ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    หลักการเขียนนิยาย(ฉบับปรับปรุง)

    ลำดับตอนที่ #5 : โครงเรื่อง และบุคลิกตัวละคร

    • อัปเดตล่าสุด 24 พ.ค. 56





    โครงเรื่อง และบุคลิกตัวละคร

     

     

     

     

    การวางโครงเรื่องเป็นสิ่งสำคัญ หรือเป็นปัจจัยหลักเลยก็ว่าได้ เพราะการจะทำให้บริบทในการบรรยายเข้าถึงคนอ่านได้นั้น จำเป็นต้องมีพื้นฐานการวางโครงเรื่องที่ดี ซึ่งส่วนมากเราเรียกกันจนติดปากว่าพล๊อตเรื่อง
     

    โครงเรื่องไม่จำเป็นต้องมีอะไรมาก ในช่วงแรกๆ ที่อยากจะเขียนนิยายสักเรื่องหนึ่ง มันอาจเริ่มจากสองสามบรรทัดในสมุด หรือละเอียดถี่ยิบไปจนถึงสิบหน้ากระดาษ
     

    โครงเรื่อง ไม่จำเป็นต้องร่างให้ยาวมาก เพราะมันเกินความจำเป็น โดยพี่อัญจะขอแนะแนวนิดหนึ่งเกี่ยวกับการจำแนกพล๊อตเรื่องที่ควรทำเป็นสิ่งแรกๆ
     

    1.หาแรงบันดาลใจ

    ใช่ค่ะ! แรงบันดาลใจ

    ถ้าไม่มีสิ่งที่ฝันอยากจะเขียน มันก็จะไม่เกิดเรื่องราวขึ้นมาแน่นอน แต่แรงบันดาลใจก็ไม่ใช่เรื่องที่จะหาได้ลำบากเลย เพราะมันอยู่รอบๆ ตัว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของครอบครัว เพื่อนๆ โรงเรียน สถานที่ สิ่งของ เราล้วนหยิบมันมาเขียนถึงได้ โดยเอาแรงบันดาลใจที่ทำให้เกิดจินตนาการตรงนั้นมาใส่ในโครงเรื่อง

    แรงบันดาลใจ ไม่ใช่ FIC อย่าเข้าใจผิดว่าพี่อัญให้ไปหยิบยืมบรรยากาศ ตัวละคร หรือการเล่าเรื่องจากหนังสือเล่มอื่นๆ แต่คำว่าแรงบันดาลใจมันมีมากกว่านั้น ซึ่งภาษาผู้ชำนาญมักเรียกมันว่า จินตนาการผู้เขียน

    ใครชอบเรื่องสืบสวน ก็จะชื่นชอบผลงานแนวหนังสือสืบสวนสอบสวน ใครชอบหนังสือแนวไหน ส่วนมากก็อยากจะเขียนแนวนั้นๆ และมันก็เป็นเรื่องที่ดี ที่ได้ทำตามในสิ่งที่ตนอยากเขียน
     

    การตามตลาดมากไปโดยไม่ใช่แนวเรื่องที่ถนัด หรือที่อยากจะเขียน ส่วนมากเลยที่พี่อัญพบ จะเขียนไม่ค่อยสนุก หรือชื่อเรื่องบอกนิยายรัก แต่พอได้อ่านกลับกลายเป็นนิยายแฟนตาซี หรืออ่านนิยายแฟนตาซี แต่กลับมีความรู้สึกว่านิยายเรื่องนี้เน้นแต่ความรัก และแน่นอน! ที่พี่อัญกำลังกล่าวถึงอยู่นี้คือบุคคลที่พยายามเขียนตามตลาด ทั้งๆ ที่ตัวเองไม่ถนัดแนวนั้นๆ

    บทความนิยายทุกเรื่องล้วนมีกลุ่มคนอ่านคนละกลุ่มค่ะ อย่าคิดว่าเขียนแนวเรื่องที่ตัวเองชอบ แต่ไม่ตรงตามกระแส จะไม่มีคนอ่านซึ่งพี่อัญขอบอกเลยว่าไม่ใช่แน่นอนค่ะ มันขึ้นอยู่กับโครงเรื่องทั้งสิ้น
     

    ไม่ว่าแนวไหน โครงเรื่องแบบไหน ถ้าเขียนได้ดี เนื้อหาน่าสนใจ หากมีคนได้อ่าน หรือมีกลุ่มลูกค้าตรงตามแนวที่ผู้เขียนสร้าง ก็สามารถติดท็อปฮิตกับเขาได้เหมือนกัน
     

    ดังนั้น งานนิยายที่ดี ไม่ใช่ตามกระแสตลาด แต่ตามขนาดของคุณภาพงานต่างหาก!

     

    แรงบันดาลใจ มันซ่อนอยู่ภายใต้จิตใจของน้องๆ ค่ะ พี่อัญขอเรียกศัพท์เฉพาะหลังจากที่เกริ่นกันมาเนิ่นนานแต่ไม่ได้ใจความว่า อารมณ์อยากเขียน
     

    น้องๆ รู้แน่ค่ะ ว่าพี่อัญกำลังพูดถึงเรื่องอะไร?
     

    ค่ะ! มันคืออารมณ์ที่อยากจะเขียน หรืออยากจะแต่ง คงไม่มีใครที่อยู่ดีๆ แล้วลุกขึ้นมานั่งพิมพ์ๆ ถ้าไม่มีความรู้สึกที่อยากจะเขียน แม้แต่นักเขียนนิยายมืออาชีพ ก็ต้องการอารมณ์นี้กันทั้งนั้น
     

    แล้วแรงบันดาลใจมันเกี่ยวอะไรกับการอยากจะเขียน?

    เกี่ยวค่ะ พี่อัญยืนยัน เพราะเจ้าแรงบันดาลใจนี่แหละ ที่ทำให้น้องๆ อยากเริ่มต้นเป็นนักเขียนกับเขามั่ง ไม่ว่าจะเป็น...เห็นคนอื่นเขียนแล้วขัดใจ เพราะคิดว่าตนเองเขียนได้ดีกว่า หรืออยากจะเขียนแชร์กับคนอื่นบ้างก็เท่านั้น

            แต่จะด้วยสารพัดอะไรก็ตามที่น้องๆ เคยนึกไว้ เขาเรียกกันว่าเกิดแรงบันดาลใจจนอยากจะเขียนบ้างเข้าให้แล้ว

    และ ในบทนี้พี่อัญจะสอนให้น้องๆ ควบคุมแรงบันดาลใจกันสักหน่อย เพราะเจ้าแรงบันดาลใจสำหรับมือใหม่มีเยอะแยะ อาจจะมีเป็นร้อยเรื่องราวเลยก็ได้ จนทำให้การลงมือเขียนของมือใหม่หัดขับนั้นมั่วซั่ว ไม่รู้ว่านิยายเรื่องนั้นมีเนื้อหาหลักๆ คืออะไร?

    นิยายที่ดี คือนิยายที่ผู้เขียนสามารถแต่งให้คนอ่านเข้าใจ รู้เรื่อง ซึมซับ ในบรรยากาศ รับรู้อารมณ์ตัวละคร และที่สำคัญใจความเนื้อหาหลักๆ มักมีที่มาที่ไป ตั้งแต่เริ่มเรื่อง...จนจบเรื่อง
     

     หากนักเขียนที่ไม่เข้าใจว่าตัวเองมีพาวเวอร์เรื่องแรงบันดาลใจแค่ไหน ก็มักจะเขียนทุกอย่างลงไปด้วยแรงบันดาลใจทั้งหมดที่มี ซึ่งบางครั้งเนื้อหาเลยดูสับสนจนจับต้นชนปลายไม่ถูก และในบางครั้ง นักเขียนเองก็เริ่มจะงงเองเช่นกันว่าเขีบนเรื่องแนวไหนอยู่กันแน่

     

    2.อิทธิพลของเรื่อง

    ปัจจัยหลักของการบริหารแรงบันดาลใจสู่อิทธิพลของเรื่อง ที่พี่อัญกำลังจะแนะนำว่าควรจัดสรรค์ปันส่วนมันให้ลงตัวก่อน เช่นพี่อัญอยากเขียน(แรงบันดาลใจ)เรื่องแวมไพร์ พี่อัญก็จะลงมือร่างโลกของแวมไพร์อย่างคร่าวๆ ขึ้นมา(ทั้งๆ ที่แรงบันดาลใจเรื่องอื่นๆ ของพี่อัญก็มี เช่นเรื่องของเวทมนต์ หรือเรื่องของโรงเรียนมนุษย์ต่างดาว แต่คราวนี้พี่อัญจะเขียนเรื่องของแวมไพร์เป็นหลักล่ะ!!)

    ตัวอย่าง

    1.โลกแวมไพร์ของพี่อัญมีผีดิบดูดเลือด และพวกนักล่าแวมไพร์

    2.แวมไพร์นิยมดื่มเลือดวัว โดยจะเลี้ยงวัวไว้ดูดเลือด

    3.นักล่าแวมไพร์ล่าเพื่อเอาหัวของผีดิบมาประดับฝาบ้าน เหมือนล่าสัตว์ชนิดต่างๆ

     

    จากตัวอย่างจะเห็นว่ามันคือจุดเริ่มต้นจริงๆ ในการวางรายละเอียดหลักของโลกนิยาย(แบบแปลนของพี่เอง) พอเราได้รายละเอียดอย่างที่เห็นเราก็จะมาเพิ่มเติมเป็นข้อย่อยได้หลากหลายอีก

     

    1.โลกแวมไพร์ของพี่อัญมีผีดิบดูดเลือด และพวกนักล่าแวมไพร์

     

    แต่ช้านานมาแล้ว แวมไพร์ถูกปกครองโดยพระเจ้าคีนูรีพ พระเจ้าคีนูรีพทรงบัญญัติไว้ว่าห้ามแวมไพร์ฆ่าคนเพราะมันผิดศีลของศาสนาคริสต์ โดยให้นิยามว่าคนที่เป็นแวมไพร์คือคนที่ติดโรคร้ายแรงทำให้กระหายเลือดเท่านั้น ซึ่งนั่นทำให้แวมไพร์รักสงบสุขตลอดมา แต่นักล่าแวมไพร์นิยมล่าแวมไพร์เพราะ เวลาตัดหัวของแวมไพร์ได้ ลูกตาของพวกมันจะกลายเป็นเพชร และส่วนศีรษะก็จะไม่เน่าเปื่อย เหมาะแก่การนำมาเป็นเครื่องประดับของผนังห้องโถงเพื่อแสดงความเก่งกล้า

     

    2.แวมไพร์นิยมดื่มเลือดวัว โดยจะเลี้ยงวัวไว้ดูดเลือด

     

    ที่ต้องเลี้ยงวัวไว้ดูดเลือดเพราะ เลือดวัวช่วยระงับอาการกระหายเลือดของเหล่าแวมไพร์ได้ และไม่จำเป็นต้องฆ่าวัวด้วย แต่ก็ต้องแอบเลี้ยง เพื่อไม่ให้เป็นจุดสังเกต เดี๋ยวพวกนักล่าจะรู้ว่าคนเลี้ยงเป็นแวมไพร์ แล้วมาล่าเอาหัวพร้อมนัยน์ตาเพชรไป(ก็มีบ้างที่ฆ่าคนเลี้ยงวัวธรรมดาเพราะเข้าใจผิดคิดว่าเป็นพวกแวมไพร์)

     

    3.นักล่าแวมไพร์ล่าเพื่อเอาหัวของผีดิบมาประดับฝาบ้าน เหมือนล่าสัตว์ชนิดต่างๆ

     

    บ่อยครั้งก็มีแวมไพร์หัวรุนแรงเช่นกัน ซึ่งพวกนี้ทำไปเพื่อปกป้องตัวเอง แต่มนุษย์กลับเข้าใจว่าตนเองถูกคุกคามเลยเกิดการไล่ล่า ซึ่งตามข้อกฏหมายของอาณาจักรที่พระเจ้าคีนูรีพ(พระเจ้าคีนูรีพก็ติดเชื้อแวมไพร์) ตกลงกับพระเจ้าอาแจ็กสัน ว่ามนุษย์กับแวมไพร์จะอยู่ร่วมกันอย่างสันติ แต่จะระบุให้พวกแวมไพร์ไม่มีสิทธิมีเสียง หรือมีเกียรติต่ำกว่าสุนัขของมนุษย์ เพื่อรักษาอำนาจถ่วงดุลย์ของอาณาจักรเอาไว้(เพราะแวมไพร์มีแรงมากกว่ามนุษย์ 6-7 เท่า เลยกลัวว่าถ้าพวกแวมไพร์มีความคิดอ่าน หรือมีอำนาจในสังคม พวกมันจะก่อกบฏ)
     

    ซึ่งนั่นทำให้เหล่าแวมไพร์บางส่วนแค้นเคืองพวกมนุษย์ และยังต้องอาศัยอย่างหลบๆ ซ่อนๆ บนป่าแบบอดอยากอีกด้วย

     

     

    จากแรงบันดาลใจที่อยากจะเขียนของพี่อัญ ก็เริ่มเกิดเป็นเรื่องขึ้นมาสักสามบรรทัด และแยกย่อยลงมาจนแตกแขนงจินตนาการกว้างมากยิ่งขึ้น(ยิ่งคิดยิ่งยาว) อย่าลืมว่าอารมณ์อยากจะเขียน เป็นสิ่งที่ดีที่สุดควรกำหนดไว้ล่วงหน้า พร้อมโครงเรื่อง

     

    พอได้สิ่งที่มีมาคร่าวๆ แล้ว เราก็ควบคุมแรงบันดาลใจของเราให้อยู่ในกรอบ ซึ่งตอนนี้พี่อัญอัดแน่นไปด้วย เรื่องของแวมไพร์(เพราะถ้าเอาอย่างอื่นมาอัดใส่ด้วย เนื้อหามันจะยาวเกินไปจนสรุปไม่ได้ และตันไปในที่สุด)

     

    ตอนนี้พี่อัญได้โลกของแวมไพร์ผู้น่าสงสารมาอยู่ในมือแล้ว สิ่งที่จะช่วยเติมเต็มลงไปคือ ตัวละคร

     

    ตัวละครเราควรออกแบบมาให้มีบุคลิกลักษณะแตกต่างกัน เพราะในความเป็นจริง โลกของเราก็ล้วนแต่มีคนที่มีนิสัยแตกต่างกันออกไปอยู่แล้ว ครั้นถ้าตัวละครมีความรู้สึกนึกคิดคล้ายๆ กัน เรื่องก็จะไม่มีอะไรในกอไผ่ ซึ่งมันหมายถึง ไม่เกิดความขัดแย้ง พูดอะไรก็เข้าใจกันหมด สงครามก็คงไม่เกิด(มันก็คงน่าเบื่อพอดู ถ้ามันไม่มีส่วนที่ไม่ตรงกันเลย)
     

    ลักษณะตัวละครในนิยาย ถ้าในนิยายมีแต่คนหล่อ คนสวยหมด ก็ไม่เกิดข้อเปรียบเทียบว่าใครจะหล่อจริงๆ หรือสวยจริงๆ ดังนั้นการวางตัวละครที่มีข้อด้อยเรื่องหน้าตาก็อาจดึงคนอ่านให้สนใจในเรื่องราวได้(เกิดข้อเปรียบเทียบ) แต่จุดสนใจหลักๆ คือ 'ตัวละครเอกจะทำให้คนอ่านชอบได้ไหม'

     

    ในโลกของแวมไพร์ของพี่อัญ ก็จะขาดตัวละครนำไปไม่ได้เลย

     

    ตัวละคร

    พีบ ลูกชายของพระเจ้าคีนูรีพ เป็นคนที่หน้าตาเหมือนกบ ลูกนัยน์ตาเล็กหยี และไม่ค่อยเฉลียวฉลาดเอาเสียเลย แต่สิ่งดีๆ ที่หมอนี่มีคือ พอวันพระจันทร์เต็มดวง เขาจะฉลาดเทียบเท่ากับไอน์ สไตน์ และหล่อยิ่งกว่านิชคุณเสียอีก ซึ่งระยะเวลาที่หมอนี่จะหล่อ เก่งกาจ และฉลาดเฉลียวนั้น ใน 1 เดือนมีแค่ 2 วัน และวันละ 7 ชั่วโมงเท่านั้น

     

    การวางตัวละครก็ควรใส่ปัจจัยที่ทำให้นิยายรู้สึกไม่น่าเบื่อเข้าไปด้วย เช่นเจ้าพีบ ถึงมันจะไม่หล่อ ไม่ฉลาด แต่ถ้าพระจันทร์เต็มดวงเมื่อไหร่ ก็จะเป็นที่พึ่งของตัวละครอื่นๆ ได้เช่นกัน และยังเป็นพระเอกที่เป็นภาระให้กับ คณะเดินทางต่อต้านการกดขี่แวมไพร์เรียกได้ว่าโคตรเป็นตัวถ่วง แต่ก็ทำให้นักอ่านทุกคนลุ้นได้เสมอ ว่าพระจันทร์จะเต็มดวงเมื่อไหร่ และพีบจะทำอะไรโต้ตอบคืนบ้าง หลังจากอยู่ภายใต้ร่างสมบูรณ์ในระยะเวลา 7 ชั่วโมงเท่านั้น(ก่อนหน้านั้นอาจจะเขียนให้พีบต้องจนตรอกเพราะพวกศัตรูก่อนก็ได้) ซึ่งพีบเองตอนกลายร่างเป็นสุดหล่อก็ได้คิดค้นวิธีที่จะทำให้ตัวเองจะไม่กลายร่างกลับเป็นไอ้โง่อีก(พล๊อตเรื่องเสริม) ซึ่งนางเอกของเรื่องที่พี่อัญวางไว้ กลับชอบตอนที่พีบเป็นไอ้โง่มากกว่าตอนเป็นเทพบุตร

     

    และการวางตัวละครหลัก ในโลกที่ร่างขึ้นไว้แล้ว ก็ทำให้กำหนดโครงเรื่องชัดเจนได้เหมือนกัน ซึ่งเป็นเรื่องที่จะขาดไม่ได้เลย
     

    การจดบันทึกโครงเรื่องที่เขียนลงบนสมุด หรือโน๊ตไว้ในเครื่องคอมพิวเตอร์เป็นเรื่องที่ขาดไม่ได้ เพราะมันจะทำให้การดำเนินเรื่องจบลงด้วยดีกว่า (ตีกรอบการเขียนให้มัน) เพราะถ้าไม่ทำแบบนี้ นักเขียนส่วนมาก มักบรรเจิดไอเดียแจ่มๆ เพิ่มเติมตอนเขียน(อยู่ๆ นึกอะไรดีๆ ออกก็อยากยัดใส่ลงไปในเรื่อง) แล้วก็ยัดเยียดใส่ลงไป จนในที่สุดก็เละ เพราะมันทะลุออกมานอกกรอบจากที่จะเขียน จนวกกลับมาเขียนเรื่องที่วางไว้เดิมๆ อีกไม่ได้
     

    การจดบันทึกไม่ใช่เรื่องควรมองข้าม ยิ่งเป็นรายละเอียดโครงเรื่อง ควรจดไว้เพื่อยึดเหนี่ยวเป็นแกนหลักไว้ ซึ่งหลายๆ คนอาจจะมองว่ามันเป็นการกระทำของมือสมัครเล่น แต่จริงๆ แล้วมืออาชีพทุกคนเขาทำกัน

     

    เอาล่ะ! สมมุติว่าพี่อัญเขียนรายละเอียดตัวละครเสร็จแล้ว มาดูซิว่าโครงเรื่องเราควรทำอย่างไร
     

    โครงเรื่อง(ในส่วนของการดำเนินเรื่อง)ควรกำหนดตอนจบ ตอนกลาง และบทสรุปเอาไว้ก็พอ ไม่ต้องมีพิธีอะไรมากเช่น

     

    เริ่มแรกให้พีบถูกแต่งตั้งจากพระเจ้าคีนูรีพ ให้เป็นผู้นำกองกำลังต่อต้านการกดขี่แวมไพร์ ซึ่งต้องคอยไม่ให้เหล่ามนุษย์ล้ำเส้นเข้ามาล่าหัว หรือเอานัยน์ตาเพชรไปประดับบ้าน

     

    กลางเรื่อง สนธิสัญญาขาดสะบั้นลง พระเจ้าคีนูรีพประกาศเป็นไทหลังจากทนการกดขี่ข่มเหงของฝ่ายมนุษย์ไม่ไหว แน่นอนพระเจ้าอาแจ็กสันต้องการฆ่าแวมไพร์ทุกคนเพื่อเอาเพชรลูกตาเป็นสินค้าส่งออก และต้องการเลี้ยงแวมไพร์ไว้เหมือนฟาร์ม(สัตว์เลี้ยง) เพื่อทำเป็นสินค้าส่งขาย ทำให้เกิดเรื่องขึ้น(พล๊อตรอง พีบพยายามหาทางให้ตัวเองไม่กลับไปอยู่ร่างเดิม)

     

    บทสรุป พระเจ้าอาแจ็กสันติดเชื้อแวมไพร์เสียเอง ด้วยความคิดที่จะผลิตทายาทของตนเองเพื่อเอานัยน์ตาเพชรไปขาย(แถมยังมีความคิดที่จะทำให้มนุษย์กลายเป็นแวมไพร์เพิ่มขึ้นอีก จะได้นำไปขายได้จำนวนเยอะๆ) จึงทำให้เหล่ามนุษย์เห็นธาตุแท้ และเข้าใจจากแถลงการณ์ของพระเจ้าคีนูรีพ ว่าแท้จริงแล้ว พระเจ้าอาแจ็กสันเป็นคนอยู่เบื้องหลังการทดลองเชื้อแวมไพร์ ซึ่งอีกชื่อหนึ่งคือเชื้อตาเพชร โดยหนูทดลองคนแรกคือหลานของตัวเอง(พระเจ้าคีนูรีพ) ทำให้ประชาชนรวมกลุ่มกันประท้วงขับไล่ พร้อมกับเข้าใจว่า พวกแวมไพร์ก็คือมนุษย์ที่ติดเชื้อน่ารังเกียจนี่เข้าเท่านั้น จึงทำให้ทุกคนหันกลับมาอยู่ด้วยกันอย่างเท่าเทียม ความสงบสุขก็มาเยือน(พล๊อตเรื่องเสริม พีบนำกองกำลังเพื่อเปิดโปงหน้ากากของพระเจ้าอาแจ็กสัน และเขาก็ล้มเลิกที่จะเป็นเทพบุตรตลอดกาล เพราะเขารู้ว่านางเอกชอบร่างปกติมากกว่า และที่เขาเปลี่ยนร่างได้นั่นเป็นเพราะความผิดปกติระหว่างเชื้อไวรัส และพันธุกรรมของเขา ซึ่งมีปฏิกริยากับแสงจันทร์(แอบเฉลยให้คนอ่านยิ้ม และหายสงสัยไปด้วย)) จบ

     

    จากการเขียนพล๊อตแบบง่ายๆ จนเป็นเรื่องเป็นราวชวนติดตาม ทุกอย่างล้วนขึ้นอยู่กับการวางโครงเรื่องทั้งสิ้น ซึ่งบทสรุปง่ายๆ จากบทนี้ พี่อัญขอจำแนกเป็นข้อๆ ให้จำให้ขึ้นใจ

     

    0.สร้างอารมณ์ว่าอยากเขียนแนวไหน(แนวรัก แนวผจญภัย แนวสืบสวน)

    1.นึกถึงเรื่องที่อยากจะเขียนขึ้นมาสักหนึ่งเรื่อง(แรงบันดาลใจ)

    2.ร่างโลกใบนั้นขึ้นมาอย่างคร่าวๆ ว่าเป็นโลกเกี่ยวกับอะไร(จะปัจจุบัน อดีต อนาคตก็ช่าง เขียนมา)

    ( อิทธิพล)

    3.กำหนดตัวละคร ลักษณะนิสัย(สร้างตัวละคร)

    4.จงอย่าลืมว่าโลกของเรามีคนที่แตกต่างกัน บุคลิกก็แตกต่างกัน ในนิยายก็เช่นกัน(หาปัจจัยให้ตัวละครดำเนินเรื่อง)

    5.ทำบทสรุปของเรื่อง ตั้งแต่ต้นจนจบ (ที่มาที่ไป)

    6.คิดชื่อเรื่องจากการประมวลผลทั้งหมด(มาตั้งชื่อเรื่องที่หลังดูจะเหมาะกับเรื่องมากกว่า เพราะบางคนตั้งชื่ออีกแบบ แต่เนื้อเรื่องดันไปอีกทาง)

     

    และข้อที่ 7 ลงมือเขียนเลย

     

    ขอเสริมอีกนิดว่าการเขียนบริบทบรรยาย สามารถดึงมาจากสถานที่ตั้งในเรื่องก่อน เช่นปราสาทอะไร เมืองไหน บนเตียง หรือเริ่มที่สถานที่ไหน?

     

    และการบรรยาย ก็แค่นึกมโนภาพในหัวแล้วเขียนออกมาก่อนจะมาเกลาคำให้สวยงามอ่านง่ายอีกครั้ง(ข้อนี้ไม่จำเป็น หากน้องๆ ฝึกเขียนจนชำนาญไปแล้วระดับหนึ่ง)

     

    เช่น

    เริ่มเรื่อง ที่ปราสาทของพระเจ้าคีนูรีพ ตอนกลางดึก

     

    ก็ให้มานั่งนึกว่าปราสาทจะเขียนแบบไหน ตอนกลางดึกมันเป็นอย่างไร

     

    ตัวอย่าง

    ปราสาทสีดำ เพราะเป็นปราสาทของแวมไพร์ ในช่วงเวลากลางดึกก็น่าจะมีลมเย็นยะเยือก เพราะรอบๆ มีแต่ป่า(อ้างอิงมาจากสถานที่ในโครงเรื่อง) เวลานั้น ทหารยามกำลังเดินตรวจตรากัน(กลางคืน เท่ากับกลางวันสำหรับทหารแวมไพร์)

     

    พอนึกได้แบบนี้ก็นำมาเขียนเป็นร้อยแก้วให้น่าอ่านตามความคิดจินตนาการของมโนภาพข้างต้น

     

    ปราสาทขนาดใหญ่ตั้งตระหง่านอยู่ริมชายป่ามรณะ มันดูน่ากลัวชวนพิศวง พร้อมทั้งมีสายลมเย็นยะเยือกพัดผ่านอยู่ตลอดเวลา และหากมองขึ้นไปอีกนิด บนยอดแหลมมหึมาของตัวอาคารหอคอยนั่น ก็จะเห็นฝูงค้างคาวบินรายล้อมตัวปราสาทราวกับฝูงนกกระจาบ ทำให้คนทั่วไปเรียกมันว่าปราสาทค้างคาวแห่งคีนูรีพ

    บริเวณของตัวปราสาทนี้กินพื้นที่ไปหลายกิโลเมตร และที่น่าแปลกใจอย่างที่สุดคือ แทบไม่มีแสงของตะเกียงเลยสักดวง ทั้งๆ ที่มองฝ่าความมืดเข้าไปในยามวิกาลก็จะเห็นคนเดินไปเดินมาหลายร้อยคนในความมืด ซึ่งไม่แน่ใจเลยว่าคนเหล่านั้นคลำทางเดินไปไหนต่อไหนได้อย่างไร

     

    ---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

     

    หวังว่าบทความนี้ คงช่วยให้น้องๆ เขียนนิยายสนุกได้ไม่มากก็น้อย(จริงๆ รีบเขียนตามโปรเจ็คที่วางไว้) พี่อัญหวังว่าน้องๆ ที่อ่านจบแล้วจะช่วยตรวจทานบทความนี้นะคะ เพราะพี่อัญยังไม่ได้เช็กคำผิดแต่อย่างใดเลย(คำผิดกับนักเขียนเป็นของคู่กัน) ซึ่งพี่อัญว่า บุคคลที่มาอ่านบทความนี้ในรอบหลังๆ จะได้ประโยชน์จากการช่วยแก้ไขของน้องๆ ด้วยค่ะ(เหมือนทำบุญสายตาไงคะ ให้ไม่สะดุดในเวลาอ่าน)

     

    สุดท้ายการวางโครงเรื่องนี้ ไม่ใช่ทั้งหมด แต่เป็นการนำเสนอเพียงมุมมองหนึ่งจากพี่สาวคนนี้ค่ะ ใครมีการวางโครงเรื่องแบบไหนอยากแชร์ ก็โพสต์คอมเม้นต์แนะนำกันได้นะคะ ยินดีอย่างยิ่งเลยค่ะ

    เดี๋ยวบทต่อไปเราจะมาเจาะลึกกันอีกที บทนี้ขอบคุณค่ะ

    ตรวจสอบบทความโดย เจ้าลม

     


    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×