คืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด
คุณแน่ใจว่าต้องการคืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด ?
ลำดับตอนที่ #7 : [ พ.ศ. 2528 ] ครูเฟื้อ หริพิทักษ์
ครูเฟื้อ หริพิทักษ์ ศิลปินแห่งชาติสาขา ทัศนศิลป์ จิตรกรรม
อาจารย์
ท่านเริ่มเข้ารับการศึกษา ณ โรงเรียนประถมวัดสุทัศนเทพวรารามเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๑ ต่อมาเข้าศึกษาที่โรงเรียนมัธยมวัดราชบพิธ จนสำเร็จชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๓ แล้วย้ายไปศึกษาต่อที่โรงเรียนมัธยมวัดเบญจมบพิตรสำเร็จชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๕ และกลับไปเรียนต่อโรงเรียนมัธยม วัดราชบพิตรอีก ๑ ปี จนสำเร็จชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๖ ก็เข้าทำงานเป็นเสมียนรถไฟที่จังหวัดพิษณุโลก แต่ทำได้เพียง ๒ วันก็ลาออก เนื่องจากรู้สึกว่าอาชีพนี้ไม่เหมาะกับตัวท่าน และได้กลับเข้ามาศึกษาต่อที่โรงเรียนเพาะช่าง แผนกฝึกหัดครูในปี พ.ศ. ๒๔๗๒ ด้วยความเป็นผู้ชอบเขียนภาพมาแต่เด็ก ท่านศึกษาอยู่ที่นี่ ๕ ปี ก็ลาออกเข้าศึกษาเป็นการพิเศษกับขุนปฏิภาคพิมพ์ลิขิต(เปล่ง ไตรปิ่น)
ปี พ.ศ. ๒๔๗๖ ท่านได้ไปศึกษาเพิ่มเติมที่โรงเรียนประณีตศิลปกรรมภายใต้ความรับผิดชอบของศาสตราจารย์ศิลป พีระศรี ต่อมาท่านได้สมรสกับ ม.ร.ว.ถนอมศักดิ์ กฤดากร มีบุตรด้วยกัน ๑ คน คือ นายทำนุ หริพิทักษ์ (เป็นช่างเขียนอิสระตั้งใจจะดำเนินชีวิตวิชาช่างศิลปะตามบิดา) อาจารย์เฟื้อ หริพิทักษ์ ได้ไปศึกษาความรู้เพิ่มเติมที่ประเทศอินเดีย เมื่อกลับประเทศไทยท่านได้รับคัดเลือกจากศาสตราจารย์ศิลป พีระศรี ให้เขียนภาพในช่องคูหาพระอุโบสถ วัดเบญจมบพิตร ในช่วงนี้เองท่านก็เริ่มออกสำรวจจิตรกรรมฝาผนังตามวัดวาอารามต่าง ๆ และทำการคัดลอกภาพที่สำคัญเอาไว้เป็นหลักฐานก่อนที่ภาพในสถานที่จริงจะเสียหายไป โดยเริ่มต้นที่วัดสุทัศน์และวัดสุวรรณาราม
ท่านเริ่มรับราชการครั้งแรกในตำแหน่งครูช่างเขียน คณะจิตรกรรมและประติมากรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร ต่อมาเดือนตุลาคม ๒๔๗๙ เดินทางไปศึกษาต่อ ณ ราชบัณฑิตยสถานที่กรุงโรม ประเทศอิตาลี โดยทุนของรัฐบาลอิตาลีเป็นเวลา ๒ ปี ช่วงเวลานี้เองที่แสดงให้เห็นถึงความสามารถอันยิ่งใหญ่ของท่านในการสร้างสรรค์ศิลปะ ท่านถ่ายทอดความรู้สึกต่อสิ่งต่าง ๆที่ได้พบเห็นออกมาเป็นภาพที่งดงามจับใจ ภาพเขียนสีและภาพวาดด้วยเส้นที่มีจำนวนมากกว่า ๑๐๐ ชิ้น หลังจากนั้นท่านก็รับตำแหน่งอาจารย์และรับราชการจนครบเกษียณอายุ ประมาณเดือนตุลาคม ๒๕๑๓ แต่เนื่องจากท่านมีสุขภาพร่างกายแข็งแรง มีความสามารถในการปฏิบัติราชการเป็นอย่างดี มีความเชี่ยวชาญด้านจิตรกรรมและศิลปไทย ทางคณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์จึงได้ทำเรื่องขอจ้างท่านเข้ารับราชการเป็นลูกจ้างชั่วคราวในตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญด้านจิตรกรรมและศิลปไทยโบราณ ตั้งแต่เดือน ๒๕๑๓จนอายุครบ ๖๕ ปีบริบูรณ์ ในปี พ.ศ. ๒๕๑๘
ในชีวิตการรับราชการตลอด ๒๓ ปีจนเกษียณอายุ ท่านได้ทำหน้าที่เป็นอาจารย์สั่งสอนอนุชนรุ่นหลังอย่างเต็มความสามารถ เคยทำหน้าที่เป็นตัวแทนเข้าร่วมประชุมในระดับชาติ ดำเนินการวิจัยและให้ความร่วมมือกับสถาบันอื่น ๆหรือหน่วยงานอื่น ๆ เข้าร่วมเป็นคณะกรรมการดำเนินงานด้านอนุรักษ์โบราณสถาน วัตถุสถานที่สำคัญ ๆ ของชาติหลายครั้งหลายหน
อาจารย์
คุณวิเศษของอาจารย์
นอกจากนี้ท่านยังได้ศึกษาค้นคว้าวิจัยและเขียนบทความทางวิชาการไว้หลายเรื่อง
ด้วยความรักและหวงแหนในศิลปะไทย อาจารย์เฟื้อ หริพิทักษ์ ได้อุทิศตนทำงานเพื่อประโยชน์ทางการศึกษาศิลปะการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมอย่างแท้จริงตลอดมาเป็นระยะเวลาหลายปี ทำให้ท่านได้รับพระราชทานปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาจิตรกรรม จากมหาวิทยาลัยศิลปากรเพื่อเป็นเกียรติประวัติ เมื่อวันที่ ๑๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๒๓ และเมื่อวันที่ ๑๒ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๒๖ มูลนิธิแม็กไซไซแห่งประเทศฟิลิปปินส์ ได้ประกาศให้รางวัลแม็กไซไซ สาขาบริการชุมชน ประจำปี พ.ศ. ๒๕๒๖ แก่อาจารย์เฟื้อ
ท่านอาจารย์
สำหรับอัธยาศัยของท่านนั้น เป็นคนซื่อตรงเห็นแก่ประโยชน์ของประเทศชาติมากกว่าตนเอง มุมานะในงานที่ตั้งใจทำเป็นผู้ที่พร้อมจะให้มากกว่าจะรับ และตรงไปตรงมา ด้วยคุณสมบัติที่กล่าวมานี้ ท่านจึงเป็นที่รักใคร่นับถือดั่งครูใหญ่ในวงการศิลปวัฒนธรรม
ความคิดเห็น