่มใหญ่รับคำ เก็บกำไลลงกล่องให้อย่างเรียบร้อย แต่ยังอดมองอย่างชื่นชมไม่ได้



        บุหงามองตามหลังบุตรชายไป ด้วยความเป็นห่วง มรกตจะป้องกันสิ่งชั่วร้ายได้ เธอหวังว่าอย่างนั้น



        “เขาอยู่ในวัยสร้างเนื้อสร้างตัว ฉันนะมีพอแล้ว แล้วก็ยังมีความสุขกับการใช้สิ่งที่ฉันหามาได้นี่ใช่ไหม”

        เธอเอ่ยลอยๆ ทยอยเก็บกล่องเล็กกล่องน้อย ใส่หีบใบใหญ่



        ไพฑูรย์เดินกลับบ้าน เรือนหอของเขาที่ยกในบริเวณกว้างขวางของบ้านใหญ่ ถ้าไม่นับพี่บุษราคัมที่แต่งงานออกไปอยู่บ้านสามี มุกดาที่ใช้ชีวิตอยู่ต่างประเทศ สายพิณที่เสียชีวิตไปแล้ว  พี่ๆน้องๆ ที่เหลืออีกสี่คน ต่างยกบ้านอยู่ในบริเวณเดียวกัน สุนันทาภรรยาเขา จัดสำรับเตรียมไว้ให้



        “ไงลูก ดึกแล้ว ทำไมยังไม่นอน” เขาทัก บุตรสาวทั้งคู่



        สุนันทายิ้มๆ พยักหน้าเป็นสัญญาณให้ลูกสาว คนหนึ่งโชว์จี้ห้อยคอเพชรซีกอันเล็ก คนหนึ่งอวด สร้อยข้อมือลายประจำยามเพชรซีกอีกเหมือนกัน ไพฑูรย์ หัวเราะส่งกล่องแหวนให้ภรรยา นั่งลงเริ่มทานอาหาร



        “วันนี้นึกยังไง คุณแม่แจกสมบัติ นันล่ะ คุณแม่ไม่เรียกไปให้อะไรหรือ”



        “ได้เข็มกลัดมาอันหนึ่งค่ะ” สุนันทาตอบยิ้มๆ



        “ของที่ผู้ใหญ่ให้เป็นมงคลนะลูก เก็บไว้ให้ดีๆ” เขาบอกบุตรสาวที่มาลาไปนอน



        “คุณแม่อวดกำไลไหม” ไพฑูรย์ถามภรรยาที่กลับมาจากส่งลูกเข้านอน



        “กำไลอะไรค่ะ”



        สุนันทาถาม เลื่อนกาแฟให้สามี เก็บถ้วยชาม ตอนแต่งงานตกลงกันว่าเธอจะออกมาเป็นแม่บ้านเลี้ยงลูก ปลูกบ้านหลังเล็กๆ ก็พอ  ดังนั้นที่บ้านเธอเลยไม่มีสาวใช้



        “กำไลเงิน หัวเป็นบุษ...อ้า เหมือนยักษ์อมดวงจันทร์นะ” หนุ่มใหญ่จิบกาแฟ มองร่างบางๆ ของภรรยาที่เคลื่อนไหวเหมือนเต้นรำอยู่ในครัวเล็กๆ



        “ไม่ค่ะ แต่เล่าให้ฟัง บอกด้วยว่าคนเกิดพุธกลางคืน ก็เป็นราหู” สุนันทาหันมายิ้มให้



        “อ้าวงั้นผมก็ใช่นะซิ” ไพฑูรย์หยิบถ้วยกาแฟที่หมดแล้วไปวางในที่ล้างจาน เกาะเอวภรรยาไว้



        ภรรยาหัวเราะ “นันก็บอกท่านไปอย่างนั้นเหมือนกัน”



        “ท่านบอกว่า ลูกๆหลานๆ มียักษ์อยู่สองตน ยักษ์ใหญ่คือคุณ ยักษ์เล็กก็ตาน่าน”



        “เออใช่” เขาบอกข้างซอกคอเล็กๆ

        “ยักษ์นี่ กินคนใช่ไหมนะ”



        แล้วไพฑูรย์กับภรรยาก็สนใจในเรื่องอื่นเสียแล้ว ลืมเรื่องที่คุยเริ่มไว้เลย





    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน
    นิยายแฟร์ 2024

    ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×