ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    ปกรณัมฟังก์ชั่น ข้อมูลมากมายเพื่อการแต่งนิยายครับผม

    ลำดับตอนที่ #15 : วรรณกรรมโลกออนไลน์ ศิลปศาสตร์เชิงอิสระหรือกลยุทธ์ทางการตลาด

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 692
      1
      30 ก.ย. 51

    ประเด็น วรรณกรรมโลกออนไลน์ ศิลปศาสตร์เชิงอิสระหรือกลยุทธ์ทางการตลาด

    โดย Emperorsss

        เมื่อกล่าวถึงงานประพันธ์สร้างสรรค์สมัยใหม่ หลายคนคงคิดถึงงานที่แสดงอยู่ใน
    โลกไซเบอร์ที่ปัจจุบันมีหลายฝ่ายเอาจริงเอาจังและเห็นว่ามันน่าสนใจไม่ต่างจากผลงาน
    ที่จัดแสดงอยู่ในแกลลอรี่มีชื่อของเมืองใหญ่ๆหรือพิพิธภัณฑ์ รวมถึงหอสมุดชั้นนำ

        เพราะสังคมสมัยใหม่มีผู้ใช้อินเตอร์เน็ตเป็นจำนวนมาก และยิ่งมีกลิ่นของปัจจัยสำคัญ
    ที่ไหลเวียนอย่างไม่หยุดนิ่งตลอดทุกวินาที นายทุนและผู้บริโภคเกือบทุกกลุ่มที่ใช้คอมพิวเตอร์
    มักมองเห็นงานศิลปะเหล่านี้เผยแพร่รูปภาพ สื่อมัลติมีเดียหรือลายลักษณ์อักษรแสดงทักษะ
    ทั้งในเชิงพาณิชย์และเชิงศิลปะ หากลองมองย้อนกลับไปพูดถึงเรื่องราวของอินเตอร์เน็ต
    ตั้งแต่เริ่มมีการใช้ระบบเชื่อมต่อความเร็วสูง ADSL 
    วงการออนไลน์ได้ให้ความสำคัญกับมัลติมีเดียมากขึ้น

        เมื่อปัจจัยหลักไหลเวียนในโลกไซเบอร์อย่างต่อเนื่องและง่ายต่อการแพร่หลาย 
    นักลงทุนที่มุ่งทำธุรกรรมในสภาวะสังคมปกติและสังคมออนไลน์ ขอใช้คำว่า "สังคมปกติ" แทน
    สังคมที่เราอยู่อาศัย ซึ่งเราเดินไปพบหน้าคร่าตากัน แบบจับต้องกายหยาบได้ และ
    "สังคมออนไลน์" แทนสังคมที่เกิดขึ้นในระบบเน็ตเวิร์คหรืออินเตอร์เน็ตตามที่เราเข้าใจ

        สังคมออนไลน์เป็นสังคมเปิดที่ใครก็รู้จักกันได้ ไม่จำกัดเพศ คุณวุฒิและวัยวุฒิ
    ทุกคนพูดคุยกันได้ แสดงความรู้สึกผ่านแป้นพิมพ์และส่งทอดออกสู่สาธารณะออนไลน์
    เช่นนั้นแล้ว งานศิลปะต่างๆย่อมสามารถปรากฏให้เห็นได้อย่างแน่นอน และนี่คือโลกยุคใหม่

        แต่ในประเด็นนี้มุ่งเน้นผลงานที่เรียกว่า วรรณกรรมออนไลน์หรืองานประพันธ์ที่
    ถูกเผยแพร่อยู่บนระบบเน็ตเวิร์ค และมันมีทั้งแบบฟรีและเสียค่าใช้จ่าย ขอพูดถึงแบบเสียค่าใช้จ่ายก่อน
    มันก็คือ คุณต้องเสียเงินซื้อมาด้วยการทำธุรกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อได้ผลงานนั้น
    ถ้ากึ่งสินค้าทั่วไปก็ชำระราคาและรับสินค้าในลักษณะรูปเล่มมาครอบครอง แต่ถ้าเป็น
    ธุรกรรมออนไลน์แบบเข้มข้น จะเป็นในลักษณะชำระราคาผ่านระบบอินเตอร์เน็ต และรับผลงาน
    ในรูปแบบไฟล์ PDFหรืออิเล็กทรอนิกส์บุ๊ค(E-Book) ซึ่งปัจจุบันมีหลายเว็บไซต์ที่เปิดให้บริการ

        เมื่อถามว่า แล้วส่วนที่เป็นวรรณกรรมออนไลน์แบบฟรีเป็นอย่างไร ก็คือผลงาน
    ที่ถูกโพสต์หรืออัพโหลดข้อมูลเข้าระบบเน็ตเวิร์คเพื่อให้นักอ่านออนไลน์เข้ามาอ่านและ
    แสดงความคิดเห็นต่อผลงานชิ้นนั้นๆ ซึ่งหากมองด้วยหลักทฤษฎีทั่วไป อาจมองได้ว่า
    ผู้ประพันธ์ควรจะแสดงผลงานอย่างใดก็ได้ หากแต่มันเป็นผลงานที่สร้างสรรค์ด้วย
    หลักพื้นฐานของงานประพันธ์ที่ไม่ผิดจรรยาบรรณและเป็นที่ยอมรับของสังคม
    หากแต่ในความเป็นจริง ผลตอบรับและอุปสงค์นักบริโภคหรือ Demand มันกลับ
    บีบบังคับให้อุปสงค์ของผู้ผลิตหรือ Supply ต้องเป็นไปตามหลักการสมดุล

        ง่ายๆ เมื่อมีความต้องการจึงเกิดการตอบสนอง และนั่นคือหลักที่แทรกอยู่ใน
    อิสระเสรีของงานเขียนออนไลน์ที่ถูกลากไปทิศทางใดทิศทางหนึ่งอย่างเลี่ยงไม่ได้
    เพื่อให้เกิดธุรกรรมและกระบวนการของเชิงพาณิชย์ ยกเว้นเสียแต่ว่า ผู้ผลิตผลงานนั้นๆ
    ไม่ได้ต้องการสนองตอบให้ผู้บริโภคหรือใครก็ตามที่ตนไม่เล็งเห็น และเน้นแสดง
    ความเป็นปัจเจกของตนให้สังคมรู้

        กลุ่มผู้ผลิตผลงาน คือนักประพันธ์ มีปัจจัยที่ทำให้เกิดแรงจูงใจสร้างผลงาน
    หนึ่งคือจากตัวเอง ต่อมาคือ สภาพกระแสนิยมของสังคม ความต้องการของนายทุน
    และค่าความนิยมต่อแนวความคิดทั้งมวลที่ก่อให้เกิดธุรกรรมหรือค่าตัวเลขที่มากขึ้น

        แต่ก็ยังมีกลุ่มนักประพันธ์อีกกลุ่มที่สร้างผลงานตรงข้ามจากข้างต้นที่กล่าวมา
    นั่นคือ พวกเขาเป็นนักประพันธ์มีชื่อที่ต้องการเช็คอุปสงค์ใหม่ของกลุ่มนักอ่าน
    หรือสร้างชื่อเสียงจากแนวความคิดเรื่องความล้ำสมัย(Post Modern) นักประพันธ์กลุ่มนี้
    มีความแตกต่างของแนวความคิดและหลักการดำเนินงาน ซึ่งบางคนเป็นพวกอนุรักษ์นิยม
    คือ เขียนเพราะใจรัก เขียนเพราะอยากเขียน และมันเป็นส่วนหนึ่งให้เกิดแนวคิดล้ำสมัย

        ทีนี้มามองถึงกระบวนการวิเคราะห์ว่าผลงานพวกนี้มีแรกผลักดันของศิลปศาสตร์
    หรือการตลาดมากกว่ากัน หากมองกันด้วยหลักวิเคราะห์ประเมินสถานการณ์ อาจจะคิด
    ได้คร่าวๆดังนี้คือ

        กลุ่มผู้ผลิตผลงาน(นักประพันธ์) แบบการตลาด
    จุดเด่นหรือจุดแข็ง : แนวทางชัดเจนมีคุณสมบัติเหมาะแก่การนำเสนอต่อสำนักพิมพ์
    หรือเพื่อใช้ในการค้า มีหลักเกณฑ์และรูปแบบตายตัวหรืออาจจะใช้หลักของแพทเทิร์นมาประกอบ
    การสร้างผลงาน จึงทำให้ใช้เวลาในการผลิตผลงานมีความแน่นอนด้วยปัจจัยข้างต้น
    และเป็นที่ยอมรับต่อนักอ่านได้ง่ายเพราะใช้หลักมุ่งเน้นให้ติดตลาดและเจาะจงกลุ่มนักอ่านได้ง่าย
    จุดด้อยหรือจุดอ่อน : มีความซ้ำซากในส่วนของพล็อต เนื้อหามีขอบเขตในการนำเสนอ
    หลักการของโครงสร้างตายตัว พล็อตสามารถเดาได้ง่ายและระดมความคิดสร้างสรรค์
    ได้จำกัด หากผู้ประพันธ์ต้องการสื่อแนวความคิดเพิ่มเติม จำเป็นต้องตัดทอน
    และวางองค์ประกอบให้ดี จึงจะไม่ขัดต่อกระบวนการหลักในเชิงการตลาด
    โอกาส : กลุ่มผู้บริโภคมีขอบเขตกว้าง เป็นที่ยอมรับของตลาดได้ง่าย มีลักษณะดึงดูด
    นักลงทุนหรือสำนักพิมพ์ให้สนใจในแนวความคิดและมุ่งเน้นเชิงพาณิชย์เช่นเดียวกัน
    โดยเฉพาะโอกาสที่จะเป็นจุดสนใจทำได้ง่าย
    อุปสรรค : มีคู่แข่งจำนวนมาก และตัวเลือกรวมถึงสินค้าทดแทนมีจำนวนมาก จำเป็นต้องใช้
    เครดิตหรือชื่อเสียงในการผลักดันให้โดดเด่น หรือลดอัตราแข่งขันลง รวมถึงในบางครั้ง
    มักเป็นที่โจมตีของนักวิจารณ์ จึงเป็นการดิสเครดิต ทำให้บทบาทของผู้บริโภคมีส่วน
    อ่อนไหวต่อกระแสหลักของจูงใจหรือการให้ความสนใจ

    กลุ่มผู้ผลิตผลงาน(นักประพันธ์) แบบศิลปศาสตร์
    จุดเด่นหรือจุดแข็ง : แนวทางหลากหลายซึ่งส่งผลดีต่อการนำเสนอเพื่อทำให้เป็น
    งานเชิงคุณภาพที่มีคุณลักษณะเป็นของตนเอง เนื้อหามีความยืดหยุ่นสูง
    มีแนวทางหลากหลายแต่คงไว้ด้วยเอกลักษณ์ ในงานชิ้นเดียวกันสามารถแยก
    และแก้ไขได้หลายจุด หรือเชื่อมโยงสู่หลักงานประพันธ์ทั้งแบบอนุรักษ์นิยม
    และแบบล้ำสมัยได้
    จุดด้อยหรือจุดอ่อน : ไม่มีแนวทางแน่นอนในการสร้างผลงานที่ก่อให้เกิดความสนใจ
    ของตลาดหลัก ความเสี่ยงของเนื้อหาอาจไม่เป็นที่ยอมรับ หรือมีช่องโหว่ของหลัก
    การเขียนในส่วนของการนำเสนออย่างตายตัว จึงทำให้เสียเวลาในการเรียบเรียง
    หรือการวางผังงานให้เป็นไปตามแพทเทิร์นที่ชัดเจน
    โอกาส : กลุ่มผู้บริโภคใหม่ๆหรือการสร้างสรรค์งานให้เป็นที่ยอมรับในกลุ่มผู้บริโภคเฉพาะกลุ่ม
    มีคู่แข่งน้อยเพราะแนวทางเป็นเอกลักษณ์ มักไม่มีการเปรียบเทียบ และนักวิจารณ์
    มักต้องใช้เวลาในการขัดเกลาบทวิจารณ์งาน และปัจเจกความคิดเหล่านี้ส่งผลให้
    ผู้บริโภคอาจไม่ได้สนใจในเนื้อของการวิจารณ์
    อุปสรรค : ปัจจัยในการดึงดูดผู้บริโภคน้อย ยิ่งเมื่อไม่มีเครดิตหรือชื่อเสียงแล้ว โอกาสที่
    ผู้บริโภคจะสนใจในกรณีที่จะมีคู่แข่งในตลาดหรือไม่จึงมีอัตราใกล้เคียงกัน มีความเสี่ยง
    ต่อความอ่อนไหวของกระแสตลาดหลัก กลุ่มผู้บริโภคมีเฉพาะกลุ่ม หรืออาจไม่เป็นที่ยอมรับ
    ของสังคมหมู่มาก การจะเข้าถึงของผู้บริโภคไม่ได้ขึ้นอยู่ที่เนื้อหาแต่ขึ้นอยู่กับความสนใจเป็นหลัก
        ทั้งนี้กระบวนการวิเคราะห์ประเมินสถานการณ์ดังกล่าวไม่ได้เป็นไปตามหลักตายตัว
    มีข้อยืดหยุ่นซึ่งมันขึ้นอยู่กับตัวของผู้ประพันธ์เอง และผู้บริโภคในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง
    หรือง่ายๆ ตามกระแสสังคมหมู่มาก แต่ที่อ้างถึงเป็นเพียงแนวความคิดคร่าวๆของผู้เขียนบทความ

        เมื่ออ่านถึงจุดนี้ วรรณกรรมออนไลน์หรือผลงานที่กลั่นกรองว่าดีและมีคุณค่าในระบบ
    เน็ตเวิร์คเพื่อออนไลน์ให้ผู้บริโภคได้บริโภคตามความต้องการ จึงเป็นสิ่งที่มีทั้งแง่มุม
    ที่สอดคล้องกับศิลปศาสตร์ในเชิงของการรังสรรค์งานขึ้นมาเป็นผลงานสำเร็จ แต่ในทาง
    สังคม งานเหล่านี้ยังคงต้องมีแนวสนับสนุนจากผลของการเอื้อประโยชน์โดยปัจจัยเชิงการตลาด
    เพราะเมื่อพิจารณาให้ดี กรอบอิสระในการนำเสนอผลงานคือทฤษฎีพื้นฐานของการประพันธ์
    ผลงานสู่สาธารณะ แต่มีตัวคัดสรรอีกระดับหนึ่งคือการยอมรับ โดยมีความต้องการของ
    กระแสสังคม คอยบีบให้เกิดแบบแผนบางอย่างขึ้น

        โดยบางครั้งงานประพันธ์แบบอนุรักษ์นิยมคือการเขียนด้วยใจ หรือจะด้วยเหตุผลอันใด
    มาดลใจให้เกิดงานชิ้นนั้นขึ้นมา จนหลายคนเรียกนักประพันธ์แบบนี้บ่อยๆว่า "นักเขียนไส้แห้ง"
    เพราะโอกาสที่จะได้รับการยอมรับมันไม่ใช่ประเด็นหลักเท่าการอยากจะเขียน แม้บางคนหรือ
    ส่วนน้อยจะติดลมบนมีชื่อเสียงขึ้นมา ซึ่งมันคือส่วนน้อย และนี่เองทำให้เกิด นักเขียนโมเดิร์น
    หรือพวกที่มองการตลาด มองอะไรที่มันเป็นปัจจุบันมากกว่า และท้ายสุดเมื่อมีความเบื่อหน่าย
    จึงเกิดนักเขียนที่อยากจะกระโดดไปสู่อนาคต คือนักเขียนแนวโพสต์โมเดิร์นขึ้นมา

        ซึ่งแท้จริง นักเขียนแนวโพสต์โมเดิร์นมีความเป็นอนุรักษ์นิยมอยู่คือเขียนด้วย
    แนวทางที่อยากเขียน แต่มีหัวทางด้านการเอาข้อมูลเชิงการตลาดมาใช้คู่กันไป และมันส่งผล
    สำเร็จต่อพวกเขา การจะเข้าใจหลักการเหล่านี้ นักประพันธ์งานแบบล้ำสมัย ต้องรู้จักก่อนว่าอะไร
    คืออนุรักษ์นิยม หรืออะไรคือนักเขียนแนวตลาดตามกระแสหลัก แล้วจึงกระโดดสู่งานระดับ
    ล้ำสมัยได้ นักเขียนในอดีต หรือบุคลากรด้านศิลปะในอดีตหลายท่านก็เป็นโพสต์โมเดิร์น
    เพราะผลงานของพวกเขาแม้ดำรงอยู่จนมาถึงปัจจุบัน แต่ก็ยังคงร่วมสมัย ซึ่งมันบ่งบอกได้ว่า
    เขาทำผลงานเพื่ออนาคตในเวลานั้น และเวลานี้มันกลายเป็นผลงานร่วมสมัย

    หากแต่แท้จริง ถ้าผลงานชิ้นนั้นไม่เข้าทางกระแสสังคม ผลงานของเขาก็จะยังคงเป็น
    ผลงานที่รอการยอมรับและมันอาจกลายเป็นงานเชิงอนุรักษ์นิยม ไปจนกว่าจะมี
    การเปลี่ยนแปลงในอนาคตจนผลงานของเขาเป็นโมเดิร์น 
    ทั้งๆที่เขาอาจจะปรารถนาให้มันเป็นโพสต์โมเดิร์นก็ตาม

        เช่นนั้นแล้วมาถึงส่วนสุดท้าย ผลงานประพันธ์ วรรณกรรมออนไลน์นั้น
    เมื่อมองแล้วในแง่มุมของศิลปะ ความอิสระในแนวทางมีตัวแปรเป็นกาลเวลา
    และค่านิยมของกระแสสังคมที่จะบ่งบอกว่ามันเป็นศิลปะตามลักษณะใด
    หรืออาจจะมองด้วยตัวแนวทางแบ่งแยกออกไปเป็นปัจเจกลักษณะ
    ซึ่งในเชิงการตลาดแล้ว กลยุทธ์ที่แทรกอยู่ในผลงานนั้น แม้ไม่ได้ชัดเจนสำหรับ
    บางผลงานแต่มันก็มีหลักให้คิดและวิเคราะห์ได้เช่นกัน ขึ้นอยู่กับว่าเราสนใจมองแง่ใด

        โดยตัวของผู้เขียนนั้น ก็เป็นนักประพันธ์คนหนึ่งและก็เป็นผู้บริโภคด้วยเช่นกัน
    จึงพอเข้าใจสภาพจิตใจที่เราได้ทำและถูกทำ และได้เขียนเป็นงานชิ้นนี้ขึ้นมาเพื่อ
    แสดงวิสัยทัศน์ต่อวรรณกรรมออนไลน์ ที่มีความหลากหลายและสามารถพบเห็นได้ใน
    โลกอินเตอร์เน็ตอย่างกว้างขวาง

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×