Wushu (อู่ซู่) - Wushu (อู่ซู่) นิยาย Wushu (อู่ซู่) : Dek-D.com - Writer

    Wushu (อู่ซู่)

    ประวัติ Wushu

    ผู้เข้าชมรวม

    1,468

    ผู้เข้าชมเดือนนี้

    2

    ผู้เข้าชมรวม


    1.46K

    ความคิดเห็น


    0

    คนติดตาม


    0
    เรื่องสั้น
    อัปเดตล่าสุด :  22 พ.ค. 49 / 10:10 น.


    ข้อมูลเบื้องต้นของเรื่องนี้
    ตั้งค่าการอ่าน

    ค่าเริ่มต้น

    • เลื่อนอัตโนมัติ

      Wushu (อู่ซู่) คือวิชาว่าด้วยการใช้วิธีการในการเข้าปะทะต่อสู้เป็นสาระสำคัญ มีรูปแบบการร่ายกระบวนยุทธและชั้นเชิงต่อสู้เป็นหลักในการฝึก และมีหลักศิลปกายบริหารที่สืบทอดกันมา โดยมุ่งเน้นการประสานพลังภายในและภายนอก ซึ่งเป็นจุดเด่นของวิทยาการอู่ซู่

       

           อนึ่ง คำว่า "อู่ซู่" แปลว่า ศิลปการต่อสู้ ซึ่งก่อนหน้านี้ ชาวไทยรู้จักกันในนาม กังฟู ( คำว่า กังฟู เป็นภาษาพื้นเมืองแปลว่า "ฝีมือ" มิได้สื่อความหมายเกี่ยวกับหมัดมวยแต่อย่างใด เป็นแต่เพียงการเรียกขานแทนการไปฝึกฝีมือของชาวพื้นเมืองทางตอนใต้ของประเทศจีน ต่อมา เมื่อประเทศจีนแผ่นดินใหญ่เปิดประเทศ และวิชามวยของจีนเริ่มมีบทบาท จึงได้กำหนดให้ใช้คำศัพท์ให้ถูกต้องตามหลักวิชาการ คำว่า อู่ซู่ จึงถูกเรียกขานแทนคำว่า กังฟู ) ถึงแม้ว่าศิลปวิทยายุทธของจีนจะมีจำนวนมากมาย แต่ทุกประเภทวิชา ล้วนอยู่ภายใต้เหตุผลและหลักการหรือกฏเกณฑ์อันเดียวกันทั้งสิ้น และมิอาจแหกกฏเป็นอื่นใดได้ หากแต่ความแตกต่างกันนั้น ขึ้นอยู่กับแหล่งกำเนิดของประเภทวิชานั้นเป็นสำคัญ

       

      ตามประวัติศาสตร์ของจีน นานมาแล้ว เมื่อครั้งสังคมมนุษย์ในยุคแรกเริ่ม ตั้งแต่เมื่อครั้งยุค "ซีจู๋" ซึ่งมีการแสดงการต่อสู้ด้วยมือเปล่าของมนุษย์ และการร่ายรำกระบองประกอบ ต่อมาได้วิวัฒนาการเป็นกลไกเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพพลานามัยและการต่อต้านโรคภัยแก่มวลมนุษย์ การสร้างเสริมทักษะยุทธ หรือแม้แต่การฝึกเพื่อพัฒนาขีดความสามารถของกำลังทหาร ที่กล่าวมานี้คือวิวัฒนาการยุคแรกเริ่มของวิชาอู่ซู่ ความเคลื่อนไหวของวิชาอู่ซู่ในยุคของ "ซาง-โจว" นั้น ไม่เพียงใช้วิชาอู่ซู่เพื่อการฝึกกำลังทหารเท่านั้น ยังได้บรรจุวิชาการร่ายรำอาวุธไว้เป็นสาระสำคัญในบทเรียนของโรงเรียนอีกด้วย แต่เมื่อถึงยุคสงคราม "ชุนชิว" ถือเป็นยุคที่ได้ให้ความสำคัญในด้านเชิงเทคนิคการต่อสู้ในสนามรบ ทั้งนี้ เพื่อการคัดเลือกพลทหารเข้าประจำการรบโดยจัดให้มีการคัดเลือกปีละ 2 ครั้ง ได้แก่ฤดูใบไม้ผลิ และฤดูใบไม้ร่วง ถือเป็นช่วงจัดการประลองยุทธ แม้แต่การคต่อสู้ด้วยวิชากระบี่ ก็เฟื่องฟูขึ้นในยุคนี้ ดูได้จากบทความว่าด้วยการวิจารณ์วิชากระบี่ซึ่งได้บันทึกไว้ในตอนหนึ่งของบทความในหนังสือของ "หลี่ซื่อชุน" และ "จวางจื่อ" เป็นต้น

       

           เมื่อถึงยุครัฐสมัยของ "จิ๋น-ฮั่น" การร่ายรำดาบ ร่ายรำกระบี่ และการร่ายรำดาบวงเดือนคู่ รวมถึงการร่ายรำอาวุธยาว เช่น ง้าว เป็นต้น พบว่าความละม้ายเหมือนเช่นการฝึกกระบวนวิชายุทธ ซึ่งมีอยู่ดาษเดื่อง ซึ่งค้นพบได้จากหนังสือ "ฮั่นซู" เขียนไว้ในบทความโดย "อี้เหวินจี้" และหนังสือ "ฮั่นซู" ที่เขียนบทความโดย "อู่ตี้" และบันทึกไว้ในบทความของหนังสือ "เตี่ยนลุ่น" ซึ่งล้วนกล่าวถึงลักษณะการแข่งขันวิชาการต่อสู้ด้วยมือเปล่า การแสดงการประลองพลังยุทธ และการประลองวิชากระบี่ เป็นต้น

       

           เมื่อถึงยุครัฐสมัยของ "ถัง-ซ้อง" พบว่าการฝึกยุทธของชาวประชาทั่วไป ถึงขั้นรวมกันเป็นค่าย เป็นคณะขึ้น อาทิ "เซียงพูเผิง" "อิงเลี่ยเซ่อ" "กงเจี้ยนเซ่อ" และ"เซียงพูเซ่อ" เป็นต้น นอกจากนั้นยังมี กลุ่มบุคคลที่ขายศิลปเลี้ยงชีพอีกด้วย ซึ่งเรียกขานว่า ชาวยุทธร่อนเร่ บุคคลเหล่านี้ มักยึดสถานที่หัวตรอก-ท้ายซอย เป็นที่แสดงยุทธ วิชายุทธที่มักพบเห็นได้บ่อยครั้งจากผู้คนเหล่านี้ อาทิ การแสดงเดี่ยวด้วยท่าหมัดมวย การใช้วิชาเท้า(วิชาเตะ) การแสดงวิชากระบองไม้หรือท่อนไม้ การร่ายรำดาบ รำทวน รำกระบี่ รวมทั้งการแสดงประกอบคู่ต่อสู้กันด้วย วิชาทวนปะทะโล่ หรือกระบี่ปะทะโล่ เป็นต้น แม้แต่การประลองพลังยุทธ และประลองวิชาหมัดมวยที่เป็นนิยมกันในยุคนี้ ซึ่งมักจะปรากฎบนเวทีประลองยุทธ เรียกว่าการต่อสู้แบบ "เหลยไถ" อยู่เนืองๆ เรียกตามคำศัพท์ดั้งเดิมว่า "ต่าเหลยไถ" การต่อสู้บนเวทีในยุคนี้ มีกรรมการ และมีกติกาการแข่งขันแบบเรียบง่าย ผู้ชนะการแข่งขันจะได้รับรางวัลที่มีมูลค่าค่อนข้างสูง ตามการบันทึกของ "เถียวลู่จื่อ" ได้เขียนไว้ในบทความชื่อ "เจียวลี่จี้" ได้พรรณาถึงสภาพการประลองยุทธในยุคสมัยนั้นโดยละเอียด

       

           เมื่อถึงยุครัฐสมัย "หมิง-ชิง" เป็นยุคที่วิทยายุทธเฟื่องฟู และเจริญรุ่งเรืองที่สุดยุคหนึ่ง สำนักวิทยายุทธต่างๆ ได้ถือกำเนิดขึ้นในยุคนี้มากมายหลากหลายสานพันธ์ วิทธยายุทธในยุคสมัยหมิงที่ปรากฎชัดได้แก่ วิชา32แบบต่อสู้(ซานสือเอ้อซื่อ) วิชาหมัดหกท่า วิชาหมัดวานร วิชาหมัดแปดสุดยอด(ปาจี่เฉวี๋ยน) วิชาเนอเฉวี๋ยน รวมทั้งวิชาหมัดส่าวหลิน(ส่าวหลินเฉวี๋ยน) และวิชาหมัดพลังภายในเป็นต้น นอกจากนี้ยังปรากฎสกุลมวยต่างๆ อาทิ วิชาอาวุธประเภทไม้พลอง ได้แก่ วิชาพลองอี้ต้าอิ๋ว วิชาพลองชิงเถียน วิชาพลองส่าวหลิน และวิชาพลองสกุลจาง เป็นต้น ประเภทวิชาทวนได้แก่ วิชาทวนสกุลหยาง วิชาทวนสกุลหม่า วิชาทวนสั้นสกุลหลี่ วิชาทวนกานจื่อของสกุลซา วิชาทวน 6 ประสาน วิชาทวนของง้อไบ๊ และวิชาทวนของส่าวหลิน เป็นต้น ส่วนประเภทดาบ ได้แก่ ดาบเดี่ยว ดาบคู่ ดาบวงเดือน เป็นต้น นอกจากนี้ยังรวมถึงวิชากระบี่ 24 ท่าอีกด้วย วิทยายุทธยิ่งรุ่งเรืองเฟื่องฟูขึ้นอีกในสมัยของ "ต้าชิง" มีรูปแบบการพัฒนาเป็นสายวิชาประเภทต่างๆ วิทธยายุทธที่สำคัญได้แก่ วิชาหมัดสูงสุด(ไท่จี๋เฉวี๋ยน ; มวยไท่เก็ก) วิชาหมัดกายใจ(สิงอี้เฉวี๋ยน) วิชาฝ่ามือแปดทิศ(ปาคว่าจ่าง) รวมทั้งสายมวยอื่นๆ อีกหลากหลายประเภทก็ถือกำเนิดขึ้นมาในยุคนี้ด้วย แม้แต่วิชามวยปล้ำ และยุทธวิธีการต่อสู้ด้วยมือเปล่าต่างก็พัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็ว

       

           ในยุค "หมิงกว๋อ" ได้พบว่ามีสมาพันธ์เกี่ยวกับวิทยายุทธอยู่มากมาย อาทิ สมาพันธ์มวย "อู่สือฮุ่ย" สมาพันธ์กายบริหาร "ถี่อี้ฮุ่ย" เป็นต้น ในเมืองซ่างไห่(เซี่ยงไฮ้) ปี 1910 ได้มีการจัดตั้ง สมาพันธ์เยี่ยมยุทธ(จิงอู่ถี่อี้ฮุ่ย) และตามมาด้วยการจัดตั้ง สมาพันธ์ "จงหวาอู่สือฮุ่ย" และ "จื้อโหยวเฉวี๋ยนสือ" ซึ่งสมาพันธ์ต่างๆ เหล่านี้ ก็ได้เผยแพร่และนำมาซึ่งการพัฒนาวิชาอู่ซู่ในยุคนี้เอง

       

           ปี ค.ศ. 1928 รัฐบาลก็กหมิ่งตั๋ง(รัฐบาลจีนคณะชาติ) ในยุคนั้น ได้ให้การสถาปนาองค์กร "จงยาง กว๋อซู่กว่าน" (The Central of Chinese Kuoshu Institution) ถือเป็นสถาบันเกี่ยวกับวิทยายุทธส่วนกลางของประเทศจีน หลังจากการสถาปนาองค์กรนี้ขึ้น ตามมณฑลหรือจังหวัด อำเภอ พื้นที่ต่างๆ ก็มีการจัดตั้งองค์กรทางวิทยายุทธเกิดขึ้นตามกันมา (รัฐบาลจีนในยุคนั้นเรียกวิทยายุทธจีนว่า "กว๋อซู่") องค์กรกว๋อซู่ส่วนกลาง ได้จัดให้มีการแข่งขันและประลองยุทธระดับชาติขึ้นถึง 2 ครั้ง ในปี 1928 และปี 1933 ณ เมืองนานกิง สาระสำคัญในการแข่งขันยุคนั้นคือ วิชาหมัดมวยประเภทต่างๆ อาวุธยาว และอาวุธสั้นประเภทต่างๆ รวมทั้งการประลองยุทธ(แข่งขันต่อสู้) และมวยปล้ำด้วย ในปี 1936 ได้จัดตั้งคณะอู่ซู่มาเยือนประเทศทางภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และปี 1936 ได้จัดคคณะอู่ซู่เข้าร่วมแสดงในมหกรรมกีฬาโอลิมปิคครั้งที่ 11 ณ กรุงเบอร์ลินด์ ประเทศเยอรมันนี

       

           หลังจากการสถาปนารัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีนขึ้นมาแล้ว อู่ซู่ได้ถูกบัญญัติเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมในระบอบสังคมนิยม และเป็นกิจกรรมเพื่อการบริหารสุขภาพแก่ประชาชนทั่วไป นับได้ว่าเป็นการพัฒนาอย่างรวดเร็วมาก ปี 1953 ณ เมืองเทียนจิน ได้จัดมหกรรมการแสดงการประกวดศิลปวัฒนธรรมประเภทต่างๆและการแข่งขันกีฬาในระดับชาติขึ้น และอู่ซู่คือสาระสำคัญในการจัดมหกรรมในครั้งนั้น ต่อมาวิชาอู่ซู่ได้รับการบรรจุไว้ เป็นบทเรียนอย่างเป็นทางการตามวิทยาลัยพลศึกษา และคณะวิชาการต่างๆ ปี 1956 สมาคมอู่ซู่แห่งเป่ยจิง(ปักกิ่ง) ได้รับการสถาปนาขึ้น อู่ซู่ได้กลายเป็นกีฬาประเภทหนึ่งอย่างเป็นทางการในครั้งนี้ ปี 1958 คณะกรรมการบริหารกีฬาของจีนก็ได้ร่วมกันบัญญัติกฏกติกาการแข่งขันอู่ซู่ขึ้นเป็นครั้งแรก ชื่อว่า "อู่ซู่จิ้งไซ้กุยเจอะ" (หมายถึง กฎกติกาการแข่งขันอู่ซู่) และนำมาซึ่งการเรียบเรียงตีพิมพ์ประเภทของวิชาอู่ซู่ด้วยรูปแบบที่เรียบง่ายออกมาหลายประเภท อาทิ ตำราฝึกไท่จี๋เฉวี๋ยน ระดับเริ่มต้น ระดับพัฒนา และระดับสูง รวมทั้งรูปแบบกระบวนวิชายุทธต่างๆ อาทิ หมัดมวย ดาบ กระบี่ ทวน และพลอง เป็นต้น การบัญญัติกระบวนยุทธประเภทต่างๆ ดังกล่าวนั้น ก้เพื่อยกระดับมาตรฐานการฝึกหัดวิชาอู่ซู่ประเภทต่างๆ แก่บุคคลทั่วไป เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาวิชาอู่ซู่นั้นเอง ปี 1982 ณ กรุงเป่ยจิง(ปักกิ่ง) ได้จัดในมีการประชุมครั้งสำคัญทั่วประเทศเป็นประวัติการขึ้นเป็นครั้งแรก เพื่อกำหนดทิศทางการพัฒนาอู่ซู่ มีการวางนโยบาย เพื่อนำวิชาอู่ซู่เข้าสู่ยุคใหม่แห่งประวัติศาสตร์ของจีน

       

           ภายใต้การนำของการกีฬาแห่งชาติและสมาคมอู่ซู่แห่งประเทศจีน ตามพื้นที่ต่างๆ ของจีน ไม่ว่าจะเป็นระดับมณฑล ระดับจังหวัด หรือเขตอำเภอ แม้แต่เขตปกครองตนเอง ก็ได้มีการจัดตั้งองค์กรองค์กรหรือสมาคมอู่ซู่ขึ้นอย่างมากมายทั่วทุกหัวละแหง อาทิ สำนักอู่ซู่ สมาพันธ์อู่ซู่ องค์กรเพื่อการค้นคว้าอู่ซู่ และคณะทีมอู่ซู่สมัครเล่นจากโรงเรียนต่างๆ รวมทั้งจุดฝึกสอนวิชาอู่ซู่ตามสถานที่สาธารณะอีกด้วย นับเป็นขบวนการที่พัฒนาโดยเริ่มจากศูนย์เข้าสู่ความสำเร็จที่แพร่หลายถึงระดับกิจกรรมโดยมวลชนทั่วไปก็มีส่วนร่วม และนี่คือยุคบุกเบิกครั้งใหญ่ที่ได้เปิดทางในการพัฒนาได้กว้างไกลที่สุดยุคหนึ่ง

       

           อู่ซู่ได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของบทเรียนทางพลศึกษาในระดับโรงเรียนต่างๆ ตามมหาวิทยาลัย และระดับอุดมศึกษาต่างก็จัดตั้งคณะทีมอู่ซู่ขึ้น ในระดับวิทยาลัย หรือระดับ ปวช. และปวส. ของจีน รวมทั้งวิทยาลัยพลศึกษา ก็ได้กำหนดวิชาอู่ซู่เข้าไว้ในบทเรียน และกำหนดเป็นวิชาชีพอู่ซู่อีกด้วย ทั้งนี้ ได้ให้การศึกษาดูแลทั้งนักศึกษาระดับอนุปริญญา ระดับปริญญาตรี ซึ่งเป็นนักศึกษาที่เลือกเรียนคณะอู่ซู่ศาสตร์โดยเฉพาะ ต่อมาคณะรัฐมนตรีก็ได้บัญญัติให้มีอู่ซู่ระดับปริญญาโทขึ้น ปี 1986 โดยความเห็นชอบของรัฐบาล ก็ได้ให้การสถาปนาสถาบันค้นคว้าวิจัยอู่ซู่ขึ้น เพี่อเป็นองค์กรให้การศึกษาระดับสูงและการศึกษาค้นคว้าวิชาอู่ซู่

       

           เพื่อให้วิชาอู่ซู่ซึ่งเป็นมรดกล้ำค่าทางศิลปวัฒนธรรม ได้รับการสืบทอดและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทางการได้จัดให้มีการสำรวจวิชาอู่ซู่ทั้งหมดภายในขอบเขตทั่วประเทศจีน เพื่อการเข้าถึงสภาพความจริงและเป็นการสร้างความกระจ่างชัดขั้นพื้นฐานของวิชาอู่ซู่ให้ปรากฎ จากการขุดค้นและลำดับขั้นตอนวิชาอู่ซู่นั้น ผลที่ได้รับคือการค้นพบและสามารถทำความกระจ่างในภาควิชานี้ได้ดีเยี่ยม และได้อาศัยพื้นฐานจากการค้นพบในครั้งนี้ เป็นที่มาในการจัดเรียบเรียง และตีพิมพ์ลงหนังสือที่ชื่อว่า ประวัติศาสตร์อู่ซู่จีน "จงกว๋ออู่ซู่สื่อ" และ วิชาหมัดมวยอาวุธศึกษา "จงกว๋ออู่ซู่เฉวี๋ยนเจี้ยลู่"

       

           การประลองยุทธ ได้เริ่มเมื่อปี 1979 ซึ่งถือเป็นกีฬาสาธิตครั้งแรก ต่อมาปี 1989 ก็ได้รับการบรรจุเป็นชนิดการแข่งขันหนึ่งในการแข่งขันของวิทยาลัยพลศึกษา เพื่อเป็นการใช้วิชาอู่ซู่ให้เกิดคุณประโยชน์แก่มนุษย์ชาติ ได้จัดให้มีการมอบวิชาอู่ซู่ให้แก่นานาชาติในนามของพลเมืองประเทศจีน เพื่อรับเอาอู่ซู่เข้าเป็นหนึ่งในการแข่งขันระดับนานาชาติ และด้วยเหตุนี้ นับแต่ปี 1983 อู่ซู่ก็ได้เริ่มแผนงานในโครงการต่างๆ เพื่อการผลักดันอู่ซู่สู่โลกกว้างตามลำดับ

       

           รัฐบาลจีน และอีกหลายพื้นที่ ต่างก็เคยจัดส่งคณะอู่ซู่ ทีมงาน ผู้ฝึกสอน หรือแม้แต่ผู้เชี่ยวชาญ ไปยังประเทศต่าง ๆ เพื่อให้การสาธิต และแสดงศิลปอู่ซู่ รวมทั้งให้การบรรยายความรู้เกี่ยวกับวิชาอู่ซู่ ไปแล้วหลายครั้ง ในปี 1985 ณ เมือง "ซีอาน" ได้มีการจัดมหกรรมการแข่งขันอู่ซู่ระดับนานาชาติขึ้นเป็นครั้งแรก และได้จัดตั้งคณะกรรมการเตรียมการสถาปนาองค์กรอู่ซู่ระดับนานาชาติ (เรียกว่า สหพันธ์อู่ซู่นานาชาติ) ในเวลาเดียวกันนั้นเอง ในปี 1986 ณ เมืองเทียนจินก็ได้จัดมหกรรมการแข่งขันอู่ซู่นานาชาติขึ้นอีกเป็นครั้งที่ 2 ปี 1987 ณ เมืองโยโกฮาม่า ประเทศญี่ปุ่น ได้จัดมหกรรมอู่ซู่ระดับเอเซียขึ้นเป็นครั้งแรก และสหพันธ์อู่ซู่แห่งเอเซีย ก็ได้รับการสถาปนาขึ้นในเวลาเดียวกัน ต่อมาในปี 1988 ได้จัดมหกรรมการแข่งขันอู่ซู่ครั้งสำคัญ โดยการแบ่งการแข่งขันเป็น 2 ส่วน โดยเมืองหังโจวเป็นการจัดการแข่งขันอู่ซู่ประเภทเถ้าลู่(ยุทธลีลา) และประเภทสานโส่ว(ประลองยุทธ) จัดขึ้น ณ เมืองเซินเจิ้น ในการดำเนินการครั้งนี้      การแข่งขันอู่ซู่ประเภทประลองยุทธก็ได้รับการยอมรับให้เป็นส่วนหนึ่งของการเแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างเป็นทางการ ในปี 1989 ณ เมืองฮ่องกง ก็ได้จัดให้มีการแข่งขันการแข่งขันอู่ซู่ระดับเอเซียขึ้นเป็นครั้งที่ 2 และปี 1990 ณ กรุงปักกิ่ง อู่ซู่ก็ได้รับการบรรจุเข้าเป็นชนิดของการแข่งขันมหกรรมกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ ครั้งที่ 11 ในครั้งนั้นมีประเทศภาคีสมาชิก เข้าร่วมทั้งสิ้นรวม 11 ประเทศ และในปีนี้เองสหพันธ์อู่ซู่นานาชาติก็ได้รับการสถาปนาขึ้นอย่างเป็นทางการ

       

           อู่ซู่ไม่เพียงได้รับการพัฒนาให้เจริญก้าวหน้าเฉพาะภายในประเทศจีนเท่านั้น ต่อมาก็ประสบความสำเร็จในการผลักดันเข้าสู่ระดับนานาชาติอีกด้วย นับเป็นการบรรลุเป้าหมายในอุดมการณ์เผยแพร่อู่ซู่สู่มวลมนุษย์อย่างแท้จริง

       

      ข้อมูลจาก

      WUSHU INTERNATIONAL JUDGE TEACHING MATERIALS ฉบับแปลภาษาไทยโดย WUSHU FEDERATION OF THAILAND

       

      ลิขสิทธิ์โดย Thai Wushu

      นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

      loading
      กำลังโหลด...

      คำนิยม Top

      ยังไม่มีคำนิยมของเรื่องนี้

      คำนิยมล่าสุด

      ยังไม่มีคำนิยมของเรื่องนี้

      ความคิดเห็น

      ×