คืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด
คุณแน่ใจว่าต้องการคืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด ?
ลำดับตอนที่ #5 : [D]องเมียว [อีคิวพลัส]
ในการ์ตูนรอบรู้ตำนานรอบโลก ตอน เจาะตำนานพ่อมด ผจญศึกศาสตร์มหาเวท เราคงได้ทราบเกี่ยวกับศาสตร์ของพ่อมดที่มีผลต่อวิทยาศาสตร์ตะวันตกในปัจจุบันกันไปแล้ว แต่ว่า...แล้วจะมีศาสตร์เวทมนตร์ทางฝั่งตะวันออกที่มีผลต่อวิทยาศาสตร์บ้างไหมน้อ? วันนี้เราจึงได้หยิบยก องเมียวจิ พ่อมดผู้ใช้ศาสตร์แห่งตะวันออกของประเทศญี่ปุ่นมาแนะนำให้เพื่อนๆ รู้จัก ซึ่งหลายๆ คนอาจจะเคยเห็นองเมียวจิในหนังสือการ์ตูนหรือภาพยนตร์มาบ้างแล้ว แต่ลองมาทำความรู้จักกันอย่างละเอียดอีกทีนึงดีกว่านะ!
องเมียวจิ เป็นผู้ศึกษาหลักการของวิถีองเมียว (องเมียวโด) จนเชี่ยวชาญ ทั้งในด้านเวทมนตร์คาถาและโหราศาสตร์ หน้าที่หลักขององเมียวจิคือ การสร้างความสมดุลของบ้านเมืองโดยอาศัยปฏิทินทางดาราศาสตร์คล้ายๆ กับพวกโหรพยากรณ์ และคุ้มครองบ้านเมืองให้พ้นจากสิ่งชั่วร้าย นอกจากนี้ยังสามารถทำนายทายทัก เสริมความเจริญรุ่งเรือง ให้คำแนะนำในการย้ายเมืองหลวง และยังสามารถควบคุมภูติผีวิญญาณได้อีกด้วย ซึ่งหน้าที่ขององเมียวจิทั้งหมดล้วนมีอิทธิพลต่อวิถีชีวิตของชาวญี่ปุ่นในช่วงเวลานั้น เช่น การเพาะปลูกซึ่งต้องพึ่งพาการทำนายสภาพอากาศ การประกอบพิธีเพื่อความอุดมสมบูรณ์ของพืชผลต่างๆ ตลอดจนการทำพิธีปัดเป่าสิ่งอัปมงคลที่ทำให้เกิดเภทภัยต่างๆ ทำให้ในสมัยเฮอัน องเมียวจิจึงมีฐานะเทียบเท่ากับเป็นราชการคนหนึ่ง แต่ในเวลาต่อมา ระบบจักรพรรดิได้เริ่มเสื่อมโทรมลง ทำให้ฐานะหน้าที่ขององเมียวจิขาดผู้สนับสนุน และลดบทบาทลงเรื่อยๆ จนกระทั่งในปัจจุบันองเมียวจิมีหน้าที่อยู่ในรูปของพระในศาสนาชินโต แม้ว่าคนทั่วไปจะเห็นว่า องเมียวจิในสมัยนี้เป็นคนทรงเจ้าหรือพวกใช้เวทมนตร์คาถาก็ตาม แต่ภาพลักษณ์ขององเมียวจิก็ยังดูเป็นผู้ใช้ศาสตร์ชั้นสูงอยู่
อาเบะ โนะ เซเมย์ เป็นองเมียวจิที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในประวัติศาสตร์ของญี่ปุ่น
ศาสตร์องเมียวโดที่นักพรดองเมียวจิยึดปฏิบัติ
องเมียวโดเป็นศาสตร์เวทมนตร์แขนงหนึ่งของญี่ปุ่นซึ่งผสมผสานมาจากวิทยาศาสตร์ธรรมชาติและศาสตร์เวทมนตร์ มีรากฐานมาจากปรัชญาธาตุทั้งห้า (ดิน น้ำ ไฟ ไม้ เหล็ก) และปรัชญาหยินหยาง ซึ่งมีถิ่นกำเนิดมาจากลัทธิเต๋าของประเทศจีน และพัฒนาจนกลายเป็นรูปแบบเฉพาะตัว วิถีองเมียวโดได้เข้าสู่ในประเทศญี่ปุ่นในช่วงราวๆ ศตวรรษที่ 6 และได้รับการยอมรับในด้านโหราศาสตร์ โดยที่ศาสตร์นี้ยังได้รับอิทธิพลของ ลัทธิเต๋า ศาสนาพุทธ และลัทธิชินโต ก่อนจะค่อยๆ พัฒนาจนกลายมาเป็นวิถีองเมียวโดอย่างที่เห็นปัจจุบันในปลายศตวรรษที่ 7 จนกระทั่งกลางศตวรรษที่ 19 องเมียวโดได้ถูกต่อต้านเนื่องจากเชื่อว่าเป็นเรื่องงมงาย และอยู่ภายใต้การควบคุมของระบบจักรพรรดิอีกที
คำว่า "องเมียว" ในภาษาญี่ปุ่น เขียนเหมือนกับคำว่า "หยินหยาง" ในภาษาจีน ซึ่งมีความหมายเหมือนกันคือศาสตร์เกี่ยวกับโหราศาสตร์และและศาสตร์ของลัทธิเต๋า องเมียวโด สามารถอ่านอีกแบบได้ว่า องโยโด
องเมียวจิที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในประวัติศาสตร์ของญี่ปุ่น คือ อาเบะ โนะ เซเมย์ เป็นองเมียวจิสมัยช่วงกลางๆ ยุคเฮอัน เรื่องราวของเขาส่วนใหญ่มักจะปรากฏอยู่ในรูปแบบตำนานมากกว่าเป็นบันทึกที่แน่นอนทางประวัติศาสตร์ แต่ก็มีศาลเจ้าเซเมย์ ซึ่งเป็นศาลเจ้าที่องค์จักรพรรดิได้สร้างขึ้นเมื่อเซเมย์เสียชีวิต ปัจจุบันศาลเจ้านี้ตั้งอยู่ในเกียวโต
ศาลเจ้าเซเมย์ ปัจจุบันตั้งอยู่ในเมืองเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น
ศาสตร์ขององเมียวจิที่สอดคล้องกับวิทยาศาสตร์
หยินหยาง เป็นปรัชญาลัทธิเต๋าของจีน มีหลักแนวคิดว่า ในของสิ่งหนึ่งจะต้องมีด้านตรงข้ามกันเสมอ และแม้หยินกับหยางจะมีลักษณะตรงกันข้ามกัน แต่ทั้งสองก็รวมกันเป็นสิ่งเดียว และรักษาสมดุลซึ่งกันและกัน เช่น ร้อน - หนาว, น้ำ - ไฟ ทำนองเดียวกับวิทยาศาสตร์ในปัจจุบันที่กล่าวว่า ทุกสิ่งทุกอย่างบนโลกเมื่อแยกออกจากกันแล้ว ก็จะประกอบด้วยสิ่ง 2 สิ่ง คือ สสารกับพลังงาน
หลัก 5 ธาตุ เป็นศาสตร์ปรัชญาของจีน โดยทั้ง 5 ธาตุนี้ได้แก่ น้ำ - มีธรรมชาติเปียกชื้นและไหลลงสู่ที่ต่ำ ไฟ - มีลักษณะเป็นเปลวพุ่งขึ้นสู่ที่สูง ไม้ - มีลักษณะโค้งงอหรือตั้งตรง เหล็ก - มีลักษณะที่อาจถูกหลอมและเปลี่ยนรูปร่างได้ ดิน - ใช้เพาะปลูกและเก็บเกี่ยว
รูปแบบความสัมพันธ์ของธาตุทั้งห้า
หนังสือ อู่ ซิง ซวอ ซึ่งเป็นหนังสือโบราณ กล่าวถึงธาตุทั้ง 5 ไว้ว่า ทุกสิ่งทุกอย่างเกิดจากธาตุทั้ง 5 และธาตุทั้ง 5 นี้เป็นส่วนประกอบของทุกสิ่งในโลก ซึ่งศาสตร์ต่างๆ ของประเทศจีนจำนวนมากล้วนมีพื้นฐานมาจากความสัมพันธ์นี้ ซึ่งอธิบายได้ว่า ทุกสิ่งจะมีธาตุหลักของตน หากจัดความสัมพันธ์ให้ถูกต้องย่อมนำมาซึ่งความอุดมสมบูรณ์ รุ่งเรือง (อาศัยหลักแบบ น้ำดับไฟ ไฟหลอมเหล็ก เหล็กตัดไม้ ไม้ทำลายดิน และดินกั้นน้ำ) เมื่อใช้ความคิดนี้อธิบายสิ่งต่างๆ เช่น ฮวงจุ้ย ฟิสิกส์ คณิตศาสตร์ เคมี ว่าเอาอะไรผสมอะไรแล้วเกิดเป็นอะไร ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศฝั่งตะวันออกจึงได้ถือกำเนิดขึ้นมา
อ้างอิง
http://en.wikipedia.org/wiki/Abe_no_Seimei
http://en.wikipedia.org/wiki/History_of_science_and_technology_in_China
http://en.wikipedia.org/wiki/Onmyoji
http://en.wikipedia.org/wiki/Wu_Xing
http://en.wikipedia.org/wiki/Yin_and_yang
http://en.wikipedia.org/wiki/Image:Yin_and_Yang.svg
http://paipu.justblog.jp/photos/uncategorized/2008/01/28/08012802.jpg
http://static.flickr.com/101/290402511_b2d3f2f31a.jpg
http://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/5/5a/Abe_Seimei.jpg
http://upload.wikimedia.org/wikipedia/en/0/07/FiveElementsCycleBalanceImbalance.jpg
สืบค้นเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2551
___________________________________________
ข้อมูลจาก องเมียวจิ อีคิวพลัส
ความคิดเห็น