คืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด
คุณแน่ใจว่าต้องการคืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด ?
ลำดับตอนที่ #6 : ปัจจัย สติ และกำลังใจ
ปัจจัย สติ และกำลังใจ
น้องๆ ที่เขียนนิยายมาได้พักใหญ่ๆ จะรู้สึกว่าตัวเองหมดไฟในการเขียนนิยาย หมดความสนุกในการเขียน บางคนเขียนเพื่ออยากจะได้เงินจากสำนักพิมพ์ บางคนเขียนด้วยแรงกดดันต่างๆ นาๆ
และ บางคนก็เริ่มขี้เกียจ
ความขี้เกียจเป็นส่วนหนึ่งของตัวการที่ทำให้นิยายไม่สนุก ไม่ปะติดปะต่อ ที่สำคัญเขียนไม่จบด้วย
แล้วการกดดันตัวเองให้ต้องเขียนนิยายดีๆ มีคนอ่านเยอะๆ ก็ทำให้เกิดปัญหาดังกล่าวได้เช่นกัน
จริงๆ แล้วนักเขียนที่ดีไม่ควรกดดันตัวเองจนเขียนไม่ออกขนาดนั้น และงานเขียนที่ดี ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องนำไปเปรียบเทียบกับงานของคนอื่น เพราะมันคนละแบบ และคนละแนวกัน
งานเขียนที่ดีส่วนมากมีรูปแบบเป็นของตัวเอง ไม่จำเป็นต้องนำมาปะปน หรือใช้เปรียบเทียบว่างานของเราแย่กว่างานของคนอื่น งานของเราดีกว่างานของคนอื่น
เพราะมันไม่ใช่เรื่องที่ผู้เขียนต้องนำมันมาคิด มิเช่นนั้นปัญหาหลายๆ อย่างจะตามติด จนทำให้งานของเราแย่ลงกว่าเดิม
ถ้าเรานำงานเขียนของเราไปเปรียบเทียบกับงานเขียนของผู้อื่นที่เขาใช้ภาษาเขียนได้สละสลวย เราอาจนำมาคิดได้ว่างานของเรายังมีจุดบกพร่องในเรื่องภาษา จนพาลให้งานของเราล่าช้า หรือไม่เสร็จสักที (เพราะคอยตามแก้ไข และเอาแบบอย่างตามคนอื่นจนลืมจุดยืนของตัวเอง)
การไม่นำงานตัวเองไปเปรียบเทียบกับงานคนอื่นก็เป็นข้อดีอีกอย่างที่พึงกระทำ
เพราะการเขียนนิยายนั้นล้วนแล้วแต่ความพอใจในการใช้ภาษาของแต่ละคน ขอแค่ภาษาที่ใช้อ่านได้รู้เรื่อง ได้อรรถรสตามจินตนาการของผู้เขียน ส่งทอดต่อให้ผู้อ่านเข้าถึงเรื่องราวต่างๆ ในนิยายได้ก็คงจะเพียงพอที่จะเป็นนิยายดีๆ สักเรื่องได้แล้ว
เพราะถ้าใช้ภาษาดี แต่คนอ่าน อ่านไม่เข้าใจ นี่ก็ถือว่าสอบตกแล้ว
ในกรณีตรงข้าม
หากใช้ภาษาเข้าใจง่าย อ่านแล้วรู้เรื่อง ก็กลายเป็นสอบผ่านเข้าตากรรมการไปได้ฉลุย
อยากให้น้องๆ ลองคิดถึง การ์ตูนสักเรื่อง แม้ภาพวาดนั้นจะสวยสักเท่าไหร่ แต่ถ้าเนื้อเรื่องไม่น่าสนใจ ก็ไม่อาจส่งผลให้คนชมชอบได้
ตรงกันข้ามกับการ์ตูนรูปภาพห่วยๆ หลายๆ เรื่องที่ดังๆ แต่มีเนื้อเรื่องที่ดี ก็กลายเป็นที่นิยมได้เช่นกัน
คราวนี้มาพูดถึงเรื่องปัจจัยที่ทำให้เขียนนิยายได้น่าอ่านดีกว่า
ปัจจัยที่ว่านี้พี่สาวเคยกล่าวให้ฟังแล้วในบทก่อนๆ
นั่นก็คือ โครงเรื่อง และเนื้อหา พร้อมด้วยแรงบันดาลใจ
ส่วนปัจจัยที่น่าจะมีตั้งแต่แรกคือความตั้งใจ อันนี้พี่สาวอยากให้น้องๆ ลองกลับไปทำความเข้าใจกับตนเองดีๆ
สติ
สติในการยั้งคิดว่า ควรตั้งมั่นในการเขียนนิยายแค่ไหน ควรกำหนดเป้าหมาย เพื่อให้งานนิยายก่อรูปร่างขึ้น ไม่ใช่ว่าอยากทำเมื่อไหร่ก็ทำ ถ้าเป็นแบบนั้น งานนิยายของน้องๆ ได้ดองยาวแน่ๆ ถ้าสติของน้องๆ คิดว่าทำเมื่อไหร่ก็ได้
สมาธิ
ถ้าจะเขียนนิยายก็ควรมีสมาธิจดจ่ออยู่แค่นั้น ไม่ควรคิดทำอย่างอื่นร่วมไปด้วย หากยังเป็นมือสมัครเล่นอยู่ เพราะแม้แต่มืออาชีพเขาก็ไม่นิยมทำกันเลย
กำลังใจ
น้องๆ ควรหากำลังใจที่จะเขียนนิยายเรื่องเดียวให้เสร็จเป็นเรื่องๆ ไป ควรคิดในแง่บวก มากกว่าแง่ลบ
เพราะถ้าไม่เช่นนั้น น้องๆ จะกลัวจนไม่กล้าก้าวขาออกมาจากจุดที่น้องๆ ยืนอยู่เลย
เช่น
กลัวว่าเดี๋ยวจะไม่มีคนอ่าน (เพิ่งเริ่มเขียนได้ไม่กี่ตอนแต่อยากให้คนมาอ่านมากๆ พี่สาวก็ว่าไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้องนักหรอกนะ)
กลัวว่าเดี๋ยวมีคนมาวิจารณ์เสียหาย (เรื่องธรรมดานะ พี่สาวว่าเป็นเรื่องดีเสียอีก ที่มีคนอ่านจนนำมาวิจารณ์ได้ อย่าคาดหวังว่าต้องแต่งนิยายให้มีคนชมอย่างเดียว รับฟังความเห็นลบๆ บ้าง)
เสียเวลา เขียนไปก็ไม่ได้ตีพิมพ์ (น้องๆ คาดหวังจนเกินไปแล้ว ทั้งๆ ที่ตัวเองไม่ได้เริ่มเขียนเลยสักตัว)
และ อื่นๆ อีกมากมาย
พี่สาวขอบอกว่า หยุดคิดในแง่ลบได้แล้ว ไม่ต้องรอเป็นนักอ่านอย่างเดียว มาเริ่มเขียนกันเลยดีกว่า
จะมีใครบ้างที่ไม่อยากสร้างโลกของตัวเองให้คนอื่นเข้าไปอยู่ในนั้นบ้าง
น้องๆ ก็ทำได้ แค่สร้างโลกในนิยายออกมา อย่าเพิ่งหมดไฟในการเขียน มีสติ สมาธิ ความมุ่งมั่น
นิยายที่สมบูรณ์ คือนิยายที่เขียนจบ
และ มันคือสัจธรรมที่ดีมากกว่านิยายที่ใช้ภาษาดี เนื้อเรื่องดี แต่เขียนไม่จบเจ้าค่ะ
สำหรับบทนี้ พี่สาวขอฝากไว้เท่านี้แหละค่ะ เจอกันบทต่อไป บทนี้แค่แวะมาให้กำลังใจเฉยๆ สวัสดี
บทความเหล่านี้ สามารถก๊อปปี้ไปเผยแพร่ในที่ต่างๆ ได้ฟรี แต่ขอเครดิตให้ตัวข้าพเจ้าด้วย รักและห่วงใย อัญยา มณีโรจน์
ตรวจทานคำผิด โดย เจ้าลม
ความคิดเห็น