ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    อนุบาลถ้ำหมีน้อย - หลักสูตรพื้นฐานสำหรับคน(หัด)เขียนนิยาย

    ลำดับตอนที่ #2 : คาบแรก - ปมขัดแย้งของเรื่อง

    • อัปเดตล่าสุด 23 ส.ค. 53



    1. ประเภทของนักเขียน

    ถ้าใครเคยอ่านการ์ตูนเรื่อง "บาคุแมน" ก็อาจจะคำพูดของ บก.ฮัตโตริได้
    ที่ว่า "นักเขียนมีอยู่สองประเภท

    ประเภทที่หนึ่ง คือ เขียนการ์ตูนโดยใช้สัญชาตญาณหรือเซนส์

    อีกประเภทหนึ่ง คือ ต้องคิดคำนวณก่อนเขียน (พูดง่ายๆ คือใช้สมองนั่นแหละ)


    ผมเคยอ่านบทสัมภาษณ์ของนักเขียนมืออาชีพในเมืองไทยก็พบว่า
    นักเขียนก็มีสองประเภทเหมือนกัน

    บางท่านเขียนนิยายให้สนุกและมีเสน่ห์ได้โดยไม่ต้องคิดอะไร


    บางท่านก็เขียนนิยายด้วยการคิดคำนวณอย่างเป็นระบบ
    (เช่นนักเขียนสองซีไรต์อย่างคุณวินทร์ เลียววาริณ)


    ผมเป็นประเภทแรก...


    คือคิดยังไงก็เขียนยังงั้นเลย ไม่มีการคำนวณอะไรทั้งสิ้น
    ถ้าใครถามว่าคิดพล็อตได้ยังไง เขียนนิยายได้ยังไง
    คงต้องตอบแบบกำปั้นทุบดินว่า
    "ไม่รู้สิ อยู่ๆ พล็อตมันก็ตกใส่หัวเองมั้ง"

    ทีนี้พอมีคนมาปรึกษาประมาณว่า
    "ช่วยเล่าวิธีการแต่งนิยายตั้งแต่ต้นจนจบให้หน่อยได้ไหมครับ"

    งานเข้าสิครับพี่น้อง...

    ตอนแต่งน่ะไม่ได้คิดอะไรหรอก
    แต่พอต้องอธิบายว่าแต่งได้ยังไงนี่ต้องเริ่มคิดแล้ว

    ผมเลยต้องขอเอาทฤษฎีวรรณกรรมบางส่วนมาช่วยเสริม
    เพื่ออธิบายและวิเคราะห์วิธีการแต่งนิยายของผม


    2. ปมขัดแย้งของเรื่อง


    นักวิชาการด้านวรรณคดีท่านหนึ่งเคยกล่าวไว้ว่า
    (ดังเหมือนกันแต่จำชื่อไม่ได้แล้ว ไว้จำชื่อได้จะบอกทีหลังนะครับ)

    "เทพปกรณัมของชาติดใก็ตามล้วนเกิดจากภาวะของคู่ขัดแย้ง"

    ศาสนาคริสต์คือปมขัดแย้งระหว่างมนุษย์กับพระเจ้า (มนุษย์ไม่เชื่อฟังพระเจ้า)

    เทพปกรณัมของฮินดูเกิดจากปมขัดแย้งระหว่าง ธรรมะและอธรรม
    (พระวิษณุต้องอวตารลงมาปราบมารทุกที)

    เทพปกรณัมของกรีกก็เป็นปมขัดแย้งระหว่างมนุษย์และเทพเจ้า
    (แต่ปัญหาส่วนใหญ่เทพเจ้าจะเป็นคนก่อ
    เพราะเทพเจ้ากรีกเองก็ไม่ได้ดีไปกว่ามนุษย์เท่าไรหรอก)

    ศาสนาพุทธของเราคือปมขัดแย้งระหว่างทุกข์และการดับทุกข์

    นักวรรณคดีบางท่านถึงกับลงความเห็นว่า
    "หากไม่มีความขัดแย้งก็ไม่มีโครงเรื่อง(พล็อต)"

    ลองคิดดูว่าถ้า สาวน้อยคนหนึ่ง ทั้งสวย ทั้งรวย ครอบครัวอบอุ่น
    พบรักที่บริสุทธิ์ ได้แต่งงานกับชายที่ตนรัก และมีความสุขตั้งแต่ต้นจนจบ
    ยังงี้ก็เหมือนไม่มีโครงเรื่องนั่นแหละ

    ความขัดแย้งนั้นแบ่งได้สาม 3 ประเภทด้วยกันคือ

    1. ความขัดแย้งระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ (man against man)


    2. ความขัดแย้งระหว่างมนุษย์กับสิ่งแวดล้อม (man against environment)


    3. ความขัดแย้งระหว่างมนุษย์กับตนเอง (man against himself)


    ความขัดแย้งแบบที่หนึ่งเช่น
    การต่อสู้ระหว่างธรรมะกับอธรรม สงครามการฆ่าฟันกัน
    นิยายแฟนตาซีที่พระเอกต้องสู้กับศัตรู
    (ต่อให้ศัตรูจะเป็นอสูรกาย ก็จัดเป็นแบบที่หนึ่ง
    เพราะอสูรในนิยายก็เหมือนตัวแทนของมนุษย์ที่ชั่วร้าย)

    แบบที่สองก็เช่น
    หนังเกี่ยวกับภัยธรรมชาติที่พระเอกต้องหนีเอาตัวรอดจากภัยพิบัติ
    (จะภูเขาไฟระเบิด น้ำท่วมโลก แผ่นดินไหว หรืออะไรก็ตาม)

    รวมถึงหนังที่พระเอกถูกกดดันจากสังคม
    โดนบีบคั้นจากชะตากรรมอันโหดร้าย
    อย่างเรื่อง "คำพิพากษา" ของชาติ กอบจิตติ
    หรือ "คนนอก" ของอัลแบร์ กามู


    แบบที่สามเช่น
    ความขัดแย้งภายในใจของตัวเอก
    เช่นพระเอกไปหลงรักแฟนของเพื่อนสนิท
    แล้วพระเอกต้องเลือกระหว่าง "คุณธรรม" คือไม่ทรยศเพื่อน
    หรือจะปล่อยใจไปตาม "ความรัก" ที่เป็นกิเลส
    แล้วแย่งผู้หญิงคนนั้นมาจากเพื่อน

    รวมถึงปมจากสภาร่างกายของพระเอก
    เช่นพระเอกเป็นคนพิการและต้องต่อสู้กับความพิการเป็นต้น


    ในความเป็นจริงนิยายเรื่องหนึ่งจะมีปมขัดแย้งมากกว่าหนึ่งปมก็ได้

    เช่นเรื่องไททานิกนั้น
    มีปมหลักคือการเอาตัวรอดจากอุบิตเหตุเรือล่ม (แบบที่สอง)
    แต่พี่ฮอลลีวู้ดกลัวหนังจะไม่มันเลยต้องใส่ตัวร้าย
    เอาไว้คอยไล่ล่าพระเอกกับนางเอก (แบบที่หนึ่ง)


    หรืออย่างลอร์ดออฟเดอะริงนั้น
    ตัวเอกต้องเอาแหวนไปทิ้งที่ปากปล่องภูเขาไฟ
    เพื่อกำจัดอสูรร้าย (จำชื่อไม่ได้ละ) นำสันติสุขกลับมาสู่มิดเดิลเอิร์ธ (แบบที่หนึ่ง)

    แต่โฟรโดก็ต้องต่อสู้กับจิตใจตัวเองเพื่อไม่ให้แพ้อำนาจของแหวนด้วย
    (แบบที่3) เป็นต้น


    ที่ผมต้องยกทฤษฎีเกี่ยวกับปมขัดแย้ง ก็เพื่อให้เพื่อนๆ ได้ลองวิเคราะห์
    นิยาย หนัง หรือการ์ตูนตัวเองชอบดูว่าในนั้นมีปมอะไรบ้าง

    แต่ที่จริงแล้วปมขัดแย้งไม่ได้มีอยู่แต่ในเรื่องแต่งเท่านั้น
    เพราะพวกมันอยู่ในทุกอณูของชีวิตเรานี่เอง

    อย่างวันก่อนมีเพื่อนมาบ่นทำนองว่า
    "ไม่อยากมีลูก เพราะเด็กสมัยนี้ทำตัวไม่น่ารักเหมือนเด็กๆ
    ชอบเถียงคำไม่ตกฟาก แล้วแทนที่พ่อแม่จะอบรม ก็กลับชมว่าลูกฉันเก่ง"

    ปมขัดแย้งคือ "เพื่อนไม่อยากมีลูกเพราะเด็กสมัยนี้ทำตัวไม่น่ารักเหมือนเด็ก"
    (เป็นแบบที่สอง คือความขัดแย้งระหว่างคนกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป)
    แค่นี้ผมก็เอามาแต่งเป็นเรื่องสั้นได้แล้วว่า...

    ---------------------------------------------------------------------------------------------------------

    (เรื่องเริ่มที่ "นก" กับ "ต่อ" นั่งคุยกัน)

    นก: นี่ต่อ ฉันไม่อยากมีลูกเลย

    ต่อ: ทำไมล่ะนก

    นก
    : เธอไม่เห็นหรือว่าเด็กสมัยนี้นะโตเกินวัย
    วันก่อนฉันเห็นเด็กห้าขวบยืนเถียงพ่อแม่ฉอดๆๆ
    นี่ถ้าเป็นลูกฉันล่ะก็โดนตบหัวคว่ำไปแล้ว


    ต่อ
    : ถ้าเราเลี้ยงลูกดีๆ ก็ไม่เป็นไรหรอกมั้ง


    นก: ไม่ใช่แค่นั้นนะ บางคนยังเป็น "เด็กหญิง" อยู่เลยก็มีลูกซะแล้ว
    วันก่อนฉันเห็นข่าวเด็กนักเรียน 9 คน รุมโซมนักเรียนหญิง
    นี่ถ้าลูกฉันต้องไปอยู่ในสังคมแบบนั้นก็ไม่รู้จะเป็นไงบ้าง
    พวกสื่อเดี๋ยวนี้ก็น่ากลัว... ลูกฉันต้องเสียคนแน่ๆ เลย


    (ต่อกับนกคุยกันทำนองนี้อีกสักพักหนึ่ง
    ก็มีเสียงประชาสัมพันธ์จากภายในโรงเรียนดังขึ้น)

    เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์: เด็กชายต่อ เด็กหญิงนก
    ผู้ปกครองมารอรับที่หน้าโรงเรียนแล้วนะคะ


    (เรื่องหักมุมตรงที่ ต่อ กับ นก เป็นแค่เด็กป.1!
    และเด็กหญิงนก คงไม่เข้าใจเรื่องที่ตัวเองพูดหรอก
    ก็แค่จำคำพูดของพวกผู้ใหญ่มาพูดเท่านั้นเอง - พูดง่ายๆ คือแก่แดด!)

    ---------------------------------------------------------------------------------------------------------

    ด้วยปมแบบนี้ก็เขียนเป็นเรื่องสั้นได้แล้วหนึ่งเรื่อง...
    ขอให้ระลึกไว้เสมอว่ามี "ปม" เท่ากับมี "พล็อต"

    นิยายก็คือเรื่องที่มี "พล็อตหลัก" 1-2 พล็อต (หรืออาจจะมากกว่า)
    และ "พล็อตรอง" อีกหลายๆ พล็อตมารวมกัน

    และ "ปม" ที่เป็นวัตถุดิบในการเขียนนิยายก็มีอยู่ในชีวิตประจำวันของเรา

    "ฝนตกรถติดไปโรงเรียนสายโดนครูตี" ก็คือปม...

    "แอบชอบผู้หญิงคนหนึ่งแต่ไม่รู้จะจีบยังไง" นี่ก็คือปม...

    ข่าวต่างๆ ตามหน้าหนังสือพิมพ์ก็เป็นปม...

    หากมองได้แบบนี้แล้ว เราก็จะมีพล็อตมากมายจนหยิบมาเขียนได้ไม่หมดไม่สิ้น
    แต่การจะเอาพล็อตเล็กๆ หลายๆ พล็อตมาปะติดปะต่อยังไงให้เป็นเรื่องนั้น
    ผมจะขอเอาไว้เล่าต่อในคาบต่อไปนะครับ ^^

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×