ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    -ночь- NighTime' รับวิจารณ์นิยาย

    ลำดับตอนที่ #36 : SENT :: ภารกิจอลวน ภาค Mystic Day [คุณอู๋]

    • เนื้อหานิยายตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 94
      0
      26 มิ.ย. 60

    ภารกิจอลวน ภาค Mystic Day

    สวัสดีครับผม ถ้าผมจำไม่ผิด คุณอู๋นี่คือหนึ่งในสองคุณเอสินะครับ? ตอนแรกไม่คุ้น พอวิจารณ์เรื่องนั้นมาเลยคุ้นๆ 55555 ก็ต้องขอฝากตัวอีกรอบด้วยนะครับ ^ ^

    1
    .ชื่อเรื่อง (8 คะแนน/10 คะแนน) ชื่อเรื่องเข้ากับเนื้อเรื่องและอารมณ์ของเรื่องดีนะครับ อารมณ์เฮฮาไม่พาเครียด แต่ผมยังงงกับชื่อภาคอยู่ครับ ว่าเกี่ยวข้องกับเนื้อเรื่องอย่างไร

     

    2.เนื้อเรื่อง (21 คะแนน/30 คะแนน) เนื้อเรื่องเรื่องนี้ แม้จะพล็อตค่อนข้างเดิมๆ เห็นได้ทั่วไป แต่โดยรวมจัดว่าอ่านเพลินดีครับ แต่ต้องแอบอ่านแบบไม่คิดอะไรมาก ซึ่งอย่างผมเป็นพวกอ่านแล้วคิดเยอะ เลยอาจจะไม่ใช่แนวเท่าไหร่ เพราะหลายอย่างก็แอบติดใจตรงนู้นตรงนี้บ้าง แต่สิ่งที่ชอบในเรื่องนี้ คือ ความสร้างสรรค์ จากเผ่าพันธุ์ต่างๆ สภาพอากาศ อาหาร เครื่องดนตรี อะไรพวกนี้ทำให้เรื่องนี้มีเอกลักษณ์ของมันเองในจุดนี้ เพราะงั้นสำหรับแนวผจญภัย นิยายเรื่องนี้ก็ถือว่าน่าอ่านครับ เพราะคนอ่านได้ค้นพบสิ่งใหม่ๆ ไปกับพวกตัวเอกดี

                การดำเนินเรื่อง ค่อนข้างไหล่ลื่น เดินไปเรื่อยๆ ไม่ช้าไม่เร็วดีครับ มีระยะเวลาให้ผู้อ่านย่อยข้อมูลทุกอย่างที่อ่านไป แต่หลายสิ่งหลายอย่างอาจจะเกิดปุ๊บปั๊บไปหน่อย และไม่ต้องมีสาเหตุก็เกิดได้ อะไรประมาณนั้น อย่างระบบของสมาคมที่ดูไม่มีระบบระเบียบเท่าไหร่ เหมือนมีการคัดคนสักนิดว่าคนนี้เหมาะกับภารกิจรึเปล่าอะไรแบบนี้ หรือพวกตัวเอกที่เดินตามเรื่องง่ายไปหน่อย(อันนี้จะขอไปกล่าวในส่วนของตัวละครอีกทีหนึ่ง) แต่โดยรวมก็โอเคอยู่ครับ

    เรื่องหนึ่งที่ผมคาใจ คือ ภารกิจ “ส่งกลับอนาเธอร์เวิลด์” ครับ คือถ้าอ่านตอนแรก จะคิดว่อเดอฟิน่ากับลินดาหาทางกลับไม่ได้ เลยต้องการคนหาคนมาช่วยตามหาวิธีเปิดประตูมิติส่งตัวเองกลับ แต่พอมาเจอกลับสร้างประตูมิติได้เฉย อย่างนี้ทำไมพวกฮาเซลถึงไม่สงสัยหรอครับ? หรือคิดว่าต้องพาไปส่งที่ที่ใดที่หนึ่งในอนาเธอร์เวิลด์? อันนี้ผมสงสัยจริงๆ นะ คือถ้าเขียนเป็นงานคุ้มกันไปเลยจะชัดเจนกว่าประมาณนั้นครับ

    นอกจากนี้ผมรู้สึกว่า “อนาเธอร์เวิลด์(เวิร์ล)” ให้ความรู้สึกผิดคาดครับ เรื่องจับดัดนิสัยอันนั้นพอเข้าใจได้ครับ แต่ทุกคนในอนาเธอร์เวิลด์เนี่ย เป็นอาชญากรเก่า ถูกต้องมั้ยครับ? หรือผมเข้าใจผิด? เพราะถูกขับไล่ก็ต้องมีสาเหตุร้ายแรงที่ให้อภัยไม่ได้ หรือเป็นปิศาจทุกตัวหรอครับ? จะว่ายังไงดีล่ะ ทุกคนดูสู้ไม่เป็นอย่างน่าประหลาดน่ะครับ คือต่อให้เป็นแค่ชาวบ้านที่นี่ แต่อย่างน้อยก็น่าจะมีฝีมือด้านการต่อสู้ ผมคิดว่าแค่ดัดนิสัยคงไม่ทำให้ฝีมือลดลงด้วย

    บทที่1 ในฉากแรกของตอนเลยครับ ที่บรรยายว่าชายหนุ่มวิ่ง แล้วพอเห็นเพื่อนสาวหันไปถึงฉุกขึ้นได้ว่าวิ่งหนีบางอย่างอยู่ แล้วค่อยพบว่ามีบางสิ่งกำลังตามมา ตรงนี้แอบประหลาดครับ เหมือนการหันไปด้านหลังในบริบทนี้ น่าจะเป็นการหันด้วยความคิดที่ว่า “อะไรที่ตามพวกเขามา” จึงแปลกที่พอหันไปแล้วพบว่า “มีบางสิ่งกำลังตามหลังมา” มันน่าจะเป็นการพบว่า “สิ่งที่ตามมาคืออะไร” มากกว่าครับ แล้วก็ตรงฉุกคิด อาจจะเสริมกันงงไปหน่อยว่า เผลอคิดนอกเรื่อง อะไรแบบนี้ เพราะเหมือนจะวิ่งกันอยู่ แล้วผู้ชายก็เผลอมองหลงเพื่อนสาวตัวเองอะไรแบบนี้สินะครับ?

    บทที่สาม มีตอนหนึ่งที่อธิบายว่า “เพราะเวทมนตร์ของเวลเตอร์บวกกับอากาศที่หนาวเย็นทำให้เมื่อคืนหลับสบาย...” ปกติอากาศหนาวเย็นน่าจะไม่สบายนะครับ?

    บทที่เจ็ด ผมประหลาดใจตรงที่พัศดีเล่าเรื่องรายละเอียดคุกให้บาราโกเอลฟัง ทั้งๆ ที่รู้ดีว่าเป็นใคร แต่ก็ยังเล่าถึงการรักษาความปลอดภัยต่างๆ น่ะครับ ซึ่งปกติ ต่อให้เป็นคนของทางการก็ไม่น่าจะเล่ารายละเอียดพวกนี้ให้ฟังสักเท่าไหร่ มันจะยิ่งทำให้ความปลอดภัยหละหลวมไม่น่าเชื่อถือครับ

     

    3.การใช้ภาษา (21 คะแนน/35 คะแนน) จากที่ผมอ่าน ผมเดาว่าคุณอู๋คงจะเป็นคนรับผิดชอบด้านการบรรยายของอีกเรื่องสินะครับ? ลักษณะการใช้คำและการบรรยายใกล้เคียงเรื่องนั้นค่อนข้างมากครับ ภาษาค่อนข้างดี ใช้คำสวย แต่ภาษาโดยรวมยังไม่ลื่นเท่าไหร่ครับ

                เรื่องแรกที่อยากจะพูดถึง คือ เรื่องความสม่ำเสมอของภาษาครับ ภาษาของคุณอู๋บางช่วงอ่านลื่น ภาษาสวย อ่านเพลินๆ แต่บางช่วงยังดูสะดุดและใช้ภาษาออกมาทางค่อนปัจจุบัน ง่ายๆ ประมาณนี้น่ะครับ ถ้าเป็นไปได้ ใช้ภาษาให้สม่ำเสมอจะอ่านเพลินกว่า แล้วก็ตรงนี้รวมถึงคำศัพท์เฉพาะหรือชื่อต่างๆ ในเรื่องด้วยนะครับ อย่าง “อนาเธอร์เวิร์ล” ในบทนำ แต่บทแรกเขียนต่างเป็น “อนาเธอร์เวิลด์”

                แล้วก็มีเรื่องของการใช้ไม้ยมกบ่อยครับ อย่างรอบๆ กาย รอบๆ เรื่อยๆ ค่อยๆ ข้างๆ จริงๆ ซึ่งบางทีไม่จำเป็นต้องใช้รูปไม้ยมกก็ได้ครับ เช่น ในบทแรกที่บรรยายว่า “ภาพรอบๆ กายก็มืดมิดลงชั่วขณะ...” อย่างรอบๆ กาย สามารถใช้เป็น “รอบกาย” ได้เลยครับ อีกเครื่องหมายที่คุณอู๋ติดใช้นอกจากไม้ยมก คือ อัศเจรีย์ (!) ครับ ผมพอจะเข้าใจว่าต้องการให้เห็นถึงความตื่นเต้น ตกใจ ลุ้น อะไรแบบนี้ แต่ถ้าใช้มากไป บางทีมันทำให้อารมณ์ของเรื่องเสียได้น่ะครับ ถ้าเป็นไปได้ ใช้ในประโยคที่สำคัญจริงๆ หรือถ้ามีความตื่นเต้นตกใจ ใส่ไว้ท้ายสุดครั้งเดียวก็พอแล้วล่ะครับ เช่น ในบทที่หนึ่ง ตรงรับภารกิจ “แถมจะปฎิเสธหัวหน้าตอนนี้มันก็ดูไม่ดีซะด้วย! เหล่าทวยเทพคงกำลังกลั่นแกล้งเขาเป็นแน่!” ผมว่าอันแรกไม่ต้องใส่ก็ได้ครับผม

                ถัดมาก็เรื่องของการใช้คำพ้องความหมาย คล้ายๆ กับบทวิจารณ์ในเรื่อง Fantasy Party ครับ คือยังใช้คำไม่ได้หลากหลายมากนัก ที่โดดเด่นออกมาเลยก็เป็นเรื่องคำเชื่อม “ผู้” ซึ่งสามารถใช้คำแทนได้หลายคำ เช่น “ที่ ซึ่ง อัน” และอื่นๆ แต่คุณอู๋ดูจะติดใช้คำว่า “ผู้” เป็นพิเศษครับ หรืออย่างในบทแรกที่มักจะแทนตัวเพื่อนสาวว่า “นาง” และแม่มดว่า “หล่อน” อาจจะใช้ เธอ หญิงสาว ร่างบาง พวกนี้แทนได้ครับ แล้วก็อีกส่วนคือเวลาเปรียบสีครับ เช่น สีผมของฮาเซล ที่เป็นโกโก้ อาจจะใช้น้ำตาลแทนได้ สีตาของไอริเรียมที่มักจะเป็น มรกต ก็สามารถใช้ใบไม้(เข้ม/แก่/อ่อน) ตามเฉดที่ต้องการแทนได้ เป็นต้น

    บทนำ คำผิด อนาเอทร์เวิร์ด – อนาเทอร์เวิร์ล

    - ไม่แน่ว่านักเดินทางอาจจะมองเห็นเขาผ่านเข้ามามากทางหน้าต่างตอนที่เขาเดินไปห้องน้ำ

                ผมว่าคำขยายของคุณอู๋แอบแปลกๆ ในประโยคนี้ครับ เหมือนขยายแล้วได้ใจความคนละแบบอะไรแบบนี้ น่าจะเป็น “ไม่แน่ว่านักเดินทางอาจจะมองเข้ามาเห็นเขาผ่านทางหน้าต่างตอนที่เขาเดินไปห้องน้ำ” หรือ “ไม่แน่ว่านักเดินทางหลายคนอาจจะมองเห็นเขาตอนที่เขาเดินไปห้องน้ำผ่านเข้ามาทางหน้าต่าง” อะไรแบบนี้ครับ

    - เธอน่าจะเป็นเอลฟ์ถ้าดูจากใบหน้าที่งดงามรวมกับผิวพรรณผ่องใสเป็นประกาย มันไม่แปลกหรอก...

                ผมรู้สึกว่า การบรรยายว่า “น่าจะ” ทำให้บริบทโดยรวมดูแปลกครับ อย่างหญิงสาวครึ่งแมวเองก็ไม่ได้มีน่าจะแต่อย่างไร แถมด้วยตัวผู้แต่งซึ่งเป็นคนบรรยาย(ในมุมมองของบุคคลที่สาม)ก็รู้อยู่แล้วว่าเป็นเอลฟ์ ผมเลยคิดว่าเขียนให้เป็นการบอกเล่าไปเลยน่าจะดีกว่าครับว่าเป็น เอลฟ์ เช่น “ด้วยใบหน้าที่งดงามรวมกับผิวพรรณผ่องใสเป็นประกายก็สามารถบอกได้ไม่ยากเลยว่าเธอคือพงศ์พันธุ์แห่งเอลฟ์” หรือจะ “เธฮนั้นคือสาวชาวเอลฟ์ ดูจากใบหน้าที่งดงามรวมกับผิวพรรณผ่องใสเป็นประกาย”

                แล้วก็ผมว่า ลักษณะเด่นของเอลฟ์ น่าจะดูที่หูแหลมเรียวด้วยรึเปล่าครับ?

    บทที่1 คำผิด เรือนราง – เลือนราง , ปกคอ – ปรกคอ , ท้าวคาง - เท้าคาง , กระต่าง – กระต่าย , รังเกลียด – รังเกียจ , เชื่อ - เชื่อง

    - ชายหนุ่มได้ยินเสียงหอบหายใจอย่างเหน็ดเหนื่อย ของตนได้อย่างชัดเจน

                ไม่ต้องเว้นวรรคระหว่าง “เหน็ดเหนื่อย” กับ “ของ” นะครับ

    - พวกเขารู้ว่าคนสวนกำชับไม่ให้เข้าสู่เขตแดนของป่าแล้ว

                พอมีคำว่า “แล้ว” ทำให้ความหมายเป็นเชิงประมาณว่า เคยเข้าไปได้ แต่ตอนนี้เข้าไม่ได้ ซึ่งผมไม่แน่ใจว่าตรงนี้จะสื่ออย่างนั้นรึเปล่า ถ้าไม่ใช่ผมคิดว่าตัดคำว่า “แล้ว” ออกดีกว่าครับ

    - ...แล้วจ่ายเศษเงินค่าเสียเวลาให้คนเฝ้ามาเรียบร้อย

                ตรงนี้แทนที่คำว่า “มา” ผมว่าน่าจะใช้คำว่า “ไป” แทนครับ เพราะเป็นการกระทำที่ออกจากตัว คือ ให้เขาไป ไม่ใช่การกระทำเข้าหาตัว อย่าง รับมา

    - เขาถามพร้อมรอยยิ้มหวาน

                ผมเห็นว่ารองหัวหน้าเป็นผู้หญิง เลยคิดว่าใช้ “เธอ” แทน “เขา” จะทำให้ไม่สับสนดีครับ

    - แต่ก็มีใครคนหนึ่งที่กำลังมีความสุขอย่างมากหลังจากเธอคนนั้นรู้ว่ากำลังจะมีคนทำภารกิจที่ตนขอไปตั้งเนิ่นนานพอส่องดูด้วยลูกแก้วมนตราของตน

                อันนี้ขยายความแปลกๆ เหมือนในบทนำเลยครับ มันขยายความซ้ำซ้อนจนตั้งแต่ “พอส่อง...” เหมือนจู่ๆ ก็โผล่ขึ้นมา อาจจะใช้เป็น “แต่ก็มีใครคนหนึ่งที่กำลังมีความสุขอย่างมากหลังจากเธอคนนั้นส่องดูด้วยลูกแก้วมนตราของตนแล้วรู้ว่ากำลังจะมีคนทำภารกิจที่ตนขอไปตั้งเนิ่นนาน” น่าจะเป็นแบบนี้มากกว่าครับ

    ปกติแล้ว เวลาเราขยายถึงการกระทำต่างๆ ที่ทำให้เกิดอาการ อารมณ์หรือความรู้สึก ส่วนมากจะเรียงตามลำดับการกระทำ(สาเหตุและผลลัพธ์)เพื่อไม่ให้ประโยคมันอ่านยากด้วยครับ เช่น “เขาตกใจ(ที่เดินลงบันไดแล้วสะดุดล้มก่อนจะพบว่าตนเองสะดุดเชือกรองเท้า)” กับ “เขาตกใจ(ที่พบว่าตนเองสะดุดเชือกรองเท้าจนเดินบันไดแล้วสะดุดล้ม)” (ในวงเล็บคือส่วนขยายอาการ ตัวหนาคือคำเชื่อม) ประโยคแรกคือรูปแบบเดียวกันกับของคุณอู๋ครับ เป็น “ความรู้สึกหลังจากได้ผลลัพธ์(ตกใจ) > ผลลัพท์(สะดุดล้ม) > สาเหตุที่ทำให้เกิดผลลัพธ์นั้น(สะดุดเชือกรองเท้า)” กับประโยคหลังที่เอาสาเหตุขึ้นก่อนผลลัพธ์ ถ้าลองอ่านดูดีๆ ประโยคแบบหลังจะเข้าใจได้ง่ายกว่า และไม่แปลกเหมือนประโยคแรก หรือถ้าไม่งั้นก็ต้องใช้คำเชื่อมดีๆ ที่ทำให้ประโยคอ่านแล้วไม่รู้สึกขัดครับ เช่น เขาตกใจที่เดินลงบันไดสะดุดล้มเพราะสะดุดเชือกรองเท้า หรือถ้านำประโยคของคุณอู๋มา ก็จะได้เป็น “แต่ก็มีใครคนหนึ่งที่กำลังมีความสุขอย่างมาก(หลังจากเธอคนนั้นรู้ว่ากำลังจะมีคนทำภารกิจที่ตนขอไปตั้งเนิ่นนานเมื่อส่องดูด้วยลูกแก้วมนตราของตน)” เป็นต้นครับ

    บทที่2 คำผิด สู่ - สู้ , อึ่ง – อึ้ง , กวักแกว่ง - กวัดแกว่ง

    - เจ้าเสือนั่นคงไม่ทำอะไรข้าไหม

                น่าจะเป็น “ใช่ไหม” มากกว่าครับ

    - อีกฝ่ายเป็นชายหนุ่มที่หล่อเหลาอยู่ไม่เบา แต่กระนั้น ถ้าเกิดจับแต่งเป็นผู้หญิงคงสวยอยู่ไม่เบา

                ผมว่าลองหาคำอื่นมาแทน “อยู่ไม่เบา” ตัวใดตัวหนึ่งดีกว่าครับ พอใช้คำซ้ำในประโยคแบบนี้ทำให้อ่านไม่ลื่นเท่าไหร่นัก แถมยังให้ความรู้สึกเหมือนอ่านวนประโยคซ้ำอีกรอบ อาจจะเป็น “- อีกฝ่ายเป็นชายหนุ่มที่หล่อเหลาใช่หยอก แต่กระนั้น ถ้าเกิดจับแต่งเป็นผู้หญิงคงสวยอยู่ไม่เบา” หรือ “- อีกฝ่ายเป็นชายหนุ่มที่หล่อเหลาอยู่ไม่เบา แต่กระนั้น ถ้าเกิดจับแต่งเป็นผู้หญิงคงสวยไม่น้อย” เป็นต้นครับ

    บทที่3 คำผิด รุ่งเรื่อง - รุ่งเรือง

    บทที่4 คำผิด คลื่นไว้ – คลื่นไส้ , เกรียว – เกลียว , ร้อง - ร้อย , แนะ - แหนะ

    บทที่5 คำผิด หน้าหมั่นไส้ - น่าหมั่นไส้ , บ่าง – บ่าย , ขับไล้ - ขับไล่

    - ส่วนสัตว์ทั้งสามก็คงกำลังพากันกลิ้งเกลือกบนพื้นหิมะอยู่นอกบ้าน

                เหตุผลเดียวกับ “น่าจะ” ก่อนหน้านี้ครับ

     

    4.ตัวละคร (9 คะแนน/15 คะแนน) ตัวละครเรื่องนี้สามารถค่อยๆ ทยอยแนะนำได้ดีนะครับ ทำให้ผู้อ่านจำตัวละครได้ง่าย แต่เรื่องของบุคลิกลักษณะของตัวละครยังไม่เด่นชัดมากนัก อาจจะมีอย่างบาราโกเอลที่มีความเด่นเป็นของตัวเอง ไอริเรียมที่ใช้ความรู้สึกแบบสาวแกร่ง เย็นชา แต่คนอื่นๆ ยังทำในส่วนนี้ได้ไม่ดีเท่าไหร่ครับ อย่างนิสัยของฮาเซลกับเวลเตอร์ที่แตกต่างกันเด่นชัดจะเป็นเรื่องอาวุธ กับเรื่องที่ฮาเซลจะดูใจเย็นกว่าหน่อย แต่ทั้งสองคนก็จะให้อารมณ์ของเด็กวัยรุ่นธรรมดาเหมือนกัน ส่วนลิดากับเดอฟิน่าก็มีนิสัยที่ดูคล้ายกันมาก ประมาณนั้นครับ จะเรียกว่าตัวละครแต่ละตัวยังไม่ค่อยมีมิติเท่าไหร่ก็ว่าได้ครับ แต่เรื่องของการบรรยายลักษณะตัวละคร การกระจายบทอะไรพวกนี้ก็จัดว่าทำได้ดีอยู่ครับ อ่านแล้วไม่ค่อยรู้สึกว่ามีใครถูกลืมสักเท่าไหร่

                ในบทที่สาม ลินดาหัวเราะออกมาเป็นเสียง “อิอิ” ซึ่งลองคิดตามหลักความเป็นจริงแล้ว คนเราไม่หัวเราะแบบนั้นน่ะครับ

     

    5.การจัดรูปแบบ (10 คะแนน/10 คะแนน) อ่านง่ายดีครับ ขนาดตัวอักษรก็ไม่เล็กเกินไป มีการย่อหน้าอะไรชัดเจน อ่านสบายตาดีครับผม พาร์ทอดีตก็มีการใช้ ‘…’  แทนเครื่องหมายคำพูดชัดเจนดีด้วยเหมือนกัน

     

    รวมคะแนน 69 คะแนน/100 คะแนน

     

    ผมเป็นนักวิจารณ์ฝึกหัด อาจจะมีผิดพลาดประการใดก็ขออภัยด้วยนะครับ ^ ^

    ผมเป็นคนเกณฑ์สูงครับ สารภาพตามตรงเลย แล้วก็ค่อนข้างจู้จี้จุกจิก เรื่องมากอีกหน่อย แหะๆ

    อาจจะยาวไปบ้าง แต่ทุกอย่างผมตั้งใจวิจารณ์ทุกรายละเอียดเท่าที่ผมสามารถทำได้ครับ

    ถ้ามีส่วนไหนก็ผมอ่านแล้วเข้าใจผิดไปก็ต้องขออภัยด้วยเช่นกันครับ

    ขอบคุณที่ใช้บริการร้านวิจารณ์ของผมนะครับ  ^ ^

     

    RECEIVE’

    ชื่อของท่าน :

    นามปากกา :

    วันที่รับงาน :

    ความรู้สึกต่องานวิจารณ์ :

    รบกวนแปะแบนเนอร์และโหวตให้ด้วยนะครับ :

    เพิ่มเติม (คำติชม ฯ) :

    ขอบคุณที่ไว้ใจผมให้ทำงานวิจารณ์ชิ้นนี้นะครับ หากมีข้อสอบถามอะไรเพื่อพัฒนาผลงานท่านสามารถสอบถามผมได้ ถ้าผมตอบได้ก็จะช่วยเต็มที่ครับ แล้วก็หากมีผลงานชิ้นใหม่ ยินดีต้อนรับที่ NighTime’ รับวิจารณ์นิยายนะครับ  ^ ^

     

     

     

     

      
    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×